พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 605


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ในความจริงของเห็น ก่อนจะพูดถึงลืมตา กว่าจะพูดถึงทำ กว่าจะพูดถึงอะไรทั้งหมด เพียงคำเดียวว่า “เห็น” มีจริงๆ หรือไม่ ก็กำลังมี เมื่อมีแล้ว ความจริงของเห็นคืออะไร ถ้าสามารถทำให้เข้าใจขึ้นๆ ถูกต้องตามความเป็นจริง อันนั้นก็แสดงว่า เป็นสิ่งที่ควรฟัง ควรศึกษา ควรเข้าใจ อยู่ที่ผู้ฟังด้วยที่จะรู้ว่า ฟังแล้วเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ หรือจะเข้าใจได้เมื่อไร ไม่ไตร่ตรองเลย ไม่คิดเลย แล้วจะเข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่เมื่อต้นชั่วโมง ท่านอาจารย์กล่าวว่า จิตเป็นเรื่องธรรมดา ในการศึกษาเมื่อพูดเรื่องที่เป็นธรรมดาในชีวิตประจำวัน ดูเหมือนไม่น่าสนใจที่จะรู้

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงที่มีในชีวิตประจำวัน คือ เห็น ได้ยิน ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร แล้วไม่น่าจะฟังพระองค์หรือ เพราะเป็นเรื่องธรรมดา หรืออย่างไร ถ้าคิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ในหมู่ผู้ศึกษาคิดว่า ในชีวิตประจำวันมีเห็น ได้ยิน หรือการรับรู้ทางทวารทั้ง ๖ ถ้าไม่รู้จักตรงนี้แล้วก็ไม่มีความจริงอะไรให้ศึกษาเพื่อรู้ตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนไม่รู้ก็คิดว่าไม่น่าศึกษาเรื่องเหล่านี้ ควรจะไปศึกษาเรื่องอื่น เพราะเข้าใจว่าเรื่องอื่นดีกว่า มีประโยชน์กว่า โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ แท้ๆ ก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้อะไรได้ที่เป็นจริง

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ว่ามหัคคตกับสภาพจิตที่อ่อนแอให้ละเอียดอีกหน่อยว่า มหัคคตปราบอ่อนแอได้อย่างไร

    อ.ประเชิญ จากการศึกษาจากผู้ตรัสรู้ก็ทราบว่า จิตไม่ได้มีดวงเดียวเที่ยวไป โดยทั่วไปที่พูดว่าเหมือนจิตเที่ยงดวงเดียวเที่ยวไป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความต่างกันของจิตเป็นประเภท คือ โดยภูมิ ระดับชั้นของจิตเป็นกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมิ นี่คือความต่างกันตามลำดับชั้นที่ต่างกันเป็นจริงอย่างนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และแสดงความจริงของจิตของสัตว์ทั้งหลาย มีความต่างกันอย่างนี้ เมื่อเทียบระหว่างขั้นกามาวจรจิตกับรูปาวจรจิตแล้ว กามาวจรจิตเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนแอ หรือมีกำลังทรามกว่ารูปาวจรจิต และมีกำลังทรามกว่าอรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิต

    อันนี้คือความต่างกันของประเภทของจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งให้เห็นความจริงว่า จิตนั้นมีหลายประเภทแม้แต่ขั้นกามาวจรจิตยังแบ่งเป็นชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก และชาติกิริยา นี่ต่างกันโดยชาติ หรือการเกิดขึ้นแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน และไม่ใช่จิตดวงเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้น เที่ยง และเป็นไป ไม่ใช่อย่างนั้น บางครั้งมีโสภณธรรม คือ เจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วย จิตนั้นก็เป็นโสภณจิต

    นี่โดยกว้างๆ โดยคร่าวๆ ในรายละเอียดของพระอภิธัมมปิฎก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ศึกษาภายหลังไม่เข้าใจผิด เพราะจิตมีหลากหลายจริงๆ จิตเกิดเพราะปัจจัย จิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทุกๆ ขณะเป็นไปอย่างนี้

    นี่คือขั้นกามาวจรจิต หรือกามาวจรเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง อ่อนแอรวมอยู่ในจิตที่ซึมเศร้า หรือไม่

    อ.ประเชิญ นั่นเป็นประเภทของอกุศล ถ้าเทียบระหว่างกุศลธรรมกับอกุศลธรรม จิตฝ่ายอกุศลธรรมมีกำลังอ่อนแอกว่า เพราะฉะนั้น ผู้ที่อาศัยพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ฝึก ได้อบรมในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง ก็มีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น มีจิตใจมีกำลังถึงขั้นไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม มีความมั่นคงดุจเขาศิลาที่เป็นแท่งทึบ คือผู้มีจิตใจเข้มแข็ง คือภาวะของพระอรหันต์ ท่านดับกิเลสได้ทั้งหมด ความที่ดับกิเลสได้ทั้งหมด จึงชื่อว่า มีจิตใจที่เข้มแข็ง และมีกำลังที่สุด นี่คือภาวะของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้อบรมในพระธรรมวินัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงไว้

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้ว รู้จักจิตหรือยัง ฟังเรื่องจิตมาก และเดี๋ยวนี้ก็มีจิต รู้จักจิตในขณะนี้หรือยัง เพราะเหตุว่าแม้แต่ แต่ละคำที่ได้ยินในพระไตรปิฎกก็มีความหมายต่างๆ ละเอียด โดยที่เมื่อฟังเรื่องใดก็เข้าใจในเรื่องนั้น อย่างเวลานี้กำลังคิดถึงเรื่องกำลังของจิต เรื่องจิตที่อ่อนแอ หรือจิตที่มีกำลัง เป็นต้น เพียงแต่เรื่องกำลังของจิต เรามีความรู้ความเข้าใจจิตขึ้นหรือไม่ แค่ไหน เช่น มีปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดขึ้น จิตก็เกิดแล้วก็ดับ กำลังอยู่ตรงไหน เห็นไหม จิตดับแล้วมีกำลังอยู่ตรงไหนหรือไม่ จิตที่ดับแล้วมีกำลังทำให้จิตขณะต่อไปเกิดได้ นามธรรมไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่ต้องไปใช้ยาบำรุงกำลัง ไม่ต้องออกกำลัง หรือทำให้จิตเกิดกำลัง แต่ลักษณะของจิต สภาพของจิตเป็นธรรมที่ทันทีที่ดับไป ถ้าไม่ใช่จิตของพระอรหันต์แล้วเป็นอุปนิสสยปัจจัย หมายความว่าเป็นปัจจัยที่มีกำลังที่ทำให้จิตต่อไปเกิดขึ้น

    จิตเกิดยากไหม นามธรรม ใครจะไปทำให้จิตเกิดได้ แต่แม้อย่างนั้นจิต ๑ ขณะที่เกิดเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย อนันตร หมายความว่าไม่มีระหว่างคั่น

    เพราะฉะนั้น อนันตรูปนิสสยปัจจัย หมายความถึงเป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย ใครจะเปลี่ยนความจริงนี้ได้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมแม้เรื่องเดียว ก็ย่อมจะทำให้สามารถเข้าใจลักษณะนั้นๆ ตรง และเพิ่มขึ้น และเห็นความเป็นอนัตตาของธรรมด้วยว่า ไม่ใช่ใครจะไปบันดาล หรือทำให้สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นเลย แต่สภาพธรรมของจิตซึ่งไม่ใช่จุติจิต คือ จิตขณะสุดท้ายของพระอรหันต์ ทุกขณะที่ดับ ปราศไป หมดไป ไม่เหลือเลยด้วย ต้องปราศไปหมด เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เป็นกำลัง มีกำลังที่ทำให้นามธรรมเกิดได้ ทันทีที่จิตเจตสิกขณะก่อนดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดได้ นี่คือกำลัง

    เพราะฉะนั้น กว่าจะพูดถึงจิตประเภทต่างๆ กำลังของเจตสิกต่างๆ ก็ต้องตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ โดยนัยหลากหลาย ประการทั้งปวง เช่น ถ้ากล่าวถึงพละ หรือกำลัง พละคือกำลัง ทางฝ่ายกุศลก็มี ทางฝ่ายอกุศลก็มี ถ้าทางฝ่ายกุศลที่มีกำลังมาก ก็เป็นฝ่ายที่ประกอบด้วยปัญญา ศรัทธามีกำลัง วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ต้องมีกำลัง จึงสามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่กำลังเหล่านี้มาจากไหน ถ้าไม่มีกำลังทีละเล็กทีละน้อยที่สะสม จนกระทั่งสามารถที่จะฟังสิ่งที่กำลังฟัง เข้าใจลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นขั้นต้น เป็นสัจจญาณ รู้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ซึ่งหลากหลายมาก โดยประการทั้งปวง โดยปัจจัยต่างๆ แม้แต่ท่านพระอานนท์ เพียงคำเดียว ท่านตรึกไปได้ถึง ๖๐,๐๐๐ บท อย่างจิตประกอบด้วยเจตสิกอะไร เป็นชาติอะไร เป็นภูมิอะไร ประกอบด้วยปัจจัยอะไร และแสดงอีกมากมายตามกำลังของปัญญา

    เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะเห็นได้ว่า การฟังพระธรรม อย่าเพิ่งรีบร้อนจะไปรู้คำนั้นๆ ในพระไตรปิฎก แล้วก็สงสัย หรืออยากจะเข้าใจ อยากจะรู้เฉพาะตรงนั้นตรงนี้ โดยไม่ได้ศึกษาตามลำดับ ให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ให้เราเข้าใจในความเป็นธรรมด้วย เพราะส่วนใหญ่ในการศึกษาจะคุ้นเคยกับชื่อของจิต แต่ตัวจิตนั้นมีจริง และขณะนี้ก็มีจิตด้วย แต่เรายึดถือเห็นว่าเป็นเรา ในขณะที่เห็นก็เพียงเห็นเท่านั้นเอง ซึ่งไม่ใช่เราขณะที่เห็น แต่เพราะเรายึดถือสภาพที่เห็นว่าเป็นเรา ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ถึงสภาพธรรมที่เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีจิต หรือไม่มีจิต

    ผู้ฟัง จากการศึกษาเข้าใจว่ามีจิตแน่นอน

    ท่านอาจารย์ จากการศึกษาเข้าใจว่ามีจิต ถ้าไม่ศึกษามีไหม "เห็น"

    ผู้ฟัง มีเห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วเห็นเป็นอะไร ก็ยังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อให้รู้ว่า" เห็น"ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วที่ถามท่านอาจารย์ เพื่อเพิ่มความเข้าใจว่า มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วมีเห็นจริงๆ แต่ลักษณะที่จะเข้าใจสภาพของเห็นว่า เป็นธรรม เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟัง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้มี เป็นธาตุ เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น แค่นี้กว่าจะค่อยๆ เข้าใจเห็นว่า เห็นขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง กำลังเห็นด้วย นั่นแหละคือธรรม คือจิต

    ผู้ฟัง ตรงนี้ยากมาก เกินกว่าจะเข้าใจได้จริงๆ ว่า เห็นเป็นธาตุ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้ววันหนึ่งจะสามารถเข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ต้องฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพธรรมก็ไม่ใช่ของง่าย ขณะที่กุศลจิตเกิดก็เป็นมิตรดี แล้วจริงๆ ก็ชั่วคราว ไม่ตลอด

    ท่านอาจารย์ อกุศลเป็นมิตร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่มิตร เป็นศัตรู ยังเข้าใจผิวเผิน

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องฟังอีก จนกว่าจะเข้าใจอีกมากๆ จนกระทั่งรู้สภาพธรรมที่ปรากฏไม่ใช่เพียงชื่อ

    ผู้ฟัง จิตเกิดขึ้นเป็นชาติวิบาก

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นเป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง ค่ะ จิตเห็นเป็นผลของกรรมขณะหนึ่ง แล้วจะเข้าใจกรรม และผลของกรรมด้วยปัญญาได้อย่างไรว่า เป็นเรื่องของกรรม

    ท่านอาจารย์ หลับตา เห็นไหม

    ผู้ฟัง หลับตาไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจในขั้นการฟัง

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเข้าใจ เป็นกรรม หรือเป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง ขณะที่เข้าใจธรรมเป็นกรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ปะปนกันระหว่างกรรมซึ่งเป็นเหตุ และวิบากซึ่งเป็นผล

    ผู้ฟัง คำว่า กรรม และผลของกรรม กว้างมาก เช่นประสบกับสิ่งที่ไม่ดี ก็เชื่อมั่นในกรรม และผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ประสบอะไรที่ไม่ดี

    ผู้ฟัง เช่น ประสบอุบัติเหตุ หรือสูญเสียสิ่งที่เป็นที่รัก

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นอะไรคะ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมอะไร

    ผู้ฟัง การสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว รู้สึกไม่พอใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง คิดว่า เป็น

    ท่านอาจารย์ นั่นคือคิด คิดเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง คิดก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีกที่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจไปถึงว่าเป็นโทสเจตสิก

    ท่านอาจารย์ นั่นคือคิดอีก เพราะฉะนั้น คิดเป็นกรรม หรือผลของกรรม ถ้าจะเข้าใจกรรม และผลของกรรม ไม่ใช่ชื่อ แต่เวลาพูดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ขณะนั้นต้องเข้าใจว่าเป็นอะไร ไม่อย่างนั้นก็เป็นชื่อกับเป็นเรื่อง และไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

    ผู้ฟัง และการเข้าใจจริงๆ ก็ต้องเข้าใจว่า เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็รู้ว่า กำลังคิดเป็นกรรม หรือเป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง กำลังคิดเป็นกรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นกรรม ไม่ใช่ผลของกรรม ต้องชัดเจนทุกขณะ เวลาสงสัยก็ฟังแล้ว อะไรเป็นกรรม อะไรเป็นผลของกรรม เป็นความเข้าใจของเราเองจากการฟัง และไตร่ตรอง แล้วรู้ด้วย

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็หมายความว่า ขณะที่จิตเห็นเกิด นั่นเป็นผลของกรรม และขณะที่คิดเป็นกรรม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ฟังเรื่องธรรมมานาน แต่ก็ลืมว่า เป็นธรรม ทุกครั้งที่สงสัย เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถรู้ว่า ทุกอย่างที่มีจริงๆ เป็นธรรม ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า สภาพนั้นๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ขณะนี้เองไม่ว่าจะรู้ลักษณะชองสภาพธรรมอะไร สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับ แต่เพราะไม่รู้เลยตั้งแต่นั่งฟังว่า แต่ละขณะเป็นธรรมทั้งนั้น ก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นธรรมแต่ละอย่างที่มีเกิด และดับ แต่ถ้ากำลังรู้ลักษณะชองสภาพธรรม ไม่ลืมที่จะรู้ว่า ธรรมมีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นแต่ละอย่างเมื่อเกิดขึ้นปรากฏ ถ้าไม่ลืม ขณะนั้นธรรมนั้นดับ เพราะว่ามีธรรมอื่นแล้ว อย่างเห็นอย่างนี้ก็มีลักษณะเฉพาะ คือสามารถที่จะรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ ทางตา เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องเป็นอย่างนี้ ให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้ แต่เวลาที่เสียงปรากฏ ลืมแล้วใช่ไหมว่า ขณะนั้นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น การฟัง ฟังเพื่อไม่ลืมที่จะเข้าใจความเป็นจริงของธรรม โดยที่ไม่ลืมว่า ธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ได้ ก็จะรู้ความจริงของสภาพธรรมว่า ไม่มีสักอย่างเดียวที่เป็นเรา เห็นแค่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงปรากฏให้เห็น

    เพราะฉะนั้น ฟังแล้วฟังอีก ก็คือเพื่อไม่ลืมความจริงว่า ความจริงเป็นอย่างนี้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น กว่าที่เราจะสามารถมีปัญญาที่มั่นคง คิดถึงว่า วันนี้อกุศลเกิดเท่าไรแล้ว คุณหมอเป็นหมอมีโรคเยอะไหม หรือไม่มีเลย

    ผู้ฟัง มีมาก

    ท่านอาจารย์ มากแค่ไหน

    ผู้ฟัง อธิบายไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อธิบายไม่ได้ แต่จิตมีจริง เป็นโรคไหม

    ผู้ฟัง เป็นโรค

    ท่านอาจารย์ โรคอกุศล โรคกิเลส โรคไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าจะถามถึงเมื่อวานนี้ว่ามีโรคเท่าไร กี่โรค

    ผู้ฟัง มากมาย

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม สามารถบอกได้ ทางตาเป็นโรคแล้ว คือโรคไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่เพียงปรากฏให้เห็นแล้วก็ดับไป ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่กล่าวถึงเรื่องการสะสมก็คือจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ จะซ้อนกัน ๒ ขณะไม่ได้เลย ต้องจิตขณะหนึ่งปราศไป โดยไม่เหลือ อุปาทะ ฐิติ ภังคะ อายุของจิต ขณะเกิดไม่ใช่ขณะดับ ขณะที่ยังไม่ดับก็ไม่ใช่ขณะที่เกิดแล้วดับ

    เพราะฉะนั้น ย่อยที่สุด เล็กน้อยที่สุด เมื่อภังคขณะของจิตปราศไปไม่เหลือเลย จึงเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดได้ เมื่อวานนี้จิตนับไม่ถ้วนเกิดแล้วดับแล้ว โรคเยอะเลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทีละ ๑ ขณะ ดับแล้วก็จริง แต่สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไปทำให้แม้ว่าจะหลับสนิท ไม่มีอาการของโลภะ โทสะ โมหะ หรือกุศลใดๆ เลยก็ตาม แต่สิ่งที่สะสมมาทั้งหมด ไม่สามารถจะออกไปจากจิตได้เลย อยู่ที่จิต เวลาที่มีปัจจัยที่จะเกิดเป็นอย่างไร ก็เป็นปัจจัยให้สิ่งที่มีเชื้อนั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะ หรือให้เกิดโทสะ หรือว่าให้เกิดการฟังธรรม หรือว่าให้เกิดการเข้าใจ ทั้งหมดสะสมอยู่ในจิตซึ่งเป็นนามธาตุ เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่คุณภาพ หรือคุณลักษณะ หรือสภาพของจิตต่างกันไปตามการสะสม

    เพราะฉะนั้น คนที่ไม่รู้ และมีกิเลสมากๆ ก็ต้องต่างกับคนที่มีการฟังธรรม เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น และอกุศลเกิดน้อยลง กุศลเกิดเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น เราสามารถรู้จิตของเราได้ไหม ทุกคนมีจิต และเป็นจิตทั้งนั้นเลย ถ้าเป็นจิตก็คือไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับบัญชาไม่ได้ เพียงแต่ไปยึดถือว่าเป็นของเรา หรือเป็นของเขา แต่จิตเป็นจิต เป็นธรรม ถ้ากล่าวถึงเฉพาะจิต จะเข้าใจดีขึ้นถ้าไม่คิดว่าจิตนั้นเป็นเรา หรือจิตนั้นเป็นของเรา หรือจิตนั้นเป็นจิตของคนอื่น ถ้าเพียงจิตทั่วๆ ไป เราสามารถเห็นชัดว่า จิตเป็นธรรม เป็นนามธรรม เกิดดับสืบต่อตามการสะสม เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่มีใครบันดาล หรือยับยั้งได้

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ก็มีจิตที่สะสมมาหลากหลายต่างๆ กัน สุดที่จะประมาณได้ แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปตลอด มีการเพิ่มขึ้นของกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เพราะฉะนั้น โรคลึกที่สะสมมาในแสนโกฏิกัป ที่เห็นแล้วรักบ้าง ชังบ้าง เป็นเรื่องราวต่างๆ ที่คิดนึกว่า มีคน มีสัตว์ มีสิ่งที่เที่ยง สะสมอยู่ นอนเนื่องอยู่ในจิต เหมือนโรคที่ร้ายแรงมาก เป็นพิษ แล้วปรากฏให้เห็นบางกาลอาจจะทำให้มีแผลตามตัวด้วยเชื้อของโรคนั้น คนที่เห็นภายนอกก็คิดเป็นเพียงแผลเล็กๆ อย่างมะเร็งผิวหนัง ข้างในลึกไหม (ลึก) แต่ปรากฏใหญ่ไหม

    ผู้ฟัง อาจจะใหญ่ก็ได้ เล็กก็ได้

    ท่านอาจารย์ เล็กก็ได้ ใหญ่ก็ได้ แต่ต้องมีเชื้อที่อยู่ข้างใน รักษาภายนอก ไม่รักษาถึงมูลเหตุที่ทำให้เกิดโรคนั้นจะหายได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่รู้ความจริงก็เพียงแต่ทำอย่างไรจะไม่มีโลภะ ทำอย่างไรจะไม่โกรธ ทำอย่างไรจะไม่เป็นอย่างนั้น ทำอย่างไรอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้เลยว่า นั่นไม่ใช่การรักษาที่แท้จริง เป็นการยับยั้งบรรเทา แต่ไม่ได้ดับเหตุ คือ อกุศลทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เดียวที่สามารถจะรู้ถึงหนทางดับ รักษาจิตเน่าใน ใช้คำว่าเน่าใน แสดงว่าภายนอกมองไม่ออกเลย เป็นแต่รูปที่เห็น แล้วเวลามีอกุศลเกิดขึ้น แล้วมีกาย วาจาปรากฏอาการของโรค แต่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแค่นั้นน้อยแค่ไหนกับความเน่าในของจิต ซึ่งเต็มไปด้วยอกุศล

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้สามารถรู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ถ้าเรายึดถือเมื่อไรว่า เมื่อไรเราจะมีปัญญา เมื่อไรเราจะเป็นอย่างนั้น เราจะเป็นอย่างนี้ ซึ่งสวนทางกับการเข้าใจธรรม

    ด้วยเหตุนี้ความแยบคายก็คือฟังแม้คำเดียวก็ไม่ลืมว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่ของใคร มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วไม่เหลือเลย แล้วไม่กลับมาเลยด้วย จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะดับอกุศล ต้องมีปัญญาอย่างเดียว อย่างอื่นไม่สามารถดับเชื้อของอกุศลทั้งหลายซึ่งสะสมจนกระทั่งจิตเน่าใน เดี๋ยวก็ปรากฏเป็นแผลเล็กแผลน้อย พุพองขึ้นมา แต่ความจริงแล้วปัญญาสามารถหยั่งลึกลงไปถึงพืชเชื้อซึ่งเป็นอนุสัยกิเลสที่จะดับ ไม่ให้เกิดอีกเลยได้

    เพราะฉะนั้น เวลานี้ที่สงสัย เพราะไม่รู้ใช่ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    7 มิ.ย. 2567