ปกิณณกธรรม ตอนที่ 858
ตอนที่ ๘๕๘
สนทนาธรรม ที่ ร้านโป๊ด เรสเตอร์รอง
วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่กำลังมี กำลังปรากฏ ตั้งแต่เกิดจนตายทุกวัน ไม่เคยรู้มาก่อน แต่จะรู้เมื่อได้ฟังพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่ออนุเคราะห์ให้คนที่ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเอง เมื่อฟังพระธรรมแล้วก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้น จึงรู้จักความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าจากการที่ไม่เข้าใจอะไร ไม่รู้อะไร ก็ได้รู้ ได้เข้าใจขึ้น ถ้าคำนั้นทำให้เข้าใจ จึงเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำใดก็ตาม ไม่ทำให้เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น คำนั้นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมีใครเป็นที่พึ่ง ตอนปฏิบัติ ทำอย่างไร
ผู้ฟัง เขาก็ให้เดิน
ท่านอาจารย์ เขาให้เดิน แล้วเราก็เดิน เขาให้ทำอะไร เราก็ทำ แล้วเข้าใจอะไร ไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ขณะนี้นั่ง สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ได้ไหม ถ้าฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร สามารถที่จะเข้าใจขณะนั้นได้ไหม เมื่อเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่กำลังทำงาน สามารถที่จะเข้าใจสภาพที่มีจริงในขณะนั้น ได้ไหม ในเมื่อเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำเป็นคำที่ทำให้เข้าใจถูก ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตามที่มีจริงๆ ขณะนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่มี โดยประการทั้งปวง ถึงที่สุด ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะเหตุว่าสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเป็นธรรม “เห็น” เปลี่ยนเห็นให้เป็นได้ยิน ได้ไหม แล้วเดินทำอะไร มีไหมในพระไตรปิฏก ที่ใครไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วพระผู้มีพระภาคตรัสให้เขาเดิน มีไหม
เพราะฉะนั้น ไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน เพราะว่า มีอีกมากที่เป็นประโยชน์ ที่สามารถที่จะเข้าใจได้แม้เดี๋ยวนี้ แล้วจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะได้เข้าใจคำนั้น แต่คำอื่นทั้งหมดที่ไม่พูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ให้เข้าใจ คำนั้นไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เวลาที่เข้าใจแล้วเราสามารถที่จะรู้เลย คำไหนเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำไหนไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะแม้สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ก็ไม่ได้พูดให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมี แล้วจะไปเข้าใจอะไร สิ่งที่ผ่านไปแล้ว หมดแล้ว ไม่กลับมาอีก พรุ่งนี้อะไรจะเกิดไม่มีใครรู้เลย แน่ๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่จะรู้ถูก เห็นถูก คือสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริงๆ และสิ่งที่มีจริงก็กำลังมีด้วย เพราะฉะนั้นจะมีปัญญา เข้าใจถูก เห็นถูก ก็ต้องในสิ่งที่กำลังมี ไม่ใช่สิ่งที่หมดไปแล้ว หรือว่าสิ่งที่ยังไม่มาถึง
การฟังนี้ เพื่ออะไร ไม่ว่าฟังอะไร เพื่อเข้าใจในสิ่งที่ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าฟังแล้วเข้าใจวันหนึ่งสามารถที่จะรู้ความจริงตรงตามที่ได้ฟัง จากปริยัติคือรอบรู้ในแต่ละคำที่ได้ฟังถูกต้อง ถ้าได้เข้าใจถูกต้องแล้ว ก็จะรู้ได้ว่าสิ่งที่มีจริงนี้ สามารถเข้าใจได้ แต่เข้าใจเองไม่ได้ ต้องฟังพระธรรม จากผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นก็รู้ได้ ฟังพระธรรมหรือเปล่า หรือว่าไม่ได้เกิดความเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น
อ.คำปั่น ที่ท่านอาจารย์ ได้กล่าวให้ได้คิดนี้ก็เป็นประโยชน์ ว่าจะได้รู้จักว่า พระ คือใคร ซึ่งก็เป็นผู้ที่ประเสริฐ ประเสริฐเพราะคุณความดี ตั้งแต่มีอัธยาศัยใหญ่ ที่จะสละอาคารบ้านเรือน สละวงศาคณาญาติ สละกองทรัพย์สมบัติ สละญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อมุ่งสู่พระธรรมวินัยจริงๆ เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา จึงจะเป็นพระภิกษุจริงๆ ในพระธรรมวินัยนี้
ท่านอาจารย์ เพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ปล่อยให้กิเลสเพิ่มมากทุกวัน ใช่ไหม แต่เพราะเห็นโทษ และก็เป็นผู้ที่สามารถจะประพฤติอย่างประเสริฐ ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตด้วย
คุณเป็ดรู้จักพระหรือยัง พระภิกษุในธรรมวินัย เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้จักอย่างนี้ ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทด้วยพระองค์เอง หลังจากที่มีผู้ที่ประพฤติสิ่งที่ไม่สมควร ก็ประชุมสงฆ์ แล้วก็ให้พิจารณาว่า สิ่งนั้นควรแก่เพศบรรพชิตไหม เมื่อสงฆ์เห็นว่าควรหรือไม่ควรอย่างไรก็ตาม ก็บัญญัติตามที่ที่ประชุมมีมติ เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้ที่ตรง ถ้าไม่สมควรก็ประพฤติไม่ได้ แล้วก็ให้ประพฤติแต่สิ่งที่สมควรเท่านั้น
คุณเป็ดคิดว่าพุทธบริษัทเรานี้ ควรจะรู้จักพระภิกษุไหม หรือว่าคิดว่าพระภิกษุ แต่ว่าไม่รู้จักว่าเป็นภิกษุในธรรมวินัยหรือเปล่า เพราะไม่ได้เข้าใจเลยว่า พระภิกษุคือใคร ผู้ที่ไม่ประพฤติตามพระวินัยในครั้งโน้นก็มี พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นว่าอย่างไรบ้าง
อ.คำปั่น ก็มีมาก ก็จะเข้าใจไปทีละคำ อย่างเช่น โมฆะบุรุษ ก็คือ ผู้ที่ว่างเปล่าจากคุณความดี เพราะว่าไม่ได้น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ ถ้าเราเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเคารพผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ไหม
อ.คำปั่น นอกจากนั้นก็จะมีอีกหลายคำ ก็คือ เป็นมหาโจร เพราะว่าเป็นโจรในคราบของผ้ากาสาวพัสตร์ เพราะว่าบอกว่าจะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ที่เหมาะควรแก่ก้อนข้าวของชาวบ้าน แต่พอรับก้อนข้าวที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธาแล้ว หรือว่าปัจจัยต่างๆ แล้ว แต่ว่าไม่ได้ทำตัวให้คุ้มค่ากับก้อนข้าวของชาวบ้าน แต่ประพฤติผิด ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็เป็นผู้ที่หลอกลวงชาวบ้าน เป็นมหาโจร
ท่านอาจารย์ ถ้าบวชแล้ว ไม่ศึกษาธรรมวินัย เพราะว่าการบวชเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสด้วยการเข้าใจพระธรรม เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจธรรมจะขัดเกลากิเลสได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ถ้าผู้ใดบวชแล้วเป็นพระภิกษุ แต่ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เราก็รู้ได้ว่าผู้นั้นเป็นมหาโจร เป็นโมฆะบุรุษ
อ.คำปั่น นอกจากนั้นก็เปรียบเหมือนกับบุคคลลีบ ก็สังเกตดู ข้าวลีบสีจะเป็นสีเหลืองแต่ข้างในไม่มีเมล็ดข้าว ไม่มีข้าวสารอยู่ข้างใน ก็เหมือนกับผู้ที่สละอาคารบ้านเรือนแล้วไปครองผ้ากาสาวพัสตร์ซึ่งเป็นผ้าของเพศบรรพชิต แต่ว่าข้างในคือจิตใจของท่านไม่ได้มีคุณธรรมเลย ไม่ได้ขัดเกลากิเลส ไม่ได้มีความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัยเลย เที่ยวย่ำยีสิกขาบทน้อยใหญ่ ก็เป็นโทษสำหรับผู้นั้น เปรียบเหมือนกับข้าวลีบ ที่ดูเหมือนเป็นข้าวจริงๆ แต่ข้างในไม่มีเลย ก็คือพระรูปนั้นไม่มีคุณธรรมใดๆ เลย
คำหนึ่งที่ปรากฏในอรรถกถาพรหมชาลสูตร ก็คือ กล่าวถึงเศรษฐีหัวโล้น กล่าวถึงว่าเป็นผู้ที่สะสมปัจจัย สะสมอาหาร ในอรรถกถาแสดงไว้ชัดเจนว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุดในโลก แม้ข้าวสารเพียงเล็กน้อยที่จะเก็บไว้เพื่อวันรุ่งขึ้น ไม่มีสำหรับพระองค์ นี่คือความประเสริฐสูงสุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่บัญญัติพระวินัยด้วยพระองค์เอง เพราะฉะนั้นพระภิกษุรูปใดก็ตาม ที่สะสมลาภสักการะ สะสมวัตถุต่างๆ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ก็เป็นเศรษฐีหัวโล้น
ท่านอาจารย์ คุณเป็ด คิดว่ามีประโยชน์ไหม ที่จะได้เข้าใจพระธรรมวินัย
ผู้ฟัง มากเลย
ท่านอาจารย์ มิฉะนั้นแล้ว ทุกคนก็เห็นประโยชน์ของการที่จะดำรงพระศาสนาสำหรับคนรุ่นหลังต่อไป แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจพระธรรมวินัย หรือเข้าใจผิด เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นการดำรงรักษาไว้ซึ่งพระธรรม
เพราะฉะนั้นชาวบ้านในครั้งโน้น เวลาที่พระภิกษุไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เขากล่าวว่าอย่างไร เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา เพื่อประโยชน์ “เพ่งโทษ” ที่นี้หมายความว่า ให้เห็นโทษ ไม่ใช่ไปพยายามหาโทษคนอื่น ซึ่งเขาไม่ได้ทำผิด แล้วเราไปเพ่งโทษ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เมื่อทำผิดแล้วเพ่งโทษให้รู้ว่านั่นผิด แล้วก็ติเตียน ทำผิดแล้วจะสรรเสริญได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ชาวบ้านซึ่งเป็นคฤหัสถ์ก็เพ่งโทษ เพราะเขารู้ว่าผู้ใดประพฤติตามพระวินัย และผู้ใดไม่ได้ประพฤติตามพระวินัย เมื่อไม่ประพฤติก็ให้รู้ว่าไม่ได้ประพฤติตามพระวินัย เพราะฉะนั้นก็ติเตียน ไม่สมควรที่จะเป็นอย่างนั้น แล้วก็โพนทะนา “โพนทะนา” ที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ไปกล่าวความชั่วร้ายของคนอื่น แต่กระจายข่าวให้รู้ทั่วกัน เพื่อที่จะรักษาพระธรรมวินัยว่าที่ถูกต้องนั้นต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ด้วย มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีการที่จะดำรงพระศาสนาไว้ได้ ถ้าคฤหัสถ์ไม่รู้พระธรรมวินัยด้วย ตามสมควร
แล้วตอนนี้เรากำลังเพ่งโทษหรือเปล่า เพื่อประโยชน์ เพราะฉะนั้น ติเตียนแน่นอนสำหรับผู้ที่ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย แล้วโพนทะนาด้วย คือบางคนบอกว่าไม่ต้องพูด พูดทำไม ใช่ไหม แต่ต้องพูด เพื่อประโยชน์ มิเช่นนั้นแล้ว จะรู้ จะเข้าใจถูกต้องได้อย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อการขัดเกลา และสำหรับผู้ที่เป็นพุทธบริษัทก็ขัดเกลากิเลสในเพศของตน เช่น คฤหัสถ์ก็ศึกษาพระธรรมวินัยด้วย มิฉะนั้นก็จะไม่รู้ว่า อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นวินัย อะไรไม่ใช่ ใช่ไหม อย่างไปปฏิบัติอย่างนี้ ยังไม่รู้เลยว่าปฏิบัติคืออะไร
"เดี๋ยวนี้" เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เพราะมีจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะรู้สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ได้อย่างไร ต้องตามลำดับของปัญญาด้วย เพราะเหตุว่า ปัญญา คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก มิฉะนั้นแล้วก็เพียงแต่ได้ยินชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ คือศึกษาคำสอน จนกระทั่งเห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ซึ่งถ้าพระองค์ไม่ทรงบำเพ็ญบารมีที่จะตรัสรู้และทรงแสดง จะไม่มีใครมีโอกาสได้เข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้เลย
เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องตามลำดับ ไม่รู้อะไรเลยแล้วไปปฏิบัติ ผิดแน่นอน เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความหวังดี ก็ต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด ใครจะอยากให้ใครต้องได้รับโทษอย่างมาก ในการที่ประพฤติผิดพระวินัย โทษก็คือว่าเกิดในอบายภูมิ ไม่ละอายต่อพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากบวช แล้วบวชแล้วทำอะไร เพราะว่าในสมัยโน้น ไม่มีใครที่จะอยากบวช แต่เพราะว่ารู้ว่าชีวิตคฤหัสถ์ คับแคบสำหรับเขา เพราะว่าทั้งวันก็เป็นเรื่องของอกุศลทั้งนั้น แต่ชีวิตของบรรพชิต ของพระภิกษุนั้น ตั้งแต่เช้า ตื่นจนหลับ เป็นชีวิตที่ขัดเกลากิเลส ดุจสังข์ขัด หมายความว่า ทุกอย่าง ตั้งแต่ตื่น จะต้องเป็นเรื่องของการที่จะศึกษาธรรม ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยทั้งหมด เพราะเป็นผู้ประเสริฐ เป็นสาวก
เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่า เรานับถือพระรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ เป็นที่พึ่ง พึ่งอย่างไรถ้าไม่เข้าใจธรรม ถ้าไม่ศึกษาธรรม พึ่งโดยขอโน้นขอนี่กราบทีหนึ่งก็ขอเยอะ แล้วไม่เข้าใจอะไรเลย ก็ไม่ต้องกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเพียงขอ กราบใครก็ได้ที่คิดว่าจะให้ ใช่ไหม แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ซึ่งไม่มีใครจะให้ได้นอกจากพระองค์ คือคำสอนให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มี ซึ่งยาก ถ้าเราไม่เริ่มต้น ก็จะไม่มีวันถึงการที่จะขัดเกลากิเลสได้ แม้ว่ากิเลสมีมาก หมดได้ แต่ต้องด้วยความเพียร และด้วยบารมีอื่นๆ ถ้าเราเห็นประโยชน์ เราก็ทำ ใช่ไหม แต่สิ่งใดที่ไม่มีประโยชน์ เราจะทำหรือ ทำทำไมในเมื่อไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แล้ว ยากแสนยาก ก็สมควรแก่การที่จะสะสม
เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ที่ดี ก็คือ เป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมด้วย แล้วก็ขัดเกลากิเลสด้วย ตามการสะสมที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่เชื่อง่าย และก็ไม่ใช่ทำตามคำของใคร เพราะว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สั่งใครเลยทั้งสิ้น แต่ทรงแสดง เพราะฉะนั้นทุกคำที่เป็นพระพุทธพจน์ มีปัญญาในทุกคำ เช่น ละชั่ว ไม่ได้บอกให้คนหนึ่งคนใดละเลย เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ปัญญาที่รู้ว่าไม่ดีนั่นแหละละ แต่ถ้าไม่รู้ว่าไม่ดี จะละทำไม จะละได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่เห็นความเป็นโทษของอกุศล
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะละอกุศล ก็คือผู้ที่เห็นโทษของธรรมที่เป็นอกุศล ทุกคำนี่เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด แล้วถ้าพุทธบริษัทไม่ศึกษา พระศาสนาก็อันตรธาน และถ้าเข้าใจผิดก็ช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนาแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องรู้ ถ้าพุทธบริษัทช่วยกันทะนุบำรุงพระศาสนา คือต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่ว่าให้คนอื่นศึกษาแล้วเราไม่ศึกษา ทุกคนคิดอย่างนี้เหมือนกันหมด ก็ไม่มีใครศึกษา เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งคน ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น ก็คือ ได้ฟังพระธรรมและเข้าใจพระธรรม ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมเพราะปัญญาที่เข้าใจ ไม่ใช่ว่ามีความเป็นตัวตนที่จะสามารถทำอะไรได้ แต่เมื่อมีปัญญาแล้ว ปัญญานำไปในกิจทั้งปวง
อ.คำปั่น นี่คือความประเสริฐของการที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม คำที่ได้ยินได้ฟังก็จะค่อยๆ กระจ่างขึ้น แม้แต่คำว่า รัตนะ ซึ่งอาจารย์ก็ได้กล่าวเมื่อสักครู่นี้ พระรัตนตรัย สิ่งที่มีค่า สิ่งที่ประเสริฐ สิ่งที่ไม่มีอะไรเทียบเท่า สิ่งที่ปรากฏได้โดยยาก และเป็นเครื่องบริโภคใช้สอยของบุคคลผู้ไม่ต่ำทราม เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์จริงๆ ที่จะเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ก็คือพึ่งด้วยการศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
ผู้ฟัง เมื่อไม่นานนี้พระภิกษุได้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ถึง ๔ ใบ ชาวบ้านก็ยินดีกับเขา แต่ผมไม่ยินดีกับเขา เป็นความเข้าใจผิดหรือถูก อย่างไร
ท่านอาจารย์ ใครเป็นคนนำสุขมาให้เขา
ผู้ฟัง กุศลธรรมที่เขาทำไว้ในปางก่อน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังเห็น หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่เห็น มีสิ่งที่ถูกเห็น ถ้าสิ่งที่ถูกเห็นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ สวยงาม ดี ขณะนั้นก็เป็นเพราะเหตุที่ได้กระทำไว้ เป็นปัจจัยให้แม้เหตุนั้นได้กระทำไว้นานแสนนาน แต่ถึงเวลาที่จะให้ผล ก็ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ดี ที่น่าพอใจ ไม่มีใครจะนำมาให้ได้เลย เพราะฉะนั้น เหตุเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งผล ที่แล้วแต่ได้กระทำไว้มากน้อยแค่ไหน ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ มี “เขา” ไหม หรือว่ามี “เห็น”
ผู้ฟัง มีแต่เห็น
ท่านอาจารย์ มีแต่เห็น ซึ่งเกิดเพราะเหตุที่ได้กระทำแล้ว และจะรู้สึกอย่างไร หรือว่าต้องรู้สึก หรือว่าแล้วแต่ขณะนั้น อะไรจะเกิดขึ้นก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าใครได้ดีมีสุข รู้ว่าเป็นผลของกุศลที่ได้กระทำแล้ว อนุโมทนาในกุศลที่ทำให้ผลเกิดขึ้น ถูกหรือผิด
ผู้ฟัง ถูก
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเรื่องๆ และต้องเป็นขณะจิตด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าได้กระทำกรรมไว้มากน้อยแค่ไหน และกรรมแต่ละกรรมนั้น กล้ามาก หรือว่าอ่อน ไม่กล้ามาก นั่นก็แล้วแต่ ถึงแม้พระผู้มีพระภาคใกล้จะปรินิพพาน กรรมที่เป็นอกุศลที่ได้กระทำแล้วในอดีตนานมาแล้ว ก็ยังทำให้พระองค์ประชวรก่อนที่จะปรินิพพานได้ เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถที่จะรู้กรรมที่ได้กระทำแล้ว ในชาตินี้พอจะรู้ แต่ก็จำได้ก็คงไม่หมด และชาติก่อนๆ อีกมาก ก็แล้วแต่ว่าถึงวาระที่กรรมไหนพร้อมที่จะให้ผล ทำให้วิบากคือผลของกรรมเกิดขึ้น ขณะแรกที่สุดคือ เกิด และเมื่อเกิดแล้วก็มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าเป็นสิ่งที่ดีน่าพอใจ ต้องเป็นเพราะกุศลที่ได้ทำแล้ว เพราะฉะนั้นจะนั่งร้องไห้เสียใจถ้าสมมุติว่าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ไม่มีใครทำให้ นอกจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีเขา แต่ว่าขณะใดก็ตาม มีการเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็นผลของกุศลที่ได้กระทำ ถ้าไม่เรียกชื่อธรรม แต่ก็มีลักษณะของธรรม ความยินดีหรือยินร้าย ก็ห้ามไม่ได้ ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ความถูกต้องอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นก่อนจะยินดีนี่ มีความถูกต้องไหม ที่พระภิกษุถูกลอตเตอรี่
ผู้ฟัง ไม่ถูกต้องเลย
ท่านอาจารย์ ไม่ถูกต้อง จะยินดีกับความไม่ถูกต้องไหม
ผู้ฟัง กระผมไม่ยินดีด้วย
อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวให้ได้คิด ว่าการที่จะมีลอตเตอรี่ ก็ต้องมีการซื้อ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร
ท่านอาจารย์ ทีนี้ ไม่ซื้อ แต่มีคนเอามาให้ได้ไหม
อ.คำปั่น ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถึงให้ ก็รับไม่ได้
อ.คำปั่น สิ่งที่ควรก็คือ ศึกษาพระธรรมวินัย รักษาพระธรรมวินัย อันนี้คือสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่ามีในสิกขาบทด้วยว่าพระภิกษุปราศจากการซื้อขายหนึ่ง ปราศจากการซื้อขาย ไม่มีการซื้อของ ในส่วนของพระภิกษุ ไม่มีการขายด้วย และที่สำคัญ การเล่นอะไรก็ตามที่มันไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ที่เรียกว่าเล่นการพนัน ประการต่างๆ การเล่นที่ไม่เหมาะสม พระภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่กระทำ เพราะฉะนั้นก็ต้องครอบคลุม ความประพฤติที่ดีงามทั้งหมด ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตจริงๆ ผู้ที่บวชเข้าไปแล้วจะไม่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควรเลย เหมือนอย่างคฤหัสถ์ ไม่มี เพราะว่าเป็นเพศที่สูงยิ่ง ที่จะต้องศึกษาพระธรรมวินัย และขัดเกลากิเลสจริงๆ
ท่านอาจารย์ แต่ทุกอย่างต้องชัดเจน เพราะว่าหลายคนก็อาจจะไม่แน่ใจ เพราะว่าพระภิกษุไม่ได้ซื้อ แต่ว่ามีคนเอาไปให้ แต่คิดดู ชีวิตของพระภิกษุต่างกับคฤหัสถ์ที่ไม่ยินดีในเงินและทอง เพราะเหตุว่าเงินและทองนำมาซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างชาวบ้าน เพราะฉะนั้นชาวบ้านนี่ เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน ในสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่พระภิกษุสละแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่นำไปให้พระภิกษุ ซึ่งจะนำมาซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่สัมผัสทางกาย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่สละแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่พระภิกษุ ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระวินัยตามสมควรด้วย ว่าสิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้นถ้ารับไว้ ก็เหมือนกับรับเงินและทอง หรือว่ารับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถึงแม้ว่าจะไม่รู้ว่าจะถูกลอตเตอรี่หรือเปล่า แต่ก็รับแล้วด้วยความหวัง ด้วยความยินดี ด้วยความพอใจ เพราะฉะนั้น การที่จะกล่าวถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องชัดเจน มิฉะนั้นก็จะมีผู้กล่าวว่า ไม่ได้ซื้อ นำมาถวายเอง แต่รับได้หรือ ในเมื่อสิ่งนั้นก็เหมือนกับเงินและทอง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 841
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 842
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 843
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 844
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 845
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 846
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 847
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 848
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 849
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 850
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 851
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 852
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 853
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 854
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 855
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 856
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 857
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 858
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 859
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 860
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 861
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 862
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 863
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 864
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 865
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 866
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 867
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 868
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 869
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 870
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 871
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 872
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 873
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 874
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 875
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 876
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 877
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 878
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 879
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 880
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 881
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 882
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 883
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 884
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 885
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 886
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 887
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 888
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 889
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 890
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 891
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 892
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 893
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 894
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 895
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 896
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 897
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 898
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 899
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 900