ปกิณณกธรรม ตอนที่ 772


    ตอนที่ ๗๗๒

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมเอเชียน หาดใหญ่ จ.สงขลา

    วันที่ ๒๓ - ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘


    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผลของกรรม เช่น การเกิดมาพิการ หรือว่าอยู่ไปๆ คนเป็นต้อหินแล้วตาบอด นี่คือผลของกรรม ภาษาบาลีเราใช้อะไร ถ้าเราไม่ใช้คำว่า วิบาก

    ท่านอาจารย์ “รูป” รูปที่พิการเกิดเพราะกรรม ถ้าเราได้ทำร้ายตาของคน ไม่ต้องการให้เขาเห็น เจตนาความจงใจที่ไม่ต้องการให้เห็นนั่นแหละ ไม่ได้ไปเกิดกับเขา เพราะไม่ใช่เจตนาของคนที่ถูกทำร้าย แต่เจตนาของผู้ทำร้าย ที่ไม่ต้องการให้เกิดการเห็น เปลี่ยนได้ไหม ในเมื่อไม่ต้องการให้เกิดการเห็น คิดว่าไม่ต้องการให้คนอื่นเห็น แต่ความไม่ต้องการนั่นแหละให้ผล คือ ไม่ทำให้จักขุปสาทะเกิด ถึงเวลาที่ตาควรจะเกิด เป็นรูปที่เกิดตามเวลาหลังจากปฏิสนธิแล้ว ภายหลังก็จะมีจักขุปสาทรูปเกิด เพราะกรรมทำให้เกิด แต่ถ้าเป็นกรรมที่ไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการให้ใครเห็น ใครก็ไม่มีนอกจากจิตเห็น ไม่ต้องการให้จิตเห็นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นกรรมนั้นก็ไม่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด ไม่มีใครทำให้ คนอื่นทุกคนในขณะนี้ที่มองเห็น เพราะไม่ได้ทำกรรมที่จะทำให้จักขุปสาทไม่เกิด แต่ถ้าได้เคยทำกรรมไว้แล้ว ถึงแม้ว่าเกิดมามีจักขุปสาทรูปเพราะกรรมที่ทำให้มีจักขุปสาทรูป แต่เพราะกรรมที่ทำให้ไม่ต้องการให้มีจิตเห็น ภายหลังจักขุปสาทรูปก็ไม่เกิดเพราะกรรมนั้น

    ด้วยเหตุนี้ การเกิดขึ้นเป็นใครก็ตาม ขณะแรกจะเป็นนก เป็นคน เป็นเทพ เป็นอะไรก็ตาม เป็นผลของกรรมหนึ่ง ซึ่งประมวลมาซึ่งกรรมอื่นๆ ที่สามารถจะให้ผลได้ในชาตินั้น ในการเป็นบุคคลนั้น ถ้าเกิดมาเป็นสุนัข กรรมอื่นที่ประมวลมา ก็ทำให้ได้รับผลที่เป็นผลของกุศล ได้นอนสบาย ได้กินสบาย มีคนเลี้ยงดู รักใคร่อุ้มชู เพราะผลของกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ แต่ถึงแม้ว่า เป็นคนร่ำรวยมหาศาล ถึงเวลาก็เป็นทุกข์ เพราะโรคภัยต่างๆ หรือว่าเกิดเป็นคนตาบอด หูหนวก หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะผลของกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น สมมติว่า คนมีบ้านใหญ่ๆ สวยๆ คนหนึ่งเข้าไปอยู่แล้วเหมือนกับจิตใจก็มีความสุข แต่อีกคนหนึ่งบ้านหลังเดียวกันที่สวย กับจิตใจก็มีแต่ความทุกข์นี่ สุข ชอบ ไม่ชอบ สุขทุกข์อันนี้ก็คือเป็นเหตุใหม่

    ท่านอาจารย์ เพราะว่า จิตสะสมกรรม กิเลส และวิบากต่างกัน ถ้าสะสมกรรม คือ กรรมที่ทำแล้ว ไม่ได้หายไป ไปให้ใครก็ไม่ได้ ยังอยู่ในจิตมองไม่เห็นเลย สำเร็จแล้ว กระทำแล้ว แต่เป็นปัจจัย เป็นกัมมปัจจัย กำลังของกรรมที่ได้ทำแล้ว ยังสะสมเป็นปัจจัยในจิตที่จะทำให้อะไรเกิดขึ้นซึ่งเป็นผลของกรรมนั้น

    นี่คือ การสะสมของกรรม แล้วก็สะสมกิเลสด้วย กิเลส หมายความถึง อกุศลที่มี ที่ยังไม่เป็นทุจริตกรรม ยังไม่ถึงความเป็นกรรมบถ ยังไม่ได้ทำร้ายเบียดเบียนใคร แม้ว่ากิเลสทำร้ายบุคคลนั้นที่มีกิเลส แต่ก็ไม่ถึงกำลังที่จะทำร้ายคนอื่น เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ให้ผลที่จะทำให้สมความปรารถนาที่จะให้คนอื่นเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงความปรารถนานั้นเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ จิต ซึ่งเป็นวิบากของตนเอง ไม่ใช่ของคนอื่น เพราะฉะนั้น ก็สะสมกรรม กิเลส และวิบาก เพราะเหตุว่า ความชอบ ความพอใจ ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็สะสมสืบต่อในสิ่งนั้น ความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่ชอบในสิ่งใด ก็สะสมสืบต่อ ทำให้เวลาที่ประสบกับสิ่งนั้น คล้ายสิ่งนั้น เหมือนสิ่งนั้น ก็ทำให้เกิด ความไม่ชอบด้วย

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนมีกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นของๆ ตน เป็นปัจจัยให้เกิดผล คือ วิบากจิต และ รูปซึ่งไม่ใช่วิบากเพราะรูปไม่รู้อะไร ไม่สุข ไม่ทุกข์เลย แต่ตัวจิต เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เลือกไม่ได้ ทันทีที่เห็นดับไป กิเลสที่สะสมมาหรือกุศลที่สะสมมา ก็สามารถจะเกิดต่อจากจิตเห็น เพราะฉะนั้น จิตเห็นไม่ใช่กุศล และอกุศล เป็นวิบากทำให้ต้องเห็น แต่กิเลสที่สะสมมา และกุศลที่สะสมมา เมื่อเห็นแล้ว เกิดกรุณาหรือว่าเกิดชัง หรือว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ตามที่ได้สะสมมา

    ด้วยเหตุนี้ แต่ละคน เรากล่าวได้ว่าอัธยาศัยต่างกัน บางคนเห็นคนยากไร้ ทนไม่ได้ช่วยทันที บางคนก็สะสมมาที่จะดูถูกเหยียดหยาม ก็ช่วยไม่ได้อีกเพราะสะสมมา ที่จะรังเกียจสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นอกุศล แต่บางคนก็สะสมความเมตตา ความกรุณา ความเห็นอกเห็นใจ แต่ละคนก็ต่างกันไป ตามที่ปรากฏเป็นพฤติกรรมของแต่ละบุคคล

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น จากที่ฟังอาจารย์อธิบาย เมื่อสะสมแล้วจากจิตที่สะสมไปแล้ว ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็จะส่งผลให้เรากระทำกรรม กุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม ต่อไปอีกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยที่ทรงแสดงไว้ อย่างใหญ่ก็มี ๒๔ ปัจจัย และมีอย่างย่อยอีก เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่จะเกิด โดยไม่มีปัจจัยให้เกิด ไม่ได้เลย ก็แล้วแต่ว่า ปัจจัยนั้น คืออะไร ต้องไม่ลืมว่า “วิบาก” คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นอกจากนั้นแล้ว โดยย่อก็คือว่า ไม่ใช่วิบาก คิดนึก เป็นกุศล และอกุศลที่คิด การกระทำที่ได้กระทำก็เพราะกุศล และอกุศล ถ้ายังมีกิเลสอยู่ แต่สำหรับพระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศล และอกุศล จึงเป็นกิริยา เพราะเหตุว่า การกระทำใดๆ หลังจากที่ดับกิเลสแล้ว ไม่เป็นเหตุให้ต้องเกิดผลเลย

    ผู้ฟัง ดิฉันคิดว่าในครอบครัวของเรานี่ ก็ต้องพยายามพิจารณาให้มากเหมือนกันว่า ควรจะเป็นกุศลหรืออกุศล ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่จริงเกิดมาคนเดียว หรือเปล่า ขณะเกิดนี่ คนเดียวหรือเปล่า หรือพี่น้องตามมาเกิด ในขณะเดียวกันพร้อมกัน เกิดคนเดียว ถูกต้องไหม แล้วก็อยู่คนเดียว หรือเปล่า ลืมความจริงที่สุด คิดว่าอยู่กับคนอื่น แต่ถ้าไม่คิด จะมีคนอื่นไหม เห็นนี่เห็นคนเดียวหรือเปล่า หรือมีคนอื่นมาร่วมเห็นในขณะนี้กับเราด้วย หรือเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งไม่ร่วมกันเลย เพราะฉะนั้น ความจริงที่สุด คือ จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะแล้วดับ สืบต่อ ก็คือหนึ่งขณะแล้วสมมติว่าเป็นหนึ่งคน เพราะฉะนั้น อยู่คนเดียวทุกขณะ เห็นก็เห็นคนเดียว ได้ยินก็ได้ยินคนเดียว คิดก็คิดคนเดียว สุขก็สุขคนเดียว ทุกข์ก็ทุกข์คนเดียว จริงไหม กัมมปัจจัย

    ผู้ฟัง คนเดียว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แท้จริงแล้ว อยู่ในโลกคนเดียว เกิดคนเดียว ตายคนเดียว เห็นคนเดียว คิดคนเดียว สุขคนเดียว ทุกข์คนเดียว ถ้าไม่คิด ก็ไม่มีคนอื่นเลย

    ผู้ฟัง ถ้าไม่อร่อยก็เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบากประเภทไหน เป็นผลของกรรมอะไร

    ผู้ฟัง อกุศลกรรม

    ท่านอาจารย์ อกุศลกรรม เป็นปัจจัยให้จิตได้ลิ้มรสที่ไม่อร่อย เพราะฉะนั้น จิตหนึ่ง ขณะเกิดแล้วดับ การดับไปของจิตขณะนี้แหละ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ด้วยเหตุนี้ จิตขณะต่อไป จึงมีทุกอย่างที่จิตขณะก่อนมี สะสมสืบต่อ แต่ละหนึ่งคน แต่หนึ่งคน

    สำหรับวันนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้สนทนาธรรมกับผู้ฟังที่สนใจที่หาดใหญ่ เพราะเหตุว่า การศึกษาธรรมนี้เพียงอ่านพระไตรปิฎกด้วยตนเอง หรือว่าฟังด้วยตนเองจะรู้ได้เลย แต่ละคนคิดเองตามด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ตรง เพราะเหตุว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ควรแก่การที่จะได้สนทนา เพื่อความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาแล้วก็คือว่า พูดเรื่องธรรม โดยที่ไม่ว่าใครที่ไหนก็ตาม ถ้ายังไม่รู้ว่า ธรรม คือ สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ไม่มีประโยชน์เลยที่จะไปอ่าน ไม่ว่าจะเป็นตำรากี่เล่ม พระอภิธรรม พระสูตร พระวินัย แต่ไม่รู้ว่า ธรรม คือ สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ จะไม่เข้าใจเลย ศึกษาไปเท่าไหร่ ธรรมอยู่ไหน ไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งที่มีจริงๆ นานแสนนานมาแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงให้รู้ว่าแม้เดี๋ยวนี้ หรือเมื่อไรก็ตาม ในอดีต และข้างหน้า ก็คือสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะศึกษาธรรมจริงๆ เริ่มจากการที่รู้ว่า ธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีแล้วไม่เคยรู้ความจริง แล้วใครจะให้เข้าใจได้ นอกจากพระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว

    เพราะฉะนั้น การฟังมีความเข้าใจเรื่องสิ่งที่มีจริง เพียงเท่านี้ไม่พอ เพราะเหตุว่า เป็นแค่ความคิด แต่ว่าสิ่งนี้ก็เกิดดับ โดยที่ว่าไม่ว่าจะกล่าวถึงสิ่งใดในพระไตรปิฎก มีเดี๋ยวนี้ เช่น เห็นมี ชอบมี โกรธมี ผูกโกรธมี ริษยามี ความกรุณามี ทุกอย่างมี แต่ไม่เคยรู้ว่า ไม่ใช่เราเป็นธรรม เพราะฉะนั้น แต่ละคำต้องตรง ธรรมเป็นใครไม่ได้ ธรรมต้องเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ธรรม แต่ละหนึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น และดับไป

    เพราะฉะนั้น ใครไปหลงยึดถือว่า “เป็นเรา” นานแสนนานมาแล้ว ก็ด้วยความไม่รู้ และจะไม่รู้อย่างนี้ไปทุกชาติ ถ้าขณะที่กำลังฟังยังไม่เข้าใจว่า ธรรม คือ สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ แล้วทุกคำที่ได้ฟังเป็นวาจาสัจจะ จริงไหม ที่จะกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เพราะขณะเห็น แล้วจะไปรู้อย่างอื่น และอย่างอื่นก็ยังไม่ปรากฏ แต่ว่ากำลังเห็นอย่างนี้ ถึงแม้จะได้ฟังว่า เห็นเกิดแล้วก็ดับไปแต่ก็ยังมีเห็น ซึ่งเกิดดับสืบต่อ ทำให้สามารถที่จะรู้ความจริงได้ว่า เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ได้ยินเช่นเดียวกัน คิดนึกเช่นเดียวกัน สุข ทุกข์ เหตุการณ์ทั้งหมด จะมีไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นโดยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย และสภาพที่ไม่รู้เดี๋ยวนี้ก็มี แต่ไม่เคยรู้ว่าแท้ที่จริงก็เป็นแค่ธรรม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเกิดแล้วจะเป็นเรา จะเป็นเขา จะเป็นใครก็ไม่ได้ ทุกอย่าง แข็ง คือ ต้องเป็นแข็ง เสียงต้องเป็นเสียง กลิ่นต้องเป็นกลิ่น ทุกอย่างเป็นจริงแต่ละหนึ่ง ถึงแม้ว่าเราจะให้เด็กในโรงเรียนได้ยินได้ฟัง เขาก็สามารถที่จะพิจารณาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่เดี๋ยวนี้ได้ ถ้าถามเขาว่า “เดี๋ยวนี้มีเห็นไหม” เขาก็ต้องตอบว่า “มี” และคำพูดธรรมดาว่า “เห็นไม่เกิดจะมีเห็นไหม” ทุกคนก็ต้องตรง ตรงไปตรงมาที่สุดก็ไม่มี และเห็นดับแล้ว และเห็นอยู่ที่ไหน ก็ถามเขา เขาก็ค่อยๆ คิดเหมือนทุกคนไม่ว่าวัยไหน

    เพราะฉะนั้น อยู่ที่ว่า ผู้ใหญ่เป็นผู้นำเด็ก ไม่ใช่เกี่ยงให้เด็กไปศึกษา และตัวเองก็ไม่รู้ แล้วเด็กจะเอาความรู้มาจากไหน แต่ต้องผู้ใหญ่นั่นเอง สังเกตดูตามบ้าน ซึ่งผู้ปกครอง มารดา บิดา ญาติผู้ใหญ่ ท่านฟังธรรม เด็กฟังไม่จำเป็นต้องบังคับเขาเลย แต่เมื่อมีได้ยินบ่อยๆ ชินหู บางคนก็ถามว่า “โผฏฐัพพะ คืออะไร” เพราะเขารู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา รูป ปรากฏทางหู เสียง ปรากฏทางจมูก กลิ่น ปรากฏทางลิ้น รส และโผฏฐัพพะคืออะไร ได้ยินคำใหม่ เมื่อถามเขาก็รู้ได้ว่า หมายความถึง สิ่งที่กระทบกายแต่มีหลายอย่าง ไม่เหมือนหูกับเสียง ตากับสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ทางกาย แข็งก็มีปรากฏ เย็นก็มีปรากฏ ร้อนก็มีปรากฏ ตึงไหวก็ปรากฏ ตั้ง ๓ อย่าง เพราะฉะนั้น รวมเรียกเป็นหนึ่ง ว่า “โผฏฐัพพะ” เพราะฉะนั้นเวลากระทบไม่ใช่พร้อมกันที่ปรากฏ แยกกันไม่ได้จริง แต่ปรากฏทีละหนึ่ง เช่น ขณะที่ร้อนปรากฏ แข็งไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็เป็นโผฏฐัพพะ ด้วยเหตุนี้ เรามีคำอธิบายที่สามารถที่จะให้เด็กเริ่มเข้าใจ สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปบีบคั้นให้เขาต้องศึกษามากมาย ถ้าไม่สนใจแล้วก็มาพยายามบังคับ แต่จากการที่ได้ยินได้ฟังสิ่งที่มีจริงให้เขาได้คิด ได้ไตร่ตรอง เขาเริ่มมีเหตุผล เริ่มเป็นคนละเอียด เริ่มรู้จักประโยชน์ที่เขาจะรู้จักสิ่งที่มี เช่น คนนั้นโกรธ เขาเคยโกรธไหม และโกรธเป็นใคร และโกรธไม่ได้อยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้นแล้วโกรธก็ดับไป ธรรมเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ถ้ามีทางที่จะให้คนเข้าใจด้วยการที่ผู้นั้นเป็นผู้เข้าใจ คนอื่นก็สามารถที่จะเข้าใจได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความไม่รู้ แต่ขณะใดที่ห่วงขณะนั้นเป็นทุกข์ ต้องไม่ลืม ธรรมไม่ใช่ว่ามุ่งมั่นให้คนอื่นได้ยินได้ฟัง อยากให้เขาเป็นอย่างนี้ อยากให้โลกเป็นอย่างนี้ อยากให้รัฐบาลเป็นอย่างนี้ แต่ว่าความหวังดีเป็นความหวังดี ขณะที่หวังดีไม่เดือดร้อน แต่ขณะที่ไม่เป็นไปตามที่หวังดี ก็ต้องไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่า รู้ว่าธรรมเป็นธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยทั้งสิ้น ทุกคนที่ฟัง เพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่าไม่มีเราที่หลงยึดถือว่ามีเรามานานแสนนาน อีกไม่นานก็ไม่มี คนใหม่มาจากไหน กรรมหนึ่งที่ได้ทำไว้แล้ว ในกรรมทั้งหลาย ซึ่งเลือกไม่ได้เลย เหมือนเกิดมาเป็นคนนี้ชาตินี้ ไม่ได้เลือกมาตอนก่อนจะเกิดเลย แต่ว่ามีปัจจัยที่เกิดแล้ว และเมื่อเกิดมาแล้วแต่ละคนก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน คิดต่างๆ กัน พูดต่างๆ กัน นั่ง นอน ยืน เดิน ยังต่างกันเลย แม้ขณะนี้ก็ดูได้ มาจากไหน เป็นความละเอียดอย่างยิ่งของจิต และเจตสิก ซึ่งละเอียดอย่างยิ่ง เกิดขึ้นนิยมอย่างไร ก็ค่อยๆ คล้อยไปอย่างนั้น เช่น คนอินเดียก็นั่งขัดสมาธิเป็นท่าที่สบายที่สุด คนไทยก็นั่งพับเพียบ เมื่อยจัง ถ้านั่งนานๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำกันจนกระทั่งเป็นปกติ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างให้ทราบว่า ไม่ใช่เรา คำนี้คือ ทั้งหมดของธรรมที่ทรงแสดงไม่ว่า จะโดยนัยหลากหลายมากมายสักเท่าไหร่ โดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต และพระองค์นี้ และพระองค์ต่อไปข้างหน้า ก็กล่าวถึงสิ่งที่มี ตามปกติแต่ว่าเป็นความเข้าใจขึ้น จะเข้าใจทันทีไม่ได้ เพราะแม้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีนานเท่าไหร่ แล้วใครนะช่างคิดว่า จะเป็นพระโสดาบันชาตินี้ จะเป็นพระอรหันต์ชาตินี้ จะได้ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณชาตินี้ ขั้นนั้น ขั้นนี้ ก็คือไม่เข้าใจธรรม ซึ่งเป็น เรื่องละ เห็นไหม ตรงกันข้ามกับชาวโลก เมื่อไหร่ที่ต้องการให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นชาวโลก ไม่ว่าจะต้องการอะไรทั้งสิ้น เรื่องใดทั้งสิ้น ขณะนั้นเป็นชาวโลก แต่ว่าถ้าได้ฟังธรรมแล้ว เริ่มรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกที่เคยเป็นสัตว์ บุคคล เรื่องราวต่างๆ ซึ่งเที่ยงโดยมีความสำคัญเหลือเกิน อยากจะแก้ไขอย่างนี้ อยากจะทำอย่างนั้น แล้วได้ไหม แค่ทำเห็น ใครทำเห็นได้ ทำได้ยินหน่อย ใครทำได้ แค่นี้ทำไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไร ซึ่งเกินวิสัยเพราะเหตุว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” ลืมไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ มีความหวังดีกับทุกคน เพราะเหตุว่า จริงๆ แล้ว ความหวังดีแท้จริงไม่จำกัด ไม่ใช่ว่าหวังดีกับคนในครอบครัว “เมื่อไหร่พี่เรา น้องเรา จะได้เข้าใจธรรม” เขายังไม่สนใจธรรมเลย มีพี่น้องสัก ๕ คน สนใจสัก ๒ คน และอีก ๓ คนละ เมื่อไหร่เขาจะสนใจธรรม นี่คือ ความห่วงใย ถ้าเป็นความหวังดีก็คือว่า ธรรมไม่ใช่สำหรับพี่เรา น้องเรา แต่สำหรับทุกคนใช่ไหม และทุกคนที่สะสมมาที่มีปัจจัยที่จะได้ยิน ได้ฟัง ไม่ต้องเรียกร้องเลย เขาต้องมีชีวิตที่ผันมาสู่การที่จะได้ฟังธรรม เพราะมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว ที่จะทำให้สนใจที่จะเข้าใจธรรม ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลก หรือแม้แต่ที่เทวโลก พรหมโลกก็ตามแต่ แต่ละหนึ่งเป็นแต่หนึ่งจริงๆ เราก็มีความหวังดีที่จะให้แต่ละหนึ่งดีขึ้น และเข้าใจธรรมด้วย ก็พยายามทำทุกอย่างในชีวิตที่เกิดมาก็แสนสั้นกันทุกคน ที่จะรักษาจิตของตัวเอง แก้ไขตัวเอง ไม่ใช่ว่าเพียรให้คนอื่นเขาดี แล้วเราเป็นทุกข์มาก เมื่อไหร่เขาจะเป็นอย่างที่เราต้องการ นั่นก็คือว่า ไม่ได้รักษาใจของตัวเองเลย มุ่งคิดแต่ที่จะให้เขาดี และมาเป็นทุกข์ที่เขาไม่ดี นี่คือ ไม่ถูกแล้วก็ไม่ตรง และไม่เข้าใจธรรม กล่าวได้เลยว่าค่ะ ใครคิดอย่างนี้ไม่เข้าใจธรรม เพราะคิดว่า ธรรมเป็นอัตตา เป็นสิ่งที่ใครจะไปพยายามจัดแจง ขวนขวายได้ แต่จริงๆ แล้ว จิตแม้ของตัวเอง ทำอะไรได้ แล้วจะไปทำจิตคนอื่นได้หรือ เพราะฉะนั้นจิตหนึ่งนี้เมื่อมีโอกาสได้ฟังธรรมเข้าใจขึ้น ขณะนั้นธรรมนั่นแหละรักษาจิตนั้น

    เพราะฉะนั้น จะเอายาอื่นมารักษา ไม่มีทางเลย แต่ก่อนอื่นขอให้ทราบว่า ใครจะเป็นคนดีสักเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าไม่เข้าใจธรรม ดีไม่พอ จำได้เลยว่า ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะเป็นคนดีขึ้นไหม แต่ถ้าคิดว่า เราดีกว่าเขา หรือว่าเขาดีกว่าเรา แล้วจะพอได้อย่างไร ใช่ไหม ก็ยังคงเป็นความไม่ดีอยู่ เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ขัดเกลา เพราะเหตุว่ากิเลสนี่ประมาณไม่ได้ หลับตานึกเท่าไหร่ ก็คิดถึงจักรวาลก็แล้วกัน ว่ามากอย่างนั้นแล้วจะดับหมดไปได้อย่างไร และถ้าไม่เริ่มวันนี้ เดี๋ยวนี้ แล้วเมื่อไหร่จะมีปัจจัยที่จะเริ่ม เพราะว่าก็สะสมอกุศลต่อไปมากมายมหาศาล เพิ่มกว่าที่จะละวันนี้ด้วยซ้ำ เพราะเหตุว่ามีเพิ่มเข้ามาอีก

    ด้วยเหตุนี้ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีค่าที่ประมาณไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว เป็นเหตุให้เกิดความเห็นถูกต้อง และเป็นประโยชน์จริงๆ เพราะเริ่มเห็นอกุศลโดยเฉพาะของตนเอง ใครจะแก้ให้เรา ไม่มีทางเลย แต่ความเข้าใจธรรมเห็นว่าไร้สาระไหม ถ้ายังคงไม่รู้แล้วก็เป็นไปตามโลภะ โทสะ หรืออะไรก็ตามที่สะสมมา ที่จะไม่สนใจ ที่จะรักษาจิต ที่จะฟังธรรมซึ่งมีค่า เพราะเหตุว่า ไม่รู้ว่าจะได้ฟังธรรมต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ใครจะรู้

    เพราะฉะนั้น ทุกคำที่ได้ฟังประโยชน์มหาศาลจริงๆ ที่จะรู้ว่า เพื่อใคร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี นานเท่าไหร่ แต่ละพระชาติ ขันติวาทีดาบส ชาตินั้นใครทนได้ แต่ถ้าไม่ทนถึงอย่างนั้น จะสามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ไหม ถ้ายังคงเห็นแก่ตัว หรือว่าเห็นแก่ความสุขของตัวเอง ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงขณะนั้นก็เป็นอกุศลธรรมไม่ใช่เรา แต่จิตที่มีอกุศลธรรมนั้นก็สะสมไปมากมายมหาศาลเพิ่มไปอีก เพราะฉะนั้นการฟังธรรมโดยความเป็นผู้ละเอียด และไม่ลืมว่า ”เพื่อละ”

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    6 พ.ค. 2567