ปกิณณกธรรม ตอนที่ 780


    ตอนที่ ๗๘๐

    สนทนาธรรม ที่ บ้านใบแก้ว จ.ประจวบคีรีขันธ์

    วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ผู้ฟัง ผมสงสัยเรื่องของธรรม ที่บอกว่า ธรรมคือการเห็น ท่านอาจารย์บอกว่า ไม่สามารถที่จะทำให้มันไม่เห็นได้ ในขณะเดียวกัน ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าคนตาบอดก็จะไม่เห็น ใช่ไหมครับ ทีนี้ว่า ถ้าเราหลับตา เป็นการบังคับตัวเองไม่ให้เห็นได้หรือไม่ครับ

    ท่านอาจารย์ เหมือนมีเราที่จะบังคับ โดยหลับตา ถ้าไม่มีจิต หลับตาได้ไหม คนตายหลับตาได้ไหม เพราะฉะนั้น ใคร หรือ อะไร ที่ทำให้รูปที่ลืมตา หลับตา หลับตานี่เป็นรูปใช่ไหม ต้องมีหนังตา แล้วก็หลับลง ถ้าลืม ก็หนังตานั้นก็ลืมขึ้น แต่อะไรเป็นปัจจัยให้ตาหลับ และลืม เพราะฉะนั้น เราเพิ่งเริ่มต้น ว่าสภาพธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่เรายังไม่ได้พูดถึงความละเอียด ว่าสิ่งที่มีจริง ต่างกันโดยประเภทใหญ่ๆ มี ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่ง มีจริง แต่ไม่สามารถ จะรู้ จะเห็น จะคิดอะไรได้เลยทั้งสิ้น แข็ง เวลากระทบสัมผัส แข็งก็ ไม่รู้อะไร ว่าใครมาจับ เสียงก็ไม่รู้ว่า ใครได้ยิน หรือไม่ได้ยิน กลิ่นก็ไม่ใช่สภาพรู้ รสก็ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง แล้วไม่รู้อะไร มีแน่นอน เป็นสภาพธรรมประเภทเดียวกัน คือ เป็นประเภทที่เกิดเป็นอย่างนั้น แต่ไม่รู้อะไรเลย สภาพธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติคำเพิ่มเติมจากธรรม ว่า รูป หรือรูปธรรม หมายความว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม มีลักษณะจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เป็นรูปธรรม ถ้าโลกนี้ มีแต่รูปธรรม เดือดร้อนไหม ก็ไม่รู้อะไรนี่ แข็ง ก็แข็ง จะมีรูปร่างของภูเขา หรือรูปร่างของดิน หรือรูปร่างของต้นไม้ แข็งก็เป็นแข็ง ไม่รู้อะไรเลย ทั้งหมดไม่รู้อะไรเลย แล้วจะมีการเดือดร้อนได้อย่างไร แต่ว่า ความจริงก็ยังมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างกันกับสภาพที่ไม่รู้อะไรโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่า เป็นธาตุ หรือเป็นธรรม มีปัจจัย เกิดขึ้นรู้ เพราะฉะนั้น ก็จำแนกสิ่งที่มีจริง เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ว่าสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีจริง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่งนั้น ไม่รู้อะไรเลย และสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ก็มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง เป็นสภาพรู้ เกิดขึ้น ไม่รู้ ไม่ได้ เช่นเห็นเดี๋ยวนี้ ใครจะรู้บ้างว่าเห็นเดี๋ยวนี้ คืออะไร มีจริง แต่ธาตุที่เห็น ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย จะไปจับก็ไม่ได้ จะไปบอกว่าแข็ง ก็ไม่ได้ แต่ว่าธาตุนี้เกิดขึ้น เห็น กำลังเห็น เพราะฉะนั้น ธาตุนี้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งมีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เวลาได้ยิน ก็มี ธาตุ หรือ ธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็กำลังได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น เสียงที่กำลังปรากฏแต่ละเสียง เพราะเหตุว่า มีธาตุได้ยินเกิดขึ้น เสียงนั้นจึงปรากฎ

    เพราะฉะนั้น ๒ ธาตุนี้ แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ธาตุหนึ่งเกิดขึ้น ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น อีกธาตุหนึ่งเกิดเมื่อไหร่ ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นที่เราบอกว่า คนเกิด สัตว์เกิด ก็เพราะเหตุว่า มีธาตุรู้เกิดพร้อมกับรูป แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปร่างของมนุษย์ หรือว่ารูปร่างของสัตว์ก็แล้วแต่ แต่ธาตุรู้ขณะนี้กำลังมีแน่นอนเพราะว่ากำลังเห็น เพราะฉะนั้นเห็นเป็นธาตุรู้ ได้ยินเป็นธาตุรู้ คิดนึกเป็นธาตุรู้ จำก็เป็นธาตุรู้ โกรธก็เป็นธาตุรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่เกิดขี้น ทำกิจของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ใช้คำว่า ไม่เที่ยง เที่ยงที่นี้ หมายความว่า ไม่ถาวร ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน เพียงแต่เกิดขึ้นทำกิจแล้วก็ดับไป ได้ยินดับแล้ว ได้ยินจะไปเกิดขึ้นทำกิจรู้โน่นรู้นี่ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า มีปัจจัยที่จะทำให้ธาตุนี้เกิดขึ้นคือ ต้องมีรูปที่สามารถกระทบเสียงที่กลางหู แล้วใครไปทำให้รูปนั้นเกิดขึ้น ใครทำได้ ไม่มีใครทำได้เลย ทุกอย่างที่เกิด ต้องมีเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา แล้วเราค่อยๆ ฟังธรรม ค่อยๆ เข้าใจ จนกระทั่งรู้ว่า สิ่งที่มีทั้งหมด ไม่เคยรู้มาก่อน เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และให้คนที่ได้ฟังมีความเข้าใจตามที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้วว่า เป็นสิ่งที่มีจริงชั่วคราว แสนสั้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้จึงเป็นนามธรรม เราค่อยๆ เข้าใจธรรมไปทีละเล็กทีละน้อย ต่อไปจะละเอียดจนกระทั่งรู้ความยกเว้น หรือว่าความละเอียดขึ้นของธรรม แม้แต่คำ ก็ไม่ได้มีความหมายเฉพาะที่เรากำลังกล่าวถึง ยังกว้างขวางออกไปอีก แต่ก็ต้องตั้งต้นด้วยความที่มั่นคงว่า สภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้มีแน่นอน เป็นรูปธรรม ส่วนสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ ไม่ใช่รูปธรรมเลย เกิดขึ้นต้องรู้ นั่นเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นจะมีเราแต่ที่ไหน ที่เข้าใจว่าเป็นเราก็คือ รูปธรรม และนามธรรม ที่เกิดร่วมกัน รวมกัน ก็เข้าใจว่าเป็นเรา อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ไม่ได้แยกกัน

    ขณะนี้มีนามธรรมไหม ต้องเดี๋ยวนี้ การเข้าใจธรรม ต้องหมายความถึงเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ด้วย จึงจะชื่อว่า เข้าใจจริงๆ ถ้าฟังธรรมเข้าใจแล้วก็ตอบได้ แต่ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ อะไรเป็นธรรม นั่นคือ ยังไม่ได้เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ต้องรู้ว่า เดี๋ยวนี้เป็นอะไรที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง กล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม กับนามธรรม อยากจะทราบว่าอะไรเป็นเหตุทำให้นามธรรมเกิดที่รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ในภูมิ ภูมิคือที่เกิด ที่มีรูป นามธรรมต้องเกิดที่รูป แต่ในภูมิที่ไม่มีรูป นามธรรมก็เกิดได้โดยไม่ต้องอาศัยรูป กำลังเห็นแท้ๆ จิตเห็นอยู่ที่ไหน ลองคิด จิตเห็นเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง ที่ตา

    ท่านอาจารย์ ต้องที่ตาเฉพาะรูปนี้ ไม่ได้ไปเกิดที่แข็ง ที่เย็น ที่หวาน ที่เค็ม อื่นๆ เลย แต่เกิดที่ตาเดี๋ยวนี้ ถ้าตาบอดคือ รูปนี้ไม่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตเห็นเกิดไม่ได้เลย ที่เราเรียกตาบอด หมายความว่า เพราะไม่มีรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฎ เหมือนเสียง ต้องกระทบกับหู แต่ไม่ใช่ใบหูทั้งหมด แต่เฉพาะรูปที่อยู่กลางหู มองไม่เห็นเลย แต่รูปนั้น เฉพาะรูปนั้นที่สามารถกระทบเสียง เพราะฉะนั้นแม้แต่รูปที่ตัว แต่ละรูป ก็หลากหลายต่างกันมาก แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ ผู้ถาม ถามว่า..

    ผู้ฟัง อะไรเป็นสาเหตุ

    ท่านอาจารย์ ให้

    ผู้ฟัง จิต นามธรรม เกิดที่รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ คำตอบก็คือว่า ในภูมิที่มีรูป จิตจะต้องเกิดที่รูป ยกตัวอย่างเช่น เห็น จะให้เห็นไปเห็นที่อื่น หรือจะให้เห็น เห็นที่ตา ได้ยิน ได้ยินที่หู รู้แข็งที่ไหน ที่กายที่กำลังกระทบ ที่กำลังปรากฎตรงแข็ง สภาพรู้ก็ต้องรู้แข็ง ตรงที่แข็ง ไม่ใช่ที่อื่น รู้ตรงแข็ง แต่สภาพรู้ ไม่ใช่แข็ง และสภาพของรูปที่สามารถกระทบแข็ง ก็ไม่ใช่แข็ง แต่เป็นรูปเดียวที่สามารถกระทบกับแข็งได้ ซึมซาบอยู่ทั่วกาย จักขุปสาท คือตา กระทบแข็งไม่ได้เลย ถ้ากระทบแข็ง กลายเป็นกายปสาท รู้สึกแข็ง แล้วก็เจ็บตา แต่ถ้าจะเห็น ขณะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฎขณะนี้ ไม่มีใครรู้ กระทบแล้วกับตาซึ่งเป็นรูปพิเศษที่ใช้คำว่า จักขุปสาทแล้วจิตเห็นก็เกิดที่ตา แล้วก็เห็นสิ่งที่กำลังปรากฎ ชั่วขณะหนึ่งในสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้น อาศัยปัจจัยที่เหมาะสมควรแก่สภาพธรรมนั้นเท่านั้น สภาพธรรมนั้นจึงเกิดได้ แม้ว่ามีตา นอนหลับก็ไม่เห็น กำลังได้ยินก็ไม่เห็น กำลังคิดนึกก็ไม่เห็น แต่เห็นขณะนี้เป็นชั่วขณะที่กำลังรู้ว่ามีสิ่งที่ปรากฎให้เห็นอย่างนี้ ขณะนี้กำลังเห็นจริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฎเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ที่ไม่เห็น ขณะนั้นก็เพราะไม่มีปัจจัย ที่จะทำให้เห็นเกิด

    ผู้ฟัง ในช่วงที่เรานอนหลับเราทุกคนมักจะมีอาการ ที่คล้ายๆ กันคือ มันจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นในความรู้สึกมากมาย อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าเห็นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน หลับสนิทหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้ามันเกิดอย่างนั้น ส่วนมากก็ไม่สนิท

    ท่านอาจารย์ ถ้าหลับสนิทจริงๆ เคยมีไหม

    ผู้ฟัง เคยหลับสนิท แต่ว่าพอหลับสนิท มันจะไม่เห็นอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เราพูดถึงสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง ตอนหลับสนิทก็มี หลับสนิทหมายความว่า ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกด้วย ขณะนั้นที่หลับสนิท มีอะไรปรากฎบ้างไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ต้องตรง เป็นใคร ชื่ออะไร กำลังหลับสนิท เป็นใคร ชื่ออะไร

    ผู้ฟัง เป็นใคร.. ไม่มีครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรปรากฎเลย ใช่ไหม แต่พอตื่น เห็น ได้ยิน เรื่องราวต่างๆ เรา มาละ เราเห็น เราได้ยิน แต่ตอนหลับสนิท ไม่มี และลองคิดดู วันนี้ทั้งวันตั้งแต่เช้ามา มีตั้งหลายอย่าง พอถึงเวลาหลับสนิท หายไปไหนหมด ทั้งวันหายไปหมดเลย วันนี้รู้สึกสำคัญ อาจจะทุกข์ร้อน อาจจะมีเรื่องกลุ้มใจ อาจจะมีเรื่องสนุกสนาน สารพัดอย่างทั้งวัน แต่พอถึงเวลาหลับสนิท หายไปไหนไม่เหลือเลย แล้วก็ต้องเป็นอย่างนี้ด้วย เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด จนถึงขณะสุดท้ายที่จากโลกนี้ไป ว่าคืออะไร ขณะนอนหลับสนิท บังคับให้เห็นได้ไหม ไม่ได้ แสดงว่า ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับธาตุหนึ่งธาตุใดให้เกิดขึ้น เพราะเราอาจจะเข้าใจว่า มีเห็น มีได้ยิน แต่ความจริง ขณะใดที่ไม่มี ขณะนั้นเพราะไม่เกิด และเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก หมายความว่า ไม่เหลือเลย ความเข้าใจต้องค่อยๆ มั่นคงขึ้นว่าความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าจะรู้ความจริงก็ต้องรู้ความจริงอย่างนี้ด้วย ไม่ใช่ไม่ตรงกับการที่เป็นจริง

    เพราะฉะนั้นจิตมีใช่ไหม เดี๋ยวนี้ แล้วก็โกรธ เป็นจิตหรือเปล่า จิตเป็นสภาพรู้ เช่น เห็น ได้ยิน เห็นรู้อะไร รู้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฎทางตาอย่างนี้ ได้ยินคืออะไร จิตได้ยินคือขณะที่เสียงนี้ ไม่ใช่เสียงอื่นเลย แล้วจิตก็รู้คือได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้น กล่าวได้ว่า จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แน่นอนใช่ไหม เพราะฉะนั้น สิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลี คือภาษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัส ใช้คำว่า อา-รัม-มะ-นะ หรือ อา-รัม-พะ-นะ แต่คนไทยส่วนใหญ่ชินกับคำว่าอารมณ์ ตัดอีกแล้ว แทนที่จะเป็น อา-รัม-มะ-นะ ก็กลายเป็นอารมณ์ แต่ว่าอารมณ์ในภาษาไทยก็เข้าใจผิด เพราะเหตุว่าไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียด แต่ว่าการศึกษาธรรม ต้องเข้าใจจริงๆ เปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าธรรมเป็นธรรม ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ถึงที่สุด ละเอียดอย่างยิ่ง ลึกซึ้งอย่างยิ่ง นี่เพียงเริ่มต้นจากคำว่าธรรม นามธรรม รูปธรรม

    จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฎ ขณะนี้เห็นไหม เห็นเป็นจิต มีสิ่งที่กำลังเห็นปรากฏ ขณะนี้ได้ยินไหม ได้ยิน เพราะฉะนั้น ได้ยินเป็นจิต และเสียงที่กำลังได้ยิน เสียงนั้นเป็นอารมณ์ จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต ชอบเสียงนี้ไหม ชอบ ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฎ เป็นใหญ่เป็นประธานที่ใช้คำว่าจิต แต่สภาพธรรมอื่นๆ ซึ่งเกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิต ก็เมื่อไม่ใช่จิต แล้วจะมาให้เรียกว่าจิตได้อย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติคำนั้นว่า เจ-ตะ-สิ-กะ คนไทยเรียกว่า เจตสิก เพราะฉะนั้น จิตเกิดพร้อมเจตสิก ดับพร้อมเจตสิก รู้สิ่งเดียวกัน แต่ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่สภาพธรรมอื่นๆ ชอบ ไม่ชอบ ดีใจ เสียใจ พวกนี้ ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิต และก็รู้สิ่งเดียวกับที่จิตรู้

    เพราะฉะนั้น ธาตุรู้มี ๒ อย่าง นามธรรมคือ จิต และเจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ต่อไปเราก็จะได้รู้ว่า ธรรม เกิดเองไม่ได้เลย ต้องอาศัยสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มี ก็อาศัยกันนั่นแหละเกิด เช่น จิตก็อาศัยเจตสิก เจตสิกก็อาศัยจิต เดี๋ยวนี้มีจิตไหม มีเจตสิกไหม มีอารมณ์ไหม อารมณ์คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้

    เพราะฉะนั้นเจตสิกรู้อารมณ์ด้วย จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดพร้อมกัน และก็ต้องดับพร้อมกันด้วย และก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกันด้วย ตอนนี้ก็คือ เดี๋ยวนี้ทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็คือธรรม ซึ่งเป็นจิต และเจตสิก และรูป จะมีคำถามต่อไปอีกได้เรื่อยๆ แต่ว่าเราศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ต้องเริ่มต้นด้วยพื้นฐานที่มั่นคง เวลานี้รู้จักจิตแล้ว ถ้าไปพบเพื่อนที่เขาไม่ได้ฟังธรรม เขาบอกว่า วันนี้จิตใจเศร้าหมอง เราก็รู้แล้วใช่ไหม ต้องมีจิตที่กำลังรู้ คือเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เรื่องดีบ้าง เรื่องร้ายบ้าง เห็น ได้กลิ่นที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง แต่ความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา มีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป สภาพรู้ก็คือ จิต เจตสิก แต่รูปไม่ใช่สภาพรู้ และจิต เจตสิก ก็รู้รูป ทั้งวัน เดี๋ยวนี้ เห็นสิ่งที่ปรากฎทางตา ขณะที่กำลังได้ยินเสียง จิต เจตสิก เกิดขึ้นได้ยินเสียง แต่เสียงก็ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นก็ เข้าใจพื้นฐานว่า นี่คือธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา แต่ตอนนี้ยังเป็นเรา เป็นเรามาตั้งแต่เกิด ก่อนจะเกิดก็เป็นเรามากี่ชาติ นานแสนนาน

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเริ่มเข้าใจจริงๆ แล้วก็ค่อยๆ ละคลายความติดข้อง จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งความจริง ตรงตามที่ได้ฟัง ก็เริ่มเห็นพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และรู้จักว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ สามารถกล่าวได้เลย เดี๋ยวนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เพราะเหตุที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริง ทรงแสดงความจริงให้คนอื่นสามารถเริ่มรู้ความจริงด้วย ซึ่งถ้าไม่ทรงตรัสรู้ ไม่มีใครรู้เลยว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่เรา จะไปไหนหรือเปล่า หรือว่าจะฟังทีละคำสองคำ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น ไม่ต้องไปไกล ไปไกลไปได้ยังไง แค่รู้แค่นี้ จะไปถึงไหน ก็ต้องฟังแล้วฟังอีกจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคง แล้วจะรู้ได้จริงๆ เป็นผู้ที่ได้สะสมบุญแต่ปางก่อน มีโอกาสให้ได้ยินได้ฟัง แล้วชาตินี้ก็จะเป็นปางก่อนของชาติหน้า เราจะจำไม่ได้เลย เคยอยู่ตรงนี้ แล้วก็สนทนาธรรม แล้วได้ฟังคำอะไรบ้าง แล้วก็ได้เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น แต่พอฟังอีกชาติหน้า เราก็ชินหู สามารถที่จะพอฟังก็เข้าใจได้

    ผู้ฟัง ในส่วนที่อาจารย์ว่า ไปเจอเพื่อน เพื่อนบอกจิตใจไม่สบาย ในขณะเดียวกัน เราเองก็ไม่หนีพ้นเรื่องนี้ได้ ในโอกาสที่จิตใจไม่สบายก็มี ถ้าอยากจะช่วยเพื่อน หรือช่วยตัวเอง ให้จิตใจที่ไม่สบายมันลดลงหรือหายไป ต้องย้อนกลับอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญาเห็นถูก จะให้ความทุกข์หมดไปได้อย่างไร เพราะถ้าเพื่อนบอกว่า จิตใจไม่สบายเลย แสดงว่า เพื่อนเข้าใจว่าจิตใจนั้นเป็นตัวเขา ไม่สบายก็เป็นตัวเขา ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ยังต้องเป็นทุกข์อยู่ เพราะเหตุว่าไปยึดถือสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เขา ว่าเป็นเขา เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า ความทุกข์ทั้งหมดเกิดเพราะไม่รู้ความจริงว่า อะไรๆ ก็บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าเขารู้ว่าขณะที่เป็นทุกข์ เกิดแล้ว ถ้าไม่รู้ก็เป็นทุกข์ต่อไปอีก แต่ถ้ารู้ก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็หมดแล้ว ขณะเห็นก็เป็นอีกหนึ่งขณะ ขณะได้ยินก็ไม่ใช่ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ต้องเป็นความรู้สึก อีกประเภทหนึ่ง ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดอย่างยิ่ง ค่อยๆ ศึกษาจนเป็นความเข้าใจที่มั่นคง และไม่เปลี่ยน จึงจะกล่าวได้ว่า เข้าใจ เข้าใจคำว่าธรรม เข้าใจนามธรรม เข้าใจรูปธรรม เข้าใจจิต เข้าใจเจตสิก สภาพธรรมมีจริงไหม มีจริง ใครเปลี่ยนแปลงได้ไหม เพราะฉะนั้นจะมีอีกคำหนึ่ง ซึ่งแสดงให้รู้ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมได้เลย ทรงบัญญัติใช้คำว่า ปรมัตถธรรม มาจากคำว่า ปะ-ระ-มะ คนไทยก็ใช้คำว่า บรม ยิ่งใหญ่ อัตถะ ต้องมีลักษณะของธรรมนั้นๆ ถ้าไม่มีลักษณะเราจะกล่าวถึงเนื้อความหรือความหมายของธรรมนั้นได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น เนื้อความทั้งหมด ก็คือลักษณะความเป็นจริงของธรรมนั่นแหละ เช่นกล่าวคำว่านามธรรม ก็คือว่าเนื้อความ ความเป็นจริงของธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทุกเสียง เป็นไปตามเนื้อความ พูดว่าเสียง จะไปคิดว่าได้ยินได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าธรรม ก็คือสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม หมายความว่า พอได้ยินคำนี้ก็รู้ เพิ่มความเข้าใจขึ้นว่า ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เป็นอนัตตา ไม่เว้นเลย ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา ทุกอย่างหมด เพราะฉะนั้นเพื่อนกำลังเป็นทุกข์ จะบอกเพื่อนว่า อย่าไปทุกข์ จะได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

    ผู้ฟัง สามารถอธิบายให้เพื่อนเข้าใจความจริงของทุกข์ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ทุกข์มีหลายอย่าง ขอเชิญคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น โดยความหมายก่อน ทุกข์ หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นธรรม ที่เกิดแล้วดับไป ไม่สามารถที่จะเป็นสภาพธรรมที่เที่ยง ที่ยั่งยืนได้เลย แต่ก็ทรงจำแนกหลากหลายตามความเป็นจริงของสภาพธรรม อย่างเช่นที่กล่าวถึง ที่จะสามารถเข้าใจได้ในชีวิตประจำวัน ว่า มีทุกข์กาย ทุกข์ใจ ซึ่งภาษาธรรมท่านเรียกว่า ทุกขทุกข คือหมายความว่าเป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ทนได้ยากจริงๆ กล่าวถึงความทุกข์ใจ คนที่ไม่สบายใจ ความรู้สึกขณะนั้น ไม่มีความสุขเลย มีแต่ความเดือดร้อน เช่นเดียวกันกับ ขณะที่เกิดความทุกข์กาย ได้รับความเดือดร้อนทางกายก็เป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่ทนได้ยาก อันนี้คือกล่าวถึง ทุกข์กาย ทุกข์ใจที่เป็น ทุกขทุกข นอกจากนั้น ในชีวิตประจำวัน ทุกท่านก็ต้องการความรู้สึกที่เป็นสุข แต่ว่าความรู้สึกนั้นไม่ได้เที่ยงไม่ได้ยั่งยืนเลย ก็ต้องมีความเปลี่ยนไป มีความติดข้องในสิ่งนี้ที่จะนำมาซึ่งความสุขโสมนัส ก็เพียงแค่ชั่วคราว แล้วก็มีความติดข้อง มีความอยากได้ในสิ่งอื่น ก็เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป เพราะว่ามีการแสวงหาอยู่เรื่อยๆ แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะว่าเมื่อติดข้องแล้ว ไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็เกิดความทุกข์ใจ และเมื่อกล่าวโดยประมวลทุกข์ทั้งหมด ที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปก็ประมวลเรียกว่า สังขารทุกข์ คือ สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับไป ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้นาน

    ท่านอาจารย์ หิวไหม ตอนนี้ไม่หิวใช่ไหม ก่อนรับประทานอาหารเช้า หิวไหม ใครชอบหิวบ้าง ทำไมต้องคิดนานว่า เอ๊ะ เราชอบหิวหรือไม่ชอบหิว พอชักหิว เริ่มรู้สึกว่า ไม่สบาย หิวละ เริ่มเห็นความเป็นทุกข์ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    10 ก.ย. 2567