พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 658


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๕๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ คุณนิรันดร์คงตอบได้ ว่ารู้อะไรดีกว่ากัน

    ผู้ฟัง แต่ว่าในฐานะผู้ฟังก็พอเข้าใจที่ท่านอาจารย์ และท่านวิทยากรได้ให้ความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีปัญญาที่จะเข้าใจถูกว่าการรู้อะไรดีกว่ากัน รู้ชื่อมากแต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าในขณะใดที่มีสภาพธรรมปรากฏ ฟังเข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏจนกว่าสามารถที่จะเข้าใจถูกว่าเป็นธรรมตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง นี่คือประโยชน์

    ผู้ฟัง ขอยกตัวอย่างที่เทียบเคียงในเรื่องนี้ นางวิสาขาท่านเป็นพระโสดาบัน และท่านก็ละความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลตัวตนได้แล้ว แต่ท่านเวลาที่ลูกหลานตายท่านก็ยังเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก ผมก็ฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่าเมื่อละความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลตัวตนแล้วทำไมหลานตายก็ยังเศร้าโศกเสียใจ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นความคิด แต่จะรู้ว่าการที่จะดับกิเลสได้ต้องละอะไรก่อน ไม่ใช่ดับทีเดียวหมด เป็นพระโสดาบันแล้วก็จะไม่มีโลภะ โทสะ และก็ดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ได้ พระอนาคามียังไม่ใช่พระอรหันต์ พระสกทาคามีก็ยังไม่ใช่พระอนาคามี พระโสดาบันยังไม่ใช่พระสกทาคามีบุคคล

    เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจตรงตามความเป็นจริงถึงความลึกซึ้งความละเอียดของกิเลสซึ่งต้องดับด้วยปัญญาที่สามารถที่จะทำให้ไม่มีสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นอีกได้เลย เพราะไม่มีเชื้อที่จะทำให้เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย นี่คือปัญญาจริงๆ นี่คือเพียงการคิดเทียบเคียงใช่ไหม แต่จะต้องรู้ว่าการดับกิเลสต้องเป็นไปตามลำดับ มิฉะนั้น ไม่มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์

    ผู้ฟัง ผมได้รับคำแนะนำอะไรดีๆ จากท่านอาจารย์ จึงอยากจะเล่าให้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า ผมเป็นคนกลัวสุนัขเวลาเข้าใกล้ๆ แล้วกลัวมาก กลัวจนต้องคอยหลบ มีโทสะกับสุนัข ท่านอาจารย์บอกว่าลองที่จะมีเมตตากับสุนัข ลองไปปฏิบัติดู พยายามดู ได้พยายามดูแล้วได้ผลอย่างที่ท่านอาจารย์บอกจริงๆ จากสุนัขที่คอยจะเห่าจะกัด เดินผ่านไปก็ไม่มีอาการเห่า อาการจะกัดเลย

    ท่านอาจารย์ ที่จริงธรรมจะได้ประโยชน์หลายอย่างตามลำดับ ขณะที่คุณนิรันดร์เริ่มมีเมตตา คุณนิรันดร์เริ่มรู้ลักษณะของเมตตาว่าต่างกับโลภะ เพราะฉะนั้น ความเมตตาของคุณนิรันดร์ก็คงจะเพิ่มขึ้นจากสุนัขตัวหนึ่ง ไปถึงสิ่งที่มีชีวิตเพิ่มขึ้นตามกำลังของปัญญา ซึ่งเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเราจะมีเมตตากับอะไรเมื่อไหร่ที่ไหน เมตตาตุ๊กแกยาก หรือง่าย ถ้าเมตตาลูกตุ๊กแกยังพอได้ใช่ไหม นี่ก็คือเราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพียงแต่ให้ทราบว่าธรรมที่ตรงกันข้ามกัน อย่างขณะใดที่เมตตาเกิดขณะนั้นจะไม่ประทุษร้าย จะไม่รังเกียจ จะไม่อาฆาต จะไม่หวังร้ายเลย แต่ขณะใดที่ไม่มีเมตตาขณะนั้นก็แล้วแต่จะเป็นโลภะ หรือว่าจะเป็นริษยา หรือจะเป็นอะไร ธรรมมี สำหรับให้เข้าใจถูกว่าเป็นธรรม ถ้าไม่มีการฟังก็เข้าใจเพียงแต่ว่าเรามีเมตตา แต่ถ้ามีความเข้าใจมากกว่านั้นก็คือรู้ว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่เมตตาจะเกิดขึ้น และไม่ควรจะมีเมตตาเฉพาะบุคคลที่บุคลลที่เราคิดว่าควรจะมี เพราะว่าการจะมีเมตตาต่อคนดีไม่ยากเลย มีเมตตาต่อครูอาจารย์ก็ไม่ยาก ผู้มีพระคุณก็ไม่ยาก แต่เมตตากับคนไม่ดี มีบ้างหรือยัง มีได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็แปลว่าความดีนั้นยังแคบยังไม่มากยังไม่เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง ได้รับประโยชน์จากที่ท่านอาจารย์ให้คำแนะนำมากเลย เพราะอย่างน้อยแทนที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยความกลัว ความโกรธก็มีชีวิตอยู่ด้วยความเมตตาเป็นเพื่อน เป็นมิตร นั่นคือสิ่งที่เป็นประโยชน์จากการศึกษาธรรมแม้จะเป็นขั้นที่เริ่มต้นของเรา

    ท่านอาจารย์ และถ้าทราบว่าเมตตาเป็นธรรมที่ควรเจริญ นำประโยชน์มาให้ในที่ทุกสถานด้วย คือเราไม่มีศัตรูแน่นอนที่สุด เพราะเราไม่เป็นศัตรู ถึงคนนั้นจะร้ายสักเท่าไหร่ก็ตาม แล้วก็เป็นศัตรูกับใครๆ สักเท่าไหร่ก็ตาม แต่เราไม่เป็นศัตรูกับเขา ความสบายใจความเป็นมิตรเกิดขึ้น เพราะว่าเกิดมาแล้วมีโอกาสได้พบกัน ลองคิดดูมีโอกาสได้พบกันจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกัน หรือว่าควรจะทำร้ายกัน ถึงเขาจะเป็นคนเลวสักเท่าไหร่ก็ตามแต่เราก็ยังสามารถมีความหวังดี ไม่ใช่ไปช่วยเขาทำความเลว แต่หมายความว่าหวังดีที่จะให้เขาเป็นคนดี นั่นคือความหวังดี แต่ไม่ใช่ไปช่วยกันทำความชั่ว หรือไปคบหาสมาคมแบบนั้น แต่ขณะใดที่มีความหวังดีต้องหมายความว่าหวังดีให้เขาเป็นคนดี ได้เข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง มีความสุขที่ไม่ใช่ความสุขจากการติดข้อง ทำให้รู้สึกว่าความสุขที่เคยมีแต่ก่อนที่เคยติดข้อง เป็นความสุขที่ร่มเย็นขึ้น เป็นความสุขจากการที่มีเมตตา การเป็นผู้ให้เป็นความสุขที่แท้จริงมากกว่าความสุขในการติดข้อง ต้องกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนา นี่ก็คือประโยชน์ของความเข้าใจธรรม ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจจะไม่เป็นอย่างนี้เลย

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ศึกษาก่อนเราก็จะไม่รู้ว่าจิตไม่ใช่เรา ขณะนี้มีเห็น..

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนจิตไม่ใช่เรา แล้วจิตคืออะไร

    ผู้ฟัง จิตเป็นปรมัตถ์ เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี แต่ก็ต้องมาจากการศึกษาก่อนใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ศึกษาอะไร

    ผู้ฟัง ศึกษา.. แต่ก็ต้องไปเรียนชื่อก่อน

    ท่านอาจารย์ ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีแล้วไปศึกษา

    ผู้ฟัง แต่ก็ต้องไปเรียนชื่อก่อน

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องเรียน ถ้าเราจะศึกษาเดี๋ยวนี้ได้ไหม ว่ามีเห็นหรือไม่ ต้องไปเรียนชื่ออะไร ต้องไปเรียนคำว่า "วิญญาณ" คำว่า "มโน" คำว่า "อะไร" หรือไม่ หรือว่าเดี๋ยวนี้เห็นมีหรือไม่

    ผู้ฟัง เห็นมี

    ท่านอาจารย์ เห็นมี เดี๋ยวนี้มี จริงใช่ไหม

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ศึกษาเห็น

    ผู้ฟัง แต่พอศึกษาก็จะรู้ว่าขณะนี้ไม่ใช่เราเห็น

    ท่านอาจารย์ ศึกษาเห็นโดยการฟัง เริ่มเข้าใจว่าเห็นคืออะไร ศึกษาตัวจริงของธรรมที่กำลังมีในขณะนี้

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ที่พระพุทธเจ้าอธิบายว่าความจริงเห็น ได้ยินขณะนี้เป็นความจริงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณเคยโกรธไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ ต้องไปเรียนหรือไม่ว่าชื่ออะไร

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียนว่าชื่ออะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พูดถึงลักษณะที่โกรธก็เข้าใจได้ แล้วรู้ด้วยว่าเป็นธรรม จะรู้ว่าเป็นธรรมเมื่อฟัง แต่ไม่ใช่ไปฟังชื่อแล้วถึงรู้ ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าต้องไปฟังชื่อจักขุวิญญาณแล้วถึงจะรู้ว่ามีเห็น แต่ขณะนี้เห็นมี ภาษาไทยสำหรับคนไทย เห็นมีจริงๆ สิ่งที่มีจริงควรรู้ควรเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง อย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วเราจะรู้เราจะเข้าใจได้อย่างไรถ้าเราไม่ฟังคนที่รู้แล้ว ที่ตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็ต้องเข้าใจด้วย ฟังจากผู้ที่ตรัสรู้ แล้วก็ฟังว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากผู้ที่ทรงตรัสรู้นั้นจริงหรือไม่ ไม่ใช่ให้ใครไปเชื่อทันที พูดถึงเรื่องเห็นหรือไม่ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้พูดถึงเรื่องเห็นแล้วเราไปเรียนอะไร ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ให้เราเข้าใจเลย แต่เมื่อมีสิ่งนี้ที่กำลังมีแล้วเราไม่เคยรู้ความจริง ไม่รู้ความจริงว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครบังคับให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วด้วย ฟังอย่างนี้เข้าใจไหม เมื่อเข้าใจแล้วนี่เป็นธรรมหรือไม่ คือความจริง ฟังเรื่องจริงเป็นความจริงให้เข้าใจในภาษาอะไรก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปมีคำก่อนแล้วเราถึงจะมารู้ ทั้งๆ ที่คนที่เรียนเรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน ปรมัตถธรรม ๔ ไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมเลย เขาเรียนอะไร

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ คนที่เรียนจบปริเฉท และไม่รู้สภาพธรรม ณ.ปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ เรากำลังพูดเรื่องเรียน และเราไม่ได้พูดถึงบุคคล และสถานที่ด้วย ถ้าไม่เรียนก็ไม่รู้ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ทั่วไปไม่ต้องพูดถึงธรรม หรืออะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าไม่เรียนก็ไม่รู้จึงต้องเรียน เรียนจากใคร เรียนจากผู้ที่รู้ เขาไม่รู้แล้วเราไปเรียนทำไม เมื่อเขาไม่รู้เราก็ต้องไม่รู้ตามไปด้วย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เรียนจากผู้รู้ และเราก็ได้ยินได้ฟังว่าผู้รู้สูงสุดประเสริฐสุดคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้ทุกอย่าง ถ้าทุกอย่างหมายความว่าเห็นเดี๋ยวนี้ก็ต้องรู้ ได้ยินเดี๋ยวนี้ก็ต้องรู้ แล้วเราไม่รู้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราฟังเพื่อเรียนให้รู้สิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่ไม่เรียน เรียนแต่เรียนเพื่ออะไร เพื่อให้เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ขณะนี้ เพราะมีจริงแล้วเราไม่รู้แต่คนรู้ก็บอกได้ว่านี่จริงอย่างไรๆ ๆ ๆ ใช่ไหม อธิบายให้สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้จึงเรียน ถ้าใครเรียนแล้วไม่สามารถทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ประโยชน์อยู่ที่รู้ว่าเรียนอะไร กำลังเรียนหรือไม่ ทุกคำที่ฟังเข้าใจขึ้นหรือไม่ในสิ่งที่มีจริงนั่นคือเรียน

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ที่ว่าเสียงดัง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเสียงปรากฏ แต่ว่าไม่รู้ว่าเสียงเป็นธรรมซึ่งเกิดปรากฏแล้วหมดไป ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ เวลาได้ยินคำว่าสังสารวัฏฏ์ หมายความว่าเกิดแล้วก็ตาย แล้วก็เกิดแล้วก็ตาย แต่เกิดแล้วก่อนตายมีเสียงไหม เพราะฉะนั้น เสียงก็เป็นหนึ่งขณะของสังสารวัฏฏ์ หรือว่าหนึ่งอย่างสิ่งหนึ่งที่มีจริงๆ ในสังสารวัฏฏ์แล้วก็หมดไป แล้วก็ไม่มีเสียงเหลืออีกเลย แล้วก็มีปัจจัยที่ทำให้เสียงเกิด และเสียงก็ดับไปอีก

    ทุกอย่างมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป สิ่งที่เกิดแล้วดับไปเหลือไหม แล้วจะมีอะไรเหลือ ในเมื่อทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไปๆ ขณะนี้เองก็ไม่มีอะไรเหลือเลย ฟังเพื่อให้เข้าใจความจริงว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ฟังธรรมต้องรู้ว่าเป็นธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ด้วย มิฉะนั้นก็เสียเวลาฟังไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ฟังเพื่อให้มีความเห็นถูกต้องว่าสิ่งที่มีในขณะนี้ว่าความจริงของสิ่งนั้นมีปัจจัยเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป ฟังอีกนานแสนนาน แต่อวิชชาที่ได้สะสมนานแสนนาน มากกว่าที่ฟังใช่ไหม เพราะเหตุว่าเกิดมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ชาติไหนบ้างที่จะได้ฟัง ถ้าเกิดเป็นนก เป็นงูก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ยินคำที่สามารถที่จะทำให้เข้าใจได้ อยู่ในป่ามีเสียงไหม มีก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของเสียง ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาค และพระอริยทั้งหลายท่านจะอยู่ที่พระวิหารเชตวัน บางท่านอย่างท่านพระกัสสปท่านก็อยู่ป่าก็มีงู มีสัตว์ต่างๆ ก็ได้ยินเสียงเหมือนกัน แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง แต่ผู้ที่ได้อบรมปัญญามาแล้วพอที่จะเห็นประโยชน์ของการฟังสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าทำให้สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง จริงๆ แต่ละขณะได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าถ้าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏจะเกิดมากี่ชาติก็ตาม แสนโกฏกัปป์ชาติก็ตาม ก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง แสดงให้เห็นว่าเราย้อนกลับไปถึงอดีตไม่ได้เลย ใครจะรู้ว่าใครเป็นอะไรที่พระวิหารเชตวัน หรือว่าที่พระนครสาวัตถี หรือที่พาราณสี ก็ไม่มีใครสามารถที่จะย้อนกลับไปรู้ได้ เหตุการณ์ในอดีต แต่การที่จะได้ฟังพระธรรมไม่ใช่การบังเอิญโดยไม่มีเหตุ เพราะเหตุว่าแม้ศรัทธาที่จะฟังก็จะรู้ได้ว่ายากกว่าศรัทธาอย่างอื่น เวลาที่มีคนชักชวนให้ให้ทานก็ยังสละให้ได้ใช่ไหม คนละเล็กคนละน้อยช่วยเหลือคนที่กำลังลำบาก แต่เวลาที่ให้ฟังพระธรรม หรือชวนให้แม้ฟังก็ไม่มีศรัทธา แต่ว่าศรัทธาในศีลมี ศรัทธาในการช่วยเหลือบุคคลอื่นมี ศรัทธาในกุศลที่ไม่ใช่การที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏมี

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าแม้เพียงศรัทธาก็ยังยาก เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงศรัทธาที่ทำให้สามารถที่จะไม่ละทิ้งการฟังที่จะทำให้เข้าใจขึ้น ไม่ละทิ้งการที่จะเห็นคุณค่าของแต่ละคำซึ่งมีประโยชน์เมื่อสามารถที่จะเข้าใจได้ และประพฤติปฏิบัติตามก็เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เพราะว่าในวันหนึ่งๆ สำหรับคนที่ได้ฟังถ้าขาดการไตร่ตรองมุ่งที่จะมาเพื่อฟังคำตอบ เพราะอยากรู้ แต่ว่าไม่ใช่เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่ไม่รู้ และกำลังปรากฏจนกว่าจะมีความเข้าใจขึ้น มาเพื่อละความติดข้อง มาเพื่อละความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ นั่นเป็นสัจจะเป็นการตรงต่อการฟังธรรมแล้วก็เป็นอธิษฐานเป็นความมั่นคงที่ไม่เห็นสิ่งอื่นใดที่จะมีประโยชน์เท่ากับความเห็นถูกความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีเพราะอะไร อย่างไรๆ ก็ต้องจากสิ่งที่มี และกำลังจากอยู่ทุกขณะยับยั้งไม่ได้เลยที่จะไม่มีสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป กำลังหมดไปๆ ทุกขณะเป็นอย่างนี้ตลอดเวลา เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วไม่เหลืออะไรสักอย่าง และก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป จนกว่าจะเห็นโทษแล้วก็เห็นว่าถ้าเกิดมาเห็นแล้วก็หมด ได้ยินแล้วก็หมด คิดนึกแล้วก็หมด สุขทุกข์แล้วก็หมด แล้วถ้าไม่เกิดมาเลย ไม่ต้องมาเป็นอย่างนี้คือไม่ต้องมารู้สิ่งที่หมดไปๆ ๆ ๆ ไม่เหลือเลยจะเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เพราะมีประโยขน์อะไรกับการที่เห็นแล้วก็นอกจากหมดไป ความไม่รู้ก็ยังให้เกิดความติดข้องเป็นโทษอย่างมากซึ่งยากที่จะละได้

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟังคือให้ไปทำอะไร หรือไม่ ทำได้ไหม แต่เข้าใจความจริงเท่านั้นเองเพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วปรากฏว่าสะสมมาอย่างไรเป็นปัจจัยที่จะให้เป็นไปอย่างนั้น ซึ่งแลกเปลี่ยนกับใครก็ไม่ได้เลยทั้งสิ้น แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง และแต่ละขันธ์ที่เกิด และดับไปก็เป็นแต่ละหนึ่ง ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกต้องที่สามารถที่จะละความติดข้องในสิ่งซึ่งกำลังเกิดแล้วก็ดับไป อย่างเสียงเมื่อครู่นี้ใช่ไหมที่คุณชมชื่นถามถึงเสียงนั้น และเสียงนั้นก็ไม่มีเลย ไม่ว่าเสียงไหนๆ ขณะไหน วันไหนเดือนไหน ปีไหน ชาติไหน ก็เป็นอย่างนี้แล้วไม่ใช่เฉพาะเสียงทุกอย่างเป็นอย่างนี้ รู้แล้วลำบากใจไหม รู้แล้วเหนื่อยไหม หรือว่ารู้แล้วโล่งใจ ยังใช่ไหม อย่างบางคนฟังธรรมแล้วก็บอกว่าได้ยินว่าฟังธรรมแล้วก็สบายใจบ้าง หรือว่าฟังธรรมแล้วก็ปลาบปลื้มยินดีบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจระดับไหน ถ้ายังไม่ถึงความเข้าใจที่สามารถจะเห็นความจริงที่ทำให้โล่งใจ สบายใจ และก็ไม่ติดข้องความรู้สึกขณะนั้น ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งคือความแช่มชื่นความเบิกบานที่มีโอกาสที่จะได้ฟังได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อย แต่ละภพแต่ละชาติเพื่อที่จะได้มีความเข้าใจซึ่งไม่ใช่เรา แต่ความเข้าใจนั้นก็คือปัญญาที่เจริญจนกระทั่งสามารถที่จะเห็นความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไปบอกใครว่าแม้ธรรมจะเป็นอย่างนี้แต่ไม่เห็นตามความเป็นจริงเพราะความไม่รู้ และความติดข้องที่สะสมมาในแสนโกฏกัปป์มากมายเป็นปัจจัยให้แม้ธรรมปรากฏก็ไม่สามารถที่จะเห็นสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏได้ ถ้าเป็นขณะที่คนอื่นกำลังฟังเขาจะเข้าใจแล้วจะเชื่อไหม แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนมีธรรมที่กำลังปรากฏยังไม่เข้าใจความเป็นธรรมซึ่งมีจริง ซึ่งเกิดแล้วดับ ก็แสดงให้เห็นว่าเพราะความไม่รู้ และความติดข้องนานแสนนานมาแล้วยังมีปัจจัยที่จะเกิดจนกระทั่งปิดบังไม่ให้เห็นความจริงของสิ่งที่กำลังเกิดดับ

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยก็คือการที่พยายามที่จะลบ หรือละสิ่งที่กั้นจนกว่าจะน้อยลง บางลง จางลงจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น นี่ก็คือรู้เลยว่าอะไรกั้น ความไม่รู้ และความติดข้องกำลังกั้นอยู่ แต่การฟัง และความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยก็กำลังที่ทำให้สิ่งนั้นละคลายลงไป จนกว่าถึงกาลที่สามรถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    นี่คือประโยชน์ของการฟังเพื่อเข้าใจธรรม คือสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ใช่เพราะอย่างอื่น ไม่ใช่เพราะอยากฟังคำตอบ อะไรๆ สงสัยก็ถามก็จะได้ฟังคำตอบ แต่ว่าเมื่อไม่ได้ฟังให้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่ถ้าเข้าใจแล้วก็จะเป็นคำตอบของทุกคำถามด้วยปัญญาของตนเอง ตามระดับขั้นปัญญาของแต่ละคนที่ได้สะสมมา ก็จะไม่ไปกังวลถึงข้อความในพระไตรปิฎก หรือคำในอรรถกถา หรืออะไรที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ เพราะว่ายังไม่สามารถที่จะเข้าใจได้เช่นได้ยินคำว่าวิปลาส และก็ยังรู้ด้วยว่ามี ๓ อย่าง คือสัญญาวิปลาส ๑ จิตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปลาส ๑ มีเกินนี้ หรือไม่ พอพูดถึงวิปลาสคือความคลาดเคลื่อนไม่สามารถที่จะเข้าใจถูกตรงตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น คนที่อยากจะเข้าใจสัญญาวิปลาส สัญญาคือเจตสิกที่จำ สภาพที่จำ จำผิด จำคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะว่าตราบใดที่ลักษณะที่เป็นจริงยังไม่ปรากฏสัญญาจะไปจำได้ไหม ไม่ได้เลย ก็จำนิมิตที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น สัญญาที่จำก็คลาดเคลื่อนเพราะเหตุว่าตามความเป็นจริงก็เป็นเพียงสิ่งที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น สัญญาเป็นเจตสิกที่จำ จิตก็เป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ทิฏฐิคือความเห็นผิด ไม่ใช่เพียงความคลาดเคลื่อนแต่เป็นความเห็นผิด เพราะเหตุว่าสัญญาวิปลาสไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส และจิตวิปลาสก็ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส นี่คือการฟัง อยากเข้าใจไหม อยากรู้ไหม อยาก หรือโลภะหรือไม่ หลอกลวงหรือไม่ เหมือนกับว่าเป็นประโยชน์มาก แต่ว่าความอยากที่อยากอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่การฟังด้วยความใส่ใจด้วยการที่จะเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่เป็นความจริงที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฏกต้องจริง กำลังฟังเข้าใจกับอยากเหมือนกันไหม ไม่เหมือนก็ไม่เห็น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินคำว่า "สัญญาวิปลาส" รู้จักสัญญา "จิตวิปลาส" ก็รู้จักจิต "ทิฏฐิวิปลาส" ก็รู้จักทิฏฐิ แต่ว่ารู้จักจิตหรือยัง แล้วจะรู้จักจิตวิปลาสไหม รู้จักสัญญา หรือยัง แล้วจะรู้จักสัญญาวิปลาสไหม แม้ทิฏฐิความเห็นผิด รู้จักความเห็นผิดซึ่งไม่ใช่เรา แต่เกิดยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    3 ก.ค. 2567