ปกิณณกธรรม ตอนที่ 777


    ตอนที่ ๗๗๗

    สนทนาธรรม ที่ กนกรัตน์ รีสอร์ท อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

    วันที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เมื่อสิ่งที่มีจริงมี และควรรู้ยิ่งไหม ด้วยเหตุนี้ข้อความที่มีในพระไตรปิฏก สิ่งที่ควรรู้ยิ่งคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งคนที่ได้ฟังแล้วพูดตาม หรือว่าผิดจากพระธรรม ตรงกันหรือตรงกันข้ามกัน เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรรู้ยิ่ง มีถึง ๓ ระดับขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ หรือสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เพื่อไม่ให้หลงเข้าใจผิดว่า ฟังนิดๆ หน่อยๆ ก็จะเป็นปัจจัยให้ปฏิปัตติ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐานเกิดได้ ไม่ใช่ ต้องถึงความมั่นคงยิ่ง เป็นสัจจญาณ ไม่เปลี่ยนแปลง ว่าปัญญาสามารถถึงเฉพาะเห็นที่กำลังเกิดดับขณะนี้ได้ แต่ไม่ใช่ในขั้นฟัง แต่ต้องเป็นขั้นที่มีความมั่นคงในความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นก็ไม่เลือกเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สภาพธรรมใด เมื่อการถึงพร้อมของการสะสมความเห็นถูก มีปัจจัยจะเกิดตรงไหนก็ได้ ข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ละท่านก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในที่ต่างๆ กัน ในครัวก็มี ที่ไหนก็ได้ บนชั้นที่ ๗ ของปราสาทก็ได้ ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเพราะใครต้องการทำให้ถึง แต่เพราะปัญญาความเห็นถูกได้อบรมแล้วโดยความเป็นอนัตตา พร้อมที่จะเกิดโดยความเป็นอนัตตา เมื่อเกิด บุคคลนั้นก็เห็นจริงในความเป็นอนัตตา ว่าไม่มีเราที่จะไปกะเกณฑ์หรือจะไปรู้ ท่านพระสารีบุตรท่านรู้ก่อนไหม ว่าท่านจะพบท่านพระอัสสชิ ได้ฟังคำนั้นๆ ก็ไม่รู้ก่อนเลย แม้เพียงขณะต่อไปขณะเดียวก็ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

    นี่คือความมั่นคงในความไม่ใช่เรา ในความเป็นธรรมซึ่งเกิดได้เมื่อมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นแม้สติสัมปชัญญะก็เกิดได้เฉพาะเมื่อมีเหตุปัจจัย คือความเห็นถูกอย่างมั่นคง ซึ่งใช้คำว่าปริยัติ ต้องรอบรู้จริงๆ มั่นคงจริงๆ เป็นสัจจญาณ จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิปัตติคือกิจจญาณ การเกิดขึ้นของธรรมที่เป็นสติสัมปชัญญะที่ทำกิจ ถึงเฉพาะเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ไม่เลือกสถานที่เลย ไม่มีเราไปทำ ไปรู้แจ้งอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะว่าสภาพธรรมที่ปรากฏ ต้องปรากฏโดยลักษณะที่เป็นธรรม ถ้าเห็นปรากฏ ไม่มีคนเลย มิฉะนั้นแล้วจะไม่รู้รอบในธาตุรู้ ซึ่งไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเจือปนเลยทั้งสิ้น ไม่มีรูปร่าง โลกทั้งโลกไม่เหลือ เพราะว่าขณะนั้นเฉพาะเห็นที่เกิดขึ้น และมีสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ถึงเฉพาะแต่ละ ๑ จึงสามารถที่จะรู้รอบในสิ่งนั้นได้ เพราะไม่มีสิ่งอื่นปะปนเลย ทีละ ๑ แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และการเกิดดับขณะนั้นก็ปรากฏในลักษณะที่ไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม แต่ละหนึ่งหลากหลายซึ่งเลือกไม่ได้ ว่าขณะนี้อะไรจะปรากฏที่เกิดขึ้น และดับไป จะเป็นเสียง จะเป็นแข็ง หรือจะเป็นคิด หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งกำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็มั่นคงก่อนในการเข้าใจถูกต้องว่าเป็นอนัตตา ละความหวัง เพราะเหตุว่า ถ้าหวังแล้วเกิดขึ้นได้ทุกคนก็เพียงหวัง ไม่ต้องเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น ละการคิดที่จะไปทำอะไร เพราะขณะนั้นก็คือไม่เข้าใจว่าขณะนี้ไม่ต้องทำ ธรรมก็เกิดแล้ว เห็นก็เกิดแล้ว ได้ยินก็เกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดแล้วต่างหากที่แสดงความเป็นอนัตตาว่า เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งซึ่งถ้าจะสนทนากันเกื้อกูลกันด้วยความเป็นมิตรที่หวังดี ก็คือต้องพูดถึงความจริง และก็ต้องรู้ด้วยว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ กล่าวไว้โดยสิ้นเชิงโดยประการทั้งปวง ไม่ใช่มีอาจารย์ท่านหนึ่งท่านใด อาจารย์ท่านนี้กล่าว อาจารย์ท่านนั้นกล่าว แต่ทุกคำเป็นความจริงซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เพราะฉะนั้นก็ศึกษาธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว

    อ.อรรณพ การที่จะเข้าใจพระธรรม ก็คือเป็นการอาศัยพยัญชนะ เข้าใจอรรถ แล้วก็ไม่จำกัดว่าพยัญชนะนั้นจะต้องเป็นภาษาอะไร เป็นภาษาที่คนสามารถเข้าใจในภาษานั้นได้ ไม่ใช่จะยึดจากข้อความที่คิดว่า เป็นพุทธพจน์ พุทธวจนะ แล้วก็เอาคำนั้นมา โดยที่ไม่มีความเข้าใจอะไร แต่ลวงเหมือนว่าเป็นคนที่เข้าใจโดยที่ว่าไม่เอาคำอื่น คำอรรถกถาจารย์ก็ไม่เอา ขนาดคำท่านพระสารีบุตร ก็ไม่คิดจะฟังใช่ไหม

    แต่ว่าพระธรรมอาศัยภาษามคธี หรือภาษาบาลี เป็นภาษาที่รักษาพระธรรมไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่จะเข้าใจจะต้องใช้ภาษาบาลีอย่างเดียว ดังข้อความในทีฆนิกาย ศีลขันธวรรคดังนี้ ท่านพระอานนท์แสดงเนื้อความนี้ว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ละเอียดโดยนัยต่างๆ ตั้งขึ้นด้วยอัธยาศัยมิใช่น้อย สมบูรณ์ด้วยอรรถ และพยัญชนะ มีปาฏิหาริย์ต่างๆ ลึกซึ้งโดยธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธ มาสู่คลองโสตะ สมควรแก่ภาษาของตนๆ ของสัตว์โลกทั้งปวง ใครเล่าที่สามารถเข้าใจได้โดยประการทั้งปวง แต่ข้าพเจ้าแม้ใช้เรี่ยวแรงทั้งหมดให้เกิดความประสงค์ที่จะสดับ ก็ได้สดับมาอย่างนี้ นี่คือคำท่านพระอานนท์ กล่าวว่า คือแม้ข้าพเจ้าก็ได้สดับมาโดยอาการอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเข้าใจด้วยภาษาของตนๆ และท่านอาจารย์ก็ได้ยกข้อความในพระไตรปิฎกในสาระที่ว่า ถ้าเป็นคำจริง ทุกอย่างก็เป็น รวมลงในพระพุทธพจน์หมดเลย

    อ.คำปั่น ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า ในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงตรัสรู้ความจริง แล้วทรงแสดงความจริง แล้วมีผู้เป็นสาวก คือผู้ที่เกิดตามคำสอนของพระองค์ คือเป็นผู้ที่ฟังคำสอนของพระองค์ แล้วก็ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เพราะฉะนั้นก็มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระบรมศาสดา และมีพระสาวกคือ ผู้ที่ฟังพระธรรมคำสอนของพระองค์ ก็มีพระสูตร สูตรหนึ่ง มีผู้ถามท่านพระอุตตรเถระว่า การที่พระคุณเจ้าได้กล่าวธรรมแก่ผู้อื่น พระคุณเจ้าเอามาจากไหน ท่านก็เลยกล่าวด้วยข้ออุปมาว่า มีกองข้าวเปลือกกองใหญ่อยู่กองหนึ่ง ผู้ที่มีกำลังมีความสามารถแค่ไหน มีกระเช้าบ้าง มีตะกร้าบ้าง ที่จะไปเอาข้าวเปลือกนั้น เมื่อเอามาแล้วก็จะมีคนถามว่า เอาข้าวเปลือกมาจากไหน คนนั้นก็จะบอกว่า เอามาจากข้าวเปลือกกองใหญ่ เช่นเดียวกัน ผู้ที่เป็นสาวกที่กล่าวคำจริงทั้งหมด ก็ได้ฟังมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าคำจริงทั้งหมดเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่คือข้อความที่ปรากฏโดยสรุปจากอุตตรสูตร ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันแล้วว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่กล่าวคำจริง ก็ล้วนแล้วแต่กล่าวคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด

    พระอัสสชิเถระซึ่งเป็นหนึ่งในภิกษุปัญจวัคคี ได้กล่าวธรรมกล่าวคำจริงแก่อุปติสสปริพาชกคือท่านพระสารีบุตร คำที่ท่านกล่าวมาจากไหน ก็ต้องมาจากการที่ได้ฟังพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะไม่กล่าวคลาดเคลื่อนจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเลย เพราะฉะนั้นคำจริงทั้งหมดเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็ได้ยินคำว่า พระรัตนตรัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม และผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมก็ถึงความเป็นพระอริยบุคคลเป็นรัตนะ เพราะฉะนั้นจะไม่เคารพในพระสงฆ์หรือในสาวกที่เป็นพระอริยบุคคลได้อย่างไร

    ผู้ฟัง เราเห็นพวกสัตว์เลี้ยงบ้าง อะไรบ้าง ก็อยากจะซื้อหามาเลี้ยงดูเขา แต่จริงๆ แล้วเราก็คงจะได้รับความสุข ความเพลิดเพลินจากที่เราเลี้ยงเขามา แต่เมื่อได้ฟังท่านอาจารย์ เราก็ไปคิดใหม่อีก อย่างนั้นเราต้องเอาออกจากการเลี้ยงดูของเรา ก็อพยพออกไปให้คนอื่นเขาหมดอะไรอย่างนี้ แล้ววันหนึ่งก็เกิดคิดขึ้นมาอีกว่ากลับไปเอามาเลี้ยงใหม่ ก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ เรียนถามว่าจะปฏิบัติต่อจากนี้ไปอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีสัตว์เลี้ยงที่เคยเลี้ยงแล้วตอนกำลังเลี้ยงอยู่จริงไหม จริง เอาไปให้เขาจริงไหม จริง เอากลับมาใหม่จริงไหม ก็จริง จริงทั้งหมดเลย แต่ไม่รู้ว่า ไม่ใช่เรา แม้แต่คิดว่าเราจะเปลี่ยน หรือเราจะทำ หรือเราจะให้ดีขึ้น ขณะนั้นจริงไหมที่คิดอย่างนั้น จริง ทุกอย่างจริงเป็นธรรม ที่สำคัญที่สุดคือไม่ใช่ให้เราไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีการสะสมที่เราไม่รู้ตัวเลย กำลังนอนแล้วลุกขึ้น เป็นเรา หรือว่าสะสมมาที่ขณะนั้นมีปัจจัยทำให้ลุกขึ้น เดินไปก็ไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่เกิดมา มีจิตเห็น มีจิตคิดสารพัดเรื่อง ทั้งหมดจริง เป็นสิ่งที่เกิดแล้ว เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นตามการสะสมของแต่ละคน ในแต่ละวัน แต่ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา ก็เป็นธรรมดาของความไม่รู้ที่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะไม่รู้จึงเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น จากการเห็นหนึ่งขณะ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง "เห็น"นี้ไม่ใช่หลายขณะเลย เพียงแค่หนึ่งขณะแล้วดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะอื่น เกิดสืบต่อเดี๋ยวนี้เองเป็นอย่างนี้ แต่จิตอื่นๆ ไม่ได้ทำกิจเห็น แต่นำมาซึ่งการคิด การจำในสิ่งที่เห็นพร้อมกับความคิดต่างๆ กันไป แล้วแต่ใครจะทำอะไรจากที่กำลังเห็น ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ได้ไปห้ามหรือไม่ได้ไปปรับปรุง หรือว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดแล้ว แต่จากการฟังพระธรรมเลย เริ่มมีความเข้าใจถูกว่า ไม่ว่าใครจะคิดอะไร เราหรือเขาหรือชาวต่างชาติที่โน่น ที่นี่ ที่นั่นในโลก หรือแม้บนสวรรค์ แต่ละหนึ่ง ก็คิดไปตามการสะสม เทพแต่ละองค์ก็คิดไม่ซ้ำกัน ที่จะมาเฝ้าพระพุทธเจ้าก็มี ที่ดีดพิณก็มี ที่จะไปสวนนันทวันก็มี ต่างคนก็ต่างคิดตามเหตุตามปัจจัยซึ่งเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นจะไปปรับปรุง ไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดแล้วไม่ได้ แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังความจริงว่าทั้งหมดจริง ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะขยับเคลื่อนไหวจะพูด จะคิด จะทำทั้งหมดจริงหมดเลย แต่ไม่ใช่เราเป็นธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ๒ คนบ้านเดียวกัน คิดต่างกัน ทำต่างกัน ตามเหตุ ตามปัจจัยซึ่งต่างคิด ต่างทำ เกิดแล้วจะไปแลกกันก็ไม่ได้ ให้เขามาคิดอย่างที่เราคิดก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดแล้วให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ หรือคิดจะเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งใดจะเกิดต้องเป็นสิ่งที่เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมเพื่อรู้ว่า นี่แหละคือความจริง ความจริงก็คือว่าไม่มีใครสักคนที่จะไปเปลี่ยนแปลงการสะสมมา ที่จะเป็นแต่ละคนแต่ละความคิด เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมก็คือว่า รู้ว่า ถึงจะเปลี่ยนสักเท่าไหร่ก็ยังคงเป็นเรา เพราะไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงที่เปลี่ยนไป คิดว่าเราเปลี่ยน คิดว่าเราคิดอย่างนี้ทำให้เราทำอย่างนี้ แต่ความจริงก็คือการสะสมที่แต่ละหนึ่ง สะสมมา ที่จะทำให้คิดอย่างนั้น และทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเคยเข้าใจว่าเป็นเราหมด แล้วก็เคยยึดมั่นในความเป็นเราทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิดนึกมานานแสนนาน กว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น นานเท่ากับที่ได้เคยเป็นเรามาแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็ฟังธรรมเพื่อค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริง คิดก็จริงไม่ใช่ไม่จริง แต่คิดไม่ใช่เห็น ต่างคนก็ต่างคิดตามการสะสม คิดแล้วก็หมดไป คิดใหม่ คิดก็คิดแต่ละคำแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องยากที่ว่ามีปัจจัยเกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ ปรากฏเหมือนพร้อมนิมิตเลย นิมิตหมายความว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏรูปร่างสัณฐานต่างๆ กัน เช่นเสียงเหมือนกับว่าเกิดดับเร็วมาก แต่ไม่เท่าการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยที่ว่าเสียงยังไม่ทันดับเลย มีความชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ เป็นกุศล และอกุศลในเสียงนั้นแล้วก่อนที่เสียงจะดับไป แล้วใครจะรู้ได้ในการเกิดดับที่เร็วมาก แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร แล้วเราเป็นใคร

    เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งสภาพธรรมของพระองค์ต้องต่างกับคนอื่นมากมายมหาศาล คำสอนที่ทรงแสดงอุปมาเหมือนใบไม้ ๒-๓ใบในกำมือ ซึ่งพระปัญญาของพระองค์เปรียบเสมือนใบไม้ในป่า เพราะฉะนั้นเราก็ฟังแล้วก็เข้าใจทีละเล็ก ทีละน้อย ค่อยๆ รู้ว่าสิ่งนี้จริง แต่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะว่าไม่ใช่มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ได้รู้ความจริง เมื่อได้ทรงแสดงความจริงแล้วผู้ที่เริ่มเข้าใจถูก เห็นถูก ก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ จนกระทั่งละคลายความเป็นเรา แม้คิด คิดแล้วก็ดับไป พรุ่งนี้จะทำอะไร คิดแล้วใช่ไหม แต่จะทำหรือเปล่า จะได้ทำหรือเปล่า หรือว่าจะจากโลกนี้ไปก่อนที่จะเป็นอย่างที่คิด เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เป็นข้างหน้าต่อไป แม้เพียง ๑ ขณะก็ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิด สิ่งที่แล้วมาเรียกกลับมาอีกไม่ได้เลย เป็นสิ่งที่ไม่ย้อนกลับมาที่จะเป็นอย่างนั้นอีกได้ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ก็คือ ณ กาลครั้งหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ เหมือนกับชาติก่อน สถานที่นี้มีมานานเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ หรือที่อื่นๆ ที่เราเคยไปมา มีมานานเท่าไหร่แล้วไม่รู้ แต่ว่าจิตจะมีการเห็น การได้ยินเกิดดับแถวนั้นหรือเปล่า ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ฉันใด จากโลกนี้ไปก็ไม่รู้ว่าเคยได้ยิน ได้ฟังคำที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว พอที่จะเป็นปัจจัยให้เห็นประโยชน์ของการได้ยิน ได้ฟังอีก แม้เพียงเล็กน้อย เพราะว่าจะจากโลกนี้ไปอีกเร็วหรือช้าไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ก็มีสิ่งที่ได้ฟังมาแล้ว ทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่คือธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา คิดได้ คิดอะไรก็ได้ทั้งนั้นเลย คิดมากๆ ก็ได้ คิดแปลกๆ ประหลาดๆ ก็ได้ แต่จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ฝัน ใครคิดบ้างก่อนฝันว่าจะฝันอย่างงี้ เป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหม คืนนี้จะฝันไหม ใครจะรู้ คืนนี้จะฝันเรื่องอะไร ใครจะรู้ ก็ไม่รู้สักอย่าง ฉันใด เดี๋ยวนี้จะคิดอะไรก็เหมือนฝัน เพราะคิดกับฝันต่างกันตรงที่ ฝันไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้คิดเหมือนเดี๋ยวนี้ มีสิ่งที่ปรากฏอย่างไรก็คิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่ในฝันไม่มีสิ่งที่ปรากฏแต่จำไว้หมดเลย กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ตั้งแต่เล็กมา ประสบอะไรบ้าง ก็วิจิตรพิสดารมาก สัญญาความจำก็เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แค่คิด แล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เกิดมาก็มีขณะที่ไม่ได้คิด ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แล้วก็คิด แล้วก็ไม่ได้คิด แล้วก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน สลับกันอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะตาย ก็เท่านั้นเอง และสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ก็ดับ แล้วก็ไม่กลับมาอีก ตอนเย็นใกล้จะมาถึงแล้ว ก็จะเห็นสิ่งใหม่ไม่ใช่สิ่งนี้ แล้วก็ไม่เห็นอีก เป็นอย่างนี้ตลอดทุกชาติ เพราะฉะนั้นการฟังก็คือให้รู้ว่า มีจริง สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้นั่นเอง แต่สั้นมาก น้อยมาก และไม่อยู่ในบังคับบัญชา เพราะฉะนั้นแม้แต่จะคิดว่าเราจะทำความดี เพราะว่าเห็นโทษของอกุศล และความไม่รู้ ขณะนั้นคิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ให้ทุกคนคิดอย่างนี้ได้ไหม ไม่ได้ แต่คิดแล้วดับแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ก็คือว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย

    อ.ธิดารัตน์ ธรรมทีละ๑ หมายถึงว่า เวลาที่ธรรมปรากฏลักษณะทีละอย่างใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏจะรู้สิ่งนั้นได้ไหม

    อ.ธิดารัตน์ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อปรากฏแล้วไม่รู้ ใช่ไหม

    อ.ธิดารัตน์ ส่วนใหญ่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยการศึกษา ชื่อหรือว่าเรื่องราวของธรรมเพื่อเข้าใจตัวธรรม

    ท่านอาจารย์ ใครรู้

    อ.ธิดารัตน์ ปัญญารู้

    ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ทรงแสดงให้คนอื่นได้รู้ตาม

    อ.ธิดารัตน์ เพราะฉะนั้นการศึกษาหรือว่าการที่จะศึกษาโดยถูกต้อง ที่ใช้คำว่าตั้งตนไว้ชอบ จะมีทั้งคำว่าตั้ง มีคำว่าตนด้วย จะอธิบายเพิ่มเติมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตั้งตนไว้ชอบ เป็นเราตั้งตนไว้หรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ จริงๆ ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะไม่ลืมคำแรก"ธรรม"สิ่งที่มีจริง ซึ่งแสดงไว้ ประมวลไว้แล้วว่าได้แก่ จิต ธาตุรู้เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ตั้งแต่เช้ามาก็เห็นนั่น เห็นนี่ ได้ยินนั่น ได้ยินนี่ คิดนั่น คิดนี่ ลิ้มรสนั่น ลิ้มรสนี่ ลืม ถ้าไม่มีธาตุรู้ สิ่งใดๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นฟังธรรมแล้วลืม จึงต้องฟังบ่อยๆ ให้เป็นความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นว่า เดี๋ยวนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทั้งหมด ถ้าไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาจะปรากฏอย่างนี้ได้ไหม ถ้าไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้นได้ยิน เสียงอย่างนี้จะปรากฏว่ามีได้ไหม เพราะฉะนั้นมีแต่สิ่งที่ปรากฏโดยลืมว่าเพราะธาตุรู้ต่างหาก ที่ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยขาดเลย แล้วแต่ว่าจะเห็นเป็นธาตุรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏว่ามีจริงๆ พอได้ยินก็เสียงมีจริงๆ พุ่งความสนใจใส่ใจแต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏ แต่ลืมสนิทคำแรก ถ้าไม่มีธาตุรู้อะไรๆ ก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นกว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่เราฟังทีละหนึ่งมั่นคงจริงๆ ว่า ขณะนี้เรากำลังพูด แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ ลืมว่าก่อนพูดถ้าไม่มีจิตคิด เสียงจะออกมาได้ไหม ปาก ลิ้นจะขยับไปได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ก็ลืมสนิทเลยว่าแท้ที่จริงแล้วไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏ เพราะธาตุรู้กำลังรู้สิ่งนั้น แม้แต่เดี๋ยวนี้ และทุกขณะ ถ้าไม่มีธาตุรู้อะไรก็ไม่ปรากฏ คนตายไม่มีธาตุรู้ ไม่มีจิต ไม่เห็น ก่อนตายมีเห็น คนตายไม่ได้ยิน ก่อนตายมีได้ยิน แล้วก็คิดนึก ตายแล้ว ไม่มีทางที่ศพหรือซากศพรูปนั้น จะคิดนึกอะไรได้ เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้ความจริงก็คือว่า สภาพธรรมมี ๒ อย่างที่ต่างกัน คือสภาพธรรมสิ่งที่มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แล้วก็ไม่ใช่ของใครเลยสักอย่าง ธรรมเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าไม่เกิดก็ไม่มี แล้วจะเกิดเองตามความพอใจก็ไม่ได้ ต้องมีปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดเฉพาะเป็นสิ่งนั้นแล้วก็ดับไป ใครจะรู้ เพราะไม่รู้จึงหลงยึดถือว่าเป็นเรา ทั้งคิด ทั้งเห็น ทั้งกะเกณฑ์อย่างนั้น เตรียมอย่างนี้ แต่ความจริงก็คือทั้งหมดก็เป็นธาตุรู้ โต๊ะ เก้าอี้ คิดอะไรไม่ได้ จำอะไรไม่ได้ ค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจ และทุกคำอย่าเพิ่งผ่านเลยไป ตราบใดที่ขณะนี้มีธาตุรู้ แต่ยังไม่รู้ความจริงว่าธาตุรู้ไม่มีรูปร่างเลย เป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่ถูกรู้เพราะมีธาตุรู้เกิดขึ้นรู้ เช่นเห็นมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นธาตุรู้ คือธาตุที่เห็น เกิดขึ้นเห็น เห็นแล้วดับ และใครจะสามารถเข้าใจถึงความจริงที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตเห็นเกิดแล้วดับ ๑ ขณะ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    28 ส.ค. 2567