ปกิณณกธรรม ตอนที่ 857


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๕๗

    สนทนาธรรม ที่ ร้านโป๊ด เรสเตอร์รอง

    วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้นะคะ แต่ละคำจึงต้องกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ เพื่อจะได้เข้าใจถูกต้องขึ้น เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีศีลไหมคะ

    อ.ธนากร เดี๋ยวนี้มีศีล เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสภาพรู้นะคะ จิตเจตสิกเกิดเป็นปกติ ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ แล้ววันนี้ตั้งแต่เช้ามา ปกติเป็นศีลอะไร

    อ.ธนากร เป็นอกุศลครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลนะคะ คือปกติเป็นอกุศล เราก็ใช้คำว่าอกุศลศีลเท่านั้นเองค่ะ แล้วแต่ว่าปกติเป็นอะไร ถ้าปกติเป็นกุศล ขณะนั้นก็เป็นกุศลศีล เป็นปกติซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วปัญญาล่ะคะคืออะไร

    อ.ธนากร ปัญญาเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจอะไรถูกต้อง

    อ.ธนากร เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏ ก็เข้าใจไม่ได้ ไม่รู้จะไปเข้าใจอะไรใช่ไหมคะ

    อ.ธนากร ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ พูดเท่านี้ก็ยังไม่เข้าใจอธิศีล

    อ.ธนากร ครับ

    ท่านอาจารย์ ได้แต่ได้ยินชื่อ แล้วก็พูดไปตามที่ไม่เข้าใจ ว่าอธิศีลคืออะไรถ้าไม่มีปัญญา ศีลจะเป็นอธิศีลได้ไหม

    อ.ธนากร ไม่ได้ครับ แล้วก็ปัญญาก็ต้องเข้าใจ สิ่งที่ปรากฏด้วย

    ท่านอาจารย์ การสนทนาธรรมนี่ ก็จะทำให้เข้าใจคำที่เราได้ยิน และเรายังไม่เข้าใจเพิ่มขึ้น เช่นอธิศีลกับศีล ได้ยินแล้วผ่านไปเลย หรือว่าจะสนทนาให้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันก็คือมีปกติเป็นอกุศล และกุศล แต่ถ้าคำว่าอธิศีลเนี่ย ต้องขอความกรุณาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจธรรมนะคะ จะเข้าใจอธิศีลไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่เข้าใจธรรม ก็เป็นไปไม่ได้เลยค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็พูดคำที่ไม่รู้จัก แล้วจะพูดคำที่ไม่รู้จักกันไปเรื่อยๆ มั้ยคะ ก็ไม่มีประโยชน์ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นแต่ละคำนี่ ขอให้เข้าใจถูกต้องจริงๆ แม้แต่คำว่าธรรมค่ะ

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเข้าใจขณะนั้น ก็ค่อยๆ เริ่มเป็นอธิศีล

    ท่านอาจารย์ จะรีบร้อนเป็นอธิศีลทำไม หรือจะเรียกชื่ออธิศีลทำไมคะ เพียงแต่ว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรม ก็ยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ แค่ได้ฟังก็ยังเป็นคุณบุษกร ก็ยังเห็นคุณบุษกร เพราะฉะนั้นไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง แปลกนะท่านอาจารย์พอพูดถึงธรรมนี้ รู้สึกจะเป็นอะไรก็ไม่ทราบ จะเหมือนกับว่าคิดไปไกล แต่ถ้าพูดว่ามีจริงๆ มั้ย จริงค่ะ ตรงนี้ถึงจะสามารถเข้าใจได้ว่า ขณะนี้กำลังมีอะไรที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ค่ะแล้วก็ลืมใช่มั้ยคะ

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะไม่ลืม เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่าอธิศีล ต่างกับศีลธรรมดาใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นศีลธรรมดา ก็คือสภาพรู้นี่นะคะ จิตเจตสิกปกติเป็นอย่างไร ถ้าเป็นอกุศลก็เป็นอกุศลศีล เพราะว่าปกติเป็นอกุศลเท่านั้นเองนะคะ ถ้าปกติเป็นกุศลขณะนั้นก็เป็นกุศลศีล นี่คือเรื่องที่ฟังมา เดี๋ยวนี้เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ก็เป็นปกติค่ะ ที่ฟังท่านอาจารย์แล้วก็ ค่อยๆ เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เป็นศีลอะไรคะเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ไม่ทราบนะคะ ว่าเดี๋ยวนี้เป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ เห็นมั้ยคะ ก็ฟังแล้ว ก็ไม่ทราบ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นการฟังนี่ค่ะขอให้เข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำว่า ถ้าพูดถึงศีล ต้องหมายความถึงสภาพรู้ รูปมีศีลไม่ได้ค่ะ ไม่รู้อะไรเลย แต่ว่าสภาพรู้ก็มีทั้งจิต และเจตสิก กล่าวโดยละเอียดก็แยกไป แต่ถ้ากล่าวโดยรวมนะคะ ก็ทั้งจิต และเจตสิก หมายความว่า ทำไมถึงเกิดร่วมกันในขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นอกุศลศีล ถ้าขณะที่กำลังฟังเข้าใจอย่างนี้ค่ะ เดี๋ยวนี้เข้าใจแล้วเป็นศีลอะไร

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเข้าใจก็เป็นกุศลศีล

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไหร่จะเป็นอธิศีล

    ผู้ฟัง ก็ต้องฟังให้เข้าใจขึ้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ นี่คือความต่างแล้วใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเข้าใจคำว่าศีลก่อน ทั่วๆ ไปก็คือปกติ มีทั้งอกุศลศีลขณะที่เป็นอกุศล มีทั้งกุศลศีลขณะที่เป็นกุศล แต่ว่าถ้ายังคงเป็นกุศล และอกุศลอยู่นะคะ ก็ยังไม่ใช่ผู้ที่ดับกิเลสหมด แต่สำหรับผู้ที่ดับกิเลสแล้ว ไม่มีทั้งกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นปกติของจิตซึ่งเคยเป็นกุศล ก็เป็นอัพยากตะ เพราะเหตุว่าไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดต่อไป เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ได้ฟังนะคะ อาจจะได้ฟังไม่บ่อย แต่อย่างน้อยที่สุด ขอให้ได้เข้าใจพอสมควร ว่าคำนั้นหมายความถึงอะไร เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องที่ ละเอียดลึกซึ้งมากนะคะ แต่ละคำเนี่ย ต้องเข้าใจจริงๆ ถ้าพูดถึงอัพยากตะ ภาษาบาลีนะคะ แต่ภาษาไทยก็คือธรรมที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล

    เพราะฉะนั้นก็มีธรรม ๓ ประเภทละ คือธรรมที่เป็นกุศล ๑ ธรรมที่เป็นอกุศล ๑ และธรรมที่ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศลอีก ๑ นี่ค่ะความเข้าใจต้องตามลำดับ เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นกุศล ต้องเป็นสภาพรู้ ดี ถ้าเป็นอกุศลสภาพ ที่ไม่ดี เป็นสภาพรู้ แต่ว่าสำหรับอัพยากตะเท่านั้นไม่มีคำว่าศีล อัพยากตะคือธรรมที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล ตอบได้แล้วใช่ไหมคะ แต่ถ้าไม่เคยฟังมาเลย คิดไม่ออกใช่ไหมคะ กุศลพอได้ยิน อกุศลก็พอได้ยิน แต่ธรรมที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลก็มี คิดดูสิคะ จะงงไหม เพราะว่าเคยได้ยินแต่กุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นแต่ละคำไหน ขอให้เข้าใจจริงๆ นะคะ ถ้าแบ่งธรรมทั้งหมดเลย ออกเป็น ๓ ประเภท ก็ธรรมที่เป็นกุศลก็ต้องเป็นกุศล เป็นอกุศลไม่ได้ ธรรมที่เป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล แล้วธรรมที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ก็จะไปเป็นกุศล และอกุศลไม่ได้ นี่ค่ะทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริงๆ นะคะ ไม่ใช่เราเลย แต่เป็นจิต ๑ ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เป็นเจตสิก สภาพเจตสิกนี่หลากหลายมากมี ๕๒ ประเภท แล้วแต่ว่าจิตนั้นมีเจตสิกกี่ประเภทเกิดร่วมด้วย แต่เจตสิกก็เป็นเจตสิก เจตสิกจะไปเป็นจิตไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมไม่ว่า จะกี่โลกที่ไหนก็ตามแต่นะคะ ก็ต้องต่างกันเป็นสภาพรู้กับ สภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ สำหรับธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไรเช่นแข็ง เสียงพวกนี้นะคะ ก็เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นสำหรับสภาพธรรม ที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล ได้แก่อะไรบ้าง เห็นไหมคะ เราไม่เคยฟังมาเลย จะให้เราคิดออก นี่ก็เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อฟังแล้ว ได้ยินคำว่าอัพยากตะ สงสัยอยากรู้ ได้ยินคำว่าอธิศีล สงสัยอยากรู้ แต่เราไม่มีพื้นความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ เลย แล้วเราก็สับสน

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมนะคะ ทีละคำ ถ้าได้ยินคำว่าอัพยากตะ ไม่พยากรณ์ใช่ไหมคะ ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะสภาพนั้นไม่ใช่กุศล จะบอกว่าเป็นกุศลได้ยังไง สภาพธรรมนั้นไม่ใช่อกุศล จะบอกว่าเป็นอกุศลได้ยังไง เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มี แต่ไม่ใช่กุศล และอกุศล ได้แก่อะไรคะ พอที่จะรู้สักอย่างไหมคะ เอาแค่อย่างเดียว ธรรมที่เกิดขึ้นไม่รู้อะไรเลย มี เป็นรูปธรรม สภาพธรรมที่เกิดขึ้น แล้วต้องรู้ไม่รู้ไม่ได้เลยเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นสภาพที่ไม่รู้อะไร เป็นกุศลไม่ได้เป็นอกุศลไม่ได้ จึงเป็นอัพยากตธรรม นี่ค่ะถ้าได้ยินคำไหน ขอให้เข้าใจคำนั้นพอสมควร ไม่ใช่ว่าเก็บโน่นเก็บนี่ แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร อธิศีลเป็นธรรมฝ่ายไหนคะ

    ผู้ฟัง ฝ่ายดีค่ะ เป็นฝ่ายปัญญาค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญา ก็เป็นอธิศีลไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญารู้อะไร เห็นมั้ยคะ คำถามต้องมีเพื่อที่จะให้เข้าใจขึ้น สนทนาถามเพื่อให้คิดไตร่ตรอง จะได้เป็นความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น และก็ไม่ลืมด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใจร้อน ไปรู้คำเยอะแยะหมดเลยนะคะ แต่ไม่รู้เลยว่าหมายความถึงอะไร แต่ศึกษาได้ยินคำไหน ขอให้เข้าใจคำนั้น เช่นธรรมทุกอย่างที่มีจริงๆ กำลังมี แสดงว่ามีจริงแน่นอนนะคะ ก็ต้องเป็นธรรม เพราะธรรมคือสิ่งที่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงก็หลากหลาย เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย มีลักษณะของตนของตน เช่นแข็งเป็นแข็ง เสียงเป็นเสียง กลิ่นเป็นกลิ่น สภาพไม่รู้เป็นรูปธรรม สภาพรู้ก็มี ๒ อย่างนะคะ คือจิตกับเจตสิก เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจค่ะ พอได้ยินคำไหนก็ไตร่ตรอง เพราะฉะนั้นกุศลธรรมได้แก่อะไร อกุศลธรรมได้แก่อะไร อัพยากตธรรมได้แก่อะไร ไม่ตอบเดี๋ยวนี้นะคะ แต่ว่าตอนเย็นๆ คิดถึงสิ เท่าที่ได้ฟังมาแล้วเนี่ย พอที่จะนึกออกไหม จำได้มั้ย ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แต่ละคำนี่ค่ะ จะมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นเวลาได้ฟังแล้ว อย่าลืมความเข้าใจขั้นต้น จะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป เปลี่ยนไม่ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะรู้ทั้งหมดทันที แต่ต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจมั่นคงขึ้น พระคือใคร ภาษาบาลีว่าอะไรคะคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น ท่านอาจารย์ครับ พระนี่ก็เป็นคำไทย ครับท่านอาจารย์ ถ้ามาจากภาษาบาลี คือ วร หมายถึงผู้ประเสริฐครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะเห็นไหมคะ เรียกพระ พูดถึงพระ แต่ไม่รู้ความหมายของพระ พระคือผู้ประเสริฐ ต่างกันแล้วกับคฤหัสถ์ แต่ประเสริฐอย่างไร ไม่ใช่ว่าเขาว่าประเสริฐ เราก็ประเสริฐด้วยนะคะ แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าผู้ประเสริฐๆ อะไร ประเสริฐอย่างไร ต่างกับคฤหัสถ์อย่างไร มิฉะนั้นแล้วเราก็จะไม่รู้จักพระแน่นอน เพราะฉะนั้นตอนนี้ทราบแล้วนะคะ พระคือผู้ประเสริฐ ประเสริฐยังไงคะ

    ผู้ฟัง ก็น่าจะถือศีลเยอะกว่า ปฏิบัติเยอะกว่า

    ท่านอาจารย์ ค่ะถือศีลเยอะกว่า มีอะไรบ้าง ข้อ ๑ ชัดเจน คือรับเงินทองไม่ได้ ไม่ยินดีในเงิน และทอง รู้จักพระหรือยัง ยังไม่ถึงข้อสูงๆ ขึ้นไปเลยใช่ไหมคะ แค่ข้อไหนคะคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น ครับที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงนี่ครับ เป็นอาบัติที่ยังผู้ต้องนะครับ ให้จิตตกไป แต่ว่าก็สามารถที่จะกระทำคืน ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษครับ เพราะว่าการรับเงินรับทอง เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ครับ ยังไม่ถึงกับขาดเป็นพระภิกษุ แต่ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุรูปใดก็ตาม ถ้าไม่ได้น้อมที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัย มีการล่วงสิกขาบท ก็ไม่ชื่อว่าเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ครับ

    ท่านอาจารย์ ผู้รู้น้อย ก็ค่อยๆ รู้ เมื่อกี้นี้เราพูดถึงปกติของจิต คือศีล ถ้าไม่มีจิตเจตสิกจะมีศีลไม่ได้เลย เพราะไม่รู้อะไรจะมีศีลได้ยังไง โต๊ะ เก้าอี้ ดอกไม้พวกนี้ไม่มีศีลแน่ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นสภาพรู้ ธาตุรู้ ที่เราเรียกว่าสัตว์บุคคลต่างๆ เนี่ย ปกติเป็นอกุศลก็มีใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นปกติของจิตเป็นอย่างไร เราก็ใช้คำว่าศีล เช่นปกติเป็นอกุศลงี้ค่ะ โกรธเค้า ขณะนั้นเป็นอกุศลศีล คือปกติต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นอกุศลจะเปลี่ยนเป็นกุศลไม่ได้ ด้วยเหตุนี้นะคะ ขณะนั้นแหละเป็นอกุศลศีล และก็ถ้าเป็นทางฝ่ายดีนะคะ เมตตา ช่วยเหลือคนอื่น อภัยให้คนอื่น หวังดีแต่คนอื่น ดีไหมคะ ขณะนั้นเป็นเราหรือเปล่า หรือเป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมขณะใดที่ดี ขณะนั้นเป็นกุศลศีล รู้จักศีลกี่ข้อคะ

    ผู้ฟัง ปกติก็ ๕ ข้อค่ะ

    ท่านอาจารย์ ช่วยบอกด้วยได้ไหมค่ะ เพราะว่าจะได้ไปถึงข้อที่ไม่รับเงินทอง ๕ ข้อเนี่ย สำหรับคฤหัสถ์เป็นปกตินะคะ ข้อที่ ๑ ค่ะ จะได้รู้จักพระ

    ผู้ฟัง ข้อที่ ๑ ห้ามฆ่าสัตว์

    ท่านอาจารย์ ของคฤหัสถ์ต่างกับพระนะคะ แต่ว่าศีล ๕ ก็เป็นนิจศีลที่คฤหัสถ์ควรจะเป็นคนดี คือเว้นทุจริต ๕ ข้อ ยากเหมือนกันนะคะ ค่ะ ศีลข้อที่ ๑

    ผู้ฟัง ห้ามฆ่าสัตว์

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ห้าม ห้ามไม่ได้ถ้าจะฆ่า เจตนางดเว้นด้วยตนเอง ใครก็บังคับใครไม่ได้ วันนึงก็มีแมลงวันเข้าไปในห้อง คนเค้าก็พยายามที่จะจับมันนะคะ อีกคนก็บอกฆ่าเลย ใช่มั้ยคะ แค่แมลงวัน ๑ ตัว อกุศลจิตเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นมีใครมั้ยคะ ที่อยากจะถูกฆ่า เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือเปล่า ค่ะ และขณะใดที่เว้นไม่ฆ่าขณะนั้นเป็นกุศลศีล เพราะสภาพจิตที่ดีงามเกิดขึ้น เว้นสิ่งที่ไม่ดี ขณะนั้นเป็นศีลข้อที่ ๑ รักษายากมั้ยคะ ข้อที่ ๑

    ผู้ฟัง ก็พยายามอยู่นะคะ อาจารย์ ยุงมาแล้วก็พยายามค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะขณะที่เว้น เป็นเราหรือเปล่า หรือเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรมค่ะ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงธรรมเนี่ยนะคะ เวลาเข้าใจตั้งแต่ต้นจริงๆ จะรู้ได้เลยว่า เป็นชีวิตประจำวันที่น่าสนใจมาก ที่ได้รู้ความจริงจากการที่ไปรับศีลมา แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร กลายเป็นเรารับศีล หรืออะไรอย่างนี้นะฮะ แต่ว่าตามความเป็นจริง สิ่งที่มีจริงๆ ก็จริงแต่ไม่ใช่เรา ศีลก็เป็นศีลไม่ใช่เรา ทุกอย่างเกิดเมื่อมีปัจจัยแล้วก็ดับไป ข้อที่ ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ทำร้ายได้มั้ย นิดๆ หน่อยๆ ไม่ถึงกับฆ่า ก็ยังคงเป็นการเบียดเบียนนะคะ แล้วแต่เจตนาว่า แรงกล้าขนาดไหน เพราะว่าบางคนแค่ตี แค่แทง แค่ทำร้าย แต่ว่าไม่ถึงกับฆ่าใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นอกุศลกรรม คือการกระทำเกิดขึ้นแล้ว ผลก็ต้องเป็นไปตามลำดับของการกระทำด้วย นี่เป็นเหตุเป็นผล แค่นี้ค่ะ ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าจะเข้าใจจริงๆ นะคะ ก็ไม่ใช่ว่าพูดนิดๆ หน่อยๆ แล้วผ่านเลยไปเหมือนเข้าใจเรื่องเยอะๆ แต่ความจริงไม่เข้าใจอะไร เพราะฉะนั้นทุกคำ ถ้าเข้าใจแล้วนะคะ ไม่เปลี่ยนค่ะ ข้อที่ ๒ ภาษาไทย

    ผู้ฟัง ลักทรัพย์ป่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ลัก ทำไงแค่ลัก

    ผู้ฟัง ลักขโมยอะไรพวกนี้

    ท่านอาจารย์ นั่นสิคะทำไง

    ผู้ฟัง ก็ต้องไม่ทำอ่ะค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ลัก ไม่ขโมย ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะของเขาไม่ใช่ของเรา ไปเอาของของเค้ามาได้ยังไง ยักยอก ก็ได้ใช่ไหมคะ ทั้งหมดที่เป็นทุจริต เว้น นี้คฤหัสถ์นะคะ พระทำได้มั้ย

    ผู้ฟัง ก็ ต้องไม่ทำอ่ะค่ะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเป็นว่าผู้ประเสริฐ วร มากกว่า ๕ อีก นี่ข้อ ๒ ข้อ ๓ ล่ะ คะ

    ผู้ฟัง กาเมค่ะ

    ท่านอาจารย์ เว้นการประพฤติผิดในสามีภรรยาหรืออะไรก็ตามแต่ที่ทรงบัญญัติไว้นะคะ สตรีกี่จำพวกก็แล้วแต่ อันนั้นก็ถ้าต้องการความละเอียดนะคะ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่ควร เว้นจากความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควร ข้อ ๓ แล้วนะคะ ข้อ ๔ พูดคำไม่จริง เรื่องไม่จริง ยากไหมคะ บางคนเป็นนิสัย เพราะทำบ่อยๆ ถ้าไม่เว้น

    ผู้ฟัง แต่ถ้าสมมติว่าเราทำงานนะคะ มันต้องคุยงาน เพื่อแต่ไม่ได้ตั้งใจโกหกค่ะ อาจารย์ ก็พยายามที่จะเหมือนกับโน้มน้าว เพื่อที่เค้าจะได้ซื้อของเราอะไรอย่างเงี้ย

    ท่านอาจารย์ คุณเป็ด ชอบเรื่องจริงหรือเปล่า อยากให้ใครเค้ามาพูดเรื่องไม่จริงกับคุณเป็ดมั้ย

    ผู้ฟัง ไม่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นทุกคนก็ชอบที่จะรู้ความจริง ถึงความจริงนั้นจะผิด ก็ยังดีกว่าพูดคำไม่จริง เขายังให้อภัยได้ แก้ไขได้ เพราะฉะนั้นถ้าใครยังคิดว่าต้องพูดคำไม่จริง เพราะอย่างนั้นเพราะอย่างนี้ เพื่ออย่างนั้นเพื่ออย่างนี้นะค่ะ คิดผิด เข้าใจผิด คนที่รู้จะไม่อภัย ในการกระทำอันนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเค้าโกรธแล้วก็อภัยไม่ได้ แต่ไม่อภัยคือสิ่งที่ผิดต้องผิด สิ่งที่ผิดจะถูกไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราต้องการคำจริงเรื่องจริง คนอื่นก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นทำไมไม่พูดความจริง พอพูดแล้วขอโทษก็ได้ อภัยให้ก็ได้ เห็นใจ เพราะว่าทุกคนก็เป็นอย่างนี้แหละ

    เพราะฉะนั้นเป็นโทษอย่างมากเลย ในขณะที่พระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมีอกุศลอยู่ เพราะฉะนั้นบางขณะในบางพระชาติ ก็ต้องมีอกุศลกรรม แต่ไม่มีการพูดคำไม่จริง เพราะว่าเป็นสัจจบารมี นี่เป็นสิ่งซึ่งจะเห็นได้จริงๆ นะคะ ว่าถ้าเป็นผู้ที่จะรู้ความจริง ก็ต้องจริงตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ควรใช่ไหมคะ ถ้าเข้าใจว่าเป็นโทษค่ะ เพราะว่าถ้าเราทำบ่อยๆ ก็เป็นนิสัย และไม่กล้าที่จะพูดความจริงด้วย แสดงให้เห็นถึงความไม่อาจหาญ ไม่กล้าที่จะเผชิญความจริง ที่จะรู้ความจริง เพราะฉะนั้น คนที่เป็นอย่างนั้น จะไม่มีโอกาสรู้ความจริงได้ ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้ก็มีสิ่งที่มีจริง ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ ถ้าเค้ายินดีพอใจที่จะพูดไม่จริง ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยนะคะ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเหตุว่าทุกเรื่อง พูดไม่จริงได้หมดไม่เว้นเลย ข้อที่ ๔ แล้วใช่ไหมคะ เหลืออีกข้อเดียวค่ะเกือบจบละ

    ผู้ฟัง สุราค่ะ

    ท่านอาจารย์ คะ

    ผู้ฟัง สุราค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ดื่มของมึนเมา เพราะอะไรคะ ขับรถชน ใช่มั้ยค่ะ ก็เห็นกันอยู่ทุกวัน ทำร้ายกัน คำที่ไม่เคยพูดก็พูด การกระทำที่ไม่เคยทำก็ทำ เพราะเป็นที่ตั้งของความประมาทอย่างยิ่ง นี่คือศีล ๕ ยังไม่ถึงการเป็นพระเลย ถ้าเว้นได้ก็เป็นกุศลศีล แต่ผู้ที่จะเป็นผู้ประเสริฐ ต้องเว้นมากกว่านี้มาก ทั้งกายวาจา และใจที่มั่นคง กับการที่จะมีชีวิตอยู่ในเพศของบรรพชิต รู้จักพระแล้วใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นไปวัดไปหาพระ หรือทำอะไร แค่ได้ยินคำว่าพระจากคุณเป็ด

    ผู้ฟัง ไปปฏิบัติอ่ะคะ

    ท่านอาจารย์ คุณเป็ดปฏิบัติเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เหมือนถึงเวลามั้งคะ อาจารย์ คือเราทำงานมาเยอะ เพื่อนๆ ชวนหรือว่าเรารู้สึกว่าอยากไปปฏิบัติ เพื่อได้อย่างที่คุณโป๊ดบอก นั่งไป ก็เดี๋ยวแว๊บนุ่นแว๊บนี่ มันมีช่วงที่ไม่แว๊บนิดเดียวเอง

    ท่านอาจารย์ ใครสอนว่าธรรมทั้งหลายบังคับได้

    ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมนะคะ ไม่อยากจะแว๊บ ก็แว๊บ อยากได้ยินเสียงนี้มั้ยคะเนี้ย เสียงที่กำลังได้ยินเนี่ย อยากได้ยินไหม มีเสียงปรากฏใช่ไหมคะ ได้ยินอะไรรึเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ได้ยินเสียงอาจารย์ค่ะ

    ท่านอาจารย์ บังคับให้ไม่ได้ยินได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ธรรมดา เมื่อรู้ว่าเป็นธรรมดา จะไปบังคับเหรอคะ แล้วจะรู้ความจริงหรือว่าบังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการไปปฏิบัติเพื่ออะไร เพื่อไม่ให้แว๊บหรือยังไงคะ หรือเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ก็เหมือนไปสงบใจได้นิดๆ หน่อยๆ ค่ะ

    ท่านอาจารย์ นั่นสิคะเหมือนทำได้ใช่ไหมคะ สงบคืออะไรคะ

    ผู้ฟัง ต้องไม่คิดอ่ะคะ

    ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วทำอะไรกัน ไปทำสิ่งที่ทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ และไปนั่งทำอะไร ข้อสำคัญคือ ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ารู้จักลองบอกหน่อยสิคะ พระพุทธเจ้าสอนอะไร สอนให้เข้าใจถูก หรือว่าไม่ให้เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่กำลังมีกำลังปรากฏ ตั้งแต่เกิดจนตายทุกวัน ไม่เคยรู้มาก่อน แต่จะรู้เมื่อได้ฟังพระธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    21 มิ.ย. 2567