ปกิณณกธรรม ตอนที่ 769


    ตอนที่ ๗๖๙

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมเอเชี่ยน หาดใหญ่ จ.สงขลา

    วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ วันนี้มีอะไรที่ไม่ชอบบ้างไหม ที่ไม่พอใจไม่อยากได้ ขณะที่ไม่ชอบก็เป็นกิเลสอีกประเภทหนึ่ง ไม่พ้นไปได้เลยเพราะไม่รู้ ด้วยเหตุนี้ ฟังเพลินเหมือนดีใช่ไหม ไม่อยากมีกิเลส อยากดับกิเลส แต่ชอบนั่นชอบนี่ โกรธนั่นโกรธนี่ แล้วจะดับกิเลสได้อย่างไร รู้ว่าไม่ดีแต่เป็นเราที่ต้องการ ไม่มีทางที่สิ่งนั้นจะหมดสิ้นไปได้ด้วยความต้องการ ด้วยความไม่รู้ ด้วยเหตุนี้แทนที่จะคิดถึงนิพพาน คิดที่จะขัดเกลากิเลส ยังไม่ดับ ดับไม่ได้เยอะมาก เยอะมากจริงๆ แค่ขัดเกลาให้น้อยลงบ้าง ตามโอกาสตามกาละโดยความไม่ใช่เรา แต่เพราะเห็นโทษ รู้ว่าไม่อยากมีกิเลสแต่ก็มี เพราะฉะนั้นกิเลสจะหมดไปด้วยความอยากไม่ได้แน่นอน ต้องเป็นปัญญาที่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีก่อนตามความเป็นจริง และเห็นโทษ และรู้สภาพธรรมะที่เกิดดับเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็ค่อยๆ ละคลายความติดข้อง เพราะขณะที่ติดข้องคิดว่าสิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นไม่ได้ดับไป มีแล้วแต่ไม่รู้ว่าเกิดดับ

    นี่คือแสดงเห็นว่า การตรัสรู้ของสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างกับความไม่รู้ของสัตว์โลกแค่ไหน แต่อาศัยพระปัญญา พระมหากรุณา ที่ทรงแสดงความจริงก็ทำให้สัตว์โลกคือผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ไตร่ตรอง ได้เข้าใจความจริง ความเข้าใจความจริงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ภาษาบาลีใช้คำว่าปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ มีมากเหลือเกินปรากฏแล้วดับไป ใหม่ทุกครั้งไม่ใช่สภาพเก่าเลย และก็ต้องรู้ไปจนกว่าจะมีความเห็นถูกจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับได้ เพราะเหตุว่าความรู้มีหลายระดับ ความรู้ที่เกิดจากการฟัง อย่าลืมว่าไม่ใช่ฟังเฉยๆ ไม่ใช่ฟังแล้วไม่เข้าใจ หรือไม่ใช่เข้าใจเพียงชื่อ แต่ต้องเป็นความรอบรู้ในแต่ละคำ เช่นธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง รู้หรือยังว่าเดี๋ยวนี้มีธรรมะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อไม่รู้แต่ก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าการที่จะรู้จักธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ยากไหม กำลังโกรธ ฟังมาว่าสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม แล้วโกรธขณะนั้นเป็นธรรมหรือไม่ ลืมไปแล้ว กำลังชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่มีจริงคือชอบ สิ่งที่ปรากฏก็มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรม แต่ขณะที่กำลังพอใจเป็นธรรมหรือไม่

    เพราะฉะนั้นกว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนรู้ทั่ว ในสิ่งที่มี ที่ปรากฏให้รู้ได้ นานไหม เพราะฉะนั้นมีคำว่าจิรกาลภาวนา จิระ แปลว่านานยาวนาน กาละ ก็เป็นเวลา วันสองวันไม่มีทางที่จะรู้ความจริงซึ่งไม่รู้มานานแสนนาน และความจริงเกิดดับนับไม่ถ้วน และกว่าจะรู้จนทั่วจนกระทั่งค่อยๆ คลายความไม่รู้จะต้องนานสักเท่าไร เพราะฉะนั้นเวลาที่อ่านหรือฟังข้อความในพระไตรปิฏก ไม่สงสัยเลย สาวก ท่านพระสารีบุตรบำเพ็ญบารมีจนกระทั่งได้เป็นพระโสดาบันเมื่อได้ฟังท่านพระอัสสชิกล่าวความจริงให้ท่านได้ทราบเพียงไม่กี่คำ แต่ปัญญาที่ท่านสะสมมา หนึ่งอสงไขยแสนกัป แต่เราไม่ต้องเป็นท่านพระสารีบุตร สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมีอัครสาวกผู้ยิ่งด้วยปัญญาเพียงหนึ่ง และผู้ยิ่งด้วยอิทธิปาฏิหารย์ก็เพียงหนึ่ง เพราะฉะนั้นมหาสาวกเอตทัคคะรู้มากกว่าสาวกธรรมดามาก และก็สาวกธรรมดาที่ไม่ได้กล่าวถึงก็มาก จะเป็นใครก็ได้ แต่ว่าถ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งยาก เพราะว่ามีผู้ที่บำเพ็ญบารมีมาแล้ว และกำลังบำเพ็ญอยู่ต่อไป เพราะฉะนั้นกว่าจะถึงอันดับของผู้ที่เริ่มจะบำเพ็ญก็นาน ผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่จริงๆ ฟังวันนี้รู้ว่าธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างนี้ และมีคนไม่รู้ว่ามากมาย จะมีความกรุณาให้เขาได้รู้อย่างนี้ โดยการที่กว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญพระบารมียิ่งกว่าใคร พร้อมไหม หรือว่าแค่สาวกก็ยังดี เพราะว่าแค่สาวก แค่เพียงฟังให้เข้าใจนี้ก็ยาก เพราะต้องเข้าใจแต่ละคำ อย่างคำว่านิมิต พอเข้าใจแล้วใครพูดรู้เลย คนนั้นรู้จักคำนี้หรือเปล่า เข้าใจคำนี้หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ฟังแล้วก็ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง ด้วยเหตุนี้ทุกคำจึงต้องละเอียด คำว่าธรรมเข้าใจแน่นอนแล้ว นิมิตเข้าใจแล้ว นิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แล้วมีจิตขณะนี้ยังไม่รู้ แล้วจะรู้นิพพานได้อย่างไร แต่มีจริง ถ้าไม่มี ไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดถึงเลยคำนี้ เพียงแค่สิ่งที่มี ฟังให้เข้าใจ รอบรู้ คือไม่สงสัยในคำว่าธรรม ไม่สงสัยในคำว่านิมิตเป็นต้น และคำอื่นๆ ที่ได้ยินทั้งหมดต้องเข้าใจขึ้นเป็นความรอบรู้ขั้นฟัง ชื่อว่าปริยัติ หมายความถึงศึกษาพระพุทธพจน์เท่านั้นไม่ใช่คำของคนอื่น และมีความเข้าใจขึ้นจนรอบรู้ ถ้าไม่มีความมั่นคงว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรมไม่มีทางที่ปัญญาระดับขั้นต่อไปที่เริ่มจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้งการเกิดดับจริงๆ สิ่งใดที่มีจริงไม่ใช่สิ่งที่รู้ไม่ได้ แต่ไม่ใช่เรา ต้องเป็นปัญญาความเห็นถูกความเข้าใจถูกซึ่งค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งไม่มีความสงสัยในคำที่ได้ยินเป็นปริยัติ และมีความมั่นคงว่าไม่ใช่เรา เป็นสัจญาณ ถ้าเดี๋ยวนี้เป็นธรรมรู้ได้ จะไปไหนไหม จะไปนั่งนิ่งๆ ทำสมาธิหรืออะไรไหม ไม่ไปเลย เพราะว่าเดี๋ยวนี้ก็มีธรรม แล้วถ้ายังไม่เข้าใจจะเข้าใจได้อย่างไร ไปนั่งเฉยๆ ไม่มีทางเข้าใจ ไปใช่คำว่าเดินจงกรม แต่ไม่รู้ว่าจงกรมคืออะไร และอะไรเดินก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่คำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่ง เพราะไม่เข้าใจ แต่คำใดก็ตาม กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงทำให้รู้ว่าคำนั้นจริงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นคือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อไหร่เมื่อนั้นมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จากขั้นฟังก่อนเป็นปริยัติ มั่นคงเมื่อไหร่เป็นสัจจญาณซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดกิจจญาณคือสติสัมปชัญญะ ที่ใช้คำว่าสติปัฎฐานที่ถึงเฉพาะด้วยความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะได้ฟังมาแล้ว มิฉะนั้นถึงแม้ว่ากำลังกระทบแข็งก็ไม่เข้าใจอะไร กำลังเห็นก็ไม่เข้าใจอะไร แต่เพราะได้เคยฟังมาแล้วเวลาที่กำลังมีการเริ่มเข้าใจลักษณะเฉพาะสิ่งหนึ่งที่ปรากฏจริงๆ จากการได้ฟังมาแล้ว ก็เริ่มถึงเฉพาะสิ่งนั้นที่กำลังปรากฏเพราะเกิดขึ้นจนกว่าจะเข้าใจขึ้นๆ นี่คือกิจจญาณของปัญญาจนกว่าจะถึงสัจจญาณปัญญาที่สมบูรณ์ที่สามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมะ จากปริยัติ ก็คือปฏิบัติ และปฏิเวธ

    เพราะฉะนั้นปฏิบัติไม่ใช่ทำในภาษาไทยคือนั่ง เดิน แต่ปฏิปัตติในภาษาบาลี คนไทยเรียกว่าปฏิบัติ หมายความถึงปัญญาที่ถึงพร้อมด้วยสติที่เริ่มรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ตรงตามที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นต้องมีปัญญาขั้นฟังก่อนเป็นปัจจัยให้เกิดปฎิปัตติ เพราะฉะนั้นปริยัติเป็นเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดปฏิปัตติ สัจจญาณเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดกิจจญาณ เพราะฉะนั้นเมื่อมีปริยัติ ปฏิบัติ และสามารถรู้ความจริงเมื่อไหร่ขณะนั้นเป็นปฏิเวธ ซึ่งจากสัจจานซึ่งมั่นคงก็ทำให้เกิดกิจจญาณ ปัญญาทำกิจของปัญญา จนกระทั่งถึงกตตญาณ

    เพราะฉะนั้นก็มีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ การรู้แจ้งสภาพธรรมแทงตลอดที่ใช้คำว่าปฏิเวธต้องเป็นปกติ เพราะอะไร เพราะเดี๋ยวนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นขณะนี้ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญามาแล้วในครั้งพุทธกาลกำลังฟังพระธรรมเหมือนเดี๋ยวนี้เลยปกติ แต่จากการที่ได้อบรมความเข้าใจมาพร้อมทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ ปฏิเวธคือแทงตลอดความจริงของสิ่งที่มีจริงจากการที่ได้ฟัง ขณะนี้มีใครรู้จิตบ้าง ฟังเรื่องจิตแล้วใช่ไหม จิตมีจริงๆ เป็นสภาพรู้ เห็นนี่แหละเป็นจิตที่เกิดขึ้นเห็น ได้ยินนี่แหละเป็นจิตที่เกิดขึ้นได้ยิน คิดนี่แหละเป็นจิตที่เกิดขึ้นคิด ในขณะที่ฟังมีเห็นด้วย มีได้ยินด้วย มีคิดด้วย แทงตลอดสิ่งซึ่งได้ฟังมาแล้วตามปกติ ก็สามารถที่จะเข้าถึงสภาพที่เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิด เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องเป็นปกติ ทุกคำที่ได้ฟัง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ภาษาบาลีก็เป็น ปริยัติ ปฎิปัตติ ปฎิเวธ ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรมเข้าใจได้ประจักษ์แจ้งได้เหมือนท่านพระสารีบุตรฟังท่านพระอัสสชิ แทงตลอดสภาพที่เป็นธรรมในขณะนั้นเพราะสัจจญาณเป็นปัจจัยให้มีกิจจญาณเป็นปัจจัยให้กตตญาณได้รู้แล้วในสิ่งที่ได้ฟัง

    อ.ธิดารัตน์ สัจจญาณเป็นความเข้าใจที่มั่นคงในสัจจะในความจริงจนเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญญารู้ลักษณะของธรรมซึ่งเป็นกิจญาน แล้วจากกิจญาณมาถึงกตตญาณ

    ท่านอาจารย์ ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับตรงตามที่ได้ฟัง

    อ.ธิดารัตน์ ต้องเป็นวิปัสสนาญาณขึ้นไปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนา คืออะไร ก็ต้องมาทีละคำทีละคำ เพราะฉะนั้นตอนนี้ เรายังไม่ใช้คำมาก แต่ให้รู้ว่าปัญญามีหลายขั้น ปัญญาขั้นฟังอย่างนี้ยังไม่ได้รู้การเกิดดับอะไรเลย กำลังฟังนี่เป็นเราฟัง จิตกำลังเกิดพร้อมเจตสิก ขณะได้ยิน ขณะคิดนึกทั้งหมดจิต และเจตสิกทำหน้าที่ ก็ไม่รู้ก็เป็นเรา เพราะฉะนั้นกว่าจะเป็นปฏิปัตติ และเป็นปฏิเวธ หรือเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ กตตญาณ ถ้าฟังข้อความในพระไตรปิฏกจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมอีก ไม่ใช่แค่นี้ พอแล้ว ชัดแล้ว รู้แล้ว ไม่ใช่เลย

    สัจจญาณรู้อะไร เป็นไปในอริยสัจธรรม ๔ เห็นไหม สัจจญาณเป็นไปในอริยสัจธรรม ๔ เราได้ยินใช่ไหม อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค รู้หรือเปล่า อะไรไม่รู้ เพราะฉะนั้น มีอะไรเป็นที่พึ่ง พระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้นข้อความในไตรปิฏก สัจจญาณเป็นไปในอริยสัจ ๔ กิจจญาณก็เป็นไปในอริยสัจ๔ และกตตญาณก็เป็นไปในอริยสัจ ๔ รวม ๓ รอบเป็น ๑๒ อาการ ที่ได้ยินมา แล้วรู้ไหมว่าหมายความว่าอะไร ถ้าฟังต่อไปก็มีความเข้าใจ สัจจญาณรู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ ได้ยินคำว่าทุกข์ เคยมีทุกข์หรือไม่ คนนั้นก็ทุกข์ คนนี้ก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ทุกข์ แต่ทุกข์คืออะไร สิ่งที่มีจริงแน่นอน เมื่อเกิดขึ้นแล้วดับไป ทุกอย่างที่เกิดดับนี้ ทุกขะ หมายความว่าไม่น่ายินดี ใครยังหวังยังติดข้องในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วดับไปบ้าง แล้วไม่กลับมาอีกเลย ฉลาดไหม ไม่มีเลย ยังจำไว้ ยังติดข้อง คิดดูก็แล้วกันว่าความไม่รู้มหาศาลแค่ไหน หลงอยู่ในโลกของสิ่งซึ่งไม่มีเลย ชาติก่อนแน่นอนไม่มีเหลือ ชาตินี้ก็เหมือนอย่างนั้นแหละ แต่ยังไม่ถึงชาติหน้า ก็ติดทุกวันเลย พอจากโลกนี้ไปแล้วไม่เห็นติดสิ่งที่เคยมีมาแล้วเลย แต่บ้านใหม่ เรื่องใหม่ ที่ใหม่ ทุกอย่างใหม่ ก็เป็นที่ตั้งของความติดข้องใหม่เพราะความติดข้องอยู่ในใจ ไม่สามารถที่จะออกไปได้เลย นอกจากปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ ละคลายจนกว่าประจักษ์แจ้งอริยสัจเมื่อใด เมื่อนั้นจึงจะดับกิเลสที่สะสมอยู่ในจิตแน่นหนามาก ถ้าเป็นสิ่งที่ติดด้วยกาว ยังหาทางแกะออก แต่นี่อยู่ในใจ เอาออกอย่างไรดี ไม่มีทางเลย นอกจากปัญญา ด้วยเหตุนี้การฟังไม่เผินสามารถที่จะซักถาม สามารถที่จะสนทนา สามารถที่จะเข้าใจยิ่งขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ละเอียดคือเพื่อความเข้าใจจริงๆ ยิ่งขึ้น ไม่คิดว่าเข้าใจแล้ว

    อ.ธิดารัตน์ การที่จะเข้าใจทุกขสัจ หรือทุกขอริยสัจจ หรือสภาพธรรมะที่เกิดดับขั้นการฟัง หรือขั้นสัจจญาณ ท่านอาจารย์จะกรุณายกตัวอย่างเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอะไรเกิดเลยจะเป็นทุกข์ไหม ไม่มีอะไรดับ แต่เมื่อเกิดแล้วดับ เกิดมาทำไม ถ้าเกิดมาปรากฏว่ามีนิดเดียวแล้วดับ และไม่กลับมาอีกเลย เกิดมาทำไม มีทำไม สาระไม่มี ประโยชน์ไม่มี นั้นคือความหมายของทุกข์

    อ.ธิดารัตน์ ก็จะเป็นปัญญาที่ทำกิจซึ่งเป็นกิจญาณในทุกข์

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคือรู้ ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรรู้ เวลานี้เห็นเกิดใช่ไหม ดับใช่ไหม สภาพที่เกิดดับไม่ควรที่จะยินดีติดข้องใช่ไหม เพราะฉะนั้นรู้อะไร รู้ทุกข์ รู้สิ่งที่กำลังมี เพื่อที่จะประจักษ์ว่า ที่เราคิดว่าเที่ยง เห็นตั้งแต่เช้ามาไม่เห็นดับ แต่ความจริงก็คือว่าเห็นเกิดแล้วดับ ถ้าไม่ประจักษ์อย่างนี้ ก็ละความติดข้องในเห็นไม่ได้ เมื่อเกิดมาแล้วก่อนจะจากโลกนี้ไปยังไม่รู้ว่าอะไรจริงเพื่อที่จะได้ไม่ติดข้อง แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจ ไม่เห็นประโยชน์ ก็คิดว่าเสียเวลาพูดเรื่องสิ่งที่มี ใครๆ ก็มีเหมือนกัน แต่ไม่เหมือน เพราะเหตุว่าไม่รู้กับรู้ต้องต่างกันมาก

    ผู้ฟัง กรณีที่มีผู้ชายคนหนึ่งจับสุนัขไปแขวนคอ สุนัขตัวนี้เขาได้สร้างอกุศลไว้แล้ว และก็เกิดมาในชาตินั้น มารับวิบากของอกุศลซึ่งได้กระทำมาไว้แล้ว ในเมื่อสุนัขตัวนั้นเขาต้องมาชดใช้ วิบากของอกุศลที่ได้ทำแล้ว ทำไมคนที่ไปแขวนคอสุนัข ยังจะต้องได้รับผลกรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ ๒ จิตแยกกัน ไม่ได้สืบต่อกัน ใช่ไหม จิตเกิดดับสืบต่อจนชาตินี้เป็นสุนัข อีกจิตหนึ่งก็เกิดดับสืบต่อจนเป็นผู้ชายคนนั้นที่จับสุนัขไปแขวนคอ ต่างจิตต่างใจ สุนัขก็มีกรรมของตัวเองที่ได้ทำแล้ว แล้วผู้ชายคนนี้ก็กำลังกระทำกรรม ซึ่งจะไปเอากรรมของสุนัขมาให้ผู้ชายคนนี้ไม่ได้ เมื่อกรรมที่ได้กระทำคือแขวนคอสุนัขสำเร็จ จะได้ผลของกรรมชาติไหน เป็นปัจจัยให้เกิดอะไรขึ้น ก็เป็นเหตุที่ได้กระทำแล้วนั่นเอง ไม่มีใครรู้ว่ากรรมไหนให้ผลเมื่อไหร่วันไหนอย่างไร

    ผู้ฟัง แต่ผู้ชายคนที่จับหมาไปแขวนก็คือจิต

    ท่านอาจารย์ จะได้ผลของกรรมนี้หรือไม่ จะปัจจัยที่เกิดผลหรือไม่ ก็ต่างจิตต่างใจต่างเรื่อง เวลาที่สุนัขเกิดยังมีผู้ชายคนนี้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ

    เวลาที่ผู้ชายคนนี้เกิด มีสุนัขไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต่างมีกรรมที่ได้กระทำแล้วเกิดดับสืบต่อจนกว่าจะให้ผล ไม่ใช่ว่าสุนัขตัวนั้นรับผลของกรรม แล้วผู้ชายคนนี้ก็เลยไม่ต้องทำอะไรในเมื่อสุนัขตัวนี้เขาต้องชดใช้กรรม ของสุนัขไม่เกี่ยวกับคนนี้ ของเขาเอง

    ผู้ฟัง แต่สำเร็จได้ด้วยผู้ชายคนนี้ทำ

    ท่านอาจารย์ เขาคิดว่าอย่างนั้น แต่ถ้าผู้ชายคนนี้ไม่ทำ อาจจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาก็ได้ อยู่ดีๆ ไม่มีใครทำเลยก็เป็นโรคมะเร็ง ใครทำ

    ผู้ฟัง เป็นผลของกรรมที่เคยกระทำ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ถ้าไม่รู้ และมีคนทำก็เลยคิดว่าเขาทำเรา แต่ถ้าไม่ใช่กรรมของเราใครก็ทำไม่ได้ มั่นคงแน่นอนเลย ทุกอย่างคนอื่นทำให้ไม่ได้เลยนอกจากกรรมของตนเองที่ได้กระทำแล้ว ใครจะฆ่าเราไม่ถึงเวลาที่กรรมที่จะต้องตายโดยการที่ถูกฆ่า เขาก็ฆ่าไม่ได้ อยากฆ่าสักเท่าไหร่ อาจจะฆ่าก็ไม่ตายก็ได้ ก็เป็นเรื่องของแต่ละหนึ่ง ไม่ก้าวก่ายสับสนกันเลย

    ผู้ฟัง ที่ท่านอธิบายเป็นจิตคนละดวง

    ท่านอาจารย์ สืบต่อมา ต่างกรรม ต่างคนต่างใจ

    ผู้ฟัง เราไม่มีทางทราบใช่หรือไม่ว่า เหตุใดผู้ชายคนนี้ถึงต้องมาแขวนคอสุนัขตัวนี้ใช่ไหม
    ท่านอาจารย์ เรารู้ไหมว่าทำไมเราเห็นวันนี้ เดี๋ยวนี้ รู้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ทราบค่ะ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะไปรู้ถึงคนอื่นว่าเหตุใดผู้ชายคนนี้ถึงจะมาทำอย่างนี้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าก็เป็นเรื่องกรรมของผู้ชายคนนั้น

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมะทั้งหมด

    ผู้ฟัง ประจวบเหมาะด้วยกรรมของแต่ละฝ่าย

    ท่านอาจารย์ ถึงอย่างนั้น สภาพธรรมเกิดทีละหนึ่งแล้วก็ดับไปสืบต่อจนปรากฏเป็นนิมิต และผู้ชายคนหนึ่ง สุนัขตัวหนึ่งนั้น นั่นคือนิมิตทั้งหมด

    อ.อรรณพ ถ้าไม่ศึกษา ก็ปนกันในความคิด กรรมปนกับวิบากปนกับกิเลส ซึ่งชีวิตเรา ถ้าจะพูดถึง ๓ ส่วนสำคัญในชีวิตโดยคร่าวๆ ก็คือส่วนที่เป็นกิเลส ส่วนที่เป็นกรรม และส่วนที่เป็นผลของกรรม ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งแสดงไปจนถึงสภาพของกิเลส กรรม และผลของกรรม แล้วคิดเองเราก็จะสับสน คิดว่าคนโน้นคนนี้มาทำให้เราเจ็บ เดินชนอะไรเอง ไม่โกรธมาก เจ็บแต่ก็อาจจะไม่โกรธมาก แต่แค่คนก็เดินมาเฉี่ยว เราก็ไม่ได้เจ็บมาก แต่ไม่ขอโทษ หันมามองเยาะเย้ย ก็โกรธมากใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราก็จะปนกับหมดเลย แต่กิเลสส่วนหนึ่ง คือกิเลสอกุศล กรรมก็คืออกุศลเจตนาที่ทำแล้วสำเร็จแล้วก็จะให้ผลต่อไป และผลของกรรมก็คือวิบาก ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวธรรม ไม่มีคนที่ฆ่าสุนัข ไม่มีสุนัขที่ถูกฆ่า แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่สมมติกันว่าเป็นคน เป็นสุนัข และการสะสมของจิตที่เป็นคนก็อย่างหนึ่ง ที่เป็นสุนัขก็อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น กิเลสมี ถ้ากิเลสนั้นมีกำลังรุนแรง กิเลสนั้นก็ปรุงแต่งให้เจตนาที่เกิดกับกิเลสนั้น สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถที่สำเร็จแล้วก็สะสมไว้ที่จิต จิตดับแล้วก็จริง แต่การสะสมต่างๆ ก็ถ่ายทอด จากจากจิตขณะหนึ่งก็ถ่ายทอด ทั้งกิเลสกรรม วิบากไป

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะได้รับผลของกรรม เพราะมีกิเลส แล้วก็ทำกรรม แล้วสะสมไว้ในจิต กรรมกิเลสสั่งสมวิบากก็เป็นความหมายของจิต ที่จะทำให้ได้รับผลของกรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    5 พ.ค. 2567