ปกิณณกธรรม ตอนที่ 821


    ตอนที่ ๘๒๑

    สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก

    วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ผู้ฟัง เวลาฟุ้งซ่าน

    ท่านอาจารย์ เวลาฟุ้งซ่าน ปัญญาความเข้าใจถูกต้องมีว่า ขณะนั้นมีจิตรึเปล่า ต้องมีจิตคือสภาพรู้ แต่ไม่ใช่เห็น กำลังฟุ้งซ่านไม่ใช่เห็นใช่ไหม ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง เพื่อให้รู้จัก ให้เข้าใจความจริง ไม่ใช่ให้ไปดัดหรือไปทำอะไรเลยโดยไม่รู้ นี่คือความต่างกัน ถ้าให้ไม่รู้แต่ให้ทำนั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อรู้แล้ว สภาพธรรมทำหน้าที่ของสภาพธรรมไม่ใช่เรา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วไปบอกให้มีปัญญา ให้ปัญญาทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ไหม ในเมื่อไม่มีปัญญา แต่เมื่อมีปัญญาแล้ว ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา ใครจะไปทำหน้าที่ของปัญญาได้ไหม เอาโลภะไปทำหน้าที่ของปัญญาได้ไหม เอาโทสะไปทำหน้าที่ของปัญญาได้ไหม

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องไม่ลืมว่า ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา พุทธะคือปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรม ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับ ไม่ใช่ไม่ดับ ฟุ้งซ่านดับแล้วเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ไม่ต้องไปหาวิธี แต่พอฟุ้งซ่านเกิด ลืมว่าฟุ้งซ่านเกิด และฟุ้งซ่านก็ดับ เหมือนเห็นเดี๋ยวนี้ เห็นแล้วก็ดับ ได้ยินก็ดับ แน่นอน สภาพธรรมที่จะเกิด เกิดตามใจชอบได้ไหม ไม่มีตาที่ใช้คำว่าตาบอด แล้วจะให้เห็นนี่ได้ไหม ไม่ได้ ไม่มีโสตปสาทะ รูปพิเศษที่สามารถกระทบเสียง ทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น และก็ดับไปทั้งหมด ถ้าไม่มีรูปนั้นจะมีการได้ยินเสียงไหม การฟังธรรมต้องค่อยๆ ฟัง และค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิด แม้สิ่งที่เกิดจะเป็นความฟุ้งซ่านหรือไม่ฟุ้งซ่าน ก็มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดเป็นอย่างนั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ปัญญาสามารถเห็นถูกเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นต้องเป็นปัญญาของตัวเองที่เกิดจากการฟังพระธรรม และรู้ว่าคำนี้เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นยารักษาโรคใจที่ฟุ้งซ่าน แต่ไม่ใช่ไปเลือกหาว่า จะเอาธรรมข้อไหนมาทำให้เราหายฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ความเข้าใจ ไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง เป็นการสร้างสติได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ ได้ยินคำว่าจิต ได้ยินคำว่าธรรม เข้าใจธรรม เข้าใจจิต แล้วสติคืออะไร เห็นไหม ยังไม่รู้เลย จะใช้แล้ว ต้องรู้ก่อนว่าคืออะไร ก่อนอื่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้เราไม่รู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้เราเข้าใจให้ถูกต้องทุกคำ เพราะฉะนั้นพูดคำว่าสติ ก่อนอื่น สติคืออะไร ถ้ายังไม่รู้ว่าสติคืออะไร จะไปตั้งสติที่ไหน ทั้งหมดถ้าเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ต้องรู้ว่า) คืออะไรก่อน รู้ก่อนเข้าใจก่อน เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดหาทาง เพราะยังไม่รู้จักสติจะไปเอาสติที่ไหนมาตั้ง และสติก็ตั้งไม่ได้

    ผู้ฟัง เท่าที่ประสบมา เวลาที่เราไม่สบายใจ เรานอนไม่หลับ จะสอบพรุ่งนี้อยู่แล้วหนังสือยังท่องไม่หมดอะไรอย่างนี้ นอนไม่หลับจะทำอย่างไรดี

    ท่านอาจารย์ นอนไม่หลับนี่ คิดหรืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คงต้องคิดว่า ข้อสอบจะออกมาอย่างไรนะ แล้วพรุ่งนี้นี่เราจะต้องตอบ อย่างนี้ ก็กระวนกระวาย จะระงับความกระวนกระวายของจิต

    ท่านอาจารย์ อย่าลืม ว่าเราต้องเข้าใจธรรมทีละคำแล้วก็ละเอียดด้วย เพราะฉะนั้นเรากำลังพูดถึงเรื่องจิต ตอนหลับมีจิตไหม ตอนตื่นมีจิตไหม แล้วทำไมเราหลับรู้ไหม แล้วทำไมเราไม่หลับรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ อนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ หลับคือเราไม่เห็น กรรมไม่ได้ทำให้เห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็นต้องมีกรรมที่ทำให้เห็น ถ้าไม่มีกรรมที่ทำให้เห็นไม่เห็น เพราะฉะนั้นความละเอียดของธรรมนี่ละเอียด แม้แต่ในขณะจิต

    ผู้ฟัง กรรมของเราใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจอีกคำหนึ่ง กรรมคือเหตุ ต้องมีผลใช่ไหม เมื่อเหตุมี ผลต้องมี ถูกต้องไหม เราพูดเรื่องกรรม และผลของกรรม แต่เราไม่ละเอียด เราไม่รู้ว่ากรรมขณะไหน และผลของกรรมขณะไหน เราก็รีบร้อนที่จะไปทำโน่นทำนี่แต่ความจริงก่อนอื่น ต้องรู้ว่ากรรมคืออะไร กรรมมีไหม และผลของกรรมคืออะไร ก็เป็นเรื่องที่มีคำตอบทั้งหมด แต่ไม่ใช่ว่าทันทีเดี๋ยวนี้ แต่ต้องเข้าใจทุกคำก่อน

    เพราะฉะนั้นตอนนี้เข้าใจจิต ยังไม่เข้าใจสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งมี แต่ไม่ใช่จิต แต่เป็นสภาพรู้ โกรธเป็นจิตรึเปล่า ไม่ใช่ จิตเป็นสภาพรู้ บางครั้งโกรธ บางครั้งไม่โกรธ ทีนี้เราค่อยๆ คิด บางครั้งก็โกรธ บางครั้งก็ไม่โกรธ แต่มีการรู้ การเห็นตลอดเวลา ทีละขณะใช่ไหม เราโกรธสิ่งที่เราได้ยิน ถ้าไม่ได้ยินก็ไม่โกรธ เพราะฉะนั้นโกรธบ้าง ไม่โกรธบ้าง เพราะฉะนั้นจิตมีตลอดเวลาไม่เคยขาดเลย แต่โกรธมีบ้าง ไม่มีบ้าง เพราะฉะนั้นโกรธเป็นจิตไม่ได้ โกรธเป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหมเริ่มขยายความว่า ธาตุรู้หรือธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิตแต่เกิดพร้อมจิต เช่นความโกรธไม่ได้เกิดกับที่อื่นเลย นอกจากเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นจิตเป็นจิต และโกรธเป็นโกรธ ด้วยเหตุนี้ สภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิตด้วย พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติคำว่า "เจตสิกะ" คนไทยก็เรียกสั้นๆ อย่างเคยคือเจตสิก

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตต้องมีเจตสิก สภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้เลย ต้องอาศัยธรรมอื่นเป็นปัจจัยอาศัยกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และขณะใดก็ตามที่เจตสิกเกิดก็ต้องมีจิตเกิดร่วมด้วย แล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีใช่ไหม เป็นจิตที่กำลังเห็นแต่ก็มีเจตสิกเกิดกับจิตที่เห็น ๗ ประเภท จำ รู้สึก ภาษาบาลีความรู้สึกก็ใช้คำว่า "เวทนาเจตสิก" ถ้าเป็นความจำภาษาบาลีก็ใช้คำว่า "สัญญาเจตสิก" และคนไทยก็มาใช้ไม่ตรง สัญญากันไว้ว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้หมายความว่าไม่ลืมนะ อย่าลืมนะว่าจะทำอย่างนี้ แต่สภาพของสัญญาเป็นสภาพที่จำแล้ว เวลานี้เราเห็นเราก็จำได้ว่าอะไรแต่สัญญาความจำไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกเกิดกับจิต แล้วแต่ว่าจิตนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ นี่คือธรรม นี่คืออนัตตา นี่คือไม่มีใครบังคับบัญชาได้ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขณะโกรธ มีเจตสิกเกิดมากกว่า ๗ จะนำไปสู่กรรม และผลของกรรม (เข้าใจ) ช้าๆ แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่เรียกชื่อแล้วก็ถามแต่ก็ไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจก่อนอื่น คือธรรม และสภาพรู้มี ๒ อย่างคือจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน และอีกสภาพหนึ่งไม่รู้เลย เจตสิกจะไปเกิดกับรูปไม่ได้ จิตจะไปเกิดกับรูปไม่ได้ เพราะจิตเป็นธาตุรู้ แต่รูปไม่รู้อะไรเลย เกิดพร้อมกันได้ อาศัยกันได้ แต่เป็นสิ่งที่เป็นธาตุคนละอย่าง เป็นธรรมคนละอย่าง เดี๋ยวนี้มีไหมเจตสิก มีแน่นอน ถ้ามีจิตก็ต้องมีเจตสิกแน่นอน ตอนนี้เริ่มรู้แล้วใช่ไหม เมื่อเข้าใจนั่นคือปัญญา บอกว่าไม่เข้าใจเป็นปัญญาไม่ได้

    เพราะฉะนั้นมีอวิชากับวิชา อวิชาก็คือไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นขณะใดที่ไม่รู้เป็นธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ ขณะนั้นเป็นอวิชาไม่ใช่เรา แต่กำลังฟังนี่ เข้าใจเมื่อไหร่ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เราแต่เป็นธรรม ซึ่งเป็นวิชาตรงกันข้ามกับอวิชา เพราะฉะนั้นทั้งหมดเป็นธรรม ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมทั้งหมด เวลานี้ก็มีธรรมทั้งนั้นเลย แต่ต้องเข้าใจถูกก่อนว่าธรรมนั้นเป็นจิต เป็นสภาพรู้ เป็นเจตสิกหรือว่าเป็นรูป ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้

    ด้วยเหตุนี้ คำโบราณ อาจจะเคยได้ยินได้ฟัง "จิ เจ รุ นิ" ก็ไม่มีใครรู้ว่าหมายความว่าอะไร ก็คิดว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็ท่องกัน แต่ว่า จิ หมายความถึงจิต เจ หมายความถึงเจตสิก รุ หมายความถึงรูป นิ หมายความถึงนิพพาน หมายความว่าธรรมทั้งหมด ประมวลแล้วต้องเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด คือเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป นิพพานไม่มี เพราะว่า ต่อเมื่อไหร่ปัญญาเจริญจนกระทั่งถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลส ถึงจะมีนิพพานได้

    เพราะฉะนั้นก็คือเดี๋ยวนี้เองทั้งหมดเป็นธรรม และก็หลากหลาย แต่อีกอย่างหนึ่ง ที่น่าจะเข้าใจก็คือคำว่า "อารมณ์" หรืออารัมมณะ จิต เจตสิกเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีไม่ได้พูดภาษาไทยว่าสิ่งที่ถูกรู้ แต่พูดว่าอารัมมณะ หมายความว่าสิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่จิตกำลังรู้ เป็นอารมณ์ของจิตนี่คือภาษาไทย แต่ถ้าภาษาบาลี อารัมมณะ เพราะฉะนั้นคนไทยใช้คำไม่ตรง วันนี้อารมณ์ดีไหม อารมณ์ดีเพราะอะไร เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี กระทบสัมผัสสบายๆ แล้วก็คิดเรื่องดีๆ เราก็บอกว่าอารมณ์ดี แต่ไม่รู้ว่าที่อารมณ์ดี หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้เราไปหมายความว่าจิตนี่ ขณะนั้น มีอารมณ์ แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริง อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ เมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีทั้งหมดใจก็สบาย เพราะฉะนั้นสบายมีใช่ไหม เป็นอะไร เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมแน่ๆ ใช่ไหม มีจริง แต่ความจริงแท้มี ๓ อย่างที่ปรากฏทุกวันในชีวิตประจำวัน คือมีจิต มีเจตสิก มีรูป จิตเป็นสภาพรู้ แต่ความรู้สึกที่เกิดกับจิตเป็นเจตสิก ตัวจิตไม่ทำอะไรเลยทั้งสิ้น แค่รู้อย่างเดียว เห็นเป็นจิต แต่ชอบไม่ชอบเป็นเจตสิก เจตสิกไม่ดีเกิดกับจิต ทำให้จิตนั้นเป็นจิตที่ไม่ดีเป็นอกุศลจิต แต่เพราะอกุศลเจตสิก เกิดกับจิตก็ทำให้จิตนั้นไม่ดี

    ผู้ฟัง หากเราเข้าใจธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงจะไม่มากก็ตาม เราควรปฏิบัติตนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีจิต มีเจตสิก มีรูปเกิดดับ มีเราไหม ที่เคยเป็นเรา เป็นธรรมทั้งหมด แล้วก็เป็นอนัตตาด้วยคือไม่ใช่ของเราจริงๆ เพียงแค่มีชั่วคราว เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป เมื่อวานนี้ไม่เหลือเลย วันนี้ก็จะเป็นเมื่อวานนี้ของพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นก็กำลังค่อยๆ หมดไป แต่หมดไปด้วยความเข้าใจหรือไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจะปฏิบัติอะไรนอกจากฟังธรรมให้เข้าใจขึ้นเพราะรู้ว่าไม่มีเรา แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ยังคงเป็นเรานั่นแหละที่ฟัง และก็เป็นเรานั่นแหละที่คิดจะปฏิบัติอย่างไร แต่ถ้ามีความเข้าใจธรรมจริงๆ ก็จะรู้ความจริงว่าอนัตตา ไม่ใช่ของเราเลย ทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้น เพราะการยึดถือว่ามีเรา แต่ถ้าเป็นธรรมซึ่งเกิดดับเป็นปกติของธรรม จะมีอะไรที่ต้องเสียดาย เสียใจ เพราะว่าเป็นธรรมดาของธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ

    เพราะฉะนั้นคำว่าธรรมดามาจากภาษาบาลี "ธรรมตา" ตาคือเป็นปกติ ความเป็นไปของธรรมต้องเป็นอย่างนี้ เกิดแล้วก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต้องคิดนึก จนกว่าตายจากโลกนี้ แต่ด้วยความไม่เข้าใจอะไรเลย หรือว่าด้วยการที่มีโอกาสได้ฟัง และได้เข้าใจถูกต้องว่าธรรมเกิดแล้วดับ ไม่มีเราที่จะปฏิบัติ แต่ธรรมแต่ละหนึ่งมีหน้าที่เฉพาะธรรมนั้นๆ เช่น โลภะเป็นสิ่งที่มีจริง ความติดข้องมี คนอื่นสภาพธรรมอื่นจะทำกิจของโลภะไม่ได้เลย ปัญญาก็มี ไม่ใช่โลภะ

    เพราะฉะนั้นที่ถามว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร เป็นปัญญา หรือเป็นโลภะ เราจะปฏิบัติอย่างไร นี่อยากแล้วใช่ไหม ต้องการแล้วใช่ไหม เป็นเราแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่พอ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราจะไปปฏิบัติ โดยเราไม่เข้าใจ แต่ฟังอีกเข้าใจอีก แล้วธรรมก็ปฏิบัติหน้าที่ของธรรม ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา อวิชาทำหน้าที่ของปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ไม่รู้ และจะไปปฏิบัติ ก็คือมีความเป็นเรา และไม่รู้ เข้าใจว่าธรรมเป็นเรา ลืมคำว่า "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" อนัตตาคือไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย เห็นเกิดแล้วดับ เห็นเป็นเห็น นกเห็นไหม เป็นนกหรือเป็นจิตที่เห็น เป็นจิตที่เห็น เพราะฉะนั้นจิตที่เห็นไม่ใช่รูปร่าง ปลา นกไม่ใช่เลย เห็นเกิดที่ไหน ก็เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป นี่คือคำสอนที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ซึ่งถ้าไม่มีการตรัสรู้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีในโลกนี้ แต่เพราะเหตุว่าได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะรู้ว่า ทุกคนเกิดมาชั่วคราวแล้วก็จากโลกนี้ไป มาจากไหนแล้วก็จะไปไหน ไม่มีคำตอบเลย แต่ถ้ามีปัญญารู้ว่าเป็นธรรมทุกอย่างที่เป็นผลมาจากเหตุ ถ้าเหตุไม่มี ผลมีไม่ได้เลย จะไปหวัง จะไปอ้อนวอน จะไปขอร้องอย่างไรให้เกิดผลอย่างที่ต้องการก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ผลของกรรม กรรมคือเหตุ เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก เห็นไหม ถ้าเรารู้น้อย เราตอบพลาดหมดเลย แต่ถ้าได้ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจความต่างของจิตกับเจตสิก เรารู้จริงๆ ว่าเจตสิกเป็นเจตสิก จิตมีหน้าที่อย่างเดียวเกิดขึ้นรู้ไม่ได้จำ ไม่ได้รู้สึก ไม่ได้โกรธ ไม่ได้อะไรเลย ทั้งหมดอื่นใดนั้นเป็นเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตแต่ละขณะหลากหลายต่างกัน ตามความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นขณะนี้ ที่ว่าเป็นคนก็คือจิต เจตสิก รูป ที่ว่าเป็นสุนัข แมวก็คือจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้นจิตเป็นจิตจะเป็นเจตสิกไม่ได้ นี่คือความเข้าใจที่ค่อยๆ มั่นคงขึ้น ในความเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นคำถามทั้งหลายที่มาจากความไม่รู้ เพราะไม่รู้พระธรรมจึงเข้าใจว่าเราจะทำอย่างนั้น หรือเราจะทำอย่างนี้ แต่ตามความเป็นจริงคือเข้าใจหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจก็คือว่าไม่ใช่ผู้ฟังพระธรรม เพียงแต่ได้ยิน แต่ถ้าฟังคือต้องไตร่ตรองทุกคำจนกระทั่งเป็นความเข้าใจมั่นคงขึ้น ที่ใช้คำว่า "ศรัทธา" มีไหม สภาพจิตที่ผ่องใส สภาพจิตที่ผ่องใสหมายความว่าขณะนั้นมีเจตสิกที่เป็นลักษณะที่ผ่องใสเกิดกับจิต จิตนั้นจึงผ่องใส เพราะจิตไม่ทำอะไรเลย รู้อย่างเดียว เกิดขึ้นรู้ เพราะฉะนั้นอย่างอื่นทั้งหมดเป็นเจตสิก ปัญญาเป็นเจตสิก อวิชาเป็นเจตสิก สติเป็นเจตสิก ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นจะมีเราไปตั้งสติ ไปทำสติ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เห็นว่าไม่รู้ความจริงว่าเกิดแล้วดับ และก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คงไม่ลืม ธรรม ปรมัตถธรรมเปลี่ยนไม่ได้ อภิธรรมลึกซึ้ง และไม่มีอะไรเลยนอกจากธรรม ซึ่งเป็นรูปธรรมไม่รู้อะไรเลยอย่างหนึ่ง และก็เป็นนามธรรมคือจิต และเจตสิก

    เพราะฉะนั้นจึงมี จิ เจ รุ นิ จิ คือจิต เจคือเจตสิก รุคือรูป นิคือนิพพาน ไม่ใช่คาถาสำหรับไปท่อง แต่พอพูดแล้วรู้เลย ต่อไปนี้ใครพูดเรื่อง จิ เจ รุ นิ ก็รู้ว่าเป็นธรรมที่มีเดี๋ยวนี้เอง คือจิต และเจตสิก และรูป และนิพพานนั้นก็ยังไม่ถึง เพราะเหตุว่าปัญญาเท่านั้นที่สามารถที่จะรู้แจ้งนิพพานได้ แม้แต่เพียงเห็นขณะนี้เกิดดับยังไม่รู้เลย แล้วจะไปรู้นิพพานได้อย่างไร เพราะฉะนั้นคำสอนทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเข้าใจถูก ในภาษาไทยใช้คำว่า "เข้าใจถูก"แต่ภาษาบาลีคือปัญญา จะใช้คำว่าวิชาก็ได้ ญาณะก็ได้ หลายคำตามระดับขั้นของความเข้าใจ เพราะเหตุว่าความเข้าใจขณะนี้เพียงแค่ฟัง ยังไม่รู้จักจิตซึ่งกำลังเกิดดับ แต่มีจิตจริงๆ มีเห็นจริงๆ มีได้ยินจริงๆ มีคิดจริงๆ มีชอบจริงๆ ทั้งหมดล้วนชั่วคราว เร็วกว่าที่ใครจะประมาณได้ จนเหมือนกับไม่ได้ดับไปเลย เหมือนนายมายากล เพราะฉะนั้น ปุถุชน คือคนที่ไม่มีความเห็นถูก เหมือนอยู่ในโลกของมายา คือความลวงเข้าใจว่ามีสิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่เที่ยง มีคนนั้นเกิด แล้วก็คนนั้นแหละตาย แต่ความจริง เป็นจิต เจตสิก รูป ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิดจนถึงขณะสุดท้ายที่จากโลกนี้ไป ก็คือจิตขณะสุดท้ายเกิด และดับไปทำกิจ ต่างกับขณะแรกที่เกิด เพราะว่าจิตขณะสุดท้ายของจิตคือทำให้เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะเป็นคนนี้อีกต่อไปไม่ได้เลยสักขณะเดียว เงินทองมหาศาลก็ซื้อที่จะให้เป็นขณะนั้นต่อไปอีกสักหนึ่งขณะก็ไม่ได้ แล้วก็เมื่อจิตขณะสุดท้ายดับ กรรมที่พร้อมที่จะให้ผลในชาติหน้ามีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลา แต่ถึงเวลาต่อเมื่อจิตขณะสุดท้ายดับพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ กรรมนั้นก็ทำให้จิต เจตสิก รูปเกิด เป็นอีกคนหนึ่ง เหมือนเรา ขณะนี้กับชาติก่อน

    เพราะฉะนั้น ถ้าใช้คำว่า "กรรม" ได้แก่ ความจงใจ ความตั้งใจที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ถ้าได้กระทำกรรมตามความจงใจ ตามความตั้งใจสำเร็จ สามารถให้ผลทำให้เกิด ถ้าเป็นอกุศลกรรมไม่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ทำให้เกิดเป็นเทพ ไม่ทำให้เกิดเป็นพรหม แต่ทำให้เกิดในอบายภูมิๆ ที่ไม่เจริญ เป็นสัตว์เดรัจฉานหรือว่าเกิดในนรก หรือว่าเป็นเปรต หรือว่าเป็นอสูรกาย เพราะฉะนั้นที่เกิดของธรรมนี่เต็มหมดเลย จักรวาลไกลแสนไกล พรหมโลกก็ไม่ได้อยู่ใกล้อย่างที่เราคิด เทพก็อยู่ไกล แต่ก็มีหลากหลาย แล้วแต่ว่าจะเป็นประเภทที่อยู่ใกล้ หรือว่าเป็นประเภทที่ห่างไกลออกไป ทั้งหมดตามกรรม ถ้าไม่มีกรรมที่จะให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้นไม่ได้ จะไปอ้อนวอนขอร้องอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจว่า จิตเป็นสภาพรู้ แล้วก็มีเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ แล้วแต่ว่าเป็นเจตสิกประเภทที่ดี หรือเป็นเจตสิกประเภทที่ไม่ดี ก็ทำให้การกระทำทางกาย ทางวาจาเป็นไปอย่างนั้น คำพูดที่ทำร้ายคนอื่นมีไหม เสียงแข็ง หรือว่าพูดทำให้คนฟังไม่สบายใจ ถ้าจิตขณะนั้นดี เสียงอย่างนั้นมีไม่ได้ แต่ไม่รู้ตัว ว่าขณะนั้นเป้นธรรมฝ่ายไม่ดี เพราะฉะนั้น ปัญญาเห็นถูก ไม่ดีก็เว้น แต่ถ้าปัญญายังไม่พอก็ไม่เว้น เพราะฉะนั้นปัญญาเท่านั้น ประเสริฐสุด เพราะเหตุว่าถึงมีเงินทองทรัพย์สมบัติจากโลกนี้ไปแล้วทรัพย์สมบัตินั้นเป็นของใคร เอาไปไม่ได้เลย แม้แต่รูปร่างกายซึ่งเป็นที่รักมากเลย ชาตินี้ทะนุบำรุงทุกอย่างก็เอาไปไม่ได้ ซึ่งความจริง รูปแต่ละรูปเดี๋ยวนี้ มีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดยิบเกิดดับเหมือนกองฝุ่น เพราะว่าสามารถที่จะแยกย่อยออกไปขณะไหนได้เลย ระเบิดทีเดียวแขนขาด ขาขาดหมดเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นทุกชิ้นส่วนนี่มีอากาศธาตุแทรกคั่น แต่ไม่รู้ว่ารูปที่เกิด บางกลุ่มใช้คำว่ากลุ่มหมายความว่ารูปที่เล็กที่สุด ต้องมีรูป ๘ ประเภทรวมกัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 177
    23 ต.ค. 2567