ปกิณณกธรรม ตอนที่ 801


    ตอนที่ ๘๐๑

    สนทนาธรรม ที่ บ้านคุณทักษพล และคุณจริยา เจียมวิจิตร จ.นครปฐม

    วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เมตตา คนอื่นจะไม่รู้เลยนอกจากตัวเองหรือคนที่เห็นกิริยาอาการ และคำพูดที่ประกอบด้วยเมตตาของคนอื่น แต่ต้องเป็นเมตตาจริงๆ ไม่ใช่หวังผลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นธรรมสลับซับซ้อนยากที่จะรู้ได้ เพราะว่าสะสมมาละเอียดยิบ โดยไม่รู้เลย ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ จะแยกไม่ออกว่าคืออะไร เพราะสภาพธรรมเกิดดับเร็วสุดจะประมาณได้ ขณะนี้นับไม่ถ้วน สิ่งที่กำลังเหมือนมีก็จะดับแล้วทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจเมตตา เราก็มีความเป็นเพื่อนกับทุกคนได้ และมีความเป็นเพื่อนอย่างไร เสมอกันกับเขา เหมือนกันเลย เขาสุข เราสุข เขาทุกข์ เราทุกข์ ไม่มีความรังเกียจ ไม่มีการสูงต่ำ ไม่มีอะไรทั้งนั้น เกิดคือเป็นเพื่อนไม่ว่าเขาเป็นใคร ใจของเรานี่สามารถที่จะเป็นมิตรอยู่ตลอดเวลากับเขาได้ เพราะฉะนั้นเป็นธรรมที่เป็นพรหมวิหาร ที่อยู่ของผู้ประเสริฐคือเป็นผู้ที่ไม่รังเกียจใคร ไม่โกรธใคร หรืออะไรก็ตามแต่เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะระลึกก็คือว่า ขณะใดก็ตามที่ขุ่นใจใคร ไม่ต้องมาถามเรื่องเมตตา พูดไปก็เท่านั้นเองใช่ไหม เพราะว่าขณะนั้นลืมแล้วว่าขณะนั้นไม่เมตตาจึงโกรธได้ แค่จะโกรธนี้ก็ยาก โกรธเขาได้นี่คิดดู อยู่ดีๆ ก็โกรธเขาได้นี่ถ้าไม่มีเชื้อของความโกรธในใจมามากมาย จะโกรธเขาไปได้เรื่อยๆ หรือ เห็นคนนี้เขาไม่ชอบ เห็นคนนั้นไม่ชอบ โน่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดีทั้งวัน แล้วอย่างไรจะไปสวดเมตตา จะไปท่องเมตตาหรืออะไร ก็ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นปัญญาเท่านั้นที่สามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงในทุกอย่างทุกคำที่ได้ฟัง รู้ว่ามีความเป็นเพื่อน เพื่อนโกรธเพื่อนได้ไหม โกรธขณะไหนไม่ใช่เพื่อนในขณะนั้น ไม่ว่าเขาเป็นใคร โกรธใครก็ตาม คนนั้นไม่ใช่เพื่อน ขณะนั้นไม่มีเมตตา แต่ก็เป็นสิ่งที่ยาก ไม่ใช่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าอกุศลสะสมมามากมายมหาศาล พระธรรมเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งที่แท้จริงเมื่อเข้าใจ แล้วก็จะรู้ว่าทุกคำเป็นประโยชน์มหาศาลจริงๆ ที่สามารถที่จะทำให้สิ่งที่เคยเกิดมากๆ ก็เกิดน้อยลงจนกระทั่งในที่สุดก็สามารถที่จะไม่เกิดอีกเลยได้ในสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นเมตตานี่ คงไม่มีปัญหาเป็นเพื่อนได้ทุกกรณี ทุกสถานที่ ทุกบุคคล หวังดีตลอดกาล อย่างนั้นดีกว่า คือจะไม่มีเวลาใด กาลใดที่เราจะเป็นศัตรูกับใคร ไม่ว่าเขาเป็นใคร เห็นไหมว่ากว้างออกไปอีกไหมว่าเขาเป็นใคร

    ผู้ฟัง เมตตาตากับโลภะ ใกล้กันมากไหม

    ท่านอาจารย์ มาก โลภะเป็นศัตรูใกล้ของเมตตา โลภะเป็นศัตรูใกล้ชิดของเมตตาเพราะว่าถ้าไม่ใช่ปัญญาจะไม่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เมตตาแต่เป็นโลภะ การจะให้ของคนนี่ให้เสมอกันไหม ก็เป็นเครื่องวัดอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเหตุผล อย่างผ้าเนื้อดี พระภิกษุ ก็จะให้อุปัชฌาย์อาจารย์ด้วยความเคารพ หรือว่าให้ภิกษุป่วยไข้ไม่ว่าเป็นประโยชน์กับเขาที่จะใช้สอยในการที่จะสบายขึ้น คือถ้ามีเหตุผล ทุกอย่างก็รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ด้วยความติดข้อง ไม่ใช่ด้วยโลภะ เพราะ ๒ อย่างนี้คล้ายกันมาก เพราะฉะนั้นที่มีคำพูดว่าเมตตาที่มีต่อคนอื่น เหมือนแม่ที่มีต่อลูก ฟังเผิน แม่รักลูกต่างหาก เพราะฉะนั้นเมตตาคนอื่นเหมือนแม่ต่อลูกก็กลายเป็นไปรักคนอื่นเหมือนแม่รักลูก ไม่ถูกต้อง แต่ความจริงก็คือว่าสามารถจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนนั้นเท่ากับที่แม่ทำประโยชน์กับลูกไหม

    เพราะฉะนั้นธรรมไม่ใช่เราฟังแล้วตามแล้วก็ไม่ไตร่ตรอง แต่ต้องคิดเพราะเหตุว่ามันเป็นสภาพจิตที่ใกล้เคียงกันมากแล้วก็ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นแม้แต่จะให้หรือแม้แต่จะรับ ขณะนั้นเป็นเมตตาหรือว่าเป็นโลภะ หรือว่ามีเหตุผลในการที่จะรับหรือไม่รับ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ระหว่างเมตตากับโลภะ ลักษณะที่เราจะได้เห็นความต่างของเมตตากับโลภะอย่างไร

    ท่านอาจรย์ โลภะเป็นความติดข้องใช่ไหม ให้แล้วหวัง หรือเปล่า ให้ลูกนี่ แล้วลูกตอบแทนด้วยความเคารพ และเชื่อฟังอะไรหรือเปล่า เห็นไหม แต่ให้คือให้ ไม่ว่าเขาเป็นใคร ให้โดยไม่หวังอะไรเลยทั้งสิ้นเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นโลภะทำให้ขุ่นใจได้ แล้วก็นำมาซึ่งความทุกข์ได้แน่นอนที่สุด นี้เป็นสิ่งที่ปิดบัง เห็นยากมาก ว่าความติดข้องนำมาซึ่งความทุกข์ แต่เมตตาไม่เคยนำความเดือดร้อนมาให้เลย เพราะว่าเป็นความบริสุทธิ์จริงๆ ไม่ได้หวังอะไรตอบแทนเลยทั้งสิ้น และความเป็นมิตรความเป็นเพื่อน โกรธก็ยังไม่โกรธ เพราะเหตุว่าจะไปโกรธเพื่อนได้อย่างไร ถ้ายังคงเป็นเพื่อนกับเขา จะโกรธเขาหรือจะทำร้ายเขาหรือ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาก็สามารถที่จะทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และก็สิ่งที่เป็นอกุศลปัญญาเห็นแล้วมีหรือที่จะไม่ละ แต่สภาพธรรมอื่นไม่ใช่เมตตาจะไม่เป็นอย่างนั้นเลย แต่ตรงกันข้าม

    ผู้ฟัง จะสรุปอย่างนี้ได้ไหมว่า ถ้าเป็นโลภะก็คือหวังผล

    ท่านอาจารย์ ติดข้อง นำมาซึ่งทุกข์

    ผู้ฟัง แต่ว่าถ้าเป็นเมตตาก็ไม่ได้หวังผล

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์เพราะเมตตาได้เลย เพราะฉะนั้นทุกข์เกิดเมื่อไหร่ รู้เลยว่ามาจากโลภะ ไม่ว่าจะสิ่งที่รัก เป็นคนหรือเป็นวัตถุ หรือเป็นสิ่งของใดๆ ทั้งสิ้น ทุกข์เกิดจากสิ่งนั้น เคยมีเสื้อสวยๆ หรือไม่ เดี๋ยวนี้ยังอยู่ไหม ไปไหน เสียดายไหม เห็นไหม แต่ถ้าไม่สวย หายไปก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไป ไม่เดือดร้อน ความติดข้องแม้เพียงเล็กน้อยก็นำความทุกข์มาให้โดยไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักเมตตา ขณะไหนเป็นทุกข์ รู้ได้เลยมาจากความติดข้อง รู้จักโลภะเสียก่อน แล้วก็จะรู้ว่าสภาพธรรมไม่ใช่โลภะมี แต่ทำได้อย่าง โลภะ หวังดีก็ได้ ช่วยก็ได้ โดยที่ไม่ติดข้อง แล้วใครจะบอกให้เราเข้าใจที่จะพ้นจากทุกข์ พ้นจากความติดข้อง ให้รู้ว่าเมตตาเป็นสิ่งที่ควรเจริญ โลภะเป็นสิ่งที่ควรละ พร่ำสอน ๔๕ พรรษา สิ่งที่เป็นโทษเป็นโทษจริงๆ สิ่งที่ไม่ดีไม่ดีจริงๆ กว่าปัญญาจะรู้ได้ แต่ต้องเป็นปกติ ผิดปกตินิดเดียวก็ผิดหนทาง ทางผิดมีมากเพราะโลภะ

    ผู้ฟัง เมตตากับกรุณาต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเขากำลังเป็นทุกข์ไม่ว่าทุกข์ใดทั้งสิ้น ทุกข์กายหรือทุกข์ใจ ก็จะรู้ได้ว่ามีทางใดที่เราจะช่วยได้ไหม การช่วยนี้ช่วยทั้งทรัพย์สินเงินทอง วัตถุสิ่งของหรือ คำพูดหรือการกระทำ หรือใจ เอาใจช่วยใช่ไหม ไม่ซ้ำเติมไม่อะไรทั้งหมดกับคนที่กำลังมีทุกข์ เพราะว่าเขากำลังเดือดร้อน นั่นก็คือกรุณาให้เขาพ้นจากทุกข์ เพราะฉะนั้นสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหากรุณา ทุกคนอยู่ในโลกของความทุกข์เพราะไม่รู้ ถ้าไม่มีพระมหากรุณาก็ไม่ทรงแสดงพระธรรม ข้อความในพระสูตร เมื่อจะทรงแสดงพระธรรม ทอดพระเนตรลงด้วยพระมหากรุณาอย่างยิ่ง เพราะว่าทุกคนอยู่ในที่ต่ำกว่า เพราะฉะนั้นทุกคำที่ออกมาจากพระมหากรุณา รู้ไหมว่ากำลังเป็นทุกข์ เห็นไหม ว่าไม่รู้ ทุกข์อยู่ก็ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นพระมหากรุณาก็แสดงให้เข้าใจถูกต้องว่าอยู่ในกองไฟ โดยไม่รู้ตัวเลย

    ผู้ฟัง ข้อหนึ่ง ก็คือมุทิตา

    ท่านอาจารย์ มุทิตาไม่ว่าอะไรที่ดีทั้งหมดนี่เกิดขึ้นมาเองหรือว่าเพราะกรรมที่ได้ทำแล้วนำมา ไม่ว่าจะลาภยศ สรรเสริญ สุข ชื่อเสียง บริวารอะไรทั้งหมด มาได้อย่างไร เป็นไปได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่พ้นกรรม ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่ากรรม มาแบบเบาๆ หรือเปล่าหรือ ว่าซัดมาโครมเดียวถึงไหน ซัดลงไปอีก จากสูงเป็นต่ำ จากสุข เป็นทุกข์ จากร่างกายแข็งแรงเป็นเป็นไข้ ใครทำ คนอื่นทำไม่ได้เลย กรรมทำได้ทุกอย่าง โดยไม่คาดคิดก็ทำได้ทั้งนั้นเลยสิ่งที่เกิดแล้ว ถ้าเป็นผลของกรรมก็ถึงเวลาที่กรรมนั้นให้ผลให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะกรรมที่ได้กระทำไว้แม้นานแสน เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ถึงเวลาหรือยังของกรรมที่จะให้ผล เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไรก็กรรมนั่นแหละ และที่ได้ทำแล้วไม่ใช่คนอื่นทำให้ เป็นธรรม แล้วก็มีตนเป็นที่พึ่ง แล้วก็เข้าใจอย่างนี้ถูกต้องเพราะธรรมเตชะ ธรรมเดช พระธรรมคำสอนทุกคำสามารถที่จะเผากิเลสความไม่รู้

    ผู้ฟัง ขอความละเอียดเรื่อง อุเบกขา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร กำลังถามเรื่องเมตตา กำลังถามเรื่องกรุณา กำลังถามเรื่องมุทิตา เขาได้ดีมีสุขไม่มีใครทำให้ แต่ผลของกรรม และตอนนี้ก็ถึงอุเบกขา เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง เฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เฉยๆ เป็นพรหมวิหารหรือเปล่า คนละเรื่องเลย เพราะฉะนั้นธรรมก็เป็นเรื่องละเอียดไม่ใช่เพราะใช้คำอุเบกขาก็มาถึงพรหมวิหารก็ใช่แล้ว อย่างนั้นไม่ใช่แต่ต้องรู้ว่าเป็นปัญญาที่สามารถที่จะเห็นถูกต้อง รู้ความจริงจนไม่หวั่นไหว

    ผู้ฟัง รู้ความจริงจนไม่หวั่นไหว

    ท่านอาจารย์ ไม่หวั่นไหวด้วยโลภะหรือโทสะ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่น่าพอใจหวั่นไหวไหม หรือว่ารู้ว่าเพราะกรรมที่ได้ทำแล้ว แค่เห็นหมดแล้ว แต่ความติดข้องตามมาให้เป็นอกุศลต่อไปไม่จบ จากสิ่งที่กรรมทำให้เกิดขึ้น คือได้เห็นสิ่งที่ดี แต่กิเลสที่มีสะสมอยู่ในจิตเกิดต่อ กำไรหรือขาดทุน

    ผู้ฟัง ขาดทุน

    ท่านอาจารย์ ถ้าผู้ที่มีปัญญาจากอกุศลเป็นกุศลได้แล้วแต่สะสมมาแล้วผู้ที่มีปัญญายิ่งกว่านั้นคือเห็นแล้ว ไม่มีทั้งกุศล และอกุศล เป็นอัพยากต คือ เป็นกิริยาจิต ไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลเพราะว่าอกุศลดับแน่ แต่กุศลก็ดับด้วย แต่ กุศล อกุศลดับไปก็ทำให้เกิดผล เพราะฉะนั้นกว่าปัญญาจะเจริญตามลำดับขั้น จนกระทั่งไม่มีแม้กุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าสมมติเราเจอคนที่เขากำลังทุกข์มากแล้วเราสงสารเขามากๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วช่วยด้วย แต่ช่วยไม่ได้ก็ไม่หวั่นไหว

    ผู้ฟัง แล้วสภาพธรรมของสงสารตอนนั้นเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถามคนอื่นหรือว่าขณะนั้นเราฟังธรรมจนเรารู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร เพราะว่าศัตรูใกล้ของกรุณาคือ โทมนัส เพราะฉะนั้นศึกษาแล้วเรารู้เลย ใครสงสารใครจนน้ำตาไหล เป็นกุศลหรือเปล่า เพราะไม่รู้ แต่ถ้ารู้ เข้าใจในเหตุที่เขาได้รับทุกข์นั้น และช่วยเต็มที่ด้วยความไม่หวั่นไหวไม่เดือดร้อนใจตามกำลังที่จะสามารถช่วยได้แต่ได้หรือไม่ได้ก็ไม่หวั่นไหวอีกเพราะช่วยเต็มที่แล้ว เว้นในขณะนี้ เราได้เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ลิ้มรสที่น่าพอใจ รู้หรือเปล่าว่าเพราะได้กระทำกรรมมา แล้วก็หมดแล้วด้วย ยังติดข้องอะไร หรือว่าไม่หวั่นไหว ก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็เห็นสิ่งที่น่าพอใจ เดี๋ยวก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เกิดมาแล้วก็ต้องเป็นอย่างนี้ใช่ไหม แล้วจะมาโวยวายอะไรในเมื่อต้องเป็นอย่างนี้อยู่ แล้วอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ความสงสารเป็นโทสะด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องแยก เราใช้คำว่าสงสารขณะนั้นจิตเป็นอะไร ภาษาไทยกับภาษาบาลี เป็นกรุณาเรียกว่าเป็นคำที่เขาบอกว่าสงสาร และสงสารขณะนั้นคืออะไร เป็นทั้งอกุศล และกุศลหรือไม่ เศร้าหมองเมื่อไหร่เป็นอกุศล ไม่เศร้าหมองแต่เห็นใจพร้อมที่จะช่วยเหลือ

    ผู้ฟัง ขณะนั้นเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เห็นใจว่าเขาทุกข์ บางคนไม่สนใจเลย เขาทุกข์แล้วไม่สนใจ ไม่มอง ไม่ช่วยอะไรหมด ไม่ช่วยแม้แต่คิดถึงความรู้สึกของคนที่เป็นทุกข์ แต่เขาเป็นทุกข์ เราไม่ใช่ต้องเป็นทุกข์ด้วย แต่เราเข้าใจ และเห็นใจในความทุกข์ของคนนั้น จึงสามารถช่วยได้ ถ้าเราไม่สนใจเลยไม่เข้าใจเลยเราจะไปช่วยเขาหรือ แต่เพราะเห็นใจ และเข้าใจด้วย ช่วยโดยไม่เป็นทุกข์เลย

    ผู้ฟัง ถ้าเราได้เห็นสิ่งสวยงามเป็นเพราะกุศลที่เราได้กระทำมา ทำให้ได้เห็นสิ่งสวยงามแล้วเราเห็นสิ่งสวยงามแล้วเราเป็นโลภะด้วย จะแยกอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แยก เข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ว่าเป็นเพราะผลบุญของเราหรือเป็นเพราะว่าโลภะ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ว่าเป็นธรรม การเห็น ขณะนี้ กำลังเห็น

    ท่านอาจารย์ ๔๕ พรรษาทรงแสดงโดย ประการใดๆ ทั้งสิ้นลึกซึ้งอย่างไรทั้งหมดก็เพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง มันใกล้เคียงกันมากเลย เรายังไม่มีปัญญาที่จะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง เข้าใจถูกต้องขึ้นว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง แต่ละ หนึ่ง หลากหลายมาก บอกแล้วตั้งแต่ต้นใช่ไหมว่าโลภะก็เป็นธรรม กุศลก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม พอถึงเวลาจะแยกกันหรือ ไม่เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นธรรม เพราะฉะนั้นฟังจนกว่าขณะนั้นเข้าใจว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ต้องฟังต่อไปจนเข้าใจเอง มีปัญญาเป็นของตัวเองที่จะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนอื่นบอกไม่เหมือนเราคิดเอง แล้วเรามั่นใจจริงๆ ว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน

    ผู้ฟัง เห็นดอกไม้สวยก็ชอบ ชอบก็เป็นโลภะที่ได้เห็นสิ่งสวยงาม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องชื่อเรียกได้ไหม เรียกแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม แต่เรียกชื่อเก่ง บอกได้เลย แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เห็นดอกไม้สวย

    ท่านอาจารย์ จนกว่า ธรรมทั้งหมดทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเห็นดอกไม้สวยก็เป็นอัตตาที่เห็นว่ามันสวย

    ท่านอาจารย์ ใช้คำภาษาบาลี อัตตา แล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง เป็นเราเห็นว่ามันสวย แค่ชอบ

    ท่านอาจารย์ แต่ชอบธรรมดา ถ้าชอบไม่เกิด จะมีความเข้าใจว่าเราชอบหรือเปล่าถ้าชอบไม่เกิด

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดเพราะไม่รู้ จึงเข้าใจว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ทุกขอริยสัจ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับเป็นทุกข์ แต่ว่าที่เราฟัง ฟังอยู่อย่างนี้ เห็นเกิดแล้วก็ดับ ได้ยินเกิดแล้วก็ดับ แต่เรายังไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์เพราะว่าปัญญายังไม่ถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์ความเกิดดับ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าขณะนี้ เห็นเกิดแล้วดับ กล่าวไม่ได้ เพียงแต่ได้ยินได้ฟัง และรู้ว่าเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่าก็ยังเป็นผู้ที่ยังไม่รู้จักคำว่าทุกขอริยสัจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียด อริยสัจ พอจะรู้กันว่า (อะ-ริ-ยะ-สัด-จะ) นี่หมายความถึงอะไร เจริญแล้วใช่ไหม สัจจะความจริง ความจริงเป็นความจริง แต่อะไรเจริญ ก็ต้องเป็นปัญญาถึงจะรู้ว่าทุกข์นี่แหละจริง ต่อให้บอกว่าเดี๋ยวนี้เป็นทุกข์ การเห็นต้องเกิด เกิดแล้วก็ดับไป และสิ่งที่เกิดดับนั้นจะเป็นสุขหรือเป็นสิ่งที่น่ายินดีหรือ กับสิ่งซึ่งไม่มี ยังไม่เกิดก็ไม่มี เพราะเกิดแล้วมี แล้วก็หมดไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงอย่างนี้ เจริญขึ้นไหม จากความไม่รู้ เพราะอย่างน้อยที่สุดได้ยินคำนี้ แล้วรู้ว่าถูกต้อง กับคนที่ไม่เคยได้ยินเลย ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลยใช่ไหม แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ เราก็เพียงแต่รู้ว่าสิ่งนี้มีจริงๆ แล้วก็ปัญญาที่อบรมแล้วเจริญแล้วเท่านั้นที่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้นธรรมนี่คือปัญญานี่แหละ ทำให้หมดกิเลสได้เป็นอริย ถึงความเป็นผู้ที่เจริญเพราะได้อบรม ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นขณะนี้ ใครจะบอกว่าจิตเห็นเกิดดับไม่เดือดร้อน กำลังเห็นเกิดดับก็ไม่เดือดร้อนใช่ไหม จนกว่าเมื่อไหร่สภาพนั้นเกิดแล้วดับ เมื่อนั้นแล้ว คือ ภัย อะไรที่จะน่ากลัวที่สุด สิ่งที่เคยคิดว่าเที่ยง กลับเป็นสภาพที่ไม่เที่ยงเลย แค่ปรากฏแล้วก็หมดแล้วก็ไม่กลับมาอีก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นที่เราฟังว่าทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ก็คือสะสมความมั่นคงไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ต้องละ ไม่ใช่เรา คือเรานี้แอบแฝงอยู่ได้ตลอดเวลา เสแสร้งแกล้งได้สารพัด ทำเป็นอย่างนี้ก็ได้ ทำเป็นอย่างนั้นก็ได้ ทำเป็นไม่สนใจก็ได้ ทำเป็นปล่อยไปก็ได้ ใช่ไหม แต่ความจริงต้องเป็นความจริงว่าขณะนั้นไม่รู้ เพราะฉะนั้นแทนที่จะหาอุบายที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็คือว่าเข้าใจคำที่ได้ฟัง เข้าใจ เข้าใจขึ้นอีก เป็นธรรมดาจริงๆ เพราะว่าปัญญาสามารถที่จะเป็นธรรมดาที่จะเข้าใจสิ่งที่เป็นธรรมดาแม้จะลึกซึ้งสักเท่าไหร่ ขึ้นชื่อว่าเป็นปัญญา ปัญญาจริงๆ รู้ได้ ถ้าไม่ใช่ปัญญา อย่างไรก็รู้ได้ ไปเอาอะไรมาหลอกลวงว่า นี่เป็นปัญญา ก็ไม่รู้ เพราะไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้ว สิ่งที่ลึกซึ้งที่สุด ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ก็รู้ได้ ประจักษ์แจ้งได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่าขณะไหนเป็นปัญญา ขณะไหนไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นเราที่พยายาม ยิ่งพยายามก็ยิ่งไม่รู้เพิ่มขึ้น เป็นปกติธรรมดาจริงๆ

    ผู้ฟัง สังเกตได้ว่าการฟังธรรม เป็นการสะสมความเข้าใจจริงๆ เพราะว่าจากการฟังพื้นฐานพระอภิธรรมแผ่นที่ ๑๑ ปี ๕๓ ก็ฟังประโยคเดิมๆ แต่มาเข้าใจในปี ๕๗ ซึ่งก็เป็นประโยคเก่าๆ ก็จะเห็นว่า เมื่อก่อนเหมือนกับหูซ้ายทะลุหูขวา แล้วก็ไม่เข้าใจ แต่จิตขณะนั้นก็สะสมไป ฟังไปๆ ก็จะเข้าใจขึ้น แล้วก็เชื่อในการที่จะต้องฟังเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ข้อความในพระไตรปิฏก พระผู้มีพระภาคตรัสซ้ำ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ ซ้ำเรื่องของสิ่งที่มีจริง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส โดยนัยประการต่างๆ ก็มีแค่ ๖ ทาง แต่สภาพธรรมหลากหลาย เป็นหนึ่งไม่มีสอง หมายความว่าไม่มีซ้ำ หนึ่งคือหนึ่ง เกิดแล้วดับ แล้วไม่กลับมาอีก แต่ความหลากหลาย ก็ทรงแสดงโดยนัยประการต่างๆ ที่จะทำให้คนเข้าใจโน่นบ้างนี่บ้าง สะสมไปจนกระทั่งในที่สุดก็เข้าใจทั้งหมดได้

    เป็นเรื่องของความอดทน เป็นเรื่องของความเพียร เป็นเรื่องของความจริงใจ ความตรงเป็นเรื่องความมั่นคง เป็นเรื่องของปัญญา ถ้าฟังไม่เข้าใจไม่มีทาง ตัวตนก็มา ชวนไปโน่นทำนี่ เพราะฉะนั้นฟัง เพื่อละกิเลส ไม่ลืม ฟังธรรมเพื่อละความไม่รู้ กิเลสดับไม่ได้ถ้ายังคงมีความไม่รู้อยู่มาก เพราะฉะนั้นความเข้าใจขณะนี้ก็กำลังเป็นสังขารขันธ์ กำลังโน้มไปสู่การที่จะเข้าใจมากกว่านี้อีกในสิ่งที่ได้ฟังก็เข้าใจขึ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 177
    9 ต.ค. 2567