ปกิณณกธรรม ตอนที่ 765
ตอนที่ ๗๖๕
สนทนาธรรม ที่ โรงแรมเอเชี่ยน หาดใหญ่ จ.สงขลา
วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศลวิบากเกิดขึ้นเพราะอกุศลที่ได้ทำแล้ว เปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องรู้ชัดเจนว่า เมื่อใดเป็นอกุศล และเมื่อใดเป็นอกุศลวิบาก และเมื่อใดเป็นกุศล และเมื่อใดเป็นกุศลวิบาก ถ้าไม่เช่นนั้นเราก็สับสน ๒ คำนี่จิตต่างประเภท เหตุต้องเกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้ผลเกิดภายหลังไม่ใช่พร้อมกัน เพราะฉะนั้นเกิดมาเป็นคนนี้ด้วย ในโลกนี้ด้วย เป็นผลของอะไร เหตุคือกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นวิบากไม่ใช่เหตุ วิบากเป็นผล เพราะฉะนั้นที่เกิดเป็นคนนี้ ในชาตินี้ ในโลกนี้ เป็นเหตุหรือเป็นผล ขณะแรกที่เกิด
ผู้ฟัง เป็นผล
ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรม แล้วที่เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นกุศลวิบาก
ท่านอาจารย์ เป็นผลของกุศลกรรม เป็นกุศลวิบาก ๑ ขณะแล้ว เกิดมาแล้ว เลือกไม่ได้ใช่ไหม เกิดมาที่ไหน ลูกใคร พี่น้องกี่คน ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ต้องรู้ให้ชัดเจนว่า ขณะเกิดเป็นผลของกุศลกรรม แค่เกิดมาขณะเดียวพอไหม ไม่พอ เพราะฉะนั้นจะต้องดำรงชีวิตต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดกรรมที่ทำให้เกิดเป็นคนนี้ เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกที่เกิด ดับหรือไม่ ต้องดับ แต่กรรมก็ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เป็นผลที่จะต้องสืบต่อจากปฏิสนธิจิตคือจิตขณะแรกของชาตินี้ แต่เป็นผลของกรรมเดียวกัน ยังไม่เปลี่ยนเป็นคนอื่นเลย ยังจะต้องเป็นคนนี้ต่อไป จนกว่าจะถึงการสิ้นสุดของกรรม เพราะฉะนั้นจิตขณะแรก เป็นจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิต จิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน เพราะฉะนั้นต้องตายจากชาติก่อน เป็นใครก็ไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ แล้วมีชีวิตสุขทุกข์อย่างไร ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน แต่ต้องไม่เหมือนชาตินี้แน่ เพราะว่าแต่ละชาติจะไม่ซ้ำกันเลย
เพราะฉะนั้นเมื่อจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนดับ กรรมหนึ่งเราไม่รู้เลย มีกรรมมากมายในสังสารวัฎแสนโกฏิกัปป์ที่เกิดดับสืบต่อมา สามารถให้ผลทำให้จิตประเภทที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้นเป็นขณะแรก และก็ดับไป แต่กรรมก็ทำให้ผลของกรรมเกิดสืบต่อจากจิตขณะแรก เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกชื่อว่าปฏิสนธิจิต คือสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ต้องดับแน่ แต่กรรมก็ทำให้จิตประเภทนั้นซึ่งเป็นผลเกิดสืบต่อดำรงภพชาติ คือ ภวังคจิต หมายความว่าขณะนั้นไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และไม่คิดนึกด้วย นานเท่าไรก็ไม่รู้ จนกว่าจะเกิดกรรม และกิเลสต่างๆ ที่ได้สะสมมาแล้ว ยังให้เป็นบุคคลนี้ ก็มีการเกิดคิดหรือรู้ตัว ทางใจใครรู้บ้าง
เพราะฉะนั้นขณะนั้น ภวังคจิตจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ และมีการรู้ตัวมีการติดข้องในภพชาติ และภวังค์ก็เกิดดับสืบต่อ ตั้งแต่เกิดจนตาย จนกว่าขณะใดก็ตามที่มีการเห็น ขณะนั้นไม่ใช่ภวังค์ แต่เป็นผลของกรรมหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผลของกรรมเดียวกับที่ทำให้เกิดก็ได้ หรือเป็นผลของกรรมอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่ากรรมให้ผลขณะแรกคือเกิด และสืบต่อมาดำรงภพชาติ เพื่อที่จะเห็นเป็นผลของกรรม ได้ยินเป็นผลของกรรม ได้กลิ่นเป็นผลของกรรม ลิ้มรสเป็นผลของกรรม รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นผลของกรรม จิตอื่นนอกจากนี้ ก็คือว่ากุศล และอกุศลไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นจิตที่สะสมมาว่าจะโกรธเรียกว่าชอบหรืออะไรทั้งหมดที่สะสมมาแล้ว ก็สืบต่อมาเป็นอย่างนี้อีกในชาตินี้ เพราะฉะนั้นขณะเห็นเป็นผลของกรรม เห็นแล้วชอบ ชอบเป็นผลของกรรมหรือไม่
เพราะฉะนั้นไม่ลืมเลยเกิดแล้ว ดำรงภพชาติ เพื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสนั่นคือผลของกรรม แต่วันหนึ่งจะรักจะชัง จะทำอะไรทั้งหมดดีชั่ว ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นเหตุที่สะสมมาที่จะทำให้กระทำกรรมต่อไป ต้องแยกโดยละเอียด เพราะฉะนั้นคำถาม ถามว่าอย่างไร
ผู้ฟัง สมมติถ้าเราเกิดโทสะไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ท่านอาจารย์ โทสะเป็นเหตุหรือเป็นผล
ผู้ฟัง เป็นเหตุ
ท่านอาจารย์ เป็นอกุศล
ผู้ฟัง แต่สัปดาห์นี้ เราหวนคิดไปถึงเหตุนั้นอีก ซึ่งตัวเราห้ามตัวเราเองไม่ได้ เมื่อเราคิดทุกครั้ง จิตก็เหมือนกับว่า เกิดเป็นบาปทุกครั้งที่คิดเรื่องที่ไม่ดี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดขึ้นเป็นอกุศล ดับแล้วสะสมสืบต่ออยู่ในจิต ไม่ว่ากุศล และอกุศล และจำสิ่งที่ได้เกิดแล้ว สภาพจำมี เห็นก็จำ ได้ยินก็จำ คิดนึกก็จำ เพราะฉะนั้นแม้กระทำสิ่งนั้นไปแล้ว ดับไปแล้ว ก็ยังจำได้ว่าพูดอะไรทำอะไร แต่ขณะที่จำไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่ผล ถ้าเป็นผลคือเห็นเฉพาะเห็น แต่เห็นแล้วชอบไม่ชอบ ขณะชอบไม่ชอบไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นกุศล และอกุศลที่สะสมมา ที่จะเกิดต่อจากเห็น ต่อจากได้ยิน
ผู้ฟัง ที่สงสัยคือ เมื่อทำแล้วกลับมาคิดใหม่อีก ถึงแม้จะผ่านไปแล้ว
ท่านอาจารย์ ตอบเองได้แล้วใช่ไหม
ผู้ฟัง ก็เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเกิดแล้วจำได้ แล้วก็มีการโกรธที่ยังไม่ได้ดับเลย สะสมสืบต่ออยู่ในจิตพร้อมที่เมื่อคิดก็โกรธ
ผู้ฟัง แต่ถ้าเกิดว่า คิดแล้วไม่โกรธ แต่กลายเป็นว่าเศร้าหมองแทนว่า ไม่ควรทำอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เศร้าหมองนั้น จิตดีหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ดี ก็ต้องเป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ ประเภทไหน
ผู้ฟัง เป็นโทสะหรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ แต่ให้รู้ว่าขณะใดก็ตาม ที่จิตไม่เป็นสุข เป็นทุกข์ แม้แต่ความเศร้าหมอง ความน้อยใจ ความตกใจ ความกลัว อะไรทุกอย่างที่ขณะนั้นไม่สบายใจ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลประเภทโทสะ ไม่ใช่เป็นประเภทโลภะ ไม่ใช่เป็นประเภทโมหะ
ผู้ฟัง สมมติว่าเราต้องการเครื่องแก้วเจียระไน มาสำหรับวางไว้ที่โต๊ะหมู่บูชาของพระพุทธรูป จิตในขณะนั้นจะกลายเป็นความติดข้อง หรือว่าจะเป็นความนอบน้อม
ท่านอาจารย์ กลายไม่ได้ จิตที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นเป็นกุศลไม่ได้ เพราะเกิดแล้วเป็นอกุศลแล้ว ส่วนจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นเป็นกุศล ก็จะกลายไม่ได้ เพราะเกิดแล้วเป็นกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นกุศลจิตเป็นกุศลจิต อกุศลจิตเป็นอกุศลจิต ขณะใดก็ตามที่มีความต้องการ ขณะนั้นสบายหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่สบาย
ท่านอาจารย์ เป็นสุขหรือไม่ เพราะฉะนั้นขณะที่ต้องการ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ผู้ฟัง เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ ขณะที่ติดข้อง สบายหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่สบาย
ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรืออกุศล
ผู้ฟัง เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เกิดมาเมื่อยังมีกิเลส มีความติดข้องก็แสวงหา โดยไม่รู้ตัวเลย เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความต่างของกุศล และอกุศล ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่โดยสภาพของจิตขณะนั้น เห็นพระพุทธรูปทองคำ งามมาก ขณะที่กราบไหว้รู้สึกอย่างไร
ผู้ฟัง ถ้าทั่วไปก็สวย
ท่านอาจารย์ ติดข้องหรือไม่
ผู้ฟัง ติดข้อง
ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรืออกุศล
ผู้ฟัง อกุศล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดไม่มีความติดข้อง ขณะนั้นจึงเป็นกุศล
ผู้ฟัง แต่จิตที่เราอยากจะเอาของสวยงามไปเคารพท่าน ก็จะต้องค่อนข้างละเอียด
ท่านอาจารย์ ละเอียดมาก จิตเกิดดับเร็วมาก และปัญญาเท่านั้น จึงสามารถที่จะรู้ลักษณะนั้นจริงๆ เพราะเหตุว่าเกิดสลับกัน ทั้งกุศล และอกุศล เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นดับไปแล้วก็รู้ไม่ได้ แต่ให้ทราบว่ากุศลก็มี อกุศลก็มี แต่ไม่เกิดพร้อมกัน คนละขณะ
อ.อรรณพ การศึกษาธรรมไม่ใช่คิดเอง เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเราได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็จะคิดไปต่างๆ ตามความคุ้นเคย
ท่านอาจารย์ ไม่คิดเองนี่ ดีกว่าใช่ไหมไปเสียเวลาคิดแล้วก็ไม่ถูก แล้วจะคิดเองทำไม เพราะฉะนั้นแต่ละครั้งที่ฟัง ไม่ลืมว่าฟังแล้วเข้าใจอะไร ขอทบทวนกุศลจิต อกุศลจิตเป็นเหตุ มีแน่ๆ ใช่ไหม แล้วเมื่อเหตุมีแล้วดับแล้วก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยให้เกิดผล ซึ่งผลนั่นก็คือจิต แต่ว่าไม่ใช่กุศลจิต และอกุศลจิต แต่เป็นจิตที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้
ประโยชน์ของการฟังคือให้รู้ว่า นี่เป็นผลของกุศลหรืออกุศลที่ได้ทำแล้ว ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เหตุดีที่ได้กระทำไว้แล้วต่างหาก ไม่ใช่ใครจะมาดลบันดาลได้ เป็นปัจจัยให้เกิดจิตนี่แหละที่เกิดขึ้น เห็นสิ่งที่น่าพอใจ คือเหตุกับผลในตอนต้น เพราะเหตุว่าเกิดมาแล้วต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ต้องคิดนึก ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ว่าเห็น ไม่ใช่คิด แล้วก็อยากจะเห็นแต่สิ่งที่น่าพอใจทั้งนั้นเลย อยากได้ยินเสียงที่น่าพอใจ แต่วันหนี่งๆ ก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจด้วย
ด้วยเหตุนี้ควรที่จะไม่ลืมว่า เกิดมาเป็นผลของกรรม และผลของกรรมก็ไม่ใช่ให้ผล เพียงแค่ให้เกิดมาขณะเดียว แต่ยังติดตามไปให้เป็นคนนั้น ดำรงภพชาติไป เพื่อจะเห็นแล้วแต่ว่าเป็นผลของกรรมใด เพราะเหตุว่าไม่ใช่มีแต่กรรมที่ทำให้เกิด ที่จะให้ผลได้ แม้กรรมอื่นๆ ที่ได้กระทำไว้แล้วก็ยังสามารถที่จะให้ผลหลังจากเกิดแล้วได้ ด้วยเหตุนี้เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม น่าจะสบายตลอดชีวิตใช่ไหม แต่ไม่เป็นอย่างนั้นเลย เพราะว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตให้ผลเมื่อไหร่ ถ้าเป็นอกุศลกรรม อย่างไรๆ ก็ต้องทำให้เกิดจิตซึ่งเป็นผล เช่นเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสที่ไม่ดี กระทบสัมผัสสิ่งที่เป็นทุกข์ เป็นอย่างนี้หรือไม่ ตั้งแต่เกิดก็แค่นี้เอง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบบ้าง แล้วก็คิดนึกตามการสะสม เคยคิดด้วยความติดข้อง พอเห็นก็ติดข้องต่อไป สะสมโทสะมาที่จะไม่ชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจจะห้ามไ่ม่ให้เกิดความไม่ชอบก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสะสมความไม่พอใจมาแล้ว
ด้วยเหตุนี้ต้องแยกอย่างละเอียด ว่าเกิดมาแล้วเป็นผลของกรรมส่วนหนึ่ง คือเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่เหลือจากนั้นเป็นสิ่งที่ได้สะสมมา แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลประการใดก็ตาม ต้องมั่นคงอย่างนี้ก่อน เพื่อที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้เลย แม้แต่คิด เริ่มไตร่ตรองแล้วว่า คิดเป็นเหตุหรือเป็นผล เป็นประเภทกุศล หรือเป็นประเภทวิบาก เป็นจิตอะไรที่คิด เห็นไหมว่าไม่อย่างงั้นเราฟังไปก็หมดไป ฟังไปก็หมดไป ฟังไปก็ลืมไป แต่ฟังไปแล้วไม่ลืม ยังสามารถที่จะคิดไตร่ตรอง เพราะวันนี้ก็มีเห็น แต่เห็นไม่ใช่คิด ทุกคนเห็นแต่คิดต่างกัน
เพราะฉะนั้นความคิดที่ต่างกันมาจากไหน มาจากการสะสมของแต่ละคน แต่ว่าเห็นเป็นผลของกรรม ซึ่งแต่ละคนก็ทำกรรมดีกรรมชั่วมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่จะเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของกรรมของกรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นได้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่คิดหลากหลายต่างกัน
เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรม ก็จะรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นจิตโดยละเอียดกว่าที่เราคิด เพราะเหตุว่าหมายความถึงธาตุที่เกิดขึ้นรู้ ขณะนี้ดอกไม้ไม่เห็นอะไรเลย ไม่สามารถที่จะรู้ เสียงก็กระทบไม่ได้ คิดนึกก็ไม่ได้แต่ธาตุรู้ที่เกิดมาเป็นแต่ละคน ไม่ใช่มีแต่รูปร่างกาย แต่ยังมีธาตุรู้ ซึ่งขณะใดก็ตามที่เห็นขณะนั้นหมายความว่าเป็นธาตุรู้ ได้ยินคำนี้ไม่คุ้นเลย คุ้นแต่คำว่าเห็นเพราะกำลังเห็น แต่เป็นเราเห็น ถูกหรือไม่ที่ไปยึดถือเห็นว่าเป็นเรา ผิดตั้งแต่ต้น คือแม้เห็นก็ไม่รู้ใช่ไหม ก็เลยเป็นเราเห็น แต่ความจริงเห็นเกิดขึ้น ต้องมีเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีตารูปพิเศษที่สามารถกระทบกับ สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น เป็นปัจจัยให้กรรมที่ได้กระทำมาแล้วเกิดขึ้นแล้วก็เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ
นี่คือแม้แต่หนึ่งขณะจิต ซึ่งเป็นขณะที่เห็น ก็ไม่รู้ความจริง แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว เริ่มเห็นถูก แล้วก็ควรอย่างยิ่งหรือไม่ที่เกิดมาแล้วก็มีเห็นตั้งแต่เกิดจนตาย มีได้ยินตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วไม่รู้ความจริง กับการที่เริ่มที่จะเข้าใจถูกต้อง และรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจธรรมถูกเมื่อใด เป็นผู้ที่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ด้วยเหตุนี้จะกล่าวว่า รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบไหว้ทุกวัน แต่ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมไม่เข้าใจ แล้วจะรู้จักความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร และจะชื่อว่าเคารพในพระศาสนา คือศาสนาคือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ฟังไม่เข้าใจ จะชื่อว่าเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ละเอียด และก็เป็นสิ่งที่ตรง และถ้ามีการที่เข้าใจจริงๆ ว่าเมื่อนับถือใคร ก็ต้องเข้าใจบุคคลนั้น รู้ว่าบุคคลนั้นสอนอะไร สมควรแก่การที่จะเคารพสูงสุดอย่างไร
ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมตั้งแต่เริ่มต้นก็จะได้ยินคำใหม่ๆ ซึ่งหมายความถึง สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เพียงแต่ว่าเป็นคนละภาษา เราบอกว่าเห็น เฉพาะคนไทย คนอื่นได้ยินคำนี้รู้ไหมว่าหมายความว่าอะไร ก็ไม่รู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระองค์ตรัสคำซึ่งชาวเมืองนั้นใช้ เพราะฉะนั้นชาวเมืองนั้นไม่ใช่คนไทยแน่ๆ แล้วก็ไม่รู้จักคำว่าเห็น แต่เขาเข้าใจคำว่าจักขุวิญญาณ ซึ่งเขาจะต้องออกเสียงจักขุวิญญาณะ หมายความถึงธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยตาขณะนี้ กำลังเห็นคือธาตุรู้ที่เกิดเพราะมีตา อาศัยตาจึงเกิดขึ้นเห็น ภาษาไทยธรรมดาก็เห็น เดี๋ยวนี้ก็เป็นธาตุรู้ไม่ใช่เรา
เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา นี่คือคำสอนที่ถูกต้องในสิ่งที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และก็หลงเข้าใจว่าเป็นเรามานานแสนนาน จนกว่าจะเริ่มรู้ว่า แม้แต่เห็นก็ไม่ใช่เรา เป็นสิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลากหลาย และก็การเห็นก็เลือกไม่ได้ว่าจะเห็นอะไร ต้องเป็นไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว ที่จะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม เห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นผลของอกุศลกรรม
เพราะฉะนั้นถ้าจำง่ายๆ ตั้งแต่ต้นให้มั่นคงว่า เกิดเป็นผลของกรรม ตายะเป็นผลของกรรมหรือไม่ ใครทำให้ตายได้ไหม ถ้ากรรมไม่สิ้นสุด ตายไม่ได้แน่นอน ด้วยเหตุนี้เกิดก็เป็นผลของกรรม จะตายเมื่อไหร่ก็เพราะสิ้นสุดกรรม ที่ทำให้เป็นบุคคลนี้ แต่ระหว่างที่เกิดหรือยังไม่ตาย มีเห็นเป็นผลของกรรม ได้ยินเป็นผลของกรรม ได้กลิ่นเป็นผลของกรรม ลิ้มรสเป็นผลของกรรม รู้สิ่งที่กระทบเป็นผลของกรรม ๕ ทาง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นอกจากนั้นไม่ใช่ผลของกรรม เริ่มเข้าใจ เมื่อไม่ใช่ผลของกรรม ก็เป็นกุศล อกุศลโดยย่อ แต่ก็ยังมีจิตอื่นอีก ซึ่งไม่ใช่ผลของกรรม แต่ก็มีอยู่
การศึกษาธรรมต้องศึกษาไปทีละน้อย แต่ว่าเริ่มเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้น แล้วจะไปปฏิบัติอะไร แล้วจะไปรู้ทันอะไร แล้วจะไปรู้ตัวอะไร เห็นไหมว่าไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดเองบ้าง ฟังคำคนอื่นบ้าง ต่อเมื่อใดได้ฟังคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แล้วเข้าใจขึ้น เพราะเป็นการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเข้าใจว่า ขณะนั้นฟังธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่ฟังคำของคนอื่น
เพราะฉะนั้นจะยังคิดเองต่อไปหรือไม่ กำลังฟังธรรม ถ้าคิดเองต่อไปก็ไม่มีทางจะเข้าใจเพราะเอาความคิดของเรามาแทรก แต่ถ้าไม่คิดเอง รู้ว่าคิดเองไม่ได้ แม้แต่ขณะที่คิดขณะนี้มีกุศลจิตคิด หรืออกุศลจิตคิด เพราะจิตเห็นไม่คิด จิตได้ยินไม่คิด จิตได้กลิ่นไม่คิด จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น จิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยิน เป็นจิตเป็นธาตุรู้ ถ้าใช้คำในภาษาบาลี ใช้คำว่า ธา-ตุ หมายความธาตุที่สามารถรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ซึ่งคนไทยก็ได้คำภาษาบาลีมาคำหนึ่งคือจิต ซึ่งภาษาบาลีออกเสียงว่า"จิตต" เป็นธาตุรู้
เพราะฉะนั้นจิตเดี๋ยวนี้ ก็คือสภาพที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายคือธาตุรู้คือจิตซึ่งเกิด แต่ไม่เที่ยง เกิดดับสืบต่ออย่างละเอียดมาก และเป็นจิตแต่ละประเภทด้วย ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้เลย ตั้งแต่เกิดมาจนถึงเมื่อเช้านี้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะรู้อย่างนี้หรือไม่ ก็เป็นแต่เราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก เราสุขเราทุกข์ จนกว่าได้ฟังพระธรรมเมื่อใด ก็รู้ว่าธรรมคืออะไร ฟังธรรมคือคำของใครฟังแล้วเข้าใจอะไร ถ้าเป็นคำคนอื่นจะไม่ได้เข้าใจอย่างนี้เลย เพราะว่าไปรู้ทัน ไปปฏิบัติก็ไม่รู้อะไร แล้วปฏิบัติอะไรก็ไม่รู้ รู้ทันอะไรก็ไม่รู้ รู้ตัวอะไรก็ไม่รู้ รวมความว่าไม่รู้ทั้งหมด แล้วจะไม่รู้ต่อไปหรือไม่
อ. อรรณพ การหาหนทางผิด แม้ว่าจะฟังธรรมแล้ว มีความเข้าใจแล้วก็ยังมีการหาทางผิดๆ เล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่อยๆ เช่นท่านที่ฟังธรรมแล้วคิดว่าก็ต้องฝึก หรือว่าอยากจะให้เห็นว่าขณะนี้เป็นธรรม ทางตา ทางหู ก็เหมือนกับ ใส่ใจในสภาพธรรม แม้แต่ลึกๆ แล้วก็ยังเป็นเราที่อยากจะใส่ใจในสภาพธรรม นี่จะเป็นการหาทางผิดเล็กๆ น้อยๆ
ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนให้ใครทำหรือไม่ หรือว่าให้เข้าใจทุกคำ ไม่ต่างกันเลยโดยสิ้นเชิง สอนให้ทำไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แต่ว่าทุกคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง ผู้ฟังเริ่มเข้าใจเป็นปัญญาของตัวเอง นั่นคือคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเห็นอะไร แล้วคิด เห็นเป็นผลของกรรม แต่คิดไม่ใช่ผลของกรรมเพราะคิดตามการสะสม คิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้ คิดถูกก็ได้ คิดโกรธก็ได้ คิดอภัยก็ได้แล้วแต่เหตุ
เพราะฉะนั้นฟังวันนี้ไม่ลืมว่าจะรู้จักผลของกรรม ก็คือเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เท่านั้น เมื่อได้ยินดับคิดต่อทันทีไม่ใช่ผลของกรรม เมื่อเห็นดับไป จำได้ว่าสิ่งที่เห็นรูปร่างสัณฐานเป็นอะไร ไม่ใช่ผลของกรรม ชอบไม่ชอบในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทาง ตา หู จมูกลิ้น กายไม่ใช่ผลของกรรม เฉพาะชั่วขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้นอย่างคร่าวที่สุด ต้นที่สุดก็คือผลของกรรม แต่ว่าแล้วก็ลืม พอเห็นก็ลืมแล้วใช่ไหมว่าคือผลของกรรม คนตาบอดไม่เห็นก็เป็นผลของกรรม ที่ทำให้ไม่เห็น อยากเห็นก็ไม่เห็น คนหูหนวกก็เป็นผลของกรรมที่ทำให้ไม่ได้ยิน
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 721
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 722
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 723
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 724
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 725
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 726
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 727
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 728
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 729
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 730
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 731
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 732
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 733
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 734
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 735
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 736
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 737
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 738
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 739
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 740
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 741
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 742
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 743
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 744
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 745
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 746
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 747
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 748
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 749
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 750
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 751
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 752
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 753
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 754
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 755
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 756
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 757
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 758
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 759
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 760
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 761
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 762
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 763
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 764
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 765
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 766
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 767
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 768
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 769
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 770
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 771
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 772
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 773
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 774
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 775
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 776
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 777
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 778
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 779
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 780