พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 659


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๕๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ รู้จักจิต หรือยัง แล้วจะรู้จักจิตวิปลาสไหม รู้จักสัญญา หรือยัง แล้วจะรู้จักสัญญาวิปลาสไหม แม้ทิฏฐิความเห็นผิด รู้จักความเห็นผิดซึ่งไม่ใช่เรา แต่เกิดยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา ขณะนั้นคือทิฏฐิเกิด ปรากฏความเป็นทิฏฐิซึ่งไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นปัญญาระดับไหนทิฏฐิความเห็นนั้นจึงใช่ใครเลยทั้งสิ้นเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมซึ่งขณะนั้นกำลังยึดถือสิ่งที่มีว่าเป็นเรา ถ้าไม่ยึดถือขณะนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องละทิฏฐิ แต่เพราะเหตุว่าทิฏฐิเกิดปรากฏกับปัญญาที่สามารถที่จะเห็นทิฏฐิ จึงสามารถที่จะละทิฏฐิเพราะรู้จักทิฏฐิว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวตน หรือว่าไม่ใช่เรา

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมก็ฟังเพื่อที่จะเห็นความเป็นอนัตตา ความลึกซึ้งของธรรมซึ่งถ้าเราขวนขวายที่จะรู้เกินสติปัญญาเราสามารถที่จะรู้ได้ไหม หรือว่าเวลาที่เราฟังทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพระสูตร หรือว่าพระอภิธรรม พระวินัยก็ตามเพื่อเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรม ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับไปแต่ละอย่างแล้วไม่กลับมาอีกเลย เพื่อที่จะให้ถึงความจริงอย่างนั้น มิฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นโมฆะ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ตามความจริงอย่างนั้นได้แต่เพราะเหตุว่าผู้ที่ได้รู้ตามความเป็นจริงมีแล้ว และก็มีมาก และต่อไปก็จะมีตามสมควรแก่การสะสม

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่จะรู้จักตัวเองว่าเมื่อฟังสิ่งใดเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ยังไม่ต้องขวนขวายไปคิดถึงสิ่งที่ยังไม่ได้ฟัง ถ้าขณะนั้นเป็นอย่างนั้นจะไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง อันนี้แน่นอนที่สุด เพียงเผลอนิดเดียวไม่ว่าจะฟังอะไรไม่รู้ว่าเมื่อครู่นี้พูดว่าอะไร จะเป็นโทรทัศน์ จะเป็นวิทยุ หรือกำลังฟังธรรมก็ตามแต่ ถ้ามีใครสักคนสะกิด หรือพูดอะไรก็ไม่ได้ยินคำที่คนอื่นได้ยิน และก็เข้าใจแล้ว

    เพราะฉะนั้น การสดับ การฟังด้วยการที่มีความเห็นถูกว่าเพื่อเข้าใจธรรม จึงเป็นขณะที่กำลังฟังนี้แหละ และเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง แต่ถ้าใครคิดเรื่องอื่นเติมต่อก็คือว่าไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังจริงๆ

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า "ฟังด้วยดี"

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องเอาชื่อ ยัง แต่เห็นความน่าอัศจรรย์ไหม ขณะนี้ไม่ได้เป็นอย่างนี้แต่กำลังฟังความจริงของสิ่งที่เป็นจริงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เป็นปัญญาระดับไหน ถ้าใช้ชื่อก็คือปริยัติ ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงเริ่มรู้แม้เพียงเล็กน้อย นิดๆ หน่อยๆ เพราะว่าวันหนึ่งๆ สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก มากมายนับไม่ถ้วนเมื่อครู่ก็มากมายแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อครู่มากมายเป็นเรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องเข้าใจความจริงว่าเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องหนีไปไหนเลยไม่ต้องหลับตาด้วย ถ้าหลับตาแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้มีจริงเกิดแล้วปรากฏเมื่อมีเหตุปัจจัยเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้จริงๆ จริงๆ คือสัจจะ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้มั่นคงขึ้น เริ่มที่จะรู้ในขณะที่กำลังเห็นว่าไม่ต้องพูดเป็นคำก็ได้ หรือในขั้นแรกอดคิดไม่ได้ เพราะว่าทุกคนคิดเป็นคำๆ อยู่เรื่อยๆ ได้ยินแล้วก็จำไว้แล้วก็คิดตาม

    เพราะฉะนั้น ก็อาจมีความคิดว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่ไม่ใช่คิดในขณะที่ไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ นี่ก็ต่างกัน ในขณะที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ให้เห็นได้ คิดอย่างนั้นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็จากคิดเป็นค่อยๆ รู้ว่าแม้ไม่คิดความจริงก็เป็นอย่างที่คิดนั่นเองจะคิดสักกี่ครั้ง กี่ทีก็ตาม แต่ความจริงก็คือเริ่ม ใช้คำว่า "เฉลียวใจ" จะใช้คำว่าอะไรก็ได้ตามใจ แต่หมายความว่าเริ่มที่จะเข้าใจถูก ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นจริงๆ อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่รู้รอบ

    เพราะฉะนั้น รู้รอบนี่จะเป็นระดับไหนเมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏเพียงอย่างเดียวทางมโนทวาร แสดงว่าปัญญานี่กว่าจะถึงการที่สภาพธรรมนั้นไม่มีอะไรจะปิดกั้นเพราะอวิชชา และโลภะซึ่งเคยปิดกั้นมานานแสนนาน ก็เมื่อมีความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยก็ทำให้ละคลายการที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ความเป็นอนัตตาคือความสมบูรณ์ของปัญญาที่เกิดจากการเข้าใจสภาพธรรม โดยแม้ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องเรียกว่านามธรรม ไม่ต้องเรียกว่ารูปธรรมแต่ลักษณะนั้นต่างกันอยู่แล้ว เช่นแข็งต้องเรียกว่ารูปไหม และสภาพที่รู้แข็งก็มี แต่ที่ใช้คำก็เพื่อให้เข้าใจว่าหมายความถึงธรรมอะไรขณะไหน ไม่ได้หมายความถึงเสียงแต่หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่ต้องคิดด้วยว่าทางกาย หรือทางใจ ซึ่งมักจะคิดกันเรื่อยๆ พอมีอะไรปรากฏก็อดคิดไม่ได้ซึ่งก็เป็นของธรรมดาเพราะว่าคุ้นเคยกับการคิดแต่ก็ไม่ได้คิดเรื่องอื่นกลับมาคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏ ก็เริ่มที่จะน้อมไปสู่การที่จะรู้ลักษณะจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวเราน้อม หรืออะไรน้อมทั้งสิ้นแต่จากการฟังเข้าใจ ธาตุนั้นก็น้อมไปสู่การที่จะเห็นถูก เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่ามีปริยัติแล้วก็มีปฏิปัตติคือขณะที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะหนึ่งที่ปรากฏ ซึ่งถ้าใช้คำที่ทรงแสดงก็ใช้คำว่าสติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐาน ปัฏฐานคือที่ตั้งของสติซึ่งขณะนั้นไม่ได้คิดเรื่องอื่นเลยแต่มีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ตรงนั้น

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็ตั้งมั่น หรือว่ากำลังรู้เฉพาะลักษณะที่ปรากฏเช่นแข็งเป็นต้น ลักษณะที่แข็งเกิดดับแต่ก็ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะอะไร ขณะที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะที่แข็งก็มีอย่างอื่นเกิดดับสืบต่อทันที เพราะฉะนั้น ลักษณะของแข็งที่ปรากฏจึงไม่ใช่การรู้รอบลักษณะของแข็ง เพราะว่ามีอย่างอื่นซึ่งต้องเกิดดับสืบต่อจนปรากฏเหมือนกับว่าโลกนี้ไม่เคยไม่มีสิ่งที่ปรากฏเป็นปกติประจำวันเลย แต่เวลาที่รู้รอบก็คือความเป็นอนัตตาของวิปัสสนาญาณ ปัญญาที่สามารถที่จะรู้แจ้งเฉพาะลักษณะซึ่งขณะนั้นไม่ได้เลือกไม่ได้หวังไม่ได้คอย แต่การเกิดขึ้นปรากฏของสภาพธรรมนั้นแสดงความเป็นอนัตตาซึ่งไม่มีอะไรเหลือเลย หมายความโลกไม่ได้ปรากฏที่รวมกันเป็นโลกที่มีทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏสืบต่อกันเหมือนเป็นขณะที่พร้อมกัน

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเมื่อไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้นนอกจากธาตุรู้มืดสนิทกับสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น แข็งไม่ได้สว่างเลย และก็จิตที่กำลังรู้แข็งก็ไม่ได้สว่างเลย เพราะฉะนั้น ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัด ปัญญาคือแสงสว่างคือสามารถเข้าใจถูกเห็นถูกรู้ชัดแต่ไม่ใช่เป็นรูปที่สว่าง เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจความหมายของความสว่างคือปัญญาคือสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น รู้รอบเพราะไม่มีอย่างอื่นปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อรู้อย่างเดียวสิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ปรากฏชัดกับปัญญาที่สามารถที่จะเห็นความจริงว่าไม่มีอะไรนอกจากธาตุรู้ก็ไม่ใช่เราที่กำลังนั่ง และคิด และรู้แต่ว่าขณะนั้นเราก็ไม่มี แม้แต่ขณะนี้ถ้าฟังด้วยดีขณะที่เห็นจริงๆ หรือรู้แข็งจริงๆ มีอย่างอื่นด้วย หรือไม่ มีตัวเรากำลังนั่งมีคนโน้นคนนี้ หรือไม่ เฉพาะแข็งจริงๆ ที่ปรากฏ ขามีไหม หน้ามีไหม ตับปอดหัวใจมีไหม ไม่มีอะไรเลย ถ้ารู้อย่างนี้ก็สามารถที่จะเริ่มเห็นว่าไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่ปรากฏทีละอย่าง แต่เมื่อไม่ได้เป็นการรู้เฉพาะอย่างแต่ละอย่างจริงๆ เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมากก็ทำให้ไม่ใช่การรู้ลักษณะเฉพาะแต่ละลักษณะซึ่งเป็นปฏิปัตติ การถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่างซึ่งเมื่อมีความสมบูรณ์ขึ้นก็เป็นปฏิเวธ แทงตลอดความจริงว่าโลกไม่มีอะไรเลยนอกจากสิ่งที่เพียงปรากฏทีละอย่างแล้วก็ดับไป ถ้าฟังก็จะรู้ได้ว่าปัญญาระดับนั้นซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณแรกนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์ความต่างขาดตอนไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกันเลย นามธรรมก็เป็นนามธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นปัญญาเพียงแค่ไม่เคยเห็นสิ่งที่เป็นจริงอย่างนั้น และก็มีการรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ซึ่งเป็นการรู้รอบแต่ละลักษณะ แต่ไม่ถึงการที่จะละคลายจนปัญญาสามารถแทงตลอดการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น ปัญญาก็ต้องอบรมเจริญไปเพื่อที่จะละ โลภะเกิดได้ไหม แน่นอนยับยั้งไม่ให้เกิดได้ไหม ไม่ได้ แล้วปัญญาสามารถที่จะเห็นว่าโลภะเป็นโลภะไม่ใช่เราหรือไม่ ก็แล้วแต่ เพราะเหตุว่าแม้แต่การที่สภาพธรรมจะเกิดดับสืบต่อใครจะกำหนดได้ไหมว่าจะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร เพราะว่าในขณะนี้ยังไม่ใช่ขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อถึงขณะนั้นจะรู้ไหมว่าสภาพธรรมอะไรจะเกิดปรากฏ ไม่มีทางเลยเพราะว่าแม้แต่เพียงขณะต่อไปก็ไม่รู้แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อปัญญาถึงกาลที่สมบูรณ์จะเลือกไม่ได้เลย และก็จะรู้ด้วยว่าเป็นธรรมในขณะนั้นซึ่งเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ขณะนี้ยังไม่เกิด ถูกต้องไหม เพราะพูดถึงสิ่งที่ปัญญาจะรู้ชัดแต่ตอนนี้ปัญญายังไม่รู้ชัด เพราะฉะนั้น จะรู้ชัดอะไรก็ไม่ได้ ท่านพระสารีบุตรอบรมปัญญาหนึ่งอสงไขยแสนกัปป์ ท่านรู้ไหมว่าท่านจะได้พบพระอัสสชิ และพระอัสสชิจะพูดว่าอะไรก็ไม่มีทางจะรู้ได้เลย และคำแต่ละคำนั้นก็คือสิ่งที่ท่านอบรมมาแล้วที่จะเข้าใจได้ทันที และก็ละความติดข้องได้ทันที

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องให้ไปทำอะไรเลยเข้าใจขึ้นๆ สะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูก แล้วก็รู้จักธรรมตามที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริง เวลานี้แต่ละคนเคยเกิดเป็นอะไร ชาติไหนไม่รู้เลยใช่ไหม สุขทุกข์ก่อนๆ ก็ไม่รู้ว่าจากเห็น หรือจากได้ยิน หรือจากคิดนึก ดับหมดแล้วแต่ก็สะสมสืบต่อ ไม่รู้เลยจนกว่าปรากฏเมื่อไหร่ก็รู้ว่าตามที่ได้สะสม

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เป็นปกติแล้วจะไปรู้การสะสมซึ่งสะสมมาซึ่งจะต้องดับ ไม่ใช่ไปดับของคนอื่นเลย แต่สิ่งที่มีที่ลึกมาก กว่าปัญญาจะหยั่งลงไปจนกระทั่งสามารถที่จะดับเชื้อที่จะทำให้เกิดธรรมทั้งหลาย อาสยานุสยะที่ได้สะสมมาทั้งธรรมที่เป็นฝ่ายดี และทั้งธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล ทั้งกุศล และอกุศลที่สะสมมาเมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างไรจึงรู้ว่าสะสมมาเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่นจึงเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริง ถ้าไปรู้อย่างอื่นพยายามทำขึ้นไม่มีทางที่จะละความไม่รู้ได้ เพราะขณะนั้นก็เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย

    ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมเพื่อละความไม่รู้ เพื่อละกิเลสทั้งหลายแต่ด้วยความเข้าใจที่สะสมไป และความเข้าใจนี้คือปัญญานั่นเอง เพราะขณะใดที่ปัญญาเกิดจะไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นไปไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ เมื่อศึกษาก็เข้าใจได้ว่าจิตเขาก็รู้แจ้งของเขาแต่ละทาง เดิมก็คิดว่าเราเห็น เราได้ยินแต่เมื่อศึกษาก็จะทราบว่าไม่มีเรามีแต่จิตเห็น จิตได้ยินก็ต้องอบรมไปให้รู้ความจริงตรงนั้นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แม้แต่คำว่า “รู้แจ้ง” ที่เป็นลักษณะของจิตเราก็ไม่ได้ไตร่ตรองว่าขณะนี้เองที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ไม่ต้องเรียกชื่อเลยแต่ก็มีธาตุที่กำลังเห็น และก็รู้ว่าสิ่งที่กำลังเห็นเป็นอย่างนี้ นี่คือไม่เป็นอย่างอื่น ลักษณะนี้ที่ปรากฏให้เห็นเปลี่ยนไม่ได้เป็นอย่างนี้ที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น มโน หรือมนัส หรือหทย หรือจิต หรือธาตุอย่างหนึ่งที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หมายความว่าไม่บิดเบือน ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น อย่างบางคนถามว่าแล้วเสียงเบาๆ จิตรู้แจ้งไหม ถ้าไม่รู้แจ้งจะรู้ หรือว่าเบา ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมายความว่าไปรู้แจ้งอย่างอื่นแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏจะทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นไม่ทำหน้าที่อื่นใดเลยทั้งสิ้น นอกจากรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจิตทำหน้าที่นี้รู้แจ้งอารมณ์แม้ว่าอารมณ์จะไม่ปรากฏเช่นอารมณ์ของปฏิสนธิ หรือภวังค์แต่ไม่ใช่หน้าที่ของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยแม้อารมณ์ไม่ปรากฏแต่จิตก็มีหน้าที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ นั่นคือลักษณะของจิต เราบอกได้เลยว่าไม่รู้อะไรใช่ไหม เพราะจิตรู้แจ้งสภาพที่ไม่มีอะไรปรากฏ อย่างเวลาที่นอนหลับสนิทรู้อะไรไหม ไม่รู้ หมดเลย ขณะที่เป็นภวังค์ถ้าจะใช้ชื่อ แต่ขณะที่หลับสนิทไม่มีอะไรปรากฏ จิตรู้แจ้งสภาพที่ไม่มีอะไรปรากฏ อารมณ์ไม่ปรากฏจึงเวลาที่ตื่นก็รู้ว่าต่างกับขณะที่หลับเพราะเหตุว่าหลับไม่มีอะไรปรากฏเลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะของจิตได้ เมื่อใช้คำว่า “ รู้แจ้ง” โดยเป็นธาตุรู้ไม่ใช่โดยความเห็นถูกอย่างปัญญา เพราะฉะนั้น แม้จะใช้คำว่า “แจ้ง” หรือ “รู้แจ้ง” ก็จะต้องรู้ด้วยว่าเป็นลักษณะที่ต่างกัน การรู้แจ้งของจิตไม่มีใครยับยั้ง หรือเปลี่ยนแปลงไม่ให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏกับจิตนั้นได้ไม่ว่าจะเป็นเห็น ได้ยินของใคร นก สุนัข แมว คน จิ้งจก ตุ๊กแกอะไรก็ตามแต่แล้วแต่เราจะเรียก แต่ว่าถ้าพูดถึงจิตเห็นเปลี่ยนลักษณะเห็นไม่ได้เลย ไม่ใช่เจตสิกที่ทำหน้าที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ละเจตสิกที่เกิดกับจิตก็ทำหน้าที่ของแต่ละเจตสิก แต่ว่าธาตุที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ไม่ต้องอธิบายใดๆ เลย อย่างรสอย่างนี้รสหวานก็มี เผ็ดก็มี เปรี้ยวก็มี เค็มก็มี ฝาดก็มี เฝื่อนก็มี ใช้คำพูดแต่ไม่เหมือนขณะที่จิตกำลังรู้แจ้งรส อาจพูดแล้วคนไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถที่จะรู้ตามได้ว่ารสขณะนั้นเป็นอย่างนั้น อย่างนั้นจริงๆ หรือว่าหลากหลายจนกระทั่งรู้ได้เฉพาะจิตที่กำลังลิ้มรสเท่านั้นที่สามารถที่จะรู้แจ้งรสนั้นได้ นี่คือธรรมดาของจิตที่เกิดแล้วต้องรู้แจ้ง มีหน้าที่เดียว

    เพราะฉะนั้น ในนามธรรมทั้งหมดจะกล่าวว่านามธรรม ๕๓ ก็ได้เพราะเจตสิกแต่ละหนึ่งก็มีลักษณะเฉพาะการงานเฉพาะของเจตสิกนั้น จิตก็เป็นธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่เจตสิก ถ้าเราไม่กล่าวว่าจิตนั้นประกอบด้วยเจตสิกอะไรเป็นชาติอะไร จิตก็เป็นนามธาตุซึ่งรู้แจ้งอารมณ์แต่ไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น ก็เป็นการรู้แจ้งไม่ใช่ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูกเพียงแต่เกิดขึ้นมีกิจที่จะรู้แจ้งของสิ่งที่ปรากฏ ตอนนี้ก็ไม่สงสัยคำนี้แล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ถ้าเกิดไม่ได้ศึกษาธรรมก็คิดว่าทุกอย่างเป็นเราแต่เมื่อศึกษาก็รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งก็ต้องอบรมปัญญาให้รู้ตรงเป็นปกติในชีวิตประจำวันเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ตอนนี้เห็นก็คือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปหมดเลย รู้ว่ามีจิตเห็นรู้แจ้งในรูปารมณ์ แต่เมื่อท่านอาจารย์ถามว่าคุณอรวรรณเห็นอะไร ก็ต้องตอบว่าเห็นท่านอาจารย์ เห็นวิทยากร เห็นดอกไม้ซึ่งตรงนี้เมื่อปัญญารู้แจ้งว่าเป็นปกติเช่นนี้แต่เหมือนกับว่าไม่ข้ามขณะที่จิตเห็น เห็นรูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่ใช้ชื่อเราอาจเข้าใจธรรมเพราะว่าจิตเห็น กำลังเห็นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น แต่พอใช้ชื่อรูปารมณ์ไม่เคยปรากฏ นี่ก็คือไม่เข้าใจคำรูปารมณ์ และไม่เข้าใจความหมายว่าแท้ที่จริงก็คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ และจิตกำลังเห็นสิ่งนั้นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ที่จะกล่าวว่ารูปารมณ์ไม่ปรากฏเป็นไปได้ไหมถ้าจิตเห็นเกิดขึ้น สิ่งนั้นแหละที่กำลังปรากฏจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตามก็เป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริงในสังสารวัฏฏ์ บ่อยด้วยทุกวันด้วยไม่รู้ด้วยจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าฟังแล้วก็ จิตนี่ลึกซึ้งไหม ธาตุรู้ซึ่งกำลังทำงานทำหน้าที่ทุกขณะไม่เว้นเลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ไม่ปรากฏกับปัญญาเพียงแต่ชื่อเท่านั้นที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ลองคิดดูกว่าสภาพธรรมเหล่านี้จะปรากฏตามความเป็นจริงตรงตามที่ได้ฟังทุกอย่างด้วยการเข้าใจว่าเป็นธรรมคือไม่มีเรา เมื่อไหร่จะรู้นั่นคือผิดทันที แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมจะเห็นความละเอียดความลึกซึ้ง และความยากยิ่งเพราะเหตุว่าต้องเป็นปกติ และก็รู้สิ่งที่เกิดแล้วด้วย เห็นไหม ขณะนี้มีสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏเป็นปกติแล้วก็รู้สิ่งนี้ตามความเป็นจริง กว่าสามารถที่จะน้อมมาสู่การที่จะรู้เฉพาะลักษณะที่กำลังปรากฏไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมก็ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ว่าสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมก็ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ เพราะว่าขณะนั้นกำลังเริ่มรู้ลักษณะที่เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น หนทางนี้ที่เป็นหนทางที่ยากจริงๆ เพราะว่าเป็นการทวนกระแสของโลภะ เป็นการที่ไม่ใช่ให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความต้องการใดๆ ที่จะรู้ แต่เป็นการสะสมความเห็นถูกเพื่อละ และก็เป็นปกติด้วย และก็ต้องอดทนแค่ไหน เพราะฉะนั้น อินทรีย์มีเท่าไหร่ที่เป็นโพธิปักขิยธรรม เชิญคุณอรรณพ

    อ.อรรณพ อินทรีย์ก็คือสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายโสภณธรรมที่มีกำลังที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสก็มีศรัทธา ศรัทธินทรีย์ ต้องมีแน่ ศรัทธาตั้งแต่เริ่มมีความศรัทธาในการศึกษาคำสอน ศรัทธาในการฟังพระธรรมเป็นเรื่องราว และแม้ขณะที่สติปัฏฐานเกิดก็มีศรัทธา ศรัทธาที่เกิดกับสติปัฏฐานก็ต้องมีกำลังมากกว่าศรัทธาที่เกิดกับในขั้นคิดนึกใช่ไหม และก็สติปัฏฐานที่มีกำลังขึ้นๆ คือชัดขึ้นรู้ขึ้น ศรัทธาที่เกิดกับปัญญา ที่เกิดกับสตินั้นก็มีกำลัง ศรัทธาเป็นศรัทธินทรีย์ หรือยังถ้ามีกำลังขึ้นก็เป็นศรัทธินทรีย์ สติแน่นอนต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์ สตินทรีย์ ความเพียร วิริยะ วิริยินทรีย์ และก็ความตั้งมั่นคือเอกกัคคตา สมาธินทรีย์ และที่สำคัญที่สุดปัญญาต้องเป็นสภาพที่เป็นอินทรีย์ คือสภาพที่เป็นใหญ่ในการที่จะเป็นปัจจัยให้เจริญขึ้น และก็จะดับกิเลสต่อไปเป็น ปัญญินทรีย์

    ผู้ฟัง จริงๆ ถ้าฟังแล้วก็จะรู้ว่าต้องเห็นก่อน ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วคิด คิดจากการจำได้ว่าเป็นอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    3 ก.ค. 2567