พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 609


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ จิตเกิด เจตสิกเกิด รูปเกิด แล้วเกิดมาได้อย่างไร คำถามคือมีใครทำให้เกิดได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่เกิดแล้ว เพราะมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ใครสักคนเดียวที่จะทำได้ แต่มีปัจจัยเฉพาะสภาพธรรมใดจะเกิด สภาพธรรมนั้นก็เกิด

    ผู้ฟัง เช่นขณะเห็น

    ท่านอาจารย์ ขณะเห็นเป็นธาตุรู้ ก่อนที่จะเห็น เห็นเกิด หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่ามีใครทำให้จิตเห็นเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะที่จิตเห็นเกิด ถ้าไม่มีจักขุปสาท รูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กระทบกับรูปนั้นได้ จิตจะเกิดขึ้นเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รู้แล้วใช่ไหมว่า อะไรทำให้จิตเห็นเกิด

    ผู้ฟัง คงไม่ใช่ปัจจัยเดียว

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง จะเพิ่มเติมได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ขอถามว่า เห็นเป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะมีสภาพที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะมีจริงๆ อะไรที่มีจริงๆ ต้องเป็นธรรมทั้งนั้น เพราะมีจริง และมีลักษณะเฉพาะเห็นด้วย ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่คิดนึก เพราะฉะนั้น เห็นเป็นจิต หรือเจตสิก หรือรูป นี่คือความละเอียด

    ผู้ฟัง ที่เห็นเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นจิต จิตคืออะไร

    ผู้ฟัง คือสภาพที่รู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ คือธาตุชนิดหนึ่ง พอพูดถึงคำว่า “ธาตุ” ใครทำอะไรได้ ถ้าไม่มีธาตุใดๆ เลย อะไรๆ จะมีไหม จักรวาล ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เมฆ ต่างๆ เหล่านี้จะมีได้ไหม ถ้าไม่มีธาตุใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่เมื่อมี ก็หมายความว่า มีเพราะเกิด และเกิดเพราะเหตุปัจจัยด้วย แต่ละอย่างๆ ก็มีปัจจัยเฉพาะที่จะทำให้สภาพนั้นๆ เกิดขึ้น

    เวลาที่มีธาตุรู้เกิดขึ้น ใช้คำว่า “ธาตุรู้” เกิด แสดงว่าไม่มีใครไปทำ เปลี่ยนก็ไม่ได้ ความเป็นธาตุรู้เกิด ต้องมีปัจจัย เกิดพร้อมกับธาตุที่รู้ด้วยกัน แต่ไม่ใช่ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า “ธาตุรู้” มี ๒ อย่าง คือ ธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ เพราะเมื่อมีธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จะมีธาตุรู้โดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะเรียกก็ใช้คำภาษาบาลีว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพณะ ภาษาไทยก็เรียกว่า อารมณ์ เมื่อจิตที่เป็นสภาพรู้เกิดต้องรู้อารมณ์ เสียงในป่า ไม่มีใครได้ยิน เสียงเป็นอารมณ์หรือไม่ คำว่า “อารมณ์” ชัดเจน คือ เป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ จิตเกิดที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น จิตสามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของจิตได้ ในขณะที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้น กลิ่นแกงในครัวเป็นอารมณ์ หรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะที่ได้กลิ่นก็เป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ เมื่อจิตเกิดขึ้นจึงรู้กลิ่น ขณะนั้นกลิ่นเป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ จึงเป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งว่า ลักษณะของสิ่งที่กำลังรู้นั้นเป็นอย่างไร เหมือนอย่างเห็นดอกไม้กับโต๊ะ ต่างกันใช่ไหม

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่เพียงรู้แจ้ง คือ เห็น เห็นอย่างเดียว รู้ในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ เสียงแต่ละเสียงต่างกัน จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในเสียงที่กำลังรู้แล้วก็ดับไป แล้วก็มีเสียงอื่น จิตเกิดขึ้นรู้เสียงนั้นอีก ก็ไม่ใช่เสียงเก่า แล้วไม่เหมือนกันด้วย เพราะเหตุว่าเกิดจากปัจจัยต่างกัน

    เพราะฉะนั้น คำว่า “ขันธ์” หมายความถึงสภาพธรรมแต่ละหนึ่งที่เกิดแล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น จิตใดก็ตามซึ่งเกิด ดับไป แล้วไม่กลับมาอีก จิตเป็นขันธ์ หรือไม่ เพราะเป็นหนึ่ง ไม่ซ้ำกับจิตขณะต่อไป ไม่ใช่จิตต่อไปที่จะเกิดอีกด้วย เป็นแต่ละหนึ่งๆ ในสังสารวัฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ดูเหมือนเป็นโลกที่รวมทุกอย่างไว้หมด เป็นคน เป็นสัตว์ เป็น วิชาการต่างๆ แต่ความจริงก็คือขันธ์แต่ละขันธ์ที่เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย แต่ละลักษณะ แต่แม้จิตเองเกิดแล้วดับไปก็ไม่ใช่จิตที่เกิดต่อ จึงเป็นแต่ละขันธ์ๆ หรือแต่ละหนึ่งๆ

    ผู้ฟัง ทุกอย่างทำให้เราเข้าใจผิด แม้แต่

    ท่านอาจารย์ เพราะเกิดดับสืบต่อรวดเร็วมาก แล้วก็รวมกัน เพราะไม่รู้การเกิดขึ้นแล้วดับไป เหมือนกับเที่ยง

    ผู้ฟัง แม้แต่เห็นเงาตัวเอง ก็ยังเข้าใจว่านี่คือของเรา

    ท่านอาจารย์ เห็นเงาตัวเองก็บอกชัดๆ

    ผู้ฟัง มีลักษณะบอกว่าใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นเห็น แล้วก็คิด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นเกิด มีอะไรเป็นอารมณ์ มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็สามารถจำ แล้วรู้ว่าเห็นอะไร ก็เป็นเรื่องของจิตที่คิด แต่ละ ๑ ขณะก็เป็นแต่ละขันธ์

    เพราะฉะนั้น เกิดได้อย่างไร ตอบได้อย่างเดียวว่า มีปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ แล้วใครรู้ปัจจัยทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ที่แสดงไว้โดยละเอียด คือใบไม้ ๒ – ๓ ใบในกำมือ ใบไม้แค่ ๒ – ๓ ใบนี่รู้หรือยัง แล้วจะไปรู้ว่า อะไรทำให้เกิด เพียงสิ่งที่เกิดแล้วก็ยังไม่รู้

    เพราะฉะนั้น รู้สิ่งที่เกิดแล้วก่อน แล้วปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ เพื่อละคลาย ไม่ใช่เพื่อเรารู้ การศึกษาธรรมจะไม่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็เพราะเหตุว่าเป็นเรารู้ เป็นเราฟัง เพื่อเราจะได้เข้าใจ แต่ในขณะที่ฟัง ไม่ใช่เรา เป็นธรรม มีการเข้าใจความหมายของคำว่า “ธรรม” เพิ่มขึ้น จนสามารถจะไม่ลืมว่า เป็นธรรม ยากไหม เพราะว่านานแสนนานมาแล้วที่ไมเคยรู้ว่า เป็นธรรม เป็นเรามาตลอด แล้วจะให้ไม่มีเรา เป็นธรรมแต่ละลักษณะก็ต้องนานกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น แต่ปัญญาก็เจริญขึ้นได้ ไม่ใช่เจริญไม่ได้เลย แต่ต้องตามลำดับด้วย ไม่ใช่เกินลำดับ ขณะนี้มีเห็น ยังไม่รู้จักเห็น แล้วจะไปคิดว่า เห็นเกิดมาได้อย่างไร มีอะไรเป็นปัจจัย เพราะจิตต้องเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ

    ผู้ฟัง เสียงก็มีมากมาย แต่มีเสียงหนึ่งที่ทำให้เรารู้ได้ ทำให้ปรากฏได้ ทำให้เข้าใจได้ในสิ่งเหล่านั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรา เสียงเกิด จิตได้ยินเสียง จิตคิดนึกถึงเสียง และความหมายของเสียง ทั้งหมดเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นจนจบ

    ผู้ฟัง ก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏว่า มีลักษณะของเขาเอง

    ท่านอาจารย์ ฟังเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ แล้วรู้ได้ตนเองว่า เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงในขณะนี้แค่ไหน

    ผู้ฟัง สิ่งที่ควรรู้ก็คือปัจจุบันเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ อะไรที่มีจริง ควรรู้ หรือไม่ควรรู้ความจริงของสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ไม่ควรรู้

    ท่านอาจารย์ อะไรที่กำลังมีจริงเดี๋ยวนี้ ควรรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ไหม

    ผู้ฟัง ควรครับ แต่อยากไปรู้เรื่องของกรรมบ้าง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่มีวันที่จะรู้จัก หรือรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง ที่บอกว่า ไม่มีเรา หมายความว่าถ้าเกิดมีเราทุกครั้ง ต้องเป็นตัวเราตลอด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ที่ท่านอาจารย์อธิบายหมายความว่าให้เราละสิ่ง ของทั้งหมด ไม่ทราบว่าถูกต้อง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ถูก เพราะฟังเพื่อเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจละอะไรไม่ได้เลย เพราะเคยเป็นเรามานานแสนนาน ขณะที่เห็นไม่ได้เป็นธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ แต่เป็นเราเห็น ขณะที่ได้ยินก็เกิดธรรมที่กำลังได้ยินเสียงแล้วก็ดับ แต่ก็เป็นเราได้ยิน

    เพราะฉะนั้น ยังไม่สามารถจะละความเป็นเราได้เลย ถ้าไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม และธรรมที่กำลังฟังนี้ กำลังฟังเรื่องของธรรมทั้งหมดที่มี แต่ธรรมทั้งหมดที่มีก็เกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ยังไม่ทัน ยังไม่พอ ปัญญายังไม่พอที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของธรรมที่ปรากฏแล้วดับ แต่จากการฟังแล้วเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยก็เพียงสามารถจะรู้ว่า สิ่งที่มีขณะนี้ เพียงเป็นอย่างหนึ่งที่มีจริงๆ เพื่อรู้ว่าความหมายของธรรมก็คือ เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละอย่างๆ วันนี้ทั้งวันไม่ได้เป็นแต่ละอย่างเลย รวมหมดเลย เป็นถ้วยแก้ว เป็นโต๊ะ เก้าอี้ เป็นของเรา ไม่ใช่เป็นแต่ละอย่างที่สามารถปรากฏได้แต่ละทาง สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏทางหูไม่ได้ อย่างหนึ่งแล้วที่เป็นความจริง คือ สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ต้องเกิดแล้วก็ดับเร็วมากด้วย จึงมีสิ่งอื่นสามารถปรากฏแทรกคั่น แม้ดูเสมือนว่าเห็นไม่ดับไปเลย

    นี่คือความรวดเร็วของการเกิดดับของสภาพธรรม ฟังเข้าใจก่อนว่า ตลอดชีวิตก็เป็นธรรมทั้งหมด ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด ก็ไม่มีใครไปบันดาลทำให้สิ่งนี้เกิดมาได้ แต่มีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น แล้วสิ่งที่เกิดคืออะไร ธาตุรู้เกิดขึ้น ขณะแรกที่เกิดขึ้นในโลกนี้เป็นธาตุนี้ เพียงขณะแรกที่เกิด ใครรู้ ไม่มีใครสามารถรู้ขณะปฏิสนธิ คือ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนได้เลย เพราะสั้นมาก ทุกขณะสั้นมาก แสนสั้น เกิดแล้วก็ดับไป แต่อาศัยความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยๆ ก็จะเริ่มเข้าใจว่า ลักษณะของสิ่งที่มีจริงตลอดชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้เลยทั้งสิ้น มีปัจจัยจะเกิดเป็นอะไร ขณะไหน เมื่อไร ก็เป็นอย่างนั้น อย่างยังไม่ถึงเวลาที่จะเห็น ทำอย่างไรๆ ก็เห็นไม่ได้ ไม่ถึงกาลที่เสียงจะปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นได้ยิน เสียงก็ปรากฏไม่ได้ แม้ว่าเสียงเกิดแล้วก็ดับไปโดยไม่มีสภาพรู้ที่จะได้ยินเสียงนั้นเลย

    นี่คือความเป็นธรรมทั้งหมด เพื่อละความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดมีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องมากเลย ทีละเล็กทีละน้อย เพราะแม้จะกล่าวว่า เป็นธรรม ก็ยังเป็นเรา จนกว่าจะมีความเข้าใจมั่นคงว่า เห็นเป็นเห็น หรือเห็นเป็นเรา ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เห็นเป็นสิ่งที่จริงๆ ที่ปรากฏ จิตที่เห็นกับจิตที่ได้ยินสามารถเลือกให้เป็นกุศลได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะเห็นเกิดจากกรรมเป็นปัจจัย ได้ยินก็เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ในชาติหนึ่งจะมีผลของกรรม และมีกรรมซึ่งจะให้ผลต่อไปด้วย ด้วยเหตุนี้สัตว์โลกจึงเป็นที่ดูบุญ และบาป และผลของบุญ และบาป

    เวลาที่เราพูดถึงผล เราไม่รู้เลยว่า ขณะไหนบ้าง เรามีความเชื่อเล็กน้อย สั้นๆ ว่า เมื่อเหตุมี ผลก็มี เท่านั้นพอไหม ถ้าเป็นปัญญาไม่พอเลย ได้ยินเกิดได้ยิน ก็เข้าใจว่า ได้ยินนั้นเป็นเรา เพราะฉะนั้น เป็นการยึดถือสภาพธรรมที่มีด้วยความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น จึงเป็นอุปาทานขันธ์ เพราะแต่ละหนึ่งๆ เกิดแล้วดับไปก็จริง แต่ก็มีการยึดถือสภาพธรรมแม้ขณะนั้นว่าเป็นเรา ตั้งแต่เกิดมาเป็นเราทั้งนั้นเลย จนกว่าจะได้ฟังธรรม จึงรู้ว่า ธรรมจริงๆ เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ธรรมที่เกิดจะพ้นจากเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก เป็นรูปไม่ได้เลย และขณะนี้ที่ว่ามีธรรมปรากฏเพราะเกิดทั้งนั้นเลย ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เพียงฟังสั้นๆ จำชื่อจิต จำชื่อเจตสิก แต่ไม่ได้รู้ว่า เป็นธรรม

    ก่อนอื่นก็คือว่า ขณะที่ฟังธรรม ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “ธรรม” ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มี หรือเลื่อนลอย แต่ธรรมหมายความถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังมีในขณะนี้ ทั้งหมดที่เกิดปรากฏเป็นธรรมทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็สามารถเข้าใจเวลาที่พูดถึงธรรม พูดถึงสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วก็ดับ ศึกษาธรรมก็ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น จึงจะเป็นการศึกษาธรรม และเข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้น ก่อนศึกษาก็เป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่พอศึกษาแล้ว ทั้งหมดเกิดมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ แล้วเกิดสั้นมาก ปรากฏนิดเดียวแล้วก็ดับไป เป็นขันธ์แต่ละขันธ์ เพราะไม่ซ้ำกันเลย พอจะไม่ใช่เราบ้าง หรือยัง

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ผลของกรรมนั้นต้องเกิดขึ้นจริงๆ กับบุคคลนั้น ไม่ใช่บุคคลอื่น

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร เห็นไหม เข้าใจแค่นี้ไม่พอ แต่เมื่อไร ถ้าไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีได้กลิ่น ไม่มีลิ้มรส ไม่มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะกล่าวได้อย่างไรว่า เป็นผลของกรรม แต่ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ไม่เห็น กรรมก็ทำให้ดำรงภพชาติ ไม่เห็น แต่มีจิตที่เกิดโดยไม่เห็น เช่น หลับสนิท ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกด้วย แต่ก็ยังไม่ตาย เพราะมีธาตุรู้ซึ่งเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายซึ่งกรรมจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะสุดท้ายเกิดขึ้น เมื่อจิตนั้นดับไปก็หมดสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย เท่านั้นเอง คือยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ แล้วบัญญัติเรียกว่าเป็นบุคคล หรือเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ แต่ก็คือการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละภพแต่ละชาติ หลังหลับสนิทก็ตื่น ใช้คำว่า “ตื่น” คือ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง แล้วก็คิดนึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ ให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ ณ ขณะนั้นอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ นี่คือปัญญา ภาษาบาลีใช้คำว่า ปัญญา แต่ภาษาไทยเอาภาษาบาลีมาใช้ แต่รู้ไหมว่า ปัญญาคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เข้าใจอะไรถูก เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ไม่เข้าใจผิด ปรากฏชั่วคราวแล้วก็หมดไป ถ้าใช้คำว่า “ชั่วคราว” แล้วยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่สามารถจะประมาณได้ว่า ชั่วคราวนั้นแค่ไหน แต่ถ้าศึกษาธรรมแล้ว เห็นกับได้ยินต่างกันแล้ว โดยมีจิตเกิดคั่นเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ชั่วคราวแค่ไหน เห็น ๑ ขณะดับ มีจิตเกิดสืบต่อแล้วก็ดับๆ เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง พอดีอ่านพบข้อความว่า ปัญญามีสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เป็นสมถภาวนา หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รู้จักสมาธิหรือยัง หรือรู้เพียงชื่อ แล้วได้ยินแค่นี้ โดยไม่ศึกษาให้ละเอียดว่า หมายความถึงสมาธิอะไร ขณะไหน และปัญญานั้นรู้อะไร ขณะนี้เดี๋ยวนี้มีสมาธิไหมคะ

    ผู้ฟัง สมาธิคือสงบจากอกุศล

    ท่านอาจารย์ สมาธิไม่ใช่สงบจากอกุศล

    ผู้ฟัง สมาธิคือตั้งมั่น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเห็นมีสภาพธรรมที่จะปรากฏเป็นสมาธิเมื่อเกิดบ่อยๆ อยู่ที่อารมณ์เดียว แต่ถ้าไม่เกิดบ่อยๆ อยู่ที่อารมณ์เดียว พร้อมด้วยความเข้าใจขึ้น ก็จะไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ทีละอารมณ์ เพราะจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเกิดกับจิตก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์ จึงใช้คำว่า เอกัคคตาเจตสิก

    ผู้ฟัง แล้วเอกัคคตาเจตสิกก็คือสมาธิหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เมื่อเจริญขึ้นจนกระทั่งปรากฏลักษณะของสมาธิที่ตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียวนานๆ เวลานี้เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตเห็น ดับพร้อมจิตเห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง ดับครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะนี้ก็มีจิตได้ยิน เอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในเสียงที่จิตกำลังรู้ หรือไม่ แล้วก็ดับไป แล้วขณะนี้ทั้งเห็นทั้งได้ยินเหมือนพร้อมกัน มั่นคงพอจะปรากฏลักษณะของสมาธิหรือไม่ ในเมื่ออารมณ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไร เมื่อไร สภาพของเจตสิกชนิดนี้คือตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ เพราะจิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จิตก็ทำหน้าที่ของจิต เจตสิกแต่ละเจตสิกก็ทำหน้าที่ของเจตสิกของตนๆ ไม่สับสน ไม่ก้าวก่าย

    ผู้ฟัง สมาธิก็คือเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ อย่างนั้น หรือครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ที่ปรากฏลักษณะของความตั้งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ พอจะปรากฏลักษณะที่เป็นความตั้งมั่น

    ผู้ฟัง แต่ก็ไม่ใช่สมถภาวนา

    ท่านอาจารย์ สมถภาวนาต้องเป็นกุศล แต่เอกัคคตาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท เกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้

    การศึกษาต้องตามลำดับ จึงสามารถเข้าใจแม้พยัญชนะที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ความจริงในขณะนั้นคืออะไร ไม่ใช่คิดเอง เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่พอพบข้อความสั้นๆ ในพระไตรปิฎกก็คิดเอง

    ผู้ฟัง แล้วถ้าตั้งมั่นในอารมณ์จนเป็นสมาธิก็เป็นเหตุให้ปัญญาเกิดได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศล จะเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ แล้วคำกล่าวที่ว่า สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญารู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ความจริง

    ท่านอาจารย์ ความจริงของอะไร

    ผู้ฟัง ของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ปัญญาเกิด มีสมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิกเกิดด้วย หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศลจิต เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต จะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ ก็เป็นเรื่องปกติจริงๆ ที่ว่าการศึกษาของแต่ละคนที่สนใจชื่อ สนใจเรื่อง แต่ลืมสนใจลักษณะ หรือถ้าสนใจลักษณะก็ยังมีความเป็นเราอยู่อีก

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องคาดหวังใดๆ จากการฟัง แต่ให้ทราบว่า สิ่งที่ได้ฟังจริงไหม เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก็ค่อยๆ เข้าใจความจริงตามลำดับขั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า จริงแล้วเราจะต้องไปรู้อย่างนั้น วันนั้น วันนี้ ไปคาดคั้นให้เร่งรีบ หรือให้เกิดปัญญาที่สามารถจะละคลายการติดข้องในความเป็นตัวตนได้ เพราะการจะละคลายความติดข้องว่าเป็นตัวตน ต้องตามลำดับจริงๆ ไม่มีใครที่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริงขณะนี้ว่า เป็นธรรม แล้วจะไปละความเป็นตัวตนได้ ไม่มีเลย เป็นไปไม่ได้

    ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความรู้ต้องตามลำดับ ตามลำดับที่นี่ คือ แม้แต่ขั้นฟัง สิ่งที่ได้ฟังเป็นสิ่งที่มีจริง คือต้องมีความเข้าใจของตัวเองเพิ่มขึ้นตามลำดับ มิฉะนั้นก็จะสงสัยว่าถูกหรือไม่ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ความเข้าใจ เมื่อไรที่สงสัยคิดว่า ใช่หรือไม่ใช่ ถูก หรือไม่ นั่นคือไม่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง แต่ถ้าเข้าใจ เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ แค่นี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    8 มิ.ย. 2567