ปกิณณกธรรม ตอนที่ 860


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๖๐

    สนทนาธรรม ที่ ร้านโป๊ด เรสเตอร์รอง

    วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ผู้ฟัง เป็นการที่ไม่สำรวมหรือเปล่าฮะ หากพระที่จะไปเล่นตลกหรือพูดจาตลกเหมือนคนทั่วไปอ่ะ

    อ.คำปั่น ถ้าพูดถึงการเล่นคะนองก็เป็นอาบัติ อย่างเช่นที่แสดงถึงว่าเป็นอาบัติ เพราะว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ถูก เป็นการล่วงพระวินัย ซึ่งจะเป็นเครื่องกั้นสวรรค์มรรคผลนิพพานครับ เพราะฉะนั้นที่ท่านจะถามว่า ต้องปลงอาบัติใช่ไหมก็ต้องปลงครับ เพราะว่าต้องเห็นโทษว่า นั่นแหละคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าไม่ปลงอาบัติก็มีโทษ เพราะว่าไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้ เพราะมีอาบัติเป็นเครื่องกั้น และถ้าไม่กระทำคืน ไม่ปลงอาบัตินะครับ ลาจากโลกนี้ไปก็เกิดในอบายภูมิ

    ท่านอาจารย์ ค่ะทั้งพระภิกษุ และผู้ฟัง สนุกสนานมากใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่สมควรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คือหนูดูแล้วหนูก็รู้สึกไม่สมควร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรง ความประพฤติใดๆ ที่ไม่เหมาะกับเพศบรรพชิตไม่สมควร เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์ร่วมสนุกด้วย หัวเราะกันใหญ่ใช่รึเปล่า ถูกต้องมั้ย ค่ะ เพราะฉะนั้นแม้เพียงจะดูก็ไม่ควรดู แม้ควรจะฟังก็ไม่ควรฟัง เพราะเห็นว่าไม่น่าดูไม่น่าฟัง เพราะว่าเป็นเพศบรรพชิต ไม่ได้ประพฤติตามพระวินัย

    อ.คำปั่น ถ้าพูดถึงการแสดงทำตลกนะครับ ไม่มีในพระธรรมคำสอนครับ เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนถึงพระสาวกทั้งหลายครับ มีแต่แสดงธรรมตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟัง คือความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีการกล่าวตลกใดทั้งสิ้น แต่มุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง ก็คือจะได้มีความเข้าใจธรรมอย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริงครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องถามผู้ที่กล่าวตลกอย่างนั้นนะครับ ว่าจิตในขณะนั้นมุ่งอะไร มุ่งให้คนชอบ มุ่งลาภสักการะสรรเสริญ ก็ไม่ดีไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้นแล้วครับ เป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ครับ เพราะว่าไม่ได้มุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง เพื่อที่จะได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงครับ แม้แสดงธรรมตามความเป็นจริง แต่มุ่งลาภสักการะ ก็เป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะว่าจิตขณะนั้นไม่บริสุทธิ์ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ฟังก็ไม่ควรจะสนุกนะคะ เวลาที่พระทำสนุก ต้องเห็นโทษแล้วก็ไม่คล้อยตาม ไม่ชื่นชมแต่ติเตียนได้ โพนทนาได้ ให้รู้ว่าสิ่งนั้นไม่สมควร ไม่ทราบฟังแล้วมีความเห็นยังไงบ้างนะคะ เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาค กว่าจะได้ทรงตรัสรู้ และทรงอนุเคราะห์ให้คนอื่นได้ฟัง เนี่ยนานมาก แต่ว่าไม่ได้ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ปรินิพพานแล้วนะคะ แต่ว่าคำสอนยังคงมีอยู่ เพราะฉะนั้นจะดำรงคำสอนไว้ โดยใคร ไม่เกี่ยงใช่มั้ยคะ เพราะว่าผู้ที่เห็นประโยชน์ และเห็นคุณของสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ค่ะ ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีค่าเหนือสิ่งใดนะคะ ที่ควรที่จะได้สืบต่อไป ไม่ใช่ร่วมกันทำลายโดยความไม่รู้

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดค่ะ เห็นประโยชน์แล้ว จะปล่อยให้ถูกทำลายไปหมดไป หรือว่าเห็นประโยชน์แล้วจะช่วยกันรักษา แต่วิธีรักษาไม่ใช่โดยการสร้างวัดใหญ่โต หรืออะไรอย่างนั้นเลยนะคะ เพราะเหตุว่าวัดไม่ได้มีความรู้อะไร เพราะเป็นรูปธรรม พูดไม่ได้ อธิบายไม่ได้ทั้งนั้นนะคะ มีไว้สำหรับอะไร เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาด้วยนะคะ ว่าทางเดียวที่จะดำรงคำสอนไว้ คือเข้าใจคำสอนเธอ ตราบใดที่ไม่มีคนที่จะเข้าใจคำสอนเลยนะคะ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อันตรธาน เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้เองค่ะ ไม่ต้องคอยจนถึง ๕๐๐๐ ปีนะคะ ใครก็ตามที่ไม่ได้เข้าใจธรรม หรือเข้าใจธรรมผิด พระธรรมก็อันตรธานแล้วจากผู้นั้น เพราะฉะนั้นยังคงมีพระธรรมดำรงอยู่ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจเท่านั้นค่ะ ไม่ใช่จะรักษาพระศาสนาโดยวิธีอื่น

    อ. อรรณพ ทีนี้ในการที่จะกล่าวจะแสดงตามความเป็นจริงเหล่าเนี้ยนะครับ เพื่อเจตนาที่จะรักษาพระธรรมวินัยไว้ ก็ไม่ต้องเกรงกลัวกับอะไรทั้งสิ้น แต่ไม่ด้วยความเหิมเกริมหรืออะไรนะฮะ แต่ด้วยความที่เคารพในพระธรรมครับท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ คำจริงพูดแล้วผิดหรือคะ ที่พูดมาทั้งหมดเป็นคำจริงรึเปล่า ไม่ว่าจะเรื่องของธรรม หรือเรื่องของพระวินัยก็ตามแต่ ตามที่มีในพระไตรปิฏก การกล่าวคำที่มีแล้วในพระไตรปิฏกให้เป็นที่รู้ที่เข้าใจ ผิดรึ

    อ.อรรณพ เป็นความสมควรอย่างยิ่ง ที่กระทำในหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน หรือพุทธบริษัทครับ เพราะว่าถ้าไม่กล่าวเพราะไม่รู้ ไม่ศึกษานี่ก็เป็นโทษอยู่แล้วนะครับ แต่ถ้าพอจะศึกษาพอจะเข้าใจ แต่ว่าด้วยความรักตัวเอง ด้วยความที่ไม่อยากจะให้เราได้ไปกระทบกับคนโน้นคนนี้ เดี๋ยวก็จะมีผลกับตัวเรา หรือในกลุ่มของเรา หรืออะไรที่กลัวว่ากลุ่มของเรา จะเหมือนกับไม่ได้รับการยอมรับ จากคนส่วนใหญ่ ก็เหมือนก็ไม่ได้คิดถึงพระธรรม คิดถึงตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ให้สิ่งที่ดีไม่รับแล้ว ยังว่าอีกเหรอคะ ค่ะ ก็แปลกนะคะ ให้สิ่งที่ดีแน่นอนค่ะ เป็นพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้แล้วทั้ง ๓ ปิฏกทั้งพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม และก็กล่าวข้อความที่มีให้ได้เข้าใจยิ่งขึ้น มีการสนทนาธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจถูก เพื่อที่จะดำรงความถูกต้องไว้ ถ้าทำแล้วเป็นประโยชน์ไหม แล้วทำไมไม่คิดถึงประโยชน์

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ พระบารมีนานแสนนานนะคะ บารมี ๑๐ อย่างยากที่ใครจะทำได้ และทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมให้เราเข้าใจ แล้วอะไรเป็นเครื่องสักการะ ไม่ใช่ดอกไม้ ไม่ใช่ธูปเทียน ไม่ใช่แก้วแหวนเงินทองใดๆ ทั้งสิ้นนะคะ เพราะมีพระมหากรุณาที่จะให้คนได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ ก็บูชาพระองค์ด้วย การศึกษา และเข้าใจพระธรรม นั่นจึงจะเป็นการบูชาที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ การนุ่งขาวห่มขาวของคฤหัสถ์เนี่ย ท่านอาจารย์ว่ามันได้บุญไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าใครคิดอย่างนั้น บุญอยู่ที่ผ้าขาว ไม่ใช่อยู่ที่ใจซะแล้ว

    ผู้ฟัง แต่ก่อนเนี่ย ท่านอาจารย์ครับ โป๊ดก็คิดว่าเข้าวัดไปถือศีลต้องใส่ชุดขาว หรือใส่สีดำไม่ได้ แต่พอมาเริ่มฟังพระธรรม แล้วคิดว่าเรื่องสี ไม่ใช่เรื่องของบุญไม่ใช่เรื่องกุศล แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจมากกว่า

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ถูกต้อง และเป็นจริงทั้งหมดมีในพระไตรปิฎก แต่สิ่งใดที่ไม่มีในพระไตรปิฎกมาจากใคร ผู้ที่ยังมีกิเลส เพราะฉะนั้นก็เข้าใจผิดคลาดเคลื่อนนะคะ ไม่มีข้อความในพระไตรปิฏกที่ว่า เมื่อจะไปเฝ้าฟังพระธรรมต้องใส่สีขาวไม่มีเลย ใครก็ได้ค่ะสีไหนก็ได้ แต่ถ้าใส่สีขาว แล้วไม่เข้าใจธรรมใส่ทำไม ต้องเพราะอยากใส่ และก็รู้ด้วยว่า เพียงใส่ไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ เพราะขณะที่ใส่ ก็ต้องการแล้วค่ะ ถ้าไม่ต้องการก็ไม่ใส่ ใส่สีอะไรก็ได้เข้าใจธรรมได้

    ผู้ฟัง เกิดมาเป็นมนุษย์เนี่ย แล้วก็ทานอาหารที่ ๓ มื้อ แต่คนบางคนก็ทานที่มื้อเดียว แต่ลิ้นนที่เราได้ลิ้มรสอาหารอันอร่อย เรามีความรู้สึกว่าเราอยากทานต่อ อันนั้นมันเป็นตัวกิเลสใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ อยากต้องเป็นกิเลสแน่ค่ะ ท่านพระสารีบุตรนะคะ ก็ได้กล่าวว่า ก่อนจะอิ่ม ๔ ๕ คำก็ควรจะดื่มน้ำจะได้อิ่มไปเลยนะคะ แต่เราอิ่มแล้วต่ออีก ๕ ๖ คำ เพียงแค่จะลดลงก็ยากใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นความเป็นตัวตนเนี่ย เราไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างนี่ค่ะ ทรงแสดงไว้ว่าเป็นปัญญาเท่านั้นที่สามารถที่จะนำไปในกิจทั้งปวง แม้จะมีข้อความว่านะคะ รู้ประมาณในการบริโภค ไม่ได้สั่ง ไม่ได้ ห้าม ไม่ได้บอก ว่าจะต้องทำอย่างนั้นนะคะ แต่ผู้มีปัญญารู้เลยว่า บริโภคเพราะกิเลสใช่ไหม อิ่มแล้วต่ออีก ๕ คำ เพราะกิเลสใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นแล้วค่ะ ว่าที่จะบริโภคมากหรือน้อยเนี่ย รู้ประมาณในการบริโภค คือสามารถที่จะเห็นความจริงในขณะที่กำลังบริโภคว่าขณะนั้นน่ะ มีกิเลสมากน้อยแค่ไหน และกิเลสนั้นจะหมดได้อย่างไร ต่อเมื่อขณะนั้นรู้ว่าไม่ใช่เรา ใครห้ามโลภะได้ ใครห้ามโทสะได้ แต่ว่าปัญญานำไปในกิจทั้งปวงรู้เลยค่ะว่า เพราะกิเลสจึงได้บริโภคมากอย่างนั้น

    อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ตรงนี้นะครับ ว่าจริงจริงแล้วเนี่ยกิเลสที่มีกำลัง และเป็นโทษมีมากมายเนี่ยนะฮะ แต่พระองค์ท่านเนี่ย ทรงให้ความสำคัญกับการรู้จักประมาณในการบริโภคเนี่ยมาก ถึงขนาดพระองค์ทรงพิจารณาว่า ถ้าหากจะบัญญัติ ปาราชิกข้อที่ ๕ ได้ก็จะบัญญัติข้อนี้แหละว่า ถ้าเป็นภิกษุแล้วบริโภคโดยที่ไม่ได้พิจารณา ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคเนี่ย ควรจะปาราชิก หมดความเป็นภิกษุไป ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการบริโภคก็ไม่ได้ ทำให้คนอื่นเดือดร้อนนะฮะ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นอย่าลืมนะคะ ดูเหมือนว่ากิเลสไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใครใช่ไหม แต่ความจริงกิเลสเท่านั้นที่ทำร้ายจิต อย่างอื่นไม่สามารถที่จะทำร้ายจิตได้เลย แล้วจะสังเกตได้นะคะ ถ้ามีปัญญาจะบริโภคตามที่สมควรจริงๆ ค่ะ แล้วแต่กำลังของปัญญาด้วย แต่ในขณะเดียวกันนะคะ บริโภคมากหรือน้อยเนี่ย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้นหนทางเดียวคือปัญญาเท่านั้น ที่ขณะนั้นสามารถที่จะรู้ลักษณะของธรรมไม่ใช่เรา ถ้ามิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะคลายกิเลส หรือดับกิเลสได้เลย

    อ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ครับ ๔ ข้อแรกเนี่ย สมควรที่จะปราชิก อย่างเช่น ขโมย หรือไปฆ่า หรืออะไรทั้งหลายเนี่ยชัดเจน แต่การที่เมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ซึ่งอาจจะรวมคฤหัสถ์ด้วย แล้วก็ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคเนี่ย ไม่สมควรจะเป็นบรรพชิต ถ้าบัญญัติได้ แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงบัญญัตินะครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องบริโภค และเวลาที่บริโภคอาหารนะคะ ก็เพลินไปทั้งทางตา อาหารไม่น่ารับประทานเลย ไม่อยากรับประทานด้วย ใช่ไหมคะ แต่ถ้าจัดสวยอย่างดี ดูน่ารับประทานมาแล้วค่ะทางตา ติดข้องละ อย่างอื่นอาจจะไม่พร้อมกันนะคะ แต่อาหารนี่ทั้งทางตาที่เห็น แล้วก็ถ้ามีเสียงดนตรีไทยเพราะๆ บางคนก็อาจจะยิ่งสบายใจ ใช่ไหมคะ และก็กลิ่นของอาหารบอกเลย อาหารนี้ กลิ่นเป็นยังไงแล้วรสด้วย และกระทบสัมผัสนะคะ แข็งไปก็ไม่ได้ ต้องกรอบ หรือนิ่ม หรือกำลังพอดี นี่แสดงว่าทั้งหมดเลยค่ะ แล้วก็จำเป็นต้องบริโภค ถ้าเป็นอย่างอื่นนะคะ เราเว้นไม่ทำได้ แต่ใครเว้นไม่รับประทานอาหารได้ไหม เมื่อไม่ได้ก็บริโภคด้วยความติดข้องทั้งหมดเลยครบถ้วน เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น เกิดมาก็อาหารจำเป็นละ ยังไม่ทันจะติดข้องอย่างอื่นมากมายใช่ไหมคะ ยังเป็นเด็กเล็กๆ เนี่ยเพิ่งเกิดมาวันเดียว ก็ต้องบริโภคละ แล้วก็ยิ่งเติบโตขึ้นทุกวัน ความติดข้องก็เพิ่มขึ้น หรือใกล้ที่จะสิ้นชีวิตอายุมากแล้วนี่นะคะ ก็ยังติดข้องในอาหารด้วย อย่างอื่นอาจจะติดข้องน้อยลง ลดลงไปแต่อาหารก็ยังต้องรับประทาน อันนี้ไม่อร่อยเห็นไหมคะ ก็ยังจะต้องอร่อยอีก ลืมว่าบริโภคเพียงเพื่อมีชีวิตอยู่

    อ.อรรณพ การติดข้องในรสนี่นะครับ นั้นด้วยอกุศล แต่พระองค์ท่านก็ทรงแสดงการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะที่มีการบริโภคนี่ พระองค์ท่านทรงแสดงว่า สามารถที่จะเป็นปัญญาเนี่ยได้ทั้งที่เป็นการรู้สภาพธรรม แต่ละลักษณะประจักษ์แจ้งเป็นเอกปริญญาด้วย แล้วก็สามารถรู้รอบรู้ทั่วเป็นสัพพปริญญาด้วยหรือเปล่า กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่เฉพาะอาหารเรื่องเดียวนะคะ แต่สังเกตได้จากผู้ที่ได้เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ความติดข้องลดน้อยลง แต่ไม่ต้องไปคิดกะเกณฑ์อะไรนะคะ แต่ถ้าพยามเหลือเกินที่จะให้ไม่ต้องการอย่างนั้น ไม่ต้องการอย่างนี้ แต่ยังมีกิเลสอยู่ก็ต้องเป็นไปตามกิเลส แต่ทั้งๆ ที่ติดยังคงติดนะคะ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นผู้ที่ทนได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้เลยค่ะ แต่ละคำในพระไตรปิฏกนะคะ เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด เช่นทนต่อความร้อนความหนาว ฟังดูไม่เห็นยากเลยใช่ไหมคะ เขาก็ทนกันได้ หนาวเขาก็ไม่ห่มผ้าก็มีใช่ไหมคะ ร้อนเขาก็ทนได้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทนได้คิดว่าดีแล้วแต่ยังมีกิเลส เพราะฉะนั้นทนร้อนทนหนาวได้ เพื่อที่จะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ทนดีกว่าใช่ไหมคะ ดีกว่าเป็นเราแล้วทน แต่ปัญญาที่รู้ว่าทน เพราะเหตุว่าจะเดือดร้อนทำไม ในเมื่อเดือดร้อนก็เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญญาแล้วนะคะ ก็สามารถที่จะทนได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจากอะไรทั้งสิ้นความร้อนความหนาว อาหารไม่อร่อย หรืออะไรต่างๆ เนี่ย ก็ค่อยๆ ลดน้อยลงไป ตามกำลังของปัญญา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ค่ะ ว่าผู้ที่อดทนได้อย่าอดทนเพียงแค่หนาวร้อน หรืออาหารที่อร่อยหรือไม่อร่อยนะคะ แต่อดทนที่จะรู้ความจริงว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่ทรงแสดงเพียงแค่ ให้อดทนหนาวร้อน แต่ว่ามากยิ่งกว่านั้น ก็คือว่าคนอดทนต่อการที่จะเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าบางคนนะคะ พอได้ยินเสียงใครติ ใครว่าโกรธละ แต่ว่าผู้ที่มีปัญญานะคะ อดทนต่อคำที่เขากล่าวถึงในทางที่ไม่น่าพอใจได้ เพราะเหตุว่าปัญญาก็รู้ตามความเป็นจริง ว่าแท้ที่จริงแล้วนะคะ โกรธไม่ได้ทำร้ายคนที่เค้าว่าเรา แต่ว่าทำร้ายผู้โกรธในขณะนั้น ถ้าเราโกรธเมื่อใดเมื่อนั้นก็คือว่าถูกทำร้ายด้วยกิเลส

    อ.อรรณพ เพียงแต่ว่าที่ท่านแสดงไว้ว่า ถ้าปัญญาพิจารณาในเรื่องอาหารเนี่ย ก็ครอบคลุมหมดก็คือเพราะว่ามีทั้งลิ้น ทางอะไรก็รวมด้วยนะฮะ แล้วก็มีทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อะไรต่างๆ เรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการรับประทาน และการติดในอาหาร

    ท่านอาจารย์ ค่ะ อาหารอร่อยอดทนไม่รับประทานได้มั้ยคะ เห็นไหมคะความอดทน ไม่ใช่แค่อดทนเรื่องเดียวคือหนาว และร้อน อดทนต่อไม่มีกิเลส หรือว่าละคลายกิเลส และอดทนที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ถ้าโกรธนะคะ ทุกคนไม่อยากโกรธ หาทางไม่โกรธ แต่ลืมที่จะรู้ว่าที่ถูกต้องนะคะ ไม่ใช่ว่าไม่อยากจะโกรธ หาทางไม่โกรธ แต่รู้ว่าขณะนั้นโกรธเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ทั้งหมดนี่ค่ะต้องประมวลมาสู่ธรรมที่กำลังปรากฏ ทุกอย่างเป็นธรรม อดทนที่จะไม่โกรธ อดทนที่จะไม่รัก อดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่างนะคะ เพราะขณะนั้นก็คือไม่ยินร้ายก็ยินดี เพราะฉะนั้นอดทนทั้งยินดี และยินร้าย

    สนทนาธรรมที่ราวินโฮมรีสอร์ทจังหวัดนครนายก

    วันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ ธรรมที่ท่านอาจารย์ ให้ความเข้าใจกับพวกเรา จากที่ท่านอาจารย์ได้ไปร่วมสนทนากับทางเวียดนาม ที่เราสามารถจะร่วมทราบ และเข้าใจด้วยค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะแต่ละที่แต่ละแห่งก็หลากหลาย ถึงสนทนาธรรมวันนี้ก็ต้องหลากหลายจากที่อื่น แต่ไม่ว่าจะที่ไหนค่ะก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเราคงจะไม่ต้องไปตามว่า ที่โน่นพูดว่ายังไง ที่นี่พูดว่ายังไงนะคะ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ลืมก็คือว่า เมื่อไหร่ที่เราไม่ได้ฟังธรรม เราก็ลืมธรรมซึ่งกำลังมี เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนี้ค่ะ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์อื่นเลยนะคะ แต่เพราะรู้ว่าไม่รู้มานานแสนนาน ประมาณไม่ได้เลยว่าแค่ไหน และสิ่งที่ไม่รู้ก็คือสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้แหละ ไม่ว่าเมื่อไหร่คือไม่รู้เห็นที่กำลังเห็น ไม่รู้ได้ยินที่กำลังได้ยิน ไม่รู้คิดนึกที่กำลังคิดนึก ไม่รู้ตั้งแต่เกิดจนตายเนี่ยนะคะ มีอะไรบ้างวันก่อนๆ ก็ช่างเถอะ แล้ววันนี้ล่ะ ตั้งแต่เช้านะคะ เห็นก็เหมือนเมื่อวานนี้ เหมือนแสนโกฏกัปป์มาแล้ว ก็ยังเป็นเห็นซึ่งยังคงไม่รู้

    เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่ไม่ประมาทเลยนะคะ ว่าสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ค่ะรู้ยาก เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้สภาพธรรมซึ่งลึกซึ้ง และก็เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก เพราะเหตุว่าขณะนี้ค่ะ มีสิ่งที่ปรากฏนิดเดียวเลยไปละ ถึงคน ถึงเรื่องราวต่างๆ ล้วนแต่มีเห็นแล้วก็มีคิด สลับกันไปตลอดเวลานะคะ ทำให้จำด้วยความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเหมือนเที่ยง เหมือนยั่งยืน กว่าจะเข้าถึงคำแต่ละคำนี่ค่ะ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ขณะนี้ปรากฏ สิ่งนั้นต้องเกิด เกิดแล้วต้องดับ นี่คือสิ่งซึ่งฟังแล้วนะคะ เข้าใจ แต่กว่าจะเข้าใจ ถึงสิ่งที่กำลังเกิดดับจริงๆ ให้รู้ว่าที่ฟังเนี่ยไม่ได้ฟังเรื่องไร้สาระ ไม่ได้ฟังเรื่องสิ่งที่เป็นเท็จนะคะ แต่เป็นสิ่งที่กำลังเป็นจริงอย่างนี้ แต่ปัญญายังไม่ถึงระดับที่สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นธรรม ที่กำลังเกิดดับ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของบารมีนะคะ คือกุศลทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเกิดแทนอกุศลทั้งหลาย ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดมากเหลือเกินค่ะ วันนี้อกุศลเกิดมากแต่ไม่รู้ แต่ว่าเวลาฟังธรรมหรือเข้าใจธรรม เปรียบไม่ได้เลยกับอกุศลในวันนี้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นประโยชน์อย่างยิ่งนะคะ ก็รู้ว่าธรรมทั้งหมดนี่ค่ะ มีประโยชน์ที่จะทำให้ไม่เสียหลายที่มีเสียงปรากฏให้ได้ยิน และเข้าใจ ไม่ยังงั้นก็เปล่าไปเปล่าไป คือไม่ได้มีการเข้าใจความจริง ของสิ่งที่มีเลย แต่เสียงซึ่งกล่าวถึงคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ดีแล้ว แม้ว่าจะนานสักเท่าไหร่นะคะ ก็เป็นความจริงซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเหตุว่าจริงถึงที่สุด คือสภาพธรรมเป็นธรรม แม้แต่คำว่าธรรม ได้ยิน และก็ผ่านไปไม่รู้ว่า ธรรมอะไรคืออะไรนะคะ แต่ถ้าภาษาธรรมดาไม่ว่าจะภาษาของชาติไหนก็ตาม ก็รู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง ถ้าไม่มีจริง เราจะพูดถึงทำไม เสียเวลาพูดถึงเรื่องที่ไม่มี แต่เพราะมี แต่ไม่เคยรู้เลยนะคะ แม้แต่สักคำเดียวเช่นคำว่าธรรม ถ้าถามคนที่ไม่เคยได้ฟัง ด้วยความเข้าใจ เขาก็จะไปพูดว่าธรรมคืออย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหมคะ แต่ว่าอย่างนั้นอย่างนี้คืออะไร ก็ต้องเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งขณะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้นเรากำลังพูดถึงทุกคำ ที่มีในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะพูดคำว่าธรรม ไม่ว่าจะพูดคำว่าธาตุ หรือธาตุ ไม่ได้จะพูดถึงอายตน ถึงอริยสัจจ ถึงปฏิจสมุปปาท ถึงอะไรทั้งหมด ก็คือพูดถึงสิ่งที่มีจริง โดยนัยต่างๆ ให้ค่อยๆ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งจะเริ่มเห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ เมื่อได้เข้าใจธรรม มิฉะนั้นได้ยินแต่ชื่อแล้วก็อยู่ห่างไกล ไม่ได้เข้าใกล้พระธรรม แต่ว่าขณะใดก็ตามที่ฟังแล้วเริ่มรู้ว่า พระธรรมคือสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้แหละ แล้วก็มีทุกขณะด้วย เปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ แต่กว่าจะค่อยๆ เข้าใจตามความเป็นจริงนี่ค่ะ ต้องเป็นผู้ที่อดทนจึงมีขันติบารมี เพราะว่ารู้เดี๋ยวนี้ได้ไหม ไม่มีทาง อีกร้อยชาติ รู้ได้ไหม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า อีกร้อยปีอีกพันปีร้อยชาติพันชาตินะคะ แต่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจถูกในคำที่ได้ฟัง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    21 มิ.ย. 2567