พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 640


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๔๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ทั้งหมดที่ปรากฏ ต้องเกิดโดยที่ไม่มีใครสามารถไปบังคับให้เกิดได้เลย เกิดแล้วจะไม่ให้ดับหมดสิ้นไปก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปบังบัญชาได้ นี่คือลักษณะที่แท้จริงของที่เป็น" โล กะ" หรือโลกคือเกิดดับ ต้องมีปัจจัยแต่ละอย่างเช่นถ้าเป็นสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุประสาท จะให้จิตได้ยินเกิดขึ้นเห็นเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าการที่เรียกว่าจิตได้ยินก็คือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถรู้เสียง เวลาที่พูดถึงจิตเห็นก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ยังไม่ได้เกิดขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ปรากฏ แต่ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาแสดงว่าจิตนี้เกิดแล้วเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏว่ามีจริงๆ เพราะอาศัยจักขุประสาท

    ด้วยเหตุนี้ความลึกซึ้งของธรรมแต่ละขณะมากมายมหาศาล ถ้าเป็นความไม่รู้ก็เหมือนกับไม่มีอะไรเลย เห็นทุกวัน ใช่ไหมแต่ก็ไม่รู้ความจริงของแม้เห็น คิดทุกวันก็ไม่รู้ความจริงของแม้คิด คือไม่รู้อะไรเลยจนกว่าจะได้ฟังธรรม แล้วก็ไม่ใช่ไปบังคับแต่พิจารณาเข้าใจคำที่ได้ยินเป็นคำจริงหรือไม่ ถูกต้องหรือเไม่ ถ้าเป็นจริงขณะนั้น ถ้าเป็นความเข้าใจสิ่งที่มีตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย คำที่ได้ยินทั้งหมดสามารถที่จะปรากฏว่าเป็นจริง คือเกิดแล้วดับแน่นอน และก็เมื่อเกิดแล้วดับไปหายไปแล้ว เราอยู่ที่ไหน

    เห็นเมี่อครู่นี้ไม่ได้กลับมาอีกเลย คิดนึกเมื่อกี้ก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย ไปไหนหายไปเลย มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็หายไปไม่กลับอีกเลย แล้วอะไรจะเป็นเรา อะไรจะเป็นอัตตาในเมื่อมีสิ่งที่ทำให้เกิด จึงเกิด เกิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับ อย่างเรื่องของเมื่อวานที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของวันนี้ สิ่งที่เห็น

    ท่านอาจารย์ เรื่องเดียวกันแต่ไม่ใช่จิตเดียวกัน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่มองเห็นให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏขึ้น และไม่เกิดเป็นอกุศลแค่นั้น มันน่าจะง่ายกว่า หรือไม่

    ท่านอาจารย์ หวัง หวังทุกหวังไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้

    ผู้ฟัง หวังก็เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังเข้าใจเมื่อไหร่ไม่หวัง เพราะฉะนั้น พระธรรมเพื่อให้สิ้น หรือดับหวังซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่ยังหวังยังต้องการก็ขวนขวาย แสวงหาก็ไม่สิ้นสุดแต่ถ้ารู้ความเป็นจริง การฟังธรรมก็เพื่อเข้าใจแต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจตลอดไปอย่างที่หวัง เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่จะเกิดหวัง ซึ่งไม่ใช่ขณะที่เข้าใจธรรม ก็เป็นลักษณะของธรรมอีกนั่นเอง แต่ว่าต่างชนิดกัน มีจริงๆ และก็ไม่ใช่เราด้วย เพราะว่าหวังเกิดแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าไม่หวัง แต่ค่อยๆ ดูว่าเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่กำลังเกิด

    ท่านอาจารย์ กำลังหวังแล้ว กำลังค่อยๆ

    หวังทำไม เข้าใจจบหมดแล้ว นั่นคือสามารถที่จะละความติดข้องจริงๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญาเกิดกว่าจะรู้ลักษณะของธรรมซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวันทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่หวังว่าจะรู้อะไร หวังได้อย่างไงสิ่งนั้นยังไม่เกิด สิ่งที่เกิดแล้วก็ดับไปแล้ว แล้วก็จะไปรู้สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้วก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แม้หวังจะรู้สิ่งที่ปรากฏก็ยังหวังไม่ได้เลยว่าอะไรจะปรากฏเมื่อไหร่ นี่ประการต้นทีเดียวที่จะละความหวัง และขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏเพราะหวังจึงอยากจะเข้าใจลักษณะนั้น แต่ถ้าเป็นปัญญาที่อบรมแล้วสิ่งนั้นหมดแล้ว และก็มีสิ่งอื่นเกิดปรากฏกับปัญญาเพราะไม่หวังในสิ่งก่อนซึ่งดับไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น ความละเอียดของความไม่หวังก็คือเมื่อปัญญาสามารถที่จะเห็นถูกขึ้น แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้นก็จะนำทางไปสู่หนทางที่ถูก เวลาที่มีความหวังเกิดขึ้นขณะนั้นปัญญาก็สามารถที่จะรู้ว่าผิด สีลัพพตปรามาสเป็นทิฏฐิความเห็นผิดที่ลูบคำหนทางผิดยังมีอยู่ ดับด้วยโสตาปัตติมรรคจิต คิดดูก็แล้วกัน หวังจะเข้ามาเมื่อไหร่ อย่างไร ถ้าปัญญาไม่รู้ขณะนั้น หวังก็สบายมากที่จะสร้างสังสารวัฏฏ์ต่อไป เป็นอาจารย์ และเป็นศิษย์ในสังสารวัฏฏ์

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ว่าการที่จะดับสังสารวัฏฏ์ แต่ละสังสารวัฏฏ์ที่เกิดขึ้นจะต้องละเลิกในสิ่งที่ติดข้อง

    ท่านอาจารย์ ด้วยความเข้าใจถูกเพราะไม่รู้จึงติดข้อง เพราะฉะนั้น ถ้าจะละความติดข้องต้องรู้ถูกเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องกังวลว่าเมื่อไหร่ แต่เมื่อไหร่มีความเห็นถูกเมื่อนั้นก็รู้ว่ากำลังค่อยๆ เข้าใจโดยไม่ได้บังคับบัญชา เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่สะสมมาของแต่ละคนก็จะปรากฏตามความเป็นจริง ให้เห็นว่าแต่ละคนคือแต่ละหนึ่งเกิดแล้วปรากฏแล้วก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม ตรงกันข้ามพยายามกับที่จะไปบังคับ แล้วสิ่งที่สะสมมาจะเกิดได้อย่างไร เกิดไม่ได้ เมื่อเกิดไม่ได้แล้วปัญญาจะรู้ได้อย่างไร ว่าสะสมมาอย่างนี้จึงเป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ความเป็นอิสระจริงๆ “โพธิปักขิยธรรม” เสรีธรรมทำให้พ้นจากความเป็นทาสของตัณหา โลภะ พ้นจากความเป็นตัณหาทาโส ความเป็นทาสของโลภะซึ่งจะพ้นได้ด้วยปัญญาจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่กังวลอะไรเลย เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้เกิดแล้วให้เห็นว่า สะสมมาอย่างนี้แต่ก็เป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นเพียงธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ฟุ้งซ่านเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง ทุกอย่างเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟุ้งซ่านเป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ฟุ้งซ่านเป็นสภาพรู้ หรือมิใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง เป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ไม่ฟุ้งซ่านใช่ไหม เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพรู้นั้นฟุ้งซ่าน เป็นจิต หรือเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ทำไมตอบได้ ตอบชื่อแต่มีใครรู้จักฟุ้งซ่านตัวจริงโดยไม่ต้องเรียกชื่อบ้าง

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ คำว่า “ฟุ้งซ่าน” เป็นวิบากกรรมที่เกิดจากเหตุ และปัจจัย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่เลย ธรรมคิดเอง ธรรมคิดเองนี่ต้องไม่มีอีกแล้ว เพราะรู้จริงๆ ว่าใครคิดเองเมื่อไหร่ผิดทันที ทันทีเลยเพราะบุคคลนั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อฟังแล้วคิดตามที่ได้ฟัง ไตร่ตรองจนกระทั่งมีความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ได้ฟังจากใครคนนั้นไม่ได้คิดเอง เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้วก็ยังไตร่ตรองสิ่งที่ได้ฟังจนกระทั่งเพิ่มความเข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจที่เกิดก็ไม่ได้คิดเองเพราะได้ยินได้ฟังต่างหาก เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ไม่ได้ทิ้งไป ยังเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่คิดไม่ไตร่ตรองก็ฟุ้งซ่าน เป็นธรรม ฟุ้งซ่านไม่ใช่รูปธรรม ฟุ้งซ่านเป็นเจตสิกก็เท่านี้เองใช่ไหม แต่ว่าตามความเป็นจริงฟุ้งซ่านไม่ใช่จิต ฟุ้งซ่านไม่ใช่รูป ฟุ้งซ่านต้องเป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่ใช้คำว่า “ เจตสิก” หมายความถึงธรรมที่เกิดกับจิตเท่านั้นรวมทั้งเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น แต่จะเกิดกับอย่างอื่น สิ่งอื่นไม่ได้เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นส่องไปถึงสภาพของธาตุรู้ซึ่งเป็นภายในแล้วก็มีความฟุ้งซ่านเกิดร่วมด้วยเป็นจิตประเภทหนึ่ง ทีนี้ตอบได้แน่ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ แล้วกุศล และอกุศลที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ ที่ได้ปรากฏนี่เข้าแถวกันมา หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ธรรมคิดเอง นี่คิดได้สารพัด แต่จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ถ้าจิตขณะนี้ไม่ได้ดับไปปราศไป ดับไปจนไม่เหลือ จิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น การดับไป ปราศไป สิ้นไป หายไป หมดไปของจิตขณะก่อนที่ไม่เหลือเป็นปัจจัยให้จิตเจตสิกขณะต่อไปเกิด ปัจจัยนี้ชื่อว่า “อนันตรปัจจัย” หมายความว่าไม่มีระหว่างคั่นเลย

    ทันทีเลยที่ปฏิสนธิจิตขณะแรกดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แต่ไม่ใช่ปฏิสนธิเพราะเหตุว่าไม่ได้สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่สืบต่อจากปฏิสนธิ คนละขณะ ประเภทเดียวกันก็จริง คือเป็นวิบากเป็นผลของกรรมเดียวกัน แต่แม้กระนั้นก็กิจต่างกัน คือจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิยังไม่ทันเห็นยังไม่ทันได้ยินเลย แค่เกิดขึ้นดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้เพื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วคิดนึกตามการสะสมของแต่ละคนจนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย จุติจิต แล้วก็จะไม่เหลืออะไรเลยทั้งสิ้น แม้แต่ความจำ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่เราจะต้องเข้าใจว่าการฟังธรรมคือฟังในสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น เราจะไม่คิดเรื่องเข้าแถว เพราะว่าจิตเกิด ๑ ขณะมีแถวไหม ดับแล้วแต่ความทรงจำของเราในเรื่องการเกิดดับสืบต่อทำให้เข้าใจว่าเป็นแถว แต่ว่าตามความเป็นจริงสภาพธรรมมีปัจจัยเกิดแล้วดับ ที่ไหนก็ได้ที่มีปัจจัย บนเครื่องบิน ในอากาศ นกบินไปมีปัจจัยที่จิตเห็นเกิด จิตเห็นก็เกิดแล้วก็ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย

    ไม่เข้าแถวแต่ว่าเกิดดับสืบต่อโดย "สมนันตรปัจจัย" หมายความว่าต้องตามลำดับ คำว่า “ตามลำดับ” นี่อาจทำให้เราเข้าใจว่าเข้าแถวแต่ไม่มีแถวที่จะเข้า เพราะว่าเกิดขึ้นตามลำดับของปัจจัย เพราะฉะนั้น อย่างเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ จิตอื่นเกิดต่อได้ไหม ต้องมีจิตเจตสิกเกิดต่อแน่ แต่จิตอื่นที่ไม่ใช่วิบากจิตประเภทเดียวกันเช่นจิตเห็น จิตได้ยินจะเกิดต่อได้ไหม ไม่ได้โดยสมนันตรปัจจัย ความเกิดขึ้นสืบต่อของจิตต้องเป็นไปตามลำดับของเหตุผลด้วย ของความจริงด้วย ของความเป็นไปของธรรม

    เพราะฉะนั้น ธรรมไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลง จัดสรร บันดาลโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ามีความเข้าใจว่ามีจิตเจตสิกแน่นอนเป็นสภาพรู้เกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก เป็นประเภทต่างๆ ที่สืบต่อกันเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง สมมติว่าปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้ว ตรงนั้นมีเจตสิกสำหรับเด็กทารกหนึ่งเดือนไหม

    ท่านอาจารย์ จิตจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ ทำกิจอะไร อย่างไรก็ตามแต่ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน ร่วมกัน มีอารมณ์คือรู้สิ่งเดียวกัน เวลาดับก็ดับพร้อมกัน แยกจิต และเจตสิกออกจากกันไม่ได้ แต่จิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกก็ไม่ใช่จิตแม้ว่าเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน นี่คือความเข้าใจขั้นพื้นฐานซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ เมื่อไหร่ๆ ที่มีจิตต้องรู้ว่าขณะนั้นมีเจตสิก

    เพราะฉะนั้น จะมีอีกคำหนึ่ง “จิตตุปบาท” (จิตตุปปาทะ) เป็นคำรวมของจิตกับอุปปาทหมายความว่าจิตที่เกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ต้องเอาเจตสิกเข้ามาร่วมด้วยใส่ชื่อลงไปแต่ถ้ามีความเข้าใจว่า ที่ใดก็ตามขณะไหนก็ตามที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เราก็ไม่สามารถที่จะไปคิดเองเป็นอย่างอื่นได้ บางคนก็บอกว่าจิตเกิดก่อนแล้วเจตสิกเกิดทีหลัง ก็ผิดอีก เราก็สามารถ “มีธรรมเป็นที่พึ่ง” ถ้าใครกล่าวคำไม่จริงก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าคนนั้นคิดเอง

    เพราะฉะนั้น จิตเจตสิกเกิดพร้อมกันเพราะเหตุว่าจิตก็เป็นนามธรรม เจตสิกก็เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ความเป็นปัจจัยที่อาศัยกัน และกันโดยความเป็นนามธรรมที่เกิดไม่แยกจากกันเลยโดยสัมปยุตตปัจจัย นี่คือชื่อภาษาบาลี แต่ว่าจำชื่อแล้วไม่เข้าใจไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเข้าใจแล้วได้ยินคำว่า “สัมปยุตต์”เมื่อไหร่เราจะรู้ว่าหมายความถึงธรรมคือจิต และเจตสิกเท่านั้น เพราะว่าเป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกันเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน

    ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังตรง ชัดเจน ถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน และก็จะไม่มีการคิดเอง หรือว่าไปเข้าใจผิด เพราะว่าพระธรรมละเอียดมาก มากกว่านี้อีก แต่ว่าถ้ามีพื้นฐานที่มั่นคงก็จะเข้าใจได้ว่าที่เป็นเราก็คือจิตเจตสิก และรูป แต่ว่ารูปไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้น รูปที่ตัวทั้งหมดก็เหมือนรูปที่ไหนๆ คือไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้ แต่รูปที่ตัวต่างกับรูปอื่นภายนอก ต้นไม้ใบหญ้าไม่ได้เกิดจากกรรม ไม่ได้เกิดจากจิต ไม่ได้เกิดจากอาหาร แต่ที่ร่างกายของสัตว์บุคคลมีรูปที่เกิดจากกรรมก็มี มีรูปที่เกิดจากจิตก็มี มีรูปที่เกิดจากอุตุก็มี มีรูปที่เกิดจากอาหารก็มี หมดแล้วดับแล้วเพราะว่ารูปทุกรูปที่มีสภาวรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    ๑๗ ขณะนี่ไม่ต้องไปประมาณเลยแค่เห็นก็รู้ว่าเป็นคุณโป๊ด นี่ก็ไม่รู้ว่ากี่วาระกี่ขณะแล้ว เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดดับแล้วถ้ารูปนั้นไม่ปรากฏ รูปใดก็ตามที่เกิดแล้วไม่ปรากฏรูปนั้นก็เกิดแล้วดับแล้ว แล้วก็มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ได้เห็น เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจเท่านั้นเอง เพียงแค่สิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน เท่านั้นเองใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ก็ติดเพราะอะไร เกิดมาในภพภูมิที่มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็เป็นปัจจัยที่มีรูปที่สามารถกระทบสิ่งนั้นได้ ที่ตัวนี่จักขุประสาทเป็นรูปภายในเพราะว่าใกล้ชิดกับจิตมาก ถ้าไม่มีรูปนี้จิตเห็นเกิดไม่ได้เลย สภาพธรรมที่ใกล้ชิดที่เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น ยิ่งกว่าคนอื่นใช่ไหม เพราะว่าถ้าไม่มีจักขุประสาท จิตเห็นเกิดไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น จิตเห็นต้องมีจักขุประสาท อาศัยจักขุประสาทซึ่งเป็นรูปมีอายุ ๑๗ ขณะ และสิ่งซึ่งกำลังปรากฏให้เห็นทางตาก็มีอายุ ๑๗ ขณะ ก็ดับแล้วทั้งสองอย่าง แต่สัญญาเจตสิกจำทุกขณะจิตทำให้จำได้ว่าเป็นอะไร เรื่องราวต่างๆ ก็มาจากโลกภายในที่คิดแล้วก็ไม่ลืม

    แต่ต้องรู้ตามตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่แท้จริงคือโลกที่เกิดดับไม่ว่าจะเป็นภายใน หรือภายนอก แต่เรื่องราวเพราะจิตคิดจึงมีความจำในเรื่องนั้นแต่เรื่องนั้นไม่ได้มี ไม่ได้เกิดดับเพราะไม่ใช่สภาวธรรมแต่เหมือนมี เพราะฉะนั้น เราหลงอยู่ในโลกมายานิมิตที่เหมือนกับว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง ผู้ที่ไม่มีจักขุประสาทนี่ไม่ดีกว่า หรือไม่ต้องเห็น มีแค่โผฏฐัพพะอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ คุณโป๊ดวันนี้เอาไปเลย ไม่เห็น ณ บัดนี้ไม่เห็นเอาไหม คำถามนี้แสดงให้เห็นว่าจริง หรือไม่ พูดอย่างนี้หมายความว่า เหมือนกับว่าถ้าไม่มีอะไรเลยก็ดี ดีแน่ถ้าไม่มีเลยแม้จิต และเจตสิกก็ไม่เกิด แต่ถ้ายังมีจิตเจตสิกเกิด ไม่เห็น ถ้าไม่มีกระจกซักบานแย่แล้วใช่ไหม ถูกต้องไหม เข้าห้องน้ำทำไงดี แปรงฟันทำไงดี ตั้งหลายอย่าง ใช่ไหม ที่ควรรู้ว่าตรงไหนมีซอกมีมุมมีอะไรที่ควรจะต้องรู้ว่าสะอาด หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็ในเมื่อมีโผฏฐัพพะแล้วใช้ตรงนั้นไม่ได้ หรือ

    ท่านอาจารย์ ก็วันนี้ลองดู หลับตาเข้าห้องน้ำไม่ลืมตาเลยจนกระทั่งออกมา เดือดร้อนแน่ๆ เลยใช่ไหม ฟันสะอาด หรือยัง แค่นี้ชีวิตเป็นทุกข์ไหม เกิดมาเห็นทุกข์ หรือยัง และทุกข์อีกมากมายซึ่งประมวลไม่ได้เลย เกิดมาแล้วต้องเป็นแน่ การแสวงหาอาหารเป็นทุกข์ไหม ชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร จากอาหาร ไปน้ำ ไปไฟสารพัดของการที่ทุกข์จะต้องเกิดขึ้นใช่ไหม แล้วก็จะไม่เห็น จะรู้ไหมว่าไฟอยู่ตรงไหน น้ำอยู่ตรงไหน แค่มือคลำก็ไม่รู้ด้วยซ้ำสะอาด หรือยัง

    เพราะฉะนั้น คนที่มองไม่เห็นรับประทานอะไรเข้าไปจะรู้ไหม ถ้ามีแล้วรู้เพราะไม่มีไม่ได้ ใครห้ามได้ว่าไม่ให้มีจักขุประสาท ใครห้ามได้ว่าไม่ต้องเห็น หรือไม่มีเห็นเลย นี่คืออนัตตา เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมว่าเป็นอนัตตาต้องมั่นคง ลึกซึ้งแล้วละเอียดจึงจะได้สาระจากการฟังพระธรรม ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทุกอย่างต้องมีเหตุปัจจัย วันนี้คงไม่หวังว่าตาจะบอดดีกว่าใช่ไหม

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจก็จะต้องมีธาตุรู้เกิดขึ้นด้วย

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเป็นอะไร ไม่ใช่ไปว่ามีธาตุรู้ แต่ว่าเข้าใจมีจริงๆ และเข้าใจเป็นอะไร

    ผู้ฟัง คือเข้าใจเป็นปัญญาเจตสิกเกิดขึ้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธรรมซึ่งขณะนั้นจะต้องมีธาตุรู้

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจมีอย่างอื่นไหม

    ผู้ฟัง ขณะที่เข้าใจเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีอย่างอื่นไหม

    ผู้ฟัง จะต้องมีสภาพธรรมอย่างอื่นเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ อะไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ และอะไรอีก

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีสิ่งที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ กำลังพูดถึงสิ่งที่เข้าใจว่ามีจริงๆ เมื่อเกิดขึ้น ขณะนั้นมีอะไรด้วย

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีจิตเกิดขึ้นด้วย

    ท่านอาจารย์ มีจิต มีเจตสิกแล้วมีอะไรอีกอื่นอีกไหม เพราะฉะนั้น ขณะนั้นอย่าเอาอย่างอื่นมาปนเลย พูดถึงเข้าใจก็พูดถึงสิ่งหนึ่งที่กำลังเห็นถูกในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏจึงชื่อว่าเข้าใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นจะไม่มีสิ่งอื่นที่จะปรากฏนอกจากสิ่งที่ถูกเข้าใจ หรือกำลังเข้าใจกับปัญญาที่กำลังเข้าใจ แม้ว่ามีจิต และเจตสิกอื่นๆ เกิดพร้อมกันก็ไม่ได้ปรากฏ แต่อย่างอื่นหามีไม่ ๑ ขณะจิตเป็น ๑ ขณะจิต จะกล่าวว่ามีเราอีกไม่ได้

    ผู้ฟัง รบกวนท่านอาจารย์กล่าวอีกครั้ง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจมีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เกิด หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ รู้อะไร

    ผู้ฟัง ก็ในขณะนั้นเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ รู้สิ่งที่กำลังเข้าใจ เพราะฉะนั้น อย่างอื่นจะมีไหม

    ผู้ฟัง อย่างอื่นก็มีเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น อย่างอื่นนอกจากนี้มีไม่ได้เลย ปรากฏไม่ได้เลย แม้มี เมื่อไม่ปรากฏ ขณะนั้นมีสิ่งที่รู้กับสิ่งที่ปรากฏให้รู้ที่สิ่งสามารถจะเข้าใจได้

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏก็คือความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เท่านั้น ขณะนั้นมีสิ่งที่กำลังเข้าใจกับสิ่งที่เข้าใจสิ่งนั้น มีเราหรือไม่ ไม่มี เพราะฉะนั้น เปลี่ยนเป็นมีไม่ได้ เท่านั้น

    ผู้ฟัง แล้วตัวปัญญารู้อะไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคือความเห็นถูกความเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง ตัวจิตรู้อะไร

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่นขณะนี้เห็นไม่ใช่ปัญญา แต่ทำกิจรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง ทีนี้ในขณะที่เข้าใจกับไม่เข้าใจ ฟังสิ่งเดียวกันแต่มีความต่างกัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะจิตไม่ใช่เจตสิก จิตเป็นปัณฑระ จิตทุกประเภทผ่องใสในความหมายที่ว่าไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเลย เฉพาะตัวจิตไม่ใช่กิเลสไม่ใช่เจตสิกใดๆ เพราะฉะนั้น สภาพของจิตแท้ๆ คือสภาพที่ผ่องใส


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    16 มิ.ย. 2567