พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 637


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๓๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ เมื่อขณะใดที่จิตสบาย สบายที่นี่คือหมายความว่าเป็นกุศล มีความเมตตาขณะนั้นฟังสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วยความไม่เดือดร้อนใจก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น ธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงในชีวิตประจำวัน แต่กว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป วันหนึ่งๆ ก็มีอกุศลมากมาย แต่ว่ากาลที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเป็นกาลที่หายากไม่ง่ายเลย เกิดในประเทศที่สมควร คือ มีธรรมที่เราสามารถที่จะได้ฟัง ได้ไตร่ตรอง ได้เข้าใจขึ้น แต่ถ้าที่ใดที่ไม่มีธรรม "เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่นอน" คิดถึงเมืองแล้วเมืองนั้นอยู่ที่ไหน จิตเปรียบเหมือนนคร หรือไม่ ศัตรูเข้ามาถึงรวดเร็วมากเลยเมื่อไม่มีเครื่องป้องกัน เพราะฉะนั้น ทุกวันๆ นครคือจิตเมื่อมีอกุศลเกิดขึ้น ย่อมนำมาซึ่งผลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะว่าสิ่งที่ดีย่อมทำให้เกิดผลที่ดี และสิ่งที่ไม่ดีจะนำมาซึ่งผลที่ดีไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ฟังธรรมก็ต้องมีความเข้าใจที่ละเอียดขึ้นๆ ๆ ไม่สามารถที่จะแก้ไขคนอื่น หรือว่าบ้านเมืองทั้งหมดได้ เพราะเหตุว่าที่จะเป็นบ้านเมืองที่จะเป็นชาติก็แต่ละหนึ่ง ถ้าแต่ละหนึ่งดีไม่ไร้ธรรมเมืองนั้นก็ปลอดภัย เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บุคคลหนึ่งไปถึงหลายๆ บุคคลที่ใช้คำว่า "ปาริษา" หรือ "บริษัท" หมายความว่าคนทั้งหมดจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ถ้าเกิดในประเทศนี้ก็อยู่รวมกัน มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเป็นชนเชื้อชาติเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับว่าเป็นเชื้อชาติเดียวกันเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ตามความเป็นจริงในเมื่อชาติต้องประกอบด้วยคน ถ้าไม่มีคนไม่มีชาติมีแต่ประเทศซึ่งถ้าไม่มีผู้อยู่อาศัยประเทศนั้นก็ไม่ใช่เป็นของใครชาติหนึ่งชาติใดเลย ก็เป็นภูเขา ป่า ทะลไป แต่เมื่อเป็นถิ่นที่อาศัยของบุคคลหนึ่ง พวกหนึ่ง กลุ่มหนึ่งรวมกันก็เป็นประเทศนั้นแล้วคนในชาตินั้นก็เป็นชาติเดียวกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่าแม้ในบรรดาคนที่อยู่รวมกัน ชาติเดียวกัน ใจต่างกันไหม

    เพราะฉะนั้น ใจที่หลากหลายต่างกันก็เป็น "พรรค" หรือ "วรรค" วรรคในภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ที่แตกแยกเป็นแต่ละพวกคือความดีก็เป็นความดี ความเห็นผิดก็เป็นความเห็นผิด อกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรมฝ่ายอกุศล เพราะเหตุว่าไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจธรรมต้องเข้าใจลึกซึ้งไปถึงความจริงของธรรมว่า แท้ที่จริงแล้วมีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นฝ่ายกุศลบ้าง หรือว่าเป็นฝ่ายอกุศลบ้าง เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็สามารถที่จะฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรมที่เกิดแล้ว ถ้าธรรมนั้นยังไม่เกิดเข้าใจได้ไหม ยังไม่เกิด ไม่มีอะไรจะให้เข้าใจ แล้วทำไมไม่เข้าใจธรรมที่เกิดแล้วในขณะนี้ จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่าธรรมจริงๆ ก็คือสิ่งที่มีในขณะนี้กำลังปรากฏจนกว่าจะถึงความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ของใครไม่ใช่สัตว์บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็ยังเป็นธรรมฝ่ายดี และธรรมฝ่ายไม่ดี เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นฝ่ายดีเป็นของใคร ธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดีเป็นของใคร นี่คือความตรง ถ้าไม่มีความตรงจะไม่ได้สาระจากการฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้น การที่จะมีปัญญาสามารถเห็นถูกต้องตามเป็นจริงคือเห็นธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ซึ่งใช้คำว่าแต่ละบุคคลก็มีธรรมที่เกิดทำให้เข้าใจว่าเป็นบุคคลนั้น ตามการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว บุคคลหนึ่งๆ ก็มีทั้งกุศล และอกุศล และปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะเห็นความจริงว่าขณะนั้นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ถ้าถามว่าขณะนี้ใจเป็นอย่างไร ใครจะตอบ มีใจกันทุกคน แต่ถ้าถามว่าเดี๋ยวนี้ขณะนี้ใจเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ ถูกต้องเพราะไม่รู้จริงๆ ได้ยินแต่คำว่าใจ เข้าใจว่ามีใจแต่จะรู้ว่าใจขณะนี้เป็นอย่างไร ไม่ใช่คิดแล้วก็เดา แม้ว่าจะศึกษามามากสักเท่าไรก็ตาม ตอบไม่ได้ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะของจิตในขณะนั้นแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมากสุดที่จะประมาณได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วจะกล่าวว่าใจเป็นอย่างนี้ก็คือคิดแล้วก็เดา แต่ไม่ใช่การรู้ความจริงของสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้ธรรมจึงมีตั้งแต่ขั้นปริยัติการฟังให้เข้าใจในความเป็นธรรมซึ่งเกิดเป็นแต่ละอย่างๆ เช่นแข็งกำลังปรากฏ ทุกคนสามารถที่จะรู้ลักษณะที่แข็งในขณะนั้นได้เป็นธรรม แล้วมีสภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็งด้วย ก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ลักษณะนั้นเฉพาะจริงๆ จะกล่าวได้ไหม ว่าแม้ขณะที่กำลังรู้ลักษณะธรรมก็เป็นใจ หรือเป็นจิตเป็นธาตุรู้อย่างหนึ่ง ถ้าเข้าใจจิตไม่ใช่จำชื่อจิตแต่ต้องรู้ถึงลักษณะที่กำลังเป็นธาตุรู้ นี่คือการที่สามารถที่จะเข้าใจคำที่พูดตั้งแต่เกิดจนตายได้ถูกต้อง แม้แต่ตอบว่ามีสภาพที่แข็งแล้วมีสภาพที่รู้แข็ง จะใช้คำว่าจิต จะใช้คำว่าวิญญาณ จะใช้คำว่ามโน มนัส ไม่สำคัญเลย สำคัญที่มีความเข้าใจถูกว่าในขณะนั้นต้องมีแข็งกับสภาพที่กำลังรู้ลักษณะแข็งซึ่งเป็นธรรมไม่ใช่ของใคร ใครทำให้การรู้แข็งเกิดได้บ้าง และใครทำให้แข็งเกิด

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องละเอียด ทีละคำ และก็เข้าใจจริงๆ จะมีประโยชน์กว่าเรื่องราวของธรรมชื่อต่างๆ มากมายแล้วก็ไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้น นอกจากคุณสุกัญญา ขณะนี้มีใครรู้จิตบ้าง คุณสุกัญญาไม่รู้ คนอื่นๆ รู้ไหม

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ คนอื่นล่ะ ฟังธรรมแล้วนี่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพียงเข้าใจชื่อแต่ไม่ได้รู้ลักษณะของจิตเลย เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในภาษาไทย ซึ่งภาษาบาลีหมายความถึงความเห็นถูกหมายความถึงปัญญาเริ่มจากการฟังก่อน ถ้าไม่มีการฟังไม่มีใครที่จะไปรู้สภาพของธรรมใดๆ ได้เลยทั้งสิ้นนอกจากได้ยินเพียงชื่อเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ขออนุญาตตอบท่านอาจารย์ ว่ากำลังคิด

    ท่านอาจารย์ กำลังคิดมีจริงๆ ใช่ไหม คิดเป็นอะไร

    ผู้ฟัง คิดเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นเรา หรือเป็นธรรม

    ผู้ฟัง แยกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ แยกไม่ออก เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าเป็นธรรมได้ไหม เพียงแต่จำว่าคิดมีจริง สิ่งที่มีจริงแทนที่จะใช้คำภาษาไทยก็ใช้บาลีว่าธรรม สิ่งที่มีจริงเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เท่านั้นเองแต่ไม่ได้รู้ลักษณะของคิด ว่าคิดไม่ใช่เห็นเป็นธาตุรู้ รู้อะไร รู้คำที่กำลังคิด แต่ความจริงแม้ไม่คิดเป็นคำก็คิด เห็นไหม ความไม่รู้สิ่งที่มีจริงจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม คุณชมชื่นเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เมื่อเห็นต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ไหมว่าเห็นอะไร

    ผู้ฟัง แล้วคิดต่อว่าเป็นดอกไม้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดรู้ว่าเป็นดอกไม้ต้องพูดคำว่า "ดอกไม้" เป็นคำ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ แต่คิดแล้วใช่ไหม เพราะจำจึงรู้ว่าเป็นดอกไม้โดยไม่ต้องคิดคำว่า "ดอกไม้" เลย รู้จักจิตไหมที่ตอบว่าคิด

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็งที่มีลักษณะจริงกำลังปรากฏให้รู้เป็นคิดทั้งหมด จะรู้ หรือไม่รู้ก็คิดแล้ว เร็วมากนี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ ให้มีความเข้าใจถูกมีความเห็นถูกแล้วเมื่อไหร่จะเข้าใจอย่างนี้ ลองคิดดูทั้งๆ ที่ความจริงเป็นอย่างนี้ พระธรรมที่ทรงแสดงก็เป็นอย่างนี้แล้วก็ได้ฟังอย่างนี้ด้วย แล้วเมื่อไหร่จะรู้อย่างนี้ ลองคิดดูถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังเลยในแสนโกฏกัป หรือว่าขณะนี้มีบุญที่ได้กระทำไว้แล้วจึงทำให้เกิดในประเทศที่ได้ยินคำสอนที่เป็นจริง แต่ว่าปัญญาจากการที่ได้สะสมมาแล้วมากพอที่จะละความเป็นเราหรือยัง เพราะว่าถ้าจะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นอัตตานุทิฏฐิก็คือจะต้องรู้ว่าแต่ละลักษณะเกิดแล้วหมดเร็วมากเลย เช่นเห็นแล้วรู้ว่าเป็นดอกไม้แต่สำหรับคุณชมชื่นก็ยังเห็นอยู่ใช่ไหม เหมือนเห็นไม่ได้ดับเลยแล้วการรู้ว่าเป็นดอกไม้นี่เมื่อไหร่ล่ะ เห็นไหม ขณะนั้นจิตเกิดดับสืบต่อไม่ปรากฏร่องรอยของการเกิดดับเลย

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นแล้วรู้ว่าเป็นดอกไม้เร็วสักแค่ไหน แล้วในขณะที่เห็นว่าเป็นดอกไม้ก็ยังเห็นอยู่ และความรู้ว่าเป็นดอกไม้จะอยู่ตรงไหน ในเมื่อเหมือนว่าเห็นไม่ได้ดับไปเลยนี่คือความรวดเร็วอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อรู้ตามความเป็นจริง ในวันหนึ่งซึ่งมีความเข้าใจมั่นคงขึ้นจึงจะเข้าใจว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏ มีลักษณะที่เป็นเพียงสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ ส่วนการที่รู้ว่าเป็นอะไรก็ไม่ใช่กำลังเห็น เพราะกำลังเห็นจะมีอย่างอื่นไม่ได้ จะมีความรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรก็ไม่ได้เพราะเพียงเห็น แล้วควรค่าแก่การได้ยินได้ฟังไหม ลองคิดดู "รัตนะเหนือสิ่งอื่นใดซึ่งคนต่ำทรามไม่สามารถจะบริโภคใช้สอยได้" คนที่มีแก้วแหวนเงินทองมากๆ คนอื่นซึ่งไม่มีจะไปใช้ได้ไหม ไม่มีจะใช้ แต่ว่ารัตนะนี้เหนือกว่ารัตนะใดๆ ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่จะรู้ความจริงอย่างนี้ ก็ต่อเมื่อปัญญามากขึ้นเพื่อละความไม่รู้จนกระทั่งสามารถที่สภาพธรรมนั้นจะปรากฏตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น การฟังแต่ละขณะไม่ใช่เรื่องที่ใครจะไปทำให้เกิดรู้มากกว่าที่ฟังที่กำลังเข้าใจ แต่เป็นการสะสมเป็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ มิฉะนั้นชื่อว่าสังขารขันธ์ก็ไม่มีความหมายเลยใช่ไหม เจตสิกทั้งหมดเว้นเวทนาเจตสิก และสัญญาเจตสิกกำลังทำหน้าที่การงานของสังขารขันธ์ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนกระทั่งน้อมไปสู่การที่จะรู้ความจริง

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนซึ่งเกิดมาได้ยินได้ฟังพระธรรมอย่างที่คุณนิภัทร์กล่าว ไม่เสียชาติที่เกิดมาเพราะว่านกก็ไม่รู้ งูก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เห็นก็เห็นไป ได้ยินก็ได้ยินไปแต่ไม่สามารถจะมีความรู้ความเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จะจากโลกนี้ไปเมื่อไหร่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ตัวทั้งตัวที่ว่าเป็นเรา จะสวยงาม จะไม่สวย จะน่าเกลียดน่าชัง สูงต่ำ ดำขาวอย่างไรก็ไม่เป็นของใครที่จะติดตามไปได้เลย เพียงแต่ว่าเมื่อยังมีจิตก็เคลื่อนไหวไปตามเหตุตามปัจจัยของจิตประเภทต่างๆ และก็ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริงเลยเพียงแต่ว่าเกิดเพราะสมุฏฐานต่างๆ แล้วก็เป็นความเป็นไปของธาตุต่างๆ จนกว่าจะรู้ความจริงว่าชาตินี้เป็นใครสั้นมาก ไม่เป็นบุคคลนี้อีกเลย เป็นใครก็ไม่รู้ คุณสุรีย์ สุวรรณศร ครั้งหนึ่ง ณ กาลครั้งหนึ่งเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ไม่มีใครรู้ได้เลย และยังคงเป็นคุณสุรีย์อยู่ หรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น จะเป็นบุคคลนี้เพียงชั่วขณะที่ยังอยู่ในโลกนี้ จากไปก็ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่าเคยเห็นอะไร เคยชอบอะไร เคยชังอะไร เคยดีชั่วอย่างไร

    เพราะฉะนั้น การได้ฟังพระธรรมก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้สามารถตั้งตนไว้ชอบ คือเป็นผู้ตรง สำคัญที่สุดคือเป็นผู้ตรง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ถ้ามีปัญญาอย่างนี้เห็นโทษของอกุศลก็จะทำให้ตั้งมั่นในกุศลเพิ่มขึ้น

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวว่าการมีชีวิตชั่วคราวมากสำหรับชีวิตในวันนี้ เท่าที่เราเห็นอยู่แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะคุณป้าสุรีย์คนเดียว ในห้องประชุมนี้หลายท่านก็คงคุ้นเคยหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นพี่บุษบงรำไพ คุณเด่นพงษ์ คุณพี่ใหญ่ ซึ่งก็หายกันไปหมดเลยแต่ทั้งหมดเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ คำที่น่าฟังก็คือ "หายไปหมด" หายจริงๆ หมดจริงๆ ไม่เหลืออะไรเลยหายจริงๆ ในจักรวาล ในสังสารวัฏด้วยไม่มีอีกแล้ว แต่ว่าความจริงขณะนี้แต่ละขณะก็กำลังเป็นอย่างนั้นจนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายของจิตที่จะเป็นบุคคลนี้เท่านั้นเอง

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์บอกการเป็นบุคคลนี้ชาตินี้เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เท่านั้น

    อ.กุลวิไล แล้วก็เป็นบุคคลใหม่

    ท่านอาจารย์ ชาติก่อนเป็นใคร

    อ.กุลวิไล ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ทำอะไรมาแล้วแต่ว่าอย่าลืมว่าชาตินี้เป็นปางก่อนของชาติหน้า บุญที่ได้สะสมในชาตินี้จะทำให้สามารถติดตาม และได้ยินได้ฟัง และก็เข้าใจเพิ่มขึ้น

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น ไม่ประมาทในการเจริญกุศล เพราะว่าถ้าเราไม่รู้ธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ท่านอาจารย์ก็ย้ำหลายอย่าง แม้แต่กระพริบตาก็ไม่รู้ด้วยจิตอะไร หรือแม้แต่นั่งเฉยๆ อย่างนี้ก็ไม่รู้ด้วยว่าจิตเป็นอย่างไร เป็นกุศล หรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คงจะไม่พูดคำที่ไม่เข้าใจ รักชาติ ถ้าไม่เข้าใจนี่รักอะไร รักอะไรรักชาติ ถ้าไม่มีคนก็ไม่มีชาติ พระธรรมไม่ได้สอนให้รักที่เป็นความติดข้อง แต่เป็นความเมตตา เพราะฉะนั้น คนที่อ่านเผินอรรถกถาก็อธิบายไว้ แม้แต่ปิยจักขุ การมองใช้คำว่าปิย เป็นที่รักไม่เป็นที่ชัง แต่ความหมายคือด้วยความเมตตาต่อกัน เพราะฉะนั้น แต่ละคำก็ต้องมีความเข้าใจว่าต้องเป็นไปในเรื่องของกุศลไม่ใช่เรื่องของอกุศล

    เพราะฉะนั้น ปิยจักขุกับใครบ้าง ชาติ หรืออะไร ถ้ารักชาติคือหวังดีต่อคนในชาติไม่ใช่รักที่เป็นความติดข้อง แต่เมตตาคือความหวังดีพร้อมที่จะเกื้อกูลให้มีความเห็นที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ตั้งตนไว้ในทางที่ถูกต้องด้วยปัญญาที่รู้ว่าอกุศลเป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล ถ้ารักประเทศก็พูดกันอีก รักชาติรักประเทศ และรักประเทศรักอย่างไร ไปทำอะไรที่ขั้วโลกเหนือดีไหม รักประเทศแต่ว่าประเทศต้องเป็นถิ่นที่อยู่ของชาติหนึ่งชาติใด

    เพราะฉะนั้น รักประเทศคือไม่ทำลายความอุดมสมบรูณ์ที่จะทำให้คนในชาติได้อยู่อย่างสบาย เพราะฉะนั้น แม้แต่การทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์แก่การอยู่เป็นสุขก็เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความเจริญ มิฉะนั้นแล้วเราจะสามารถนั่งอย่างสบายในที่นี้ได้ไหม ร้อนแต่เราก็สามารถมีสิ่งที่ทำให้สบายได้ใช่ไหม ด้วยความหวังดีด้วยความเกื้อกูลโดยการไม่ทำลายประโยชน์ที่จะให้แก่คนอยู่รวมกันเป็นชาติหนึ่งชาติใด

    เพราะฉะนั้น ก็คือต้องมีความเข้าใจธรรมจริงๆ ว่าถ้าไม่มีธรรมอะไรๆ ก็ไม่มีชาติก็ไม่มีประเทศก็ไม่มี แต่เมื่อมีแล้วมีความเห็นผิดมีความเข้าใจผิดจะทำลาย หรือว่าจะนำมาซึ่งประโยชน์ อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจะรู้ได้ว่าถ้าไม่มีธรรม "เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่นอน"

    อ.กุลวิไล เชิญคุณเพ็ญโฉม

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ และคณะวิทยากร ท่านอาจารย์กล่าวว่าขณะนี้มีจิตรู้ หรือไม่ การศึกษาเท่านั้นที่เราจะเข้าใจว่ามีจิต ถึงจะเห็น หรือได้ยิน ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกำลังเห็นเป็นจิตเกิดพร้อมกับเจตสิก ยังไม่รู้ก็จนกว่าจะรู้

    ผู้ฟัง ขณะที่เราศึกษาเพียงแค่นี้เราก็รู้สึกว่าธรรมนี่มีคุณให้เราได้เข้าใจจริงๆ แล้วถ้าเข้าใจรู้แจ้งธรรมตามที่เราได้ศึกษาที่ท่านอาจารย์กล่าวก็จะเป็นลาภอันประเสริฐ ขณะที่ได้ศึกษาบ้างเล็กน้อยก็เป็นลาภอันประเสริฐ บางครั้งอกุศลเกิดก็จะระลึกถึงตรงที่ว่าขณะนี้เป็นธรรม โกรธแล้วก็ยังระลึกได้

    ท่านอาจารย์ จำได้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ก็ยังต้องอนุโมทนาท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่ได้ยินได้ฟังธรรม ตายแล้วก็เสียชาติเกิด เสียจริงๆ ตายแล้วไม่รู้อะไรเลย อย่างน้อยตอนนี้ก็ใกล้เวลาที่เราจะจากโลกนี้ไปก็ได้สะสม ตื่นมายามไหนก็ฟังเทปท่านอาจารย์ เราใกล้เวลาแล้วอย่างน้อยธรรมที่เราได้ฟังก็จะนำไปซึ่งแต่ละชาติที่เราสามารถจะนำไปได้ ต้องอนุโมทนามาก

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่าแม้แต่จะคิดว่าขณะนี้เป็นจิตที่เห็นไม่ใช่ใครเลย ก็ยังไม่ได้คิดเลย ในวันหนึ่งๆ ฟังแล้วก็หมดไปเพียงแค่คิดก็ไม่คิดเพราะอะไร คิดเรื่องอื่น เรื่องอื่นทั้งนั้นเลยตั้งแต่เช้ามีใครบ้างที่คิดว่าขณะที่ได้ยินก็เป็นธรรม แค่คิดก่อนก็ลืมที่จะคิด

    เพราะฉะนั้น เวลาที่กว่าจะรู้ว่าได้ยินขณะนี้กำลังมีจริงๆ และก็ไม่ใช่เสียงด้วยแต่ละคำฟังแล้วก็ไตร่ตรอง ได้ยินขณะนี้มีจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เสียงด้วยกว่าจะถึงการรู้ลักษณะที่ได้ยินว่าเป็นสิ่งที่เป็นธรรมอย่างหนึ่งคือความไม่ติดข้องเหมือนกับการที่เห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นดอกไม้ ก็ยังไม่รู้เลยว่าเห็นก่อนแล้วเป็นดอกไม้โดยไม่ต้องพูดว่าดอกไม้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จะรู้ว่าได้ยินเป็นธรรมที่มีจริงที่กำลังได้ยิน ก็ต้องเหมือนกันใช่ไหม กับเห็นไม่ต้องคิดก็รู้ว่าเป็นดอกไม้ เพราะฉะนั้น ได้ยินไม่ต้องคิดว่าได้ยิน ได้ยินเป็นธรรม ได้ยินเป็นจิต ได้ยินเป็นโสตวิญญาณ ก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะที่ได้ยินว่าต่างกับเสียง

    เพราะฉะนั้น ความคิดมาก่อนจากความจำเป็นคำๆ เป็นเรื่องราวจนกว่าจะคุ้นเคยเหมือนกับพอเห็นแล้วคุ้นเคยกับรูปร่างสัณฐานอย่างนี้ ดอกกล้วยไม้กับดอกกุหลาบเหมือนกันไหม คุ้นเคยจึงสามารถที่จะบอกได้ คุ้นเคยจนเหมือนไม่ได้คิดเลยก็รู้ได้ ฉันใด เวลาที่จะรู้ว่าได้ยินขณะนี้ก็เป็นธรรม คุ้นเคยจนกระทั่งไม่ต้องมานั่งคิดว่านี่เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะโสตปสาทกับเสียงกระทบกันเป็นปัจจัยให้จิตขณะนี้เกิดขึ้นได้ยินเสียง นั่นก็เป็นความคิดแต่คิดอย่างนี้ยังดีกว่าคิดอย่างอื่น แล้วลองดูว่าวันหนึ่งๆ คิดอย่างอื่นแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นธรรมที่เข้าใจจริงๆ ถึงลักษณะของธรรมก็สามารถที่จะรู้ความต่างของความคิดเรื่องราวต่างๆ กับสภาพที่คิด

    ผู้ฟัง อย่างจิตเห็นนี่ เห็นก็พร้อมทั้งคิดแล้วแล้วการที่จะเข้าใจถึงสภาพคิดจริงๆ

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง แต่มีคิด

    ท่านอาจารย์ คิดก็ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง คือรู้ลักษณะของสภาพที่คิดโดยที่ว่ายังเข้าใจอย่างถ่องแท้ในขั้นการฟังเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปฏิบัติไม่ใช่ให้ไปทำแต่เข้าถึงความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏตั้งแต่คำแรกที่ได้ยินคือมีจริงๆ เป็นธรรม มีจริงก็คือเป็นธรรม ขณะที่เสียงปรากฏอะไรจริง

    ผู้ฟัง เสียงมีจริง

    ท่านอาจารย์ อะไรจริงอีก

    ผู้ฟัง เสียงปรากฏก็มีเสียงเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏโดยความถูกต้องถ่องแท้จนสามารถที่จะละคลายความไม่รู้ และการยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่คือความจริง สัจจธรรม เป็นอย่างนี้สิ่งที่มีขณะนี้ตามความจริงก็เพียงแต่เกิดขึ้นปรากฏแต่ละทาง และก็ไม่ใช่ของใครด้วยสักอย่างเดียว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    15 มิ.ย. 2567