ปกิณณกธรรม ตอนที่ 813


    ตอนที่ ๘๑๓

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมสายลม หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

    วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘


    อ.คำปั่น ดวงตาเห็นธรรม เป็นเรื่องของปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความจริงดับกิเลสตามลำดับขั้น ในอรรถกถาทั้งหลายได้อธิบายความหมายของดวงตาเห็นธรรมหรือธรรมจักขุไว้ว่า หมายถึงปัญญาที่เกิดพร้อมกับมรรคก็คือเกิดพร้อมกับ โสดาปัตติมรรค จนถึงอรหัตตมรรคเป็นปัญญาในระดับที่เป็นโลกุตตระ ซึ่งถ้าหากว่าไม่มีการฟังไม่มีการศึกษาในขณะนี้ ก็ไม่มีทางที่จะถึงดวงตาเห็นธรรมแน่นอน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ และก็ดำเนินตามหนทางที่ถูกต้องก็คือหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นหนทางที่ถูกต้องไม่เป็นไปในฝักฝ่ายของอกุศล ไม่ตกไปใฝักฝ่ายของโลภะ ไม่ตกไปในฝักฝ่ายของโทสะ และกิเลสทั้งหลาย ก็เป็นหนทางสายกลาง ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจอย่างมั่นคงทางสายกลางก็คือทางของปัญญาเท่านั้น ที่เริ่มจากการฟังแล้วก็มีความเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ดิฉันปฎิบัติมาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะถึงไหน แต่อยากจะทราบว่าคนปฏิบัติถึงไหนจะทราบได้อย่างไรว่า คนที่เป็นโสดาบันหรืออรหันต์จะแสดงออกอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องเป็นผู้ตรง ถ้าตรงแล้วก็เข้าใจในเหตุผล เป็นความจริงซึ่งเป็นความเข้าใจของผูู้ที่ฟัง ไม่ใช่ว่าต้องเชื่อคำตอบ เพราะฉะนั้นเมื่อสักครู่นี้ถามว่าเป็นผู้ปฏิบัติใช่ไหม ปฏิบัติคืออะไร

    ผู้ฟัง ปฏิบัติก็คือการฟังธรรมไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นไม่ใช่ปฏิบัติ แต่คือปริยัติ เพราะว่าปริยัติคือพระพุทธพจน์ไม่ฟังคำของคนอื่นซึ่งไม่ได้ตรัสรู้ เพราะว่าทุกคนที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ความจริงย่อมไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ เพราะเกิดมาก็ไม่รู้แล้ว แต่ว่าเมื่อมีผู้ที่ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงความจริงก็ฟังความจริงจากคำของผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้ว และการที่จะรู้ว่าคำไหนเป็นคำจริงก็คือว่าเป็นคำที่พูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ให้เข้าใจได้ จากการที่คิดไม่ได้ด้วยตัวเองว่าคืออะไรแต่เมื่อฟังแล้วก็สามารถที่จะรู้ว่ากำลังเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เพราะเป็นคำของผู้ที่ได้ตรัสรู้

    เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังฟังเข้าใจ ไม่ใช่ปฏิบัติ เพราะเหตุว่าความรู้ในขั้นของการที่จะเริ่มต้นต้องเริ่มจากปริยัติไม่ใช่ปฏิปัตติ ปริยัติคือการฟังพระพุทธพจน์ แต่ไม่ใช่ฟังแล้วไม่เข้าใจ แล้วไม่คิด แล้วไม่เชื่อ แต่ว่าฟังแล้วไตร่ตรองว่าเป็นคำจริงหรือเปล่า แล้วก็เป็นความรู้ความเข้าใจของตนเองแน่นอนซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง

    เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่าปริยัติ รอบรู้หรือยังในสิ่งที่กำลังมี ที่กำลังปรากฏ ถ้ายังไม่มีจะไม่ถึงปฏิปัตติ เพราะว่าปฏิปัตติเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการเข้าใจแล้วในสิ่งที่มีมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงว่าเดี๋ยวนี้เป็นสิ่งที่มีจริงๆ สามารถที่จะรู้ได้ในขณะนี้ เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ถ้าความเข้าใจยังน้อยหรือว่ายังไม่เพิ่มขึ้นก็เพียรสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูก จนกว่าสามารถจะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีตรงตามที่ได้ฟังนั่นคือปฏิปัตติ

    ผู้ฟัง อยากจะทราบว่าคนที่เขาปฏิบัติให้ถึงขั้นนี้จะรู้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถามว่าคนที่เขาปฏิบัติอย่างนี้ ให้รู้ขั้นนี้ รู้ได้อย่างไรใช่ไหม อยากรู้คนอื่น หรือว่าขณะนี้เราก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง ตัวเราก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าคนอื่นเขารู้ แต่เราไม่รู้ เราจะรู้ได้ไหมว่า เขารู้จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เราก็รู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นความเข้าใจของเราเองก่อนว่าปริยัติคืออะไร ถ้าใครไม่ได้พูดให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงไม่ใช่ปริยัติ และถ้าไม่มีความเข้าใจในความเป็นอนัตตา ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะเป็นปฏิปัตติได้ถ้าคนไม่เข้าใจแล้วจะปฏิบัติได้ไหม

    ผู้ฟัง ปฎิบัติไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจแล้ว แล้วรู้ด้วยว่าขณะนี้เพียงฟังเข้าใจ แต่ยังไม่ได้เข้าใจลักษณะจริงๆ ของธรรมสักอย่างเดียวแต่ละหนึ่ง ขณะนั้นไม่ชื่อว่าปฏิปัตติแล้วเขาจะรู้ความจริงได้ไหม รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็สามารถเข้าใจได้ใช่ไหม ตอนนี้เข้าใจได้แล้วใช่ไหม เข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง พอจะเข้าใจได้ ว่าธรรมคือสิ่งมีจริงๆ ค่ะ

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าไม่เข้าใจปัญญาก็ไม่สามารถเจริญจนกระทั่งสามารถที่จะถึงเฉพาะรู้ และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ที่ละหนึ่ง ซึ่งเป็นปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้นจะเป็นพระอริยบุคคลโดยไม่เข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทบทวนอีก ความรู้มี ๓ ขั้น ถ้าไม่เคยฟังพระธรรมเลยนี่ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เราแต่สิ่งที่มีจริงๆ นี่ไม่ใช่ว่าไม่มี มีแต่ว่าเป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดด้วย ถ้าไม่เกิดจะมีได้อย่างไร จะปรากฎได้อย่างไร แต่เรายังไม่รู้ถึงเหตุที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดที่จะเข้าใจว่า ไม่มีใครไปทำให้เกิดได้เลยทั้งสิ้น แต่มีเหตุสมควรที่สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น จึงเกิดขึ้นได้ คือฟังธรรมนี่ต้องไตร่ตรองช้าๆ จนกระทั่งมั่นคงว่าสิ่งที่ได้ฟังนี้เป็นความจริงที่ว่า เกิดแล้วโดยไม่รู้ว่ามีอะไรทำให้เกิดขึ้นแต่ก็มีจริง แต่เพราะไม่รู้จึงเข้าใจว่าเป็นเราหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะเหตุว่ารวมธรรมซึ่งเกิดร่วมกันเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น บอกว่าคนนี่ก็มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีคิดนึกทุกวันๆ นกเห็นไหม

    ผู้ฟัง นกก็มีเห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมนกไม่ใช่คน

    ผู้ฟัง ก็เขาเรียกให้ได้รู้ว่า อันนี้นก อันนี้คน

    ท่านอาจารย์ แต่นกไม่ใช่คน

    ผู้ฟัง แต่เราเข้าใจว่าไม่ใช่คน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรูปร่างต่างหาก ที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นคนเป็นงู เป็นนก แต่เห็นจะเป็นนก เป็นคน เป็นงูไม่ได้ เป็นเทวดาเป็นอะไรก็ไม่ได้ เห็นเป็นเห็น ถ้าสามารถที่จะเข้าถึงความที่เห็นเป็นเห็น นั่นคือปฏิปัตติไม่ใช่ปริยัติ แต่เวลานี้เราเพียงฟังว่าเห็นมีจริงๆ เห็นเกิดขึ้น และเห็นก็ดับไปไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาได้ยินก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แต่ก็ยังคงเป็นเรา เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงสภาพธรรมที่เพียงหนึ่งเกิดขึ้น และหนึ่งดับไปที่จะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้น เป็นธรรมแน่นอนไม่ใช่เรา นั่นคือปัญญาที่ต่างกันใช่ไหมกับขั้นการฟัง

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ฟังเดี๋ยวนี้แค่เข้าใจเรื่อง แต่การเกิดดับของสภาพธรรมก็ไม่ได้ปรากฏเลย ต้องเข้าใจจริงๆ ในเรื่องความต่างกันของความรู้ ๓ ขั้น ขั้นฟัง ฟังเรื่องของสภาพธรรม และก็ธรรมก็มีจริงๆ แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเคยเป็นคน เคยเป็นประเทศชาติ เคยเป็นโลก เคยเป็นน้ำ เคยเป็นทะเล เคยเป็นต้นไม้ ทั้งหมดก็คือเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ซึ่งธรรมที่มีจริงก็ต่างกันเป็น๒อย่าง อย่างหนึ่งเกิดขึ้นแต่ไม่รู้อะไรเลย เช่นแข็งนี่เกิดแล้วจึงเป็นแข็ง ถ้าแข็งไม่เกิดก็ไม่มีแข็ง แต่แข็งเกิดขึ้นเป็นเพียงแข็งไม่สามารถจะรู้อะไรได้

    เสียงเกิดเป็นเสียง มีใครไปบังคับไม่ให้เสียงเกิดก็ไม่ได้ ให้เกิดก็ไม่ได้ เสียงเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ถ้ามีอะไรกระทบกันเสียงก็เกิด บังคับไม่ได้เลย ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีเสียง แต่เสียงไม่รู้อะไร แต่สภาพที่รู้มีต่างหากจากสภาพธรรมซึ่งมีแต่ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นโดยประเภทใหญ่ของธรรมก็แยกกันเป็น ๒ ประเภท ธรรมประเภทหนึ่งเกิดแต่ไม่รู้อะไร

    ถ้าไม่มีชื่อก็พูดยาวแต่ถ้าเรียกเสียว่ารูปธรรม เพราะเหตุพระผู้มีพระภาคตรัสคำนี้ไว้ เพราะฉะนั้นเราก็ใช้คำที่ผู้มีพระภาคตรัส เรียกสภาพธรรมที่มีจริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ว่าเป็นรูปธรรม แต่ถ้ามีแต่เฉพาะรูปธรรมก็ไม่มีอะไรปรากฏเลยทั้งสิ้น โลกนี้โลกไหน ดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ อะไรก็ไม่มีทั้งนั้น แม่น้ำ ภูเขา อะไรก็ไม่มี แต่เพราะเหตุว่ามีธาตุรู้ บังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วไม่มีรูปร่างใดๆ เจือป่นเลยทั้งสิ้นไม่อ่อน ไม่แข็งไม่หวาน ไม่เปรี้ยว

    แต่ว่าทันทีที่เกิดก็รู้สิ่ง หนึ่ง สิ่งใดที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดเพราะมีธาตุรู้เกิดขึ้น ถ้ามีแต่เฉพาะธาตุที่ไม่รู้อะไร ก็ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ธาตุรู้ที่เกิดขึ้นในโลกที่มีรูปก็เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นคนเป็นเทพ เป็นรูปพรหม ตราบใดที่อยู่ในภูมิที่มีรูปก็อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เช่นธาตุรู้ที่อาศัยตา ต้องมีรูปกระทบกัน ทำให้เกิดธาตุที่รู้สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นแยกออกตามความเป็นธาตุจริงๆ ไม่ใช่ตัวเราไปแยก แต่เข้าใจให้ถูกต้องว่า ๒ อย่างนี้ไม่ใช่อย่างเดียวกัน สภาพไม่รู้มีแน่นอน เสียงหรือสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือแข็งไม่ใช่สภาพรู้แต่ปรากฏว่ามี เมื่อมีธาตุรู้เกิดขึ้นเห็นเดี๋ยวนี้เป็นธาตุรู้ ขณะที่เสียงปรากฏได้ยินเกิดขึ้นรู้เฉพาะเสียงที่ปรากฏว่าเป็นเสียง

    เพราะฉะนั้นโลกนี้หรือโลกไหนก็ตาม สภาพธรรมใดที่เกิดจะมีการต่างกัน ๒ อย่าง คืออย่าง หนึ่ง เกิดแล้ว ไม่รู้อะไรเลยเป็นรูปธรรม สำหรับสภาพรู้ ใช้คำว่านามธรรม เราได้ยินคำว่าจิต เราคุ้นเคยมากเลย ก็มาจากคำภาษาบาลีคือ จิตตะ คือสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งขณะนี้กำลังเห็นกำลังได้ยิน ถ้าไม่ศึกษา ได้ยินแต่คำว่าจิต แต่ไม่รู้ว่าจิตอยู่ไหน แม้นอนหลับก็ไม่รู้ว่ามีจิตเพราะยังไม่ได้ตาย แต่จิตขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่มีจิตยังไม่ตาย เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่เห็น ไม่ได้ยินก็เกิดดับด้วย แล้วก็ทำกิจ ไม่ได้ทำกิจเห็น ได้ยิน คิดนึก แต่ทำกิจดำรงภพชาติ เกิดดับสืบต่อ ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้นก็มีการตื่น คือหมายความว่าเห็นเมื่อไหร่ ไม่ใช่หลับ ได้ยินเมื่อไหร่ ไม่ใช่หลับสนิท คิดเมื่อไหร่ ก็ไม่ใช่หลับ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตก็คือ ตื่นกับหลับ ใช่ไหม แล้วก็ตาย เกิดขึ้นมาตื่น หลับ แล้วก็ตาย เพราะฉะนั้นต้องรู้ความต่างกัน ของปัญญา ๓ ขั้น ปัญญาขั้นฟังพระพุทธพจน์แล้วเข้าใจ แล้วรอบรู้หมายความว่า เข้าใจจริงๆ ไม่เปลี่ยน เป็นสัจจญาณรู้แน่นอนว่าขณะนี้เป็นธรรม และธรรมที่เป็นรูปธรรมมีไม่รู้อะไร และธรรมที่เป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ต้องรู้ ไม่ว่าจะหลับจะตื่นก็รู้ ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมซึ่งมีจริงๆ ก็ไม่ใช่เรา นี่คือปริยัติการฟังพระพุทธพจน์ พระพุทธพจน์ทรงแสดงไว้มาก จนถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมตามที่ได้ฟัง แต่ต้องเริ่มจากการฟังก่อนให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นขั้นการฟังนี้ไม่ใช่ขั้นปฏิปัตติ เป็นขั้นปริยัติ และถ้าฟังแล้วหลงๆ ลืมๆ กลับไปกลับมาไม่รู้อีกแล้วก็ไม่ใช่สัจจญาณไม่ใช่ความรอบรู้อย่างมั่นคง ถ้าถามคนที่เขาปฏิบัติ ว่าปฏิบัติคืออะไร ถ้าเขาตอบเราจะรู้ไหมว่าปฏิบัติหรือเปล่า ถ้าเราไม่ฟังแล้วเข้าใจเอง เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ใครจะพูดว่าเขาเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระโสดาบันหรือปฏิบัติ เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ ถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรม จนกระทั่งรู้ความต่างของปริยัติกับปัญญาขั้นฟัง กับขั้นปัญญาขั้นที่เมื่อฟังแล้วเข้าใจแล้ว จึงสามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏโดยความเป็นอนัตตาถูกต้องว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏในลักษณะนั้น แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย ตรงตามที่ได้ฟังเมื่อไรเมื่อนั้นเป็นปฏิเวธ

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ยังไม่ต้องไปได้ยินคำว่าปฏิบัติ และอะไรก็ปฏิบัติทั้งนั้นหมด แต่ต้องรู้ความจริงว่า ปัญญาหลากหลายมาก ตั้งแต่ขั้นฟังเข้าใจ จนกระทั่งถึงขั้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่เข้าใจ จนกระทั่งละคลายความเป็นตัวตนจนกระทั่งรู้ความจริงของสภาพธรรมปรากฏตามลำดับขั้น จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ นั่นคือผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล แต่ถ้าไม่มีปัญญา ๓ ขั้นนี้ จะเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้ง ๓ ขั้นนี้ จะมีได้ต่อเมื่อเริ่มมีปัญญาขั้นฟังก่อน ถ้าไม่มีปัญญาขั้นฟังไม่มีทางที่ปัญญาจะเพิ่มขึ้น จนถึงปฏิปัติจนถึงปฏิเวธได้

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่าเรื่องสติสัมปชัญญะ แตกต่างจากการมีสติที่เราอาจเข้าใจว่า นั่นคือสติสัมปชัญญะ

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น สติมีจริงๆ หรือเปล่า ได้ยินคำนี่ เป็นชื่อคนหรือเป็นอะไร สติ คนชื่อสติได้ไหม ได้ แต่เป็นสติหรือเปล่าใช่ไหม อีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นสตินี่มีจริงๆ แน่นอน แต่ถ้าไม่ฟังไม่ศึกษา คนไทยใช้คำว่าสติแต่ไม่เข้าใจ และเข้าใจผิด เพราะว่าภาษาไทย ก็เอาคำภาษาบาลีมาใช้มากเลย ทุกขะคนไทยก็บอกว่าทุกข์ สุขะคนไทยก็บอกว่าสุข ทุกอย่างหมดหลายๆ คำ วิญญาณะคนไทยก็บอกว่าวิญญาณ แล้วก็ใช้ตามความหมายวิญญาณ ก็ล่องลอยออกจากร่างเป็นต้น แล้วก็สติ ก็คิดว่า เดินดีๆ นะ ข้ามถนนหนทาง ถ้าไม่มีสติไปเดี๋ยวรถจะชน คือคิดเอง แต่ว่าไม่ได้ศึกษาธรรมเป็นอันตรายอย่างยิ่งถ้าเข้าใจว่านั่นคือความเข้าใจธรรม และใช้คำซึ่งไม่ได้ศึกษาจริงๆ ให้เข้าใจถูกต้องว่า สติคืออะไร สภาพธรรมที่มีจริงมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ใช่สภาพรู้ แข็งเป็นสติหรือเปล่า เสียงเป็นสติหรือเปล่า สภาพธรรมแต่ละหนึ่งต้องไม่ลืมว่าไม่ปะปนกันเลย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมไม่รู้อะไร จะดีจะชั่วได้ไหม โต๊ะเก้าอี้จะเกิดการเบียดเบียนคนอื่นประทุษร้ายมีกิเลสรักชังอะไรได้หรือเปล่า ไม่ได้เลยต้องเป็นธาตุรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้นธาตุรู้ ที่เราใช้คำว่าธาตุรู้ หมายความถึงสภาพที่กำลังมีสิ่งหนึ่ง สิ่งใดปรากฏเมื่อไหร่ หมายความว่ามีธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งนั้น เราใช้คำว่า จิตตะ ก็ได้วิญญาณก็ได้ หมายความถึงธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นจะเกิดตามลำพังไม่ได้เลย ต้องมีธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    ความรู้เริ่มเพิ่มขึ้นแล้วว่าธรรมที่เกิดนี่เกิดแน่ๆ ปรากฏ แต่เรายังไม่เคยรู้เลยว่าเกิดได้อย่างไร แต่ว่าสิ่งหนึ่ง สิ่งใดก็ตามที่จะเกิดต้องมีสิ่งที่อาศัยปรุงแต่งทำให้เกิดขึ้น เช่น จิต ธาตุรู้ จะเกิดขึ้นเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้ ต้องมีนามธาตุที่อาศัย ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นได้ สภาพธรรมซึ้งเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดขึ้นได้ใช้คำว่า เจ ตะ สิ กะ คนไทยก็เรียกว่าเจตสิก เพราะฉะนั้นในขณะนี้มีเห็นเป็นจิต ต้องมีเจตสิกเกิดกับจิตเกิดพร้อมจิต อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีเจตสิก จิตก็เกิดไม่ได้แต่จิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกก็ไม่ใช่จิต ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมละเอียดขึ้นทำให้เข้าใจว่าไม่มีเราเลย นี่เป็นการที่กว่าจะคลายกันยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราต้องอาศัยพระพุทธพจน์ และก็ต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นจริงๆ มั่นคงจริงๆ ขณะนี้เห็น มีสิ่งที่ถูกเห็น สภาพที่เห็นเป็นจิต พอเห็นแล้ว ชอบไหม หรือไม่ชอบ ชอบไม่ชอบไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ นอกจากเห็น แล้วก็มีการสุขบ้าง ทุกข์บ้างจำได้เป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งหมด สภาพธรรมเหล่านั้นเป็นเจตสิกแต่ละหนึ่ง เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท ถ้าไม่ฟังอย่างนี้จะเข้าใจคำว่าสติได้ไหม แต่ต้องรู้ก่อนว่าเป็นธาตุรู้ และธาตุรู้ก็มี ๒ อย่างคือ จิต และเจตสิก เพราะฉะนั้นโลภะความติดข้อง เกิดหลังจากที่เห็นแล้วพอใจ ไม่พอใจ ในสิ่งที่เห็น เห็นก็ยังคงเป็นเห็น แต่ความชอบไม่ชอบไม่ใช่เห็น เวลาที่เห็นแล้วดับไป ก็ทำให้เกิดการชอบไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความต่างของจิต และเจตสิก จึงสามารถที่จะรู้ว่าสติคืออะไร เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ได้ยิน ฟังเผินไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาไตร่ตรอง และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก่อนอื่นก็คือว่าคืออะไร

    เพราะฉะนั้นสติ เป็นธรรมที่มีจริงแน่นอน สติไม่ใช่รูปธรรมเพราะเหตุเพราะเป็นสภาพรู้ สติก็ไม่ใช่จิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้ว่าเจตสิกนี่มีหลากหลายต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท เจตสิกบางประเภทเกิดกับจิตได้ทุกชนิด แต่เจตสิกบางประเภท เกิดเฉพาะกับจิตที่เป็นอกุศล และจิตจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้ว่าเจตสิกมีอะไรบ้าง แล้วก็เจตสิกฝ่ายดีคืออะไร เจตสิกฝ่ายไม่ดีคืออะไร เราก็เพียงแต่ได้ยินคำว่าสติ และใครบอกก็คราวๆ ว่าสติเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องรู้ว่าสติมีจริง ไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดกับจิต แต่ว่าไม่ใช่จิต สติ เป็นโสภณเจตสิกที่ดีงาม เป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในฝ่ายดี เท่าที่จะรู้ได้ ธรรมหลากหลายมาก ธรรมที่มีแต่ไม่ปรากฏให้รู้ได้ก็มี ธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้ให้เข้าใจได้ก็มี เพราะฉะนั้นพูดคำว่าสติ เป็นธรรมฝ่ายดี ฟังธรรมนี่ดีไหม เป็นธรรมใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นธรรมฝ่ายดี มีสติเกิดร่วมด้วย จึงไม่ไปเที่ยวข้างนอก ไม่ไปซื้อของ ไม่ไปทำธุระอื่น แต่สติทำให้ระลึกที่จะฟังสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ เมื่อได้ยินได้ฟัง

    เพราะฉะนั้นธรรมฝ่ายดีทั้งหมด มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ตามลำดับขั้น ธรรมทุกอย่างต้องตามลำดับขั้น ความติดข้องมีตั้งแต่เล็กน้อยที่สุด จนกระทั่งถึงทำทุจริตกรรมได้ เพราะมีความต้องการอย่างยิ่งในสิ่งนั้น โทสะมีโทษมากเป็นความขุ่นเคืองตั้งแต่ขุ่นใจนิดเดียวจนถึงกับฆ่าได้ ทำร้ายให้ถึงกับสิ้นชีวิตได้ นี่ก็คือสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นความหลากหลายของธรรมก็ยังมีแสดงไว้ว่าหลากหลายโดยประการใดบ้าง นี่คือพระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ขณะที่กำลังเข้าใจธรรม มีสติเจตสิกหรือไม่ มีแน่นอน เพราะฉะนั้นโสภณเจตสิกทั้งหมด มี ๒๕ ประเภท แต่ที่เกิดกับจิตที่ดีทุกขณะ ๑๙ ประเภท มากไหม เวลานี้ไม่ปรากฏเลย ได้ยินแต่ชื่อ ปัญญาก็ได้ยินแต่ชื่อใช่ไหม ทุกอย่างเป็นชื่อ แต่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นอีกนัยยะหนึ่ง ไม่มีใครสักคน มีแต่ธรรมซึ่งเป็นจิต และเจตสิกเกิดดับสืบต่อทำกิจการงานทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตายแม้ในขณะนี้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 177
    29 ต.ค. 2567