ปกิณณกธรรม ตอนที่ 751


    ตอนที่ ๗๕๑

    สนทนาธรรม ที่ กนกรัตน์ รีสอร์ท อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

    วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาด้วยความเคารพว่าต้องเป็นความเข้าใจขึ้น โดยความเป็นอนัตตา นี่คือด้วยความเคารพในความเป็นธรรมซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาจริงๆ คือ ไม่เคลื่อน ไม่ไขว้เขว ไปสู่การที่จะคิดเอง หรือเข้าใจผิด หรือหวังผลว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วสามารถที่จะละกิเลสได้ ซึ่งตราบใดที่ยังทำอยู่ เป็นเพราะยังมีโลภะอยู่ และก็เป็นเพราะยังมีความไม่รู้อยู่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าค่อยๆ ละการที่เป็นเราทำหรือการจะทำจนกระทั่งเมื่อไหร่ไม่ได้ทำอะไรเลยก็เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เกิดแล้วไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นเกิดแล้วเดี๋ยวนี้สิ่งนี้ เกิดแล้วดับ แต่ปัญญาขั้นฟังยังน้อยมาก ฟังความจริง เชื่อมั่นจริงๆ ว่าธรรมเป็นอย่างนี้ แต่ต้องมีความมั่นคงว่าแล้วสามารถจะประจักษ์ความจริงได้เมื่อละความไม่รู้ และความติดข้อง ไม่ใช่ว่าเมื่อเราอยากจะรู้ อย่างนั้นก็แสดงว่าฟังแล้วไม่มีความเข้าใจที่มั่นคง

    เพราะฉะนั้นทรงแสดงธรรมที่กำกับไว้ เช่น ปริยัติการรอบรู้ในพระพุทธพจน์คือความเข้าใจแต่ละคำถูกต้อง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แต่ง ไม่เติม แต่ธรรมนั้นต้องเป็นธรรมตรงตามที่ได้ฟัง แล้วเมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้มั่นคงเป็นสัจจญาณ คือ ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดปฏิปัตติ ซึ่งทำกิจจญาณ ไม่ใช่เรา ปฏิปัตติ คือ ธรรมที่เป็นโพธิปักขิยธรรมหลายๆ อย่างไม่ใช่ปัญญาอย่างเดียว ต้องมีทั้งสติ มีศรัทธา มีวิริยะ เหล่านี้ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่าเป็นธรรมทั้งหมด จากการที่ขณะฟัง ก็มีสติในขณะที่เข้าใจ แต่ถึงเฉพาะลักษณะที่กำลังมีจริงๆ ขณะนั้นจึงจะเป็นสัทธินทรีย์ เริ่มเป็นอินทรีย์ทั้งศรัทธา ทั้งวิริยะ ทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ตรงว่าขณะนั้นคือขณะที่ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏในความเป็นธรรม เพราะสติกำลังรู้เฉพาะตรงนั้น ด้วยปัญญาจากการฟังที่เข้าใจจนกระทั่งสามารถที่จะถึงเฉพาะลักษณะนั้นด้วยความไม่ใช่เรา และด้วยความเข้าใจนั่นเป็นการเริ่มต้นของปฏิปัตติ ซึ่งทำกิจจะญาณ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะขณะนี้ระหว่างเห็นกับได้ยินก็มีกิเลสเกิดแล้วโดยไม่รู้

    พระอรหันต์ คือ ผู้ดับอาสวะ เมื่อเห็นแล้วไม่รู้ก็เป็นกิเลสขั้นอาสวะโดยไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ต่างกับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ คือ ไม่มีกิเลสใดๆ เลยคิดดู จากปัญญาที่รู้ความจริงมั่นคงในความจริงในจิรกาลภาวนา ด้วยความเคารพในความจริง สักกัจจภาวนา แล้วก็อบรมไปจนกระทั่งสภาพธรรมปรากฏเมื่อใด เมื่อนั้นปัญญาก็รู้ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ตามที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นสภาพธรรมสามารถปรากฏได้จริงๆ ด้วยปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ด้วยการละ เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่มีปกติ อาจหาญที่จะเป็นปกติ

    ถ้าคิดจะทำเมื่อไรก็แสดงว่ายังมีเยื่อใยของโลภะความเป็นตัวตนอยู่ ค่อยดึงไว้ คอยดึงมา คอยดึงไป ตลอดเวลา ไปสู่ตรงนั้น ไปสู่ตรงนี้ มาตรงนี้ มาตรงนั้น จะเป็นลมหายใจ หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่จะคิดไป แต่ว่าปัญญาที่ได้อบรมแล้ว สามารถรู้ว่าผิด พอรู้ว่าผิดจริงละ เพราะฉะนั้นกว่าจะคลายอุปาทานในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นสิ่งที่เราติดข้อง ในรูปนั้นๆ มานาน แสนนาน ละคลายอุปาทานที่ยึดถือความรู้สึกว่าเป็นเรา เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ การละคลายความรู้สึกว่าเรากำลังจำ เดี๋ยวนี้ จำ ถ้าไม่จำจะไม่รู้เลยว่าเป็นอะไร แต่ละคำ

    แม้แต่การคิดก็ต้องเพราะจำ ทุกอย่างเป็นไปเพราะจำ และความรู้สึกซึ่งเป็นอุปาทานขันธ์ที่สำคัญ ที่จะปรุงแต่งสังขารขันธ์ และเรารู้ไหมว่าเมื่อไหร่จะเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้จำมี มีจริงๆ ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นจำ ก็ยังคงเป็นเรา กว่าจะหมดการที่เคยยึดมั่นไว้นานแสนนาน ก็คือว่าเป็นผู้ที่มั่นคงในการที่จะได้อบรมเจริญปัญญาโดยไม่หวั่นไหวไม่ว่าจะอีกนานสักเท่าไหร่ก็เป็นปัญญาที่สามารถที่จะถึงความจริง เพราะว่าทุกอย่างเป็นความจริงทั้งนั้น รู้ได้ทั้งนั้น แม้แต่เห็นขณะนี้ เกิดแล้วดับ แล้วได้ยินจึงเกิดแล้วดับ หรือสภาพธรรมอื่นก็ได้ ที่ไม่ใช่ได้ยิน คิดนึกก็ได้ เกิดแล้วดับ

    ต้องเข้าถึงทีละหนึ่ง ด้วยความเข้าใจขึ้น ซึ่งทำให้คลายการยึดถือ และสามารถที่จะรู้สภาพธรรมทั่วขึ้น จึงค่อยๆ คลายไปได้ ถ้ายังติดอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็รู้ว่ายังไม่สิ้นกิจ ที่จะต้องสะสมความเห็นถูกต้องในสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว อาจหาญร่าเริง อกุศลเกิดแล้ว ปกติไม่ชอบเลย ทำยังไงจะไม่มีอกุศล ดิ้นรน ด้วยความไม่รู้ กระสับกระส่าย อุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน ด้วยความเป็นเรา แต่เมื่อมีปัญญาอาจหาญ มีกำลังพอที่จะเข้าใจขณะนั้นว่าไม่ใช่เรา ทั้งหมดขึ้นอยู่กับปัญญาที่สามารถรู้ว่าไม่ใช่เรา ก็แสดงว่าจากความเป็นอินทรีย์เป็นพละ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอะไรจะเกิด จะเป็นโกรธ จะเป็นรัก จะเป็นเยื่อใย จะเป็นอะไรก็ตามแต่ ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่ว่าหมดไปไม่เกิดอีก มีปัจจัยเกิดให้เห็นให้เข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับปัญญา ถึงระดับขั้นที่สามารถที่จะเข้าใจ แล้วละ ในการที่เคยเป็นเรา ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย เพียงแค่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แล้วก็หนทางนั้นก็จะค่อยๆ พ้นจากความเป็นทาสของโลภะ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นทาสโลภะตราบใด รู้สึกว่าสบายดี เดี๋ยวนั่นก็อร่อย เดี๋ยวนี่ก็หาไป หาไปหมดทุกอย่าง ไม่เห็นเดือดร้อนเลย หาได้ ใช่ไหม หรือว่าถ้าเกิดจะไม่ได้ก็เป็นธรรมดา ค่อยๆ เข้าใจมานิดหนึ่ง แต่ไม่พ้นจากความเป็นทาสของโลภะ

    เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่พ้น ภาวะอีกอย่างหนึ่งที่ค่อยๆ ห่างจากความเป็นทาส ซึ่งเป็นมาโดยตลอดในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่เกิดก็จะไม่รู้เลยว่าเบากว่าการที่เราต้องเป็นทาสของโลภะที่ให้ทำโน่นให้ทำนี่ ให้ไปสำนักปฏิบัติ ให้ไปนั่งจดจ้อง ให้ไปทำอะไรทั้งหมดด้วยความต้องการทั้งนั้น หลอกล่อพาไป ไม่รู้สึกตัวเลยตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อเห็นโลภะ ละสมุทัย จึงสามารถที่จะรู้ความจริงซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนได้ เพราะฉะนั้นปัญญาจะค่อยๆ เป็นปกติ แล้วก็ไม่หนัก ไม่กระสับกระส่ายเพราะเป็นพละมีกำลัง แต่จากพละก็ยังต่อไปอีก จนกระทั่งถึงความเป็นโพชฌงค์ ใกล้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จนกระทั่งเป็นหนทาง คือ ตัวธรรมที่ได้อบรมมาแล้ว ให้ผลเกิดขึ้น เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งสภาพของธรรม ซึ่งดับกิเลส จึงรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เราทั้งหมด

    ก็เป็นเรื่องของความเข้าใจของตัวเอง ฟังไปเข้าใจไป เก็บไว้สะสมไว้ ไม่ลืม แม้แต่ว่า แล้วก็ไม่มี กำลังติดข้องในอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็ไม่มี เพราะฉะนั้นความติดข้องขณะนั้นจะจาง แล้วก็จะเบากว่า แต่ก็ต้องแล้วแต่กำลังของความมั่นคงว่า มีความเข้าใจในคำนี้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็ไม่มี คือ ถึงภังคญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ที่ไม่ใช่ญาณต้นๆ ญาณที่จะทำให้ละคลายเพราะ แล้วก็ไม่มี แสดงว่าเราเคยติดในสิ่งที่ไม่มี เคยหลงยึดถือว่ามี ลมๆ แล้งๆ ตลอดเวลา เพียงแค่สิ่งที่เกิดแล้วดับไป ยังจำว่ามี คนที่นั่งอยู่ตรงนี้ไม่เห็น ยังคิดว่าเขายังอยู่ที่โน่นที่นี่ เห็นไหมว่า นั่นคือ อัตตสัญญา แต่ไม่มีคือไม่มี แม้แต่ขณะนี้ก็ไม่มีถ้ามีการที่สามารถจะรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่ความคิด ความจำ ว่าเป็นโต๊ะเก้าอี้เป็นคนนั้น เร็วแค่ไหน และก็เป็นสภาพที่จำด้วย ไม่ใช่เราด้วย

    เพราะฉะนั้นกว่าจะละคลายหมดทั้ง ๕ ขันธ์ ซึ่งเป็นอุปาทานที่ยึดมั่นมานานแสนนาน ก็เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่เดือดร้อน เพราะกำลังเป็นผู้ที่ฟังธรรม ปริยัติ เพื่อที่จะทิ้งปฏิปัตติ โดยความเป็นอนัตตาตลอด ไม่ใช่มีอัตราเข้าไปแทรกคั่นเมื่อไหร่ก็หลงทาง แล้วแต่ว่าปัญญาที่สะสมมามีกำลังพอที่จะรู้ไหมว่านั่นผิด จึงจะละได้ เป็นเรื่องการอบรม ในชาติที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมแล้วไม่ประมาท

    เพราะว่านี่เป็นสาวกบารมี บารมี มีตั้งแต่มหาโพธิบารมี เป็นพระมหาสัตว์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจเจกบารมี แล้วก็สาวกบารมี ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ไม่ใช่ผู้ฟังไม่มีการที่จะอบรมความเห็นถูก เพื่อที่จะละความไม่รู้ แล้วก็ยังมีบุคคลที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมโดยเป็นไนยบุคคล แล้วแต่ว่าจะเป็นพุทธเวไนย เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่สามารถจะมีคำซึ่งทำให้บุคคลนั้นที่เข้าใจได้ จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ หรือว่าถึงแม้ว่าจะไม่ใช่พุทธเวไนย ก็เป็นสาวกเวไนยได้พบสาวก ท่านพระสารีบุตรตอนนั้น ก็เป็นอุปติสสมาณพได้ฟังท่านพระอัสสชิ ยังไม่พบพระพุทธเจ้าเลย แต่ก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้ หรือแม้เมื่อไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีสาวกแล้ว ก็เป็นธรรมะเวไนย เพราะฉะนั้นรู้ได้เลย พระธรรมคำสอนแม้ไม่พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พอได้ยินแล้วเห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไกลกับคนซึ่งไม่สามารถที่จะฟังแล้วก็เข้าใจในความเป็นอนัตตา เพราะมีความเป็นอัตตา แม้แต่จะฟังธรรม รู้ไม่ได้เลยว่าคนที่ไปฟังธรรม ฟังด้วยความเป็นเราหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้ามีคำถามว่าแล้วทำอย่างไร นั่นก็คือเป็นเราตลอดเวลาที่ต้องการ ฟังด้วยความต้องการ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ฟังด้วยความเคารพ ด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นอนัตตา

    ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจ และรอบรู้แต่ละคำก็จะทำให้เข้าใจคำอื่นๆ ที่มากเหลือเกินที่ได้ตรัสไว้ดีแล้ว จากคำว่าธรรมก็รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม จากนามธรรม รูปธรรม ก็เป็น ขันธ์ ๕ จะพ้นจากนามธรรม รูปธรรม ได้ไหมขันธ์ ๕ จะพ้นจากความเป็นธรรมได้ไหม เพราะฉะนั้นการที่จะไตร่ตรองธรรมมีมาก แต่ต้องตามเหตุตามปัจจัย ถ้าสะสมการฟังการเข้าใจเป็นปัจจัยให้การไตร่ตรองธรรมสามารถที่จะเข้าใจ แม้คำซึ่งคนอื่นคิดไม่ถึง หรือว่ามองไม่เห็น หรือว่าไม่เข้าใจ เช่น เดี๋ยวนี้ แล้วก็ไม่มี ถ้าแล้วก็ไม่มี สั้นเข้าสั้นเข้า ก็รู้ว่าไม่มีจริงๆ แล้วไปติดข้องได้อย่างไร กว่าจะหมดทั้ง ๕ ขันธ์ คงไม่ทราบว่าฟังอย่างนี้เข้าใจอย่างนี้เพื่อละโลภะ ความต้องการเพราะรู้ในความลึกซึ้ง

    ผู้ฟัง เวไนย หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง เวไนย หมายถึง ว่าผู้พอจะแนะนำได้ คือต้องเป็นผู้สะสมมาแล้ว ที่จะได้รับการเกื้อกูล จะโดยจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพุทธเวไนย ซึ่งท่านอาจารย์ได้สนทนาไปแล้ว หรือโดยพบพระสาวกได้รับการแนะนำโดยพระสาวกก็เป็นสาวกเวไนย หรือได้รับการแนะนำด้วยพระธรรม แม้ไม่ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าพระธรรมคำสอนยังดำรงอยู่ ยังมีโอกาสได้ศึกษาได้ไตร่ตรอง ในความเป็นจริงก็เป็นผู้ได้รับการแนะนำโดยพระธรรม ที่เรียกว่าธรรมเวไนย

    ท่านอาจารย์ จริงๆ เป็นเรื่องของคำ ก็สงสัย แต่ว่าจริงๆ แล้วต้องเข้าใจโดยละเอียด ซึ่งบุคคลที่ได้ฟังธรรมแล้วมีมากแล้วก็ต่างกันด้วย บางคนได้ฟังธรรมแล้วสามารถที่จะเข้าใจระดับไหน ระดับที่ถึงการหมดกิเลส หรือระดับที่ต้องฟังมาก เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของบุคคลที่สามารถที่จะเข้าใจธรรม ซึ่งเป็นอุคฆฎิตัญญูบุคคล ผู้ที่รู้เร็ว เพราะว่าสะสมปัญญามาแล้วที่จะพอฟังแล้วเข้าใจค่ะ ถ้าสมมติว่าเราฟังมาแล้ว ๑๐ ปี พอได้ยินคำว่าธรรม คืออะไร ไม่ต้องสงสัยเลย ใช่ไหม ชินหูรู้เลย และยิ่งฟังมาแล้วหลายชาติเนี่ย พอได้ยินเราจะไม่รู้หรือว่าคืออะไร เพราะฉะนั้นสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังได้ ถึงเวลาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเพียงไม่กี่คำที่ได้ยิน เร็วมาก หรือว่าสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในระหว่างที่ได้ฟังก็ได้ เป็นผู้ที่รู้แจ้งธรรมเร็ว เพราะว่ามีเหตุที่ได้สะสมไว้แล้ว จึงเป็นอุคฆฎิตัญญูบุคคล พวกนี้รู้แจ้งอริยสัจทั้งนั้น และสำหรับผู้ที่ช้ากว่านั้นอีก คือสะสมมาไม่ถึงกับการที่จะรู้เร็วอย่างนั้น เมื่อจบพระเทศนาหรือว่าหลายพระสูตรก็ตามแต่ ขณะนั้นก็เป็นวิปจิตัญญูบุคคล แต่ช้ากว่านั้นอีกก็คือ ผู้ที่สะสมมาน้อย แต่ก็สะสมมาถึงเวลาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ไม่เร็วเท่ากับอุคฆฎิตัญญูบุคคล วิปจิตัญญูบุคคล ผู้นั้นก็สามารถในชาตินั้น ยาวหรือสั้นไม่รู้แต่ว่ารู้ได้เลยในชาตินั้น ก็เป็นไนยบุคคล เพราะฉะนั้นให้รู้จัก ๓ บุคคลนี้ก่อน ว่าเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ส่วนผู้ที่ฟังมาก สอนมาก ไตร่ตรองมาก ใคร่ครวญมาก แต่ชาตินั้นไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นปทปรมะบุคคล

    เพราะฉะนั้นแสดงธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกว่า เราเป็นใคร ไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิด ตอบได้ใช่ไหม ว่าเป็นใคร บุคคลที่หนึ่งหรือไม่ บุคคลที่สองหรือไม่ บุคคลที่สามแน่ไหม เพราะยังไม่สิ้นชีวิต แต่เทียบกับความเข้าใจธรรม กับการที่เดี๋ยวนี้ อุปาทานขันธ์สักหนึ่ง สติสัมปชัญญะก็ไม่ได้ระลึกที่จะเข้าใจถูก ในความเป็นจริงซึ่งไม่ใช่เรา แต่ละหนึ่งชัดเจนถึงอย่างนั้นหรือยัง เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจด้วยตัวเอง ไม่ต้องถามใคร เพราะฉะนั้นเข้าใจเรื่องไนยบุคคลแล้ว ก็ยังมีพุทธเวไนย สาวกเวไนย ธรรมเวไนย

    ผู้ที่เป็นพุทธเวไนย ความต่างกันของพระธรรมที่ตรัสด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่สาวกกล่าว ต้องมีใช่ไหม เพราะฉะนั้นผู้ที่จะสะสมมา ที่จะเข้าใจธรรม โดยจากพระองค์เท่านั้น พระเจ้าปุกกุสาติ เป็นต้น ก็เห็นได้ว่าผู้นั้นได้สะสมมาที่จะเข้าใจในพระพุทธพจน์ เป็นพุทธเวไนยรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย แต่ถ้าจากสาวก ซึ่งสาวกก็รู้อย่างคนอื่นทั้งหมด สาวกทั้งหมดรู้เหมือนกัน คือ รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นคณะที่เราใช้ คำว่า สังฆรัตนะ เป็นฆราวาส คฤหัสถ์ก็ได้ บรรพชิตก็ได้ ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นหมู่ของผู้ที่รู้อริยสัจธรรม เป็นสังฆรัตนะ

    เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดที่ได้ฟังธรรมจากสาวก ไม่ใช่จากพระพุทธองค์ ก็เป็นสาวกเวไนย เพราะเขารู้จักบุคคลนั้น คำเหมือนกันหมด ความจริงเหมือนกันหมด แต่ใครจะกล่าวก็ตามอัธยาศัยที่สะสมมา เพราะฉะนั้นจึงมีเอตทัคคะในการกล่าวธรรมอย่างวิจิตร ซึ่งคนอื่นก็เข้าใจธรรมเหมือนกัน รู้แจ้งเหมือนกัน แต่ไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นอัธยาศัยอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็มีพุทธเวไนย สาวกเวไนย ถ้าไม่มี ปรินิพพานกันไปหมดแล้ว แต่พระธรรมยังอยู่ บุคคลนั้นสามารถเข้าใจ อบรมเจริญปัญญาที่ได้สะสมมาพอที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมผู้นั้นก็เป็นธรรมเวไนย

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในชาตินี้ แต่การได้ยินได้ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ก็สะสม ยังเป็นปทปรมะบุคคลอยู่ ก็เป็นเวไนยสัตว์ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่

    ผู้ฟัง เมื่อต่อไป แล้วบรรลุ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่สะสมความเห็นถูกไว้ จะเป็นเวไนยบุคคลไม่ได้ ถึงแม้ว่าชาตินี้เป็นปทปรมะ แต่การที่ได้สะสมไว้แล้ว ก็จะเป็นไนยบุคคลได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นพุทธเวไนย หรือสาวกเวไนย

    ผู้ฟัง เวลาอยู่บ้านต้องทำงานบ้านก็ฟัง ขับรถรถติดก็ฟัง ถ้าอยู่คนเดียวไม่ได้นั่งกับใคร คุยกับใคร ก็ต้องฟัง ก็ยังไม่ได้กระจ่างชัดว่า แล้วอย่างไรจึงเป็นการฟังโดยเคารพ กับ ฟังโดยไม่เคารพ

    ท่านอาจารย์ เคารพในคำที่ได้ฟัง ซึ่งเป็นสัจจะวาจา เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่แต่ง ไม่ต่อ ไม่เติม ไม่เปลี่ยน ได้ฟังว่า สำนักปฏิบัติเป็นสำนักที่ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร ใจของใคร คนอื่นรู้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นฟังด้วยกันได้ยินอย่างนี้แล้ว รู้สึกอย่างไร ต้องเป็นผู้ที่ตรง จะได้รู้ว่าฟังพระธรรมด้วยความเคารพจริงๆ หรือไม่

    ฟังธรรมเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจถูก เพื่อรู้ความจริง เมื่อรู้แล้ว ธรรมลึกซึ้งอย่างยิ่ง ยากที่ใครจะเข้าใจได้ ถ้าคนนั้นไม่ได้ยินได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงอย่างละเอียดทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ไม่มีการกล่าวว่าภิกษุ รูปนั้น รูปนี้ ชื่อนั้น ชื่อนี้ แต่ว่าผู้ใดก็ตามประพฤติผิดต้องผิด ผู้ใดก็ตามมีความเห็นผิด ก็ต้องเป็นความเห็นผิด สำนักใดก็ตามที่ผิด แล้วจะไม่กล่าวว่าผิด เพราะอะไร รักตัวเอง หรือว่าเกรงใจอะไร ถ้าสิ่งที่ผิดแล้วผิด แล้วไม่พูดเลยไม่บอกกันเลย ใครจะรู้ว่าผิด ก็หลงทำสิ่งที่ผิดต่อๆ ไป แต่ถ้ารู้ว่าเพื่อประโยชน์หรือไม่แก่คนซึ่งไม่สามารถที่จะพิจารณาด้วยตัวเอง นอกจากจะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ละเอียดอย่างยิ่ง ก็สามารถที่จะรู้ว่าผิดต้องเป็นผิด จะเป็นถูกไม่ได้เลย และการที่จะอนุเคราะห์คนอื่นให้เข้าใจถูกว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก เป็นความหวังดีหรือเป็นความหวังร้าย เพราะว่าไม่ใช่เพียงแต่จะเอ่ยคำ เอ่ยชื่อ แล้วก็ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดการกระทำ ไม่ว่าใคร ชื่ออะไรก็ไม่สำคัญ แต่พระวินัยอย่างนี้ ว่าอย่างนี้

    เพราะฉะนั้นไม่มีการที่คนนี้ทำแล้วจะไม่ผิด คนนี้ทำแล้วผิด แต่ว่าใครก็ตามที่ผิดก็ต้องผิดทั้งหมด นั่นคือความตรง และความจริง เพื่ออนุเคราะห์ให้มีการสำนึก ที่สำคัญที่สุดก็คือว่าทุกคนมีความไม่รู้ และก็มีการประพฤติผิด และยังคงประพฤติผิดต่อไป เมื่อไม่รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด จึงไม่สำนึก แต่ถ้ามีการที่มีความเข้าใจเกิดขึ้นว่าผิด สำนึกว่าผิด แม้แต่พระวินัยนอกจากอาบัติปาราชิกแล้ว อาบัติอื่นทั้งหมดปลงได้ หมายความว่า มีการสำนึกว่าผิด จึงมีการบอกโทษที่ตนได้กระทำแล้วให้ผู้อื่นรู้ เพื่อที่จะได้กลับคืนเข้าสู่หมู่คณะซึ่งประพฤติดี เพราะว่าคนชั่วกับคนดีอยู่ร่วมกันไม่ได้ ในธรรมวินัย ต้องแยกออกไป หมายความว่าถ้าใครประพฤติผิด ไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกับผู้ที่ไม่ได้ทำผิด แต่ว่าเมื่อผู้นั้นสำนึกตน รู้ว่าทำผิดแล้วก็สามารถที่จะกล่าวถึงโทษ และก็มีความตั้งใจที่จะไม่ประพฤติอย่างนั้นอีก แล้วก็สามารถที่จะร่วมกันสังฆกรรมหรือว่ารวมอยู่กับภิกษุทั้งหลายได้

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราต้องการที่จะช่วยใครไม่ให้เขาเข้าใจผิด เรากล้าที่จะพูดความจริงไหม เพราะว่าทุกคนคิดว่าเหมือนกันหมด คำสอนของพระเจ้าใครกล่าวก็เหมือนกันหมด และจริงหรือ และเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่มีการเข้าใจผิดหรือในเมื่อเพียงฟัง แล้วก็ไม่ไตร่ตรอง และการกระทำก็ค้านกับคำพูด และความจริง ถ้ามีการที่กล่าวคำพูดตามพระพุทธพจน์ ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เดี๋ยวนี้เป็นอนัตตาหรือไม่ เดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือไม่ ปัญญาสามารถที่จะเป็นปัญญาที่เข้าใจถูกในขณะนี้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็ไม่ใช่ปัญญา อย่าไปหลงคิดว่าเป็นปัญญา ซึ่งคนไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร เพียงแต่บอกว่าไปนั่งแล้วก็จะรู้ แล้วรู้อะไร แล้วเดี๋ยวนี้รู้ไม่ได้หรือ ทำไมต้องไปคอยถึงอย่างนั้น ถ้าสิ่งนี้มีจริง ทำไมจะรู้ไม่ได้ และคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้หรือไม่ ว่าไม่คำนึงถึงอดีตที่ล่วงไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง จะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรจะเกิดขึ้นขณะต่อไป แต่สิ่งที่มีในขณะนี้ถ้าไม่รู้ ก็คงเป็นความไม่รู้ไปตลอด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    27 มี.ค. 2567