ปกิณณกธรรม ตอนที่ 843


    ตอนที่ ๘๔๓

    สนทนาธรรม ที่ บ้านเหนือน้ำ จ.ปทุมธานี

    วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดต้องดับแน่ๆ ไม่อย่างนั้นไม่มีอดีต และก็ไม่มีอนาคต เพราะเหตุว่าปัจจุบันดับเป็นอดีต และอนาคตก็เกิดเป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอย แต่ว่าเป็นสิ่งที่ฟังแล้วกว่าจะรู้จัก"ขันธ์" ตามความเป็นจริง พูดได้ เข้าใจได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าขันธ์ คือเดี๋ยวนี้ เพราะเกิดแล้วดับ และการที่เราจะเข้าใจว่ามี ๕ ขันธ์ รูปขันธ์ สภาพของธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรเลย มีถึง ๒๘ คือจำนวนอะไรก็ไม่สำคัญ แต่ให้มั่นคง สภาพธรรมที่เกิดแล้วไม่รู้ มีจริง เกิดแล้วก็ดับไปแล้วด้วย เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจในการเกิด และดับไปจริงๆ แม้สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับเพราะไม่รู้ จึงมีความยึดถือ จึงมีการใช้คำว่า อุปาทานขันธ์ หมายความว่า ขันธ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความยึดถือ เป็นที่ตั้งของความติดข้อง แม้แต่รูปทั้งหลายก็เป็นที่ตั้งของความติดข้อง ตั้งแต่ลืมตาแสวงหารูป จริงไหม เพราะอะไร เพราะมีรูป ถ้าไม่มีรูปจะแสวงหาไหม ไม่ แต่เพราะเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ จึงอยากเห็นอีก เวลาที่ลิ้มรสอาหาร ก็มีความยินดีติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ สิ่งนั้นดับไปแล้ว แต่สภาพจำ ก็จำแล้วว่าสิ่งนั้นอร่อยรสนั้นดี เพราะฉะนั้นแสวงหาอีก

    เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมด ซึ่งสามารถที่จะจำแนก นามธรรม และรูปธรรมได้ ให้ละเอียดขึ้นตามการยึดถือว่า ความยึดถือที่มั่นคงทุกชาติมีในอะไรบ้าง ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เกิดดับเพราะไม่รู้ ก็ยึดถือ รูปเกิด และก็ดับ แต่ก็ไม่ปรากฏการเกิดดับของรูปไม่ว่ารูปใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งภายในคือที่ร่างกายของเรา หรือภายนอกที่อื่น สภาพธรรมที่เป็นรูปเกิดแล้วเป็นรูป แล้วก็ดับไป ที่กายมีแข็งมีอ่อน ข้างนอกก็แข็งหรืออ่อน ทำไมยึดถือแข็งอ่อนที่นี่ว่าเป็นเรา แต่ไม่ยึดถือแข็งอ่อนข้างนอกว่าเป็นเรา ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นทั้งภายใน และภายนอก ถ้าเป็นรูปที่เกิดจากกรรมเกิดจากจิตพวกนี้อีกมาก เป็นสิ่งซึ่งไม่รู้ทั้งนั้น จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมละเอียดขึ้น ก็จะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปแต่ถูกปกปิดด้วยอวิชชา และความติดข้อง โลภะ ทำให้ไม่เห็นความจริงของสิ่งที่กำลังเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะพูดถึงคำใดก็ควรที่จะได้รู้ เมื่อพูดถึงคำว่าขันธ์ ก็หมายความถึงธรรมที่เกิดนั่นเอง คือนามธรรม รูปธรรม เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่า ขันธ์ มี ๕ ตามการยึดถือ ขันธ์ ๑ คือรูปขันธ์ อีก ๔ ขันธ์เป็นนามขันธ์ ได้ไหม ไม่พูด ๕ แต่พูด ๑ กับ ๔ ได้ไหม ก็ได้ ใช่ไหม เพราะเหตุเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง รู้ว่านามขันธ์ ๔ ไม่แยกจากกันเลย เพราะว่า เวทนาขันธ์เป็นเจตสิก สัญญาขันธ์เป็นเจตสิก สังขารขันธ์เป็นเจตสิก ๕๐ ประเภท เว้นเวทนา และสัญญา และจิตเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นก็ทั้งจิต และเจตสิกทั้งหมดที่เกิดดับ ทั้งรูปด้วย เป็นขันธ์ เพราะฉะนั้น มีการติดข้องยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ แต่ขันธ์ทั้ง ๕ ก็แยกเป็นรูปขันธ์ ๑ และนามขันธ์ ๔ ถ้าสะสมความเข้าใจถูก ขณะนั้นก็จะมีการคิดนึกในทางที่ถูกได้ เช่น ทันทีที่บุคคลซึ่งเป็นที่รักสิ้นชีวิต หมายความถึง จิตขณะสุดท้ายของชาตินั้นดับ แล้วก็มีจิตขณะต่อไปเกิดทันที เราคิดถึงแต่ตาย ส่วนอีกครอบครัวหนึ่ง ตื่นเต้นดีใจว่าเขาเกิดกลายเป็นคนใหม่เลย ของใครก็ไม่รู้ใช่ไหม เดิมเป็นของเราพี่เราน้องเราในชาตินี้ แต่พอสิ้นชีวิตทันทีไม่ใช่ของเรา เป็นของใครต่อไปอีก แล้วเขาเกิดด้วย ไม่ให้เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจะยินดี หรือจะเสียใจ ทั่วไปพอสูญเสียบุคคลซึ่งเป็นที่รักเสียใจ พอได้สิ่งที่เป็นที่รักก็ดีใจ ก็ไม่พ้นไปเลยเพราะความไม่รู้

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามว่าบัญญัติไม่เกิด ดับ ก็รู้ทางมโนทวาร แล้วนิพพานก็ไม่เกิด ดับ ก็รู้ทางมโนทวาร ไม่ทราบว่าต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ บัญญัติคืออะไร พูดแต่ละคำต้องเข้าใจถูกต้องในคำที่พูด

    ผู้ฟัง สิ่งที่ไม่จริง

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ไม่จริงคืออะไร

    ผู้ฟัง บัญญัติคิดเอาเอง

    ท่านอาจารย์ คืออะไร อะไรที่คิดเอง ได้ยินคำว่าบัญญัติ ก็พูดคำว่าบัญญัติ แต่ไม่พอ ได้ยินคำว่าบัญญัติ ต้องรู้ว่าบัญญัติคืออะไรอย่างมั่นคง นี่คือการฟังธรรมด้วยความเข้าใจ ต้องมั่นคง เพราะฉะนั้น บัญญัติคืออะไร มั่นคงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คือสิ่งที่เราคิดเอาเอง ซึ่งไม่มีจริง เช่น สัตว์ บุคคล

    ท่านอาจารย์ สัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น สัตว์ บุคคลเป็นบัญญัติใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่นอาจารย์ ถ้าไม่มีธรรมใดๆ เลยทั้งสิ้นจะมี สัตว์ บุคคลไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความจริงอะไรมี อะไรไม่มี

    ผู้ฟัง ปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม คืออะไร

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร ใช้คำว่า ปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ก็คือสิ่งที่รู้ได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อครู่นี้พูดถึงคำว่าธรรม และตอนนี้เราจะพูดถึงคำว่าปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจแต่ละคำให้ถูกต้อง ธรรมคือสิ่งที่มีจริง แล้วปรมัตถธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นพูดคำว่าธรรม ไม่ต้องพูดคำว่าปรมัตถธรรม ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมพูดว่า ปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ก็ได้ศึกษามา

    ท่นอาจารย์ ไม่พอ ศึกษาฟังเฉยๆ ไม่ได้ ต้องเข้าใจความหมายด้วย ปรมะ ใหญ่ ยิ่ง อัตถะ สภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ต้องมีลักษณะจึงสามารถที่จะกล่าวถึงธรรมนั้นได้ แต่ถ้าไม่มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นจะเอาคำอะไรมากล่าว เพื่อที่จะให้รู้ว่าหมายความถึง สภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมด ที่มีจริงแน่นอน เป็นปรมัตถธรรมหมายความว่า"ธรรม"นั่นเอง ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้อัตถะ คือลักษณะของสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ต้องเป็นอย่างนั้น โกรธไม่ใช่รัก เพราะฉะนั้นโกรธเป็นธรรม รักเป็นธรรม ทั้ง ๒ อย่างไม่สามารถจะมีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย แต่ละหนึ่ง ต้องเป็นแต่ละหนึ่ง นั่นคือปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นจากคำเดียว คือคำว่าธรรม ก็เริ่มที่จะเข้าใจมั่นคงขึ้นว่า ธรรมเป็นสิ่งซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีคนบอกว่าเขาจะฟังธรรม แต่เขาไม่ฟังปรมัตถธรรมถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ผิด

    ท่านอาจารย์ แต่มีหลายคนที่เข้าใจว่า ธรรม ต่างกับ ปรมัตถธรรม และก็บอกว่า ธรรมเป็นธรรม เขาจะศึกษาธรรมแต่เขาไม่ศึกษา ปรมัตถธรรมแสดงว่าคนนั้นไม่ได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่พูดต้องเข้าใจมั่นคง เพราะฉะนั้นบัญญัติคืออะไร

    ผู้ฟัง บัญญัติก็คือสิ่งที่เราเข้าใจผิดว่า

    ท่านอาจารย์ เข้าใจอะไรผิด

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่เที่ยง มีจริง แล้วก็ไม่เกิด ดับ

    ท่านอาจารย์ อะไรเที่ยง มีจริง ไม่เกิด ดับ

    ผู้ฟัง ก็คิดว่าตัวตนของเรานี่แหละเที่ยง แล้วก็มีจริงไม่เกิดดับ แล้วก็บังคับบัญชาได้ด้วย

    ท่านอาจารย์ ตัวตนคืออะไร มีตัวตนหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี แต่ว่าเราคิดว่ามี

    ท่านอาจารย์ คิดว่าอะไรมี ที่ว่าเป็นตัวตนเป็นอะไร คิดว่าอะไรเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ก็รูปนาม

    ท่านอาจารย์ รูปคืออะไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่ไม่รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ แล้วมีจริงไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้างที่เป็นรูป

    ผู้ฟัง สี เสียง กลิ่น รส

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรูปธรรม หมายความถึง สิ่งที่มีจริงทั้งหมด เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทั้งหมดเลย มองเห็นรูปไหม

    ผู้ฟัง เห็นเฉพาะสี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏ แต่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตา ขณะนี้มี แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้ ที่เห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ปรากฏไม่ได้เลยแน่นอน ทันทีที่หลับตา ก็ไม่มี แล้วหายไปหมด หายไปเลย หายไปได้อย่างไร แต่พอลืมตา ก็มีอีกแล้ว มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ สีสันวรรณะต่างๆ เพราะฉะนั้นก็จำว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใดตามรูปร่างสัณฐานซึ่งเพราะสีต่างๆ ทำให้เกิดเป็นรูปต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง เป็นปรมัตถ์ธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีบัญญัติไหม

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็นสีไม่มีบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ มีแต่ปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่กำลังเห็นขณะนี้เดี๋ยวนี้ มีบัญญัติไหม

    ผู้ฟัง หลังจากเห็นแล้วก็มี

    ท่านอาจารย์ รู้หรือ

    ผู้ฟัง ก็คิด

    ท่านอาจารย์ คิดหรือฟังเข้าใจ ความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ต้องฟังเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องฟังเข้าใจ นี่เริ่มเห็นความต่าง สิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงหลับตาไม่มี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏขณะที่ลืมตา และเห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ต้องมั่นคงว่าอย่างหนึ่ง คือเป็นอื่นไม่ได้เลยเป็นแต่เพียงสิ่งที่สามารถปรากฏว่ามีเมื่อเห็น แต่ถ้าไม่มีเห็นสิ่งนี้จะปรากฏว่ามีไม่ได้เลย มั่นคงหรือยัง

    ผู้ฟัง เข้าใจแต่ยังไม่มั่นคง

    ท่านอาจารย์ ไม่มั่นคงคือ

    ผู้ฟัง ก็ยังคิดผิดๆ อยู่เรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตัดสิ่งที่ผิดออก มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น มั่นคงไหม เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น รู้อะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ และขณะนั้นต้องมีสภาพเห็นจึงมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเดี่ยวนี้ได้

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ มั่นคงไหม

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏ กับเห็น ไม่ใช่สิ่งเดียวกันมั่นคงไหม

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ มั่นคง เพราะฉะนั้นขณะนี้เริ่มเข้าใจว่าเปลี่ยนเห็น ให้เป็นอื่นไม่ได้ มั่นคงไหม

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนสิ่งที่ปรากฏทางตา ให้เป็นอื่นไม่ได้ มั่นคงไหม

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นไม่ใช่เรา เห็นเพียงเป็นสภาพรู้ธาตุรู้มีจริงๆ เพราะเกิดแล้ว ไม่มีใครไปทำให้เกิดเลย แต่เกิดแล้วกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เรา มั่นคงไหม

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความเข้าใจอย่างมั่นคงนี้ เมื่อมีการฟังธรรมต่อไปความเข้าใจเพิ่มขึ้น ความมั่นคงว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ก็มั่นคง ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ต้องเรียกชื่อได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เห็น ไม่ต้องเรียกว่า เห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ต้องเรียกว่าสิ่งที่ปรากฏ ให้เห็นได้ ก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นทั้งสองอย่างนี้มีจริง เกิดดับไหม เกิดเร็วมากไหม

    ผู้ฟัง เร็วจนนับไม่ไหว

    ท่านอาจารย์ เร็วจนกระทั่งสิ่งที่ปรากฏ ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ หลากหลายจริงไหม

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานก็จำว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด เพราะไม่รู้ความจริงว่าต้องมีธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา สืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งทำให้เข้าใจในรูปร่างสัณฐานที่ปรากฏเป็น นิมิตตะ ของสิ่งที่เกิดดับอย่างเร็ว และจำไว้ว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด นั่นคือ บัญญัติ ปัญญัตติหมายความว่า รู้ได้โดยอาการนั้นๆ ถ้าเห็นดอกกุหลาบจะเข้าใจว่าเป็นโต๊ะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เปล่า

    ท่านอาจารย์ เปล่า เพราะรู้ได้โดยอาการนั้นๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อจนกระทั่งปรากฏเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด โต๊ะเป็นโต๊ะ ดอกไม้เป็นดอกไม้ เพราะฉะนั้นความจริงก็คือ รูปธรรม เพราะว่าดอกไม้ก็ไม่รู้อะไร โต๊ะก็ไม่รู้อะไร แต่ความจริงที่เรียกว่าเป็นดอกไม้ มีรูปหลายรูปซึ่งเกิดรวมกัน ที่ชื่อว่าเป็นโต๊ะก็มีรูปหลายรูปซึ่งเกิดรวมกัน เพราะฉะนั้นจะรู้แน่นอนว่าเป็นธรรมก็ต่อเมื่อรู้แต่ละหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่รวมกันแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีธรรมแต่ละหนึ่ง เกิดดับสืบต่อจนปรากฏเป็นนิมิตตะ รูปร่างสัณฐานต่างๆ ปัญญัตติความเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใดโดยอาการที่ปรากฏก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจว่าบัญญัติมีจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม บัญญัติก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อปรมัตถธรรมเกิดดับอย่างเร็วมาก ทำให้ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ จิตจึงสามารถที่จะจำ และรู้ได้โดยอาการที่ปรากฏ ว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใดเมื่อเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็คือบัญญัติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติเป็นอารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นก มีบัญญัติเป็นอารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะ จิตเห็น จิตได้ยิน แต่ขณะนี้ซึ่งจิตเห็นเกิดดับ สลับไม่ถ้วน ก็มีรูปร่างสัณฐานต่างๆ เพราะฉะนั้นก็ทำให้จิตซึ่งไม่ใช่จิตเห็น คิดถึงรูปร่างสัณฐาน และก็จำไว้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นชาวโลกก็รู้บัญญัติของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ สืบต่อปรากฏเป็นอาการของสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ไม่เห็น จะนึกถึงนิพพานไหม

    ผู้ฟัง นิพพานไม่เกิดดับ ได้ยินมา แต่ยังไม่รู้ว่านิพพานคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพียงได้ยินชื่อ ได้ยินชื่อนิพพานมาว่า ไม่เกิดดับ เดี๋ยวนี้มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ จิตทำอะไรอยู่

    ผู้ฟัง ก็เห็น ได้ยิน คิดนึก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะที่เห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มีนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะที่ได้ยินได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ ต้องเป็นโลกุตตรจิต

    ท่านอาจารย์ นิพพาน จะเป็นกิเลสหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกิเลสจะดับได้เมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อรู้ความจริง

    ท่านอาจารย์ รู้ความจริงของอะไร

    ผู้ฟัง ของปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ ของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ตามลำดับขั้นของความรู้ จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ จึงจะรู้แจ้งลักษณะของนิพพาน ดับหมดไม่เกิดอีกเลยสำหรับกิเลสประเภทที่ดับแล้ว อยากไปนิพพานหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็อยาก อยากเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ อยากหรือ อยากไปนิพพานเลย

    ผู้ฟัง อยากดับกิเลสให้หมด เพื่อเป็นนิพพาน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอยากมีนิพพานเป็นอารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง เพราะว่าอยากก็จะดับกิเลสหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอยากมี หรือไม่อยากมี ทุกคนต้องเป็นผู้ที่ตรง กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้ มีเห็นมีได้ยิน อยากมีนิพพานเป็นอารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง คิดว่าอยาก

    ท่านอาจารย์ อยากแล้วใช่ไหม อยากมีนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏนี้ยังไม่เข้าใจเลย ต้องเข้าใจสิ่งนี้ก่อน แน่นอนที่สิ่งที่มีแล้วไม่รู้แล้ว จะไปมีอะไรขึ้นมา รู้ได้ยังไง ธรรมเป็นเรื่องตรง และก็เป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่เป็นเรื่องนำคนไปไหนก็ไม่รู้ แต่สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ไม่เข้าใจ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระอรหันต์สัมมาสัมเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อรู้ เพื่อให้คนอื่นรู้ถูก เห็นถูกเข้าใจถูก ต้องไม่ลืม เพราะฉะนั้นคนฟังต้องเห็นถูก เข้าใจถูกเมื่อได้ฟังธรรมแต่ละคำมั่นคงขึ้น ตอนนี้อยากมีนิพพานเป็นอารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง ไม่อยาก เพราะเป็นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ก็คือทราบมาว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส กระทบสัมผัสนี่เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ เขาบอก หรือเราเข้าใจ

    ผู้ฟัง ฟังธรรม มาว่า

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรม มาว่า วิบากคือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น แล้วเห็นคืออะไร

    ผู้ฟัง เป็นจิต เป็นจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลานี้ทุกคนรู้ว่าจิตกำลังทำอะไร จิตไม่ได้อยู่ข้างนอกไปเที่ยวที่ไหน แต่เห็นเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นนั้นคือ ธาตุรู้ซึ่งเราใช้คำว่าจิต เพราะเหตุว่า เป็นธาตุที่เกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นจิตนี้มีมากมายหลายประเภท เกิดขึ้นต่างๆ กัน ก่อนอื่นต้องให้มีพื้นฐานที่มั่นคง ว่าจิตไม่มีจิตเดียว ไม่ใช่จิตนั่นแหล่ะตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เกิดไปดับไป แต่ว่าจิตที่เกิดขึ้น ไม่ได้รอมาก่อนเลย เมื่อมีเหตุปัจจัยเมื่อไหร่จึงเกิด และเหตุปัจจัยของจิตแต่ละประเภทก็ต้องต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ ในวันหนึ่ง วันหนึ่ง จึงมีจิตมากมายหลายประเภท เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงวิบาก วิบากเป็นจิต เพราะฉะนั้นตอนนี้ทุกคนรู้ว่ามีจิต ที่อยู่ที่นี่ไม่มีจิตมีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตก็ไม่อยู่ในห้องนี้แน่ใช่ไหม เพราะฉะนั้นทุกท่านที่อยู่ที่นี่มีจิต แต่ยังไม่รู้ความละเอียด และจิตเดี๋ยวนี้ทำอะไรต้องรู้ก่อนใช่ไหม ไม่อย่างงั้นก็เป็นเรา เพราะฉะนั้นเห็นขณะนี้เป็นอะไรทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

    ผู้ฟัง เป็นจิต จิตทำหน้าที่เห็น

    ท่านอาจารย์ จิตทำหน้าที่เห็น จิตเกิดขึ้นเห็น เมื่อครู่นี้ กล่าวว่าเป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ คำถามอีกคำถามหนึ่ง คือถามว่าขณะนี้ที่เห็น จิตเป็นวิบากเป็นผลของกรรม แล้วมีอะไรอีกที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง มี แต่นึกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ นี่คือการศึกษาธรรม ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ เปล่าประโยชน์ แต่ถ้าศึกษาให้เข้าใจจริงๆ มั่นคงขึ้นแล้วไม่ลืมด้วย จิตเกิดเอง นึกอยากจะเกิดก็เกิดตามลำพังได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องมีปัจจัยที่ทำให้จิตเกิด สภาพธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิด สภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้เป็นนามธรรม รู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใด จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง ก็มีสภาพนามธรรมซึ่งเกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ไม่ใช่จิตเป็นเจตสิก เป็นเจตสิก หมายความถึง นามธรรมหลากหลายมากถึง ๕๒ ประเภท แล้วแต่ว่าจิตนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ประเภท เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นขณะนี้ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็นด้วย จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนั้นต่างก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ซึ่งจิต หนึ่งขณะ จะเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท เพราะฉะนั้นจิตเห็นเป็นผลของกรรม และในขณะที่จิตกำลังเห็นเดี๋ยวนี้แหล่ะ มีผลของกรรมอะไรอีกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตนั้น ก็เป็นผลของกรรมเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อกล่าวถึงจิตต้องรวมเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้าศึกษาแล้วพูดถึงจิตเห็นก็หมายความเฉพาะธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น แต่ในการเห็น ครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่ง ก็มีสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นรู้อารมณ์เดียวกับจิตด้วย และเจตสิกก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ แต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาที่จิตเห็นนั่นแหละ เป็นอารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เมื่อมีสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้นในขณะเห็นอะไรเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง จิต กับ เจตสิด

    ท่านอาจารย์ จิตกับเจตสิก เป็นวิบากหรือเปล่า มั่นคงไหม

    ผู้ฟัง มั่นคง

    ท่านอาจารย์ นี่คือการศึกษาธรรม ไม่ใช่เผินๆ แล้วก็รีบร้อนไป แต่ต้องเข้าใจจริงๆ จิตไม่ใช่เจตสิก จิต เจตสิก เกิดพร้อมกัน อาศัยกัน และกัน รู้สิ่งเดียวกัน เพราะเป็นธาตุรู้ด้วยกัน แต่ต่างฐานะโดยที่ว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ส่วนเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมดจะเป็นกี่เจตสิกก็ตาม ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ โดยมีสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้เป็นอารมณ์เหมือนกัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    3 พ.ย. 2567