ปกิณณกธรรม ตอนที่ 756
ตอนที่ ๗๕๖
สนทนาธรรม ที่ บ้านคุณทักษพล และคุณจริยา เจียมวิจิตร จ.นครปฐม
วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์เมตตา สนทนาธรรมกับพวกเรา
ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมคำว่าธรรม เพราะว่าได้ยินบ่อยๆ แต่ก็ลืมว่าเป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง คือทรงแสดงพระธรรม ความจริงของธรรมะ เพราะฉะนั้นถ้าคิดถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทราบเลยว่าต่างกับเราหรือใครๆ ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเทพ บนสวรรค์ชั้นใด พรหม ยังต้องลงมาเฝ้า เพื่อที่จะกราบทูลถาม ให้ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าเทียบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับทุกคน ไม่มีใครเปรียบได้เลย แต่ละคำที่ได้ตรัสไว้ เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ต้องอาศัยการบำเพ็ญบารมีกว่าจะรู้ความจริง เพราะว่าทุกคำ เป็นวาจาสัจจะ ซึ่งคิดเองไม่ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจได้โดยง่าย แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งจะเริ่มเข้าใจสิ่งนั้นถูกต้อง เมื่อได้ฟังพระธรรม
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมะต้องไม่ประมาท พระปัจฉิมวาจา จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม แม้ในการฟังไม่ประมาทว่า กำลังฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งยากละเอียดลึกซึ้ง และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทุกยุคสมัย และทุกชาติ เพราะเหตุว่าการที่จะได้มีความเข้าใจสิ่งซึ่งมี โดยที่ว่าใคร ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง แต่พอได้ฟังพระธรรมเริ่มกระจ่างในคำซึ่งเราพูดตั้งแต่เกิดจนตายด้วยความไม่รู้ แต่เข้าใจว่ารู้ แต่เมื่อได้เริ่มฟังพระธรรม และค่อยๆ เข้าใจทีละคำจะรู้ได้เลยว่าเราไม่เคยรู้มาก่อน เหมือนอยู่ในความมืดสนิท ไม่มีแสงสว่างใดๆ เลย อยู่ไป สนุกไป เกิดมาตายไป เกิดอีกตายอีกก็ไม่รู้อะไร จนกว่าจะมีแสงเงินแสงทองของพระอาทิตย์ คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะทำให้เริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังมี
เพราะฉะนั้นเราใช้คำว่า สิ่งที่กำลังมี แต่อีกภาษาหนึ่งคือภาษามคธี ใช้คำว่า ธรรมะคือความจริง เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มี มีจริงๆ แต่เรายังไม่สามารถที่จะเข้าใจ ความจริงแต่ละหนึ่ง เพราะเหตุว่าขณะนี้ เห็นมี ได้ยินมี คิดมี ทุกอย่างมี แต่ไม่รู้เลยว่าความจริงสิ่งต่างๆ เหล่านี้คืออะไร เพราะความไม่รู้ จึงเข้าใจว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ฟังช้าๆ ฟังละเอียด แล้วก็ไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ ว่า การฟังพระธรรมคือเข้าใจสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ขณะนี้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งหมายความว่า ทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีจริง ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นเวลาฟังแล้วต้องไม่เผินเลย ต้องมีการไตร่ตรองว่า เมื่อธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้เห็นมีจริงๆ หรือไม่ เห็นไหมว่า เริ่มมาที่ใกล้ตัวที่สุด และมีทุกวันด้วย คือว่าเกิดมาเห็นทุกวัน และเห็นนี่มีจริงๆ หรือไม่ เห็นมีจริงๆ แล้วเห็นต้องเกิด ถ้าเห็นไม่เกิดจะมีเห็นหรือไม่ นี่คือการไตร่ตรองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจแต่ละคำลึกซึ้ง ถ้าเห็นไม่เกิด ไม่มีเห็นแน่นอน แต่เมื่อเห็นเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น ค่อยๆ ขยายไปที่จะเข้าใจว่า นี่คือธรรม นี่คือสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ แล้วก็ตรัสวาจาสัจจะ ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เลย สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งปวง ไม่เว้นเลย เป็นอนัตตา ภาษาบาลี ใช้คำว่า "อนัตตา" แต่คนไทยก็ใช้คำนี้เหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าแล้วอะไรเป็นอนัตตา "เห็น"ต้องเป็นอนัตตา เพราะเห็นมีจริงๆ เห็นเกิดขึ้น แล้วเห็นต้องดับไป ไม่มีเห็นตลอดเวลา เพราะดูเหมือนว่าในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ก็มีได้ยินด้วย แต่ได้ยินก็ไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้น เห็นต้องเป็นเห็น ได้ยินต้องเป็นได้ยิน และเห็นต้องเกิดจึงเห็น และได้ยินต้องเกิดจึงได้ยิน ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรในโลก ไม่มีเรา ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเรายึดถือว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง
เพราะฉะนั้นคำแรกที่จะได้ฟัง ก็คือว่า เมื่อได้ยินได้ฟังชื่อหนึ่งพิเศษ ไม่มีใครสามารถจะมีชื่อนี้ได้เลย คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระคุณนาม เพราะฉะนั้นคนอื่นที่ไม่มีคุณถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะชื่อนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นชื่อพิเศษ เพราะคุณพิเศษ แสดงธรรมซึ่งพิเศษ เพราะเหตุว่าก่อนฟังธรรม ไม่เคยได้ยินได้ฟังคำเหล่านี้มาก่อนแน่นอน ไม่มีใครจะบอกว่าสิ่งที่มีจริงนี่แหละเกิดขึ้น และก็ดับไป เป็นอนัตตา คือไม่เที่ยงหมดแล้ว จะเป็นเราได้อย่างไร เห็นเมื่อครู่นี้ ไม่ใช่เห็นเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น เห็นเมื่อครู่นี้เกิดแล้วดับ ได้ยินเมื่อครู่นี้ดับแล้ว ได้ยินใหม่ก็เป็นใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ได้ยินเก่า
เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ที่จะยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเรา หรือเป็นของเรา หรือว่าเป็นของใคร เป็นสิ่งที่มีปัจจัย สิ่งที่สามารถจะทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย สักขณะเดียว เมื่อวานนี้หมดแล้ว แล้วก็หลับ เดี๋ยวนี้ไม่หลับ ตื่นแล้ว และวันนี้ก็หลับอีก ไม่มีอะไรที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่จะอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ถ้าศึกษาเข้าใจจริงๆ ก็จะมั่นคงในคำว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เป็นอนัตตา เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เหมือนไฟ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ สืบต่อ ดูเหมือนสว่างทั้งวัน แต่ความจริงก็คือ เป็นธาตุแต่ละหนึ่ง ซึ่งแยกจากกันโดยเด็ดขาด เช่น เห็นจะเป็นได้ยินไม่ได้ เพราะเห็นดับไปแล้ว ได้ยินเกิดขึ้น ได้ยินดับไปแล้ว เราอยู่ที่ไหน ก็มีแต่ธรรม เพราะฉะนั้นจึงตรัสไว้ว่า ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา นี่คือสิ่งซึ่งฟังเมื่อใด ก็จะต้องเข้าใจตรงอย่างนี้ ถ้าคลาดเคลื่อนจากคำที่ได้ฟัง ขณะนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ความจริง เพราะเหตุว่าสิ่งที่มีจริงจนถึงที่สุดเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เราอาจจะรู้จักว่า เรื่องนั้นจริง คำนี้จริง เป็นบางส่วน แต่ถ้าตัวจริงของธรรม ซึ่งเป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนไปได้
เพราะฉะนั้นกว่าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมจริงๆ ไม่ใช่คำของคนอื่น แต่เป็นคำที่ตรัสไว้นานแล้ว ๒๕๐๐ กว่าปี และก็มีผู้ที่ได้ศึกษา เข้าใจ จดจำ จารึก จนเราสามารถที่จะได้ยินได้ฟังอีก เพื่อที่จะเข้าใจอีก แม้ที่ละเล็กทีละน้อย ก็ยังดีกว่าคำไม่จริง เพราะว่าคำไม่จริงทุกคำไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเราก็ได้ยินคำไม่จริงมานานมาก เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ เมื่อได้ฟังคำจริง เริ่มเข้าใจ แล้วก็เริ่มรู้เหตุผลว่า เพราะอะไร จึงไม่มีใครได้ยินคำจริงมาก่อนจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม ไม่ยากใช่ไหมเดี๋ยวนี้เป็นธรรม มีสิ่งที่มีจริงๆ แต่ยากตอนที่ว่า ไม่เคยเข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงอย่างหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดรวมกันแล้วก็ดับไป การดับไปของสิ่งที่มีแล้วก็เป็นปัจจัยให้สิ่งต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น ไม่มีรอยต่อ ทำให้ไม่รู้ในการเกิดดับในความไม่เที่ยง
เพราะฉะนั้นเราก็เคยได้ยิน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนไทยก็คงจะได้ยินบ้าง ไปตามวัด แต่ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ จะไม่มีคำถามว่า อะไรอนิจจัง อะไรไม่เที่ยง อยู่ดีๆ บอกว่าไม่เที่ยง แล้วเราก็ไม่เที่ยง อยู่ดีๆ ก็บอกว่าเป็นทุกข์ เราก็บอกว่าเป็นทุกข์ อยู่ดีๆ ก็ไม่ใช่ตัวตน เราก็ไม่ใช่ตัวตน และเราก็พูดได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่เป็นคำเดียวกัน ถ้าไม่มีการเกิด จะไม่มีการดับ เพราะฉะนั้นไม่เที่ยงต่อเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดแล้ว ไม่คงอยู่ ไม่ยั่งยืน ดับไปเมื่อไหร่ เราก็บอกว่าไม่เที่ยง ขณะนี้เห็นไม่เที่ยง ได้ยินไม่เที่ยง คิดไม่เที่ยง สภาพธรรมที่ผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงละเอียดอย่างยิ่งโดยประการทั้งปวง ย่อมเห็นว่าเมื่อไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีแต่สิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดดับ ดีไหมที่เป็นอย่างนี้ บังคับบัญชาก็ไม่ได้ ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ ไม่ให้ตายก็ไม่ได้ ไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ ไม่ให้คิดก็ไม่ได้ ไม่ให้ชอบก็ไม่ได้ ไม่ให้โกรธก็ไม่ได้ ล้วนเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยที่สมควร ที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยก็ไม่ใช่เราเลย เป็นทุกข์ไหม อยู่ดีๆ ก็ต้องเห็น แล้วอยู่ดีๆ ก็ต้องได้ยิน อยู่ดีๆ ก็ต้องชอบ อยู่ดีๆ ก็เกิด อยู่ดีๆ ก็ตาย แล้วเกิดอีก
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จริงๆ ว่าต้องมีความเข้าใจถึงความเป็นธรรม ถ้ายังคงเป็นเรา บางคนก็บอกทำดีจะได้เกิดบนสวรรค์ แล้วสวรรค์เที่ยงหรือไม่ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่เที่ยง ตามที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฏก แต่ละภพแต่ละชาติ ก็มีเหตุที่จะให้เกิดที่นั่น ที่นี่ ที่โน่น เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ แต่ก็ไม่กลับไปเป็นคนเดิมอีกได้เลย เพราะฉะนั้นเราเป็นคนนี้เพียงในชาตินี้ เพราะว่าชาติก่อน เคยเป็นใครก็ไม่รู้ สุขทุกข์อย่างไรมากมาย ก็ไม่รู้ แต่เรารู้ได้ในชาตินี้ว่าเราเกิดมาสุขแค่ไหน ทุกข์แค่ไหน โกรธแค่ไหน ชอบแค่ไหน ดีแค่ไหน เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงแล้วยึดถือว่าเป็นเรา แต่พอจากโลกนี้ไปแล้ว เราอยู่ไหน ร่างกายนี้ไม่มีใครต้องการเลย ให้ใครก็ไม่เอา แม้แต่มารดาซึ่งรักลูก ก็ยังไม่รับรูปร่างกายที่เคยเป็นลูกในเมื่อไม่มีจิต
เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วขณะนี้ต้องมีธาตุรู้ ซึ่งใช้คำว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ทุกครั้งที่เห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นหลากหลาย เพราะจิตสามารถที่จะรู้ความต่างของสิ่งที่ปรากฏอย่างรวดเร็ว นี่คือธรรม ก็เป็นเรื่องยาว และก็เป็นเรื่องละเอียด และก็เป็นเรื่องที่ไม่รู้จบ และเป็นเรื่องที่ไม่มีใครต้องไปทำอะไร แต่มีความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ซึ่งความเข้าใจนั้นก็ไม่ใช่เราด้วย แต่ภาษาบาลีใช้คำว่า"ปัญญา" แต่ละคำนี่ใหม่ที่เราเหมือนเคยเข้าใจ แต่ถ้าใหม่ก็คือว่าเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้นจากเดิมซึ่งเป็นเรา ก็มาเป็นธรรมทั้งหมด ถ้าเป็นจริงก็ถูก แต่ยังไม่เป็นการที่จะละความเป็นเรา ก็ต้องฟังต่อไป ว่า ที่เราเข้าใจว่าจริงก็ต้องจริงถึงที่สุด ถ้ายังไม่ถึงที่สุดก็ยังคงเป็นเราไปเรื่อยๆ พอเป็นเราก็มีความหวัง มีความต้องการ แล้วแต่ว่าใครจะต้องการอะไร ก็ทำทุกอย่าง เพื่อได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งความจริงสิ่งที่ต้องการก็ไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ของเราจริงๆ ชั่วคราวระหว่างที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเงินทองทรัพย์สิน ที่ดิน มิตรสหาย ทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงเวลาก็ต้องจากไป
เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีก็คือธรรมฝ่ายดี และธรรมฝ่ายไม่ดี ก็แล้วแต่ว่าใครจะเห็นประโยชน์ ธรรมฝ่ายดีมีหลายระดับ ดีจริงๆ บางคนเป็นคนดีมากเลยแต่ไม่เข้าใจธรรม กับบางคนซึ่งไม่ใช่เป็นคนดีอย่างนั้นแต่ก็เข้าใจธรรม อะไรจะดีกว่ากัน เพราะความดีจะดีขึ้นเมื่อเข้าใจธรรม ตราบใดที่ดีมากมายสักเท่าไหร่แต่ไม่เข้าใจธรรม ดีนั้นก็คงอยู่เพียงในระดับหนึ่ง แต่ความเข้าใจธรรมสามารถที่จะทำให้ดีขึ้นจนกระทั่งดับธรรมที่ไม่ดีหมดกิเลสได้เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นเราได้ยินคำว่าพระอรหันต์ ก็ต้องทราบว่าบุคคลที่มีปัญญา ที่รู้ความจริงที่สามารถที่จะดับความไม่รู้ และความติดข้องซึ่งนำมาซึ่งกิเลสทุกประเภท กิเลสไม่ได้นำมาซึ่งสิ่งที่ดีเลย
ผู้ฟัง ฟังอาจารย์พูดบอกว่า การเข้าใจจะค่อยเพิ่มพูนขึ้นเมื่อเราได้ฟัง หรือได้อ่านมากขึ้น
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง เรียนถามว่าในความเข้าใจที่มากขึ้น หมายถึงปัญญาเราเริ่มจะมีขึ้นหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ความเข้าใจเป็นภาษาไทย ถ้าเราไปพูดกับชาวมคธ เขาไม่รู้เรื่องไม่รู้จักคำนี้ แต่ถ้าบอกว่าปัญญา เขาก็รู้ คือคนละภาษา แต่ความหมายเดียวกัน สภาพธรรมไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด "เห็น" ไม่ใช่จีน ไม่ใช่ไทย ไม่ใช่ญวน ไม่ใช่พม่า เห็นเป็นเห็น ใครจะไปแต่งตั้งเห็นให้เป็นอะไร เห็นก็เป็นไม่ได้ เพราะเห็นเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป
ผู้ฟัง ความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น หมายถึงมีปัญญามากขึ้น เป็นเรื่องเดียวกับ สมมติว่า จะเกิดอะไรขึ้น แล้วจะทำอะไร แล้วทำให้เราระลึกถึงอกุศล แล้วเราก็ไม่ทำ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นธรรมสิ่งที่มีจริง และต้องรู้จักปัญญาว่า ปัญญาคืออะไร เราใช้คำว่า ปัญญา ปัญญา แต่ปัญญาคืออะไร ปัญญาคือความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ยังต้องต่อไปอีก คือธรรมเป็นเรื่องที่คิด และไตร่ตรอง และจะมีความเข้าใจขึ้น ไม่ใช่ฟังเผินๆ เพราะฉะนั้นเข้าใจถูก เห็นถูก ในอะไร ในสิ่งที่มีจริงๆ เวลานี้อะไรที่มีจริงๆ แล้วแต่ละคำที่ได้ฟัง เริ่มเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นปัญญาเท่านั้น ที่จะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เมื่อปัญญารู้ว่าอะไรถูก ก็คล้อยตามไปในทางที่ถูก เหมือนกับคนที่เขาหลงเข้าใจผิดไป เขาก็คล้อยตามไป ตามความเข้าใจผิด
แต่ปัญญาเป็นธรรมที่เที่ยงตรง สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเข้าใจในสิ่งที่ดี ซึ่งดีบ้าง ชั่วบ้าง ปัญญาก็สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องว่า ดีคืออะไร และปัญญานั่นเองที่นำไปในกิจทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งสิ้น เกิดมานี้เหมือนกับว่า เรามีหน้าที่มากมาย ภาระหนัก ไปทำงาน ทำธุระต่างๆ แต่ความจริงธุระทั้งหมดไม่พ้นจากธุระของธรรม คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วคิดนึกถึง สิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ทั้งหมดก็เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต เพราะฉะนั้นเวลาที่ไม่รู้ความจริง ก็คิดไปด้วยความติดข้อง ด้วยความหวัง ด้วยความมีตัวตน เมื่อมีตัวตน ก็เป็นคนที่เห็นแก่ตัว นั่นคือไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วไม่มีใคร แต่เป็นธรรมฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว ธรรมฝ่ายดีที่เป็นเหตุก็นำมาซึ่งผลที่ดี ธรรมฝ่ายไม่ดีเป็นธรรมที่ชั่วก็นำมาซึ่งผลที่ไม่ดี เมื่อรู้อย่างนี้จริงๆ เป็นปัญญา ที่เขารู้ว่าควรจะเป็นอย่างไรในกิจทั้งปวง
เพราะฉะนั้น ในครั้งพุทธกาลผู้ที่รู้แจ้งความจริงดับกิเลสได้เป็นพระโสดาบัน เป็นเสนาบดีก็มี เป็นพ่อค้านักธุรกิจก็มี ทุกอาชีพ เพราะว่าเกิดแล้วก็ต้องเป็นตามการสะสม ซึ่งอาจจะคิดว่าเราเลือก แต่ความจริงต้องทราบว่าไม่มีเรา แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามการสะสม บางคนก็ชอบต้นไม้ดอกไม้ บางคนก็ชอบทำอาหาร บางคนก็ชอบเย็บเสื้อผ้า บางคนก็ชอบเล่นกีฬาแต่ละหนึ่งจะไม่มีการซ้ำกันเลย ทำให้เราเห็นความหลากหลายของแต่ละคน และในหนึ่งคน ที่เราบอกว่าหนึ่งคน แต่ละหนึ่งขณะก็หลากหลาย แล้วก็ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหมดเลย ไม่ว่าเราจะพูดถึงอะไร ถ้ามีความเข้าใจแล้วรู้ว่าเป็นธรรม ขณะนี้จำได้ไหม ว่านี่คือแก้วน้ำ จำได้ใช่ไหม เป็นเราหรือไม่ สภาพจำมีจริงๆ เป็นธรรม ไม่ใช่เรา จำเกิดกับจิตซึ่งเป็นใหญ่ ในการที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จำทุกอย่างที่ปรากฏ จำจนกระทั่งว่าดอกไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ แม่น้ำลำคลอง
เพราะฉะนั้นสภาพธรรม ที่มีตั้งแต่เกิดจนตายมากมายหลากหลายนับไม่ได้เลย แต่ทรงแสดงประเภทใหญ่ๆ รวมไว้ว่า ธรรมประเภทนี้เป็นธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ และธรรมประเภทนี้มีจริงๆ เกิดขึ้นไม่รู้อะไรเลย จะไปบอกให้รู้ก็ไม่ได้ อย่างที่เราเรียกว่า โต๊ะ เก้าอี้ เราเรียกว่า โต๊ะ เก้าอี้ ไม่รู้เลยว่าใครกำลังนั่ง หรือใครกำลังถูก หรือว่าใครกำลังสัมผัส แต่ธาตุรู้เกิดแล้วต้องรู้
เพราะฉะนั้นที่ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ ที่มีชีวิต ก็เพราะเหตุว่าไม่ใช่มีแต่รูปร่างกายซึ่งเกิดเพราะกรรม แต่ยังต้องมีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดด้วย นี่เป็นเพียงคำที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าจิตมี เพราะเหตุว่าทุกคนเหมือนรู้ว่ามีจิต แต่ถ้าถามว่าจิตอยู่ไหน ถ้ารู้ก็ต้องบอกได้ว่าจิตอยู่ไหน ใช่ไหม นี่แสดงว่าไม่รู้จักจิต ได้ยินคำว่าจิต แล้วคิดเอาเอง เพราะฉะนั้นคนที่คิดเอาเอง คิดมานานมาก แสนโกฏิกัปป์ จนกว่าจะมีพระโพธิสัตว์ที่จะเข้าใจจริงๆ ว่าธรรมไม่ใช่คิดเอง เพราะว่าคิดเอง มีเราคิดตามการสะสม ใครจะคิดอย่างไรก็ได้ แต่ไม่ถูก
เพราะฉะนั้นผู้ที่ฟังพระธรรมต้องเป็นบุคคลที่ได้สะสมบุญความดีที่ได้ทำไว้แล้วแต่ปางก่อน ชาติไหนไม่รู้ แต่เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ว่า เราทุกคนอยู่ในโลกนี้ชั่วคราว จะน้อย จะมาก ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เพราะเป็นอนัตตา คำว่าเป็นอนัตตา แสดงความชัดเจนของธรรม แต่ถูกปกปิดด้วยความไม่รู้ จึงเข้าใจว่าเป็นอัตตา เป็นเราที่ทำได้ จะเห็นก็ลืมตาขึ้น แต่ถ้าไม่มีจิตลืมตาไม่ได้ คนตายแล้วลืมตาไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ก็จะมีธรรมที่เกิดด้วยกัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ภาษาบาลีใช้คำว่า "เจตสิกะ" เราเรียกสั้นๆ ว่าเจตสิก เพราะฉะนั้นธาตุรู้มี ๒ อย่าง "จิต กับ เจตสิก" ไม่ว่าโลกไหน ที่ไหน ประเทศไหน วันไหน เวลาไหน ธาตุรู้เกิดขึ้นต้องมีเจตสิก คือสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เกิดร่วมกับจิต ปรุงแต่งจิต ให้จิตหลากหลาย เพราะธรรมดาของจิต กล่าวเฉพาะจิตเป็นสภาพที่ผ่องแผ้ว ยังไม่มีธรรมฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว มาเกิดร่วมได้เลย จิตเกิดขึ้นทำกิจรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่นขณะนี้ จิตเกิดขึ้นทำกิจเห็น นี่คือไม่ใช่เราเลย ที่เห็นเป็นจิต เพราะเห็นเป็นธาตุรู้ว่ามีสิ่งนี้กำลังปรากฏ เวลาได้ยินเกิดขึ้น เสียงปรากฏ เพราะมีธาตุ คือจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้เฉพาะเสียงที่ปรากฏ เสียงมีมากมาย แต่ว่าเสียงไหนที่ปรากฏ เพราะจิตเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นได้ยิน
นี่คือเราก็จะค่อยๆ เข้าใจคำที่เราได้ยินมา และรู้ว่าคำไหนเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่ออะไร เพื่อให้คนซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ความจริงด้วยตัวเอง ได้เริ่มฟัง ได้เข้าใจ จนกระทั่งเข้าใจในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นเราก็จะบอกว่า เรามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แต่ถ้าไม่รู้จักพระพุทธเจ้า เราจะพึ่งได้อย่างไร แล้วถ้าไม่ฟังพระธรรม เราจะมีพระธรรมเป็นที่พึ่งได้อย่างไร และพระอริยสงฆ์คือผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม เป็นผู้มีปกติเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้
เพราะฉะนั้นจากการได้ฟังธรรม ได้พิจารณา ไตร่ตรอง เป็นปัญญาของเราเอง นี้คือจุดประสงค์ของการฟังธรรม ไม่ว่าเมื่อไรก็ตาม ที่ไหนก็ตาม จากความไม่รู้ เป็นความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น นี่คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจ เท่านั้นเอง เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ละความเห็นผิดความไม่รู้ แล้วก็ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ตรัสไว้ว่า "ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา" ถ้าเราไม่ได้ฟังว่า ธรรมคืออะไร เราจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ ไม่มีทาง เราก็คิดของเราไปเอง เดี๋ยวคนโน้นบอกว่าอย่างนี้ เดี๋ยวคนนี้บอกว่าอย่างนั้น แล้วจริงหรือไม่ ตรงกับสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้หรือไม่ เพราะว่าพระธรรม สามารถที่จะเข้าใจได้ทุกกาลสมัย เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงทุกขณะ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 721
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 722
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 723
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 724
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 725
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 726
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 727
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 728
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 729
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 730
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 731
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 732
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 733
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 734
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 735
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 736
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 737
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 738
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 739
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 740
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 741
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 742
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 743
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 744
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 745
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 746
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 747
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 748
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 749
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 750
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 751
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 752
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 753
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 754
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 755
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 756
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 757
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 758
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 759
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 760
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 761
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 762
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 763
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 764
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 765
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 766
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 767
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 768
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 769
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 770
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 771
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 772
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 773
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 774
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 775
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 776
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 777
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 778
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 779
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 780