ปกิณณกธรรม ตอนที่ 844


    ตอนที่ ๘๔๔

    สนทนาธรรม ที่ บ้านเหนือน้ำ จ.ปทุมธานี

    วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ จะเป็นเจตสิกจำนวนเท่าไรก็ตาม ต่างก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ โดยมีสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้เป็นอารมณ์เหมือนกัน เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ อะไรเห็น

    ผู้ฟัง จิตเห็นกับเจตสิก พร้อมเจตสิก

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นทำกิจเห็น และก็มีเจตสิกที่เกิดกับจิตเห็น ซึ่งทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ แต่ก็รู้สิ่งเดียวกัน

    ผู้ฟัง คือทุกวันนี้ มีความรู้สึกว่า เราได้ยินเสียง แล้วซึ่งเป็นเสียงที่เราไม่ถูกใจมาก แล้วทำให้เราเกิดความทุกข์

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ก่อน เราคืออะไร

    ผู้ฟัง คือรูปนาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นได้ยินคืออะไร

    ผู้ฟัง ได้ยินเป็นจิต กับ เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เสียงคืออะไร

    ผู้ฟัง เสียงคือรูป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่ชอบ ไม่น่าพอใจ เกิดไม่ชอบ เป็นทุกข์ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ทุกข์เป็นเสียงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ทุกข์เป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ทุกข์เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ทุกข์เป็นธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก ไม่ใช่เรา บังคับบัญชาไม่ให้เป็นทุกข์ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจธรรมจะหมดทุกข์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูก ตามความเป็นจริง ความเข้าใจถูกเป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ เป็นปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของปัญญาที่จะเห็นถูกต้องว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรไม่ควร เพราะฉะนั้นจะไม่นำไปสู่ความทุกข์

    ผู้ฟัง ประเด็นที่สนใจ ก็คือว่า ฟังเข้าหูแล้ว เข้าไปในใจบ้างหรือเปล่า ก็จะขอเรียนสนทนาว่าอย่างไร ที่ฟังเข้าหูแล้วไม่เข้าไปในใจ แล้วก็อย่างไรที่ฟังเข้าหู ถึงจะเข้าไปใจ

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณเปิดวิทยุที่บ้านหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ประจำ

    ท่านอาจารย์ มีคนได้ยินบ้างไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เขาเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง คนที่บ้าน เขาก็ต้องได้ยินอยู่แล้ว เพราะเปิดเสียงดัง

    ท่านอาจารย์ เขาได้ยิน และเข้าใจไหม เคยสนทนากับเขาไหม ว่าเขาฟังรึเปล่า

    ผู้ฟัง เขาฟัง แต่เขาก็ชอบมาถามว่า ที่ว่าฟังแล้วไม่ใช่สัตว์ ตัวตนบุคคล คืออะไร เพราะจะถามบ่อยมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่บ้านมีกี่คน บางคนก็ได้ยินแน่ๆ เลย แต่ถามอะไรก็ไม่รู้สักอย่าง เพราะว่าผ่านไป ฟังแค่ได้ยินคำแต่ไม่รู้ว่าคำนั้นหมายความถึงอะไร ถ้าเข้าใจ เขาจะสนใจแน่ๆ แต่เพราะได้ยินเพียงคำแล้วก็เกิดความสงสัย ไม่ใช่เป็นการฟังเพื่อที่จะเข้าใจ

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็คืออาจจะเป็นไปได้ว่า มีกุศลวิบากที่จะได้ยินเสียงธรรม แต่ถ้าไม่สนใจฟังว่าสิ่งที่ได้ยินคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ต้องค่อยๆ สะสม ค่อยๆ พิจารณา แล้วค่อยๆ เข้าใจ และเห็นประโยชน์ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ เราจะทิ้งประโยชน์นั้นหรือไม่ ก็ไม่ทิ้งใช่ไหม ต้องรู้ประโยชน์ เรามาที่นี่เพื่ออะไร เพื่อฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์เลย ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ธรรมต่างกันเป็น ๒ อย่างไม่ว่าจะโลกนี้ โลกไหนในจักรวาล ธรรมก็ต้องต่างกันแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง คือสภาพไม่รู้เป็นธรรมที่ใช้คำว่ารูปธรรม แต่ว่าถ้าไม่มีนามธรรมคือธาตุรู้ หรือสภาพรู้ สิ่งใดใดก็ปรากฏไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีนามธรรมธาตุรู้เกิดขึ้นต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่นเดี๋ยวนี้ มีสิ่งที่ปรากฏว่า มีเป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ เป็นคน ต้องมีธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเห็น จึงสามารถที่จะทำให้คิดถึงรูปร่างสัณฐานต่างๆ ซึ่งขณะที่คิดก็เป็นธาตุรู้ด้วย ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่เกิด ต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ และแม้เป็นสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยก็ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่ง เกิดแล้วไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น อีกอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นไม่มีรูปร่างทั้งสิ้น ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธาตุรู้ ล้วนๆ เลยไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย ลองคิดถึงธาตุรู้เรามองเห็นไหม มองไม่เห็น ได้กลิ่นไหม ไม่มีกลิ่น แต่เกิดขึ้นรู้ ขณะนั้นมืดหรือสว่าง แค่ธาตุรู้เกิดขึ้นรู้ เห็นไหมกว่าเราจะถึงความเข้าใจธรรมแต่ละคำได้ ก็ต้องรู้ว่าแม้แต่ความเข้าใจที่จะรู้ว่า ธรรมมี ๒ อย่างคือ นามธรรม กับรูปธรรม ก็ต้องเข้าใจความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นรูปธรรมไม่รู้อะไรเลย นามธรรม เป็นสภาพรู้ เพียงเท่านี้ไม่พอ การฟังธรรมแล้ว มีการคิดถึงธรรมที่ได้ฟัง เหมือนกับเราเห็นแล้ว เราก็คิดถึงสิ่งที่เห็น แต่แทนที่จะคิดถึงสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน ก็ได้ฟังธรรม ก็คิดไตร่ตรองด้วยตัวเอง ธรรมที่เกิดขึ้น แล้วไม่รู้ ต่อไปนี้เราก็ไตร่ตรอง มีอะไรบ้างคิดเองได้ แต่ถ้าไม่คิดก็ต้องไปฟังอีก แล้วก็พิจารณาตามที่ได้ฟัง อย่างแข็ง อยู่ตรงไหนก็ตามแต่ แข็งจะรู้ อะไรได้หรือเปล่า ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นสำหรับแต่ละคนซึ่งจะรู้ว่า อะไรไม่ใช่เรา อะไรเป็นสภาพนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม ก็ต้องไตร่ตรองด้วย ไม่ใช่เพียงฟังอย่างเดียว แต่ต้องไตร่ตรอง อิ่ม เป็นนามธรรม หรือ รูปธรรม ยังไม่ไปถึงนิพพาน เพียงแค่ชีวิตประจำวัน ที่เราจะเข้าใจจริงๆ ว่ารูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ และตอนอิ่ม อิ่ม เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง น่าจะเป็นนามธรรมแน่ๆ เพราะว่า โต้ะ เก้าอี้ ไม่รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ ต้องมีคนบอกหรือเปล่า หรือว่าจากการไตร่ตรองแน่ใจ ค่อยๆ เข้าใจทีละน้อย ด้วยความมั่นคง มั่นคงคือเป็นความเข้าใจของเราเอง จากการที่ได้ฟัง และไตร่ตรอง และไม่ว่าจะสิ่งหนึ่ง สิ่งใดเกิดขึ้น จะไปเปิดพระไตรปิฏก ว่าคำนี้มีไหม คำนั้นมีไหม ไม่ใช่ แต่สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ตั้งแต่ลำดับ ต้นๆ คือธรรม แล้วก็ปรมัตถ์ธรรมมีจริงๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ลึกซึ้งเป็นอภิธรรม แล้วก็สภาพธรรมไม่ว่าที่ใดก็ตามแยกกันโดยเด็ดขาด รูปธรรมรู้อะไรไม่ได้เลย ต้องเป็นรูปธรรม นามธรรมต้องเป็นธาตุรู้ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย ขณะนั้นเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นถ้าไม่ศึกษาด้วยความเข้าใจที่มั่นคงอย่างนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงธรรม และก็ไม่สามารถที่จะไตร่ตรองด้วยปัญญา ความเข้าใจของเราเองว่าสิ่งนั้นถูกต้องหรือสิ่งนั้นผิด

    ผู้ฟัง เหมือนกับการตั้งต้นที่ถูกต้องเท่านั้น ถึงจะเป็นความมั่นคงที่จะฟังต่อไปให้เข้าใจเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ละคำ เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรมเข้าใจคำนี้ คำนี้จะเป็นอย่างนี้ตลอดหมด ทั้งพระวินัยปิฏก พระสุตตันตปิฏก พระอภิธรรมปิฏก เพราะเป็นความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วก็รู้ จากคำต่อไปอีก พอถึงธรรม ธรรมต้องเป็นธรรมหมด รูปธรรมเป็นรูปธรรม นามธรรมเป็นนามธรรม ในสมัยพุทธกาลไม่มีการจารึกพระธรรม เป็นพระไตรปิฏกเป็นส่วนๆ อย่างนี้ แต่มีธรรมจริงๆ ปรากฏ เพราะฉะนั้นคนยุคนั้นฟังธรรมรู้เลย คือสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ พิสูจน์ได้ ฟังเรื่องเห็นก็กำลังเห็น ฟังเรื่องได้ยินก็กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้นคนในครั้งนั้น ไม่สำคัญผิดคิดว่า ธรรมอยู่ในหนังสือ จะต้องไปค้นคว้าในหนังสือ แต่ขณะที่กำลังฟังนั่นเอง พระผู้มีพระภาคตรัสให้เข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม แต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ก็เหมือนอย่างนั้น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังธรรมก็คือฟังให้เข้าใจ ในเรื่องสิ่งที่มีจริงว่าเป็นจริงอย่างนี้หรือเปล่า ว่าเห็นต้องอาศัยตาเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป นี่คือไม่ใช่เราทั้งหมด พระธรรมประมวลแล้วก็คือว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ตั้งแต่ความเป็นปุถุชน แล้วก็ได้ฟังธรรม เข้าใจขึ้น จนถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่พ้นจากธรรมทั้งหลายทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่เที่ยง

    ผู้ฟัง แล้วอะไรที่จะทำให้ เชื่อมั่น และมั่นคงว่าแนวทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญ ก็คือเริ่มต้นจากการฟังให้เขาเห็นถูกเข้าใจถูก ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีเห็นไหม รู้ว่าเห็นเป็นธรรมหรือเปล่า เพียงแค่ได้ยินใช่ไหม ได้ฟังมา เพราะฉะนั้น เพียงแค่รู้ว่าเห็นเป็นธรรม พอไหม

    ผู้ฟัง ฟังว่าเห็นเป็นธรรม พอไหม ก็ถ้าจะให้รู้ตรงความจริงก็ไม่พอ แล้วตอนนี้ก็ทราบว่าฟังเข้าใจมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังได้ยินคำว่าธรรม เคยได้ยิน แต่ก็ไม่รู้ว่าภาษาอะไร หมายความถึงอะไร ยุติธรรม ศีลธรรม อะไรธรรม ธรรมทั้งนั้น แต่ว่าก็ไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร แต่เมื่อฟังแล้วเข้าใจถูกต้องเป็นประโยชน์ไหม

    ผู้ฟัง เป็นประโยชน์มากๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เริ่มเห็นความต่างของไม่รู้ กับรู้ ถูกต้องไหม แล้วก็จะรู้ต่อไปหรือเปล่า นั่นคือผู้นั้นพิจารณาประโยชน์ จากที่ไม่รู้ แล้วก็รู้ขึ้น รู้ได้ด้วยทีละเล็กทีละน้อย ไม่รู้กับรู้ อะไรเป็นประโยชน์ ถ้ายังไม่รู้ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ถูกต้องถึงประโยชน์ของการได้ฟังธรรม

    ผู้ฟัง ประโยคที่ว่าเกิดแล้วดับ แล้วก็เกิด แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ แล้วก็เกิด แล้วก็สืบต่อ แล้วก็เสื่อม แล้วก็ดับ รู้สึกจะเหมือนกันหมดใช่ไหม ความหมาย เป็นสิ่งเดียวกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เกิดต้องดับ แต่สภาพธรรมต่างกัน สิ่งที่เกิดเป็นนามธรรม ก็อย่างหนึ่ง สิ่งที่เกิดเป็นรูปธรรมก็อีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า รูปธรรมดับช้ากว่านามธรรม เพราะฉะนั้นใครจะรู้บ้างว่าจิต ขณะนี้เกิด ดับ เร็วระดับไหน ไม่สามารถที่จะกล่าวได้เลยประมาณไม่ได้เลย จิตหนึ่ง ขณะเกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน จิตคิดนึก แต่เวลานี้เสมือนพร้อมกัน นื่ก็แสดงการเกิดดับอย่างเร็วด้วย พอเห็นก็เป็นคนทันที มากมายทันที นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการเกิด ดับ ว่าเร็วขนาดไหนของจิต ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้ความจริง ทรงแสดงว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นต้องดับไป แตกต่างกันที่ว่าจิตเกิดดับเร็วกว่ารูปธรรมจิตหนึ่งขณะอย่าไปคิดเลย ประมาณไม่ได้เลย เวลานี้เหมือนหนึ่งขณะ แต่ความจริงเกินหนึ่งขณะเท่าไหร่ เพราะทันทีที่เหมือนเห็นหนึ่งขณะ เป็นคนเป็นอะไรไปหมดแล้ว แต่ว่าหนึ่งขณะจริงๆ เห็นต้องเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้แล้วดับ ต่อจากนั้นก็มีจิตที่เกิดสืบต่อคิดถึงรูปร่างสัณฐาน จำ ชอบ ไม่ชอบ ตามมาภายหลังอีกมากมาย เพราะฉะนั้นในขณะที่เห็นเกิดขึ้นเห็น เร็ว แค่ไหนก็ตาม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า จิตหนึ่งขณะที่เกิดแล้วดับจะมีอนุขณะ ๓ อนุขณะ ๓ ไม่ได้แบ่ง เอาไม้บรรทัดมาแบ่ง หรืออะไรอย่างนั้น แต่ให้เห็นความต่างของขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ และเมื่อเกิดแล้วยังไม่ดับเป็นอีกขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเกิดดับของจิต แต่ละหนึ่งจิต ก็คือ อนุขณะ เกิด แล้วก็ตั้งอยู่ ยังไม่ดับ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจิตเกิดดับทุกจิต ไม่ว่าจิตไหน ภพไหน ภูมิไหน ประเภทไหน ก็มีอายุเพียงแค่ ๓ อนุขณะ คืออุปาทะใช้คำภาษาบาลีว่าเกิด ฐิติตั้งอยู่ยังไม่ดับ แล้วก็ภังคะ ดับไป จะศึกษาภาษาไทยก็ได้แล้วก็จะจำคำภาษาบาลีพร้อมกันไปก็ได้ ถ้าสนใจ

    มี ๒ คน เป็นเพื่อนกัน เขาสัญญากันว่า เขาจะฟังธรรม แต่ไม่ศึกษาพระอภิธรรม ฟังไปๆ เขาเข้าใจหมดเลย เพราะเขาไม่ประมาท และเขารู้ว่านั่นคือการศึกษาทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าไม่ศึกษา แต่ฟังเรื่องจิตเข้าใจเรื่องจิต นั่นก็คือศึกษา เรื่องจิตที่กำลังเกิดดับขณะนี้ว่าเร็วระดับไหน เพียงแค่หนึ่งขณะจิต ก็ต่างกันเป็น อุปาทะ ฐิติ ภังคะด้วยการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า รูปที่เกิดเพราะกรรม เกิดในขณะไหนของจิต รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานเกิดในขณะไหนของจิต รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานเกิดในขณะไหนของจิต รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานเกิดในขณะไหนของจิต ใครจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ฟังพระธรรมบ้าง ไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้นถ้าได้ฟังพระธรรมเข้าใจเมื่อไหร่ เริ่มมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจแล้วก็กล่าวว่ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พึ่งอะไร ไม่เข้าใจเลย เพราะฉะนั้นต่อเมื่อได้เริ่มเข้าใจธรรมเมื่อไหร่ จึงเห็นพระปัญญาคุณว่าเป็นผู้ที่ไม่มีผู้ใดเปรียบได้ ไม่ว่าในโลกไหนทั้งสิ้น ทั้งสวรรค์ ทั้งพรหมภูมิใด ก็ไม่มีผู้ที่เสมอเหมือนกับพระองค์ได้ในทุกประการในทางที่เป็นฝ่ายธรรม

    ผู้ฟัง เกิด แล้วสืบต่อ แล้วก็เสื่อม แล้วก็ดับ ต้องยาวนาน

    ท่านอาจารย์ นี่เราพูดถึงธรรม ที่เป็นจิต ที่เป็นนามธรรมก่อน จิต เจตสิก อายุเท่ากัน เพราะว่าจิตเกิดพร้อมเจตสิก ดับพร้อมเจตสิก แต่รูปมีอายุยืนนานยาวกว่าจิต จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูป รูปหนึ่ง ดับ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า จะใช้คำว่าอุปาทะ ฐิติ ภังคะ สำหรับ หนึ่งจิต แต่สำหรับหนึ่งรูป จะใช้คำว่าอุปจยะ สันตติ ชรตา อนิจจตาก็เป็นเรื่องของคำ แต่ก็แสดงให้เห็นความต่างของการที่เกิด แล้วยังไม่ดับ อุปจยรูปเกิดขึ้น แล้วการเกิดนั่นแหละ สืบต่อไป จนกว่าจะถึงใกล้จะดับ จึงเป็นชรตา ขณะดับก็เป็นอนิจตา ก็เป็นการแสดงธรรมโดยละเอียด แต่ให้ทราบว่าทั้งหมดก็กำลังเป็นอย่างนี้เดี๋ยวนี้นั่นเอง แต่อาศัยการฟังค่อยๆ เข้าใจขึ้น วันหนึ่งก็จะละคลายความไม่รู้ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ขอให้อธิบายให้กระจ่าง ที่ว่า จิตที่รู้อกุศล ก็เป็นกุศล

    อ.อรรณพ ถ้าคำว่ารู้ หมายถึงความเข้าใจถูกก็คือขณะที่อกุศลเกิดแล้ว ดับไปแล้ว มีความเข้าใจถูกในลักษณะของอกุศลว่าเป็นสภาพธรรมอย่างนั้น อย่างนั้น เช่นโทสะ โลภะ ก็มีลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นการรู้ในอกุศลตามความเป็นจริง แต่ถ้าคำว่ารู้หมายความว่ารู้โดยการเป็นอารมณ์ อกุศลเป็นอารมณ์ของอกุศลก็ได้ เช่นชอบความตื่นเต้น ความตื่นเต้นก็เป็นอกุศล เป็นโทสะ แต่ก็ชอบดูหนังผีหนัง หรือว่าชอบโลภะ โลภะ ก็เกิดไปแล้วอยากให้เกิดอย่างนั้นอีก ให้เกิดความติดข้องอย่างนั้นอีก

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด ต้องไม่ลืมว่าฟังธรรมเพื่อละความไม่รู้

    ผู้ฟัง เพื่อละความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ละความไม่รู้ของใคร

    ผู้ฟัง ของตัวเราเอง

    ท่านอาจารย์ ของตัวเอง เพราะฉะนั้นโดยมากเรามักจะคิด จะถาม แต่ถ้าแทนที่จะถาม ค่อยๆ ไตร่ตรองทบทวนที่เคยฟังมาแล้ว แล้วค่อยๆ พิจารณา ก็จะเป็นความเข้าใจที่มั่นคง มิเช่นนั้นเราก็เพียงแต่รับฟังความเห็นของคนอื่น แต่ว่าขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิดก็ไม่ใช่ความเข้าใจของเราเอง เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุด ฟังธรรมเพื่อเป็นปัญญาที่เห็นถูกต้อง ตามที่ได้ฟังแล้วก็ไตร่ตรองพิจารณาจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    อ.คำปั่น เป็นข้อความจากอนังคณสูตร คือแสดงจำแนกเป็นบุคคลประเภทต่างๆ เพราะว่าบุคคลที่มีกิเลส แต่ก็ไม่รู้ว่ามีกิเลสก็มี เพราะว่าไม่มีปัญญาที่เข้าใจตามความเป็นจริง แต่บุคคลบางคนเป็นผู้ที่สะสมอบรมปัญญามา แม้ว่าจะมีกิเลสก็สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องตรงตามความจริงว่ามีกิเลส ท่านก็แสดงว่าเป็นบุคคลประเสริฐ เพราะว่ามีปัญญาที่เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ขณะที่กิเลสเกิดขึ้นก็คือเป็นอกุศล เพราะว่ากิเลสเกิดเมื่อใดก็ทำให้จิตนั้นเป็นอกุศล แต่สำหรับผู้ที่สะสมปัญญามา ก็สามารถที่จะเห็นตามความจริงถึงความเป็นโทษของอกุศลได้ มีการขัดเกลาละคลายได้ ซึ่งก็จะแตกต่างจากผู้ที่ไม่เข้าใจความจริง เป็นอกุศลก็เป็นอกุศลไป พอกพูนไปเรื่อยๆ มีความไม่รู้ไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฎ เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะว่าสามารถเข้าใจสิ่งที่มีจริงได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และตรง ถามว่าเดี๋ยวนี้มีอกุศลไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ยังไม่พอ เมื่อไหร่ เห็นไหมนี่ก็แสดงให้เห็นว่าฟังธรรมเพื่อเข้าใจ แล้วความเข้าใจค่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ ได้ยินคำนี้หมายความว่า เป็นเจตสิก ที่ปรุงแต่ง ขณะนี้จะไม่มีใครรู้เลย พูดถึงธรรมว่าไม่มีเรา แต่มีจิต มีเจตสิต แล้วมีรูป รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่จิต เจตสิก เป็นสภาพรู้อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่สิ่งอื่นที่เกิดพร้อมจิต ซึ่งเป็นเจตสิก หลากหลายมาก รักก็มี ชังก็มี มานะสำคัญตน มีความกรุณาเมตตาทั้งหมดเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าชีวิตประจำวัน จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็นแจ้ง เช่นเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น แต่ขณะที่ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง อื่นใดทั้งหมดที่เกิดขณะนั้นเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นปัญญาเจตสิกเป็นภาษาบาลี แต่ก็คือความเห็นถูกความเข้าใจถูกจากการฟัง การไตร่ตรอง และการรู้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญาจะเจริญขึ้นเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีการฟัง มีการไตร่ตรองเพิ่มขึ้น มิเช่นนั้นแล้วก็เพียงแค่ จำ อย่างถ้าถามว่า เดี๋ยวนี้มีอกุศลไหม เมื่อเช้าฟังแล้ว แต่ธรรมคือเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้มีอกุศลไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ตอบว่า มี เดาหรือคิด หรือคะเน หรือคาด หรือกำลังรู้จริงๆ ในอกุศลที่ปรากฏ ต่างกันแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอาศัยการฟัง และก็เป็นปัญญาของตนเอง ที่จะรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ที่กล่าวว่ารู้ ขณะไหนอย่างไร เพียงรู้ว่ามีอกุศล ทุกคนรู้เลย ใครบ้างไม่มีอกุศล รู้กันทั้งนั้นแต่ไม่ได้รู้ในขณะที่อกุศลกำลังปรากฏ ถึงกับรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นธรรมฝ่ายไม่ดี นี่ก็ต่างกันแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมไม่เผิน ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่พอได้ยินคำไหนก็อยากจะรู้คำนั้น สงสัยในคำนั้น แต่การคิดการไตร่ตรองของเราจากการฟังรู้ว่า ธรรม ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แม้กำลังปรากฏมีจริงตั้งแต่เกิดจนตาย กี่ชาติที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม แต่ชาติใดที่มีโอกาสได้ฟังสิ่งที่กำลังมีแต่ลึกซึ้งอย่างยิ่งทุกคำทุกสภาพธรรมที่ปรากฏ จึงจะรู้ได้ เพียงคำถามว่าอกุศลมีไหม เดี๋ยวนี้ตอบว่ามี แต่ถามว่าเมื่อไหร่ อกุศลอะไร ก็รู้ไม่ได้ใช่ไหม เพียงแต่เริ่มที่จะเข้าใจถูกต้องว่าส่วนใหญ่แล้ว ขณะใดที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมขณะนั้นเป็นอกุศลแน่นอน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    3 พ.ย. 2567