พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 654


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๕๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม เพื่อที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง คิดนี่เป็นลักษณะของจิตที่คิด หรือว่าเป็นลักษณะของเจตสิก

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นธาตุรู้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แต่จะรู้อะไร ถ้าขณะใดไม่คิดขณะนั้นก็รู้อย่างอื่น เช่นเห็นไม่ได้คิดใช่ไหม แต่เวลาที่คิดต้องต่างกับที่เห็นเพราะมีเจตสิกหลายเจตสิกเกิดร่วมด้วย คุณชุมพรได้ยินคำว่าวิตกแล้ววิจาร เห็นไหม ได้ยินด้วย หรือไม่ หรือได้ยินแต่วิตกเจตสิก

    ผู้ฟัง ก็ได้ยินวิจารด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็ได้ยินเจตสิกทั้ง ๕๒ นี้แหละใช่ไหม แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจอะไรได้ แต่ในเมื่อจิตเป็นใหญ่เป็นประธานแม้เมื่อมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตธรรมดาเป็นปัณฑระไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ผ่องใสคือไม่พูดถึงสภาพอื่นที่เกิดกับจิต คือเจตสิกหลากหลายที่เกิดกับจิตพูดถึงเฉพาะจิตเท่านั้นเป็นปัณฑระ แต่ถ้ากล่าวว่ากุศลจิตต้องมีเจตสิกฝ่ายดีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วจะกล่าวถึงโสภณเจตสิก หรือว่าเมื่อเจตสิกเหล่านั้นเกิดกับจิตก็บอกว่ากุศลจิต ฉันใด เมื่อมีการคิดนึกเกิดขึ้นพร้อมกับเจตนาเจตสิก สัญญาเจตสิกอะไรๆ ก็กล่าวว่าจิตคิด เพราะว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องรู้ " นิรุตติปฏิสัมภิทา " ความฉลาดหลักแหลมที่สามารถที่จะเข้าใจอรรถของธรรม ไม่ใช่ว่าเรียนภาษาบาลีรู้ว่าคำนี้มาจากคำไหน และก็เปลี่ยนแปลไปตามเพศแล้วแต่อะไรอีกหลายอย่างซึ่งเป็นหลักของไวยากรณ์ ชาวมคธพูดภาษามคธี ชาวไทยพูดภาษาไทย เราเกิดมานี่เราต้องเรียนไวยากรณ์ก่อน หรือเปล่าเราถึงจะพูดได้ หรือว่าเขาพูดอย่างนั้น และเราสามารถที่จะรู้แบบแผนของคำที่เขาใช้ว่าเขาใช้คำนั้นว่ามาจากอะไร

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เราสามารถที่จะเข้าใจโวหารเทศนา หมายความว่าเราสามารถรู้ว่าคำนั้นหมายความถึงอะไร กล่าวโดยเหลือ หรือกล่าวโดยไม่เหลือ อย่างจิตคิด ใช่ไหมก็ต้องเข้าใจความหมายด้วยว่าขณะนั้นไม่ใช่จิตเห็น เห็นไหมก็ใช้คำว่า "จิต" แต่ว่ามีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบ่งถึงว่าหมายความถึงเจตสิกไหน สัมปฏิจฉันนจิตก็มีวิตกเจตสิกเกิด ไม่ได้คิดชื่อไม่ได้คิดอะไรเลย จรดในอารมณ์ที่ยังไม่ดับ ต้องมีการจรดในอารมณ์นั้น มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะรับรู้อารมณ์นั้นต่อจากจักขุวิญญาณได้ ยังไม่ถึงมโนทวารเลยรูปนั้นก็ยังไม่ดับเลย

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องละเอียด ถ้าเราจะมีแต่เพียงการกล่าวถึงชื่อไม่พอก็ยังคงเป็นเรา ยิ่งละเอียดเท่าไหร่จนถึงปัจจัย ก็เพื่อให้เห็นความละเอียดยิ่งของจิตหนึ่งขณะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ แต่ละเจตสิกนั้นเป็นปัจจัยแก่จิต และเจตสิกโดยฐานะของปัจจัยใด สับสนกันไม่ได้เลยเพื่อให้เห็นว่าเป็นธรรมซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดแล้วก็ดับ ใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็เป็นธรรมซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงโดยประการทั้งปวง แล้วเราเรียนธรรมเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม หรือว่าจะไปเรียนเพื่อจะรู้อย่างนั้นจะรู้อย่างนี้

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ กราบเรียนถามถึงธาตุรู้ ว่าธาตุรู้จริงๆ จะหมายถึงจิตกับเจตสิกด้วย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ด้วยหมายความว่าอย่างไร หมายความว่ามีอย่างอื่นที่เป็นธาตุรู้อีก หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธาตุรู้ก็คือ

    ผู้ฟัง จิต และเจตสิก เดิมทีเข้าใจว่าธาตุรู้หมายถึงเฉพาะจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ธาตุรู้ที่เกิดขึ้นต้องเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ และสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน เพราะเหตุว่าจิตซึ่งเป็นธาตุรู้จะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีธรรมอื่นปรุงแต่ง หรือเกิดร่วมด้วย ธรรมทั้งหมดจะเกิดขึ้นตามลำพังเพียงอย่างเดียวไม่ได้เลยไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อเกิดก็ต้องมีอย่างอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมกัน ปรุงแต่งกันด้วย

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังเห็น ธาตุรู้คือเห็นแน่นอนมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีเจตสิกเกิดร่วมกับธาตุที่กำลังเห็น คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น ธาตุนั้นปรากฏ หรือไม่ ทั้งๆ ที่โดยการศึกษาทราบว่าจิตจะเกิดขึ้นตามลำพังโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แต่แม้ขณะนี้กำลังเห็นก็ศึกษามาแล้วใช่ไหม เป็นนามธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น แต่เวลานี้ไม่ได้รู้ธาตุที่เห็นซึ่งถ้าไม่มีธาตุนี้อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ธรรมฟังแล้วไม่ต้องรีบร้อนที่จะไปเข้าใจอย่างอื่น แต่คำที่กำลังได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ด้วยในขณะนี้ หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังมีในขณะนี้กำลังปรากฏว่ามี เพราะจิต หรือธาตุรู้เกิดขึ้น และกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ ถ้าทางตาก็คือกำลังเห็น ถ้าทางหูก็กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น จะปราศจากจิตไม่ได้เลยเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏหมายความว่าเป็นธาตุที่ไม่ใช่เรา ที่สำคัญก็คือธาตุนี้มี ฟังเท่าไหร่ๆ ก็ยังเป็นเรา เพราะว่ามีไม่ขาดเลย มีจนชิน มีสิ่งที่ปรากฏเมื่อตื่นลืมตาขึ้นก็มีแล้ว หรือยังไม่ลืมตาเสียงก็มี หรือสภาพที่กำลังแข็งก็ปรากฏได้ หรือพอตื่นก็คิดนึกทันทีก็ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ ทำให้ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของธาตุซึ่งเกิดอยู่ในขณะนี้เป็นประจำ ทุกคนนอนหลับเมื่อคืนนี้ แล้วตื่นไหม

    ผู้ฟัง ตื่น

    ท่านอาจารย์ ตื่น อะไรปรากฏ เห็นไหม บอกว่าตื่น แต่อะไรปรากฏ ต้องมีสิ่งที่ปรากฏแน่นอนมิฉะนั้นไม่ชื่อว่าตื่น ถ้าขณะนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเช่น พอตื่นก็ลืมตามีสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ปรากฏแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แล้วก็ขณะที่กำลังนอนหลับแล้วก็ตื่น พอตื่นรู้ไหมว่าอยู่ที่ไหน เพียงตื่นเห็นจะรู้ไหมว่าอยู่ที่ไหน ท่านที่เดินทางบ่อยๆ ท่านจะรู้ไหม บางทีก็ไม่ต้องบ่อยก็ได้ เพียงย้ายสถานที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ถ้ามีบ้านสักสองหลังสามหลัง ก็ย้ายไปย้ายมา ตื่นมาจะรู้ไหมว่ากำลังเห็นอยู่ที่ไหน หรือว่าจำได้ทันทีว่าอยู่ที่ไหน หรือไม่ได้คิดเลยว่าอยู่ที่ไหน แต่สภาพธรรมก็เกิดแล้วเป็นแล้ว ถ้าขณะนั้นไม่รู้ต้องคิดว่าอยู่ที่ไหน ขณะนั้นก็เป็นสภาพคิดถึงสิ่งที่มีในขณะนั้น หรือตัวตนในขณะนั้นว่าอยู่ที่ไหน

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ไม่ได้สนใจที่จะเข้าใจความจริงที่มีจริงตั้งแต่เกิดจนตายคือธาตุรู้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏให้ทราบว่าขณะนั้นมีธาตุรู้กำลังรู้สิ่งนั้น นี่คือเราจะไม่ข้ามเพราะเหตุว่ารู้ยากแล้วก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยขาดไปเลย แต่ไม่ได้ฟังจนกระทั่งจรดเยื่อในกระดูก ที่ทันทีที่ลืมตาตื่นไม่ต้องคิดว่าอยู่ที่ไหน แต่เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตน เมื่อไหร่จะถึงวันนั้น เพราะว่าเห็นก็ไม่ใช่ตัวตน ตื่น หรือใครก็ได้ในขณะนี้หลับตาแล้วก็ลืมตา มีสิ่งที่ปรากฏขณะนั้นไม่ได้มีความคิดถึงสิ่งอื่นเลย ไม่ว่าอยู่ที่ไหน หรือทำอะไรแต่ขณะนั้นกำลังรู้ความเป็นธาตุที่เห็น และรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยไม่ต้องไปนึกเรื่องอื่นเลย ยังไม่ถึงขณะนั้นใช่ไหม พรุ่งนี้ก็ตื่นอีกเพราะว่าคืนนี้ก็หลับอีก ถ้าไม่ลืมสิ่งที่ได้ฟังทันทีที่ตื่นก็พอที่จะมีสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้เกิดแล้วแต่จะคิดอะไร หรือกำลังเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ซึ่งจากไม่เห็นเพราะหลับมาเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งปรากฏให้เห็น นี่คือธรรม ธาตุรู้ก็คือขณะนั้นแหละเป็นธาตุรู้ แต่เร็วจนกระทั่งทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตปรากฏให้คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น แม้ขณะนี้กำลังเห็นไม่ต้องไปคิดถึงตอนหลับ และตื่น กำลังเห็นขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏเพราะมีธาตุที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ พอหรือยังธาตุรู้ซึ่งเป็นจิต ฟังเท่าไหร่ๆ ก็ฟังเพื่อวันหนึ่งสามารถที่จะเข้าใจได้ทันที่ที่ปรากฏเพราะว่าเกิดแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมนี่ไม่ได้รออะไรเลย ใครจะรู้ หรือไม่รู้ หรือได้ยินเรื่องสภาพรู้ ได้ยินเรื่องนามธรรม ได้ยินเรื่องจิต ได้ยินเรื่องเจตสิก ก็คือสิ่งที่มีจริงขณะนี้ในความมืดสนิทเพราะอวิชชา จะพูดเรื่องจิตแม้จิตกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานก็ไม่เห็นจิต ไม่เห็นเลยว่าเป็นจิตตามความเป็นจริง จะพูดเรื่องเจตสิกก็มี มีจิตที่ไหนเกิดเมื่อไหร่ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมกันขณะนั้นพร้อมกันทันทีก็อยู่ในความมืด เพราะจะกล่าวถึงเจตสิกอะไรก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในความมืดเมื่อไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังเริ่มได้ยินได้ฟัง ยังมืดอยู่ใช่ไหม

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ หากว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นเจตสิกที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร หากว่า..

    ผู้ฟัง คือที่ฟังธรรมมาส่วนใหญ่ธาตุรู้กล่าวถึงจิต

    ท่านอาจารย์ เราใช้คำว่า "จิต" แต่เราก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น เราจะใช้คำว่าเจตสิกในขณะนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเป็นธาตุรู้ เพียงแต่ได้ยินชื่อซึ่งต่างกัน อย่างความรู้สึกมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นจำคำว่า "ความรู้สึก" ในภาษาไทย และจำภาษาบาลีว่า "เวทนาเจตสิก" ไม่ใช่จิต รู้สึกเป็นรู้สึก และก็จิตไม่ได้รู้สึก เกิดเมื่อไหร่เป็นธาตุที่สามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงความรู้สึกไม่ใช่จิต ทั้งสองอย่างอยู่ในความมืดเพราะไม่ได้ปรากฏแต่เมื่อความรู้สึกปรากฏต้องเรียกชื่อไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ เริ่มรู้ความต่างแล้วใช่ไหม ไม่ใช่ลักษณะที่โกรธ ไม่ใช่ลักษณะที่ติดข้อง ไม่ใช่ลักษณะที่กำลังเป็นมิตรเป็นเพื่อน หรือว่าขณะนั้นก็ไม่ใช่ลักษณะที่เป็นความกรุณา อย่างหนึ่งอย่างใดเลยทั้งสิ้นซึ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันทั้งหมด เพราะฉะนั้น ขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ จะรู้ว่าต่างเพราะกำลังรู้สภาพที่กำลังปรากฏ หรือว่าไปคิดถึงชื่อ

    ผู้ฟัง ไม่ได้คิดถึงชื่อ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า "จิตเป็นธาตุรู้ เจตสิกก็เป็นธาตุรู้" เมื่อไหร่ เมื่อกำลังรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง แต่เป็นความรู้สึก เพราะฉะนั้น ความรู้สึกแม้ไม่เรียกว่าเวทนาเจตสิก แม้ไม่เรียกว่านามธรรมแต่เริ่มคุ้นกับสภาพที่เป็นความรู้สึก

    เพราะฉะนั้น ขณะกำลังเริ่มคุ้นกับความรู้สึกขณะนั้น ไม่ใช่คุ้นกับสิ่งที่กำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นไหมธรรมก็ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เพราะสิ่งที่มีจริงในขณะนี้คือเห็นไม่ใช่ความรู้สึก แต่เวลาที่แม้เห็น แม้ได้ยินแต่ความรู้สึกปรากฏเป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งกำลังเกิดให้รู้ว่าต่างจากสภาพธรรมอื่น ก็ไม่ต้องเรียกชื่อ พอคุ้นเคยมากๆ ใครจะพูดว่าเป็นนามธรรมคือเป็นธาตุรู้ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ไม่ใช่เราไปได้ยินคำว่านามธรรมก่อนแล้วก็หาว่านามธรรมมีอะไรบ้าง แต่ขณะนี้ถ้ากำลังสบายใจ มีใช่ไหม เป็นธรรม หรือไม่ ต้องเรียกอะไรหรือไม่ เป็นธาตุชนิดหนึ่งหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ต่างกับลักษณะของธาตุอื่นไหม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรมต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ก็กำลังจะต้องตอบว่านามธรรมอีก ยังไม่คุ้นกับสภาพที่เป็นนามธรรมแต่เรียกถูก เพราะฉะนั้น เวลาที่ความรู้สึกเกิดขึ้นลักษณะนั้นไม่ใช่รูปแน่นอนเป็นความรู้สึก ใช้คำว่าความรู้สึก หรือไม่ใช้คำว่าความรู้สึกก็ได้ ธาตุนั้นมีจริงอย่างหนึ่งขอให้คุ้นเคยกับคำว่า "ธาตุ หรือธรรม" ที่มีจริงๆ เท่านั้น ปัญญายังไม่สามารถที่จะรู้ทั่วจนกระทั่งรู้ลักษณะที่ต่างกันซึ่งเป็นชื่อว่านามธรรม หรือรูปธรรม แต่โดยลักษณะไม่ต้องรู้ชื่อ และลักษณะนั้นยังไม่คุ้นว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง แล้วคำว่า "ธาตุ หรือธรรม" ก็หมายความว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นมีจริงปรากฏแล้วก็หมดไป

    ท่านอาจารย์ จริงไหม

    ผู้ฟัง จริง ถ้าความรู้สึกเกิดขึ้นก็เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป

    ท่านอาจารย์ จริงไหม

    ผู้ฟัง จริงแล้วก็ไม่ได้เอ่ยชื่อ

    ท่านอาจารย์ ต้องเอ่ย หรือเปล่า ไม่ต้องใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ทันจะเอ่ยก็หมดแล้ว

    ผู้ฟัง แต่ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่ธาตุรู้ที่มีชื่อว่า "จิต" เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นมีลักษณะที่ชัดเจนของเขาซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น แต่ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะปรากฏไม่ได้ถ้าไม่มีธาตุรู้อีกชนิดหนึ่งซึ่งรู้แจ้งในอารมณ์นั้นซึ่งปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันแล้วแต่อะไรจะปรากฏ

    ผู้ฟัง ใช่ ทีนี้จะต่างกันอย่างไรกับจิตที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้คุณสุกัญญาจำได้ไหม

    ผู้ฟัง จำอยู่ตลอดเวลา เมื่อจิตเกิดขึ้นก็จำเพราะว่าจะต้องมีสภาพจำอยู่

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังจำ หรือไม่

    ผู้ฟัง จำ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็นจำอะไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีจิตอย่างอื่น

    ท่านอาจารย์ ถามว่าขณะนี้เดี๋ยวนี้คุณสุกัญญาจำ หรือไม่ กำลังจำได้ หรือไม่ จำอะไรขณะนี้เดี๋ยวนี้ กำลังเห็นจำอะไร

    ผู้ฟัง กำลังเห็นก็ต้องจำสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จำไม่ใช่เห็น นี่ไงคือคำตอบ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏแต่ขณะที่จำไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้น เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีเห็นจะจำไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีเห็นก็ไม่จำ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีได้ยินจะจำไหม

    ผู้ฟัง ไม่จำ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีคิดนึก

    ผู้ฟัง ก็ไม่จำ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสัมผัส

    ผู้ฟัง ก็ไม่จำ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จำเกิดพร้อมกับธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ และก็จำไม่ใช่จิต เราพูดสั้นๆ ก็ได้ถ้าเราจะพูดบ่อยๆ ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ก็เน้นไปเน้นมาก็ยังไม่ถึงการที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็ใช้คำว่า "จิต" แต่ทุกครั้งที่ใช้คำว่า "จิต" ก็หมายความถึงสภาพที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ที่รู้ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ นี่คือเห็น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ใช่ไหม มีธาตุที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้เพราะเห็น ไม่ใช่นึกคิดเลย เห็นมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วก็จำได้ จำด้วย จำก็มี แต่จำไม่เห็น จำไม่ใช่เห็นแต่จำสิ่งที่เห็น

    เพราะฉะนั้น นี่คือสภาพธรรมซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้น ที่จะถามว่าจิตกับเจตสิกนี่เหมือนกันไหม จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก แต่จิตก็เป็นนามธรรมเจตสิกก็เป็นนามธรรมแล้วก็เกิดพร้อมกันด้วย เพราะฉะนั้น ขณะนี้รู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง ขณะนี้ รู้สึกเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ รู้สึกเฉยๆ หายากกว่าจะตอบได้ เพราะว่าเฉยๆ นี่ยากที่จะรู้กว่าสุข และทุกข์ใช่ไหม เพราะฉะนั้น แม้ว่าเฉยๆ จะมีบ่อยมากแต่ก็ไม่รู้เลย เฉยๆ เป็นความรู้สึกไม่ได้จำ เพราะฉะนั้น เฉยๆ ก็มีจริงๆ เป็นธรรมอย่างหนึ่งแล้วจำก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ถ้าศึกษาจริงๆ โดยความเข้าใจทั้งหมดเป็นธรรมแต่ละลักษณะซึ่งมีจริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่อ จะไปบอกว่าความรู้สึกเป็นจำก็ไม่ได้ เพราะว่ารู้จริงๆ ว่ารู้สึกเท่านั้นเองไม่ได้จำ แล้วเวลาที่จำก็ไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้น จำก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจธรรมจริงๆ ละเอียดขึ้นเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะทำให้เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่ยังยึดถือธรรมว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์ความจริงของธรรมโดยสุดรอบถึงที่สุด และทั่ว ไม่มีความสงสัยเลยในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีรูปไหม

    ผู้ฟัง รูปมี

    ท่านอาจารย์ ที่ไหน

    ผู้ฟัง ขณะที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ รูปอะไรกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง เมื่อจิตเห็นปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างเลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีเห็นต้องมีรูปที่เป็นที่เกิด หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ลืมว่าธาตุเห็นเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง จักขุปสาทรูป

    ท่านอาจารย์ ตอบได้ อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ที่กลางตา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มี หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีเมื่อไหร่

    ผู้ฟัง มีเมื่อเกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่ารูปตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าเกิดแล้วก็ดับ เร็วมากทะยอยกันเกิดทะยอยกันดับโดยไม่ได้ประจักษ์ใช่ไหมว่า ขณะนี้ที่เข้าใจคำว่ารูปแท้ที่จริงรูปกำลังเกิดดับ แต่ความจริงรูปกำลังเกิดดับ และขณะใดที่เห็นหมายความว่ามีรูปหนึ่งซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับ ที่ตัว แล้วก็มีรูปที่สามารถกระทบกับรูปนั้นเท่านั้น กระทบกับรูปอื่นทั้งตัวไม่ได้เลยแล้วก็เป็นปัจจัยให้กรรมหนึ่งทำให้จิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้นทำกิจเห็นแล้วก็ดับพร้อมเจตสิก นี่คือความจริงสัจจธรรมของชีวิต อริยสัจจคือการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ซึ่งถ้ารู้อย่างนี้แล้วจะมีเราที่ไหน แม้ขณะนี้ก็ไม่มีแต่จำไว้ว่ามีรูป และจำรูปไหน หรือไม่ได้จำรูปที่เข้าใจว่าเป็นเราเลยสักรูปเดียว

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมประโยชน์สูงสุดคือรู้ความจริงว่าธรรมเป็นธรรมไม่ใช่ของใคร มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น รูปทั้งตัวทั้งๆ ที่ทะยอยกันเกิดดับไม่เหลือ เฉพาะรูปที่เกิดแล้วยังไม่ดับเป็นปัจจัยให้จิตเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตเห็น หรือจิตได้ยิน หรือว่าจิตได้กลิ่น หรือว่าจิตลิ้มรส หรือว่าจิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือว่าจิตคิดนึก และเจตสิกที่เกิดกับจิต และก็จิตแต่ละประเภทก็ต้องเกิดที่รูปนี้แหละที่ยังไม่ดับ พอคิดถึงรูปที่ยังไม่ดับหมายความว่าในขณะที่รูปอื่นทะยอยกันเกิด และดับไม่เหลือเลยมีรูปหนึ่งซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่มีเรา ฟังธรรมเพื่อเข้าใจให้ถูกต้อง วันหนึ่งเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็สามารถที่จะคลายความไม่รู้ และสภาพธรรมจึงปรากฏตามความเป็นจริงได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    1 ก.ค. 2567