พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 655


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๕๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจให้ถูกต้อง วันหนึ่งเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็สามารถที่จะคลายความไม่รู้ และสภาพธรรมจึงปรากฏตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ความรู้สึกที่ปรากฏ ทำไมถึงปรากฏขึ้นได้ จิตรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจะเกิดได้ไหม เพราะมีจึงเกิด และก็เกิดตามเหตุตามปัจจัยด้วย

    ผู้ฟัง. อย่างทางตาหู จมูก ลิ้น กาย ก็พอจะเข้าใจ ทีนี้พอเป็นลักษณะของเจตสิกที่ปรากฏขึ้น

    ท่านอาจารย์ เจตสิกอะไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของความพอใจ ความ..

    ท่านอาจารย์ ความพอใจเกิดขึ้นทีละอย่างๆ เรียกชื่อ แต่ทั้งหมดเป็นธรรมที่ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็ไม่รู้ความจริงว่าตลอดชีวิตทุกขณะทุกชาติไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเท่านั้นแล้วดับด้วย จิตเมื่อกี้ที่เกิดแล้วมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง ที่รูปนั้นรูปนี้บ้าง ทั้งจิต และรูปก็ดับไปไม่เหลือ

    ผู้ฟัง ถ้าอธิบายโดยนัยนี้ทุกอย่างก็ไม่ได้แตกต่างกันเลยโดย..

    ท่านอาจารย์ โดยอะไร

    ผู้ฟัง โดยการเกิดขึ้น และก็ดับไป

    ท่านอาจารย์ โดยเป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เห็นเป็นเห็นใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นรูป หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นใครหรือไม่ เห็นที่ไหนหรือไม่ ขณะนั้นเห็นแต่ไม่คิดว่าที่ไหน

    ผู้ฟัง อันนี้คือความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ จริงไหม ประโยชน์คือเป็นความเข้าใจของผู้ฟังที่เกิดจากการฟังแล้วไตร่ตรอง จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น เวลาฟังธรรมไม่ใช่เพื่อเหตุอื่นเลย ยิ่งเห็นว่าธรรมละเอียดก็ต้องฟังด้วยการฟังใส่ใจแยบคายที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยถูกต้องไหม ขณะนี้จิตเห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง มีแน่นอน

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะที่จิตเห็น จิตรู้ไหมว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง จิตไม่รู้ว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ แล้วที่จำได้

    ท่านอาจารย์ จำได้เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ หรือไม่ หรือว่าเป็นสภาพจำสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง เป็นสภาพจำสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะเพราะกำลังจำสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็นแล้วจำได้ทันที

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นจิต อะไรเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงเห็น เห็นนั่นก็คือจิตที่รู้แจ้ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ใช้คำว่าจิตเพราะเหตุว่าไม่มีอย่างอื่นที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏอย่างจิต ขณะนี้เห็นอะไร นั่นคือจิตทำกิจเห็นสิ่งนั้น เข้าใจจิตเสียก่อนที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏอย่างนี้เพราะจิตกำลังรู้อย่างนี้ไม่ได้รู้อย่างอื่นคือเห็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง คือขณะที่เห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นมีสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง แล้วจำ

    ท่านอาจารย์ จำ หรือไม่ มีจำไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จำไม่ใช่การรู้ลักษณะที่ปรากฏโดยความเป็นใหญ่เป็นประธาน เพียงแต่จำสิ่งที่ปรากฏเมื่อจิตเกิดขึ้นเห็น

    ผู้ฟัง หมายความว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นเห็น พอเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ จิตเห็น

    ผู้ฟัง จิตเห็นอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ แล้วก็จำไม่ใช่จิตเห็น แต่จำสิ่งที่ปรากฏในขณะที่เห็น ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏจะจำไหม

    ผู้ฟัง จิตมีหน้าที่รู้แจ้งในอารมณ์ แล้วสัญญาจำก็จำในอารมณ์อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังจำ ขณะที่จำไม่ใช่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ชัดเจนไหม

    ผู้ฟัง หมายความจิตรู้แจ้งดับแล้ว แล้วสัญญาจำก็..

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยว ค่อยๆ ฟัง กำลังจำเห็น เห็นแล้วก็จำ ลักษณะที่จำขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่รู้แจ้งลักษณะ กำลังรู้แจ้งคือมีสิ่งนี้ปรากฏไม่เป็นอย่างอื่น กำลังทำกิจรู้แจ้ง แต่ขณะที่จำไม่ใช่ขณะที่รู้แจ้ง จำอะไรเมื่อไหร่ขณะนั้นสภาพจำไม่ได้รู้แจ้งแต่จำสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าสัญญาเจตสิก หรือสภาพจำก็เป็นนามธรรมที่ต้องจำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่สภาพที่กำลังรู้แจ้ง เช่นขณะที่กำลังเห็นมีใครรู้ว่าจำบ้าง

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่เห็นแจ้งลักษณะนี้ปรากฏอย่างนี้ถามว่าเห็นไหม ขณะนั้นกำลังรู้สภาพที่ปรากฏเพราะกำลังเห็นแจ้ง เห็นบอกว่าเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นไม่ใช่จำ แต่ขณะที่จำได้ไหม ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้แจ้ง เฉพาะรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถูกต้องไหม เราไม่รู้เลยว่าเรารู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะกำลังจำ เห็นไหมว่าไม่ได้รู้เลยว่ากำลังรู้แจ้งลักษณะเฉพาะลักษณะที่ปรากฏเท่านั้น ที่กำลังปรากฏจริงๆ ขณะนั้นเป็นรู้แจ้ง แต่ว่าขณะที่กำลังจำ จำไม่ใช่ลักษณะที่กำลังรู้แจ้ง เวลานี้ทุกคนกำลังจำ พอจำเท่านั้นไม่ใช่รู้แจ้ง แต่กำลังรู้แจ้งขณะนั้นไม่ได้รู้ว่าจำ ใครรู้บ้างว่ากำลังเห็นนี่จำ เพราะกำลังรู้แจ้ง แจ้งที่นี่คือไม่เปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อย่างเสียงอย่างนี้เสียงปรากฏ สภาพที่กำลังได้ยิน คิดดูได้ยินเฉพาะเสียงนั้นไม่ใช่เสียงอื่น กำลังได้ยิน ใครว่าจำบ้าง ได้ยินไม่ใช่จำเลย แต่เวลาจำว่าเสียงใคร ขณะนั้นมีเสียงที่ปรากฏจริงแต่ไม่ได้รู้แจ้งในเสียงนั้น แต่ว่าจำเสียงที่ปรากฏ จิตมีจริงเป็นธรรมแต่ว่าลักษณะของจิตก็คือเป็นสภาพรู้ โดยฐานะที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ทำไมต้องพูดยาว เพราะว่าจิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกแต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะให้เข้าใจว่าจิตไม่ใช่เจตสิกแต่ละอย่างเลย จิตเป็นจิต และเจตสิกแต่ละหนึ่งก็เป็นเจตสิกหนึ่งๆ ปะปนกันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้แม้ว่าจิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่รูปเดียวกันด้วย พร้อมกันโดยประการทั้งปวง แต่ก็ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน นี่คือการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะว่ารู้ว่าเป็นจิต และรู้ว่าเป็นเจตสิกแต่ละประเภทด้วย แต่ว่าการฟัง เราก็จะเห็นความละเอียดว่า แม้แต่ที่ใช้คำว่า "ธาตุรู้ สภาพรู้" ก็หลากหลาย โดยที่ธาตุหนึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จิตเกิดเมื่อไหร่จะมีลักษณะอื่นจากนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะรู้อะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างไรก็ตามจิตก็ต้องเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังถูกรู้คืออารมณ์ โดยมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากน้อยตามประเภทของจิตนั้น และเจตสิกที่เกิดร่วมกันแต่ละหนึ่งก็ทำกิจหน้าที่ของตน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของจิต

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กล่าวถึงจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งกำลังเห็นรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ไม่ต้องพูดเลยก็เป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น กำลังได้ยินก็ไม่ต้องพูดว่ารู้แจ้งเสียงอะไรทั้งสิ้น แต่เสียงใดกำลังปรากฏลักษณะของเสียงนั้นไม่เป็นอื่น จิตก็คือเป็นสภาพที่รู้แจ้งในเสียงที่ปรากฏ แต่ว่าไม่ได้มีจิตเกิดตามลำพังอย่างเดียวต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ แค่ ๗ นี่ก็ไม่รู้แล้ว ไม่รู้หมดทั้ง ๗ เพียงแต่รู้ว่ามีแน่นอน เนื่องจากจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง สภาพธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยจำ ก็จำสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้ง เพราะจิตรู้แจ้งจึงจำสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้ง ไม่ได้จำอื่น แต่จะรู้แจ้งอย่างจิตไม่ได้ เพราะจิตรู้แจ้งทำกิจรู้แจ้งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็จำสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้ง แต่ไม่ใช่สภาพที่รู้แจ้งเพราะจำ จำสิ่งที่มีธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นรู้แจ้งสิ่งนั้นเมื่อเกิดพร้อมกันก็จำสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้ง และขณะที่กำลังรู้แจ้งนี่ เพราะการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏนั้นแหละ สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งก็มีความรู้สึก หรือเป็นความรู้สึก หรือรู้สึกในสิ่งที่จิตรู้แจ้ง ถ้าจิตไม่ใช่สภาพที่รู้แจ้ง เจตสิกเหล่านี้ก็ทำกิจนั้นๆ ตามไม่ได้เลย ใช่ไหม แม้ว่าเกิดร่วมกันโดยอาศัยการรู้แจ้งของจิตที่กำลังมีอารมณ์นั้น สัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยไม่ได้รู้แจ้งอย่างจิตแต่เพราะจิตรู้แจ้งสัญญาก็จำสิ่งที่จิตรู้แจ้ง แต่ไม่ได้ทำกิจรู้แจ้ง ทำกิจจำ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างจากจิต และสภาพธรรมอื่นที่เกิดกับจิตทั้งหมดที่ไม่ใช่จิตก็เป็นเจตสิก ภาษาบาลีก็เป็น เจ ตะ สิก กะ หมายความถึงสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต เกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้เลย แล้วก็ต้องเกิดพร้อมจิต จะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเกิดในจิตคือไม่แยกกันเลยก็ได้ หมายความว่าเกิดแล้วก็เป็นนามธาตุอย่างเดียวกัน เข้ากันสนิทแต่ว่าไม่ใช่เป็นจิตเป็นสิ่งที่เกิดพร้อมจิต ขณะที่จิตกำลังรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ธรรมอย่างหนึ่งก็รู้สึกในสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้ง จะเป็นความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่โสมนัสไม่โทมนัสอทุกขมสุข หรือเป็นความรู้สึกโสมนัสก็ได้ บังคับไม่ได้เลยว่าจะให้ความรู้สึกเกิดเป็นประเภทไหนในขณะที่จิตใดกำลังรู้แจ้งอารมณ์ เพราะว่าทั้งหมดทั้งจิต และเจตสิกต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย แสดงความเป็นธรรมซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับบัญชา และเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย

    เพราะฉะนั้น เพียงในขณะนี้มีจิตรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ กำลังรู้แจ้งคือเห็น จำก็จำ แต่เวลาที่พูดถึงจำ เราไม่รู้ถึงลักษณะที่รู้แจ้งใช่ไหม เพราะจำ ลักษณะของจำแม้จำสิ่งเดียวกับที่จิตรู้เกิดพร้อมกัน แต่ไม่ใช่ธาตุที่เพียงรู้แจ้งแล้วไม่จำ รู้แจ้งอย่างเดียวนั่นคือหน้าที่ของจิต เพราะฉะนั้น อารมณ์ใดๆ ก็ตามที่ปรากฏให้ทราบว่าเพราะจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์นั้น ส่วนสภาพธรรมอื่นที่เกิดขึ้นกับจิตเช่นพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้างก็เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งอาศัยเกิดในขณะที่จิตกำลังรู้แจ้งแล้วก็ทำหน้าที่ของตนคือจำสิ่งที่จิตรู้แจ้งมีความรู้สึกเฉยๆ หรือสุข หรือทุกข์ ในสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้ง และจำในสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้งด้วย ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมใดเกิดแล้วก็ดับไปโดยไม่มีการเข้าใจลักษณะหนึ่งลักษณะใด ขณะนั้นก็เหมือนกับรู้สิ่งที่มีในความมืด ยังไม่ได้ปรากฏลักษณะจริงๆ เลย อย่างพูดถึงแข็ง แข็งไหม ตอบว่าแข็ง กำลังแข็งปรากฏ หรือไม่ ถ้าแข็งกำลังปรากฏไม่ต้องเรียกว่าแข็งแต่แข็งมีจริงๆ แข็งเป็นธรรม หรือไม่ เป็นแน่นอน เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ตอนนี้จะเรียกชื่อสักหน่อย แค่จะเรียกชื่อก่อนว่าเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมแต่ไม่ต้องเรียกชื่อก็มีจริงๆ แล้วก็เปลี่ยนลักษณะของแข็งไม่ได้ด้วย อย่างไรๆ แข็งก็ต้องเป็นแข็ง แต่ว่าแข็งไม่ใช่เห็น แข็งไม่ใช่ได้ยิน แข็งไม่ได้จำ แข็งไม่ได้รู้สึก

    เพราะฉะนั้น แข็งก็เป็นธรรมประเภทหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะรู้ ไม่สามารถจะจำ ไม่สามารถจะรู้สึกได้ รวมธรรมประเภทที่ไม่สามารถจะรู้สึก หรือจำได้เลยเป็นธรรมที่ใช้คำว่า "รูปธรรม" จะมองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตามอย่างกลิ่นก็ไม่ใช่ความจำ กลิ่นเป็นกลิ่นมีลักษณะของกลิ่น หอมบ้างไม่หอมบ้างก็แล้วแต่เป็นกลิ่นดอกไม้ หรือว่าเป็นกลิ่นขนม เป็นกลิ่นอาหารกลิ่นอะไรก็ตามแต่ก็มีจริงๆ เป็นเพียงกลิ่นที่จิตกำลังรู้แจ้ง ขณะที่จิตรู้แจ้ง สภาพที่จำก็จำพร้อมกันกับขณะที่จิตรู้แจ้ง ความรู้สึกก็เกิดด้วยในสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้ง เพราะฉะนั้น ตามธรรมดานี่เราไม่สามารถรู้ถึงเจตสิกอื่นซึ่งเกิดพร้อมกับจิต และต้องเกิดกับจิตทุกประเภทเช่นผัสสเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิกเหล่านี้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงความละเอียด ใครจะรู้ได้ ว่าจิตก็เกิดขึ้นพร้อมเจตสิก แล้วก็ต่างกันเป็นจิตแต่ละประเภทตามเจตสิกนั้นๆ ที่เกิดร่วมด้วย เพื่อแสดงความเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เกิดขึ้นเป็น "จิตนิยาม" ที่จะต้องเป็นไปตั้งแต่เกิดจนตายทุกภพชาติ เปลี่ยนแปลงลักษณะความจริงเหล่านี้ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมฟังเข้าใจ เป็นปริยัติ เข้าใจคือรอบรู้ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่สงสัยในความเป็นธรรมในขั้นของการฟัง แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา ทีจะรู้ว่าแม้จะมีความเข้าใจในขั้นของการฟังก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นธรรมแต่ละอย่างเลย ทั้งๆ ที่โลกนี้ปรากฏเมื่อไหร่ก็เป็นลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง แต่ละอย่างเท่านั้นเอง ไม่มีอื่นเลย นอกจากเป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็ไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่ต้องเป็นผู้ที่สะสมการเห็นประโยชน์ของการฟัง และก็มีศรัทธา จิตผ่องใสที่จะได้เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังในขณะนั้น ขณะนี้มีทรัพย์ไหม

    ผู้ฟัง มีตอนคิด

    ท่านอาจารย์ มีตอนคิด เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ไม่มีทรัพย์ มีศรัทธาไหม ศรัทธาคือสิ่งที่ทำให้ปลาบปลื้มเช่นเดียวกับทรัพย์ แต่เป็นศรัทธาที่ต่างจากทรัพย์อื่นๆ เพราะว่าไม่ได้สูญหาย ยังติดตามไปในจิตได้ด้วย แล้วก็จะเจริญขึ้นด้วยจากศรัทธาเพียงขั้นทาน ขั้นศีลจนกระทั่งถึงขั้นฟังธรรมซึ่งใครจะแสดงธรรมได้ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง เพราะฉะนั้น การที่ได้ฟังธรรมปลาบปลื้มขณะใดก็เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังมีทรัพย์ หรือไม่ หรือใครไม่มีเลย ไม่มีทรัพย์เลย หรือไม่ หรือมี มากน้อยตามความเข้าใจใช่ไหม ถ้าปลาบปลื้มมากมีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น รู้ว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น ขณะนั้นก็มีมากไหม ทรัพย์นั้น แต่ถ้ามีนิดหน่อย ฟังไปก็แล้วเราจะไปใช้ทำอะไรได้ และชีวิตของเราจะสบายไหมถ้าได้มีความเข้าใจธรรมอย่างนี้ อย่างนั้นก็แสดงว่าทรัพย์น้อยมากใช่ไหม เพราะว่าเกิดความสงสัยในทรัพย์ที่มี

    เพราะฉะนั้น ทรัพย์จริงๆ หรือแม้แต่คำว่าพระภิกษุได้ฟังพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วชื่นชม จะเห็นได้ว่าถ้าไม่ได้เข้าใจธรรมแต่ละคำที่เราใช้เราไม่ได้เข้าใจ ตั้งแต่เกิดจนตายก็พูดคำที่ไม่รู้จักทั้งนั้นเลย แม้แต่พูดคำว่า "โลก" ก็ไม่รู้จักโลก พูดคำว่า "จิต" ก็ไม่รู้จักจิต พูดอะไรก็ไม่รู้จักความจริงของสิ่งนั้นเลย แม้แต่เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมแล้วภิกษุทั้งหลายชื่นชมในพระภาษิตที่ทรงแสดง แล้วชื่นชมคืออะไร ขณะใดก็ตามที่ฟังแล้วมีความสุข ไม่มีความทุกข์ขณะนั้นกำลังชื่นชมในสิ่งที่ได้ฟัง เพราะเหตุว่านำมาซึ่งความสุข

    เพราะฉะนั้น แต่ละคำถ้าเราเข้าใจเราจะรู้ความจริงถึงลักษณะแท้ๆ ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวชื่นชมในคนโน้นคนนี้ เมื่อไหร่ ในอะไร ก็เป็นสิ่งที่เพียงคิดแล้วก็เพียงใช้คำซึ่งเวลาที่มีหลายๆ ภาษาบางคนก็ชอบใช้คำภาษาอื่นที่แปลมาเป็นภาษาไทยจนเป็นที่นิยม แต่ความจริงภาษาใดที่ใช้แล้วทำให้เข้าใจธรรมได้ยิ่งขึ้นก็ควรจะใช้ภาษานั้น เพราะว่าชัดเจนเพราะเหตุว่าเป็นธรรม

    ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมทำให้เข้าใจขึ้นๆ ในสิ่งที่แม้ว่าจะได้ยินแล้ว และความเข้าใจนั้นก็จะนำมาสู่การสามารถเข้าใจลักษณะของธรรมตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง แต่ละคำเป็นคำที่มีคุณค่าเปรียบไม่ได้เลย เมื่อได้รู้ความจริงเช่นธรรมคำเดียว "เดี๋ยวนี้สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม" แค่นี้จะปลาบปลื้มสักแค่ไหน ถ้าได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่ใครเลย เป็นสิ่งที่มีชั่วคราวเพียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป จะเยื่อใยอาลัยในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลย หรือว่าควรจะอาจหาญร่าเริงความจริงเป็นอย่างนี้พร้อมที่จะเห็นความจริงนั้น ไม่อาลัยอาวรณ์ หรือว่าไม่คิดเป็นอย่างอื่นว่ายังมีเรา ยังมีญาติ ยังมีพี่น้อง ยังมีสมบัติ ยังมีอิสสริยยศ ยังมีเกียรติยศใดๆ ก็คือว่างเปล่าเป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแล้วไม่กลับมาอีก ถ้าฟังจนกระทั่งเข้าใจก็คือมีทรัพย์ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงประทานให้เป็นมรดกที่จะทำให้มีความเห็น และความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าสามารถที่จะมีความเข้าใจ และเป็นอิสสระพ้นจากความเป็นทาสของอกุศล จากการเข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่รีบร้อนจะไปรู้เจตสิก ๗ ประเภทเพียงแต่ขณะนี้สิ่งที่มีรู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้เลยเกิดแล้วเห็นแล้วดับแล้ว

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ทั่วทั้งตัวมีรูปมากมายแล้วก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลาแต่ว่าไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถึงได้ฟังธรรมเพื่อจะได้รู้

    ผู้ฟัง ทีนี้จิตก็เหมือนกัน เกิดดับอยู่ตลอดเวลาแล้วก็ไม่ได้รู้ว่าจิตเกิดดับตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ก็เลยต้องฟังธรรม ถ้ารู้แล้วไม่ต้องฟัง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ฟังธรรมแล้วจะรู้ได้ทั่วหรือ เพราะว่ามากมายมหาศาล

    ท่านอาจารย์ ทีละหนึ่ง และก็อีกหนึ่ง และก็อีกหนึ่งไปเรื่อยๆ ก็รู้เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์เพราะว่าสภาพธรรมแต่ละชนิดรวดเร็วมาก

    ท่านอาจารย์ ก็ยังปรากฏให้มีว่ารู้ได้

    ผู้ฟัง แต่ไม่ทั้งหมดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คิดถึงอะไร คิดถึงสิ่งที่ไม่มีเดี๋ยวนี้ หรือว่าสิ่งนี้มีก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง ยังมีสภาพที่เกิดดับแล้วไม่ปรากฏด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้สิ่งที่เกิดดับไม่ปรากฏ หรือสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ต้องรู้สิ่งที่เกิดดับปรากฏได้ให้รู้ได้ แต่ก็ต้องทราบว่ายังมีสิ่งที่เกิดดับแล้วไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้เยอะเลย รู้ หรือไม่อะไรเกิดแล้วดับแล้วเมื่อวานนี้

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ต่อไปก็เช่นเดียวกันถ้าไม่ฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    1 ก.ค. 2567