ปกิณณกธรรม ตอนที่ 740


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๔๐

    สนทนาธรรม ที่ บ้านมิ่งโมฬี จ.ราชบุรี

    วันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เมื่อดับอนุสัยกิเลสหมดแล้ว กิเลสใดๆ ก็เกิดไม่ได้อีกเลย ไม่ว่ากิเลสที่เป็นอาสวะหรือกิเลสประเภทใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น อย่าผ่านแม้คำเดียว ถ้าฟังเข้าใจจริงๆ และได้ฟังแล้วเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก จนรอบรู้ พอใครพูดถึงอาสวะ เข้าใจไหม จะเป็นอย่างอื่นไปได้ไหม หรือว่าเป็นอาสวะ ๔ กามาสวะเป็นความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รสที่ปรากฏ โผฏฐัพพะด้วย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เดี๋ยวนี้มีไหม ไม่รู้ใช่ไหม จึงเป็นอาสวะ ถ้ารู้ต้องเป็นอีกระดับหนึ่ง อีกประเภทหนึ่งแล้ว

    ขณะนี้ เกิดมาอย่างนี้ ตายดีกว่าหรือเปล่า หรืออยู่ต่อไปดีกว่า ไม่เคยคิดเลยใช่ไหม แต่ไม่เคยรู้ด้วย เป็นผู้ยินดีแล้วในภพ ในการเกิด ในการเป็น ในการมี ตั้งแต่ขณะที่เกิด ยังไม่มีอะไรปรากฏเลย เพียงแต่มีจิต มีขันธ์ มีเจตสิก ไม่ต้องจำแนกเลย หนึ่งขณะจิต ใครรู้ ถ้าไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    แต่เมื่อปฏิสนธิจิตขณะแรกของชาตินี้เกิด และดับไป วิถีจิตแรกคือจิตที่เริ่มจะรู้สึกตัว มีอาสวะ เพราะอนุสัยกิเลสที่มีอยู่ในจิตยังไม่ได้ดับ แต่กิเลสใดๆ ก็ตามที่เกิดไม่ใช่อนุสัย แต่เกิดเพราะอนุสัย เพราะฉะนั้น อาสวะกิเลสจะมีเมื่อยังมีอนุสัยอยู่ ขณะนี้เป็นอาสวะไหน กามาสวะ ถ้าพอใจในเสียง เพราะไหม กำลังเป็นดนตรีอยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น แล้วก็ได้ยิน ชอบไหม แต่ว่าขณะแรกก่อนนั้น ก่อนจะเห็น ก่อนจะได้ยิน ก่อนจะได้กลิ่น ก่อนจะลิ้มรส เพียงแค่เกิดขณะแรกดับ จิตก็จะต้องเกิดดับสืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนี้ โดยยังไม่ได้มีอะไรปรากฏเลย แต่วาระแรกของชาติแต่ละชาติไม่ว่าจะเกิด ในสวรรค์ ในพรหมโลก หรือว่าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ในนรกเกิด เป็นเปรต เกิดมายังไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็ยินดีแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นภวาสวะ ทุกภพมีภวาสวะ บางภพไม่มีรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เช่น อรูปพรหมภูมิ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่มีรูปใดๆ เลย แต่ก็มีความยินดีในการเกิดขึ้นเป็นอรูปพรหม เป็นภวาสวะ

    นี่คือความละเอียดอย่างยิ่ง เพื่อวันหนึ่งจะสามารถค่อยๆ มีกุศลเพิ่มขึ้น เพราะเข้าใจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะได้ยินมามาก ฟังมามาก เข้าใจมามาก แล้วก็เป็นผู้ที่ทรงจำธรรมด้วย ทรงธรรม ได้ยินว่าขณะนี้เห็น เห็นอะไร เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ทรงธรรมหรือยัง จำคำนี้ไว้บ่อยๆ จนกระทั่งพอได้ยินก็กำลังเห็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น จริงๆ หรือยัง นี่คือการชำระจิตให้บริสุทธิ์ แต่ว่าต้องมีการเว้นจากทุจริต และเจริญกุศลทุกประการ ขณะนี้เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และก็เป็นชาติปางก่อนของชาติหน้า ซึ่งเมื่อวานนี้ทำดีทำชั่วแค่ไหนเป็นอดีตแล้วใช่ไหม ซึ่งจะทำให้เกิดวันนี้ ตามที่ปัจจัยเมื่อวานนี้เกิดแล้วปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น ชาติหน้าก็จะมีขณะนี้สะสมสืบต่อปรุงแต่งให้เกิด หนึ่งขณะ ซึ่งประกอบด้วยความเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะคุ้นเคยกับลักษณะของสภาพธรรมทีละหนึ่ง แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะจะมีปัจจัยเกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตาด้วย ที่ยากที่สุด คือต้องสอดคล้องกันทุกคำ ตั้งแต่ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เห็นขณะนี้เกิดโดยความเป็นอนัตตา ได้ยินเกิดโดยความเป็นอนัตตา ไม่มีใครทำได้

    เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะที่จะเกิด และรู้เฉพาะ ลักษณะของสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาหลายชาตินานมาก แล้วก็เริ่มเห็นถูกเข้าใจถูกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ต้องโดยความเป็นอนัตตาด้วย ถ้าไม่ใช่โดยความเป็นอนัตตา ผิดทันที ไม่ใช่เป็นผู้ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กุศลจิต อกุศลจิต หรือแม้แต่กิริยาจิตของพระอรหันต์ไม่เกิดเพียงขณะเดียว แต่จะเกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ เห็นหนึ่งขณะดับไป พอถึงกาลเวลาที่โลภะจะเกิด โลภะเกิด ๗ ขณะ ๗ เท่าของเห็น หนึ่งขณะ เท่าไรแล้วตั้งแต่เกิด หรือตั้งแต่วันนี้ หรือแม้แต่ขณะเดี๋ยวนี้ มากมายประมาณไม่ได้เลย และหนึ่งขณะๆ ปัจจัยต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ผลที่จะเกิดเพราะอกุศลจิตทั้ง ๗ ขณะก็ต้องต่างกันด้วย ละเอียดไหม ขณะที่หนึ่ง ที่เป็นกุศล มีกำลังไหม มีกำลังหรือยัง เพิ่งเกิด ไม่เหมือนกับขณะต่อๆ ไปซึ่งอาศัยขณะแรกเกิดแล้วเกิดอีก ต้องมีกำลังกว่า เพราะฉะนั้น กุศลจิตหรืออกุศลจิตขณะที่ ๑ ให้ผลในปัจจุบันชาติ ไม่สามารถที่จะให้ผลในชาติต่อไป ชาติหน้าหรือชาติต่อๆ ไป ได้ เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะปรินิพพาน ประชวรหนัก กรรมที่ได้ทำแล้วไม่ได้ให้ผลเฉพาะในชาตินี้ ชณะแรกให้ผลในชาตินี้ได้ ถ้าไม่ให้ผลในชาตินี้ ไม่ให้ผล ต้องเป็นหน้าที่ของกุศลจิต หรืออกุศลจิตขณะต่อไป และสำหรับกรรมที่จะให้ผลในชาติหน้า ต่อจากชาตินี้ได้ ก็คืออกุศลจิต หรือกุศลจิตก็ตาม ใน ๗ ขณะ ขณะสุดท้าย ให้ผลในชาติหน้าได้ ถ้าไม่ให้ผลในชาติหน้า ก็เป็นกิจของกุศลจิตหรืออกุศลจิตขณะที่ ๒ ถึงขณะที่ ๖

    ธรรม คือ ธัมมตา ต้องเป็นไปตามธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ใครก็เปลี่ยนแปลงธรรมไม่ได้ ฟังทำไม อย่าลืม เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังเป็นจริงแต่ไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อละความไม่รู้ และการติดข้องว่าเป็นเรา บอกว่าไม่ใช่เรานะ ละเสีย แค่นี้ เป็นไปได้อย่างไร พระธรรมถึง ๔๕ พรรษาในชาติหนึ่งๆ กว่าจะได้เข้าใจ แล้วประพฤติตามทีละเล็กทีละน้อยจากเว้นทุจริตทั้งปวง แล้วก็กระทำกุศลทั้งปวง เล็กน้อยเท่าไรก็ดีกว่าที่จะให้ขณะนั้นเป็นอกุศล จนถึงชำระจิตให้บริสุทธิ์ ต้องด้วยปัญญาที่เข้าใจ มิฉะนั้นบริสุทธิ์ไม่ได้เลย ฟังแล้ว นานเท่าไร ชั่วโมงครึ่งแล้วหรือ แล้วไม่มีกิเลสกันหรือ อาสวะอยู่ไหนเห็นไหม ถ้าคิดอย่างนั้นถูกหรือผิด ฟังแล้วละกิเลส แล้วอาสวะเดี๋ยวนี้ อนุสัยเดี๋ยวนี้แล้วก็ใจคิดอะไร

    เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเข้าใจจริงๆ เท่านั้น เพราะเป็นหน้าที่ของธรรมไม่ใช่เราที่จะละกิเลสต้องเป็นปัญญา ถ้าปัญญาไม่เกิดใครจะไปพยายามละกิเลสสักเท่าไร เสียเวลา ฟังธรรมให้เข้าใจดีกว่า เพราะว่าความเข้าใจต่างหากที่จะทำให้ค่อยๆ ละทุจริต และก็อบรมกระทำกุศลทุกประการไม่เว้น แล้วขณะที่เข้าใจก็จะชำระจิตให้พ้นจากความไม่รู้ และความติดข้องที่ทำให้เกิดการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นไปในตัว แต่ไม่ใช่แล้วตอนนี้ชำระจิต เราจะชำระอย่างไร อาสวะก็ยังเป็นไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีความเข้าใจขึ้น ก็จะรู้ว่า ผู้ที่จะดับอาสวะได้ต้องตามลำดับขั้น ทิฏฐาสวะดับได้ด้วยโสดาปัตติมรรค อวิชชาสวะดับได้ด้วยอรหัตตมรรค น้อยลงๆ ๆ แต่ถ้าจะให้หมดไม่มีอีกเลยแม้สักเล็กน้อย ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ตามความเป็นจริงว่า ความไม่รู้ของเรามากระดับไหน

    เพราะฉะนั้น กว่าจะดับกิเลสก็ต้องค่อยๆ ดับตามลำดับขั้น ใครที่ชวนไปละกิเลสที่เป็นโลภะ แต่ว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏไม่ใช่เราเพราะอะไร เพราะว่าความหลากหลายของธาตุ ธาตุรู้ก็จริงแต่ ไม่ใช่หมายความว่ามีธาตุรู้นั้นนั้นอยู่ก่อนแล้วก็มาเกิด ไม่มีเลยแล้วก็เกิดมีขึ้นเมื่อมีปัจจัยแล้วก็ดับไป จากไม่มี ก็มี แล้วก็ไม่มี ไม่มีได้ยินรออยู่ใช่ไหม พอเสียงมากระทบได้ยินก็เกิด ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ก่อนนั้นก็ไม่มีได้ยิน แต่เมื่อมีโสตปสาทรูป ซึ่งสามารถกระทบกับเสียง เมื่อเสียงกระทบโสตปสาท ที่เราเรียกว่า หู รูปพิเศษที่กลางหู มองไม่เห็น อย่างไรๆ ก็ไม่เห็น เห็นสิ่งเดียวคือสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ เมื่อเห็นเกิดขึ้น เห็นเสียงไหม ไม่เห็น แต่ได้ยินเสียง น่าอัศจรรย์ไหมว่า มีรูปที่ตัวสามารถที่จะกระทบกับรูปภายนอกซึ่งทำให้จิตเกิดขึ้นรู้ สิ่งนั้นจึงปรากฏ แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก นี่คือความเห็นถูกความเข้าใจถูก ซึ่งเมื่อถูก และจริงก็ควรที่จะรู้ แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเข้าใจว่า อาศัยการฟังจึงเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น และมีการปรุงแต่งจนปัญญาสามารถที่จะเห็นถูกตามลำดับขั้น จนกระทั่งคำที่ได้ยินทั้งหมด เป็นคำจริงทุกคำ

    ต้องมีการรู้การเกิด เพราะเมื่อกี้ไม่มี แล้วก็เกิด เห็นขณะนี้ไม่ได้พร้อมกับได้ยินเลย แต่ใครแยกออก เหมือนพร้อมกันเลย เพราะฉะนั้น เห็นแทนที่จะเป็นได้ยิน ก็เป็นปัญญา จากการที่เคยเข้าใจ เห็นทีละเล็กทีละน้อยสืบต่อค่อยๆ แทรกไป ในการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทีละหนึ่ง จนกว่าจะคุ้นเคยจนกว่าจะเป็นปกติ ถ้าไม่เป็นปกติ ก็ไม่ละคลาย เพราะมีความจงใจ มีความต้องการที่จะรู้ โดยไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นอกุศล และยังคงเป็นเราอยู่ เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดที่ฟังด้วยความเคารพในความจริง และเคารพในพระรัตนตรัย ไม่ใช่ฟังคนอื่น ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจได้

    สนทนาธรรม ที่ สวนสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม

    วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    อ.คำปั่น สิ่ง ๓ สิ่ง ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ก็คือ การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การมีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม และก็ที่สำคัญผู้นั้น ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ความสําคัญของพระพุทธศาสนา คือ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความสำคัญอย่างไร มีคุณประโยชน์อย่างไร ที่ควรอย่างยิ่งทั้งผู้ที่เป็นบรรพชิต และผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ ควรที่จะได้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์ ทุกคนรู้แล้วแน่นอนถึงได้มาอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีน้อยก็อยากจะให้เป็นเรื่องที่แต่ละท่านได้ฟังแล้ว และอยากที่จะอยากเข้าใจชัดเจนขึ้น เพราะว่าฟังก็ธรรมฟังไปตลอดชีวิต เพราะเหตุว่าธรรม คือ สิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ แต่ยากที่จะเข้าใจได้ เพราะเหตุว่าฟังนานเท่าไร ก็เป็นแต่เพียงขั้นเริ่มต้นของการที่จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระคุณของพระองค์ เพราะว่าเพียงแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้เราเข้าใจอะไร เพราะว่าบางคนได้ยินคำว่า ภาวนาก็พูดเรื่องนั่งบ้าง เรื่องยืนบ้าง แต่ว่าเพื่ออะไร และจะเข้าใจอะไร เพราะฉะนั้น ทุกคำเป็นคำที่ไม่ใช่เพียงฟังแล้ว แล้วก็ทำตาม โดยที่ว่าไม่รู้จริงๆ ว่าหมายความว่าอะไร เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อความเห็นที่ถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังมี เพราะเหตุว่าคนอื่นไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจได้เลย นอกจากพระองค์เดียวคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนก็มีชีวิตมาแล้วทั้งนั้นเลย ทั้งเดี๋ยวนี้ก็เห็น ได้ยิน คิดนึกสารพัด แต่ก็ไม่รู้ความจริงว่า คืออะไร เพราะฉะนั้น ฟังเผินๆ แล้วก็ไม่รู้ไม่สนใจที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อที่จะละความไม่รู้ และการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ซึ่งยึดมาโดยตลอดนานแสนนาน เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ก็คือประโยชน์เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เพราะเหตุว่าต้องเป็นเรื่องของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้

    อ.คำปั่น ผู้ร่วมสนทนาได้ฝากถามมาว่า การที่จะให้ทานควรพิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เรื่องทานประพฤติกันมาแล้ว เรื่องศีลก็ประพฤติกันมาแล้ว แต่เรื่องความเห็นถูกความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังมีเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม

    เรื่องทานก็คือ การให้ แต่รู้ไหมว่า ขณะนั้นไม่ใช่เราที่ให้ การศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เพียงว่าเริ่มด้วยการให้ทาน หรือว่า การรักษาศีล เริ่มไปเถอะตลอดชีวิต แต่ก็ไม่มีใครบอกว่า เดี๋ยวนี้ คืออะไร เพราะฉะนั้น คนนั้นก็ไม่ รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดชีวิตที่มีแต่เพียงการให้ทาน หรือว่าการรักษาศีล เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือว่า มีโอกาสที่จะได้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เมื่อได้สนทนากันแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพื่อละความไม่รู้ และการที่เคยยึดถือสภาพธรรมมาว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดเรื่องทานจนถึงเที่ยงก็เป็นเรื่องของทาน แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังมีในขณะนี้

    อ.ธิดารัตน์ ที่ใช้คำว่า ให้ทาน สำคัญที่ว่ามีกุศลจิตที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะสละ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ หรือว่าสิ่งของต่างๆ เมื่อมีผู้รับ อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อมีผู้ขอแล้วท่านมีสิ่งของที่สมควรแก่ผู้รับนั้นก็สละ การสละถ้าจะเป็นทาน ทานคือการให้ทาน คือการให้ไม่ติดข้องในวัตถุสิ่งที่ให้ และเป็นการสละความตระหนี่ เพราะฉะนั้น การพิจารณาในการให้ทานหมายถึงว่า ให้เพื่อสละอกุศลคือความตระหนี่

    ท่านอาจารย์ ถ้าถามเด็กซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เพราะว่ามีคำว่า ทาน ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ แล้วถามคุณวิชัยว่า ทาน คืออะไร

    อ.วิชัย ก็คงกล่าวถึงว่าการรู้จักสละ การให้ สิ่งของที่เขามีแก่คนอื่น

    ท่านอาจารย์ เพราะจริงๆ แล้ว โดยศัพท์หมายความว่าอะไร

    อ.คำปั่น โดยศัพท์คือ การให้

    ท่านอาจารย์ การให้ ภาษาไทยง่ายดี และก็เป็นชีวิตประจำวันตั้งแต่เด็กด้วย เพราะว่าเด็กๆ เราก็มีการให้เพื่อนฝูง ให้ตั้งแต่ขนมบ้าง อะไรบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งโต เราก็ยังให้ เพราะฉะนั้น การให้คือน้ำใจ ขณะนั้นของจิตที่ดี ไม่ใช่เป็นคนที่เห็นแก่ตัว เพราะว่าบางคนเราจะสังเกตได้ มีแต่รับ แต่ไม่มีการให้ แต่ว่าบางคนก็อัธยาศัยต่างๆ กันไป แต่จริงๆ แล้วในขณะนั้นถึงแม้ว่าให้ก็ไม่รู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น แม้แต่คำเดียว ที่เราพูดว่า ทานการให้ ก็มีการที่เราเข้าใจคำนี้ตั้งแต่เล็กแต่น้อย แต่ว่าเมื่อเติบโตขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีความประพฤติเป็นไปในเรื่องการให้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าแท้ที่จริง ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ที่ให้

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำนี้แล้วก็รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เรื่องความจริงของสิ่งที่มี ก็ควรที่จะได้มีความเข้าใจมากกว่าเด็กๆ ที่เพียงแต่รู้ว่าให้ แล้วก็เคยให้แล้วก็มีผู้รับ เพราะฉะนั้น การให้ก็หมายความถึงให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้รับ ถ้าเป็นภาษาไทย เราให้หลายอย่างมากไม่ใช่ให้แต่เพียงอาหาร ให้เสื้อผ้า ให้เครื่องนุ่งห่ม ให้การช่วยเหลือต่างๆ จนกระทั่งให้ความรู้ แม้ในขั้นของสิ่งที่ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร เช่น บางคนทำอาหารเก่งก็บอกเพื่อนฝูงว่าให้ทำอย่างนี้ เท่ากับให้ความรู้ ก็เป็นการแสดงน้ำใจ ที่ไม่หวงแหนไว้สำหรับตัวเอง แต่ก็สำหรับที่จะให้คนอื่นด้วย เพราะฉะนั้น ให้ทุกอย่างได้ แม้แต่ให้ความรู้ความสามารถต่างๆ ที่เราสามารถที่จะให้ได้ จนถึงให้สิ่งที่สูงกว่านั้น คือ ให้ความรู้ความเข้าใจความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแล้ว

    อ.วิชัย สมัยที่ทรงได้รับพุทธพยากรณ์ และทรงพิจารณาธรรมที่จะให้ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงพิจารณาบารมีทั้ง ๑๐ แสดงว่าการให้ก็เป็นบารมีหนึ่ง เป็นสิ่งที่สามารถที่จะอุปการะ แต่ไม่ใช่อย่างเดียว พูดถึงการสละการที่ทรงบำเพ็ญบารมี ตั้งแต่สิ่งของภายนอก จนถึงอวัยวะ แม้แต่ชีวิต การที่จะเป็นบุคคลที่เจริญปัญญา และมีปกติที่จะเจริญกุศลทุกประการ การให้ก็จะเกื้อกูลปัญญาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตอนเป็นเด็กเวลาให้ก็ไม่รู้ว่าให้ได้บางอย่าง และขณะที่ไม่ให้เพราะอะไรก็ไม่รู้ แต่พอได้ฟัง ก็เพราะมีกิเลส มีความหวงแหน มีความติดข้องในสิ่งที่มี เพราะฉะนั้น ให้ได้เฉพาะสิ่งที่ไม่หวงแหน ขณะนั้นต้องไม่ติดข้องในสิ่งนั้นจึงจะสามารถที่จะให้ได้ แต่ว่าเมื่อมีโอกาสที่ได้ฟังพระธรรมก็รู้ว่า ปกติธรรมดาจิตใจนี่ก็เกิดดับเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายอยู่เสมอ ขณะใดที่ดีก็รู้ว่า มันประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาก็ดี ขณะที่ร้ายก็รู้ว่า เป็นความตระหนี่ความหวงแหน แล้วก็อาจจะเป็นความโกรธ ความมานะ ความสำคัญตนอีกมาก แต่ไม่รู้จักชื่อเลย แปลว่ามีสภาพธรรมซึ่งเรายังไม่เคยรู้จักว่าแต่ละหนึ่งๆ หลากหลายต่างกันอย่างไร แต่พอโตขึ้นแล้วก็มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม รู้ว่า ทาน เป็นส่วนหนึ่งของธรรมฝ่ายดี เพียงส่วนหนึ่ง คือ สามารถที่จะสละสิ่งที่ติดข้อง และในขณะที่ให้ ขณะนั้นก็เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น แล้วก็ลองคิดดู ก่อนจะให้บางทีเราก็เสียดาย จะให้ดี หรือไม่ให้ดี แล้วเสร็จแล้วก็ให้เถอะ เพราะว่าจะเก็บไว้ทำไม ไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย แต่บางคนก็เก็บไว้ๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็จริงแต่ก็ไม่ให้

    เพราะฉะนั้น ลองคิดดูขณะไหนดี ขณะไม่ดี แล้วก็การที่จะดี ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ฟังพระธรรมมีความเข้าใจคำว่า กิเลส สภาพธรรมที่ทำให้จิตเป็นมลทิน เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส แล้วก็มีมานานแสนนานตั้งแต่เกิดมาก็มีแล้ว แล้วก็มีเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ฟังดูยิ่งฟังก็ยิ่งเข้าใจว่า ดีไหมกิเลส มีตั้งหลายอย่าง แล้วก็มีหลายระดับด้วย เริ่มต้นตั้งแต่เป็นผู้ที่ตรง และจริงใจ กิเลสมีไหม มีแน่ ดีไหม ไม่ดี จะให้หมดไป ดีไหม ดี ต้องตรงตั้งแต่คำแรก เมื่อดีแล้วจะทำอย่างไร ไม่มีอะไรสามารถที่จะไปทำให้กิเลสที่สะสมมาอยู่ในใจหมดไปได้เลย นอกจากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น เพียงได้ฟังแต่ละคำ และเราก็ไม่ฟังเผินๆ และเราก็ไตร่ตรอง และมีความเข้าใจว่าเป็นธรรมทั้งหมด หมายความว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ฟังธรรมเผินไม่ได้เลย แต่ละคำ แม้แต่คำว่า ธรรม ก็ต้องรู้ว่าหมายความว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมดไม่เว้นเลย และสิ่งที่มีจริง จริงในขณะที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เริ่มคิดหรือยัง ฟังธรรมมาก็มาก แล้วทุกคนก็ยอมรับว่ามีกิเลสมากมาย คิดที่จะค่อยๆ ละกิเลสบ้างหรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    14 มี.ค. 2567