ปกิณณกธรรม ตอนที่ 881


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๘๑

    สนทนาธรรม ที่ เรือนทองทิพย์ จ.เชียงราย

    วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙


    อ.วิชัย ในพระไตรปิฏกนี้ครับ เขาจะมีการแสดงถึงการแสวงหา ๓ อย่าง คือแสวงหากาม แสวงหาภพ และก็แสวงหาพรหมจรรย์ ซึ่งพระองค์ก็แสดงว่าเป็นความเห็นผิดท่านอาจารย์ครับ ถ้ากล่าวถึงก่อนการตรัสรู้ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย ก็มีการแสวงหาพรหมจรรย์ พระองค์ก็ทรงแสดงถึงการที่จะละ การแสวงหา ๓ อย่างด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ครับ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ยังไม่รู้อะไรเลย กามก็ไม่รู้ ภพก็ไม่รู้ พรหมจรรย์ก็ไม่รู้ นี่เป็นเหตุที่ส่วนใหญ่นะคะ จะใช้คำในพระไตรปิฏกให้คนไม่รู้ พอได้ยินคำว่าพรหมจรรย์ยังไม่รู้เลยว่าพรหมจรรย์คืออะไร ชวนกันไปแสวงหาพรหมจรรย์ แต่ต้องรู้ค่ะ ไม่ใช่คิดเองว่าพรหมจรรย์คืออย่างนี้อย่างนี้ ไม่คิดเองคือฟังคำทุกคำ เข้าใจแต่ละคำ แล้วก็ทีละคำด้วย เมื่อกี้นี้คุณวิชัยพูดถึงคำหนึ่งนะคะ ทีละคำนะคะ กาม ภาษาบาลีจะออกเสียงว่ากามะ หมายความถึง สภาพที่ใคร่ ที่ยินดี ที่ติดข้อง เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม รูปไม่มีการพอใจอะไรเลยทั้งสิ้นใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นธาตุรู้นี่แหละ หลากหลายมากค่ะ ทรงจำแนกออกไป จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่า เดี๋ยวนี้มีธาตุรู้อะไรบ้าง แต่ก่อนที่จะถึงขณะนั้นต้องทีละ ๑ คำ ธาตุรู้เกิดขึ้นต้องรู้ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ที่เห็น ถ้าฟังธรรมแล้วต้องรู้ว่าเห็นเป็นธรรม มีจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น ไม่ใช่นก ไม่ใช่คน ไม่ใช่ไก่ ไม่ใช่งู เห็นเป็นเห็น วาจาสัจจะเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะนี้เห็น ก็ไม่รู้ ใช่ไหมคะ พอใจที่จะเห็นไหม ๒ อย่างแล้วนะคะ เห็นไหมคะ

    เพราะฉะนั้นธรรมต้องทีละคำจนกระทั่งมั่นคง กาม คำแรกคือความยินดีติดข้อง เมื่อมีความยินดีติดข้อง ต้องมีสิ่งที่ถูกติดข้องด้วยใช่ไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกติดข้องทั้งหมด ใช้คำว่า กามวัตถุ วัตถุคือที่ตั้งของความติดข้อง กาม คือความติดข้อง วัตถุคือที่ตั้งของความติดข้อง จำกัดไม่ว่าอะไร ไม่จำกัดเลยค่ะ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้นนะคะ เว้นนิพพาน อยู่มั้ยตรงนี้ ไม่อยู่แล้วจะติดข้องได้ยังไง ไม่มีทางที่จะให้ใครติดข้องได้เลย เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเนี่ย ไม่ใช่ได้ยินชื่อนิพพานก็จะไปนิพพาน นิพพานอยู่ไหนเป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่ชวนกันไปนิพพานได้หรือ ไปหาใคร ไปหาผู้ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าผู้ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ความเข้าใจถูกต้องกับผู้ที่ฟัง เป็นปัญญาของผู้นั้นเองนะคะ ความไม่รู้คืออวิชชา จะถึงนิพพานได้อย่างไร เพราะแค่นิพพานคืออะไรยังไม่รู้ ก็ไปหาความไม่รู้เพิ่มขึ้น

    ด้วยเหตุนี้นะคะ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ลืมไม่ได้เลยค่ะ ฟังธรรมทีละคำ รอบรู้ จึงจะสามารถเข้าใจธรรมได้ ไม่เปลี่ยน อย่างธรรมเนี่ยจะเปลี่ยนไหมคะ ว่าธรรมคืออย่างโน้นอย่างนี้ หรือว่าธรรมก็คือสิ่งที่มีจริงทั้งหมดเลย ไม่ว่ากุศลธรรมอกุศลธรรม ทำดีชั่วไม่ดีไม่ชั่วอะไรทั้งหมด กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยาก็ตาธัมมา ได้ยินก็ไม่รู้แล้วเก็บความไม่รู้ ไว้ทุกงานศพ ไม่ว่าจะไปศพไหนนะคะ ก็ได้ยินกุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ จนตาย แต่ว่ารู้ได้ค่ะ คำนี้เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ได้จริงๆ ด้วย แล้วก็รอบรู้ขึ้น เมื่อเข้าใจความละเอียดขึ้น เป็นสาวกคือผู้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นถ้าพูดธรรมหลายคำนะคะ จะไม่เข้าใจเลย อย่างเมื่อกี้เนี่ยกาม ภพ พรหมจรรย์ ๓ คำทีเดียวเนี่ยนะคะ ไม่ได้เลยค่ะ ต้องธาตุรู้ มีหลากหลาย เวลาโกรธเนี่ยยินดีไหม ไม่ยินดี เพราะฉะนั้นเป็นกามหรือเปล่า

    อ.วิชัย ไม่เป็นกามครับ

    ผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้นะคะ สภาพที่ติดข้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่จิตนะคะ แต่เป็นเจตสิกคำใหม่มาอีกคำหนึ่งละ กว่าจะถึงคำว่า กาม หรือว่าพรหมจรรย์ ก็ต้องเข้าใจตามลำดับทีละคำเพื่อรอบรู้ค่ะ ช่วยให้เค้าเข้าใจจริงๆ อย่าให้หลงทาง ที่สำคัญที่สุดนะคะ เพราะหลงแล้วจะไม่พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พบใครก็ไม่รู้ เอาคำนั้นมาพูดแต่ไม่ได้ให้ความถูกต้อง ไม่ให้ด้วยความเข้าใจที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้นะคะ ความยินดีเป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่จิต เริ่มขยายธาตุรู้ ว่าธาตุรู้เนี่ยนะคะ หลากหลายมาก แต่ถึงจะหลากหลายไม่มีชื่อ ไม่ต้องเรียกชื่อก็ตามแต่นะคะ แต่ก็ต่างกัน

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่เห็นเนี่ย เป็นธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน รู้จริงๆ ค่ะว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเนี่ยเป็นยังไง ต่างกันยังไง แหลมบ้าง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง นี่คือลักษณะที่ปรากฏให้เห็นทางตา เพราะธาตุรู้สามารถที่จะรู้แจ้ง ในลักษณะที่กำลังปรากฏ แต่ว่าต้องไม่ลืมนะคะ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น สิ่งนั้นเกิดตามลำพังเองไม่ได้เลย ไม่มีอะไรเลย ซึ่งจะเกิดขึ้นมาเองนะคะ แต่มีธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น อย่างเห็นต้องอาศัยตาแน่นอน และต้องมีสิ่งที่กระทบตาแน่นอน แต่เฉพาะเห็นก็ยังมีธาตุรู้อีกประเภท ๑ ซึ่งต้องเกิดกับธาตุรู้ ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะฉะนั้นจึงมีชื่อเรียกที่ต่างกัน ธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน ใช้คำว่าจิต ภาษาบาลี ก็ออกเสียงว่าจิตตะ จะใช้คำอื่นก็ได้นะคะ วิญญาณก็ได้ มโนก็ได้ มนัสก็ได้ หทยก็ได้ ปัณฑระก็ได้ สตรี นารี ผู้หญิง กุมารี หมายความถึงใคร ก็สิ่งเดียวกัน ประเภทเดียวกัน แต่ไม่ใช่อันเดียวกันเนี่ยค่ะ ก็เป็นความละเอียดอย่างยิ่งนะคะ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าใช้คำว่าจิต ใช้คำว่า มโน ใช้คำว่า มนัส ใช้คำว่า วิญญาณ ใช้คำว่า หทย แล้วจิตอยู่ไหน เห็นไหมคะมีแต่ชื่อ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเนี่ย มีจิตแน่ๆ เลยนะคะ ยังไม่ตายก็ต้องมี แล้วอยู่ไหนล่ะ ถ้ามีก็ต้องรู้ได้ว่าอยู่ไหน ไม่อย่างงั้นจะบอกได้หรือคะว่ามี มีแต่อยู่ไหนไม่รู้ ถูกต้องไหมคะๆ ไม่อย่างนั้นยังไม่รอบรู้ แต่ถ้ารอบรู้คือสามารถที่จะรู้ว่าเดี๋ยวนี้จิตอยู่ไหน มี ใช่ไหมคะ อยู่ไหน กำลังเห็นเป็นจิตเพราะเป็นสภาพรู้ เพราะมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ให้เห็น ซึ่งสภาพที่ปรากฏให้รู้ไม่ใช่จิต แต่ปรากฏเมื่อจิตกำลังรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมีธรรม ๒ อย่างนะคะ จิตเป็นธาตุรู้ แต่สิ่งที่ถูกเห็นถูกรู้ไม่ใช่จิตเป็นรูปธรรม เพราะว่าเป็นแต่เพียงสีสันวรรณะต่างๆ ที่สามารถกระทบตา รูปพิเศษที่อยู่กลางตาก็เป็นอีกรูปหนึ่ง ตาก็ไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็ไม่เห็น แต่ธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น แล้วธาตุรู้มี ๒ อย่าง เวลานี้จะไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เฉพาะเห็นซึ่งเป็นจิต แต่ที่ใดที่มีจิต ต้องมีธรรม ซึ่งทำให้จิตนั้นอาศัยเกิดขึ้น เกิดพร้อมกัน อาศัยกัน และกัน และก็รู้อย่างเดียวกันด้วย เพราะเป็นธาตุรู้ จิตกำลังรู้อะไรสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิตทั้งหมด ซึ่งเป็นสภาพรู้ต้องรู้อย่างเดียวกับจิต

    ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ สภาพที่เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดกับจิต ใช้คำว่าเจตสิกะในภาษาบาลี เจตสิกกะ ในภาษาไทยก็ออกเสียงสั้นๆ เจตสิก เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่ใดมีจิต ที่นั่นต้องมีสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน อาศัยกันเกิดขึ้น เป็นธาตุรู้ด้วยกัน เพราะฉะนั้นจิตรู้สิ่งใด เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็รู้สิ่งนั้นด้วย จิตแค่เห็นนะคะ จิตไม่ได้ชอบหรือไม่ชอบ แต่เจตสิกที่เกิดกับจิต พร้อมจิตในขณะที่เห็นสิ่งนั้นแหละ เจตสิกนั้นทำหน้าที่ชอบ หรือเจตสิกอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่ชอบ ไม่ติดข้อง เพราะฉะนั้นเจตสิกจึงหลากหลายนะคะ ที่เราบอกว่าคนนั้นเป็นคนดี ดีคือเจตสิก เพราะจิตล้วนๆ เปล่าๆ ที่ไม่กล่าวถึงเจตสิกเลยนะคะ เป็นปัณฑระเป็นสภาพที่ผ่องใส ไม่กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจิตจะดีชั่วตามเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ต่างขณะ เพราะอกุศลจะเกิดพร้อมกุศลไม่ได้เลย เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ตรงกันข้ามกัน เกิดพร้อมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นมีจิตก็ต้องมีเจตสิกด้วย

    ด้วยเหตุนี้นะคะ ได้ยินคำว่าธรรมรู้จักละ เพิ่มเต็มได้นะคะ ธรรมเนี่ยค่ะไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ให้เป็นอื่นใดเลยทั้งสิ้น ปรม บรม ยิ่งใหญ่ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ รวมกับคำว่าอัตถะ ปรมัตถ อัตถ ธรรมรวมกันก็เป็นปรมัตถธรรม หมายความว่าธรรมนี่ไม่มีใครเปลี่ยนได้เลย แม้เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปริวิตกนะคะ ตรึกตรองโดยรอบว่า พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีอะไรเป็นที่เคารพหรือไม่ พระองค์มีธรรมเป็นที่เคารพ เพราะเหตุว่าเปลี่ยนไม่ได้ ใครก็ไปทำให้ธรรมนั้นเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้นะคะ เป็นความที่ทุกคนเข้าใจจริงๆ ณบัดนี้ ว่าธรรมเป็นธรรมไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย แล้วก็ไม่ใช่เราด้วย เป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อมีจริงต้องเกิด เกิดแล้วก็ต้องอาศัยปัจจัยที่จะทำให้เกิด คือจิตก็ต้องอาศัยเจตสิก เจตสิกก็อาศัยจิตเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยจิตเห็น แต่เจตสิกจะชอบก็เป็นเจตสิก ๑ ไม่ชอบก็เป็นเจตสิกอีก ๑

    เพราะฉะนั้นเจตสิกที่เกิดกับจิตทั้งหมด โดยประเภทใหญ่ๆ ค่ะ ๕๒ ประเภท เดี๋ยวนี้มีมั้ย แค่นี้ ถ้ามีจิตก็ต้องมีเจตสิก แต่ว่าเจตสิกประเภทไหนนะคะ ฝ่ายดีหรือฝ่ายไม่ดี ถึงแม้ไม่ใช่ฝ่ายดีฝ่ายไม่ดี ก็ยังมีเจตสิกซึ่งเป็นที่อาศัยที่จะให้จิตเกิด เห็นไหมคะว่าธรรมค่อยๆ ละเอียดขึ้น มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ถ้าไม่มีการทรงแสดงพระธรรม ใครจะรู้ ยังไม่ถึงคำว่า กาม นะคะ แต่ว่าถึงคำว่า ภว ได้ ความมี ความเป็น เกิดมาเป็นคนเนี่ย ชอบไหม ได้เห็น ได้ยิน ไปไหนมาไหน ทำอะไรคิดนึก มีความติดข้องแล้วค่ะ ในความเป็น เพราะฉะนั้นความติดข้อง คือกามอีกชื่อ ๑ คือโลภะ อีกหลายชื่อเลย ไม่ว่าจะเป็นนันทิราคะ ตัณหาทั้งหมด เป็นลักษณะอรรถของคำว่า ภาวะ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมเปลี่ยนไม่ได้ คือต้องเป็นอย่างนั้นทุกครั้งที่เกิดขึ้น ต้องติดข้อง

    ด้วยเหตุนี้นะคะ โลภะความติดข้อง เปลี่ยนชื่อ เรียกอย่างอื่นตามลักษณะของโลภะได้ สิเนหาก็ได้ ตัณหาก็ได้ แล้วแต่จะว่า ความติดข้องนั้นระดับไหนนะคะ ระดับเพลิดเพลินเป็นนันทิราคะ หรือระดับที่เป็นยาง ใย เล็กแสนเล็กสักเท่าไหร่ ก็เหนียวแน่นเหลือเกินค่ะ ยากที่จะตัดได้ นี่ก็คือสิ่งที่มีจริงทั้งหมด แต่ต้องมาจากการที่เข้าใจว่าไม่ใช่เราแต่เป็นธรรม มิฉะนั้นการศึกษาทั้งหมด ไม่ได้ศึกษาธรรม ถ้าคิดว่าเป็นเรา แต่เมื่อเริ่มรู้ว่าเป็นธรรม จึงรู้ว่าศึกษาธรรมคือเข้าใจสิ่งที่มีจริง จากการที่ผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ให้พ้นจากความไม่รู้ คืออวิชชา ถ้าไม่มีการฟังธรรมเลยนี่นะคะ อวิชชาเต็ม แต่พอได้ฟังเข้าใจแค่ไหน อวิชชาก็ค่อยๆ ลดลงไปแค่นั้น จนกว่าสามารถที่จะรู้ความจริงได้ ตามลำดับนะคะและอวิชชาที่ดับหมดไม่เหลือเลย นั่นคือผู้ที่เป็นพระอรหันต์ พระองค์แรกก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระบรมศาสดาซึ่งเหนือกว่าพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งเกิดจากการฟังนะคะ ก็เป็นสาวก เป็นพระอรหันต์แต่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีเพียงพระองค์เดียว ในสากลจักรวาลนะคะ ก็แสดงว่าจะมีพร้อมกัน ๒ พระองค์ไม่ได้เลย ทีละคำนะคะ ไม่อย่างนั้นไม่รอบรู้ ไม่รอบรู้คืออะไร เรียนละ งงละ จำไม่ได้ละ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องจำนะคะ เรื่องเข้าใจ จำมีจริงหรือเปล่าไม่รู้ คิดมีหรือไม่มี กำลังจำอยู่แท้ๆ ก็ไม่รู้จักจำ กำลังเห็นอยู่แท้ๆ ก็ไม่รู้จักเห็น กำลังคิดอยู่แท้ๆ ก็ไม่รู้จักคิด นี่คืออวิชชา

    เพราะฉะนั้นจะเป็นวิชชา ต่อเมื่อรู้ทีละเล็กทีละน้อยนะคะ จำมีจริงไหมคะ มี เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม เป็นนามธรรมไม่ใช่ตอบเฉยๆ นะคะ แต่เป็นธาตุรู้สภาพรู้ เพราะจำ ต้องรู้ว่าจำอะไร ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นความจำ สภาพจำมีจริง เดี๋ยวนี้ก็มี เพราะสภาพนี้เกิดกับจิตทุกขณะ มิฉะนั้นจะจำอะไรไม่ได้เลย เห็นก็แค่เห็น แต่จำไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่า ขณะที่จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะนะคะ จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ใน ๗ ประเภทนั้นมีเจตสิกซึ่งจำ ต้องจำทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นเห็นอะไร สภาพนั้นรู้สิ่งนั้นด้วยแต่รู้โดยฐานะจำ มีหน้าที่จำค่ะ ทำอื่นไม่ได้เลย รู้สึกก็ไม่ได้ ต้องจำ เดี๋ยวนี้กำลังจำ นี่ก็คือเริ่มเห็นว่าไม่มีเรา แต่มีธรรม เพราะฉะนั้นนะคะ มีความติดข้องเป็นกาม ไม่ใช่จิตแต่เป็นเจตสิก ความจำก็ไม่ใช่จิต เกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิต จำสิ่งเดียวกับที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้นสภาพจำมีจริงก็เป็นเจตสิก กามคือโลภะ เห็นเป็นความติดข้องหรือเปล่าคะ จะรอบรู้หรือไม่รอบรู้ก็ตรงนี้ค่ะ คือฟังแล้วเข้าใจแค่ไหน ถ้าเข้าใจนิดเดียวไม่รอบรู้แน่ แต่เข้าใจจนกระทั่งเห็นไม่ใช่จำ เห็นจะเป็นจำไม่ได้เลยค่ะ เห็นต้องเป็นเห็น เปลี่ยนไหมคะ ชาติหน้าล่ะ ไม่ต้องคิดอะไรเลยนะคะ สิ่งที่เกิดแล้วสะสมอยู่ในจิต มิฉะนั้นจะไม่มีผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมได้

    ทุกอย่างที่ได้ฟังเมื่อเป็นความเห็นถูกนะคะ สะสมทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะมั่นคง ยังไม่ต้องพูดถึงอันอื่นก็ได้ใช่ไหมคะ แค่กรรมให้เป็นแต่ละคำจริงๆ ค่ะ ใครไม่มีกามบ้างคะ คนที่ไม่เข้าใจภาษาบาลีคิดว่าน่าเกลียดนะฮะ คำนี้ไม่สุภาพเลย แต่ถ้ารู้แล้วสิ่งที่น่ายินดีพอใจทุกอย่าง สิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นก็เป็นกาม เสียงก็เป็นกาม ติดข้องในอะไรสิ่งนั้นเป็นกาม เพราะตัวกาม คือโลภเจตสิกเป็นสภาพที่ติดข้อง และสิ่งที่ถูกติดข้องเป็นวัตถุกาม ที่ตั้งของความติดข้อง รอบรู้หรือยัง สงสัยลืมไปยังไม่รอบรู้ ฟังบ่อยๆ มั่นคง เมื่อไหร่ไม่เปลี่ยนแปลงนั่นคือค่อยๆ รอบรู้ทีละคำ คำตั้งเยอะนะคะ ถ้าไม่รอบรู้จริงๆ ปนกันหมดเลยค่ะ ไม่ว่าจะพูดเรื่องวิปัสสนา ไม่ว่าจะพูดเรื่องฌาน ไม่ว่าจะพูดเรื่องปริยัติ ไม่ว่าจะพูดเรื่องปฏิบัติ ปฏิเวธ สับสนปนหมด เพราะไม่รอบรู้

    ผู้ฟัง หนูมีความศรัทธา ครูบาอาจารย์ หนูก็มีกิเลสตัวหนึ่ง คือตัวปกป้อง ไม่กล้าที่จะถาม ไม่กล้าที่จะคุย ทีนี้พอหลังจากที่ฟัง เรื่องการปกป้องพระพุทธศาสนาเนี่ย หนูก็ได้กล้าหาญ ที่จะเรียนรู้เรื่องพระธรรมวินัย ซึ่งแต่ก่อนหนูขี้ขลาดมากที่จะเรียนรู้ เพราะหนูรู้ว่าหนูแล้ว หนูจะเลิกศรัทธา เห็นความติดข้องของตัวเองว่า หนูศรัทธาครูบาอาจารย์ ไม่รู้ว่ากี่ชาติแล้ว

    ท่านอาจารย์ ขอถามนิดนึงค่ะ เคารพใครสูงสุด

    ผู้ฟัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าค่ะ

    ท่านอาจารย์ มั่นคง

    ผู้ฟัง มั่นคงค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นใครเป็นผู้ที่ควรนับถืออย่างยิ่ง

    ผู้ฟัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าค่ะ

    ท่านอาจารย์ จะเป็นคนอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ คือทางที่จะให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มี เป็นปัญญาของผู้นั้นเองค่ะ เป็นมรดกที่ล้ำค่าในชาติที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ที่มีโอกาสจะได้รู้ความจริงของสิ่งที่มี ทุกคนนี่ค่ะ เกิดแล้วก็ต้องตายจากโลกนี้ไป แล้วจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ความเห็นที่สะสมไว้ เมื่อผิดก็จะติดตามไปด้วย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองนะคะ ตรัสเรื่องมิจฉามรรค และสัมมามรรค เพราะเหตุใด ด้วยพระมหากรุณา ที่จะให้ผู้ที่ได้ฟังนี่ค่ะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าถ้าพระองค์ไม่ตรัสเรื่องมิจฉามรรค ซึ่งตรงกันข้ามกับสัมมามรรค คนก็เข้าใจผิดคิดว่าที่ทำนั้นถูกต้อง ด้วยเหตุนี้นะคะ มิจฉามรรค ๘ สัมมามรรค ๘ ทรงแสดงไว้จนถึงสัมมัตตะ มิจฉาญาณะ มิจฉาวิมุตติ เมื่อปฏิบัติอย่างนั้นแล้ว ก็เลยเข้าใจว่าปัญญาเกิดแล้ว แต่เมื่อหนทางผิด สิ่งที่คิดว่ารู้ก็คือรู้ผิด เป็นมิจฉาญาณะ และเมื่อรู้ผิดก็เข้าใจว่าพ้น แต่ว่าพ้นผิดเพราะเหตุว่าไม่รู้จักกิเลส ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับสัมมามรรค แล้วเรานี่ค่ะเกรงใจใคร ครูบาอาจารย์เป็นผู้มีคุณแน่นอน ไม่ใช่แต่เฉพาะในทางหนึ่งทางใด ตั้งแต่เด็กมาเราก็เริ่มมีครูละ พ่อแม่ก็เป็นครูที่สอนเรา ให้นั่ง ให้นอน ให้เดิน ให้พูดให้อะไรทั้งหมดนะคะ จนกระทั่งเข้าโรงเรียน ก็มีผู้ที่มีคุณ ผู้มีคุณเป็นผู้มีคุณ เปลี่ยนคุณไม่ได้ ความดีเป็นความดีเปลี่ยนไม่ได้ ความถูกเป็นความถูก ความผิดเป็นความผิด ต้องเป็นผู้ตรง ส่วนคุณนะคะ ก็ต้องเป็นคุณ ส่วนผิดก็จะให้เป็นถูกไม่ได้ และเมื่อเป็นผู้ที่เข้าใจถูกแล้วนะคะ จะให้คนอื่นเข้าใจผิดไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่อ่าค่ะ

    ท่านอาจารย์ ว่ามีความหวังดีนะคะ ไม่คิดถึงตัวเราเองใครจะรักใครจะชังไม่สำคัญเลย ความถูกต้องกับความผิดสำคัญกว่า ถ้าเข้าใจสิ่งที่ถูกแล้วนะคะ จะกล้าพูดคำที่ถูกด้วยความหวังดี ที่จะให้เขาเนี่ยได้พิจารณาไตร่ตรอง จะไม่ชอบ จะไม่เชื่อ จะไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เพราะเรามีแต่ความหวังดี เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีศัตรู เพราะเหตุว่าเราหวังดีจะมีศัตรูได้อย่างไร ทุกคำเป็นคำจริง สนทนาได้ เข้าใจได้ ประโยชน์สูงสุด คือผู้นั้นก็จะได้เป็นผู้ตรงต่อไปในชาติต่อๆ ไปด้วย แล้วเราจะให้เขาเกิดโทษ ไม่ให้เขาเข้าใจ ให้เขาเข้าใจผิดไปหรือ ถ้าอย่างนั้นเราก็ดีหรือเปล่า ก็เป็นคนไม่ดี

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นส่วนการที่พูดถึงผู้ใดมีคุณ ก็เป็นส่วนคุณ ครูบาอาจารย์ก็มีคุณ แต่ถ้าจะให้เราทำผิด เราทำมั้ย

    ผู้ฟัง ไม่ทำแน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นใครก็ตามนะคะ ซึ่งไม่เข้าใจธรรมนี่ ก็เข้าใจว่าเขามีคุณต่อเรา เขาให้เราทำอะไร เราก็จะทำเป็นการตอบแทนคุณ ต้องทำสิ่งที่ถูก เพราะเหตุว่าเป็นโทษเพิ่มขึ้นอีก ทั้งเขา และเรา ถ้าเราตอบแทนคุณด้วยการทำสิ่งที่ผิด แต่ถ้าเราทำสิ่งที่ถูกเป็นคุณเป็นประโยชน์ต่อเรา และก็เป็นประโยชน์ต่อเขาด้วยค่ะ คือคำพูดผิดๆ การกระทำที่ผิด ทุจริตทุกอย่าง ก็จะมีคนเห็นว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่มั่นคงนะคะ ในธรรมว่า ถูกคือถูก ผิดคือผิด ดีคือดี ชั่วคือชั่ว รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ว่าต้องเหนือบุคคลอื่นใดทั้งสิ้น ครูอาจารย์ท่านมีความเห็นอย่างนั้นนะคะ แต่ถ้าเรามีความเห็นอย่างอื่น ที่ไม่ตรงกับท่าน แต่เป็นความถูกต้อง ถ้าเราสามารถ ซึ่งก็คงยาก ที่จะทำให้ท่านได้ยินได้ฟังบ้าง แต่ว่าคงมีโอกาสบ้าง บางโอกาสตามกาลที่สมควร ต้องเป็นผู้ที่รู้จักบุคคล

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    21 มิ.ย. 2567