ปกิณณกธรรม ตอนที่ 770


    ตอนที่ ๗๗๐

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมเอเชี่ยน หาดใหญ่ จ.สงขลา

    วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘


    ผู้ฟัง เมื่อเช้านี้ฟังแล้วก็สนใจมาก เกี่ยวกับกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก ก็มีความสนใจว่า ทั้ง ๓ คำนี้ของแต่ละคนเนี่ย จะทำให้ประเทศชาติ รับกรรมด้วยไหม หรือว่าประเทศทำกรรมขึ้นมาเอง ถึงได้เกิดความขัดแย้งปั่นป่วน

    ท่านอาจารย์ เรามีคำว่าประเทศ ก็ต้องดูว่าประเทศคืออะไร ประเทศะ หมายความว่า ขอเชิญคุณสงบค่ะ

    อ.สงบ ประเทศะ ก็คือที่ตั้งหรือที่อยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นถิ่นที่อาศัย เพราะฉะนั้นถ้าถิ่นที่อาศัยนั้นไม่มีคนเลย ก็ไม่มีการที่จะต้องเป็นของใคร หรือว่าใครจะต้องไปจัดการ ถิ่นที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่เนื่องจากถิ่นนั้น มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่ละถิ่นแต่ละถิ่น ก็เป็นแต่ละประเทศ เพราะฉะนั้นจริงๆ ถ้าพูดถึงประเทศเราก็ใช้คำว่าประเทศชาติ เพราะเหตุว่าแต่ละกลุ่มของบุคคลที่อยู่ ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด ก็เป็นประเทศนั้นชาตินั้น เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริงก็คือว่า สิ่งที่ไม่มีชีวิตไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย จะเดือดร้อนไหม จะเจริญไหม จะเสื่อมหรือไม่, จะเป็นป่า เป็นเขา จะมีนก มีเสือ มีช้าง มีอะไรก็เป็นถิ่นนั้น ถ้าไม่มีสิ่งที่มีชีวิตไม่เดือดร้อนเลย แต่สิ่งที่มีชีวิตต่างหากที่รวมกัน เพราะฉะนั้นเรากล่าวว่าประเทศนั้นเจริญ เพราะคนในชาติเจริญ หรือคนที่อยู่อาศัยที่ประเทศนั้น เป็นชาตินั่นแหละเจริญ และความเจริญอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่สภาพจิต เพราะฉะนั้นจะมีคำว่าอริยะ หรืออะริยะ แปลว่าผู้ที่เจริญ ผู้ที่จะก็คือต้องเป็นจิตใจที่ได้อบรมเจริญแล้ว เพราะฉะนั้นจริงๆ ถ้าเรากล่าวว่าประเทศชาติเจริญ เราจะคิดถึงคนที่มีความรู้มีความสามารถแต่จิตใจต่ำทราม จะชื่อว่าประเทศนั้นเจริญได้ไหม ก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ต้องเป็นผู้ตรง ทั้งหมดในโลกนี้ นอกโลกนี้หรือที่ไหนก็ตามที่มีสิ่งที่มีชีวิต จิตเป็นใหญ่ แล้วแต่จิต ถ้าจิตดีทุกอย่างดี ถ้าจิตไม่ดีการกระทำทางกาย ทางวาจาทั้งหมดก็ไม่ดี ด้วยเหตุนี้ ถ้าสามารถที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้จิตของคนในชาติ ซึ่งรวมทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนเดียว เป็นอย่างไร ถึงจะสามารถที่รู้ความจริงได้ แล้วก็ทำให้เจริญขึ้นได้ด้วย แต่ถ้าไม่รู้ ไม่มีหนทาง เพราะไม่รู้แล้วจะเจริญได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นทุกคน ก็น่าจะรู้จักจิตของตนเอง เพราะเหตุว่าจิตของคนอื่นเรารู้ไม่ได้แน่นอน เฉพาะจิตของเราเท่านั้นทุกเวลานาทีคนอื่นรู้จิตของคนอื่นไม่ได้ แต่บุคคลที่มีจิตนั้นสามารถที่จะรู้จิตของตนได้ ถ้าได้ศึกษาธรรม ก็ยิ่งเข้าใจว่าจิตก็คือธาตุรู้หรือสภาพรู้ แต่ว่าความหลากหลายของจิต ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ประกอบด้วยเจตสิกคือสภาพนามธรรมซึ่งเกิดกับจิตก็หลากหลาย ทำให้จิตต่างประเภทกันไป

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้คำว่าชาติ ในทางพระพุทธศาสนา ชาติหมายความถึงการเกิด ด้วยเหตุนี้จิตเกิดหรือเปล่า ถ้าคิดแล้วก็จะเป็นความเข้าใจของเราเอง ที่สำคัญมาก ถ้าฟังเผินๆ ฟังไปเรื่อยๆ เก็บบ้าง หล่นบ้าง ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจทั้งหมด แต่ถ้าฟังแล้วไตร่ตรอง เช่นได้ยินคำว่า ชาติ ชาติ ถ้ากล่าวถึงชา-ติ ชาติคือการเกิดขึ้นของนามธรรม จิตเป็นธาตุรู้ เจตสิกเป็นธาตุรู้ เป็นการเกิดขึ้นของจิต และเจตสิก ไม่ได้หมายความถึงต้นไม้ใบหญ้า ขณะนี้กำลังเกิด หลากหลายมากไหม หรือเหมือนกัน ตั้งแต่เช้ามาไม่เหมือนกันเลย เห็นอย่างหนึ่ง ได้ยินอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง ชอบอย่างหนึ่ง ไม่ชอบอย่างหนึ่ง ทั้งหมดหลากหลาย สุดที่จะประมาณได้ เพราะเหตุว่าแม้คนหนึ่ง มีจิตเกิดขึ้นเพียงทีละ ๑ ขณะแล้วก็ดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป เกิดสืบต่อทันที ก็ไม่ใช่จิตขณะก่อน และการที่จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นประกอบด้วยเจตสิกเท่าไหร่ดับไปแล้ว ถ้าเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ที่เกิดแล้วดับแล้ว ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ทำให้จิตหลากหลายไปทุกขณะ

    ด้วยเหตุนี้ถ้ากล่าวถึงชาติ ชาติคือการเกิดของจิต มี ๔ ชาติ ถ้าเป็นคนก็หลายชาติใช่ไหม จีน ไทย มอญ พม่า ฝรั่ง อินเดีย หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่สำหรับจิต จะที่ไหนก็ตาม การเกิดขึ้นของจิตจะต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ เราได้ยินเวลาที่เราไปงานศพ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา เป็นการเกิดขึ้นของจิต และเจตสิก เพราะฉะนั้นกุศลาธรรมา ธรรมที่เป็นกุศล เจตสิกที่เป็นกุศลเกิดกับจิตใดจิตนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้นทั้งจิต และเจตสิกเป็นกุศล มีไหม กำลังฟังธรรม กำลังเข้าใจเราหรือ หรือว่าเป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นได้ยิน แล้วก็จำได้ว่าเสียงนั้นมีความหมายว่าอะไร และก็ยังรู้ในความหมายว่าแต่ละคำที่ได้ยินกล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้นั่นเอง เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง กุศลธรรมคือทั้งจิต และเจตสิกนั่นแหละ เป็นธรรมมีจริง และก็เป็นธรรมที่ดี เพราะว่าขณะนั้นมีสภาพเจตสิกที่ดีเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นทั้งจิต และเจตสิกเป็นกุศล ใช้คำว่ากุสลา ธัมมา ไม่ต้องใช้คำว่าชาติก็ได้ ไม่ต้องใช้คำว่ากุศลชาติ หรือธรรมา แต่กุศลธรรมหมายความถึงธรรมที่เกิดคือจิต และเจตสิกเป็นกุศล กุสลา ธัมมาก็คือธรรมที่ดีงาม ซึ่งได้แก่จิต และเจตสิกฝ่ายดี อกุสลา ธัมมาตรงกันข้ามเลย "อะ" แปลว่าไม่ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ไม่ดีนี้มีแน่ โกรธดีไหม สบายใจไหมขณะที่โกรธ ใครเดือดร้อน ตัวเอง เพราะฉะนั้นทำร้ายตนเอง อกุศลธรรมที่ทำร้าย เริ่มทำร้ายคือทำร้ายตนเองก่อน แล้วถ้ามีมากก็ทำร้ายคนอื่นต่อไป อย่างนี้ประเทศชาติเจริญไหม ถ้าเต็มไปด้วยอกุศล ไม่เจริญแน่นอน แต่ว่าเพราะไม่รู้ ก็ไปหาทางอื่นที่จะทำให้เจริญ แต่ลืมว่าความเจริญจริงๆ ต้องจากคนในชาติแต่ละคนต้องเป็นคนดี และธรรมฝ่ายกุศลเท่านั้นที่จะทำให้เจริญขึ้น แต่ธรรมที่เป็นอกุศล ได้แก่โลภะความติดข้อง ต้องการ มี ๒ อย่าง สมะโลภะตามปกติธรรมดา ไม่เป็นโทษเป็นภัยกับคนอื่น เพราะเหตุว่าเป็นธรรมดาที่จะมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่เห็นดอกไม้สวยๆ เราจะไปบอกว่าเราชอบได้ไหม ในเมื่อยังไม่เห็นเลย แต่พอเห็นแล้วห้ามก็ไม่ได้ ใช่ไหม เกิดแล้วทันที เกิดแล้วเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นมีกุสลา ธัมมา และอกุสลา ธัมมา ธรรมที่เป็นกุศลได้แก่จิตเจตสิก ธรรมที่เป็นอกุศลได้แก่จิตเจตสิก อัพยากตา ธัมมา ธรรมที่ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล เป็นการแสดงพระธรรมเทศนา โดยนัยหลากหลาย โดยประเภทของธรรมหมวดสาม ๓ อย่าง แสดงโดยกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม คือธรรมที่เป็นกุศล ๑ ธรรมที่เป็นอกุศล ๑ ธรรมที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล ๑ เวลาไปงานศพสวดพระอภิธรรมก็คือธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริงที่มีอยู่ โดยนัยหมวดสาม เพราะฉะนั้นเวลาฟังจริงๆ ไปงานศพส่วนใหญ่จะเข้าใจเพียงกุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมาแต่ไม่เข้าใจ อัพยากตา ธัมมา ธรรมที่ไม่ได้พยากรณ์คือไม่ใช่กุศล และอกุศล จะบอกว่าเป็นกุศลไม่ได้ จะบอกว่าเป็นอกุศลไม่ได้ ได้แก่รูปธรรม สภาพไม่รู้จะเป็นกุศลหรืออกุศลไม่ได้ แข็ง ก็เกิดมาแข็ง เป็นกุศลได้อย่างไร ทำดีทำชั่วได้อย่างไร คิดดีคิดชั่วได้อย่างไร เพราะฉะนั้นธรรมที่ไม่รู้อะไรได้แก่รูป เป็นอัพยากตธรรมคือธรรมะที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล นิพพานไม่เกิด ไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิด ถ้าเกิดต้องเป็นรูปหรือจิต หรือเจตสิกอย่างหนึ่งอย่างใด แต่เมื่อไม่เกิด จึงไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แต่มีจริงๆ เมื่อไม่ใช่กุศล อกุศล นิพพานก็เป็นอัพยากตะ

    จิตมี ๔ ชาติ คือจิตที่เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ ทั้งสองอย่างเป็นเหตุ ซึ่งจะให้เกิดผล ผลคืออะไร ผลก็คือ จิต เจตสิก และรูป ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกุศล และอกุศล เพราะเหตุว่ารูป ที่เราเห็นเป็นรูป ไม่ว่ารูปใดๆ ก็ตาม แต่ละ ๑ รูปที่เกิด ต้องมีสมุฏฐาน ๑ ว่ารูปนั้นเกิดเพราะจิต หรือรูปนั้นเกิดเพราะกรรม หรือรูปนั้นเกิดเพราะอุตุ ความเย็นความร้อน หรือรูปนั้นเกิดเพราะอาหาร นี่เป็นสิ่งที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด แม้แต่รูป เราก็ไม่รู้เราก็คิดว่าแข็งเหมือนกัน ที่โต๊ะนี้ก็แข็ง ที่ตัวนี้ก็แข็ง แต่ที่ตัวนี่ก็ต่างกับโต๊ะแน่ๆ ใครจะบอกว่าตัวกับโต๊ะเหมือนกัน พูดได้อย่างไร เพราะว่าโต๊ะมีสมุฏฐานเดียว คือเย็นหรือร้อน ทำให้เกิดรูปธาตุ ซึ่งอ่อนหรือแข็ง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ยังไม่เป็นโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ก็เกิดเพราะอุตุ ความเย็นความร้อน ใครจะไปห้ามไม่ให้เกิดได้ไหม เป็นดินอยู่แท้ๆ ต่อมาก็มีหญ้าขึ้นมา งอกขึ้นมาเป็นวัชพืชต่างๆ ใครก็ห้ามไม่ได้ เพราะรูปเหล่านั้นเกิดเพราะอุตุ ใครก็เข้าไปทำให้เกิดไม่ได้ นั่นส่วนของรูปซึ่งไม่ได้เกิดจากจิต ไม่ได้เกิดจากกรรม ไม่ได้เกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไปในร่างกาย ซึ่งจะทำให้รูปเกิดขึ้น รูปที่เกิดจากกรรม เช่น ตา เป็นรูปพิเศษจริงๆ ไม่ใช่อ่อนไม่ใช่แข็ง

    ในบรรดาสิ่งที่เป็นรูปทั้งหมด มีรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ๔ รูป เป็นใหญ่เป็นประธานหมายความว่าปราศจาก ๔ รูปนี้แล้ว รูปอื่นจะเกิดไม่ได้เลย รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน คือรูป อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ซึมซาบหรือเกาะกุม ใช้ภาษาไทยก่อน เพราะเหตุว่าเราเข้าใจภาษาไทยตั้งแต่เกิด เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็รู้ว่าภาษาอื่นว่าอย่างไร โดยเฉพาะภาษาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ตรัสกับบุคคลที่เข้าใจภาษานั้นก็ต้องใช้คำนั้น เพราะฉะนั้นจึงใช้ภาษาที่ชาวเมืองมคธเข้าใจเป็นภาษาที่ฟังแล้วรู้ว่าหมายความถึงอะไรซึ่งเป็นภาษาที่ดำรงพระศาสนา เป็นภาษาซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีกฎเกณฑ์กำกับ ลำดับไว้อย่างดี ที่จะทำให้ไม่เปลี่ยนแปลงความหมายได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปาละ หรือปาลี คือภาษาที่ดำรงพระศาสนา สำหรับสภาพที่อ่อนหรือแข็ง ชาวมคธไม่เข้าใจ แต่เข้าใจคำว่าปฐวี แข็ง และคนไทยก็แปล ปฐวี ว่า ดิน แต่ดินที่นี่ไม่ใช่หมายเฉพาะดินที่เราเหยียบย่ำหรือดินที่ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ สิ่งใดที่มีลักษณะที่แข็งหรืออ่อน นั่นคือลักษณะของสิ่งที่มีจริง เป็นธาตุชนิดหนึ่งไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เปลี่ยนให้ธาตุนั้นเป็นหวาน เป็นเสียงก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าแต่ละหนึ่งก็มีลักษณะหลากหลายต่างกัน

    เพราะฉะนั้นธาตุที่อ่อนหรือแข็งมีจริงๆ เป็นปฐวีธาตุ ถ้าไม่ใช่คำว่าธรรม เราใช้คำว่า ธาตุ หรือ ธา-ตุได้อีกคำหนึ่ง เพราะเหตุว่ากล่าวถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เลย สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่แข็ง เราเรียกว่าโต๊ะ แต่ว่าพอกระทบสัมผัส มีแข็ง เพราะฉะนั้นที่ตัวนี้ เราอาจจะบอกว่ามือ เท้า ผม เล็บ แต่พอกระทบสัมผัสคือ แข็ง เพราะฉะนั้นอ่อนหรือแข็งที่ตัวนี้เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี นี่เป็นเหตุที่สัตว์มีชีวิตไม่สามารถที่จะดำรงร่างกายอยู่ได้ เพียงด้วยรูปซึ่งเกิดจากกรรม หรือรูปซึ่งเกิดจากจิต หรือรูปที่เกิดจากอุตุ แต่ต้องอาศัยอาหารที่มีอยู่ในสิ่งที่บริโภคเข้าไปทำให้ร่างกายเจริญเติบโต และแข็งแรงขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องของอัพยากตธรรม ธรรมซึ่งไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้นก็ได้แก่ รูปทั้งหมด นิพพาน

    สำหรับจิตที่เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ ซึ่งเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ผลเกิดขึ้น เป็นธาตุรู้คือจิตต่างชนิดกับเหตุ คือเป็นผลของเหตุที่ได้กระทำแล้ว ทำให้มีจิตเห็นขณะนี้ จิตเห็นไม่เป็นกุศลไม่เป็นอกุศลเลย จิตเห็นไม่ได้คิด ไม่ได้รัก ไม่ได้ชัง ไม่ได้จงใจจะทำกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นผลของกรรม เมื่อกรรมได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่จะให้จิต เจตสิก และรูปเกิดขึ้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะยังมีความติดข้องในรูป เพราะฉะนั้นความติดข้องนั้นเหมือนกับนายช่างผู้สร้างเรือน

    เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นก็จะมีรูป เพราะเหตุว่ายังติดข้องในรูป เพราะฉะนั้นภพภูมิที่มีรูปก็เป็นมนุษย์ หรือเป็นเทพ หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์นรก เป็นอสูรกายทั้งหมด ไม่ได้มีแต่เฉพาะจิตเจตสิก แต่มีรูปด้วย เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากกรรมต้องต่างๆ กับรูปอื่น เพราะเหตุว่าที่ตัว ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็อ่อนหรือแข็ง แต่ไม่ใช่รูปที่สามารถกระทบกับเสียง กระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น กระทบกับกลิ่น กระทบกับรส กระทบกับเย็น ร้อน อ่อน แข็ง นี่เป็นความละเอียดมาก ปฐวีหรือว่ารูปแข็งหรืออ่อน ไม่ใช่กายปสาท แต่ที่ใดมีกายปสาท ซึ่งเกิดเพราะกรรม จะปราศจากมหาภูติรูป ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้ ธาตุดินอ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟเย็นหรือร้อน ธาตุลมตึงหรือไหว ธาตุน้ำซึมซาบเกาะกุมรูปทั้ง ๓ ให้ไม่แยกจากกัน ด้วยเหตุนี้มหาภูติรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เกิดพร้อมกันแยกจากกันไม่ได้เลย ถ้าไม่มีรูป ๔ รูปนี้ รูปอื่นก็มีไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงมีคำในภาษาบาลีเรียกรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานว่ามหาภูตรูป และรูปอื่นทั้งหมดซึ่งเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีมหาภูตรูป อาศัยมหาภูตรูปมีที่ไหน รูปนั้นๆ ก็มีที่นั่นด้วย ใช้คำว่าอุปาทายรูป เพราะฉะนั้นเสียงเป็นรูปชนิดใด ๒ ประเภทนี้ เป็นมหาภูตรูปหรือเป็นอุปาทายรูป เสียง ซึ่งมีใช่ไหม เป็นรูป เป็นรูปไหน ใน ๒ ประเภทใหญ่ ถ้ามหาภูตรูปก็ต้องอ่อนหรือแข็ง ซึมซาบหรือเกาะกุม เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เรียกย่อๆ เพราะฉะนั้นรูปอื่นใดทั้งหมดไม่ใช่มหาภูตรูป แต่ถ้าไม่มีมหาภูตรูป รูปนั้นๆ ก็มีไม่ได้ เกิดไม่ได้ ต้องอาศัยเกิดกับมหาภูตรูป เพราะฉะนั้นเสียงเป็นอุปาทายรูป เพราะไม่อ่อน ไม่แข็ง ไม่เย็น ไม่ร้อน ไม่ตึง ไม่ไหว ไม่เกาะกุมซึมซาบรูปทั้ง ๓ ไว้ ฟังอะไร ศึกษาอะไร เข้าใจแล้วไม่ลืม ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องจิต ไม่ว่าจะพูดเรื่องเจตสิก ไม่ว่าพูดเรื่องรูปที่มีในขณะนี้ ก็เข้าใจขึ้น

    ด้วยเหตุนี้ทบทวนกุศลธรรมอกุศลธรรมได้แก่จิต เจตสิก รูป เป็นกุศลอกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธรรมที่ไม่ใช่กุศลอกุศล ก็มีรูปธรรม และนิพพานไม่ใช่กุศลอกุศล และจิตซึ่งเป็นผล ซึ่งไม่ใช่กุศล และอกุศล แต่เป็นผลของกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกุศล และอกุศล เมื่อไม่ใช่กุศลก็เป็นอัพยากต เป็นเรื่องที่ต้องมั่นคงว่า มีธาตุรู้เป็นจิต เจตสิก รูปไม่ใช่สภาพรู้ ถึงแม้ว่ารูปจะเป็นผลของกรรมก็จริง ผลของกรรมที่เป็นจิตเจตสิกเป็นวิบากจิต รูปไม่ใช่สภาพรู้แต่เป็นผลของจิต และเจตสิก แต่เป็นวิบากไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้ ด้วยเหตุนี้ พอได้ยินว่าวิบากคือผลของกรรม หมายเฉพาะจิต และเจตสิก แต่รูปก็เป็นผลของกรรมด้วย อย่างจักขุปสาท กรรมทำให้เกิด ใครก็ทำให้เกิดไม่ได้ แต่จักขุปสาทไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นถึงเป็นผลของกรรมก็ไม่ใช่วิบาก เพราะเหตุว่าวิบากจำกัดเฉพาะจิต และเจตสิกเท่านั้น ที่เป็นวิบากที่เป็นผลของกุศล และอกุศล ตรงทุกอย่างแต่ละเอียดขึ้นๆ เพื่อที่จะเข้าใจว่าไม่ใช่เราสักอย่างเดียว

    ด้วยเหตุนี้เริ่มรู้จักชาติของจิต กุศลจิต ๑ เป็นชาติกุศล เกิดเป็นกุศล อกุศลเป็นชาติอกุศล คือเกิดเป็นอกุศล เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และวิบากก็เป็นอีกชาติหนึ่งซึ่งเป็นผล เป็นเหตุไม่ได้ วิบากเป็นรูปได้ไหม เป็นไม่ได้ เพราะไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้เกิดขึ้น รู้ ทำกรรม ก็ต้องให้จิตที่เป็นผลของกรรม ซึ่งได้รู้สิ่งที่ไม่ดี ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้เลย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า จิตเห็นที่เกิดพร้อมกับเจตสิกเป็นผลของกรรม ใครทำให้เกิดไม่ได้เลย แต่กรรมไม่ได้ทำให้เฉพาะจิต และเจตสิกเกิด ยังทำให้รูปเกิด เช่น ตา หู จมูก ลิ้น และกายปสาทซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว ทำให้เมื่อกระทบกับแข็ง จิตเกิดขึ้นรู้แข็ง เพราะมีกายปสาท ถ้าไม่มีรูปที่กระทบแข็ง จิตจะเกิดขึ้นรู้แข็งไม่ได้เลย ถ้าไม่มีรูปที่สามารถกระทบตา จิตเห็นเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีรูปที่สามารถกระทบเสียง จิตได้ยินเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงมีรูปที่เกิดเพราะกรรม แต่เป็นรูปจึงไม่ใช่วิบาก

    จึงต้องเป็นความละเอียด ที่ฟังแล้วฟังอีก และต้องมีความเข้าใจ เปลี่ยนไม่ได้เลย วิบากต้องเป็นจิต และเจตสิก ซึ่งเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นกุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ เป็น ๓ ชาติ แต่ก็มีจิตอีกชาติหนึ่ง ยากที่จะรู้ได้ จิตของพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสเลย จึงไม่ใช่กุศลจิต และอกุศลจิต พระอรหันต์ จะมีอกุศลจิตไม่ได้เลย ดับหมดแล้ว จึงได้เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นจะมีอกุศลจิตไม่ได้ และกุศลจิตก็มีไม่ได้ ถ้าสภาพธรรมที่ดีงามคือเจตสิกที่ดีงามเกิดกับจิตทำให้จิตดีงาม แต่เป็นกุศลต้องเป็นเหตุให้เกิดวิบาก เพราะว่ากุศลเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลคือวิบาก

    ด้วยเหตุนี้เมื่อดับกิเลสแล้ว ซึ่งเป็นอกุศลไม่ได้ ก็เป็นกุศลไม่ได้ด้วย เพราะเหตุว่าถ้ายังเป็นกุศลอยู่ก็ยังต้องมีผล ด้วยเหตุนี้จิตของพระอรหันต์ ไม่มีกุศลไม่มีอกุศล แต่มีวิบาก คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่พระอรหันต์คิดนึกไม่ใช่วิบาก แต่เป็นกิริยาจิต เพราะเหตุว่าไม่มีอกุศล และกุศล แต่เป็นสภาพจิตที่ดีงาม แต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดผล อุปมาเหมือนกับดอกไม้ลมคือ มีดอกจริงแต่ไม่มีผล เพราะฉะนั้นเท่าที่จะรู้ได้คือจิตของพระอรหันต์เป็นอีกชาติหนึ่ง แต่ธรรมดาของคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะมีกิริยาจิตเกิดก่อนเห็น เพราะสามารถที่จะรู้อารมณ์ทั้งที่ดี และไม่ดี ๕ ทาง และก่อนที่จะมีการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ มีจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ๑ ขณะก่อน แล้วกุศลจิตหรืออกุศลจิตจึงคิดเรื่องนั้นได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    13 พ.ค. 2567