ปกิณณกธรรม ตอนที่ 778


    ตอนที่ ๗๗๘

    สนทนาธรรม ที่ กนกรัตน์ รีสอร์ท อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

    วันที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ ธาตุรู้ คือธาตุที่เห็น เกิดขึ้นเห็น เห็นแล้วดับ และใครจะสามารถเข้าใจถึงความจริงที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตเห็นเกิดแล้วดับ ๑ ขณะ ขณะนี้ “เห็น” ไม่เห็นดับเลยสักขณะเดียว “เห็น” หมดเลย โต๊ะก็เห็น อะไรๆ ก็เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แสดงว่า เห็นเกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ นี้เพียงแค่เห็นอย่างเดียว แล้วได้ยิน แล้วคิดนึก ทั้งวันก็เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นรู้ ตั้งแต่เกิด ขณะใดที่มีอะไรปรากฏ นั่นแหละ คือธาตุรู้กำลังรู้สิ่งนั้น ไม่ว่าจะ”คิด” ขณะนั้นก็เป็นธาตุรู้ ที่กำลังเกิดขึ้น ”คิด” หลังจากที่ “เห็น” แล้ว

    เพราะฉะนั้น กว่าจะได้เข้าใจว่า นี่คือพระธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่ต้องไปทำอะไรเลย เพราะเกิดแล้วตามเหตุ ตามปัจจัยทั้งหมด นี่คือการที่จะค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า ที่เคยเป็นเราก็คือธรรมที่มีจริงซึ่งเกิดขึ้นหลากหลายมาก แต่ละคนเป็นแต่ละ ๑ ในบ้านมีกี่คน แล้วทั้งประเทศมีกี่คน ทั้งโลกมีกี่คน แล้วโลกอื่นเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจิตคือธาตุรู้เกิดดับ นับไม่ถ้วน ประมาณไม่ได้เลย แต่มีจริงๆ ขณะที่มีสิ่งหนึ่ง สิ่งใดปรากฏ ฟังแล้วจะไปเตรียมอะไรหรือไม่ เตรียมทันหรือไม่ เกิดแล้วทั้งนั้นเลย คิดได้ คิดก็มีทั้งคิดดี คิดไม่ดี ถ้าคิดจะทำดีเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา แต่โสภณเจตสิก เริ่มรู้แล้ว คิดไม่ใช่เรา และก็คิดที่ดีก็เพราะมีสภาพธรรมที่เกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิต หลากหลายมาก มีทั้งเจตสิกที่ดี เจตสิกที่ไม่ดี และจะรู้หรือไม่ว่าขณะที่คิดนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพที่ตรึก คิด วิตก เพราะจำ แต่ละ ๑ ขณะที่จะเกิดขึ้นมาได้อาศัยปัจจัยหลายอย่าง ละเอียดมาก แต่ก็เพียงชั่ว ๑ ขณะที่เกิดแล้วดับ นี่คือกว่าจะเข้าใจเพื่อที่จะละความเป็นเรา

    อ.อรรณพ ความคิดนึก และความเข้าใจจากการศึกษาธรรม ต่างกันมาก หรือว่าคนละเรื่องกันเลย ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงความเข้าใจถูก คือเข้าใจธรรมทีละ ๑ เลือกไม่ได้ แต่ถ้าเป็นความคิดนึกของคนทั่วไปที่ไม่ศึกษาธรรม ก็จะเข้าใจว่า รู้อะไรหลายๆ อย่างรวมกันพร้อมกันไปเลย เช่น เห็นคนนั่งอยู่เต็มไปหมด เหมือนกับเลือกได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกว่าจะจาก เราเลือก เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเลือก ฉันทเจตสิก ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง แม้แต่จิต ๑ ขณะ มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่เราที่เลือก ทำไมคนนี้เลือกสีแดง ทำไมคนนั้นเลือกสีเขียว เป็นคนเลือก หรือว่าเป็นการสะสมมาที่พอใจในสิ่งนั้น ทำให้เกิดการที่จะต้องการสิ่งนั้นแต่ละหนึ่ง นี่คือการฟังธรรม จะข้ามผ่านไปเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องยาวไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจแต่ละคำ แต่ละอย่าง เช่น แม้แต่การเลือก เราเลือก หรือสะสมมาที่จะพอใจ ที่จะต้องการสิ่งนั้น เช่นการทำกุศล มีหลายอย่างใช่ไหม การศึกษาธรรมให้เข้าใจ เป็นกุศลแน่นอน เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจต้องเป็นอกุศล กุศลในการที่จะช่วยเหลือเด็กนักเรียน กุศลในการที่จะช่วยคนชรา คนยากไร้ แล้วแต่ขณะนั้นใครเลือก ต่างคนต่างทำตามการสะสม ซึ่งทั้งหมดเป็นธรรม ถ้าสงสัยอะไรก็ศึกษาธรรม แล้วก็จะได้ความกระจ่างว่า ถ้าไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร เป็นธรรมที่เป็นจิต หรือเป็นธรรมที่เป็นเจตสิกแต่ละหนึ่ง จนกว่าจะมีความมั่นคงว่า นี่คือสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ซึ่งคนอื่นรู้ไม่ได้ แต่คนอื่นฟังได้ และก็ฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ฟังด้วยความหวังว่าเราจะเป็นอย่างนั้น หรือจะทำอย่างนี้ ขณะนั้นก็คือโลภะ ความติดข้อง ไม่ใช่ปัญญา

    อ.อรรณพ ดูเหมือนว่า ความเข้าใจถูกตามธรรม จะตรงข้ามกับความคิดนึกของคนทั่วๆ ไปในทุกประเด็น ทุกเรื่องเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะถ้าเข้าใจอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ทรงแสดงก็ไม่ต้องฟัง แต่ฟังเพราะไม่รู้

    อ.อรรณพ ใคร่ครวญดู ว่าถ้าไม่ฟังธรรมก็เห็นว่า รู้รวมๆ ไปเลย คนมากๆ หลายคนอยู่พร้อมๆ กัน เห็นได้ยินก็พร้อมกัน พร้อมกับโกรธ เห็นปุ๊บก็โกรธปั๊บ รวมกันไปหมด แต่ธรรมต้องทีละหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แต่เห็น ก็ไม่ใช่ได้ยิน

    อ.อรรณพ คนเริ่มต้นเข้าใจยากว่าเลือกไม่ได้ เขาคิดว่าจะเอานี้ก็หยิบ จะหยิบ จะทานขนมจีนน้ำยา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะฟังธรรมต้องตามลำดับ ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงแต่ไม่ใช่เรา ต้องฟังให้เข้าใจก่อน ถึงจะรู้ว่าแม้เลือกขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นการสะสมมา

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นถ้ามีแต่ความเป็นเรา ก็คือเลือก เพราะว่าเห็นไปเองว่าเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่เข้าใจว่าธรรม แม้ได้ยินคำว่าธรรม ได้ยินคำว่าทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ลึกลงไปถึงจิตที่จะมั่นคงว่าทุกอย่าง แม้แต่การที่มือจะเอื้อมไป เพราะอะไร ทำไมไปหยิบขนมแทนที่จะหยิบผลไม้ เห็นไหม ก็มีปัจจัยทั้งนั้นที่สะสมมา

    อ.อรรณพ เขาก็คิดกันไปเป็นเรื่องราว ถ้าคนที่มีฐานะไม่ค่อยดีหน่อย หรือว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยจะมีความพร้อม ก็บอกว่า เลือกไม่ได้ ชีวิตคุณเลือกไม่ได้ แค่นี้ แต่ถ้าคนไหนที่มีสตางค์

    ท่านอาจารย์ แล้วใครเลือกได้

    อ.อรรณพ เขาคิดแล้วว่าคนไหน

    ท่านอาจารย์ คิดก็คิดไป ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม แต่ว่าความจริงใครเลือกได้ เลือกเกิดได้ไหม เลือกที่วันนี้จะไม่เจ็บ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ได้ไหม ต้องตรง แค่นี้ยังไม่คิดแล้วไปคิดเรื่องอื่น แล้วจะรู้ได้อย่างไร ในเมื่อขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ให้รู้ได้ ให้เข้าใจได้ ก็ไม่เข้าใจ

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น การฟังที่เข้าใจขั้นต้นว่า เป็นธรรมที่เป็นไป ที่เราว่า เราเลือกรับประทานอาหารชนิดโน้นชนิดนี้ หรือหยิบของโน้นของนี้ แต่ก็เป็นความเป็นไปของจิต เจตสิก รูป ที่เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก่อน ก็จะไม่สามารถถึงการที่จะรู้ธรรมทีละหนึ่งที่เลือกไม่ได้ ตามเหตุตามปัจจัยเลยจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังพระธรรม เราเลือก พอฟังพระธรรมแล้วอนัตตา แค่นี้พอไหม พอได้ยินคำว่าอนัตตาก็ศักดิ์สิทธิ์ไปเลย หรือว่าแล้วเป็นอย่างไรล่ะ อนัตตาอะไร ก็ต้องต่อไปอีก ไม่ใช่เผินๆ ว่าตอบคำเดียวว่าอนัตตา และอะไรล่ะ เห็นอนัตตาหรือได้ยินอนัตตาใช่ไหม ต้องมีความละเอียดลึกซึ้งไปเรื่อยๆ จะมั่นคงว่าอนัตตาคือสามารถจะเข้าใจในความเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่าอนัตตา คนที่พูดอนัตตาแล้วโกรธ เป็นได้ใช่ไหม ได้ หรือว่าพูดอนัตตาแล้วโกรธไม่ได้ใช่ไหม ตามความเป็นจริงว่าทั้งๆ ที่พูดคำว่าอนัตตาก็โกรธ แต่ว่าความเข้าใจอนัตตาในขณะนั้นมีหรือเปล่าว่า แม้ลักษณะที่โกรธก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่พูดว่าอนัตตา แล้วพอโกรธ ขณะนั้นเป็นความเข้าใจอนัตตาหรือ พูดได้ แต่ความเข้าใจแค่ไหน พูดคำว่าอนัตตา แล้วเข้าใจอนัตตาอะไรบ้าง เห็นเข้าใจว่าเป็นอนัตตาแค่ไหน ได้ยินเข้าใจว่าเป็นอนัตตาแค่ไหน กำลังโกรธเป็นอนัตตาแค่ไหน หรือพูดคำว่าอนัตตา แต่เวลาโกรธไม่ได้เข้าใจลักษณะที่โกรธว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแค่พูด แต่ต้องเป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่าเข้าใจระดับไหน เลือกไม่ได้เลย ถ้ากำลังโกรธเพราะมีเหตุที่จะต้องโกรธ แต่ก็ฟังมาแล้วว่าเป็นอนัตตา ขึ้นอยู่กับปัจจัยในขณะนั้นว่า มีความเข้าใจมั่นคงพอที่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่โกรธในขณะนั้น ว่านี่แหละๆ อนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีใครอยากโกรธ แต่โกรธเกิดขึ้นแล้ว และถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคง ไม่มีใครสามารถที่จะไปฝืนตัวเอง แต่ขณะนั้น เริ่มเข้าใจในสภาพที่ไม่ใช่เราที่เป็นความโกรธ

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ไม่ใช่แค่พูด คำนี้ได้ยินมานาน ชาติก่อนอาจจะเคยได้ยิน ชาติก่อนๆ โน้นก็คงจะได้ยิน พอถึงชาตินี้ก็ได้ยินอีก แต่เวลาเห็น เป็นอนัตตาหรือเปล่า ไม่ใช่เราจะไปบังคับให้มีความเข้าใจเห็นเดี๋ยวนี้ พยายามให้เห็นว่าเป็นอนัตตา แล้วแต่ว่าสะสมมามีปัจจัยที่จะเกิด แล้วก็เริ่มค่อยๆ รู้ในธาตุที่กำลังเห็น โดยที่ว่าไม่ใช่เราที่จะไปพยายามทำ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งละเอียด และต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมว่า การพูดหรือการเข้าใจว่าอนัตตา ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏ และขณะนั้นจะรู้ได้ว่า เข้าใจในความเป็นอนัตตาของสิ่งนั้นหรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์อธิบายคำว่าอนัตตาแล้ว ก็ยังมีกรรม และผลของกรรม การเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรมกับความเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ แต่กรรมคืออะไร

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าผู้ที่ศึกษาก็จะเข้าใจว่าคือ เจตนาเจตสิกที่เกิด

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องถึงเจตสิก แค่ความจงใจยังไม่รู้เลยว่าไม่ใช่เรา เป็นจิต เป็นเจตสิก แต่ความจงใจมีไหม มี เดี๋ยวนี้มีจงใจหรือเจตนาหรือเปล่า เห็นไหม

    อ.ธิดารัตน์ ตั้งใจฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจของเรามากน้อยแค่ไหน แค่รู้ว่าเจตนาความขวนขวายขวายที่จะกระทำ สภาพที่จงใจ เหมือนกับหัวหน้านักเรียน สหชาตธรรม คือ จิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นกับความจงใจก็เป็นไปตามความจงใจนั้นว่าจะทำอะไร เช่นในขณะที่กำลังนั่งอย่างนี้ ฟังอย่างนี้ ปกติแบบนี้ มีไหม ไม่มีใครสามารถที่จะตอบได้ ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ที่ทรงแสดงโดยละเอียดยิ่งว่า ลักษณะที่ขวนขวายจงใจมีทุกขณะจิต เมื่อจิตเกิดขณะใด ต้องมีเจตสิกสภาพที่จงใจเกิดร่วมด้วย ขวนขวาย กระตุ้นเตือน สหชาตธรรม คือ จิต และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดพร้อมตนให้กระทำกิจ นี่เป็นความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง กว่าจะรู้จักคำนี้จริงๆ ว่า ไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร และขณะนี้มีไหม

    เพราะฉะนั้น เราฟังจากตำรามีเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่เดี๋ยวนี้ใครจะรู้เจตนาเจตสิก ก็พูดไป แต่ว่าผู้ที่ตรงจะรู้ว่าเข้าใจอะไร เข้าใจระดับไหน เข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏหรือว่าเพียงเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรมว่า เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ แม้ในขณะที่เห็น แต่ต่างกับกุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ทั้งหมดมีคำตอบในคำสอน ๔๕ พรรษา เพื่อที่จะให้มีความเข้าใจถูก เป็นที่พึ่งในการที่จะรู้ความจริง มิฉะนั้นแล้วเราจะรู้ความจริงได้อย่างไร ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้

    ผู้ฟัง เรื่องอนัตตาอย่างวันนี้ วันที่ ๑ กรกฎาคม เหมือนว่าเป็นการกำหนดไว้ เหมือนไม่ใช่อนัตตา

    ท่านอาจารย์ คิดมีจริงๆ หรือไม่ มีจริง ไม่ให้คิดถึงวันพุธที่ ๑ กรกฎาคม ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ เพราะรู้แล้วก็จำไว้แล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะมีปัจจัยที่จะให้คิดคำนี้ คนอื่นไม่เห็นคิดอย่างนี้เลย เดี๋ยวนี้มีใครคิดบ้าง วันพุธที่ ๑ กรกฎาคม มีใครคิดบ้าง แต่คิดเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ต้องเพราะมีปัจจัยที่จะทำให้คิด

    อ.อรรณพ จริงๆ แล้ว ถ้าไม่ได้ฟังธรรมก็คิดไป แต่พอได้เข้าใจธรรมบ้าง เลือกอะไรก็ไม่ได้ ตอนนี้ ใครจะไปเลือกเห็น ใครจะไปเลือกได้ยิน เลือกได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส หรือแม้กระทั่งเลือกคิดนึก ใช่หรือไม่ คุณมณฑาคิดเรื่องวันพุธที่ ๑ กรกฎาคม ผมก็จะคิดตามเหมือนกันพอดีเหมือนกัน วันนี้วันหยุดธนาคาร รถไม่ค่อยติด แต่ถ้าก่อนที่จะไม่ได้พูด ผมก็จะไปคิดเรื่องอื่นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จริงๆ ว่าธรรมแสดงความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่าเลือกก็ไม่ได้ เห็นได้ยิน ก็ไม่ได้เลือกจะคิดให้เหมือนกันก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้เห็นในความเป็นอนัตตานั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้มานาน นับไม่ถ้วนเลยสังสารวัฏฏ์ และยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฎว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเราด้วย นานแสนนานมาแล้วอัตตสัญญา จำไว้มั่นคงเหลือเกินว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นดอกไม้ เพราะไม่รู้ แต่ถ้ารู้แล้วก็จะค่อยเข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแต่จำ จำไม่พอ แต่ต้องมีการไตร่ตรอง การพิจารณาเข้าใจอย่างมั่นคง ว่าสิ่งที่มีขณะนี้ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดจะมีอะไร ก็ไม่มีอะไรหมดเลยใช่ไหม เมื่อเกิดแล้วดับ เราก็ไม่เคยคิดมาก่อน จนกระทั่งได้ฟังพระธรรม จากใครต้องรู้ด้วย จากผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริงถึงที่สุดที่เปลี่ยนอีกไม่ได้เลย แล้วค่อยๆ ฟังว่า เห็น เลือกได้ไหม คนตาบอด ไม่มีตา คือจักขุปสาท ทำอย่างไรก็เห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเห็นแค่นี้ ยังต้องอาศัยสิ่งที่ทำให้เกิดเห็น และเห็นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็นด้วย จะมีเห็นเปล่าๆ โดยไม่มีสิ่งที่ถูกเห็นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ถูกเห็นไม่ใช่เห็น และเราก็ลืม เวลานี้ใครคิดถึงเห็นบ้าง คิดถึงแต่สิ่งที่ถูกเห็น หรือแม้แต่คิด ใครคิดถึงคิดบ้าง หรือใครคิดถึงเรื่องที่คิด วันพุธที่ ๑ กรกฎาคม แต่จิตต้องคิดแต่ละคำ ถ้าไม่มีจิตคิด ไม่มีธาตุรู้ที่กำลังคิดอย่างนั้น คำว่าวันพุธที่ ๑ กรกฎาคมก็ไม่มีในใจที่จะเป็นคิดถึงใช่ไหม เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน ทุกคนต้องยอมรับ แม้แต่คนที่ในครั้งพุทธกาลที่มีคำสอนต่างๆ มากหลาย ก็ไม่สามารถที่จะคิดความจริงข้อนี้ได้ พอถึงยุคปัจจุบันถ้าไม่ศึกษาธรรมจริงๆ ว่าคำใดเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต่างคนต่างคิดไป แต่ที่จะคิดว่าสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้แหละไม่ใช่ใคร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไปแล้วจะเป็นใคร และก็ไม่ใช่ของใครด้วย เกิดแล้วดับไป และไม่กลับมาอีก ไหนของเรา สิ่งนั้นไม่มีอีกแล้ว แล้วก็เป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    เพราะฉะนั้น การฟัง ฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแล้วเราอยากจะไปรู้ การเกิดดับ ความเป็นอนัตตา นั่นคือ ความเป็นเรา และความไม่รู้ ด้วยเหตุนี้ความรู้กับความไม่รู้ก็ไกลกันมาก กำลังเห็นก็ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้มานานถึงการเกิดดับ กว่าจะค่อยเข้าใจเห็นซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น และขณะใดที่มีเห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น อย่างอื่นต้องไม่มี เพราะว่าธาตุรู้เกิดขึ้น จะใช้คำว่าจิตเกิดขึ้น ธาตุรู้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง เพียงหนึ่งขณะเพื่อรู้สิ่งเดียว ขณะเดียวแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจะเร็วสักแค่ไหนซึ่งเป็นอย่างนี้มานานแสนนาน ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็เป็นอย่างนี้ในอดีต ปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ ต่อไปก็เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็คือ รู้ว่ากำลังฟังคำของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริง และทรงแสดงความจริงให้คนอื่นค่อยๆ เข้าใจถูก ยังไปรู้แจ้ง ประจักษ์แจ้ง การเกิดอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพราะว่าต้องเป็นการเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ด้วยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นเราที่พยายามจะไปเข้าใจให้มากๆ แต่การฟังแต่ละครั้ง คือเข้าใจขึ้น มั่นคงหรือยัง ถ้ามั่นคงสามารถที่จะทำให้ปัญญาอีกระดับหนึ่งเกิด ที่ชื่อว่า ปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเคยปรากฏมาแล้ว แต่ไม่เคยรู้ อย่างแข็ง มีใครบ้างที่ไม่รู้แข็ง แต่เช้ามาจนถึงขณะนี้กระทบแข็ง แข็งปรากฏกี่ครั้ง แต่ใครรู้ความเป็นธรรมของแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เหมือนเห็นต้องอย่างเดียวกัน เกิดขึ้นปรากฏแล้วดับไป เหมือนเสียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วดับไป เหมือนกลิ่นเกิดขึ้นปรากฏแล้วดับไป ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย เพราะว่าปัญญาเท่านั้นที่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ เพราะก่อนฟังเป็นความไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มี แต่พอฟังแล้วความไม่รู้ที่มีมากมายมหาศาล จะค่อยๆ ลดน้อยลง ไม่เกิดขึ้นในขณะที่มีความเข้าใจ ก็เป็นเรื่องที่ว่า เข้าใจความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่เที่ยง เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นมีจริงๆ ชั่วคราวแล้วก็หมดไป

    อ.คำปั่น จริงๆ เรื่องเวลาก็มี ปรากฏอยู่ในชาดกที่พระโพธิสัตว์ ถามลูกศิษย์ว่า อะไรย่อมกลืนกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง นี่คือคำถามของพระโพธิสัตว์ ซึ่งลูกศิษย์ของพระโพธิสัตว์ในสมัยนั้นเป็นผู้ที่เมาด้วยความสำคัญตน คิดว่าที่อาจารย์สอนทั้งหมด ตัวเองรู้เท่าอาจารย์ ก็ไม่มีความเคารพในอาจารย์ พระโพธิสัตว์ก็เลยคิดว่าจะกำจัดความสำคัญตนของลูกศิษย์ ก็เลยบอกว่า เราจะถามปัญหาพวกท่าน พระโพธิสัตว์ถามว่า ข้อที่ ๑ อะไรย่อมกลืนกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง ข้อที่ ๒ ใครเป็นผู้กลืนกินกาลซึ่งเป็นผู้ที่ดับตัณหาได้ ลูกศิษย์ตอบไม่ได้สักคน พระโพธิสัตว์บอกว่า ให้เวลาคิด ๗ วัน จนกระทั่ง ๗ วันผ่านไป ลูกศิษย์แม้แต่คนเดียว ก็ไม่มีใครตอบได้ พระโพธิสัตว์ก็เลยกล่าวให้เข้าใจว่า ทุกท่านทุกคน มีศีรษะที่ตั้งอยู่บนคอ แต่ว่าหาใครสักคนที่มีสติปัญญาไม่มีเลย คือเป็นการกล่าวให้เข้าใจว่า ขณะนี้ลูกศิษย์กำลังเมาด้วยความสำคัญตน

    คำถามที่ถามนั้น คำตอบก็คือ กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ และตัวมันเอง คือกาลเวลาไม่ได้กินเนื้อกินหนังของมนุษย์ แต่ว่าเวลาที่ผ่านไป ผ่านไป ชีวิตของแต่ละคนก็สั้นเข้า สั้นเข้า ใช่ไหม และเวลาที่ผ่านไป อย่างขณะที่รับประทานอาหารเมื่อสักครู่นี้ กลับมาอีกได้ไหม ไม่ได้ ก็ผ่านไปเรื่อยๆ นี่คือคำถามข้อที่ ๑ และที่บอกว่าใครเป็นผู้กลืนกินกาลซึ่งเป็นผู้ดับตัณหาได้ ก็คือพระอรหันต์ พระอรหันต์ดับตัณหาได้ ไม่มีการเกิดอีกเลย ไม่มีการเกิดขึ้นไปของสภาพธรรม ก็ไม่มีเหตุที่จะให้บัญญัติว่า เป็นคนนั้นคนนี้ที่เกิดมา ที่มีอายุเท่านั้นเท่านี้อีกแล้ว นี่คือความเป็นจริงที่พระโพธิสัตว์ แม้ในครั้งนั้นยังไม่ได้ตรัสรู้ความจริง แต่ว่าความคิดคล้อยตามความเป็นจริงก็เกิดขึ้นเป็นไปได้ และที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ลูกศิษย์ทั้ง ๕๐๐ นี้ ในชาติที่ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่บวชในพุทธศาสนา ได้ฟังพระธรรม แต่ว่ามีความสำคัญตนว่า ตัวเองได้รู้เท่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะกำจัดความสำคัญของภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนี้ ก็ได้กล่าวเรื่องในอดีต คือ มูลปริยายชาดก ซึ่งพระสูตรนี้คือ มูลปริยายสูตร ซึ่งลูกศิษย์ คือพระภิกษุที่ในชาติที่ได้บวชเป็นพระภิกษุ ได้ฟังความจริงนี้ก็รู้เลยว่า ตัวเองยังไม่รู้อีกมาก สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้นมีอีกมากที่เราไม่รู้ แต่เราสำคัญว่าได้รู้ ก็รู้ตัวตามความจริงด้วยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และในที่สุดภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนี้ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    28 ส.ค. 2567