ปกิณณกธรรม ตอนที่ 842


    ตอนที่ ๘๔๒

    สนทนาธรรม ที่ บ้านเหนือน้ำ จ.ปทุมธานี

    วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ ไปฟังอะไรที่เขาบอก เขาให้ทำให้อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วรู้อะไรเข้าใจอะไร เมื่อไม่เข้าใจแล้วก็จะเป็นสัจจะได้อย่างไร เมื่อไม่เป็นสัจจะ ก็หลงผิด แต่ทุกคำที่เข้าใจเป็นสิ่งที่มีจริง ก็รู้ว่าจริงทุกคำ นำไปสู่ความจริงยิ่งขึ้น จนถึงการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ถ้าเป็นผู้ที่ตรง และจริง ก็เป็นสัจจะบารมี มั่นคงไหม หลายท่านฟังธรรมมาก เท่าที่ได้ทราบ เกือบจะทุกรายการของมูลนิธิ ทุกสถานี มั่นคง ถ้าอกุศลที่ได้กระทำไว้ก่อน ไม่เกิดขึ้นเบียดเบียน เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างประมาทไม่ได้ พระปัจฉิมวาจา จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ซึ่งทุกคนก็เข้าใจกันอยู่แล้วว่าอันตรายทั้งหมด เกิดจากความประมาททั้งสิ้น เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ลึกซึ้งประมาทไม่ได้ คิดว่าเข้าใจแล้วไม่ได้ เพราะว่าคิดว่าเพียงฟัง และทำตาม นั่นไม่ถูกต้อง ต้องเป็นเหตุผลตรงตามความเป็นจริงอย่างละเอียดจึงจะป้องกันไม่ให้คนนั้นหลงผิดได้

    เพราะเหตุว่า พุทธะ พุทธ ใครก็พูดได้ แต่เข้าใจตรงตามที่พระผู้มีพระภาค ตรัสรู้ และทรงแสดงหรือไม่ มิเช่นนั้นแล้ว ถ้าเพียงเข้าใจผิดแต่ละคำ คือการทำลายพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ละคำ จนไม่มีเหลือ ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกต้องในพระธรรม เพราะฉะนั้นวันหนึ่ง ไม่ใช่วันนี้ พระธรรมก็อันตรธานจากความเข้าใจผิดของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดแล้วก็ประมาท และไม่เคารพในแต่ละคำ ไม่เป็นผู้ที่จริงใจ เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้เป็นบารมี เพราะฉะนั้นขณะนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะรีบร้อนไปให้มีการเข้าใจการเกิดดับ เดี๋ยวนี้ เป็นไปไม่ได้ ใครจะบอกว่ามาสิ แล้วก็จะได้ทำอย่างนี้ แล้วจะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษาเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดว่ามีหนทางอื่นที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ท่านจารย์กล่าวว่า บารมีก็คือความดีที่จะทำให้ข้ามจากฝั่ง ซึ่งเป็นฝั่งกิเลส เพื่อข้ามไปสู่ฝั่งที่ดับกิเลสได้ แล้วท่านอาจารย์ก็ถามว่าแล้วจะทำดีไหม

    ท่นอาจารย์ เห็นเดี๋ยวนี้มี เข้าใจไหม ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ พอไหม

    ผู้ฟัง ไม่พอ

    ท่านอาจารย์ โลภะเกิด จะไม่โลภ จะไม่ติดข้องได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าโลภะเกิดเป็นธาตุ เป็นโรคที่ติดข้องก็ต้องเป็นเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ โทสะ เกิดจะไม่ให้เกิดได้ไหม หาวิธีตั้งหลายวิธี คนที่เขียนตำราเป็นเล่มๆ วิธีที่จะไม่ให้โทสะเกิด แล้วก็จะไม่ให้โทสะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ขออนุญาตยกตัวอย่าง มีผู้ร่วมสนทนาบอกว่า สามีเขาตายกะทันหัน แล้วก็คิดถึงโศกเศร้ากับการสูญเสียมาก เพื่อนธรรมมาแนะนำบอกว่า วิธีการที่จะทำให้ไม่คิดถึงสามี ก็ให้คิดถึงความไม่ดีของเขามากๆ

    ท่านอาจารย์ คิดมีไหม

    ผู้ฟัง คิดมี

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิดนั้น คิดถึงรึเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็คิดถึงทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าคิดถึงอะไรก็คิดถึงใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจิตเป็นอะไรที่คิดถึง

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอย่างนี้แหละ แล้วจะละอกุศลได้อย่างไร ไม่ใช่เฉพาะกรณีเดียว เรื่องเดียว ทุกครั้งที่คิดนั่นแหละกุศลคิดหรืออกุศลคิด

    ผู้ฟัง จริงๆ ไม่ได้รู้ตรง แต่ทราบว่าส่วนใหญ่อกุศลเกิดมากมาย

    ท่านอาจารย์ แล้วจะละได้อย่างไร ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าเห็นก็เกิดกิเลส ได้ยินก็เกิดกิเลส เกิดกิเลสทั้งวัน ขณะที่คิด ก็คิดถึง ไม่ได้คิดอะไร ก็คิดถึงเรื่องนั้นทั้งนั้น แล้วก็เกิดกิเลสทั้งนั้น ถ้าเข้าใจว่าเป็นธรรมดา ของธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นการที่จะดับกิเลสได้ หนทางเดียวคือรู้ความจริงว่าไม่ใช่เรา ถ้าไม่ใช่เรา นั่นก็ไม่ใช่เขาด้วยใช่ไหม แต่ถ้าไม่ใช่เขาแต่ยังเป็นเราได้ไหม คิดถึงแต่ความไม่ดีของเขายังเป็นเขา แต่ตัวเราก็ยังคิดถึงนั่นแหละ เพราะฉะนั้นจะละกิเลสได้อย่างไร จะดับความโศกได้อย่างไร เวลาเราไม่ดี เราเกิดโกรธขึ้นมา เป็นอย่างไร ถ้าคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น เช่นเขาโกรธเขาเกลียดเขาอะไรต่างๆ ในเวลาเราเองโกรธเกลียดล่ะจะละได้อย่างไร ข้อสำคัญที่สุดก็คือเราคิด ถึงใครก็ตาม คิดถึงความไม่ดีหรือความดีของใครก็ตามขณะนั้นก็คือเราคิด

    เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะละได้เลย เพราะว่าจำเรื่องไว้มากมาย สัญญาเจตสิก เป็นเจตสิกหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ ไม่ขาดเลย เพราะฉะนั้นก็ปรุงแต่งไปตามสภาพธรรมอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกัน จำความไม่ดี คิดดูสิ ว่า ปรุงแต่งให้คิดถึงความไม่ดี เพราะได้จำความไม่ดีนั้นไว้ ทั้งหมดเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าจะละความไม่รู้ และอกุศลทั้งหลายได้ก็ต้องรู้ทีละอย่าง รู้ทั่วในสิ่งนั้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงได้ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ห้ามคิดรึเปล่า

    ผู้ฟัง ห้ามไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จะห้าม ไม่ให้อะไรเกิดขึ้นได้เลย เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ต้องเกิด และความจริงก็คือว่าสิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้วจึงไม่มีสัตว์บุคคลเที่ยงแน่นอนเลย มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างนี้จะดีกว่าไปคิดถึงความไม่ดีของใครๆ หรือเปล่า

    อ.คำปั่น ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็เศร้าโศกเสียใจ ในสมัยพุทธกาล ก็มีอุบาสกท่านหนึ่ง บิดาของท่านก็สิ้นชีวิตลง ท่านก็เศร้าโศกเสียใจอย่างมากถึงกับพร่ำเพ้อเลยว่า ไม่ว่าจะเจอใครก็ตาม ก็จะถามว่าเห็นบิดาของข้าพเจ้าไหม เห็นบิดาของข้าพเจ้าไหม จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยของท่านนี้ ว่าจะได้รู้แจ้งธรรมเป็นพระโสดาบัน พอได้เข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ถามคำถามเดียวกันว่า พระองค์เห็นบิดาของข้าพระองค์ไหม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามว่า เธอจะหาบิดาในชาตินี้หรือว่าบิดาในชาติก่อนๆ ก็แสดงถึงความเป็นจริงใช่ไหมว่า เกิดมานับชาติไม่ถ้วนแล้วสังสารวัฎก็เป็นไป อย่างไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้นเพียงพระดำรัสอย่างนี้ ก็เป็นเครื่องตักเตือนผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่ดีมา ที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมพอได้ฟังว่า จะหาบิดาในชาตินี้หรือว่าบิดาในชาติก่อนๆ ก็คลายความเศร้าโศกลง ด้วยพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงความจริงในความเป็นจริงของธรรม ก็ทำให้ท่านได้รู้แจ้งธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน

    ขอยกชาดกเรื่องหนึ่งก็คือ มาตะโรธนะชาดก ซึ่งเป็นชาดกที่ว่าด้วยการร้องให้ถึงบุคคลผู้ที่ตายไปแล้ว กล่าวถึงในสมัยก่อน พระโพธิสัตว์มีพี่ชายหนึ่งคน ซึ่งก็เป็นครอบครัวที่มีเงินมากเป็นเศรษฐี ทั้งสองคนนี้ก็บริหารเงินภายในครอบครัว แต่ก็มีอยู่วันหนึ่ง พี่ชายของพระโพธิสัตว์ก็สิ้นชีวิตลง พระโพธิสัตว์ก็ไม่แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจใดๆ เลย ญาติทั้งหลาย คนรอบข้างเข้าใจพระโพธิสัตว์ผิดว่าสงสัยคงจะดีใจที่พี่ชายเสียชีวิต ตัวเองก็จะได้ครอบครองสมบัติแต่เพียงผู้เดียว วันนั้นก็มีการประชุม ญาติทั้งหลายก็ต่อว่า พระโพธิสัตว์ว่าเป็นคนที่ดีใจที่พี่ชายตาย เพราะว่าตัวเองจะได้ครอบครองสมบัติแต่เพียงผู้เดียว แต่พระโพธิสัตว์ก็กล่าวให้เข้าใจว่าที่พวกท่านเศร้าโศกเสียใจ ก็คือเศร้าโศกเสียใจถึงบุคคลที่ตายไปแล้ว แล้วทำไมไม่เศร้าโศกถึงตัวเราด้วย ก็คือตัวพระโพธิสัตว์เอง เพราะว่าในที่สุดแล้วตัวเขา ก็คือตัวพระโพธิสัตว์นี่ก็จะต้องตายเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ไม่มีใครที่จะรอดพ้นจากความตายไปได้ เพราะว่าความตายนี่ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น ความเกิดขึ้นเป็นไปตราบใด ความตายก็ย่อมมีอยู่ตราบนั้น แต่ที่จะไม่มีการตายเลยก็คือดับเหตุที่จะทำให้มีการเกิด ก็คือดับกิเลสได้หมดสิ้นเมื่อนั้นก็จะไม่มีการเกิด และก็ไม่มีการตายอีกเลย

    อ.อรรณพ ไม่ว่าจะเป็นการเศร้าโศกผูกพันถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ตาม หรือเป็นการผูกพันเสียดายในสิ่งที่เขาคิดว่าสูญเสียไปในชาตินี้ก็เป็นการอาลัยในสิ่งที่ไม่มีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นแม้ในขณะนี้ก็ดับไปดับไป ก็คือไม่มี แต่ก็มีความผูกพันความอาลัยในสิ่งทั้งที่ยึดไว้ในปัจจุบัน หรือว่าในที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับว่าการที่จะละความโศกเศร้าในสัตว์บุคคลในสิ่งต่างๆ ได้จริงๆ ต้องเป็นการรู้ในการดับไป ดับไป ของสิ่งที่มีในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ความคิดว่า คิดถูกก็ทำให้ไม่โศกเศร้า ถ้าคิดผิดก็โศกเศร้า จะโศกเศร้าแล้วมีประโยชน์อะไร ถ้ามีการเสียใจเกิดขึ้น ลองคิดถึงว่าประโยชน์มีไหม

    อ.อรรณพ ตอนที่เศร้า ความเศร้าโศกซึ่งเป็นอกุศลจิตเกิด โทมนัส ไม่ได้คิดถึงประโยชน์อะไรเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการที่จะไม่เศร้าโศก ก็ต้องเป็นผู้ที่ต้องคิด แล้วการคิดก็มีหลายอย่างที่จะไม่เศร้าโศก เพราะฉะนั้นถ้าคิดถึงว่าความเสียใจมีประโยชน์อะไร ทุกคนต้องตายเราก็ต้องเสียใจไปหมด ใช่ไหม มีผู้เป็นที่รัก มีญาติสนิทมีเพื่อนฝูงเท่าไหร่ความเสียใจก็ต้องเท่านั้น แล้วประโยชน์อยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงอกุศลทั้งหลายไม่มีประโยชน์ แทนที่จะเสียใจ ทำสิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่สิ้นชีวิตแล้วเป็นสิ่งเดียวที่สามารถที่จะทำให้เขาได้ประโยชน์จริงๆ จากกุศลจิตของเขาที่อนุโมทนา จะทำอะไรก็ทำกัน แต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่รู้ความจริงว่าประโยชน์อยู่ที่ไหน แทนที่จะเสียใจ ศึกษาธรรมอุทิศส่วนกุศลให้ก็ได้ ความดีทุกอย่างอุทิศได้หมด คนที่เขาตายแล้วจากเราไปแล้ว เขาอยากให้เราร้องไห้หรือเปล่า มานั่งร้องไห้ทำไม รู้หรือเขาจะเสียใจไหม ที่เรามานั่งร้องไห้เพราะเขาจากไป เขาคงจะไม่ดีใจที่จะให้เรานั่งร้องไห้แน่ แล้วร้องไห้ทำไม

    อ.อรรณพ ร้องไห้เพราะความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเสียใจเป็นของธรรมดา แต่ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้อง ว่าประโยชน์อยู่ที่ไหน

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นก็ยิ่งเห็นคุณค่าของปัญญาจริงๆ ซึ่งจะเกื้อกูลในหลายๆ ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ปัญญานำไปในกิจทั้งปวง ก่อนเขาจะจากไปนะเคยโกรธเขาไหม

    อ.อรรณพ เคย

    ท่านอาจารย์ เสียใจไหม

    อ.อรรณพ ตอนโกรธ

    ท่านอาจารย์ ตอนจากไปก็พร่ำรำพันต่างๆ นานา แต่ลืมไปว่าตอนยังอยู่โกรธเขาบ้างหรือเปล่า

    อ.อรรณพ อาจารย์พูดก็สมกับในชาดก ที่พระโพธิสัตว์ท่านกล่าวคำอันเป็นสุภาษิตว่า ตอนมีชีวิตอยู่ก็ เมตตากัน ตอนจากกันก็ไม่ควรเศร้าโศกถึงกัน

    ท่านอาจารย์ พระพุทธพจน์ทุกคำ เป็นประโยชน์นำมาซึ่งประโยชน์ทั้งสิ้น ก็ขอเพิ่มเติม เรื่องของการคิดไตร่ตรองธรรม ซึ่งแต่ละคนก็ต่างกัน ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ จากการฟังว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นดับไปแล้วไม่กลับมาอีก คือไม่มีแน่นอนอีกแล้ว แม้แต่คนที่จากไป ก็จะไม่มีคนนั้นอีกเลย ในสังสารวัฎแต่ละชาติ แต่ละชาติ ก็เป็นคนใหม่ไม่ใช่คนเก่าจากชาติก่อน ถ้ารู้ว่าเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้เองสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้เกิดแล้วดับไปแล้วไม่มี เสียงเกิดแล้วดับไปแล้วไม่มี เพราะฉะนั้นคนที่ตายแล้ว ตายแล้ว ดับไปแล้ว ไม่มี แล้วร้องไห้กับสิ่งที่ไม่มี ลองคิดดู เพราะฉะนั้นปัญญา ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นถึงความไม่รู้ว่าไม่รู้ จนกระทั่งร้องไห้กับสิ่งที่ไม่มี เพราะยังคิดว่ายังมีอยู่ แต่ว่าจากไป เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ร้องไห้ ให้คนที่ตายแล้ว เขาจะมีความเข้าใจว่าตายแล้ว ต้องเกิดอีกหรือไม่ หรือไม่เข้าใจอย่างนี้ แต่ความที่เคยผูกพันแล้วก็สิ่งที่เคยเป็นที่รักจากไป หมดไป ก็เสียดาย เป็นเพราะความไม่รู้ของตัวเอง แต่ถึงจะมีความรู้ มีความเข้าใจขึ้น มั่นคงขึ้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏขณะนี้ไม่มี เพราะว่าเพียงแค่ปรากฏแล้วหมดไป

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏเมื่อกี้นี้ ไม่มีแน่นอน หมดแน่นอน แต่มีสิ่งใหม่ที่เกิดสืบต่อปรากฏอีก สืบต่อเร็วมาก เหมือนมี และเหมือนกับสิ่งที่ดับไปไม่เหลือเลยมี นี่คือความที่ไม่ได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะมีความเข้าใจถูกต้องว่า ทุกสิ่งทุกอย่างขณะนี้ไม่มี เพราะเหตุว่า ที่มีนี่ ก็ไม่มี ที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ก็ไม่มี เพราะเกิดแล้วก็ดับไปทุกขณะ แล้วก็ถ้าคิด และเข้าใจอย่างนี้จะร้องไห้กับสิ่งที่ไม่มีหรือ นี่ก็ความเข้าใจขั้นหนึ่ง ระดับหนึ่ง แค่เข้าใจ แค่คิด แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมดับกิเลสไม่ได้ โดยเฉพาะความเป็นเรา หรือว่าความเป็นตัวตน ไม่ใช่ให้ไม่ไปพอใจ อย่าพอใจในคนอื่น อย่างในพระสูตรที่ว่าอย่ายินดีติดข้องในคนอื่น แต่ตัวเราล่ะยังมีอยู่ ตราบใด พ้นหรือที่จะไม่ติดข้องในสิ่งอื่นต่อไป เพราะฉะนั้นก็เห็นจริงๆ แม้แต่จะร้องไห้ในสิ่งที่รัก สิ่งที่รักก็ไม่เที่ยง มีสิ่งที่รักใหม่ไม่เที่ยงอีก ก็ร้องไห้ใหม่ ก็ร้องไห้ไปเรื่อยๆ ทุกชาติ แต่ถึงแม้ว่าจะรู้อย่างนี้ ดับกิเลสที่จะทำให้ไม่ร้องไห้อีกต่อไปไม่ได้ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล นี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ไม่รู้เลย พอได้ยินได้ฟัง แต่จากการที่ได้ยินได้ฟังมาแล้วในชาติก่อนๆ หรือเพิ่งจะเริ่มต้นในชาตินี้ก็ตาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไตร่ตรอง มั่นคงเป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่มีแน่ๆ มีแค่เห็น ลองคิดดู แต่ละคำลึกลงไปแค่ไหน ที่ว่ามีแค่เห็น หมายความว่า ขณะที่ไม่เห็นนั่นไม่มี และถึงแม้ยังไม่ตาย เพียงแค่ไม่เห็นก็ไม่มีแล้วถูกไหม เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจขึ้น มีความเข้าใจขึ้น ก็จะรู้ว่าการที่จะละหรือดับกิเลส ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นจริงๆ ตราบใดที่ยังมีความสำคัญยึดถือว่าเรา มีเรา เป็นเรา ไม่มีทางที่จะไม่เสียใจ ไม่มีทางที่กิเลสทั้งหลายจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นต้องเห็นจริงๆ ว่าสิ่งที่ได้สะสมมาแล้วมากมายด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่เพียงแค่คิดก็ดับได้ แต่เพียงแต่ว่ากำลังน้อมไปสู่การที่จะรู้ความจริงแล้วก็คลายความติดข้อง และไม่หวั่นไหวไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทั้งดีไม่ดี ทั้งหมดมีชั่วขณะที่ปรากฏหลังจากนั้นไม่มีจริงๆ ไม่ใช่ว่าพูดเล่นๆ พูดจริงๆ ว่าไม่เหลือเลย แต่มีสิ่งที่เกิดสืบต่อเหมือนยังมีอยู่เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นปัญญาที่ไม่ขาดการฟัง ที่จะพิจารณาแล้วก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ยังมีความไม่รู้มากแค่ไหน รู้ได้จากขณะนี้ ก็ขอถามต่อไป รู้อย่างนี้แล้วไม่ร้องไห้ได้ไหม ไม่มีทางเลยตามความเป็นจริง เพราะว่าไม่ใช่เรา แต่เมื่อมีเหตุที่จะให้สภาพธรรมใดเกิดสภาพธรรมนั้นก็เกิด เกิดเพื่อให้ไม่รู้ต่อไป หรือเกิดเพื่อจะได้รู้ความจริง นี่เป็นสิ่งที่ต่างกัน ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลย เกิด และก็เพื่อไม่รู้ต่อไปเรื่อยๆ แต่เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว เกิดเพื่อจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา

    อ.ธีรพันธ์ ความพลัดพรากที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายเป็นทุกข์เนื่องจากพลาดจากของรัก และประสบกับสิ่งที่ไม่รักแล้วก็หวังสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเกี่ยวเนื่องกับ อุปทานขันธ์ ๕

    ท่านอาจารย์ ขันธ์คืออะไร

    อ.ธีรพันธ์ ขันธ์คือสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น และดับไป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเสียใจกับสิ่งที่ไม่มีแล้ว ฉลาดไหม

    อ.ธีรพันธ์ ไม่ฉลาด

    ท่านอาจารย์ ไม่มีแล้วก็ไปเสียใจกับสิ่งที่ไม่มี ตรงกันข้าม ทุกคนต้องตาย อย่าทำไม่ดีกับคนที่จะตายดีไหม ทุกคนที่นี่ต้องตายทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นอย่าทำสิ่งที่ไม่ดีกับคนที่จะต้องตายจะได้ไม่มานั่งเสียใจว่า เสียดายจัง เราไม่ได้ทำดีอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเขาก็ตายไปเสียก่อน คือเรื่องจะเสียใจมีมาก แล้วแต่จะคิด จะรำพันไปต่างๆ นานา ขณะนั้นแต่ทำไมไม่คิดว่าทุกคนก็ต้องตาย ก่อนจะตายดีต่อกัน ทำดีต่อกัน จะได้ไม่ต้องเสียใจได้ไหมว่า เราทำดีที่สุดกับทุกคน ถึงเขาจะจากไปเรา ก็ไม่ได้เสียดายโอกาสที่เราจะไม่ได้ทำดีกับเขา ไปโกรธเขาทำไม ไปว่าเขาทำไม เพราะเหตุว่าแล้วเขาตายแล้วก็จะมานั่งเสียใจอีก เราไปว่าเขาไว้มากมายอะไรอย่างนี้ ก็เป็นชีวิตที่เกิดจากความไม่รู้ และก็เป็นไปเพราะความไม่รู้

    อ.ธีรพันธ์ จริงๆ แล้วผู้ตายก็ ไม่รู้สึกถึงความเสียใจของผู้ที่เศร้าโศกเสียใจ และก็ไม่มีทางที่จะฟื้นกลับมาได้อีกเลย

    ท่านอาจารย์ และเสียใจเป็นขันธ์อะไร

    อ.ธีรพันธ์ เสียใจเป็นเวทนาขันธ์ความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึก เกิดแล้ว ดับแล้ว มีประโยชน์ไหม

    อ.ธีรพันธ์ ไม่มีเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะรู้ว่าการที่อกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น ไม่มีประโยชน์ แต่ต้องเป็นปัญญาที่เห็นโทษจริงๆ เพราะฉะนั้นจะไม่รู้เลย ว่าความคิดดีๆ ด้วยความเข้าใจถูกที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ถึงแม้ว่าดับไปแล้วก็สะสมอยู่ในจิต พอมีเหตุปัจจัย ก็สามารถที่จะเกิดเข้าใจอย่างนั้นคิดอย่างนั้นได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เพราะว่าเท่าที่พูดมาก็เป็นเพียงคำพูดเช่นคำว่าขันธ์ พูดได้ว่า ขันธ์หมายความถึงสิ่ง หนึ่ง สิ่งใดที่เกิดสิ่งนั้นดับ สิ่งที่ดับแล้วเป็นอดีต สิ่งที่ยังไม่ดับเป็นปัจจุบัน และสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เป็นอนาคต เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิด ต้องดับแน่ๆ ไม่อย่างนั้นไม่มีอดีต และก็ไม่มีอนาคต เพราะเหตุว่าปัจจุบันดับเป็นอดีต และอนาคตก็เกิดเป็นปัจจุบัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    31 ต.ค. 2567