พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 636


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๓๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ แทนที่จะกล่าวว่าในขณะที่เป็นปุถุชนแล้วก็หลงลืมสติ ในขณะที่ไม่เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น พูดถึงสติรู้สึกว่าอยากจะมีสติจนกระทั่งไม่หลงลืมใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่อย่างนั้นคือก็ค่อยๆ ศึกษาแล้วก็พอจะรู้ว่าไม่มีสติ แต่ว่ายังไม่ถึงขนาดที่สติระลึกสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะความเข้าใจยังไม่ถึงที่จะทำให้สติเกิดที่จะรู้ถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังบังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจเท่านั้นไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย

    ผู้ฟัง อย่างฟังท่านอาจารย์ตอนนี้ก็ไม่ได้เข้าใจทุกคำ ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม ยังไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรม แล้วธรรมมีไหม

    ผู้ฟัง มี มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง ลึกๆ ก็ยังคิดว่าเป็นตัวเอง แต่ความจริงเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าคำนี้หมายความถึงอะไร ถ้าใช้คำว่าธรรมหมายความถึงอะไร

    ผู้ฟัง หมายความถึงทุกสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้อะไรมีจริง

    ผู้ฟัง เห็นมีจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช้คำว่าธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แต่มีจริงแล้วจะเรียกว่าอะไร ถ้ามีจริง

    ผู้ฟัง ก็คงจะไม่ต้องเรียก

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเรียก จะเรียกว่าอะไร

    ผู้ฟัง เรียกเห็น

    ท่านอาจารย์ และถ้าจะเรียก เรียกว่าอะไร เห็นมี อย่างอื่นก็มี คิดก็มีแล้วจะเรียกทั้งหมดที่มีจริงๆ ว่าอะไร

    ผู้ฟัง ต้องใช้ชื่อต่างกันไป

    ท่านอาจารย์ จะใช้ว่าอะไร

    ผู้ฟัง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น คิดนึก

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีกเยอะแยะ

    ผู้ฟัง มีอีกเยอะกว่านี้

    ท่านอาจารย์ พูดไปทีละคำๆ ในสิ่งที่ทุกอย่างที่พูดมีจริงๆ เพราะฉะนั้น จะเรียกสิ่งที่มีจริงทั้งหมดว่าอะไร

    ผู้ฟัง ธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรม เรียกเอง หรือว่าพระผู้มีพระภาคตรัส

    ผู้ฟัง พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และตรัส

    ท่านอาจารย์ คำนี้เป็นภาษาอะไร

    ผู้ฟัง ภาษาบาลี

    ท่านอาจารย์ ภาษามคธซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการแสดงธรรม เพราะฉะนั้น ความจริงก็คือว่าแม้จะใช้คำว่าธรรมก็ต้องเข้าใจว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง พระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้คำเพื่อให้หลง ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมี แต่เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่มีนี่แหละจริงก็ใช้คำว่าธรรมสำหรับสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะแต่ละอย่างๆ ที่ทำให้รู้ได้ว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม ยกตัวอย่างได้ไหม

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีก

    ผู้ฟัง เสียง

    ท่านอาจารย์ อะไรอีก

    ผู้ฟัง แข็ง

    ท่านอาจารย์ อะไรอีก

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ต้องนึก

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมทั้งหมดเลย เยอะแยะ มากมายที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม ก็สะดวกดี ใช่ไหม ที่จะเริ่มเข้าใจว่าเวลาที่พูดถึงธรรมก็พูดถึงสิ่งที่มีจริง เวลาศึกษาธรรม ฟังธรรมก็คือฟังเพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเหมือนเงา ไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเหลือเพียงนิมิตที่จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เหมือนเที่ยง และเหมือนมีจริงๆ แต่ถ้ารู้ลักษณะที่มีจริงแต่ละอย่างจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่าสิ่งที่จริงนั้นชั่วคราวคือเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป แต่เพราะจำสิ่งที่เกิดดับสืบต่อจึงเสมือนว่าสิ่งนั้นยั่งยืน แล้วก็เที่ยงเป็นสิ่งหนี่งสิ่งใดจนกว่าจะฟังแล้วเข้าใจขึ้น เพราะรู้ความจริงแท้ของสิ่งที่กำลังปรากฏว่าแท้ที่จริงแล้วก็มีลักษณะที่เป็นธรรมแต่ละอย่างไม่ปะปนกันเลยสักอย่างเดียว แต่ละอย่างก็ปรากฏความต่างหลากหลายมาก กำลังฟังธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง กำลังฟัง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ สามารถที่จะรู้ความจริงของธรรมที่กำลังฟังได้ไหม

    ผู้ฟัง ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว

    ผู้ฟัง กราบอนุโมทนา

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ เห็นจากการฟังก็รู้ว่าเห็นรู้ว่าเป็นธรรม เพียงรู้ว่าเห็น เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ตามคำที่บอกว่าเห็นเป็นธรรม หรือขณะที่พูดว่าเห็นมีเห็นจริงๆ

    ผู้ฟัง มีเห็นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สามารถที่จะรู้ได้ว่าสิ่งที่มีจริงนี้แหละมีจริงๆ เมื่อทุกอย่างที่มีจริงๆ มีลักษณะที่หลากหลาย และก็เป็นจริงทั้งหมดก็กล่าวว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมดแต่ละอย่างๆ ก็คือธรรม ไม่ได้หมายความว่าให้พูดตามไปว่าทุกอย่างเป็นธรรม พูดถึงเห็นก็ไม่ใช่ไปจำว่าเห็นเป็นธรรม แต่พูดถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับแข็ง แข็งก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ลักษณะของธรรมแต่ละอย่างทีละอย่างก็คือไม่มีอะไรเลยที่จะเป็นเรา หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงได้ แต่กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงว่ามีปัจจัยเกิดเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกทุกขณะ แล้วนอกจากเห็นที่เกิดอะไรเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิด นี่คือฟังให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าเป็นธรรมซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้เลย ไม่ใช่ฟังแล้วอยากจะไปรู้ว่าเกิดแล้ว ดับแล้ว มีอย่างอื่นเกิดดับสืบต่อ แต่ฟังให้เข้าใจขึ้นในความเป็นธรรม ละเอียดขึ้นลึกซึ้งขึ้นแต่ละอย่าง ทีละอย่าง

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏเห็นแล้ว แล้วก็อะไรเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่รู้ อยากจะรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิด ถ้าไม่มีจักขุปสาท รูปหนึ่งที่อยู่กลางตาจะเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วรูปนั้นเกิดจากอะไร

    ผู้ฟัง เกิดจากกรรม

    ท่านอาจารย์ เกิดจากรรม กรรมที่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิดก็มีใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ และที่ไม่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิดก็มีใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นใครบังคับบัญชา หรือเป็นของใคร

    ผู้ฟัง บังคับก็ไม่ได้ เป็นของใครก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นความลึกซึ้งที่จะเข้าใจในขณะที่จิตเห็นเกิด เรื่องราวของจิตเห็น แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ทั้งจักขุปสาทรูป และจิตเห็น และเจตสิกที่เกิดกับจิตเห็น และสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะเหตุว่ายังไม่มีความเข้าใจพอที่จะเริ่มเข้าใจเห็นที่กำลังเห็น เพียงแต่การฟังปริยัติ เริ่มรอบรู้ว่าแม้จิตเห็น ๑ ขณะที่เกิดขึ้นก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าธรรมทุกอย่างแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไป ทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วเมื่อไหร่ที่เริ่มเข้าใจเห็นเมื่อนั้นก็จะรู้ได้ ความเข้าใจนั้นน้อยมาก ถ้ายังคงไม่เข้าใจธรรมอื่น ซึ่งเกิดต่อแล้วจะไปประจักษ์การดับไปของจิตเห็นได้อย่างไร ต้องเข้าใจธรรมแต่ละอย่างๆ โดยที่ว่าไม่ใช่มีเราที่จะไปบังคับ จะไปพยายาม ไปกะเกณฑ์ แต่ฟังอะไรก็ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังฟัง จนกระทั่งค่อยๆ รู้ความจริงนั้นได้ เพราะความจริงนี้ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเลย สิ่งที่จริง และความจริงของสิ่งที่จริงเป็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงนั้นแล้วทรงแสดงให้คนอื่นได้เข้าใจตามด้วย

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์บอกว่ากระพริบตาไม่รู้เลยว่าเป็นเพราะโลภะคือ ความติดข้องถึงทำให้กระพริบตา

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณพูดเรื่องนี้ก็ดีเพราะว่าเมื่อวานนี้ก็มีคนถามว่า แล้วพระอรหันต์กระพริบตาด้วยโลภะ หรือไม่ เห็นไหมว่าการพูดต้องเข้าใจว่าเรากำลังกล่าวถึงอะไร และใคร สำหรับคนธรรมดา ปกติธรรมดาถ้าไม่อยากกระพริบตา จะกระพริบไหม คนธรรมดา พระอรหันต์กระพริบตาด้วย หรือไม่ มีจิตที่ทำให้รูปเคลื่อนไหว เป็นการกระพริบตา หรือไม่

    แต่จิตนั้นต้องต่างกับจิตของคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ การฟังธรรมต้องมีการเข้าใจตลอดยิ่งขึ้น ไม่ใช่ พอได้ฟังว่ากระพริบตาด้วยโลภะก็เกิดความสงสัยว่าพระอรหันต์ท่านกระพริบตาด้วยโลภะ หรือเปล่า อย่างนี้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ธรรมดา พูดถึงธรรมดาๆ อย่างนี้ปกติด้วย ถ้าไม่มีความต้องการ ถ้าเราจะไม่ใช้คำว่าโลภะจะมีการกระพริบตาไหม จะมีการแม้เอื้อมมือไป จะมีการแม้แต่พูด มีการเปล่งเป็นคำเพราะรูปเคลื่อนไหวกระทบฐานของเสียงแต่ละเสียงได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ถ้าท่านอาจารย์ไม่ถามก็จะไม่ได้รู้ว่าเป็นเพราะว่าต้องการที่จะกระพริบตา และเอื้อมมือไป คือเอื้อมมือไปยังชัดแต่กระพริบตานี่ คำถามคือ เนื่องจากเป็นคนที่ถามเยอะก็จะมีรูปที่ไปปรากฏทีวีช่อง ๑๑ และก็นำมาฉายตรงนี้เยอะก็ดูจากทีวีแล้วก็จะเห็นว่าตัวเองกระพริบตาถี่มากกว่าทั่วๆ ก็เลยไปคิดต่อว่าก็แสดงว่าเราก็โลภะเยอะ

    ท่านอาจารย์ คิดว่าน้อยหรือ ไม่รู้เลย ไม่รู้เลยว่ามากแค่ไหนจึงยกเรื่องกระพริบตาให้คิด กระพริบตาว่าใครบ้างที่ไม่กระพริบตา แต่ก็ไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นโลภะแล้ว เพราะฉะนั้น วันหนี่งๆ โลภะจะมากสักแค่ไหน จะไปรู้ตอนอาหารอร่อย หรืออยากจะฟังเสียง หรือจะอ่านเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ไม่รู้เลยว่าแม้เพียงแค่กระพริบตา แค่นั้นเองก็โลภะ หรือจะเป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง แต่ก็มาปลอบใจตนเองว่าถ้ากระพริบตาเพราะว่าโลภะเยอะถึงคนอื่นไม่ได้กระพริบตาเยอะเท่าเราแต่ก็คงมีโลภะเยอะเรื่องอื่น ก็เลยคิดว่าเป็นธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ธรรมดาคือ

    ผู้ฟัง ก็ถ้าจิตไม่เป็นกุศลก็ต้องเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น วันนี้แค่ไหนแล้ว

    ผู้ฟัง อกุศลเยอะ

    ท่านอาจารย์ เท่าไหร่แล้ว

    ผู้ฟัง บอกไม่ได้ นับไม่ถ้วน

    ท่านอาจารย์ กระพริบตายังนับไม่ได้ แล้วอย่างอื่นเล่า

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ขณะที่คุณอรวรรณถามว่ากระพริบตา กรอกตาไปมองว่ามีคนเดินมานั่นเพราะว่ามีโลภะที่จะอยากรู้ว่านั่นอะไร

    ท่านอาจารย์ ทั้งวัน

    ผู้ฟัง เรื่องปัญหากระพริบตาพอจะเข้าใจได้ แม้แต่กลืนน้ำลายก็พอเข้าใจว่าเพราะอยากกลืน แต่เรื่องหายใจเข้าหายใจออกเป็นโลภะ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นหรือไม่ ขอถามกลับ

    ผู้ฟัง หายใจเข้าหายใจออกน่าจะเป็นโลภะ ถ้าไม่อยากหายใจเข้าไม่อยากหายใจออกก็คงไม่หายใจ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงยังไม่รู้จักลมหายใจจริงๆ

    ผู้ฟัง ยังไม่รู้จัก

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าลมหายใจเป็นรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดเหมือนอย่างสมุฏฐานของแต่ละอย่าง แข็งที่เกิดเพราะจิตก็มี ที่เกิดเพราะอุตุก็มี ที่เกิดเพราะอาหารก็มี ที่เกิดเพราะกรรมก็มี เพราะฉะนั้น แต่ละรูปมีสมุฏฐาน ธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิด ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้ก็ทรงแสดงรูปแต่ละรูปว่ารูปนั้นมีอะไรเป็นสมุฏฐาน ถ้าเป็นลมหายใจจริงๆ รูปนั้นเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่เป็นตอนที่เราไปเข้าใจว่าเป็นลมที่หายใจเข้าหายใจออก ขณะนั้นเป็นการเคลื่อนไหวซึ่งก็ต้องเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน แต่รู้จักลมหายใจซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน หรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจยาก

    ท่านอาจารย์ เข้าใจยาก ก็ฟังเรื่องที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ว่ารูปแต่ละรูปมีสมุฏฐานต่างกัน คือบางรูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะจิตป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นที่จะไปรู้ว่ารูปนั้นเกิดจากสมุฏฐานอะไร ถ้าไม่มีปัญญาที่สามารถรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่ง เท่านั้นเอง ยังไม่ได้ละคลายเลย มัวแต่จะพยายามไปคิด ไปนึกต่อไป ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ ยังไม่ได้คลายการที่เข้าใจว่าว่าสิ่งนั้นเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วจะไปให้รู้เฉพาะรูปซึ่งมีสิ่งเดียวเป็นสมุฏฐานได้ไหม ว่ารูปนั้นมีกรรมเป็นสมุฐาน หรือมีจิตเป็นสมุฏฐาน หรือมีอุตุเป็นสมุฏฐาน หรือมีอาหารเป็นสมุฏฐาน

    นี่คือความลึกซึ้ง ความละเอียดของธรรมซึ่งดูเหมือนไม่มีอะไรเลย ดูเหมือนไม่น่าสนใจแต่เกิดมาแล้วก็ตายไปโดยไม่รู้ความจริงอะไรเลยก็ยังคงไม่รู้ไปนั่นแหละ ก็ยังคงยึดถือว่ามีเราที่เกิด และตาย แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าเป็นธรรม ความละเอียดที่จะทำให้คลายการยึดถือธรรมว่าเป็นเราก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นด้วยการละไม่ใช่ด้วยความต้องการ เพราะฉะนั้น วันนี้ยังไม่รู้จักลมหายใจซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน อยากรู้ไหม ถ้าอยากรู้เป็นไง

    ผู้ฟัง โลภะ

    ท่านอาจารย์ โลภะก็มากั้นไว้ทันที ไม่มีทางเลยที่จะรู้ได้ เป็นเรื่องละด้วยปัญญาที่รู้จริงๆ และค่อยๆ เข้าใจขึ้น สิ่งใดที่ปรากฏยังไม่รู้ และขณะนี้ลมหายใจปรากฏหรือไม่ แล้วก็จะไปรู้ลมหายใจ แล้วก็จะไปเรียกว่าลมหายใจ แต่ถ้าเป็นลมหายใจจริงๆ เกิดแล้วดับแล้วก็ไม่ใช่ลมภายนอกด้วย กำลังศึกษาเรื่องธรรมที่มีจริงที่เร็วสุดที่จะประมาณได้ มีแต่เพียงนิมิตที่เหลือให้จำ เหลือให้คิด เหลือให้เริ่มจะเข้าใจในลักษณะแต่ละอย่างซึ่งต่างกัน ถ้าคิดเองเป็นอย่างไร กับความเป็นจริง รูปเกิดจากสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ใครจะไปทำให้รูปเกิดได้ไหม เวลานี้รูปก็กำลังเกิด และก็เกิดแล้วดับด้วย แต่ถ้าขณะนั้นปัญญาไม่รู้เฉพาะรูปนั้นตรงนั้นก็ไม่ประจักษ์ว่าเป็นรูปนั้นซึ่งเกิดแล้วก็ดับ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานเกิดแล้วดับด้วย จุดประสงค์ของการฟังพระธรรมก็คือ เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ได้ยินได้ฟังต้องไตร่ตรองพิจารณาว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นคำจริง หรือเปล่า หรือว่าเป็นคำเท็จ เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจธรรมเมื่อธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงทุกคำที่ได้ฟังต้องไตร่ตรองแล้วก็ไม่เผิน เช่นฟังธรรมก็คือ ก่อนฟังไม่รู้ว่าเป็นธรรม แต่มีสิ่งที่ตั้งแต่เกิดมาก็เป็นเราเป็นเขาเป็นเรื่องราวต่างๆ แต่ว่าตามความเป็นจริงถ้าไม่มีธรรมที่เป็นแก่นแท้ เป็นความจริงแท้คือจิต เจตสิก และรูป จิต เจตสิกก็เป็นสภาพรู้ ซึ่งถ้าไม่มีจิตเจตสิกเกิด ก็จะไม่มีสัตว์บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ที่เข้าใจว่าเราเกิดมา ความจริงก็คือจิต เจตสิก และต่างคนเกิดมาเหมือนกัน หรือไม่ จะเหมือนกันได้ไหมในเมื่อขณะที่กำลังฟังธรรมต้องมีความคิด และต่างคนก็ต่างคิด ต่างคนก็ต่างเข้าใจ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงแม้แต่ความคิดซึ่งหลากหลายต่างกัน ก็เหมือนกันไม่ได้ตามความเข้าใจธรรม ถ้าคนที่ไม่เข้าใจธรรมเลย ไม่เคยฟังพระธรรมเลยก็เป็นเรื่องของโลกที่เกิดมาเป็นสัตว์เป็นบุคคลต่างๆ มีพฤติกรรมมีการกระทำ มีความคิดหลากหลายด้วยความไม่รู้ว่าความจริงแล้วแต่ละ ๑ ขณะสิ่งที่มีจริงแท้ก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นจึงปรากฏแล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นสิ่งที่ยากเพราะว่าขณะนี้ก็มีแต่ฟังแล้วก็จะรู้ว่ายากสักแค่ไหนที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงได้ ใครกำลังเคลื่อนไหวบ้าง มือไม้ ก็มี รู้ไหมว่าเป็นธรรมก็ไม่รู้ และถ้าไม่มีธาตุรู้ ไม่มีจิตสิ่งนั้นจะเคลื่อนไหวได้ไหม ก็ไม่ได้ เมื่อวาน และวันก่อนๆ ก็พูดถึงเรื่องการหลับตา ลืมตา กระพริบตา กำลังหลับเพียงลืมตาตื่นเป็นธรรม หรือไม่ ไม่รู้เลยแล้วถ้าไม่มีความต้องการที่จะลืมตาก็คงหลับตาต่อไปเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น แม้ขณะนั้นก็ยังไม่รู้ และขณะที่กำลังเคลื่อนไหวแม้เล็กน้อยก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้มากมายสักแค่ไหน ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจก็จะทำให้ตั้งตนไว้ชอบ ไม่ไปคิดถึงคนอื่นเราจะไปจัดการเป็นผู้จัดการให้คนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าได้จัดการกับตัวเองก่อนดีไหม กิเลสเยอะมากเลยจะไปขอให้คนอื่นเขามาเอากิเลสเราออกก็ไม่ได้ ความไม่รู้ก็มาก

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวก็คือฟังธรรมจากผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงความจริง ทุกคำแม้แต่คำธรรมดาๆ ถ้ามีปัญญามากขึ้นก็จะเห็นคุณค่าของธรรมนั้นคำนั้นลึกซึ้งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการฟังธรรมไม่ใช่ผิวเผิน และไม่ใช่เพื่อเรา ส่วนใหญ่พอฟังแล้วก็วันนี้เราเข้าใจดีแล้วเราก็จะทำอย่างนั้น เราก็จะทำอย่างนี้ ลืมว่าทั้งหมดก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้น เป็นอย่างนั้นชั่วคราวสั้นมากแล้วก็ดับไป ทุกคนต้องได้ยินข่าวเรื่องความตาย การจากโลกนี้ไป เวลานี้รูปร่างกายที่แต่ละคนเหมือนกับอยู่ที่นี่นั่งอยู่ที่นี่เป็นของเราเป็นของแต่ละคนจริงๆ หรือไม่ เพียงจิตไม่เกิด รูปนี้เปลี่ยนสภาพทันที จากที่เคยเคลื่อนไหวได้ ก็เป็นเคลื่อนไหวไม่ได้เลย จากรูปร่างอาจสวยงามผิวพรรณดีก็เป็นสีที่คล้ำบ้าง หรือว่าแล้วแต่เกิดขึ้น เคยเห็นไหม เวลาที่รดน้ำศพก็มีลักษณะที่ต่างๆ กันไป ย้อนคิดถึงก่อนจะเป็นอย่างนี้รูปนั้นไม่ได้เป็นอย่างนี้เลย เมื่อมีจิตก็เคลื่อนไหวไปเหมือนทุกคนขณะนี้กำลังเป็นอย่างนี้ แต่รูปนั้นก็ไม่ใช่ของใครเลยจริงๆ เพียงแค่ไม่มีจิตรูปนั้นก็เปลี่ยนสภาพแล้ว และก็ไปไหนก็ไม่ได้จะติดตามไปถึงโลกหน้าก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบถึงความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละอย่างดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลยแม้ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ฟังแล้วตั้งตนไว้ชอบคือเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลแล้วก็รู้ว่ากว่าจะดับอกุศลได้ต้องมีปัญญาที่ไม่ใช่เพียงขั้นการฟังเท่านั้น แต่จากการฟังก็จะทำให้เห็นว่าสิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดมีโทษ และก็สามารถที่จะมีความตั้งมั่นในการที่จะประพฤติไม่ผิดจากคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยนัยของความชอบธรรม

    นี่คือชีวิตที่ได้ฟังธรรมแล้ว ควรจะเป็นอย่างนี้ หรือไม่ หรือว่าฟังก็ฟังไป โลภะก็ยังมาก โทสะก็ยังเยอะ แล้วข้อความเมื่อวานนี้ก็พูดถึงเรื่องมุทิตาความยินดีในความสุข หรือว่าความเจริญ หรือว่าในลาภ ยศ สักการะของคนอื่น ทำไมถึงกล่าวเรื่องนี้ เพราะว่าจิตใจของแต่ละคนมีโทสะ ไม่ชอบคนโน้นไม่ชอบคนนี้แล้วจะมุทิตาได้ไหม ก็ไม่ได้เลย ใช่ไหม แต่ว่าจะมีมุทิตาได้ต่อเมื่อมีเมตตา มีความเป็นมิตร ความเป็นมิตรไม่เป็นอันตราย ไม่ทำร้ายใครๆ เลยทั้งสิ้น แม้แต่ผู้ที่กำลังเมตตาขณะนั้นจิตก็ผ่องใสไร้กังวล ไม่ว่าจะเห็นใครที่นี่มากมายตั้งแต่เริ่มเดินเข้ามาในมูลนิธิยังไม่พบมากอย่างนี้ใช่ไหม ก็แต่ละหนึ่งคนสองคนในซอยก้าวเข้ามา ความรู้สึกขณะนั้นเป็นอย่างไรอกุศล หรือกุศล ตั้งตนไว้ชอบคืออย่างไร เพราะว่ากว่าจะถึงการที่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ต้องเมื่ออกุศลเบาบาง ขณะใดก็ตามที่จิตกำลังเดือดร้อนกระวนกระวายกระสับกระส่าย ไม่มีเมตตา ฟังธรรมไม่รู้เรื่องจะรู้ได้อย่างไรในเมื่อขณะนั้นเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะได้สาระจากการฟังก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าเมื่อขณะใดที่จิตสบาย สบายที่นี่คือหมายความว่าเป็นกุศลมีความเมตตาขณะนั้นฟังสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วยความไม่เดือดร้อนใจ ก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    14 มิ.ย. 2567