ปกิณณกธรรม ตอนที่ 783


    ตอนที่ ๗๘๓

    สนทนาธรรม ที่ บ้านใบแก้ว จ.ประจวบคีรีขันธ์

    วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นใครก็ได้ เพศไหนก็ได้ วัยไหนก็ได้ ที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจเพราะเป็นธรรมไม่ใช่ใครสักคน ปัญญาที่ได้อบรมตั้งแต่ชาติก่อนๆ จนถึงชาตินี้ หรือตั้งแต่ชาตินี้ต่อไปอีกชาติหน้ามากมาย ก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้นเข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงเมื่อไหร่เป็นปฏิปัตติ ซึ่งคนไทยใช้คำว่าปฏิบัติเมื่อนั้น แต่เป็นปัญญาซึ่งได้อบรมมาสะสมมา ไม่ใช่ว่าใครมาบอกให้ทำอะไร เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์สามารถที่จะเป็นพระโสดาบันได้ เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามีได้ เมื่อใดรู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสหมด ไม่เหลือเลยถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่เป็นคฤหัสถ์อีกต่อไป เพราะไม่อยู่ในเรือนซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส ครอบครัวมิตรสหายเครื่องบันเทิงสารพัดอย่าง

    เพราะฉะนั้นพุทธบริษัท คือผู้ที่ฟังพระธรรมหรือสาวกคือผู้ฟัง จึงต่างกันเป็น ๒ เพศ คือเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต อย่าลืมว่าต่างกันในเพศ เพราะอะไร ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคัลลานะ ท่านพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านอบรมปัญญามานานมาก แสนกัปป์ ๑ อสงไขยแสนกัปป์ก็แล้วแต่โดยฐานะใด แล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ในเพศของบรรพชิตเพราะสะสมมาที่สามารถจะละอาคารบ้านเรือน คิดดูสิว่าบ้านสบายมาก มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของเรา ถ้วยชามรองเท้าเสื้อผ้าสารพัดอย่าง วิทยุ โทรทัศน์ รถยนต์ ทั้งหมดสละได้ สละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ มิตรสหาย และเครื่องบันเทิงทั้งหมด เพื่ออบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต ต่างกับคฤหัสถ์มาก เพราะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส ทางกาย วาจา ด้วยปัญญาที่เห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ใครอยากจะรักษาศึลก็รักษาไป แต่ไม่มีปัญญาที่จะขัดเกลากิเลสอย่างนั้น ก็ไม่ใช่บรรพชิต ไม่ใช่ภิกษุ

    เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นเพศภิกษุเป็นผู้ที่เป็นหัวหน้าของพุทธบริษัท ซึ่งคฤหัสถ์ไม่สามารถที่จะทำกิจอย่างบรรพชิต ยังต้องทำงาน ยังต้องไปโรงเรียน ยังต้องสารพัดอย่าง วงศาคณาญาติ แต่อบรมเจริญปัญญาได้ ฟังธรรมเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้ตัวเอง ตามความเป็นจริงไม่บวช ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นคฤหบดี และก็เป็นเอตทัคคะ ในการเป็นอุบาสกผู้เป็นเลิศในการถวายทาน ท่านไม่บวช ท่านรู้ฐานะการสะสมของท่านตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นไม่มีใครไปบังคับใครให้บวช ไม่มีใครไปขอร้องให้ใครบวช เป็นหมู่เป็นคณะ เป็นหมื่นเป็นแสน แต่ต้องเป็นศรัทธา ความที่บุคคลนั้นรู้จักตนเอง ตามความเป็นจริง ว่าพร้อมที่จะประพฤติกายวาจา ขัดเกลาต่างกับคฤหัสถ์ ในเพศของบรรพชิต ซึ่งไม่ได้หมดกิเลสไป เพียงในวันที่อุปสมบท เพราะว่ากิเลสมีมาก ก็มีการประพฤติสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ซึ่งเป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงประชุมสงฆ์ แล้วก็กล่าวถึงความประพฤตินั้น เมื่อไม่สมควรที่จะทำอย่างนั้น ก็ทรงบัญญัติเป็นพระวินัยบัญญัติว่า ถ้าทำมารยาทกิริยา อาการอย่างนั้นอย่างนั้นเป็นอาบัติ คือต้องโทษตั้งแต่เบา ทุภาษิตเป็นต้น จนกระทั่งถึงปาราชิก ไม่สามารถที่จะเป็นภิกษุได้อีกต่อไปเพราะไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีบริษัท ๒ บริษัท คฤหัสถ์ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา แล้ว พระภิกษุท่านละอาคารบ้านเรือนแล้ว เลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยศรัทธาของชาวบ้านที่เห็นประโยชน์จริงๆ ในการที่สามารถสละอาคารบ้านเรือน ได้บวช ศึกษาธรรม สละทุกอย่างมุ่งมั่นที่จะพร้อมด้วยบารมี ๑๐ ที่จะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ควรไหมที่คฤหัสถ์จะนอบน้อมเคารพในคุณธรรม และก็ถวายการอุปการะทุกอย่าง ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เพราะเหตุว่าท่านไม่ยินดีในเงิน และทอง เพราะฉะนั้นเพศบรรพชิตบริสุทธิ์ในการที่จะมีชีวิต ที่จะขัดเกลากิเลสมากกว่าคฤหัสถ์ ควรที่คฤหัสถ์จะได้ช่วยกันทะนุบำรุง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ถวายอาหาร แก่พระภิกษุรู้ไหมว่าให้ใคร เพื่อประโยชน์อะไร แต่ว่า ถ้าผู้นั้นไม่ได้ประพฤติตามธรรมวินัย ไม่ได้ศึกษาธรรมวินัย ผู้นั้นสมควรแก่การที่จะทะนุบำรุงไหม และยิ่งกว่านั้น บางท่านกล่าวว่า ไม่ต้องศึกษาธรรมวินัย ผู้นั้นเป็นพระภิกษุหรือเปล่า เพราะเหตุว่าพระธรรมวินัย คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อใคร เพื่อพุทธบริษัทที่จะได้อบรมเจริญปัญญา ที่จะขัดเกลากิเลส แต่ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรม มีใครเป็นที่พึ่ง ไม่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แล้วเราจะนับถือผู้ที่พึ่งตัวเอง ซึ่งไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระธรรม และไม่ใช่พระอริยสาวกหรือ

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท ที่จะทะนุบำรุงพระศาสนา อย่าลืมพระศาสนา คือผู้ที่ดำรงมั่นในการที่จะศึกษา และอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต เพื่อพระศาสนาจะได้ดำรงมั่นต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะฝากพระธรรม ไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง เพราะเหตุว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคใกล้จะปรินิพพาน พระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งใครเลยทั้งสิ้นเป็นศาสดา ตรัสว่าธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว นั่นแหละเป็นศาสดาแทนพระองค์

    เพราะฉะนั้นเราก็ทราบได้ใช่ไหมว่าหน้าที่ของคฤหัสถ์ คือ ต้องศึกษาธรรม พระวินัยด้วย เพื่อที่จะรู้ว่าใครเป็นพระภิกษุ ใครไม่ใช่พระภิกษุ และการจะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนานั้น บำรุงใคร ไม่ใช่ผู้ที่ไม่มีปัญญา แล้วก็ทำสิ่งซึ่งหลงเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ผิด

    ในครั้งโน้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ตอนเย็นอุบาสกอุบาสิกาถือดอกไม้ธูปเทียนไปเฝ้าเพื่อฟังธรรม เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังพระธรรมเลย ไม่ใช่พุทธบริษัท ไม่ใช่ผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จะกล่าวว่านับถือพระพุทธศาสนาได้ไหม ต้องเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจ นับถือศาสนาคือคำสอนของใคร พุทธะคือผู้ที่ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวว่านับถือพระพุทธศาสนา ก็ต้องรู้ว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไร และต้องตรงด้วย ไม่ใช่คำของคนอื่น ต้องเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นฟังแล้วรู้สึกอย่างไร สบายใจ โล่งใจหรือหนักใจ หรือครึ่งๆ กลางๆ ต่อไปนี้ จะเป็นใคร ชีวิตที่สั้นมาก ต้องเป็นผู้ที่ตรง

    เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่มีเมตตา นี่คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมตตาไม่มีประมาณ หวังดีแต่ผู้ไม่รู้ หวังดีต่อผู้ประพฤติผิด เพราะฉะนั้นไม่ว่าการจะกล่าวความจริง หรือว่าข้อความตามพระธรรมวินัย เพื่อประโยชน์ให้รู้ว่า พระธรรมวินัยจริงๆ คืออย่างไร เพื่อที่จะได้รู้กันทั่วถึง เพื่อจะได้เป็นผู้ที่ตรงที่จะดำรงพระพุทธศาสนาคำสอน ซึ่งยากที่จะได้ยินได้ฟังแต่ละหนึ่งชาติที่จะสะสมต่อไป เพราะฉะนั้นต้องเห็นคุณค่าที่จะไม่ให้ใครทำลายคำสอน และพระรัตนตรัย

    เพราะฉะนั้นเป็นผู้ตรง มีความเมตตาจึงกล่าวถึงพระธรรมวินัย ตามความเป็นจริง เพื่อให้รู้ทั่วถึงกัน เพื่อที่จะได้เห็นว่า สิ่งใดที่ผิด ส่งเสริมไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเป็นการทำลายพระศาสนา แต่ว่าสิ่งใดที่ถูกเป็นสิ่งที่สมควร ให้มีการได้ฟังพระธรรมเพิ่มขึ้น ให้ได้เข้าใจเพิ่มขึ้น ให้หวังดีต่อกันเพิ่มขึ้น ให้เป็นผู้ตรง เพราะเหตุว่าโทษหนักมาก สำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิตแล้วไม่ประพฤติตามพระวินัย ไม่เหมือนชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ได้ครองจีวรที่จะให้คนอื่นมาเลื่อมใสกราบไหว้ ทะนุบำรุง แต่ถ้าผู้ที่เป็นอย่างนั้นโดยการที่อุปสมบท แล้วก็ไม่ได้ศึกษาธรรม แล้วก็รับเงินรับทอง เรียกว่าประพฤติทุกอย่างไม่เป็นไปตามธรรมวินัย ก็เป็นการทำลายพระศาสนา และทำลายความเห็นที่ถูกต้องของคนอื่นด้วย

    เพราะฉะนั้นความเป็นผู้ตรง แล้วก็มีเมตตาด้วย ที่จะให้ผู้นั้นได้สำนึก ได้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเมื่อไม่สมควรแก่เพศบรรพชิตก็เป็นนายธรรมดาได้ ไม่มีใครห้ามปรามไม่เป็นโทษกับตนเอง และก็ไม่ทำให้พระศาสนาเศร้าหมอง ไม่ไปชักชวนคนให้เห็นผิด ซึ่งเป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดถึงปรมัตถ ก็คือรูป จิต และเจตสิก ขอถามว่า ภวังคจิต คือช่วงไหนของจิต

    ท่านอาจารย์ รู้จักจิตหรือยัง

    ผู้ฟัง เป็นสภาพที่ไปรับรู้ทาง หู จมูก กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ สภาพรู้ธาตุรู้เกิดแล้วต้องรู้ เดี๋ยวนี้มีจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้จิตอะไร

    ผู้ฟัง จิตที่เห็น จิตที่ฟัง

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นขณะนี้เป็นจิตประเภทหนึ่ง เพราะเหตุว่าจิตนี่ไม่ได้เหมือนกันเลย จิตเห็นก็อย่างหนึ่ง จิตได้ยินก็อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจิตก็ต่างกัน พระผู้มีพระภาคทรงประมวลสภาพของจิตไว้ว่ามีกี่ประเภท เพราะฉะนั้นตอนนี้เข้าใจเรื่องจิต แล้วสงสัยอะไร

    ผู้ฟัง ภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นไม่ใช่จิตได้ยินใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีการเห็น ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นจิตเกิดขึ้นเห็น และดับ ขณะนี้ที่ได้ยินก็เป็นจิตที่เกิดขึ้น และดับ ถ้ามีกลิ่นปรากฏเมื่อไหร่ ก็ไม่ใช่เราคือธรรมทั้งหมดนี่ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ธาตุรู้เกิดขึ้นรู้กลิ่น ก็เป็นจิตประเภทหนึ่ง ขณะรับประทานอาหารรสต่างๆ ปรากฏหวานไป เปรี้ยวไป ขณะนั้นจิตกำลังลิ้มรส กำลังรู้รส แล้วเวลาที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง เย็นบ้าง แข็งบ้าง ตึงไหวบ้าง ก็สามารถที่จะรู้สิ่งที่กระทบกาย ถ้าไม่กระทบกายจะรู้มั้ย น้ำแข็งเย็นหรือไม่

    ผู้ฟัง เย็น

    ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่

    ผู้ฟัง สัมผัส

    ท่านอาจารย์ ต้องกระทบสัมผัส กระทบสัมผัสเย็น เย็นนั้นเป็นน้ำแข็งหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นสภาวะ

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นอะไรเลย นอกจากเย็นใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่คิดนึก ขณะนั้นมีจิตไหม ยังไม่ตาย ยังไม่ตาย หลับสนิทมีจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะนั้นไม่เห็นใช่ไหม ไม่ฝันใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ฝัน

    ท่านอาจารย์ ต้องมีขณะที่ไม่ฝันด้วย ก็คือคิด เพราะไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อไม่มีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ขณะนั้นมีจิตเกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่งกิจใด ซึ่งใครไม่รู้เลยว่าขณะนี้จิตกำลังเกิดขึ้น ทำกิจของจิตแต่ละประเภท ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงไว้ ใครจะรู้ละเอียดยิบ ละเอียดมากเลย เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เช่นขณะที่หลับสนิท อะไรก็ไม่ปรากฏ ขณะนั้นจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจ มาจากคำว่าภวกับอังคะ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ยังสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ไม่ได้ แค่หลับแล้วก็ตื่นอีก แล้วก็หลับอีก แล้วก็ตื่นอีก แล้วก็เห็นอีก ได้ยินอีก แล้วก็หลับอีกตื่นอีก

    เพราะฉะนั้น ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้เกิดเมื่อไหร่ ทำกิจเคลื่อนพ้นความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง จะกลับเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลยสักขณะเดียว นั่นคือตาย เป็นสมมติมรณะ เพราะว่าทันทีที่จิตสุดท้าย คือจุตติจิตดับเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิต คือจิตขณะแรกเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย ขณะที่ตายไม่รู้เลย ไม่ปรากฏ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน เพราะเห็นยังไม่ตายใช่ไหม ได้ยินก็ยังไม่ตาย คิดก็ยังไม่ตาย ภวังคกิจดำรงภพชาติยังไม่สิ้นสุด ยังต้องเห็นอีก ได้ยินอีกก็ยังไม่ตาย แต่ขณะสุดท้ายของชาตินี้ หมายความว่าจิตที่จะทำให้เป็นบุคคลนี้ ไม่เกิดอีกต่อไปเปลี่ยนสภาพ อาจจะเป็นงู เป็นนก เป็นเทพ เป็นอะไรก็ได้ แต่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้จุติจิตขณะสุดท้ายจริงๆ เหมือนขณะปฏิสนธิ ขณะที่เป็นภวังค์ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้ทำอะไรเลย เกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ และดับ ทำให้กรรมหนึ่งเป็นปัจจัยให้ผลของกรรม ทำกิจปฏิสนธิเกิดขึ้นสืบต่อ เป็นขณะแรกของชาติต่อไปเหมือนจิตขณะแรกของชาตินี้ โลกนี้ยังไม่ปรากฏเลย จนกว่าจะเห็นเมื่อไหร่ ก็รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างนี้ ได้ยิน ก็รู้ว่าเสียงในโลกนี้เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามซึ่งยังไม่ตาย แล้วก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก นั่นคือจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจดำรงภพชาติ ให้เป็นบุคคลนั้นสืบต่อไว้เป็นกิจ ๑ ใน ๑๔ กิจ เพราะว่ากิจของจิต มี ๑๔ กิจ ไม่มากกว่านั้นเลย และจิตไม่ว่าจิตประเภทใดก็ตาม เกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ

    ผู้ฟัง ถามว่าควรจะทำบุญด้วยอะไร วิธีใดให้กับคุณแม่ของเขา ถึงจะได้ดีที่สุดคือหมายความว่า แม่เขาจะได้รับมากที่สุด เท่าที่เขาตั้งใจ

    อ.คำปั่น เรื่องการอุทิศส่วนกุศล ก็เป็นบุญประการหนึ่งเป็นกุศลจิตของผู้นั้น ที่ได้เจริญกุศลไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องไหนก็ตาม แล้วก็มีความประสงค์ที่ดี มีเจตนาที่ดี ที่จะให้ผู้อื่นได้รับรู้ แล้วก็เกิดกุศลจิตอนุโมทนา ก็คือชื่นชมในความดี การอุทิศส่วนกุศล ไม่ใช่การยื่นบุญให้กับผู้อื่น เหมือนกับการส่งของไปรษณีย์ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่จะเป็นเหตุให้ผู้อื่นที่สะสมความดีมา ที่เห็นคุณของความดี ที่จะได้ชื่นชมอนุโมทนา ซึ่งก็เป็นกุศลจิตของผู้นั้นก็เป็นประโยชน์ของผู้นั้นจริงๆ ที่เป็นกุศลที่ได้ชื่นชมอนุโมทนา และเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ผู้ที่เคยเกิดเป็นมารดาของเราก็นับไม่ถ้วนใช่ไหมในสังสารวัฎที่ยาวนานมาก็มากมาย บุญที่ได้ทำแล้ว เมื่อสำเร็จไปแล้ว อุทิศส่วนกุศลก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นั้นจะสามารถรับรู้ แล้วก็เกิดกุศลจิตหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในขณะที่มีเจตนาที่ดี ที่จะอุทิศด้วยความมีไมตรีจิตที่ดีงาม ที่จะมุ่งประโยชน์แก่ผู้อื่น ขณะนั้นก็เป็นประโยชน์ของตนเอง ที่คิดถึงผู้อื่น ที่จะเกิดกุศลจิต เพราะว่าชีวิตประจำวัน อกุศลมีมาก ถ้ามีทางใดมีเหตุใดที่จะเกื้อกูลให้ผู้อื่น ได้เกิดกุศลจิตบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟัง ต้องฟังเพื่อเป็นความเข้าใจของเรา ที่มั่นคงจริงๆ นะคะ ตั้งแต่ว่าเราสามารถที่จะส่งบุญของเราให้คนอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เห็นไหมว่าถ้าเราไม่คิดก็จะเหมือนกับว่าตามๆ ไปบอกอะไรก็เชื่อไป แต่ความจริงต้องพิจารณา จนกระทั่งเป็นความเข้าใจ เพราะอะไรที่เขาไม่ได้รับ หรือรับไม่ได้ก็ตามแต่ เพราะคำถามว่าส่งบุญให้คนอื่นได้มั้ย เขาจะรับบุญที่เราส่งให้ได้ไหม ได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่าตัวผู้รับไม่ทราบว่าเราส่งให้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเขาไม่ทราบไม่มีทางเลย เพราะว่ากุศลมีหลายอย่างใช่ไหม การทำสิ่งที่ดีที่เป็นบุญ จะเป็นการให้วัตถุก็ตามแต่แก่ผู้อื่น นั่นก็เป็นบุญที่ตนเองได้กระทำเมื่อได้กระทำแล้ว ก็ยังสามารถที่จะให้ผู้อื่นได้รับรู้ เพื่อที่เขาจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอาบุญไปให้เขา แต่หมายความว่าเมื่อรู้แล้ว ต้องอนุโมทนาเป็นกุศลของตนเอง ซึ่งเกิดจากการรับรู้กุศลที่ผู้อื่นกระทำ แล้วอุทิศให้ จริงๆ แล้วถึงไม่มีใครอุทิศให้เรา ใครทำบุญแล้วก็อนุโมทนาได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของทานเนี่ยก็มี ๓ อย่างคือการให้ เมื่อให้แล้วก็ยังอุทิศส่วนกุศลในการให้เนี่ย ให้คนอื่นได้อนุโมทนา ถ้าเขาอนุโมทนา แต่ถ้าเขาไม่อนุโมทนาจะไปให้เขาเกิดกุศลก็ไม่ได้ จะให้เป็นบุญก็ไม่ได้ ที่เราใช้คำว่าจะไปรับบุญก็ไม่ได้ แต่ความจริงต้องเป็นกุศลของตนเอง ที่เกิดจากการอนุโมทนา เพราะฉะนั้นผู้ให้ ให้แล้ว และก็อุทิศส่วนกุศลให้ และผู้รัู อนุโมทนายินดีตามในกุศลที่คนอื่นได้กระทำแล้ว ขณะที่ยินดีในกุศล ขณะนั้นก็เป็นอนุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ แต่ถ้ากระทำเอง ก็เป็นทานกุศล เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่อง ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่เราจะไปให้ใคร แต่ว่าต้องเป็นบุญนั่นเอง แล้วก็จะให้อย่างดีอย่างมากเลยได้หรือในเมื่อต้องแล้วแต่จิตของผู้รับต่างหาก เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า เราทำแล้วหวังทำอย่างดี ประณีตมาก หวังว่าเขาจะได้อย่างดีอย่างประณีตที่เราให้ไป ก็ไม่ใช่ เพราะว่าบุญต้องเป็นจิตที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ในขณะนั้นจึงเป็นบุญ ตอนนี้ก็เมื่อมีผู้ที่เสียชีวิต เราไม่รู้ว่าเขาเกิดที่ไหน แต่ทำบุญอุทิศให้ เจาะจงคำว่าอุทิศนี้คือเจาะจงให้บุคคลนั้น เพื่อเขาจะได้รู้ และอนุโมทนา แต่จะไม่เจาะจงก็ได้ เจาะจงก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าใครทำกุศลแล้ว เราอนุโมทนาไม่ได้ ใครทำกุศลก็ตามอนุโมทนาได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นคนดี คนที่ล่วงรู้ อนุโมทนาได้ไหม ได้ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้นบุญไหน ที่ดีมาก ที่จะทำให้คนอื่นอนุโมทนาได้บ่อยๆ ก็คือการเป็นคนดี เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราศึกษาธรรมเป็นความดีส่วนหนึ่งในชีวิต เพราะฉะนั้นกุศลทั้งหมด ความดีทั้งหมดอุทิศได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่จบการสนทนาธรรมแล้วเราก็อุทิศส่วนกุศล ให้ผู้ที่สามารถที่จะอนุโมทนาได้รู้ และก็แล้วแต่เขาว่า เขาจะอนุโมทนาหรือไม่ มากน้อยไม่ใช่อยู่ที่เรา แต่ต้องอยู่ที่จิตของผู้ที่อนุโมทนา

    สนทนาธรรมที่โรงแรมแคนทารีฮิลล์จังหวัดเชียงใหม่วันที่ ๒๒ กรกฎาคมพุทธศักราช ๒๕๕๘

    ท่านอาจารย์ ทุกคนได้มีโอกาสได้ฟังธรรม แล้วทุกคนรู้ว่าเป็นธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละคน ฟังแล้วต้องไตร่ตรอง และประโยชน์สูงสุดจริงๆ ก็คือว่ามีโอกาสที่จะได้เข้าใจสิ่งซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าใจเองได้เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่แม้มีเดี๋ยวนี้กำลังปรากฏ ใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็ได้เริ่มรู้จักพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ไม่ว่าเราจะเกิดมาแล้วในสังสารวัฏฏ์มากมาย แม้ในชาตินี้เอง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะไม่สามารถเข้าใจความจริงเลยว่า พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นความจริงทุกกาลสมัย ไม่ว่าในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ธรรมสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และแม้แต่ในขณะนี้ ธรรมก็กำลังปรากฏ แต่ไม่มีใครเข้าใจเลยว่านั่นเป็นสิ่งที่มีจริงชั่วคราว เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้นถ้าไม่ฟังพระธรรมเลย ก็ยังคงไม่รู้ความจริงว่า เกิดมาแล้วก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก วนเวียนอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่า แต่ก็ไม่ได้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงเลยจนกว่าจะได้ฟังผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 177
    24 ก.ย. 2567