ปกิณณกธรรม ตอนที่ 763


    ตอนที่ ๗๖๓

    สนทนาธรรม ที่ บ้านสวนส้มทิพย์ จ. ราชบุรี

    วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘


    ผู้ฟัง เวลาคนที่ไปทำบุญใส่บาตรพระตอนเช้า ในสมัยพุทธกาล พระท่านออกบิณฑบาตตอนเช้ามีพิธีการว่าหลังจากใส่บาตรแล้วท่านต้องให้ศีล อวยพรแก่ผู้ที่ใส่บาตรทุกครั้งด้วยหรือไม่

    อ.สงบ จริงๆ แล้วที่เราทำบุญแล้วก็เป็นการให้พรแก่ตัวเองอยู่แล้ว กุศลสะสมในจิตขณะนั้นก็เป็นโอกาสที่จะให้ผลในขณะต่อไป

    ท่านอาจารย์ รู้จักพรดีหรือยัง ขอพร ให้พร แล้วพรคืออะไร เพราะฉะนั้นสำหรับการที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ ต้องเริ่มจากแต่ละคำว่า คือ อะไร

    อ. ธิดารัตน์ เมื่อมาศึกษาธรรมะจึงจะรู้ว่า พรก็คือ กุศล เพราะว่าที่เคยอ่านเคยได้ยิน คือ นางวิสาขา นะคะ ขอพร ก็คือ ขอโอกาสที่จะเจริญกุศลทุกประการ

    อ.ธีรพันธ์ พร มาจากคำว่า วาระ แปลว่า ประเสริฐ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าคนอื่นให้ได้ไหม ต้องตรง เพราะฉะนั้น พร ตามที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฏก เมื่อกุศลเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ขอโอกาสที่จะทำกุศล เพราะว่ากุศลบางอย่าง ถ้าไม่ได้โอกาสก็ทำไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับพระวินัย ไม่มีใครสามารถที่จะไปให้อะไรๆ กับพระภิกษุตามใจชอบ แต่ต้องเป็นไปตามพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตสำหรับเพศบรรพชิต แม้แต่เรื่องของผ้าอาบน้ำฝน ไม่ได้ใหญ่โตอะไรเลย แต่แม้กระนั้น วิสาขามิคารมารดายังต้องขอพรพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะทำกุศลอันนี้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เข้าใจจริงๆ ถึงความประเสริฐ ไม่ได้ต้องการอะไรเลยนอกจาก ความประเสริฐ คือ ความดี

    เพราะฉะนั้น ความดีก็ต้องจำกัดด้วยว่า เราจะทำเองได้ หรือเปล่า ถ้าเกี่ยวกับพระวินัยบัญญัติแล้ว ฆราวาสไม่สามารถที่จะไปให้อะไรๆ กับพระภิกษุ โดยที่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ทุกอย่างต้องเป็นไปตามพระวินัย เพราะฉะนั้น สมัยนี้พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว แต่พระธรรมวินัยที่ได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามพระวินัย ไม่ใช่ว่าใครอยากได้พรประเสริฐ ความดีประเสริฐก็ทำอย่างที่ตนเองต้องการ ซึ่งไม่ประเสริฐแต่เข้าใจว่าประเสริฐ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ พร คือ ขอใครได้ไหม ขอโอกาสที่จะกระทำกุศลได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไปขอ และเขาให้มาก็เป็นพร ไปขอแล้วเขาบอกว่า ขอให้มั่งมี ศรีสุข แล้วมั่งมี ศรีสุขจริงๆ หรือไม่ ขอให้เป็นอย่างนั้น ขอให้เป็นอย่างนี้ และเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริง แต่การศึกษาธรรมะที่เป็นผู้ตรง ก็จะทำให้รู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก อะไรควร และไม่ควร

    เพราะฉะนั้น พรที่ทุกคนหวังหรือคิดว่าประเสริฐที่สุด คือ อะไร พอรู้ไหมว่า อะไรเป็นพรประเสริฐ ความเข้าใจความจริง คือ ธรรมะประเสริฐที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาที่พระภิกษุท่านไปรับนิมนต์ในครั้งกระโน้น และเมื่อได้ฉันภัตตาหารแล้ว แสดงธรรมะถึงอานิสงส์ของทานตามความเป็นจริง ไม่ได้ให้ ไม่ได้บอกว่าให้คนนี้รวยภายใน ๗ วัน จงรวย จงรวย อย่างนั้นไม่ได้เลย จริงๆ แล้วก็คือว่า รู้เหตุ ว่าการกระทำดี เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดผลดี เพราะฉะนั้น ก็แสดงความจริงของสภาพธรรมะให้เข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่ให้ไปหวังที่จะได้ แล้วก็ขอตลอดเวลา ซึ่งไม่มีเหตุที่สมควร แก่การที่จะให้ผลเกิดขึ้นเลย

    อ.ธีรพันธ์ มีคำถามว่า การปฏิบัติกิจกรรมทางพุทธศาสนาทำบุญตักบาตรในวัดทุกวันพระ จะมีการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ทุกครั้ง แม้ในพิธีสวดพระอภิธรรมศพ ก็ต้องกล่าวแสดงตนอีก ทำไมต้องกล่าวบ่อยๆ ไม่น่าจะมีผลต่อผู้ฟังธรรมอย่างแท้จริง

    ท่านอาจารย์ ใครจะถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะคนอื่นบอกให้เป็น หรือว่าเป็นเองด้วยใจ อยู่ดีๆ มาบอกให้แสดงตนเป็นพุทธมามกะแล้วก็เป็นจริงๆ หรือเปล่า และข้อสำคัญที่สุด เป็นเพราะเขาบอกให้บอกว่าให้เป็น หรือว่าเป็นเพราะเป็นจริงๆ ต้องแสดงตนหรือไม่การเป็นพุทธมามกะ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องมีเหตุผล ต้องตรง ไม่ใช่ตามกระแส แต่ไม่เข้าใจอะไร เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า การแสดงตนเป็นพุทธมามกะในสมัยพุทธกาล มีหรือไม่

    อ.ธีรพันธ์ เมื่อท่านบรรลุแล้ว ท่านก็จะถึงพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง หรือท่านเลื่อมใสแล้ว ท่านก็จะขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

    ท่านอาจารย์ บุคคลนั้นกล่าวเอง ไม่ใช่ต้องมีการกระทำ หรือการแสดงตน เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ก็จะกล่าวว่า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เพราะว่าได้เข้าใจ ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากคำที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าคำนั้นเป็นคำที่ถูกต้อง เป็นคำจริง แล้วจะไปพึ่งคนอื่นหรือ ซึ่งคนอื่นไม่ได้ทำให้มีความเข้าใจเลย

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงตั้งแต่ต้นจึงจะได้สาระจากพระธรรม มีข้อความนี้ในพระไตรปิฏก ผู้ที่เป็นผู้ตรงเท่านั้น จึงจะได้สาระจากพระธรรม เพราะฉะนั้นแม้แต่ไม่ว่าเรื่องเล็ก เรื่องน้อย เรื่องใหญ่ก็ตาม ไม่ใช่ทำเหมือนคนตาบอดที่ทำตามๆ กันแต่ไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่าการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ แสดงเพื่ออะไร แสดงทำไม และใครแสดง ไม่ใช่เขาบอกให้แสดง เราก็แสดงไป แต่เราไม่ได้เข้าใจเลย ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอะไร แต่ก็กล่าวว่ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งโดยไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรง จะกล่าวคำนี้อย่างมั่นคง ก็ต่อเมื่อมีการเห็นพระคุณจริงๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    การสนทนาระหว่างผู้ที่ฟังธรรมก็หลากหลายมาก ก็มีท่านผู้หนึ่งท่านก็บอกว่า ตั้งแต่ท่านได้ศึกษาธรรมเข้าใจมีผู้กล่าวว่าท่านเป็นคนกระด้าง คงจะหมายความว่า ไม่ใช่เที่ยวไหว้ไปหมด ไม่ว่าอะไร แต่ต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผล จะให้ไปไหว้ต้นไม้ จะให้ไปไหว้อะไร ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องอยากจะไม่ใช่เป็นคนกระด้าง ก็ไปไหว้ให้หมด ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องเป็นผู้ตรง ไม่ได้หมายความว่า คนนั้นเป็นผู้กระด้าง ถ้าไม่ไหว้ต้นไม้ หรือไม่ว่าอะไรก็ได้ที่เขาไหว้กัน ก็จะไหว้ทำไม มีเหตุผลอะไร ก็ไหว้พระรัตนตรัยหรือไหว้สิ่งที่คุณสมควรแก่การไหว้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะว่าอะไร แต่ถ้าเป็นผู้ตรงผู้นั้นก็มีเหตุผลที่จะรู้ว่าไม่ได้กระด้าง แต่ว่ามีเหตุผล ที่ว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง จะไม่ยอมเป็นผู้ไม่กระด้างโดยไปยอมไหว้อะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ควรจะไหว้

    อ.ธิดารัตน์ มีข้อความที่แสดงว่า อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม บูชาผู้ที่ควรบูชา ก็จะเหมือนกับไม่ใช่ไหว้ทั่วไป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ใครที่ถูกว่ากระด้าง ก็ตอบได้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า พระพุทธเป็นที่พึ่ง พระธรรมเป็นที่พึ่ง พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง จะพึ่งอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่พึ่ง ให้ร่ำรวย ไม่ใช่พึ่งให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย แต่พึ่งให้เข้าใจถูกในสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจมาก่อน คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเราจะพยายาม ทำความเข้าใจตาม ตรงนี้ จะเริ่มต้น อย่างไร

    ท่านอาจารย์ พยายามเอง หรือว่า ฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง ฟังพระธรรมด้วย แล้วพยายามตามด้วย

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ซักถามสนทนา จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจของตนเอง ไม่ใช่พึ่งพาอาศัยเขาบอก แต่ไม่จริง และไม่ตรง ต้องเป็นคำจริง คำตรง ที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง และค่อยๆ เข้าใจถูกตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    .ธีรพันธ์ รูปธรรม และ นามธรรม หมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้ว เดี๋ยวนี้มีหรือไม่ ธรรมสิ่งที่มีจริงหลากหลายไหม ถึงจะหลากหลายอย่างไรก็ตาม ก็ต่างกันเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพที่มีจริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เช่น เสียง กลิ่น รส ทุกวันที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ปรากฏว่ามีไม่ได้ถ้าไม่มีธาตุที่เกิดขึ้นเห็น เช่น ขณะนี้กำลังมีอะไรๆ หลายอย่างในห้องนี้ เพราะมีเห็น ถ้าเห็นไม่เกิด ก็จะไม่มีการปรากฏของสิ่งที่มีเลย คนตาบอดไม่เห็น เพราะเหตุว่า ไม่สามารถจะรู้ว่ามีอะไรปรากฏ เพราะไม่มีธาตุที่เกิดขึ้นเห็นซึ่งเป็นธาตุรู้ หรือ ถ้าคนที่หูหนวก คนอื่นได้ยินเสียงหมดเลย แต่คนนั้นไม่ได้ยินเสียง ไม่รู้ว่าเสียงเป็นอย่างไร เสียงสูงหรือเสียงต่ำ หรือ กระแสเสียงเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะได้ยินได้ เพราะฉะนั้น จำแนกออกไม่ว่าโลกไหนทั้งสิ้น ก็จะมีสภาพธรรมะที่มีจริงต่างกันเป็นประเภทใหญ่ ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งเกิด ไม่ใช่ไม่เกิด แต่เกิดแล้วไม่รู้อะไร พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ เรียกว่า รูปธรรม แต่ต่อไปจะมีความละเอียด ที่ใช้คำนี้ในความหมายอื่นด้วย แต่พื้นฐานขั้นต้น ก็คือว่า ให้เข้าใจธรรม ไม่ต้องสนใจที่จะไปเรื่องชื่อจะต้องจำ แต่ให้เข้าใจว่าธรรมมีจริงใช่ไหม ที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นสภาพรู้ ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น เช่น ความคิด มี แต่คิดไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น แต่เป็นธาตุที่กำลังรู้เรื่อง รู้คำ ตามที่กำลังคิดในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น พิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ว่าสิ่งที่มีจริงใช้คำว่าธรรม แต่ธรรมหลากหลายมาก ไม่ว่าจะหลากหลายมากมาย สักเท่าไหร่ ก็ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ ๒ อย่าง คือ นามธรรมสภาพที่รู้ และรูปธรรมสภาพที่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น รูปธรรม จะเป็นสัตว์ จะเป็นนกได้ไหม ไม่ได้ แต่ว่าความจำของเรา เมื่อครู่นี้ ก็มีช้างตั้งหลายตัวอยู่ข้างนอก ความจริงไม่มีสักตัว แต่ว่ามีรูปช้าง รูปปั้นช้าง แค่นี้ก็คิดเลยว่าเป็นช้างอิริยาบถต่างๆ บางตัวก็นั่ง บางตัวก็เอกเขนก เอามือรอง เอาเท้ารองศรีษะ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งธาตุรู้ สามารถรู้ สามารถจำ สามารถเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ได้ แต่ในขณะที่รูปธรรมไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าในโลกไหน ใครก็เปลี่ยนแปลงสภาพนี้ไม่ได้ คนตาย ก่อนตายก็เห็น ก็ได้ยิน ก็คิดนึก จำได้ เรื่องราวต่างๆ ทุกอย่าง แต่เมื่อไม่มีธาตุรู้ที่เราใช้คำว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ก็ไม่เห็นอีกต่อไป ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึกต่อไป

    เพราะฉะนั้น จากการที่รู้ความต่างของคนตาย กับ คนเป็น ก็ทำให้สามารถที่จะเข้าใจความต่างกันของสิ่งที่มีจริง คือ อย่างหนึ่งมีแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย และอีกอย่างหนึ่ง ใครบังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เหมือนแข็งนี่ ใครจะไม่ให้เกิดแข็ง ใครจะไม่ให้เกิดเสียง ใครจะไม่ให้เกิดกลิ่น บังคับไม่ได้เลย ฉันใด การที่จะไม่ให้เกิดธาตุรู้ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า มีปัจจัยที่ธาตุรู้จะเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ที่ว่าเป็นคนก็มีทั้งจิตใจ และก็มีเจตสิก คือสภาพนามธรรมที่ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิต ทุกครั้งที่มีจิตต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะว่าเป็นคน หรือสิ่งที่มีชีวิตก็ต้องมีจิต เจตสิก และมีรูปด้วย นอกจากมีที่เกิดซึ่งยากที่จะไปเป็นอย่างนั้นได้ คือ มีแต่จิต แต่ไม่มีรูปธรรมเกิดร่วมด้วยเลย ต้องเป็นผลของความสงบของจิตที่เห็นโทษของรูป เพราะฉะนั้นเกิดมากี่ชาติ ก็วนเวียนอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เป็นคนโน้น คนนี้บ้าง ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นที่จะดับเหตุที่จะไม่ให้เกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้น วันนี้ก็เข้าใจคำว่าธรรม ค่อยเๆ ข้าใจความต่างกันหลากหลายมากของธรรม แต่จะหลากหลายอย่างไร ก็จำแนกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ประเภทหนึ่ง เป็นธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย อีกประเภทหนึ่ง เป็นธาตุรู้ หิวเป็นอะไร รูปธรรม หรือ นามธรรม โต๊ะหิวไหม แจกันหิวไหม เพราะฉะนั้น หิวเป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย เพราะฉะนั้นทุกข์ทางกาย ก็มีหลายอย่าง เกิดเมื่อไหร่ก็รู้เมื่อนั้น ถ้ายังไม่หิวก็ไม่รู้ว่าหิวมีจริงๆ แต่รูปไม่รู้สึกอะไรเลย รูปหิวไม่ได้ เพราะฉะนั้นความรู้สึกหิว ก็เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ค่อยๆ ฟังเรื่องของธรรมแต่ละหนึ่ง จนกระทั่งเข้าใจถูกต้องว่าไม่มีเรา แต่มีธรรม ซึ่งถ้าไม่มีธรรมเลย เราก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มีทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องที่ละเอียดค่อยๆ เข้าใจขึ้น ดีกว่าพยายามที่จะไปรู้แจ้งสภาพธรรม ดับกิเลสเป็นพระโสดาบัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความเข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ฟังแล้วเริ่มเข้าใจพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ เพราะใครก็คิดเองไม่ได้ แต่ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจ

    อ.ธีรพันธ์ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ แต่คำสอนของพระพุทธองค์หลายตอน กล่าวว่า ให้รู้แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงในธรรมมีกถา ถ้าเข้าใจว่าเมื่ออาจหาญในกุศลธรรมก็พ้นจากวิปฏิสาร ข้อความในวงเล็บคือความเดือดร้อนใจ เมื่อไม่มีความเดือดร้อนใจ ก็ร่าเริงในธรรมมีกถา เป็นอย่างนั้นหรือไม่ ขอท่านอาจารย์ ช่วยขยายความให้อาจหาญ ร่าเริง

    ท่านอาจารย์ ทีละคำได้ไหม

    อ.ธีรพันธ์ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ แค่นี้เหมือนกับว่ารู้จักสังขารแล้ว เพียงแค่ได้ยินเท่านั้นเอง ว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ แต่สังขาร คือ อะไร ต้องตั้งต้นจริงๆ สังขาร คือ อะไร เดี๋ยวนี้มีสังขารไหม ถ้าไม่รู้ก็อย่าเพิ่งไปไหน รู้เสียก่อน เข้าใจถูกจริงๆ เสียก่อน และก็สามารถที่จะเข้าใจต่อไปได้ แต่ถ้าตอนต้นยังไม่เข้าใจ ต่อไป ต่อไป ได้ยินคำอะไรอาจหาญ ร่าเริง ก็ไม่รู้ว่าสังขารคืออะไร เพราะฉะนั้นทวนคำถามอีกครั้ง

    อ.ธีรพันธ์ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ แต่คำสอนของพระพุทธองค์หลายตอน กล่าวว่า ให้รู้แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงในธรรมีกถา

    ท่านอาจารย์ ในธรรมมีกถา ฟังแค่ไหน จะได้ไปอาจหาญร่าเริง แค่นี้ไม่อาจหาญ เพราะยังไม่รู้ว่า คือ อะไร เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียด อาจหาญต้องอาจหาญ แม้ที่จะเข้าใจด้วยการฟังแล้วฟังอีก นั่นแหละอาจหาญจริงๆ ที่จะเข้าใจคำที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้อย่าเพิ่งไปไหน ขอให้เข้าใจสังขารคำเดียวเพิ่มขึ้น

    อ.อรรณพ สังขาร มีหลายความหมายหลายนัย ถ้าพูดถึงสังขารหมายถึงกว้างที่สุด ก็คือ สภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วก็ดับ นั่นคือ สิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้น อะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่งเกิด เกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ต้องเกิดตามปัจจัย อาศัยปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น คือ จิต เจตสิกรูป เป็นสังขารธรรม เป็นธรรมที่อาศัยปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น เกิดแล้วก็ดับไป เป็นสังขตธรรม นี่คือ ความหมายจริงๆ แต่ว่าคำว่าสังขาระ และยังมีความหมายมากมาย แล้วแต่ว่าท่านจะใช้ในที่ใด แต่ว่าถ้าพูดถึงตรงนี้ อรรถที่เป็นประโยชน์ก็คือสภาพธรรมที่มีขณะนี้ อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วก็ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะอาจหาญ ร่าเริงอย่างไร พูดแล้วต้องเข้าใจ จะอาจหาญ ร่าเริงอย่างไร อย่างนี้เรียกว่า สังขาร ขณะนี้มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และจะอาจหาญ ร่าเริงอย่างไร จะสู้กับสิ่งที่ปรากฏหรือ โทสะเกิดก็พยายามสู้ ละวางไม่โกรธอย่างนั้นหรือ นั่นไม่ใช่อาจหาญ ร่าเริง เพราะไม่รู้ จะอาจหาญไม่ได้ แต่จากความไม่รู้ที่จะรู้ขึ้น ต้องอาศัยความอาจหาญ ที่รู้ว่าสิ่งนี้มีจริง แม้ยาก และละเอียด แต่รู้ได้ มีคำแต่ละคำที่ทำให้เข้าใจ และค่อยๆ เห็นถูกตามความเป็นจริง ค่อยๆ สะสม อย่างอาจหาญที่จะรู้ความจริง ร่าเริงที่จะรู้ ว่าไม่มีอะไรดีเท่ากับความจริง การรู้ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ทำให้พ้นจากความไม่รู้ได้ แต่ต้องอาศัยกาลเวลา เพราะฉะนั้น ความอาจหาญไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย ไม่มีใครมองเห็นความอาจหาญ แต่เป็นความอาจหาญของธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลที่จะเพียร ที่จะฟัง ที่จะไตร่ตรอง ที่จะรู้ความจริงว่ายังไม่ได้เข้าใจมากมายเลย ธรรมทั้งวัน ทุกอย่างเป็นธรรมหมดไปแล้ว เมื่อครู่นี้นับไม่ถ้วนก็ไม่รู้เลยสักอย่างเดียว แต่กำลังฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงจนกระทั่ง เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่า จะถึงเวลาที่ความเข้าใจทั้งหมดเป็นปัจจัย ให้เกิดกิจญาณ เพราะเหตุว่า ถ้าศึกษาในพระไตรปิฎกใน อริยสัจ ๔ จะมี ๓ รอบคือ สัจจญาณ กิจญาณ กตญาณ ใช้คำภาษาบาลี แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า สัจจญาณ หมายความถึง ปัญญาที่มั่นคงว่าการที่จะรู้ความจริง ต้องรู้ในขณะที่สิ่งนี้กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ยังไม่รู้ก็อาจหาญที่วันหนึ่งจะรู้ได้ เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ว่าถ้าจะเป็นตัวเรา ไปอาจหาญไปทำ นั่นคือผิด เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมมีกับดักของอวิชา และโลภะมาก ถ้าพลาดหรือว่าไม่แยบคาย ไม่ละเอียดก็ตกหลุมถูกกับดัก โดยที่ว่าเข้าใจว่าสามารถจะเป็นตัวตนที่จะทำได้ ที่จะละวางได้ ที่จะไม่ให้กิเลสเกิดได้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าคำสอนที่ทำให้เข้าใจถูก ไม่ใช่คำสอนให้ไปทำ หรือว่าให้ไปละวางโดยไม่มีความรู้อะไรเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่อาจหาญเลย กลายเป็นคนที่ตามกิเลสไป แล้วแต่ว่ากิเลสจะพาไปทางไหน แต่ว่าถ้าอาจหาญก็คือเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ก็ไม่ได้ไปฝืน ที่จะไปพยายามเคี่ยวเข็ญกิเลสที่มีมากๆ ให้หมดไปภายในชาตินี้ หรือ ภายใน ๗ วัน ภายในเดือนหนึ่ง ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจในคำที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นไปในทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าฟังเผิน ผ่านไปก็จะไม่ได้เข้าใจ แม้แต่คำว่าอาจหาญ ร่าเริง

    อ.อรรณพ อันตรายของผู้เริ่มสนใจธรรม คือ อะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ว่าคำใดเป็นคำจริง คำใดเป็นคำที่ถูกต้อง คำที่ทำให้เกิดความติดข้อง ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คำที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูก เพราะปัญญาเป็นเรื่องละทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องติดข้อง แต่คำไหนก็ตามที่ทำให้มุ่งมั่น พยายามที่จะให้ได้ขวนขวายในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ คำนั้นผิด ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    อ.อรรณพ ถ้าไม่มีความใส่ใจในประโยชน์ในพระธรรมก็เสียโอกาสไป แต่เมื่อมีความสนใจในระดับเริ่มต้น แต่กับดักมีมาก เพราะฉะนั้น กว่าจะสนใจก็ยาก พอเริ่มสนใจขึ้นก็มีสิ่งที่จะทำให้เบนออกไป ผิดออกไป แล้วก็ดูเหมือนกับเป็นผู้ที่อาจหาญ กล้าที่จะไปปฏิบัติ กล้าที่จะไปอดอาหาร กล้าที่จะไปทำความลำบาก เพื่อจะได้รู้ทุกข์อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ กล้าที่จะทำโดยไม่รู้ ไม่เข้าใจ

    อ.อรรณพ ก็ลวงว่า เป็นคนกล้าลุยไปอาจจะไปอยู่ในที่ๆ ดูว่าเสี่ยงกับสัตว์ร้าย หรือภัยธรรมชาติอะไรต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนนั้นไม่รู้จักความหมาย และความจริงของคำว่าปัญญา

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นตัวจริงของอาจหาญ คือ สภาพธรรมอะไร

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นฝ่ายกุศล อาจหาญไปทำอกุศลไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    1 พ.ค. 2567