ปกิณณกธรรม ตอนที่ 852


    ตอนที่ ๘๕๒

    สนทนาธรรม ที่ ภูพานเพลส จ.สกลนคร

    วันที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดดับเพราะมีเหตุปัจจัย ทั้งหมดเป็นสังขารธรรม แต่ยังมีคำว่าสังขารอื่นไปอีกซึ่งเป็นความละเอียด เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมไม่ใช่คำเดียวหรือเปิดพจนานุกรม ศึกษาพระธรรมโดยพจนานุกรมไม่ใช่การศึกษาที่จะเข้าใจธรรม เพียงแค่รู้ว่าคำนั้นหมายความว่าอะไร แต่จะเข้าใจคำนั้นก็ต่อเมื่อได้ฟังพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึงคำนั้นโดยละเอียดยิ่งไม่ใช่เพียงแปล ถ้าใครถามว่าอารมณ์คืออะไร ตอนนี้บอกถูกใช่ไหม แปลได้ แต่ถ้าคนนั้นไม่ได้ศึกษาธรรมเขาจะรู้ไหมว่าขณะนี้เดี๋ยวนี้อะไรเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ตอบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าฟังแล้ว ตอบได้ไหมว่าเดี๋ยวนี้อะไรเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง สิ่งที่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏเมื่อจิตเห็น หรือจิตสิ่งที่จิตกำลังรู้นั่นแหละเป็นอารมณ์ คำนี้กว่าจะชิน มั่นคง เพราะฉะนั้น ถ้าขาดการฟังธรรมก็ลืม แต่ถ้าฟังบ่อยๆ เข้าใจขึ้น เข้าใจแล้วไม่ลืม ตอนนี้ลืมว่าจิตคืออะไรหรือไม่

    ผู้ฟัง จิตคือสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ ลืมไปหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ลืม

    ท่านอาจารย์ ถ้าใครถามก็รู้แน่นอน จิตก็คือสภาพรู้ ถ้าเขาบอกไม่ใช่ เรารู้เลยว่าผิด แต่จิตจะปรากฏเป็นอารมณ์ของปัญญาหรือยัง ตอบได้ชัดเจน แค่ฟัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นปฏิปัตติเมื่อไหร่ นั่นคือความหมายของคำว่าลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ฟัง และเข้าใจอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงนี้แหละจะปรากฏกับจิตขณะใดเป็นอนัตตา ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องคอย ถ้าไม่มีปัจจัยเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นขาดปัจจัย ถ้ามีปัจจัยคือฟังเข้าใจขึ้นๆ ไม่ต้องทำอะไรเพราะเป็นอนัตตา คิดถึงตอนเป็นเด็กคิดได้ไหม ทำอะไรบ้าง บ้างเท่านั้น ไม่ต้องทั้งหมด จำได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็จำได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ จำได้ตั้งนานแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าสะสมความเข้าใจมั่นคง ก็ต้องคิดถึงหรือเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ฟังโดยความเป็นอนัตตา คิดเดี๋ยวนี้น่ะตั้งใจคิดหรือไม่

    ผู้ฟัง ตั้งใจคิด แต่ก็คิดไม่ออก

    ท่านอาจารย์ แค่คิดไม่เคยออก แต่ตั้งใจจะคิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ความตั้งใจมีจริง ใช่ไหม ที่จะคิดเรื่องที่ต้องการคิด แต่คิดไม่ออกก็จริง เพราะฉะนั้นความตั้งใจ ไม่ใช่สภาพที่คิดออกใช่ไหม คนละอย่าง ตั้งใจจะคิด แต่ตอนคิดไม่ออก ตั้งใจจะคิดไม่ออกหรือเปล่า นี่คือความลึกซึ้งของธรรม ถ้าฟังไม่ถึงไหนก็ตอบผิด จะรู้เลยว่าฟังไม่ถึงไหน คิดเองก็ต้องผิด แต่ถ้าค่อยๆ ฟังเข้าใจมั่นคงขึ้น คำตอบไม่ผิดเพราะเข้าใจ แต่ถ้าตอบผิดเพราะไม่รู้ ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจก็คิดเอา เพราะฉะนั้นคำตอบจากการคิด ซึ่งไม่ใช่ตอบจากความเข้าใจถูกไม่ได้ จนกว่าจะฟังเข้าใจทำให้เกิดคิดถูกต้อง เพราะได้เข้าใจแล้ว นี่คือประโยชน์อย่างยิ่งของการได้ฟังไม่ว่าจะกี่นาทีก็ตามแต่ เข้าใจเมื่อไหร่นั้นเป็นประโยชน์จริงๆ พรุ่งนี้ก็ไม่ลืม ใช่ไหม เพราะเข้าใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจแค่จำแล้วก็ลืม

    ผู้ฟัง คนทั่วไปก็ยังใส่บาตร ไปบริจาคเงินสร้างถาวรวัตถุ เป็นการสืบพระศาสนาได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นใส่บาตรคืออะไร

    ผู้ฟัง คิดว่าไปใส่บาตรคือการไปทำบุญ ทำกุศล

    ท่านอาจารย์ รู้จักบุญยัง รู้จักกุศลหรือยัง เห็นไหมว่าก็ไม่ว่ากัน ต่อไปคิดว่าการใส่บาตรเป็นการทำบุญ แต่ถามว่าใส่บาตรคืออะไร

    ผู้ฟัง ใส่บาตรก็คือเอาอาหารไปถวายพระภิกษุ

    ท่านอาจารย์ เพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เป็นการสละ

    ท่านอาจารย์ ผู้ให้เป็นผู้เสียสละใช่ไหม สามารถที่จะสละอาหาร ให้ผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงชีวิตด้วยตัวเอง ไม่ได้ทำอาหาร หรือว่าหุงต้มอะไรได้ แล้วใส่บาตรนี่ให้ใคร

    ผู้ฟัง ให้พระภิกษุ

    ท่านอาจารย์ พระภิกษุคือใคร

    ผู้ฟัง คือพระที่บวชเข้าไปในพระธรรมวินัย

    ท่านอาจารย์ บวชทำไม ฟังพระธรรมแล้วไม่บวชก็มี ท่านอนาถบิณฑิกท่านฟังพระธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านก็ไม่ได้บวช ท่านวิสาขามิคารมารดา ฟังพระธรรมบรรลุโสดาบัน ท่านก็ไม่ได้บวช เพราะฉะนั้นบวชทำไม

    ผู้ฟัง สมัยนี้ส่วนมากเป็นการบวชตามประเพณี หรือจะบวชเพื่อไปศึกษาพระธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนบวช รู้ประโยชน์ของการบวช หรือว่าอยากบวช

    ผู้ฟัง ส่วนมากก็เป็นการอยากบวช

    ท่านอาจารย์ ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ผิด

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตรงถ้าไม่ตรงจะดำรงพระศาสนาได้อย่างไร เพราะยังไม่รู้ว่าพระศาสนาเป็นหนทางกำจัดกิเลสซึ่งต้องเป็นไปด้วยปัญญากว่าจะได้เข้าใจพระธรรมแต่ละคำ ไม่ว่าคฤหัสหรือบรรพชิตยากไหม

    ผู้ฟัง ยากมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรู้ได้เลยใช่ไหมว่าเมื่อไหร่ได้ฟังธรรม เมื่อไหร่ไม่ได้ฟังธรรมแต่ฟังคำอะไรที่ไม่ได้ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนที่จะได้ฟังคำจริง ทุกคำที่จริงพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นคำของพระองค์ เพราะคำจริงนั้นมาจากไหน ถ้าไม่มีการได้ฟังพระธรรม ไม่มีการได้เข้าใจพระธรรม จะเอาคำเหล่านั้นมาจากไหน ไม่ว่าใครทั้งนั้น เพราะฉะนั้นทุกคำที่เป็นคำจริงเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากการที่ได้ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นคุณประภาสฟังแล้ว จะบวชมั้ย

    ผู้ฟัง ตอนนี้ไม่บวช

    ท่านอาจารย์ ไม่บวชเพราะว่า

    ผู้ฟัง เพราะว่าถ้าบวชไปแล้วมีความกลัวที่จะต้องไปผิดพระวินัย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นด้วยความเคารพว่ ชีวิตของคฤหัสถ์ต่างกับบรรพชิตเหมือนเส้นไหมละเอียดกับด้ายเส้นหยาบ ห่างกันอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะชีวิตของพระภิกษุ เป็นชีวิตที่สละสิ่งที่เคยติดข้อง ไม่มีพ่อมีแม่ มีเพื่อนมีฝูง มีบ้านมีความสนุกสนานรื่นเริงใดๆ เหมือนเก่า สละหมด บรรพชามาจากคำว่าปัพชา ขอถามคุณคำปั่นว่าหมายความว่าอะไร

    อ. คำปั่น เป็นการเว้นทั่วโดยประการทั้งปวง เว้นจากเครื่องติดข้องที่คฤหัสถ์เคยเป็น เว้นจากความไม่ดีทั้งหมดเลย

    ท่านอาจารย์ การสละการเว้นความติดข้อง ที่เคยเป็นอย่างชีวิตของคฤหัสถ์ คือสละทั่ว เว้นทั่ว สละบ้านเรือน พ่อแม่ เพื่อนฝูง ความสนุกสนานทั้งหมด เพราะเห็นประโยชน์อย่างยิ่งว่าสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลาอย่างยิ่งในเพศบรรพชิตได้ เพราะจุดประสงค์คือเพื่อสละ ถ้าไม่มีปัญญาก็สละไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่จะบวชต้องรู้จริงๆ ด้วยความตรงว่า บวชเพื่ออะไร เห็นโทษของอกุศลแค่ไหน เห็นโทษของการที่จะมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์แค่ไหน โทษที่นี่ก็คือว่ายากต่อการที่จะขัดเกลากิเลสในเพศคฤหัสถ์ แต่สะดวกสบายอย่างยิ่ง สำหรับเพศบรรพชิตซึ่งมีเวลาขัดเกลากิเลสดุจสังข์ขัดตั้งแต่ตื่นจนหลับ ต่างกันแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นความเป็นผู้ตรง ก็จะทำให้ผู้นั้นอย่างท่านอนาถบิณฑิกไม่บวช วิสาขาวิคารมารดาไม่บวช พระเจ้ามหานามก็ไม่ได้บวช เพราะฉะนั้นความเป็นผู้ตรง ต้องรู้กำลังการสะสมของตนเอง มีจิตเสมอกับผู้ที่สละความติดข้องทั้งหมด วงศาคณาญาติ ยุคนี้ก็หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์อะไรต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่การศึกษาธรรม เรื่องการศึกษาธรรมมีทั้งปริยัติ และปฏิปัตติ และปฏิเวธ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมพร้อมหรือยังที่จะเป็นอย่างนั้น

    ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้ตรง และถ้าไม่ตรง ไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย เพราะพระธรรมตรง ผิดนิดเดียวก็ไม่ได้สาระ ถ้าไม่ถูกแล้วไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ตรง จะรักษาพระศาสนาต้องเข้าใจพระศาสนา ถ้าไม่เข้าใจพระศาสนา รักษาอะไร รักษาโบสถ์ รักษาวิหาร สร้างโน่นสร้างนี่เพื่ออะไร เพื่อรักษาพระศาสนา แต่พระศาสนาอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ตรง เชื่อเถิดว่ามั่นคงได้ ความดีเท่านั้นที่จะนำสิ่งที่ดีมาให้ ไม่นำโทษใดๆ มาให้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นความไม่ตรง เป็นความดีหรือเปล่า แค่นี้ก็ทำไม่ได้แล้วจะละกิเลสได้อย่างไร เพราะความไม่ตรงก็เป็นกิเลส

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจจริงๆ ต้องเคารพด้วยการศึกษาให้เข้าใจความลึกซึ้งทุกคำ โทษผิดใดๆ สิ่งที่มีใดๆ จะไม่มาหาผู้ที่ทำถูกต้อง และความดีไม่ต้องหวั่นไหว ไม่ต้องเกรงไม่มีใครทำร้ายใครได้เลยทั้งสิ้น นอกจากธรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น ที่เมื่อเกิดเมื่อไหร่ก็ทำร้ายทันที และยังนำมาซึ่งสิ่งที่ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องกระทบสัมผัส สิ่งที่ไม่น่าพอใจทั้งหมด เพราะเหตุไม่ดี

    เพราะฉะนั้นต้องศึกษา อย่างละเอียด จนกระทั่งสามารถที่เข้าใจได้ถูกต้องว่าเหตุคืออะไร และผลคืออะไร ไม่อย่างนั้นก็พูดทำไม พูดเรื่องเหตุพูดเรื่องผลแล้วก็ไม่รู้ขณะไหนอะไรเป็นเหตุ ขณะไหนอะไรเป็นผล ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ ไม่เป็นสาระกับใครเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นทุกคำ ต้องเข้าใจละเอียด เราทำเหตุหรือเปล่า มีเราหรือไม่ หรือว่าเป็นธรรม ซึ่งถ้าเป็นธรรมฝ่ายดี แม้ดับแล้วเหตุมีแล้ว ก็ต้องทำให้เกิดผลที่ดี แต่ผลนั้นคืออะไร และเหตุคืออะไร ไม่ใช่เราทั้งหมด แต่เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ

    เพราะฉะนั้นวัดวาอาราม สถานที่ สามารถที่จะให้ความจริงหรือเปล่า หรือต้องเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีผู้ที่ได้ศึกษาสืบทอดกันมา ที่จะไม่คลาดเคลื่อน จึงจะดำรงรักษาคำสอนไว้ได้ เพราะฉะนั้นใช้คำว่าใส่บาตร ไม่ใช่ให้คนที่เป็นคฤหัสถ์ และใส่บาตรก็หมายความถึงอาหาร ซึ่งบุคคลนั้นตามพระวินัยหุงต้มเองไม่ได้ ซึ่งผู้ให้ต้องรู้ว่าสละให้ใคร ต่างกันแล้วกับให้คนอื่น ให้ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ไม่เหมือนกับให้บุคคลผู้บริสุทธิ์ จากการที่สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต เพื่ออะไร เป็นความบริสุทธิ์ตั้งแต่การเริ่มต้นของชีวิตใหม่ ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิด การเกิดธรรมดาพ่อแม่เป็นคนให้กำเนิด แต่บวชเป็นพระภิกษุเมื่อไหร่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิด

    เพราะฉะนั้นบวชให้เต็มจำนวน หมายความว่าอย่างไร แล้วก็กำหนดจำนวนไว้ด้วย ๑๐๐๐ รูป ๑๐,๐๐๐ รูป ๑๐๐,๐๐๐ รูปบวชทำไม เพื่ออะไร ให้เต็มจำนวน ชักชวนกันให้บวชยังขาดอยู่เท่านั้นเท่านี้แล้วไปบวช พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเพื่ออะไร ไม่ใช่ให้ใครใครชวนกันไปบวช ถูกหรือผิด ความเป็นผู้ตรงเท่านั้น ที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ สามารถที่จะรู้จักตัวเองจริงๆ ว่าบวชเพื่ออะไรเท่านั้นที่สามารถที่จะเป็นผู้ที่ดำรงพระศาสนาไว้ได้ ถ้าบวชแล้วไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งเป็นชีวิตของเพศบรรพชิตไม่ตามนั้นไม่ได้ ไม่ตามนั้นคือคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย และไม่ศึกษาพระวินัย ไม่ศึกษาธรรม จะดำรงพระศาสนาได้ไหม แล้วใส่บาตรใคร

    อ.คำปั่น ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้มีความจริงใจ ในการที่จะสละอาคารบ้านเรือน เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิตจริงๆ ก็ไม่ใช่พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ก็เป็นประดุจว่าใส่บาตรให้กับผู้ที่เป็นมหาโจร

    ท่านอาจารย์ อย่าลืม ไม่ใช่พระภิกษุในพระธรรมวินัย เพราะไม่ได้ศึกษาพระวินัย และไม่ได้ศึกษาพระธรรม และไม่ประพฤติตามพระวินัยด้วย ก็ต้องเป็นมหาโจร

    อ.คำปั่น มีหลากหลายที่แสดงถึงผู้ที่ไม่ตรงต่อพระธรรมวินัย เป็นอลัชชีบุคคลเป็นบุคคลลีบ เพียงดังแกลบมีหลากหลาย

    ท่านอาจารย์ หรือยังมีอีกเป็นข้อความในพระไตรปิฏก

    อ.คำปั่น เป็นโมฆะบุรุษ แล้วก็เศรษฐีหัวโล้น

    ท่านอาจารย์ เศรษฐีหัวโล้นหรือมหาเศรษฐีหัวโล้น

    อ.คำปั่น ก็แสดงถึงผู้ที่ไม่ได้มีความจริงใจ ในการที่จะสละอาคารบ้านเรือน เพื่อศึกษาพระธรรมขัดเกลาจริงๆ เป็นผู้เข้าไปแล้วก็บิดเบือนความจริง ไม่ตรงต่อพระธรรมคำสอน ก็เป็นการเพิ่มโทษให้กับตัวเอง เพราะว่าความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะฉุดคร่าไปสู่ที่ต่ำ คืออบายภูมิเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุด ที่จะดำรงพระศาสนา อยู่ที่ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว ก็ต้องช่วยกัน ที่จะเป็นผู้ที่ตรง ที่จะรู้ว่าจะรักษาพระศาสนาได้อย่างไร มิฉะนั้นไม่สำเร็จ เหมือนกับความคิด ที่ว่าเมื่อไหร่คนจะไม่ทุจริต จะสำเร็จได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจธรรมเพราะเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นกุศลตรงกันข้าม แล้วกุศลนั้นจะมาจากไหน ถ้าไม่ได้เข้าใจพระธรรม เกิดได้ไหม เพราะวันนี้อกุศลก็มาก แค่ลืมตาก็เป็นอกุศล แต่ไม่รู้

    ผู้ฟัง ก็มีพระภิกษุมาชวนผมไปร่วมสวดมนต์ข้ามปี เรียนถามท่านอาจารย์ว่า คำว่าสวดมนต์มีความหมายอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง ที่จะต้องเข้าใจประโยชน์ ไม่ใช่ว่าทำโดยไม่รู้ว่าเป็นประโยชน์หรือเปล่า ชวนกันมาพูดคำที่ไม่รู้จักดีหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ชวนกันมาพร้อมใจกัน พูดคำที่ไม่รู้จักไม่เข้าใจดีไหม แล้วจะทำไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทำ

    ท่านอาจารย์ แต่ว่ามาฟังพระธรรมให้เข้าใจ แทนที่จะชวนกันไปพูดคำที่ไม่รู้จักพร้อมๆ กัน อย่างไหนจะตรงกับที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อให้เข้าใจ ไม่ใช่ให้ชวนกันมาพูดคำที่ไม่รู้จัก หรือไม่เข้าใจเลย เพราะฉะนั้นเกิดมานี่ประโยชน์สูงสุดต้องไม่ลืม ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมเป็นที่พึ่ง เราจะเป็นคนตรงต่อพระธรรมไหม จะตรงต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม ว่าที่ทรงบำเพ็ญบารมี เพื่อถึงอะไร นอกจากรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ยังสามารถที่จะทำให้คนที่ได้ฟังเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นประโยชน์อยู่ที่ไหน ถ้าชวนกันมาฟังพระธรรมให้เข้าใจ แทนที่จะชวนกันไปพูดคำที่ไม่เข้าใจพร้อมๆ กัน ถามคนที่สวดว่า เข้าใจคำที่สวดหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจก็ชวนกันไป พูดคำที่ไม่เข้าใจใช่ไหม ต้องเป็นคนที่ตรงอย่างยิ่ง จึงจะได้สาระจากพระธรรม

    เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบว่า สวดมนต์ในภาษาไทยคืออะไร ถ้าไม่รู้จัก ไม่เข้าใจแล้วพูดอะไร ที่ไม่รู้จักข้ามปี และก็ประโยชน์อยู่ที่ไหนทำอะไรที่ไร้ประโยชน์ แล้วยังเป็นโทษด้วย เพราะเข้าใจผิดคิดว่านั่นคือหนทาง ที่จะเป็นชาวพุทธที่ดี โดยไม่รู้ว่าชาวพุทธ ที่ไม่เข้าใจธรรม กับชาวพุทธที่เข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้นโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ ขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ที่ได้มีโอกาสได้ฟังคำที่เข้าใจ เพราะฉะนั้นทั้งปี ที่เป็นอกุศลมามากมาย ไม่มีอะไรจะไปล้างอกุศลที่ได้สะสมมา เพราะเกิดแล้วดับ สะสมแล้ว แต่สามารถที่จะเห็นประโยชน์ ของการที่เมื่อไหร่ที่เข้าใจพระธรรม เมื่อนั้นก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือสะสมความเห็นถูกที่จะค่อยๆ ทำให้ความไม่รู้ และความเห็นผิดลดน้อยลง

    เพราะฉะนั้นประเพณีที่ถูกต้อง ที่ควรจะกระทำสืบต่อกันมา ก็คือไม่ใช่พูดคำที่ไม่รู้จัก นี่คือความตรง เพราะฉะนั้นก็คงรู้แล้วว่าประโยชน์ของการเกิดมาจะมีใครเป็นที่พึ่ง แล้วจะพึ่งหรือเปล่าหรือว่าบอกว่าพึ่งแต่ไม่รู้ว่าพึ่งอย่างไร ไม่ใช่พึ่งโดยการให้สวดมนต์ แต่พึ่งเมื่อมีความเข้าใจคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสความจริง ของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ให้เข้าใจถูกต้อง จะรักษาพระพุทธศาสนาต้องเป็นผู้ตรง ไม่ใช่ว่าพูดว่าจะรักษาพระพุทธศาสนา แต่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา และไม่ได้ทำสิ่งที่จะรักษาพระพุทธศาสนาได้ เพียงคำที่ไม่รู้จัก ไม่ทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนา จึงไม่ใช่การรักษากระทำให้ดำรงอยู่

    ผู้ฟัง แต่ในคำสอนต่างๆ ที่เขียน เช่นข้อศีลก็เขียนว่าข้อห้าม เขียนออกมาอย่างนี้สำหรับให้คนอ่านแน่นอน ก็คงเป็นส่วนใหญ่ โอกาสที่คนจะมานั่งฟังอย่างเราก็มีไม่มาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืม ความละเอียด เดี๋ยวนี้ทั้งหมดเป็นธรรม แล้วก็มีคำตั้งมากมายที่จะกล่าวถึงธรรมที่กำลัง เช่น ศีลเป็นต้น แต่เข้าใจอะไรถูกต้องหรือเปล่า เพราะเหตุว่าการไม่ฆ่าสัตว์ มีเฉพาะคนไทยหรือเปล่า หรือว่าคนที่นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้นหรือเปล่า หรือใครก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ สภาพที่เว้นการฆ่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นธรรมหรือเปล่า คือต้องเข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่าธรรมไม่ใช่ใครสักคน ไม่มีเชื้อชาติ ขณะนี้เห็นไม่ใช่จีน ไทย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ลาวหรืออะไรเลย เห็นต้องเป็นเห็น ไม่ใช่นกเห็น งูเห็น เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีรูปร่างบอกไม่ได้เลยใช่ไหมว่าอะไรเห็น เพราะลืมว่าเห็นเป็นเห็น ส่วนรูปก็เป็นรูป ทำให้สามารถที่จะรู้ว่าคนนี้คนนั้นหรือขณะนั้น อยู่ที่ไหน มนุษย์เห็น เทวดาเห็นเป็นต้น เพราะฉะนั้นธรรมต้องตรงทุกคำ จะขาดไม่ได้เลย ถ้ามีใครบอกว่าศีลคือ ห้ามไม่ให้ฆ่า มีหรือคำแปลอย่างนั้น คุณคำปั่นช่วยกรุณาแปลว่ามีคำว่า ห้ามหรือเปล่า

    อ. คำปั่น ในส่วนที่เป็นสิกขาบท ๕ มีคำว่า เวรมณี หมายถึงว่าเจตนาเป็นเครื่องงดเว้น ไม่มีการห้าม ไม่มีการบังคับ แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้นที่มีความตั้งใจที่จะงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นโทษ เช่นการฆ่าสัตว์เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี ผู้ที่เห็นโทษมีความตั้งใจ ที่จะไม่กระทำอย่างนั้น ก็แสดงถึงว่าเป็นการถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติด้วยดี ที่จะไม่ล่วงการกระทำที่ไม่ดีอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ห้ามใครไม่ให้ฆ่าได้ไหม ถ้าห้ามก็ต้องไม่มีคุกใช่ไหม ไม่มีใครฆ่า ห้ามแล้วก็ต้องตามที่ถูกห้ามก็ไม่มีการฆ่า ไม่มีการเบียดเบียนกัน แต่เพราะห้ามไม่ได้ต่างหาก แต่ว่าผู้มีพระภาคก็ตรัสรู้ว่าทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้องเห็นถูกว่าอะไรดีอะไรชั่ว เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจถูกแล้วจะทำสิ่งที่ชั่วหรือ อย่างที่กล่าวว่าทุจริตทั้งหลายไม่มีทางหมดไปได้เลยโดยวิธีอื่น นอกจากเข้าใจความจริงของธรรมว่า เหตุไม่ดีก็ต้องนำมาซึ่งผลไม่ดี และผลไม่ดีไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ทุกคนต้องตาย ไม่ใช่หมดไปเลย แต่ก่อนตายโกงทรัพย์สมบัติมามากมาย คิดว่าเป็นของเรา แล้วจิ้งจกตุ๊กแก มันมีทรัพย์สมบัติหรือไม่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    26 ต.ค. 2567