ปกิณณกธรรม ตอนที่ 855


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๕๕

    สนทนาธรรม ที่ ภูพานเพลส จ.สกลนคร

    วันที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เมื่อจุติจิตขณะสุดท้ายดับไป ผลของกรรมหนึ่งถึงเวลาที่จะให้ผล ก็ทำให้จิต เจตสิกที่เป็นวิบาก เป็นสภาพรู้ที่เกิดขึ้น ต้องรู้ แล้วแต่ว่ากรรมจะให้รู้อะไร ทางไหน เพราะฉะนั้นขณะที่เกิดขณะแรก โลกนี้ไม่ปรากฏ เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น โลกมี ๖ โลก มีทางที่จะรู้โลกได้ ๖ ทาง แต่ขณะที่เกิด โลกนี้ไม่ปรากฏ เพราะเพียงแค่เกิดสืบต่อ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส แล้วจะรู้โลกนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่โลกไม่ปรากฏ ขณะนั้นมีจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต ซึ่งเกิดเพราะกรรมเดียวกัน ทำให้พอเกิดเป็นขณะแรก สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตทำปฏิสนธิกิจสืบต่อแล้วหนึ่งขณะแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นระหว่างที่มีชีวิตอยู่ จะมีปฏิสนธิจิตทำปฏิสนธิกิจอีกไม่ได้ เพราะต้องเกิดสืบต่อเฉพาะจากจุติจิตเท่านั้น อันนี้เห็นแล้วใช่ไหม ใครก็ทำอะไร ไม่ได้นอกจากกรรม เพราะฉะนั้นเกิดมาทำไม แค่นั้นพอไหม เกิดมาแล้วก็ไม่มีอะไรปรากฏเลย จะเป็นงู จะเป็นคน จะเป็นเทพ จะเป็นพรหม ไม่มีการรู้เลย เพราะโลกอันนั้นไม่ปรากฏ แต่จิตต้องมีอารมณ์ ถูกต้องไหม และรู้ไหมว่า ปฏิสนธิจิตเกิดนี้ มีอารมณ์อะไร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้แน่นอน เพราะอะไร เพราะไม่เห็น เพราะไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แล้วโลกนี้จะปรากฎได้อย่างไร แต่มีจิตซึ่งต้องมีอารมณ์ ซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะตาย ก่อนจุติจิตจะเกิด ห้ามไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้เราก็ห้ามไม่ได้ จะเห็นอะไร ห้ามได้ไหม จะได้ยินอะไร ห้ามได้ไหม มีปัจจัยแล้วที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แม้ขณะแรกที่เกิด ก็ต้องเป็นไปตามปัจจัย จะเป็นอารมณ์อื่นไม่ได้เลย นอกจากอารมณ์เดียวกับจิตที่เกิดก่อนจุติจิต ซึ่งเมื่อเกิดขณะนั้น เป็นผลของกรรม ที่ทำให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดก่อนจุติ เพราะฉะนั้นไม่มีขณะใดเลย ซึ่งไม่มีจิต เจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ต่างๆ เพราะไม่รู้ จึงเป็นคน จึงเป็นสัตว์ โดยยึดถือสภาพธรรมนั้นแหละ ว่าเป็นเรา เป็นคนที่มีชีวิต เพราะมีจิต แต่ความจริงก็คือว่า ถ้าจิต เจตสิกไม่เกิด ก็ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ใดๆ เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ผลของกรรมเพียงหนึ่งขณะที่เกิดสืบต่อ จากจุติชาติก่อน เป็นขณะแรกของชาตินี้ เป็นคนใหม่ ไม่ใช่คนเก่าเลย รูปสักรูปก็จะตามไปไม่ได้ จิตเก่าก็จะตามไปไม่ได้ แต่มีปัจจัยที่จะให้จิตที่เป็นผลเกิดขึ้น ทำกิจนั้น แล้วดับ ขาดจิตไหม จิตนั้นดับแล้ว จิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตดับไป หมดหรือยัง

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นปัจจัยให้จิตใหม่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จิตจะหยุดเกิด เพราะว่าจิตเป็นธาตุรู้ ซึ่งทันทีที่ดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่หยุด เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะ เป็นผลของกรรม ดับแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปซึ่งจะเป็นจิตอื่นไม่ได้นอกจากผลของกรรมเดียวกันกับที่ทำให้เกิด คงเป็นบุคคลนั้นต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดกรรม ที่ถึงแก่กรรม ที่ทำให้จากโลกนี้ไป

    เพราะฉะนั้น กรรมนั้น ก็ทำให้ปฏิสนธิจิตประเภทนั้นเกิด เมื่อดับไปแล้ว ก็ยังทำให้ผลของกรรมนั้นแหละ ประเภทเดียวกันนั้นแหละกับปฏิสนธิ ยังไม่เปลี่ยนเลย เป็นบุคคลนั้นสืบต่อ ระหว่างที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่ปรากฏ ยังไม่ได้คิดนึก ระหว่างนั้นไม่รู้จักโลกนี้เลย อยู่ที่ไหนก็ยังไม่รู้ เหมือนตอนหลับสนิท ไม่ใช่ขณะแรกซึ่งเกิดสืบต่อจากจุติจิต แต่เป็นขณะที่กรรมนั้นทำให้จิตประเภทนั้นแหละ เกิดดับสืบต่อ ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรทั้งสิ้น มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะเป็นผลของกรรมเดียวกัน สืบต่ออยู่เรื่อยๆ โดยที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แต่ดำรงภพชาติ ยังไม่เป็นบุคคลอื่น ยังไม่ตาย ทำภวังคกิจ ได้ยินคำว่าภวังค์บ่อยๆ ใช่ไหม แต่หนังสือเล่มนั้นก็ว่าอย่างนี้ หนังสือเล่มโน้นก็ว่าอย่างนั้น แต่ความจริงคืออะไร เป็นธรรมที่มีจริง ซึ่งเป็นผลของกรรม ที่ให้ผลขณะเดียวไม่ได้ เพียงแค่ให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเท่านั้นไม่พอกับการกระทำกรรมที่ได้ทำไปแล้ว เกิดมาแล้วก็ไม่มีอะไรปรากฏ ให้รู้เลยนั้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ชื่อว่ายังไม่ใช่การที่จะได้รับผลของกรรมนั้นจริงๆ โดยการที่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ดีหรือไม่ดี แต่ว่าให้ผลของกรรมคือ ให้อยู่ต่อไป ยังไม่จากโลกนี้ไป เพื่ออะไร เพื่อเห็น เพื่อได้ยิน ฯ

    เพราะฉะนั้น เห็น ได้ยิน เป็นผลของกรรม เดี๋ยวนี้จะรู้ว่าผลของกรรมเมื่อไหร่ เห็นเมื่อไร ถ้าไม่มีกรรม เห็นไม่เกิด กรรมที่เป็นกุศล ก็ทำให้จิตเห็น เห็นสิ่งที่ดี เมื่อเห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกรรม ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า กุศลวิบาก ถ้าเป็นภาษาบาลี กุศลวิปากะ แต่ภาษาไทยก็ กุศลวิบาก ก็คือ ผลของกรรม เพราะฉะนั้นจะเห็นอะไร เมื่อไหร่ ดีหรือไม่ดี น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ เลือกไม่ได้ เป็นไปตามกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น ผลของกรรมมี ๕ ทาง สั้นมาก น้อยมาก คือ เห็น เป็นผลของกรรม ได้ยิน เป็นผลของกรรม ได้กลิ่น เป็นผลของกรรม ลิ้มรส เป็นผลของกรรม กระทบสัมผัส เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง เป็นผลของกรรม นอกจากนี้แล้วถ้าไม่กล่าวโดยละเอียด ซึ่งขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง แต่ที่พอจะรู้ได้คือ เห็นดับไปแล้ว ชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นเพราะกิเลสที่ได้สะสมมา ที่จะเกิดขึ้นชอบหรือไม่ชอบ ในสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้ เกิดมาแล้ว ขณะไหนเป็นผลของกรรม ขณะเกิด เป็นผลของกรรม ขณะที่ยังไม่ตาย แต่ยังไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็เป็นผลของกรรม ทำภวังคกิจ เป็นคำรวมของ ภว กับ อังคะ หมายความว่า เป็นองค์ สิ่งที่จะทำให้พบ คือความเป็นอย่างนี้ ดำรงต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นคนนี้ไปจนกว่าจะตาย จนกว่าจะก่อนตาย ได้ยินเมื่อไหร่เป็นผลของกรรม เห็นเมื่อไหร่เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเข้าใจได้เลย เลือกไม่ได้ จะเจ็บไข้ได้ป่วยวันไหน ใครทำ เป็นผลของกรรม ไม่ใช่คนอื่นทำ แต่เพราะกรรมได้กระทำมาแล้ว ที่ต้องการให้คนอื่นเจ็บหรือตาย ทุพลภาพหรือตาบอด หูหนวก อะไรก็แล้วแต่ เมื่อเจตนาอย่างนั้นมี ผลก็คือว่าจิตที่เป็นผลอย่างนั้นเกิด ไม่ใช่คนอื่นทำให้เลย นอกจากกรรมที่ได้ทำแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าถูกตี คนอื่นทำหรือเปล่า เป็นผลของกรรม ตีพลาดก็ได้ ไม่ถูก เพราะไม่ถึงวาระที่กรรมจะให้ผล แต่เขายิงคนอื่นพลาดมาถูกเรา เห็นไหม กรรมทำได้ทุกอย่าง เขาไม่ได้ตั้งใจฆ่าหรือทำร้ายเราเลย แต่กรรมที่ได้กระทำแล้วต่างหาก ลืมคิดถึงคนอื่นที่ทำ เพราะเค้าไม่ได้ตั้งใจ แต่เกิดแล้ว มีสิ่งที่กระทบกายแล้ว

    ตลอดเวลาที่กายที่เข้าใจว่าเป็นเรา ของเรา นั้น เป็นสภาพไม่รู้ เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเกิดพร้อมกัน สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิด จะเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสิ่งที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ธาตุดินคือลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟคือเย็นหรือร้อน ธาตุลมคือตึงหรือไหว ธาตุน้ำคือสภาพที่เกาะกุมธาตุทั้ง ๓ ซึมซาบ ไม่ปรากฏ กระทบเมื่อไหร่ อ่อนหรือแข็ง ธาตุดินปรากฏ เย็นหรือร้อน ธาตุไฟปรากฏ ตึงหรือไหว ธาตุลมปรากฏ

    เพราะฉะนั้นทรงแสดงไว้ละเอียดว่า ในบรรดารูปทั้งหมด มีเพียง ๗ รูป ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เป็นที่ตั้งของความพอใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น เพราะไม่รู้ เพราะชีวิตก็ดำเนินไปตามปัจจัยทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นนี้ ถ้าไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา และเข้าใจถูกว่าเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดเห็นแล้วดับ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็ไม่เข้าใจคำว่าวิปากะ หรือผลของกรรม แต่ถ้ามีความเข้าใจแล้ว เห็นเมื่อไหร่ เป็นเพียงสิ่งที่มีกรรมเป็นปัจจัย ที่ทำให้ธาตุรู้คือจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกัน แต่ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นการยึดถือว่าเราเห็น ก็จะค่อยๆ น้อยลง จางลง เพราะรู้ว่าไม่เป็นเราได้เลย เพราะเกิดแล้วดับแล้ว แค่เห็น แล้วก็หมดแล้ว แล้วก็ไม่กลับมาอีก และไม่ใช่แต่เฉพาะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นสิ่งที่เกิดแล้วดับ และต้องมีรูปที่สามารถกระทบ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ต้องมีรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ที่เราเรียกว่า ตา แล้วก็เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ แจกันมากระทบตาได้ไหม แต่สิ่งที่มีอยู่ที่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมนั่นแหละ เป็นรูปที่สามารถกระทบตา ปรากฏให้เห็นสีสันวรรณะ ไม่ใช่แข็ง แต่เป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดพร้อมกับธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นี่คือ อนัตตาทั้งหมด ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไรและเข้าใจ ก็เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตเห็นเกิด เพราะมีกรรมเป็นปัจจัย เลือกไม่ได้ จิตได้ยินเกิด เลือกไม่ได้ จิตได้กลิ่นเกิด เลือกไม่ได้ เกิดแล้ว จิตลิ้มรส แข็งหรืออ่อนไปรู้รสไม่ได้ แต่มีรูปที่สามารถกระทบรส ที่อยู่กลางลิ้น กระทบรสเมื่อไหร่ จิตลิ้มรสเกิดทันที รู้รสนั้น

    เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก ไม่ใช่รูปที่กระทบกับรูปที่เป็นรสหรือเป็นลิ้น แต่เป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้น เพราะมีสิ่งที่เป็นรสกระทบกับสิ่งที่สามารถกระทบกับรสได้ เราเรียกว่า ลิ้น แต่ความจริงเป็นประสาท รูปพิเศษที่กระทบกับรสได้ คิดดู แขนกระทบรสได้ไหม เพราะฉะนั้นต้องเป็นรูปพิเศษเฉพาะที่สามารถกระทบกับรส จึงเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นขณะนั้น ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน แต่กำลังลิ้ม คือรู้รสนั้น อธิบายได้ไหมว่ารสนั้นเป็นอย่างไร หวานหรือเค็ม หรือเปรี้ยว หรือเผ็ด พูดไปเถอะ ไม่เหมือนขณะที่รสปรากฏจริงๆ ไม่รู้จะอธิบายว่าอย่างไร เผ็ดมีตั้งหลายอย่าง พริกไทยก็เผ็ด พริกเหลือง พริกขี้หนู พริกหนุ่ม รสต่างๆ กันใช่ไหม แล้วจะไปพรรณนาอย่างไร ก็ไม่เหมือนขณะที่รสปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้ หรือลิ้มรสนั้น ซึ่งเป็นผลของกรรม ถ้าเป็นรสที่น่าพอใจ ขณะนั้นถึงไม่เรียก ไม่รู้ ก็เกิด เพราะกรรมเป็นปัจจัย อยากรับประทานอาหารอร่อยไหม จำได้ใช่ไหมว่าอะไรอร่อย พอไปถึงจริงๆ ผิดหวังไหม แล้วแต่กรรม ใช่ไหม มีท่านผู้หนึ่ง เขาก็ชอบมังคุดมากเลย เขาก็ไปซื้อมังคุดมา กี่ลูกๆ ก็เสีย แล้วอย่างไรเล่า เลือกได้ไหม

    เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจความจริง แล้วเดือดร้อนไหม ใครทำแน่ แม่ค้าก็ไม่ได้ทำ ชาวสวนก็ไม่ได้ทำ แต่กรรมทำให้จิตเกิดขึ้น ลิ้มรสที่ไม่น่าพอใจ เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม ที่จงใจ ตั้งใจ ที่จะกระทำกรรมที่ให้ผลเช่นนั้นเกิดขึ้น โดยไม่รู้เลยว่าเมื่อไร กรรมไหน ถึงเวลาที่กรรมใดจะให้ผล เพราะฉะนั้นชีวิตจึงมีทั้งสุข และทุกข์ ถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน เอาสุขทุกข์ มาแต่ไหน ใช่ไหม จะติดข้องในอะไร จะเดือดร้อนในอะไร แต่สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อ เร็วสุดที่จะประมาณได้ เป็นเราไปหมดเลยถ้าไม่รู้ เที่ยงด้วย ไม่เห็นดับสักที ใช่ไหม ต่อกันมาตั้งแต่เด็กจนถึงเดี๋ยวนี้ แล้วก็ต่อไปอีก ไม่จบ จนกว่าจะตายจากโลกนี้ก็ยังไม่จบอีก เพราะเป็นธรรม ซึ่งต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ภาระหรือเปล่า เห็นไหม คำที่ได้ฟังแล้วนี้ ฟังตอนนั้นแล้วลืม แต่มาฟังตอนนี้นึกออก จำได้ นี่แหละภาระจริงๆ มิฉะนั้นจะไม่มีการวางภาระ ถ้าไม่รู้ว่าเป็นภาระ เพราะเพลิดเพลินกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส กับโผฏฐัพพะ ชอบเย็นๆ อากาศดี สกลนครอากาศดี เห็นไหม ใครก็ชอบ ก็แสดงให้เห็นว่าแค่อากาศที่กระทบกายก็ติดแล้ว ไม่มีทางที่จะออกไปจากความติดข้องเลย แล้วจะรู้อย่างไรว่าไม่ใช่เรา ถ้าไม่มีธาตุหรือธรรมแต่ละหนึ่งมารวมกันให้เข้าใจผิด ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่รู้ว่าแท้ที่จริง ไม่ใช่สิ่งที่รวมกันเป็นหนึ่ง แต่เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่รวดเร็วสุดที่จะประมาณได้ จึงปรากฏเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่เกิดดับแต่ละหนึ่งอย่าง ซึ่งเป็นที่พอใจ ใครจะรู้ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้นขณะที่ประเสริฐ อย่าได้ล่วงไป หมายความถึงขณะไหน ขณะที่เข้าใจธรรม แต่ขณะอื่น ถึงไม่ประเสริฐก็เกิดดับ และก็ไม่รู้ จะประเสริฐได้อย่างไร ขณะที่เข้าใจธรรมก็เกิดดับ แต่ประเสริฐเพราะเข้าใจ เพราะฉะนั้นความประเสริฐอยู่ที่เข้าใจ และถ้าไม่มีความเข้าใจขณะนี้ ขณะที่ไม่เข้าใจก็ล่วงไป เป็นความไม่เข้าใจเรื่อยๆ ไม่ใช่ขณะที่ประเสริฐ แต่ขณะที่ประเสริฐคือขณะไหนก็ได้ ได้ฟังความจริง ซึ่งยากที่จะเข้าใจได้ แต่สิ่งที่เข้าใจแล้ว ไม่หายไปไหนเลย สะสมสืบต่ออยู่ในจิต เมื่อวานนี้พูดเรื่องจิต เจตสิก วันนี้ก็กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม กุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล ถ้าเข้าใจแล้ว ไม่หายไปไหนเลย สะสมสืบต่อ อีก ๕ เดือนได้ยินอีก ก็รู้ว่าหมายความถึงอะไร อีกชาติหนึ่ง ถ้าสามารถจะไม่ลืมเพราะเกิดเป็นอะไร แล้วแต่เหตุปัจจัยใช่ไหม

    นี่ก็คือว่าเป็นธรรมทั้งหมดเลย แล้วบังคับได้ไหม ว่าจากโลกนี้จะเกิดที่ไหน เพราะฉะนั้นผู้ที่ประมาท ก็คือขณะนั้นไม่มีสติ ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นความจริง ซึ่งเป็นจริงอย่างนี้ แต่ใครจะรู้ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นก็มีความเข้าใจคำที่ได้ฟังละเอียดขึ้น ตรงขึ้น ชัดเจนขึ้น แม้แต่ว่าขณะที่ประเสริฐ คือขณะไหน อย่าได้ล่วงไป ก็เตือนแล้วใช่ไหม ว่าทุกขณะนี้ต้องหมดไป แต่หมดไปด้วยอะไร ด้วยความไม่รู้ก็สะสมไป กั้นไป ไม่รู้ต่อไป กับขณะที่ค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งประเสริฐมาก เพราะเหตุว่าฟังแล้ว ต่อไปก็เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นแต่ละคำ สามารถที่จะเข้าใจได้ มิฉะนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง

    สนทนาธรรมที่ "โป๊ด เรสเตอรองต์" วันที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ธรรมควรต้องเริ่มต้นที่อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เริ่มต้นเดี๋ยวนี้ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ธรรมก็คือ สิ่งที่มีจริงตลอดเวลาไม่เคยขาดไปเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะยามป่วยไข้ ยามสนุกสนานเพลิดเพลิน ทำธุรกิจ หรืออะไรต่างๆ ทั้งหมด สิ่งที่มีจริงทั้งหมดแต่ละหนึ่งนี้ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราเคยเข้าใจรวมๆ ใช่ไหม อย่างเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็เข้าใจว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นคนนั้น คนนี้ แต่ธรรมแล้วต้องเป็นหนึ่ง ปนกันไม่ได้เลย เช่นขณะนี้ มีเห็น เห็นเป็นหนึ่ง เห็น ไม่ใช่ได้ยิน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็เป็นธรรม ซึ่งไม่มีโอกาสจะรู้ว่าเป็นธรรม เพราะไม่เคยได้ฟังพระธรรม แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว จะได้ยินคำที่คุ้นหูมาก แต่ว่ายังไม่เคยเข้าใจจริงๆ ก็คือว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และก็มีทุกขณะทุกเวลา ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย เพียงแต่ฟังแล้วก็เริ่มพิจารณา คำที่ได้ฟัง เป็นคำจริงรึเปล่า หรือสามารถที่จะรู้ความจริงที่กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ได้แค่ไหน เช่นคำถามแรก เห็นมีจริงไหม มีจริงแน่นอน

    ผู้ฟัง มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะทุกคนกำลังเห็น ใช้คำว่า ทุกคนกำลังเห็น แต่เห็นไม่ใช่ใครเลย ไม่ใช่คนด้วย เห็นเป็นแต่เพียงขณะหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าขณะที่ทุกคนกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ คิดถึงรูปร่างกายที่กำลังนั่ง คิดถึงแขน คิดถึงเท้าหรือเปล่า ในขณะที่กำลังเห็น ลืมไปเลย ใช่ไหม สนใจในสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะขณะนั้น มีความจริง ๒ อย่าง แน่นอน ไม่ว่าที่ไหน เมื่อมีเห็น ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น ทั้ง ๒ อย่างนี้ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีธรรม สิ่งที่มีจริง ซึ่งเดี๋ยวนี้เกิดขึ้นเห็น ก็จะไม่มีเห็นเลย แต่ไม่รู้ความจริงว่า เห็นขณะนี้ เพียงเห็น ยากไหม แค่เพียงเห็น

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนี่ ก็ไม่ลืมว่า ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร แค่นี้ก็รู้แล้ว ความลึกซึ้งของแต่ละคำ ต้องไตร่ตรอง เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกว่า เป็นบุญที่มีโอกาสได้ฟังคำจริง ที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง ให้รู้ความจริง ก่อนจากโลกนี้ไป เพราะว่าจากโลกนี้แล้วไปไหน ไม่มีใครรู้เลย เป็นงูก็ได้ เป็นช้างก็ได้ เป็นนกก็ได้ เป็นเทพก็ได้ เป็นคนที่เกิดในนรกก็ได้ เป็นเปรตก็ได้ รูปร่างต่างๆ ซึ่งขณะนี้ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าเป็นคนละภพ คนละภูมิ เพราะฉะนั้นที่จะเห็นในโลกนี้ ก็มีมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าพูดถึงธรรม "เห็น" ไม่ใช่ใครเลย ไม่ใช่คนนี้ คนนั้น ไม่ใช่งู ไม่ใช่ช้าง "เห็น" เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป

    นี่คือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งบางคน ตลอดชีวิตไม่มีโอกาสได้ฟัง เพราะเหตุว่าไม่ได้สะสมมา หรือแม้ฟังแล้วก็ไม่คิดถึงว่า เป็นประโยชน์ที่จะได้เข้าใจความจริง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะพูดถึงความจริงนี้ได้เลย เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริง แต่ผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริง พูดถึงทุกอย่างที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ คนที่ไม่มีตา หรือเราบอกว่าไม่มีจักขุปสาท เห็นได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีใครไปทำเห็น ให้เกิดเห็นได้ แต่เห็นในขณะนี้ต้องมีปัจจัย หรือว่าสภาพธรรมที่อาศัยทำให้เกิดเห็นในขณะนี้ แล้วก็ดับไป นี่คือสิ่งซึ่งใครก็รู้ไม่ได้ ว่ากำลังเป็นอย่างนี้จริงๆ แม้ได้ฟังพระธรรม แต่ปัญญาขั้นฟัง เพียงฟัง ก็เริ่มที่จะเข้าใจว่า เห็น ขณะนี้เกิดแน่นอน จึงมีเห็น แต่เห็นขณะนี้เห็นแล้วดับไป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    16 เม.ย. 2568

    ซีดีแนะนำ