ปกิณณกธรรม ตอนที่ 758


    ตอนที่ ๗๕๘

    สนทนาธรรม ที่ บ้านคุณทักษพล และคุณจริยา เจียมวิจิตร จ.นครปฐม

    วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท น้อยนี่สั้นแค่ไหน แป๊บเดียวที่เห็นดับแล้ว ไม่ต้องอาศัยเจตสิกอื่นหลากหลายเลย เพราะว่าเพียงมีเจตสิกนี้ก็พอที่จะเป็นปัจจัยให้กรรมให้ผลโดยเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าเป็นสีสันเป็นคน เป็นต้นไม้ เป็นนก แค่เห็นแล้วดับ แต่ว่าจิตที่เกิดสืบต่อค่อยๆ ทำหน้าที่ จนกระทั่งปรุงแต่งเป็นกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นตัวเจตนาเป็นตัวกระทำ ถ้าเกิดกับกุศลจิต เจตนาเป็นกุศล จะทำสิ่งที่ดี ถ้าเจตนาเป็นอกุศลก็จะเบียดเบียนทำร้าย และเจตนาที่เป็นผลของกรรม เช่นขณะนี้ จิตหนึ่งขณะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเจตนาเป็น ๑ ใน ๗ เจตสิก ที่ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ตรงนี้เอง เดี๋ยวนี้เอง ไม่เคยรู้ เป็นเรามานานแสนนาน แต่พอได้ฟังพระธรรมก็เริ่มเข้าใจคำว่าธรรม แล้วก็ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเห็นที่ถูกต้อง สิ่งที่มีจริงไม่ใช่เราเลยสักอย่าง เพราะฉะนั้นศึกษาแล้วก็เป็นธรรมแต่ละหนึ่งว่าเป็นจิตหรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป และเป็นเจตสิกประเภทไหน และก็เป็นจิตประเภทไหนหลากหลายมาก

    เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องถามเรื่องแผ่นดินไหวที่เนปาล เพราะว่าเห็นเป็นหนึ่ง พอเห็นแล้วคิดไม่ใช่เห็น เป็นเรื่องราวแล้ว แล้วก็ชอบหรือไม่ชอบ สุขหรือทุกข์ก็เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ถ้าไม่มีจิต โต๊ะ เก้าอี้ นี้ ไม่มีทางจะเป็นสุขได้ สุขหรือทุกข์ก็เกิดกับจิต แต่ว่าจิตไม่ใช่ความรู้สึก จิตเป็นธาตุรู้ แต่พอรู้มีเจตสิกเกิดรู้ โดยรู้สึกในสิ่งนั้น คือร่วมด้วยทันที เพราะฉะนั้นจิตกับเจตสิกไม่แยกกันเลย แล้วแต่ประเภทของจิต แล้วจิตเห็นหนึ่ง ได้ยินหนึ่ง ได้กลิ่นหนึ่ง ลิ้มรสหนึ่ง รู้สิ่งที่กระทบหนึ่ง ๕ แต่ทั้งหมดมี ๑๐ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเห็นเป็นผลของกรรม เป็นกุศลวิบาก วิปากะ นี่คือผลของกรรม ถ้ากุศลวิบากก็หมายความถึงเป็นผลของกุศล ถ้าอกุศลวิบากก็เป็นผลของอกุศล เพราะฉะนั้นจิตเห็น จิตได้ยิน พวกนี้เป็นผลของกรรมจึงเป็นจิตประเภทวิบากจิต ภาษาบาลีก็ใช้ตัวป.ก็เป็นวิปากะ เป็นวิปากจิต เป็นผลของกรรม เมื่อกรรมมี ๒ คือกุศลกรรม และอกุศลกรรม วิบากก็ต้องมี ๒ กุศลกรรมก็ต้องทำให้เกิดกุศลวิบาก กุศลกรรมไปทำให้เกิดอกุศลวิบากได้อย่างไร เหตุผลไม่ตรงกัน ไม่มีใครไปจัดการเลยทั้งสิ้น แต่ตัวกรรมนั่นแหละเป็นผู้ที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น ถ้าเป็นกุศลกรรม ทำดีก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดขึ้น เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบกายดี เป็นผลของกุศลกรรม และถ้าเห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายไม่ดี ก็เป็นผลของอกุศลกรรม รวมแล้ว ๕ ที่เป็นกุศลวิบาก ๕ ที่เป็นอกุศลวิบาก รวมเป็น ๑๐

    วิญญาณเป็นอีกคำหนึ่งของจิต แต่จิตจะใช้คำว่าวิญญาณก็ได้ จิตก็ได้ เพราะฉะนั้นจิตเห็นก็คือจักขุวิญญาณ คือจิตที่ต้องอาศัยตาจึงเกิด และเห็น ถ้าทางหู โสตะวิญญาณ คือจิตได้ยินที่ต้องอาศัยหู จึงเกิดขึ้นได้ยินเสียง และก็เป็นกุศลวิบากหนึ่งอกุศลวิบากหนึ่ง รวมเป็น ๑๐ คือ ๕ คือ ปัญจะ ๑๐ ก็คือทวิปัญจะ เพราะฉะนั้นจิต ๑๐ ดวงนี้ ภาษาบาลีก็คือ ทวิปัญจวิญญาณ ไม่ต้องพูดแบบ ทวิปัญจวิญญาณก็ได้ เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่สงสัยจะพูด ๕ จะพูด ๑๐ จะพูด ๑ ก็ได้

    ผู้ฟัง เมื่อฟังอาจารย์ ก็เข้าใจว่ากรรม เป็นเจตนาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิกแต่ละหนึ่ง มีชื่อตามหน้าที่ และลักษณะของเขา เพราะมีมากถึง ๕๒ ประเภท ถ้าไม่มีชื่อเลย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหมายความถึงเจตสิกประเภทไหน เพราะฉะนั้นชื่อที่มีเพื่อให้เข้าใจว่าเราหมายความถึงธรรมอะไร สภาพธรรมอะไร อย่างทำไมเราพูดว่าเห็น ก็เพื่อให้รู้ว่าเราหมายความถึงจิตนี้ ไม่ใช่จิตอื่น เราพูดถึงได้ยิน เราก็หมายความว่าเราพูดถึงจิตนี้ ไม่ใช่จิตอื่น เพราะฉะนั้นชื่อเป็นแต่เพียงคำที่แสดงความหมายของจิต และสภาพธรรมอื่นๆ ไม่ใช่เจตสิก แล้วไม่ปนกัน เพราะว่าทั้ง ๒ อย่างต่างกัน และเจตสิก ๕๒ เจตนาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ตามประเภทของจิต ถ้าเป็นกุศล อกุศล ในชีวิตประจำวันนี่เราเห็นง่าย เขาตั้งใจดี เขาช่วยคนอื่น เราก็บอกว่ากุศลเจตนา แต่เจตนาที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมเราไม่เคยรู้มาก่อน และเจตนาที่จงใจขวนขวายนี่ทำกิจอะไร เพราะเหตุว่าสภาพนามธรรมทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นมาเปล่าๆ แต่เกิดขึ้นทำกิจของธาตุรู้นั้นๆ แล้วก็ดับ

    เพราะฉะนั้นเจตนาเป็นสภาพที่จงใจ ถ้าเป็นกุศลรู้ได้ เป็นอกุศลรู้ได้ แต่เวลาเกิดกับจิตอื่นๆ เพราะต้องเกิดกับจิตทุกประเภท เช่น ขณะนี้ที่เห็นมีเจตนาเจตสิกเกิด แต่เจตนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตเห็น เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่ใช่กุศล และอกุศล แต่เป็นผลของกุศล และอกุศล ทำกิจขวนขวาย กระตุ้นเตือนสหชาตธรรม ให้ทำกิจการงาน เพราะเหตุว่าใช้คำว่า สหชาตะ หมายความถึงธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน สหคือ พร้อมกัน ชาตะแปลว่าเกิด สหชาตธรรมคือธรรมที่เกิดพร้อมกัน จิต เจตสิกเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นจิต ก็เป็นสหชาตธรรมของเจตสิก เจตสิกแต่ละหนึ่งก็เป็นสหชาตธรรมของเจตสิก และจิต

    ธรรมเป็นเรื่องตรงไปตรงมา ถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่มีปัญหาเลย แล้วก็เข้าใจขึ้น และสำหรับเจตนาที่เกิดขึ้นเป็นวิบากเพราะเป็นผลของกรรมทำกิจ ไม่ได้เป็นกุศล อกุศล หรือที่จะต้องไปช่วยใครอะไรที่ไหน เพียงแค่ทำกิจให้จิต และเจตสิกเกิดทำกิจร่วมกัน ขวนขวาย ท่านใช้คำอุปมาว่าเหมือนหัวหน้านักเรียน นักเรียนด้วยกันก็มีหัวหน้าคนหนึ่ง คอยบอก คอยเตือน คอยกระตุ้นให้ทำอะไร นั่นก็เป็นลักษณะของเจตนาเจตสิกแต่ถ้ามีสภาพของกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตนาเขาก็ขวนขวายไปตามกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมด อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ชั่วคราวแล้วดับเร็วมาก สุดที่จะประมาณได้ ใครรู้ ถ้าไม่ได้บำเพ็ญบารมีถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เพียงแค่ขั้นต้นที่จะเข้าใจความจริงว่าเป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตา และก็หลากหลายเป็นจิต เจตสิก รูป ใช้คำว่าปรมัตถธรรม ๔ ก็คือ จิต๑ เจตสิก๑ รูป๑ นิพพาน๑ เดี๋ยวนี้ยังไม่รู้แล้วจะรู้นิพพานได้ไหม แล้วไปทำอะไรกัน เพื่ออะไรกัน เพื่อไม่รู้เลย ไม่เข้าใจเลย

    เพราะฉะนั้น ๔๕ พรรษา ทรงอนุเคราะห์ผู้ฟังให้เกิดความเข้าใจของตัวเอง มิฉะนั้น ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงพระธรรม ไม่มีประโยชน์ ไม่มีใครฟัง บางคนกล่าวว่าไม่ต้องฟัง เป็นการดูหมิ่นประมาทพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไม่ต้องฟังก็ได้ แล้วฟังใคร ธรรมเป็นเรื่องที่ตรง แล้วก็จริงใจจึงจะได้สาระ ข้อความในพระไตรปิฎกชัดเจน "ผู้ใดที่เป็นผู้ที่ตรงจะได้สาระจากพระธรรม" ให้รู้ด้วยว่ากำลังฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คำที่ใครจะคิดเองได้เลย และประโยชน์มหาศาล คือว่ารู้ความจริงว่าไม่มีเรา เพราะการเข้าใจว่ามีเราเป็นกิเลส เป็นความไม่รู้ และความเห็นผิด และการยึดถือว่าสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นเที่ยง สิ่งที่ไม่ใช่เรา เป็นเรา นั่นคือความเห็นผิด สิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาก็เข้าใจว่าทำได้ ไปทำกันใหญ่ ทำอะไร ทำไม่รู้ ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง มีคำถามว่า เมื่อเริ่มต้นด้วยการฟังเพื่อศึกษาพระธรรม สมควรจะฟังจนเข้าใจได้ระดับใด

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมคะ ผิดเลย ทันทีเลย ถ้าเป็นคนไม่ละเอียดก็คิดว่า เขาอยากรู้เราจะต้องบอกเขาให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหม แต่ไม่ใช่ความเข้าใจของเขาเลย ไปส่งเสริมให้ไม่เข้าใจ เพราะขณะที่ถามมีความต้องการด้วยความเป็นตัวตนชัดเจน เข้าใจแค่นี้แล้วจะเข้าใจแค่ไหน ใครหรือที่เข้าใจ นอกจากตัวเอง หวังว่าจะมีขอบเขต จะมีเวล่ำเวลา จะมีขีดขั้น ว่าเข้าใจขั้นนี้แล้วจะถึงขั้นนั้น แต่ลืมคำที่สำคัญที่สุดสำหรับพระพุทธศาสนา คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ได้บังคับเลย สติสัมปชัญญะ สติปัฎฐาน ใช้คำว่าปัฏฐาน คือที่ตั้งของสติ ไม่มีปัญญา และสติจะเกิดได้อย่างไร ปัฏฐานคือที่ตั้งของสติ ก็ไม่รู้ว่าจะไปตั้งตรงไหน แล้วก็ไม่รู้ว่าสติเป็นอย่างไร ก็เป็นเรามาโดยตลอด จนกระทั่งถามว่าแค่ไหนจึงจะพอ เพราะฉะนั้นผิดโดยตลอด เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนี่ต้องละเอียดจริงๆ ถ้าคำใดไม่ทำให้เข้าใจ คำนั้นผิด ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะฉะนั้นไม่มีเวลาที่เราจะต้องไปนั่งคิด ว่าเราจะฟังอีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปี เข้าใจพอหรือยัง

    เพราะว่าการฟังธรรมเป็นปริยัติ ปริยัติหมายความถึงรอบรู้ในพระพุทธพจน์ ไม่ใช่ได้ยินพระพุทธพจน์ ไม่ใช่ได้ยิน และคิดเอง ไม่ใช่ได้ยินแล้วจำไว้พูด หรือไม่ใช่ได้ยินแล้วจำไว้บอกใครให้เขาไม่รู้ต่อไป แต่ต้องเป็นผู้ที่รอบรู้เพราะเหตุว่าถ้ารอบรู้คำหนึ่ง คำนั้นแหละ จะต่อไปถึงคำอื่นๆ และจะค่อยๆ รอบรู้ขึ้น รอบรู้หมายความถึงรู้ตรงตามความเป็นจริง โดยไม่สงสัย โดยไม่คลาดเคลื่อน นั่นคือรอบรู้ เช่น จิตมีจริงๆ ไม่ใช่เรา มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มั่นคง และจิตไม่ใช่เจตสิก เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูกเป็นปัญญา ฟังแค่นี้เข้าใจแค่ไหน แล้วจะเอาเท่าไหร่ถึงจะไปปฏิบัติ และปฏิบัติอะไร และสติปัฎฐานคืออะไร ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงรู้ความจริงเมื่อใดไม่ใช่เพราะเราทำ แต่เพราะมีปัจจัยที่สภาพธรรมคือสติ เกิดเพราะความเข้าใจถูกจึงรู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นปัฏฐานคือที่ตั้งของปัญญาทั้งหมด เห็นก็เป็นที่ตั้งของปัญญา ได้ยินก็เป็นที่ตั้งของปัญญา คิดก็เป็นที่ตั้งของปัญญา ไม่ใช่ที่ตั้งของอวิชชาความไม่รู้ เพราะฉะนั้นจากความไม่รู้ซึ่งเป็นอวิชามากมายมหาศาล จะไปให้สติเกิด ไปรู้ ไปเข้าใจได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นคนที่ฟังมีความหวัง ซึ่งไม่ตรง ผู้ที่ฟังเพราะรู้ว่าไม่รู้จึงฟังเพื่อรู้ เพราะไม่เข้าใจจึงฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพราะจะได้ไปทำวิปัสสนา จะได้ไปรู้อย่างนั้น รู้อย่างนี้ นั่นคือเป็นผู้ที่ไม่ตรงกับเหตุผล ก็ไม่ได้สาระจากพระธรรม เพราะฉะนั้นใครจะตอบได้ว่าคนนี้ฟังอีก๑๐ ปีแล้วก็จะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แม้แต่ในครั้งพุทธกาล ผู้ที่ได้อบรมการฟังความเข้าใจธรรมมาพอที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็มีธุระที่จะต้องไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าเพียงเขาจะอยู่ตรงนั้นต่อไป เขาก็จะเป็นพระโสดาบัน แล้วจะไปบอกเขาได้อย่างไรว่าให้อยู่ตรงนั้น ตรงนี้ ทำอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะทั้งหมดนี้เป็นอนัตตา ฟังธรรมต้องละเอียดมากๆ บางคนก็บอกทำไมพระพุทธเจ้าไม่สงสารเขา เขากำลังจะเป็นพระโสดาบัน และบอกให้เขาอยู่ต่อ อะไรอย่างนี้ แล้วใครจะทำจิตไหนให้เกิดขึ้นได้ เพราะทั้งหมดต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจะอยู่หรือจะไป ใครทำให้เขาเป็นอย่างนั้นได้ เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น หวังไม่ได้ หวัง กั้นทันที เรามาแล้วจึงหวัง เพราะเป็นเราจึงหวัง แต่ถ้าเป็นธรรมก็แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งหมด

    ผู้ฟัง ขึ้นอยู่กับปัญญาใช่ไหม แล้วเราก็บังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่มีเรา

    ผู้ฟัง เพราะไม่มีเรา

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง เป็นธรรมทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ไม่มีไฟ ทำให้ไฟเกิดมาได้ไหม ทำเองเลยให้ไฟเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นธรรม ไม่รู้จะให้เป็นรู้ได้ไหม ไม่เข้าใจจะให้เป็นเข้าใจได้ไหม แต่มีเหตุที่จะให้เข้าใจจึงเข้าใจได้

    ผู้ฟัง ณ วันนี้ปัญญาเราก็น้อยมาก ถึงแม้จะฟังมา แต่การเข้าใจธรรมในระดับที่ต่ำมาก แต่ก็อดคิดถึงเราไม่ได้ว่าวันหนึ่งที่เราเกิดการสูญเสียขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ห้ามคิด เพราะฉะนั้นจะบอกว่าอดคิดนี่ ไม่มีใครไปอดคิดได้ เห็นไหมว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ปัญญาสามารถรู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง แล้วก็เร่งที่จะศึกษาพระธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจธรรมก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ต้องทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จะทำอีกแล้ว มีเราเพิ่มไปอีกแล้ว ฟังไปพอกตัวตนไปเรื่อยๆ นี่คือความที่เมื่อตรัสรู้ไม่น้อมพระทัยที่จะแสดงธรรม ไปถึงไหนก็โดนเราทั้งนั้น ฟังไปก็เรามาอีกแล้ว ฟังไปก็เรามาอีกแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจจริงๆ ว่าธรรมละเอียดลึกซึ้ง ใครบอกว่าไม่ลึกซึ้ง ไม่ต้องศึกษา เข้าใจได้ ผิดทันที ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเข้าใจจริงๆ มั่นคงว่าเป็นธรรม เท่านั้น เรื่อยๆ จนถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะทั้งหมดเป็นธรรม พระโสดาบันมีโลภะหรือไม่ พระโสดาบันรู้ไหมว่าโลภะเป็นธรรม รู้ แต่ก็ยังมีเหตุของโลภะ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่อไป เ

    พราะฉะนั้นไม่ได้ห้ามอะไรเลยทั้งสิ้น เป็นปกติ มีสติ เพราะเข้าใจธรรม สติจึงเกิดได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจธรรม ทำอย่างไรก็ไม่ใช่สติ หลงเข้าใจว่าเป็นสติ เพราะไม่มีใครบอกว่าสติคืออะไร สติรู้อะไร สติต่างกับเจตสิกอย่างไร และมีสติกี่ครั้ง

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การละตัวตนนี่รู้สึกมันละยากมาก อย่างเช่นว่า เราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เรารู้รส เราสัมผัส ละไม่ได้เลย มีวิธีการอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีวิธีการใช่ไหม

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ เก่งจัง ไม่ต้องรู้อะไรก็จะละ แค่นี้ก็พอทราบแล้วใช่ไหม ว่าไม่ใช่เหตุผล

    ผู้ฟัง ผมก็เคยอ่านเรื่องสักกายทิฏฐิ ก็พยายามทำ ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ พยายามทำก็คือเรา ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ใช่เรา เรานั่นแหละก็กำลังพยายามแล้วจะไปหมดเราได้อย่างไร ตัดไปหมดเลยทุกอย่าง ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ จะยังคงเป็นเราก็ยังต้องเป็น แต่ความเข้าใจค่อยๆ เข้าใจขึ้น มิฉะนั้นหมดหนทาง เพราะว่าพระศาสนาใกล้จะอันตรธาน คำว่า อันตรธาน หมายความว่าหมดสิ้นไปไม่เหลือ แต่ว่าขณะนี้ก็อันตรธานจากคนที่ไม่ฟัง จะมีได้อย่างไร ก็ไม่ฟัง ก็เท่ากับอันตรธานแล้ว แต่เวลาที่พูดถึงระยะว่าจะอันตรธานหมดเมื่อไหร่ทั้งพระธาตุทั้งหลาย ก็หมายความว่าไม่เหลือเลยจริงๆ สักคนที่จะเข้าใจธรรม ถ้าตราบใดยังเหลือ ก็ยังไม่อันตรธาน ในเวลานี้ลองนับดูก็ได้ อันตรธานไปเท่าไหร่แล้ว เห็นไหมว่าคำสอนหรือวาจาสัจจะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดเป็นไปเพื่อละ พอเกิดต้องการก็มีคำที่แสดงให้รู้ว่าละไม่ใช่ต้องการ ทั้งหมดต้องเป็นไปเพื่อละ ระลึกได้เมื่อไหร่ก็คือว่าละเพราะต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องฟังก่อน

    ปรมัตถธรรมมีคำว่าธรรม และมีคำว่าปรมัตถธรรม และมีคำว่าอภิธรรม ทั้งหมดก็คือสิ่งที่มีจริงนั่นเอง แต่ว่าสิ่งที่มีจริงนี่เป็นสิ่งที่ใครก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้เลยทั้งสิ้น แข็งเปลี่ยนให้เป็นหวานไม่ได้ เห็นเปลี่ยนให้เป็นได้ยินไม่ได้ แต่ละหนึ่งๆ เป็นปรมัตถธรรมมาจากคำว่า ปะระมะ กับ ธรรม ธรรมที่ยิ่งใหญ่ คือใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสว่าพระองค์สามารถที่จะเปลี่ยนได้ แต่ว่าเข้าใจได้ รู้ได้ เพราะฉะนั้นพอพูดถึงปรมัตถธรรมมี ๔ เท่านั้น คือ จิตมีแน่นอนหนึ่ง เจตสิกมีแน่นอนหนึ่ง รูปมีแน่นอน สภาพไม่รู้มีแน่นอน และนอกจากนั้นยังมีแน่นอน คือ นิพพานมีแน่นอน แต่อวิชาไม่รู้สักอย่าง ไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักเจตสิก ไม่รู้จักรูป ไม่รู้จักนิพพาน แต่ปัญญารู้ได้ทุกอย่างตามความเป็นจริง ปัญญาของสาวกคือผู้ฟังไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไปคิดเองได้หรือ อยากโน่น อยากนี่ เพราะฉะนั้นหน้าที่เดียวก็คือว่าสาวกคือผู้ฟังด้วยความเคารพอย่างยิ่งในแต่ละคำ ซึ่งเป็นคำจริงสัจจะวาจาเปลี่ยนไม่ได้ แต่ธรรมซึ่งเป็นปรมัตธรรมลึกซึ้งอย่างยิ่งจึงใช้คำว่าอภิธรรม ก็คือตัวธรรมเดี๋ยวนี้ จิต เจตสิก รูป ลึกซึ้งตามลำดับ ที่เข้าใจ

    ขณะนี้ถ้าคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมเลย ต้องตอบไม่ได้ ถ้าถามว่าขณะนี้เห็นอะไร เห็นได้เพียงแค่สิ่งที่สามารถกระทบตา แข็งกระทบตาไม่ได้ หวานกระทบตาไม่ได้ แต่ที่มหาภูตรูป รูปซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน ๔ รูปคือ ธาตุดิน ๑ อ่อนหรือแข็ง ธาตุน้ำ ๑ เอิบอาบเกาะกุม ธาตุไฟเย็นหรือร้อน ธาตุลมตึงหรือไหว ถ้าไม่มี ๔ รูปนี้เป็นใหญ่เป็นประธานซึ่งเกิดพร้อมกันดับพร้อมกันอาศัยกัน และกัน ถ้าไม่มี ๔ รูปนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่มี เสียงก็ไม่มี กลิ่นก็ไม่มี รสก็ไม่มี รูปใดๆ ก็ไม่มีทั้งสิ้นเลย นี่คือสิ่งที่ ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ใช่เรา เป็นรูป แต่ก็ยังไม่พอ แล้วรูปอะไร แต่ละอย่าง เพื่ออะไร เพื่อเข้าใจให้ชัดเจนลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงความไม่ใช่เรา

    ถ้าไม่มีการฟังใน ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงไม่มีทางที่จะละ ฟังก็เผินใช่ไหม แล้วก็คิดว่าจะละเองด้วย แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดนี่ เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความต้องการ เพื่อละความติดข้อง เพื่อรู้จริงๆ ว่าไม่มีเรา แต่เป็นธาตุที่เกิดต้องการขึ้นมา ก็เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปิดกั้นความจริงทันที

    ผู้ฟัง เรียนถามเกี่ยวกับเรื่องภวังคจิต ตอนที่จุติจิตเกิดนี่จิตเขาเคลื่อนออกจาก

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้มีอะไรเป็นปัจจัย มีกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แม้แต่เราจะจากโลกนี้ไป ไปไม่ได้ถ้าไม่ถึงแก่กรรม คือถ้ากรรมนั้นไม่เป็นปัจจัยให้จิตขณะสุดท้าย จะมีจิตต่อจากนี้ไม่ได้ในชาตินี้ แต่เป็นชาติต่อไป เพราะฉะนั้น จุติจิต คือจิตสุดท้ายของชาตินี้ ซึ่งทำกิจเคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ จะเป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้เลย เป็นจิตที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเกิดเพราะกรรม เกิดแล้วยังตายไม่ได้ ต้องดำรงภพชาติ ภวังคจิตก็แล้วแต่กรรมจะให้ดำรงภพชาตินานเท่าไหร่ เดี๋ยวเดียวแล้วก็เห็นอีก เดี๋ยวเดียวก็ได้ยินอีก หรือว่านานพอสมควรหลับไปสักชั่วโมง สองชั่วโมง นั่นก็คือภวังคจิตเกิดขึ้นเพราะกรรม จะเห็นก็ต้องเป็นผลของกรรม แล้วก็อีกจิตหนึ่งก็คือจุติจิต เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นกรรมทำให้เกิด ทำให้เป็นภวังค์ ทำให้ตาย และระหว่างนั้นที่ยังไม่ตายเกิดแล้วก็ต้องเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง พวกนี้เป็นผลของกรรม เว้นจิตที่ไม่เป็นผลของกรรมก็คือกุศลจิต และอกุศลจิต

    ผู้ฟัง แต่ช่วงที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ เกิดสืบต่อ เป็นผลของกรรมเดียวกัน ให้ดำรงความเป็นบุคคลนี้เปลี่ยนเป็นบุคคลอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง จนกระทั่งเมื่อดำเนินชีวิตมาถึงจุติจิต เรียนถามว่า ภวังคจิตตอนนี้ก็จะดำรงภพชาติมาตลอดจนถึง

    ท่านอาจารย์ ก่อนจุติ

    ผู้ฟัง ก่อนจุติจิต

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าระหว่างนั้นจะต้องมี เห็น ได้ยิน ซึ่งเป็นผลของกรรมถูกต้องไหมคะ เพราะฉะนั้นจิตขณะสุดท้ายเกิด จิตทุกจิตต้องมีหน้าที่ จิตเห็นทำกิจเห็น จิตได้ยินก็ทำกิจได้ยิน เพราะฉะนั้นจิตที่ทำกิจเคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี่คือหน้าที่ของจิตขณะสุดท้าย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    25 มี.ค. 2567