ปกิณณกธรรม ตอนที่ 782


    ตอนที่ ๗๘๒

    สนทนาธรรม ที่ บ้านใบแก้ว จ.ประจวบคีรีขันธ์

    วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่คนที่คิดว่าจะไปปฏิบัติก็คือ ต้องการบุญ ขอให้ท่านอาจารย์ขยายความ คำว่าบุญ เพราะว่าทุกคนไปเพื่อหวังบุญ

    อ.คำปั่น ในคำว่าบุญ มาจากคำว่าปุญญ หมายถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ที่จะเป็นเครื่องชำระล้างจิตใจให้สะอาด ก็ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้นที่กล่าวถึงบุญ ก็คือสภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นไปในการให้ทานบ้าง เป็นไปในการรักษาศีล วิรัติการกระทำ ที่ไม่เหมาะไม่ควรต่างๆ หรือแม้กระทั่งขณะนี้ที่กำลังตั้งใจฟังความจริงที่เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แล้วมีความเข้าใจ ไปตามลำดับ ก็เป็นบุญ เพราะว่าเป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นเป็นไป

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมคำสอน แล้วก็มีความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวันนะครับ โอกาสของบุญที่จะเกิดขึ้นนั้นมีมากมายทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เท่าที่จะเป็นไปได้ หรือว่าการสงเคราะห์ผู้ที่ยากจน ตลอดจนมีโอกาสที่จะได้จัดให้มีการสนทนาธรรม อย่างในวันนี้ ก็เป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำให้ผู้อื่นได้เพิ่มพูนความเข้าใจ จากการได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน เป็นเหตุให้บุญ คือความดีเจริญขึ้น

    ท่านอาจารย์ กำลังเข้าใจอย่างนี้ เป็นบุญหรือไม่ ตอนนี้รู้จักบุญแล้วนะคะเพราะฉะนั้น ไปวัดไปทำอะไรคะ มีผู้ตอบว่าทำบุญ ทำอะไรขณะนั้นที่เป็นบุญ เห็นไหมว่าต้องละเอียดมาก เพราะว่าทุกอย่างมีคำตอบ เป็นความชัดเจน บุญคือธรรมฝ่ายดีงาม ซึ่งเป็นไปเพื่อการขัดเกลาชำระกิเลส เพราะฉะนั้นการฟังธรรม เป็นไปเพื่อการชำระล้างอกุศล หรือความไม่รู้ขัดเกลากิเลส เป็นเรื่องตรงเป็นเรื่องจริงที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไปวัดเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ผมไปเพื่อจะได้ถวายภัตตาหารพระภิกษุ จะได้ฟังพระธรรม แต่ธรรมที่ท่านแสดงเช่น การสวดมนต์ ถ้าเราฟังเฉยๆ แต่เราไม่สามารถเข้าใจความหมายได้

    คำปั่น จริงๆ แล้วถ้าหากว่าได้เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นว่า บุญคือธรรมที่ดีงาม เกิดขึ้นเป็นไปได้ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่เฉพาะในเวลาที่ไปวัดเท่านั้น ใช่ไหม มีการกระทำในสิ่งที่ดี ซึ่งในพระธรรมคำสอนนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า ที่กล่าวถึงว่าการกระทำบุญนั้น ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่บุคคลที่กระทำ แต่ว่าเป็นกิริยา คือเป็นการกระทำของบุญ ก็คือเป็นการกระทำหน้าที่ของธรรมฝ่ายดีเท่านั้น ก็คือมีธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศลธรรมนั่นแหละ ที่เกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกว่าเป็นการกระทำบุญ

    ท่านอาจารย์ ไปถวายภัตตาหาร อยากได้อะไรหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าสมัยก่อนไม่เข้าใจ ก็อยากได้บุญ เพราะคิดถึงเรื่องอานิสงส์ที่จะได้แล้วแต่ปัจจุบันหลังจากได้ศึกษาพระธรรมแล้ว เพื่อเกื้อกูลพระภิกษุคือท่านไม่ใช่เพศคฤหัสถ์ที่จะสามารถหุงหาอาหารได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ยินคำว่าบุญ หลายคนคิดว่าเหมือนวัตถุที่จะได้ แต่ไม่รู้เลยว่าเป็นธรรม เห็นไหมว่า ถ้าเราเข้าใจว่าธรรมก็ไม่มีเรา แต่เป็นธรรม ถ้าเป็นบุญจริงๆ ก็คือธรรมฝ่ายดีงาม เพราะเหตุว่าทุกวันนี้ก็มีธรรมฝ่ายไม่ดีงาม โลภะ โทสะมากมาย แต่ขณะใดที่เป็นบุญไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมฝ่ายดีงาม ซึ่งสามารถที่จะขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตใจที่ดีงามเกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเพื่อการสละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นที่เราให้ ที่เราใช้คำว่าทาน หรือทานะ ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น

    เพราะฉะนั้นไปวัด ต้องการอะไร เห็นไหมว่า ถ้าเป็นบุญขณะไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ที่เราสามารถที่จะไม่เห็นแก่ตัว แล้วก็เห็นแก่คนอื่นที่เขากำลังทุกข์ยากหรือลำบาก สามารถที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับใคร ด้วยการหวังให้ประโยชน์แก่ผู้นั้น ไม่ใช่เป็นการรับมาเพื่อเราจะได้บุญ หรือเพื่อเราจะได้สิ่งที่ตอบแทน ถ้าเป็นการกระทำด้วยความหวัง จะเป็นบุญไหม ก็ไม่เป็นบุญ

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรง ถ้าหวังไม่ใช่บุญ แต่การกระทำใดๆ เพื่อประโยชน์แก่คนอื่นโดยไม่หวัง ขณะนั้นเป็นบุญ เพราะฉะนั้นจะให้ใครที่ไหนก็ได้ ให้ได้ทั้งนั้น ด้วยจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้รับ ให้คนในบ้านเป็นบุญไหม หรือหวังให้เขาตอบแทนทำงานให้เราดีๆ เห็นไหมว่า ความละเอียดของสภาพจิตใจ ต้องเป็นผู้ที่ตรง ถ้าไม่ตรงไม่ได้สาระเลย เห็นอกุศลเป็นกุศล อยากได้ เพราะฉะนั้นก็พยายามที่จะทำโดยวิธีการต่างๆ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรงอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อจิตใจที่ดีงามเกิดขึ้น เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่เขา สละให้ได้ก็สละให้ ต้องไปวัดหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไปวัด หวังได้บุญหรือไม่ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้นั้นต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ แล้วให้ใคร การให้ มีการให้ มีผู้รับ ผู้รับเป็นใคร มีหลายบุคคลใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ คนที่ยากไร้ก็ได้ แต่เวลาไปวัด ให้ใคร

    ผู้ฟัง พระภิกษุ

    ท่านอาจารย์ พระภิกษุคือใคร ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน เพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต สละหมดทุกอย่างเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อขัดเกลากิเลส

    ท่านอาจารย์ โดยวิธีไหน

    ผู้ฟัง บวชเป็นบรรพชิต

    ท่านอาจารย์ บวชแล้วสละได้เลยหรือ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะสละได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ต้องศึกษาพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ศึกษาพระธรรม ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่เข้าใจพระธรรมเลย

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีการศึกษาธรรม แล้วมีการเผยแพร่ธรรม ให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย เป็นประโยชน์ไหม

    ผู้ฟัง เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าไม่มีการศึกษาธรรม ไม่มีการเผยแพร่สิ่งที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นประโยชน์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด และความเป็นผู้ตรง เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งทุกคนรู้ว่าอริยสัจธรรมมี ๔ ใช่ไหม ทุกขอริยสัจจะ ทุกขสมุทัยอริยสัจจะ คือเหตุของทุกข์ ทุกขนิโรธอริยสัจจะ ธรรมที่ดับทุกข์ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจะ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ นี่คือประโยชน์สูงสุด เพราะว่าทุกคนมีทุกข์ แต่ไม่เคยรู้จักทุกข์เลย ว่าการเกิดดับนี้แหละเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่รู้ เข้าใจจริงๆ ว่าชีวิตก็เป็นอย่างนี้ มั่นคงเป็นสัจจญาณสามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีประโยชน์ที่สุด ก็คือว่าได้มีความเห็นถูกในอริยสัจจะรอบที่ ๑ ไม่พอ ยังต้องมีการที่จะทำกิจ คือการปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม ตรงตามที่ได้ฟังทีละหนึ่ง เป็นรอบที่ ๒ เป็นกิจจญาณ หรือว่าจะใช้คำว่าปฏิปัตติก็ได้ จนกระทั่งถึงขั้นรอบที่ ๓ ขั้นปฏิเวธหรือกตญาน รู้สภาพธรรมเดี๋ยวนี้หรือขณะไหนก็ได้ เมื่อปัญญาถึงพร้อมที่ได้อบรมแล้ว โดยการแทงตลอดความจริง ตามที่ได้ฟังทุกอย่าง นั่นคืออริยสัจจะ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นผู้ที่ควรแก่การที่จะทำนุบำรุง เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้เฉพาะตน แต่ยังสามารถที่จะทำให้คนอื่นได้รู้ ได้เข้าใจด้วย เพราะฉะนั้นทุกอย่าง สามารถจะเป็นผู้ตรง และเข้าใจถูกด้วย ในการที่จะเป็นผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

    อ.คำปั่น คำถามที่ท่านอาจารย์ได้ถามผู้ฟังเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า ให้กับใคร เพราะพระภิกษุ โดยเพศ ก็คือเป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง คือเพศบรรพชิตเพื่ออะไร ก็คือเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส โดยอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และเมื่อเป็นเพศบรรพชิตแล้ว การดำรงชีวิตอยู่ก็จะไม่เหมือนคฤหัสถ์ ก็ต้องอาศัยศรัทธาของชาวบ้าน ที่มีศรัทธาที่จะถวายอาหาร และท่านผู้นั้น ซึ่งเป็นพระภิกษุจริงๆ ในพระธรรมวินัย ก็จะเป็นผู้ที่รู้คุณของก้อนข้าว ที่ชาวบ้านถวาย ก็จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ในการที่จะศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาประพฤติตน ให้เป็นบรรพชิตจริงๆ ในพระธรรมวินัย ท่านเหล่านี้ควรแก่การทะนุบำรุงจริงๆ

    แต่ถ้าไม่ได้เป็นอย่างนี้ บวชเข้าไปแล้ว ไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอน ไม่ได้ประพฤติตามพระธรรมวินัย มีชีวิตอยู่อย่างคฤหัสถ์ ทุกอย่างทุกประการ ชาวบ้านที่เอาอาหารไปถวาย ถวายให้แก่ใคร ไม่ใช่พระภิกษุในพระธรรมวินัย เป็นมหาโจร เป็นผู้ที่หลอกลวงชาวบ้าน เป็นผู้ที่ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ เพราะว่าความประพฤติเป็นไปของท่านไม่ใช่สมณะเลย เป็นคนลีบเหมือนกับเมล็ดข้าวที่ลีบมีสีเหลือง แต่ว่าข้างในไม่มีเม็ดข้าว เหมือนกับผู้ที่ครองจีวร เป็นสัญลักษณ์ว่า เป็นเพศบรรพชิต แต่ว่าข้างในของท่าน ไม่มีคุณธรรม ไม่มีความดีอะไรเลย

    นอกจากนั้น เป็นผู้ที่ไม่ละอายก็เป็นอลัชชี เป็นผู้ที่เที่ยวย่ำยีพระธรรมวินัย เป็นผู้ที่ไม่เคารพยำเกรงต่อพระรัตนตรัย เพราะว่าถ้าศึกษาในปฏิปทา หรือในข้อประพฤติปฏิบัติของบรรพชิตจริงๆ สูงสุดก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สละทุกสิ่งทุกอย่าง กับการที่จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระองค์ก็สละทุกอย่าง ไม่มีทางที่จะย้อนกลับไปหาสิ่งเหล่านั้น ผู้ที่เป็นพระภิกษุที่คล้อยตามพระองค์ ก็คือสละทุกสิ่งทุกอย่าง สละเงินสละทอง บวชเข้าไปแล้ว ท่านจึงรับเงินรับทองไม่ได้

    บุคคลในสมัยพุทธกาล ก็คือนายบ้านชื่อมณิจูฬก ซึ่งเป็นข้อความที่ปรากฏในพระสูตรๆ หนึ่ง ก็คือในมณิจูฬกสูตร คนในสมัยพุทธกาล มีการสนทนากันว่าพระภิกษุ ควรที่จะรับเงินรับทอง นี่คือความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เป็นถึงบริษัทของพระราชา ยังมีความคิดอย่างนี้ว่า พระภิกษุควรจะรับเงินรับทองได้ แต่ผู้ที่เข้าใจความจริง คือนายบ้านชื่อมณิจูฬก กล่าวอธิบายให้เข้าใจจริงๆ ว่า พระภิกษุรับเงินรับทองไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าก่อนบวช ท่านเหล่านี้ต้องสละเงินสละทองแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อบวชเข้าไปแล้ว จึงไม่สามารถที่จะรับเงินรับทองได้ นี่คือความเป็นจริง เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ปฏิญาณตน ว่าเป็นพระภิกษุแล้วรับเงินรับทอง นั่นไม่ใช่พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ แม้แต่การเรี่ยไรก็ไม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

    ผู้ฟัง การปฏิบัติธรรม ผมเข้าใจว่ามันไม่ใช่การที่เราไปวัดนุ่งขาวห่มขาว แล้วก็ไปนั่งสมาธินับลมหายใจ ดูลมหายใจอะไรก็แล้วแต่ แล้วแต่อาจารย์ที่ไหนจะบอกเรา พอมืดลงก็ทำวัตรเย็น เดินจงกรม เช้าตื่นมาทำวัตรเช้าตี ๕ ประมาณนี้ กวาดลานวัด ซึ่งก็เคยทำมา แต่ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่า นั่นคือการปฏิบัติธรรมหรือไม่ แต่ที่ฟังนี้ไม่ใช่แล้ว ผมกำลังเข้าใจว่าสิ่งที่ปฏิบัติธรรมก็คือ พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนอะไรไว้ที่เป็นธรรม แล้วเราได้ทำตามสิ่งนั้น ปฏิบัติตามคำสอน นั่นต่างหากคือคำว่าปฏิบัติธรรม ท่านแนะนำได้ไหมว่าถ้าการปฏิบัติธรรมที่ดีที่ถูกที่ควร ควรจะทำอย่างไร ปฏิบัติตนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความจริงเรื่องนี้ และเรื่องไปวัด เรื่องการทำบุญก็เรื่องเดียวกันทั้งหมด เพราะว่าเป็นเรื่องของความถูกต้อง และเรื่องของความเห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเกิดมาแล้ว ต้องการอะไร จากการที่ไม่เคยเข้าใจสิ่งที่มีตั้งแต่เกิดจนตายเลย และก็มีโอกาสได้ยินได้ฟัง แล้วก็สามารถที่จะไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกของตนเองนี่เป็นหลักที่สำคัญที่สุดว่าประโยชน์ของการมาที่นี่ วันนี้สนทนาธรรมกัน หรือที่ไหนเมื่อไหร่ก็ตามแต่ ประโยชน์คืออะไร ประโยชน์คือความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลย นอกจากได้ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเบื้องต้นตามลำดับ จนกระทั่งความเข้าใจถูกเริ่มมี ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ทำไมไม่ง่ายๆ ให้ไปนั่ง ทำอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็ท่านั้นท่านี้ แล้วก็จะหมดกิเลส จะเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม ไม่ได้ นี่ต้องตรง และเป็นความจริงที่จะมั่นคงอยู่ในใจเลย ตั้งแต่ ณ บัดนี้ จนถึงกี่ภพกี่ชาติ เพื่อที่จะได้รู้ความจริงว่า ความจริงต้องเป็นความจริง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ใครรู้ความจริง ไม่มีใครรู้ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไปทุกอย่างหมด อย่างละหนึ่งละหนึ่ง แล้วก็หมดแล้วจะเป็นเราได้อย่างไร แต่เพราะความไม่รู้ จึงเป็นเราจะปฏิบัติธรรม ใช่ไหม ไม่รู้เลยว่าไม่ใช่เราเลยทั้งสิ้นใช่ไหม เป็นเราจะไปปฏิบัติ ธรรมอะไร ไม่มีเหตุผลให้รู้อะไร สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูกของผู้ฟังเอง ซึ่งสิ่งอื่นไม่สามารถจะนำมาได้เลย เงินทองทรัพย์สินมหาศาลซื้อไม่ได้ ต้องเป็นการฟังพระธรรมแต่ละคำด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ที่จะต้องมั่นคงว่าธรรมเป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริง เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป เปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจะเป็นนั่งท่าไหน ที่ไหน และจะไปรู้ความจริงอย่างนี้ได้ไหม เดี๋ยวนี้ก็กำลังนั่ง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราจะไปรู้ ไม่ใช่เราจะไปทำ แต่เป็นความเข้าใจจากการฟังไตร่ตรองที่มั่นคงขึ้น ความเข้าใจเป็นธรรมหรือไม่ เกิดดับหรือเปล่า ต้องมั่นคงจริงๆ ถ้ามั่นคงจริงๆ ไม่เปลี่ยนสักคำ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีปัจจัยเกิดแล้วต้องดับ เพราะฉะนั้นก่อนนี้ไม่เข้าใจ และเข้าใจจากการฟัง เข้าใจขณะนั้นก็เกิด เข้าใจ แล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม เดี๋ยวนี้ปรากฏว่ามีจริง เพราะเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดจะมีไหม และเกิดเองก็ไม่ได้ ต้องอาศัยปัจจัยเฉพาะที่จะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น เมื่อเป็นแล้วเกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกสักอย่างเดียว อย่างนี้มั่นคงหรือยัง

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ มั่นคง เพราะฉะนั้นความเข้าใจเดี๋ยวนี้ เป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร ถ้าไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง เป็นธรรม อนัตตา

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต่อค่ะ ทีละคำถาม คือตรงต่อคำถามนั้น เพื่อที่จะได้เข้าใจขึ้นต่อไป ถ้าต่อไปยาวก็ไม่ตรงต่อคำถาม ก็ไม่ได้เข้าใจตามลำดับ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ใช่เราแล้วความเข้าใจขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงหรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมแน่นอน เพราะมีจริงเกิดขึ้น และก็ดับไปด้วย เพราะฉะนั้นไม่ได้เข้าใจตลอดเวลา เหมือนกับไม่ได้เห็นตลอดเวลา ไม่ได้คิดตลอดเวลา เป็นแต่เพียงจิตเกิดขึ้น ทีละหนึ่งขณะ พร้อมเจตสิกไม่ใช่หนึ่ง หลายเจตสิกเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้จิตเกิด จิต และเจตสิกเกิดขึ้นรู้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพรู้ เกิดขึ้นไม่รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ รูปไม่รู้อะไร จะให้รูปรู้ได้ไหม รูปคือสิ่งที่ไม่รู้ แข็งไม่รู้อะไร เสียงไม่รู้อะไร กลิ่นไม่รู้อะไร จะให้กลิ่นรู้ได้ไหม ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สุขทุกข์ไม่ได้ แข็งจะให้เกิดความรู้สึกได้ไหม จะให้รู้ว่ามีใครจับที่แข็งได้ไหม ก็ไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นธรรมที่มีจริง แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ กล่าวตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ก็คือ สภาพธรรมนั้นๆ ที่เกิดแล้วไม่รู้ มีแน่ๆ จะเปลี่ยนให้เป็นรู้อะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นรวมเรียกว่า"รูปธรรม" คือธรรมที่เป็นฝ่ายรูปซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แต่ถ้ามีแต่รูป ไม่เดือดร้อนใช่ไหม ไม่ต้องมีวัดวาอาราม ความเห็นถูกเห็นผิดใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ว่าใครจะยับยั้งไม่ให้ธาตุอีกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นต้องรู้ เหมือนกับแข็งเกิดขึ้นต้องแข็ง เสียงเกิดขึ้นต้องเป็นเสียง เพราะฉะนั้นธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ต้องรู้ ทางตากำลังเห็น นี่แหละ รู้ ธาตุรู้ ยากที่จะรู้ว่าเป็นธาตุรู้ เพราะเคยเป็นเราเห็น แต่ไม่ต้องคิดถึงอย่างอื่นเลย กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เห็นมีจริงๆ อย่างนี้ เป็นการรู้ว่าสิ่งที่มีจริงให้เห็นเป็นอย่างนี้ นั่นคือเห็น พอถึงทางหู ธาตุรู้ก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงนี่แหละไม่ใช่เสียงอื่น เสียงอื่นไม่ได้เลย ต้องเสียงที่ปรากฏ เพราะมีธาตุที่ได้ยินคือรู้เฉพาะเสียงนั้น ไม่รู้เสียงอื่นเลย ธาตุรู้ก็คือว่าเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แสดงว่าต้องมีธาตุรู้เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น เพราะฉะนั้นเราเรียกธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานว่า จิต ต่อไปนี้ใครพูดถึงจิต รู้เลย จิตเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นใหญ่เป็นประธานด้วย คือเกิดขึ้นเห็นไม่ทำอะไรเลย จำมีจริงๆ ไหม

    ผู้ฟัง มี เดี๋ยวนี้กำลังจำ

    ท่านอาจารย์ มีจำใช่ไหม จำ เป็นจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ คือความจริง กว่าจะถึงปฏิบัติ กว่าที่จะเข้าใจคำนี้ก็คือว่าเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่แค่ฟัง แค่ฟังยังไม่สามารถที่จะเห็นว่า ขณะนี้ไม่ใช่เราซึ่งเป็นธาตุเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ เป็นธาตุที่เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นกว่าจะเข้าใจอย่างนี้ มั่นคงเป็นปริยัติ ยังไม่รู้สภาพธรรมตรงลักษณะที่เป็นหนึ่ง เกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้นปฏิปัติจะต้องมีความเข้าใจ ปริยัติรอบรู้แม้แต่ธรรม จำมีจริงหรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า มีจริง ต้องไปให้คนอื่นยืนยันได้หรือ เกิดคนเดียว ตายคนเดียว เห็นคนเดียว ได้ยินคนเดียว เข้าใจคนเดียว ไม่เข้าใจคนเดียว เพราะฉะนั้นต้องรู้เลยว่า เป็นธรรมแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดดับสืบต่อ เวลานี้ก็กำลังเกิดดับสืบต่อ ไม่รู้จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นไม่มีการที่จะปฏิปัติธรรม เมื่อไม่มีความรู้อย่างนี้ก่อน เพราะฉะนั้นได้ยินใครพูดว่าปฏิบัติธรรม เขารู้อะไร เข้าใจอะไร ไม่เข้าใจอะไรเลย ไปทำอะไร ไปนั่งเหมือนที่พระพุทธเจ้านั่งก่อนตรัสรู้ แล้วประโยชน์อยู่ที่ไหน เวลานี้ใครก็นั่งได้ แต่สำคัญที่สุด คือปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้องตามลำดับ ขั้นนี้แค่รู้อย่างนี้ ยังไม่ถึงปฏิปัตติ เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดเลยที่จะชวนใครให้ไปปฏิบัติ ให้ไปทำอะไร เพราะว่าไม่ได้รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้นความต่างของผู้ที่มีความเข้าใจธรรม ก็คือผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ครองเรือน ฟังธรรมได้ เข้าใจธรรมได้ ปฏิปัตติธรรมได้ เพราะไม่ใช่เรา แต่เป็นความเข้าใจอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความเข้าใจขั้นปริยัติ มั่นคงรอบรู้โดยประการทั้งปวง จึงจะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมซึ่งเป็นปัญญา เริ่มเข้าใจสภาพธรรมตรงลักษณะถึงเฉพาะทีละหนึ่ง ทีละหนึ่ง นั่นคือปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เรา แต่เป็นสติสัมปชัญญะ เป็นเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่เกิดพร้อมปัญญา ไม่ลืมสิ่งที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นจึงรู้เฉพาะสิ่งที่ได้ฟัง และปัญญาก็เริ่มเข้าใจเฉพาะสิ่งที่สติระลึกในขณะนั้น จึงเป็นปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะด้วยปัญญา ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น ค่อยๆ อบรมไป ละคลายการยึดถือความเป็นเราจากสิ่งนั้น จนกระทั่งประจักษ์แจ้งสภาพธรรมซึ่งเกิดดับเมื่อไหร่เป็นอีกระดับหนึ่ง ที่จะคลายความเป็นเรา แต่ยังไม่ได้ดับความเป็นเราจนกว่าจะถึงพระโสดาบัน ซึ่งประกอบด้วยปัญญาอีกมาก ทั้งละเอียดทั้งลึกซึ้ง ถึงละความไม่รู้ และความติดข้อง ที่ยึดถือสภาพธรรมอย่างละเอียดยิ่ง เพราะฉะนั้นใครก็ได้ เพศไหนก็ได้ วัยไหนก็ได้ ที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจ เพราะเป็นธรรมไม่ใช่ใครสักคน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 177
    23 มิ.ย. 2567