ปกิณณกธรรม ตอนที่ 883
ตอนที่ ๘๘๓
สนทนาธรรม ที่ เรือนทองทิพย์ จ.เชียงราย
วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙
ท่านอาจารย์ ถ้าจะพูดถึงเรื่องสมาธิทั่วไป ที่ชาวบ้านเข้าใจ แล้วก็ไปใช้ในการรักษาโรคบ้างอะไรบ้างนั้นน่ะ ไม่ใช่ตามพระพุทธศาสนา เพราะทั้งหมดนั้น เมื่อเกิดจากความไม่รู้ ก็เป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด ต้องแยกกัน ต่อให้เป็นประโยชน์ยังไงนะคะ ข้าวก็มีประโยชน์ใช่ไหมคะ รับประทานข้าวก็ไม่เป็นโรค ข้าวนั้นไม่เสียไม่บูดใช่ไหมฮะ แต่ว่านั่นก็คือว่าแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นแม้แต่ว่า สมาธิที่ชาวโลกรู้จัก เข้าใจกัน ก็ไม่ใช่สมาธิที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะสมาธิต้องมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ที่รู้จักธรรมเดี๋ยวนี้จริงๆ นะคะ ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด ไม่ว่าจะใช้ในการแพทย์หรือในอะไรทั้งสิ้น
ผู้ฟัง อาจารย์คะ สัมมาสมาธิเนี่ย ต้องประกอบด้วยปัญญาเท่านั้น หรือกรณีถ้า
ท่านอาจารย์ สัมมาคืออะไร
ผู้ฟัง ถูกต้องค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วผิด แล้วไม่รู้ถูกต้องได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นมิจฉา เมื่อไม่รู้แล้วผิด
ผู้ฟัง คือในอัตภาพนี้ที่เกิดเป็นมนุษย์แล้วเนี่ย แล้วก็ได้มาศึกษาธรรมเนี่ย เป็นอัตภาพที่ประเสริฐที่สุด ไม่ว่าชาติไหนๆ ก็ตาม คือกรณีที่เราอยากที่จะอยู่ให้นานที่สุด เพื่อที่จะได้ศึกษาธรรม หากทำสมาธิร่วมด้วย เพื่อรักษาร่างกายนี้ ให้อยู่ได้นานที่สุด ที่จะได้ศึกษาธรรมแบบนี้ถูกหรือผิดคะ
ท่านอาจารย์ ทำไมคนอายุสั้นคุณหมอ
ผู้ฟัง เป็นตามกรรมค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เมื่อไหร่ที่ได้เข้าใจพระธรรมนะคะ สักคำหนึ่งอย่างถูกต้องมั่นคงเนี่ยก็จะรู้สึกได้เลยค่ะ ว่าไม่มีอะไรอีกแล้ว ที่สามารถที่จะมาแลก กับความเข้าใจอันนี้ได้ เมื่อไรที่รู้สึกอย่างนี้นะคะ เมื่อนั้นเห็นคุณของพระธรรม แล้วก็จะทำให้เห็นประโยชน์ของการที่ว่า สามารถที่จะเข้าใจถูกต้อง ในสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน และเวลาฟังครั้งแรกเนี่ยเหมือนจะเข้าใจได้หรือ จะรู้ความจริงตรงอย่างที่ได้ฟังหรือ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตามที่ได้ตรัสรู้แล้ว และได้อนุเคราะห์ให้คนอื่นนี่ได้เข้าใจถูกต้องด้วย เพราะฉะนั้นความเข้าใจจากคำแรก ครั้งแรกก็เป็นพื้นฐานที่จะให้ได้เข้าใจเพิ่มเติม มั่นคงขึ้น จนกระทั่งเกิดมาตลอดชาติหนึ่งชาตินี่นะคะ เมื่อเข้าใจธรรมแล้วจะไม่เอาอะไรมาแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ มีค่ากว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด
อ.คำปั่น ขอกล่าวในเรื่องของพยัญชนะนะครับ เพราะว่าเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของธรรม ที่เกิดประกอบกับจิต ธรรมประการหนึ่งที่เกิดประกอบกับจิตโดยไม่ขาดเลยนะครับ ก็คือเอกัคคตาเจตสิกนะครับ ก็คือเป็นเจตสิกธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ๑ เพราะเหตุว่าจิตเมื่อเกิดขึ้นนะครับ ก็ต้องรู้อารมณ์ทีละ ๑ ไม่สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้หลายๆ อารมณ์ ในขณะเดียวกันนะครับเพราะฉะนั้นเป็นธรรมที่มีจริงนะครับ ที่เกิดประกอบพร้อมกับจิตทุกขณะเลยนะครับ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใดนะครับ ถ้าหากว่าเกิดร่วมกับอกุศลนะครับ ก็ตั้งมั่นในทางที่เป็นอกุศล แต่ถ้าเกิดกับสภาพจิตที่ดีงามนะครับ ก็ตั้งมั่นในทางที่ดี
ทีนี้น่าพิจารณานะครับ ว่าขณะที่มีความจดจ้อง หรือว่ามีความตั้งใจ ที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดนะครับ อย่างเช่นบางท่านก็มีความอุตสาหะ ที่จะกระทำอะไรสักอย่างหนึ่งนะครับ ด้วยความต้องการขณะนั้นก็มีสมาธิ ที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้นนานๆ นะครับ ด้วยความเป็นอกุศล ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ นะครับ ในทางกลับกันนะครับ ถ้าเป็นไปกับกุศลนะครับ สมาธิในขณะนั้นก็ตั้งมั่นในทางที่เป็นกุศล ซึ่งก็จะตรงข้ามกันกับอกุศลอย่างสิ้นเชิงครับ ขณะที่มีความเข้าใจสภาพธรรม ตามความเป็นจริงครับ ขณะนั้นก็เป็นสมาธิสั้นๆ ที่เรียกว่าขณิกสมาธิ แต่ว่าเป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าเป็นไปพร้อมกับปัญญาที่เข้าใจ ธรรมอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงนะครับเพราะฉะนั้นได้ฟังเรื่องของเอกัคตาเจตสิก จนกระทั่งอธิบายถึงความละเอียดว่า มีความตั้งมั่นอย่างไร จึงจะเรียกว่าเป็นสมาธินะครับ ก็คือแสดงถึงความเป็นจริงของธรรม ที่ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้นะครับ เพราะว่าความจริงเป็นอย่างนี้ครับ
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเป็นไงคะ ไม่ว่าจะกล่าวถึงชวนะ ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไรก็ตามนะคะ ไม่เข้าใจ เพราะว่ายังเพิ่งที่จะได้ยินคำว่า ธรรมคืออะไร และก็เดี๋ยวนี้เป็นธรรมทุกอย่างหมดเลย แต่หลากหลายมากนะคะ แต่ที่แบ่งตามลักษณะของธรรมใหญ่ๆ ก็คือว่าธรรมประเภท ๑ มีจริงๆ เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรคือรูปธรรม แค่นี้ค่ะ ก็ยังต้องเข้าใจคำว่า รูป กับ ธรรม ให้ถูกต้อง เพราะว่าถ้าเราใช้ภาษาอย่างยุคนี้นะคะ คิดแล้วยังไม่เป็นรูปธรรม อย่างเงี้ยค่ะ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับธรรมเลย แต่ก็ใช้ภาษาธรรมนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความสับสน ของการที่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจจริงๆ ได้นะคะ เป็นเรื่องที่ละเอียด และก็เป็นเรื่องที่ต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นด้วย
ธรรมคือสิ่งที่มีจริง มากมายหลากหลาย แต่ก็ต่างกันเป็น ๒ ประเภทคือธรรมที่เกิด มีจริงแต่ไม่รู้อะไร มีตัวอย่าง เห็นรู้มั้ย เสียงรู้มั้ย ก็ต่างกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่รู้เป็นรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ไม่รู้อะไรเลย กระทบตั้งแต่หน้าผาก ผม ลงไปจนถึงปลายเล็บเท้า ไม่รู้อะไรมีแต่แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อนนะคะ ลองดูสิคะลองกระทบสัมผัส หรือสัมผัสกันทุกวัน ก็รู้ว่ารูปเป็นรูปไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นถ้ามีแต่เพียงรูป ไม่มีธาตุรู้เช่นขณะนั้น ไม่มีจิตเกิดที่รูปนั้น รูปนั้นทำอะไรไม่ได้เลยนะคะ เหมือนต้นไม้เลยค่ะ มีตาก็หลับตาลืมตาไม่ได้ เพราะว่าไม่มีจิตที่เกิดกับรูปคือคนตายทันทีที่ไม่มีจิตเกิดที่รูปๆ นั้นนะคะ ก็คือแสดงความเป็นรูป ว่าไม่รู้อะไร ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย
เพราะฉะนั้นการฟังธรรม เพื่อที่จะเข้าถึงความเป็นธรรมไม่ใช่เราเนี่ย ก็ต้องเดี๋ยวนี้ขณะนี้ ที่จะรู้ว่าลักษณะรู้หรือธาตุรู้ เนี่ยไม่มีรูปร่างลักษณะใดๆ เลยทั้งสิ้นนะคะ แต่เกิดแล้วต้องรู้ เช่นกำลังเห็นขณะนี้ค่ะ จะบอกว่าไม่เห็นไม่ได้ จะบอกว่าเห็นอะไรก็ไม่รู้ก็ไม่ได้ ก็มีสิ่งที่ปรากฏ เพียงแต่ว่าไม่ได้เรียกชื่อว่าอะไร แต่ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็นในขณะที่เห็นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเห็นเป็นธรรม ที่เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เกิดเมื่อไหร่ต้องรู้ ทำให้เรียกว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิต กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ถ้าเป็นนก เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเทวดาหรือเป็นอะไรก็ตามแต่ เราก็บอกว่านั่นคือเป็นบุคคล เพราะว่ามีจิต เป็นสัตว์เป็นบุคคลต่างประเภทไป แต่ถ้าเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยแก้วน้ำพวกนี้ค่ะ เป็นแต่เพียงรูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นสภาพรู้ก็มีมากมาย สภาพที่ไม่รู้ก็มีมาก แต่น้อยกว่าสภาพรู้ แสดงให้เห็นว่า โลกเป็นไปตามกำลังของธาตุรู้คือจิต ถ้าไม่มีจิตเลย ทุกอย่างก็เป็นแค่ต้นไม้ใบหญ้านะคะ แต่ยิ่งกว่านั้นมากกว่านั้น ก็เพราะเหตุว่ามีธาตุรู้ ก็ทำให้ มีบ้าน มีเครื่องจักร มีอะไรๆ มากมาย ตามความคิดในขณะนั้น
ขอให้เข้าใจเบื้องต้นอย่างนี้ก่อน เพื่ออะไรคะ เพื่อจะรู้ว่าไม่ใช่เราจริงๆ ฟังธรรมไม่ใช่เพื่อเรารู้มากๆ เราเข้าใจคำนี้หรือคำนั้น แต่ฟังเพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรม เพิ่มความเข้าใจว่าไม่ใช่เรายิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกต้อง ว่าสิ่งที่มีไม่ใช่ว่าไม่มีนะคะ มีจริงๆ แต่มีก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ฟังแค่นี้ค่ะพอที่จะสละละความเป็นเราได้ไหม ฟังแค่นี้ค่ะ เพราะว่าต้องคิดก่อนใช่ไหมคะ ถ้าไม่คิดก็ตอบไปได้ยังไงล่ะ ก็ต้องคิดทบทวนให้แน่ใจ ว่าคำตอบคืออะไร เพราะฉะนั้นทุกอย่างนี่ค่ะ ก็ต้องเป็นความเข้าใจของเราเองนะคะ ได้รับคำถาม หรือมีคำถามอะไร ก็ขอให้รู้ว่าคำถามนั้นมีประโยชน์แน่ เพราะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ แล้วเราเข้าใจสิ่งที่มีจริงพอที่จะตอบได้มั้ย หรือว่ายังต้องฟังต่อไปอีกที่จะตอบได้
เพราะฉะนั้นความคิดของเรา จากการที่ไม่ได้ฟังธรรมนี่ค่ะ เป็นไปด้วยเรื่องราวต่างๆ มากมาย ได้ยินคำว่านิพพาน ได้ยินคำว่ากิเลส ได้ยินคำว่าโลกุตระ ได้ยินคำว่าศรัทธาแล้วอะไร ไม่รู้เลย ถ้าไม่ได้ศึกษาจริงๆ อย่างละเอียด อย่างรอบคอบนะคะ เราก็เข้าใจผิวเผิน หรืออาจจะเข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมนี่ค่ะ ประโยชน์ก็คือว่าเป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน ถ้าเราเข้าใจเมื่อไหร่เพิ่มขึ้น เมื่อนั้นก็จะรู้ว่าธรรมนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ว่ามีลักษณะที่หลากหลายมาก เช่นจิต ไม่ได้มีแต่เฉพาะเห็น ได้ยินก็เป็นธาตุรู้ เสียง คิดนึก ก็เป็นธาตุที่รู้เรื่องราว เพราะฉะนั้นแม้ไม่มีรูปร่างเลย เกิดขึ้นรู้ คิดดูค่ะ เกิดขึ้นแล้วมีสิ่งที่ถูกรู้ ทำให้เกิดความคิดต่างๆ มากมาย และสภาพธรรมทุกอย่าง ไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรมนะคะ เกิดเองไม่ได้ อยากจะเกิดก็เกิดไม่ได้ แต่เพราะอาศัยสิ่งที่มีนั้นแหละ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะไม่มีสภาพธรรมใด ที่เกิดเพียง ๑ โดยไม่มีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย แม้แต่รูปนะคะ มหาภูตรูป ธาตุดิน ปฐวีธาตุ เค้าอ่อนหรือแข็งนะคะ ธาตุไฟ เตโชธาตุ เย็นหรือร้อน ธาตุลม วาโยธาตุก็ไหวก็มี ตึงก็มี ธาตุไฟเย็นก็มีร้อนก็มี ธาตุดินอ่อนก็มีแข็งก็มี ธาตุน้ำไม่ใช้น้ำที่ดื่ม แต่ว่าเป็นธาตุที่เกาะกุม ซึมซาบธาตุที่อยู่ร่วมกันนะคะ ให้แยกจากกันไม่ได้เลย นี่ก็คือว่าไม่มีสิ่งใดที่เกิดเพียง ๑ แต่ปรากฏเพียง ๑ จริง แต่ว่าที่ปรากฏนั้น ยังมีอย่างอื่นที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งไม่ได้ปรากฏ
เพราะฉะนั้นความเข้าใจ ที่จะเข้าใจมั่นคงขึ้น คือเข้าใจตามลำดับ สิ่งที่มี มี เพราะอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ต่างเป็น ๒ ประเภท คือสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ก็มีเป็นรูปธรรม สภาพที่รู้ ก็เป็นนามธรรมนะคะ ต่อไปจะมีความหมายอื่นอีก ของคำว่า นาม แต่ว่าขั้นต้นการศึกษาต้องตามลำดับ เพราะฉะนั้นคำถามเรื่องต่างๆ ที่เราเคยได้ยินมานะคะ จะมีคำตอบตรงให้ชัดเจนทั้งหมด ทีเดียวไม่ได้ อย่างน้อยก็เพียงแค่ได้ยินมาบ้างนะคะ เช่น สมาธิ ความตั้งมั่น สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เราชินกับคำว่า สมาธิ แต่รู้จักสมาธิหรือเปล่า หรือว่าสมาธิเป็นเรา แล้วเมื่อไรล่ะที่เราบอกว่าเรามีสมาธิ ถ้าเราวิ่งเล่นยังงี้อ่ะคะ เล่นฟุตบอล มีสมาธิไหมคะ ก็แล้วแต่จะตอบ แต่ถ้าวิ่งเล่นสนุกสนานกัน มีสมาธิมั้ย ตอบนั้นถูกหรือผิด เห็นไหมคะ อะไรจะเป็นเครื่องชี้วัดถูกหรือผิด
เพราะเรายังไม่รู้จักสมาธิว่า เป็นธรรมที่มีจริง แต่ไม่ใช่รูปธรรมแน่นอน แล้วจิตก็เป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ เช่นกำลังเห็นนี้เป็นจิต แต่ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ไม่ปรากฏในขณะที่กำลังเห็น ขณะที่ได้ยินก็มีจริงๆ เดี๋ยวนี้กำลังได้ยิน สภาพที่รู้เสียงนี่ค่ะ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้เสียง ซึ่งหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้สิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏเป็นจิต แต่ก็มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นตอนแรกๆ เนี่ยเราไม่รู้หรอก คิดว่ามีแต่จิตไม่รู้ว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อได้ฟังธรรม เข้าใจความหลากหลายของจิตนะคะ ก็รู้ว่าที่จิตหลากหลาย เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทำให้จิตต่างประเภทเป็นจิตที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง เพราะฉะนั้นความเข้าใจธรรมนี่ค่ะ ต้องค่อยๆ เข้าใจนะคะ มั่นคงขึ้น เท่าที่สามารถจะรู้ได้ตามลำดับด้วย
เพราะฉะนั้นได้ยินแต่ชื่อ ต้องรู้ก่อนนะคะ ว่าคืออะไร เป็นธรรมแน่นอน เพราะฉะนั้นสมาธิจะเป็นรูปได้มั้ย อันนี้คงไม่ต้องคิดนาน ใช่ไหมคะ รูปเป็นสมาธิได้ไหมค่ะ ไม่ได้ ต้องเป็นนามธรรม นามธรรมมี ๒ อย่างนะคะ คือจิต และเจตสิก เพราะฉะนั้นนามธรรมอะไรที่เป็นสมาธิ ก็เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นก็ค่อยมีความรู้เพิ่มขึ้น และสำหรับสมาธินี้ก็ได้แก่เจตสิก ๑ ไม่ได้เรียกว่าสมาธิเจตสิก เห็นไหมคะ ต่างแล้ว ฟังแล้วได้ยินคำว่าสมาธิ ชินกับคำว่าสมาธิ แต่เวลาเป็นเจตสิก เราไม่ได้เรียกว่าสมาธิเจตสิก เพราะเหตุว่าลักษณะของสมาธิไม่ได้ปรากฏ แต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เมื่อเกิดกับจิตใดนะคะ จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว เพราะเอกัคคตาเจตสิกที่กำลังตั้งมั่นในอารมณ์นั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อะไร ก็จะมีเจตสิกซึ่งขาดไม่ได้เลย ๗ เจตสิก ๑ ใน ๗ ก็คือเอกัคคตาเจตสิก ไม่ได้ใช้คำว่าสมาธิเจตสิก ถ้าสิ่งนั้นที่ปรากฏเนี่ยนะคะ ทำให้เราสนใจไม่ไปสู่อารมณ์อื่น กำลังตั้งใจ สนใจ ที่จะทำอะไร ไม่สนใจกับอย่างอื่นเลย อยู่ที่อารมณ์นั้นนานๆ นะคะ เราก็เรียกเผินๆ ว่าสมาธิ ขณะนั้นกำลังมีสมาธิในสิ่งนั้น เย็บผ้า ปักผ้ามีสมาธิมั้ยคะ ก็ต้องมีสมาธิ เพราะฉะนั้นเรารู้จักสมาธิในลักษณะเป็นเพียงชื่อของอาการ ที่เรามีความสนใจตั้งมั่นอยู่ที่หนึ่งที่ใด แต่จริงๆ แล้วก็ได้แก่เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งต้องเกิดกับจิตในขณะนั้นต้องมีจิต และจิตนั้นก็ต้องมีเอกัคคตาเจตสิก และตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียว เพราะฉะนั้นลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ โดยการที่ว่าธรรมอื่นไม่ใช่สมาธิ แต่เอกัคคตาเจตสิกนั่นแหละ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นจึงเป็นสมาธิ
แต่ว่าจิตมีหลายประเภทมากนะฮะ ถ้าเราไม่ศึกษาเรื่องจิตประเภทต่างๆ เนี่ย เราก็ไม่รู้ว่าขณะไหนนะคะ อาการของสมาธิมีปรากฏ เช่นในขณะที่เกิด ขณะแรกที่จิตเกิดมีเอกัคคตาเจตสิกไหมคะ เห็นมั้ยคะเนี่ยคือ ย้อนไปเพื่อที่จะให้ไม่ลืมสิ่งที่ได้ฟัง สิ่งที่ได้ฟังเปลี่ยนไม่ได้เลยค่ะ เพราะเป็นวาจาสัจจะ เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นจิตที่มีอารมณ์ใด ต้องมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะจิตต้องอาศัยเจตสิกเกิด และเจตสิกก็อาศัยจิตเกิด ต่างอาศัยซึ่งกัน และกัน แต่ทำหน้าที่ต่างๆ กัน จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ และเจตสิกแต่ละ ๑ นะคะ ต่อไปก็จะเพิ่มเจตสิก ทีละหนึ่งๆ ซึ่งต่อไปก็จะมีอีกหลายชื่อนะคะ ตามสภาพธรรมที่มีกำลังบ้าง หรือว่าเกิดกับสภาพนั้นบ้าง สภาพนี้บ้างเป็นต้น
แต่ก่อนอื่นให้ทราบว่า สมาธิได้แก่สภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม คือเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท มั่นคงหรือยังคะ ถ้ามั่นคงก็ต่อไปได้ใช่ไหมคะ ไม่สับสนนะคะ ตอนเกิด ต้องมีจิตเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วก็มีรูปด้วย มาจากไหน จิตนั้นมาจากไหน อยู่ดีๆ เกิดเองได้ไหมคะ ไม่ได้ ได้ยินคำว่ากรรมบ่อยๆ ก็ยังไม่รู้อีก ได้ยินแค่คำนะคะ ถ้าถามโดยรูปศัพท์ ก็บอกว่าคือการกระทำ ก็ยังไม่รู้อีกว่าเมื่อไหร่ ยังไงนะคะ แล้วก็ได้แก่ปรมัตถธรรมคือเจตสิกอะไร เนี่ยค่ะเป็นสิ่งซึ่งความละเอียด และความลึกซึ้งของสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก แล้วใครจะรู้ถึงจิตหนึ่งขณะ ว่าจิตหนึ่งขณะนั้นน่ะ มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย โดยสถานะใด ซึ่งถ้าเกิดมากๆ บ่อยๆ แล้วก็มีลักษณะอาการที่ปรากฏต่างๆ กันไปอีกเนี่ยนะคะ ก็ทำให้เราเริ่มเป็นผู้ที่ละเอียดในการที่จะรู้ว่า ถ้าไม่ละเอียดจะไม่ได้สาระจากธรรม เหมือนเข้าใจแต่ว่าจริงๆ แล้วยังไม่พอค่ะ จะต้องมั่นคงจริงๆ จึงสามารถที่จะทำให้ มีปัญญาอีกระดับหนึ่งเกิดได้ คือปัญญาที่กำลังเข้าถึง สภาพธรรมที่กำลัง เป็นอย่างที่ได้ยิน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้นไม่ได้แน่นอนค่ะ เพราะเหตุว่าความเข้าใจไม่พอ ที่จะละความไม่รู้
ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยการฟังที่ต้องละเอียด ตอนนี้กำลังถึงขณะแรกที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มีจิตเกิดพร้อมเจตสิก แล้วก็มีรูปด้วย ทั้งหมดนั้นมาจากไหน มาจากกรรมที่เป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง ที่ได้กระทำแล้ว ที่ใช้คำพวกนี้ก่อน ก็เพราะเหตุว่าเป็นคำที่เราใช้ในภาษาไทยนะคะ แต่ว่ายังไม่เข้าใจทั้งหมดโดยละเอียด เพียงแต่เผินๆ ผิวๆ ว่า กรรมถ้าดีก็คือกรรมดี ถ้าไม่ดีก็คืออกุศลกรรม กรรมชั่วก็แยกกันเป็น ๒ อย่าง เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุมีผลก็คือว่าวิปากะ หรือว่าจิตเจตสิกเกิดขึ้น ตามจิตเจตสิกซึ่งเป็นเหตุให้ จิตที่เป็นผลเกิดขึ้นในภายหลัง เพราะฉะนั้นจิตก็เป็นเหตุ ซึ่งจะทำให้จิตซึ่งเป็นผลเกิด จิตที่เป็นผลขณะแรกของชาตินี้ คือขณะแรกที่เกิด ก็สอดคล้องกันใช่ไหมคะ ถ้าไม่มีการกระทำซึ่งเป็นกุศล และอกุศลกรรมผลไม่มีแน่ เช่นพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อดับกิเลสแล้ว การกระทำใดๆ ไม่เป็นเหตุให้เกิดผล เพราะฉะนั้นไม่มีทางกุศลกรรม และอกุศลกรรม แต่การกระทำมีค่ะ แต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลก็เป็น กิริยา ไม่ใช่กุศล และอกุศล ละเอียดไหมคะ เบื่อหรือยัง ถ้าเบื่อคือไม่มีการที่ จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมี ในขณะนี้เลยนะคะ ยากมั้ยคะ ลึกซึ้งเพราะใครตรัสรู้ และใครเป็นผู้ฟัง ก็ต้องฟังด้วยความเคารพ เข้าใจขึ้นอีกได้แน่นอนค่ะ แต่อย่าใจร้อน และก็อย่าเดา แล้วก็อย่าคิดเอง ต้องละเอียดทุกคำ นี่กว่า จะมาถึงนะคะ เอกัคคตาเจตสิกซึ่งจะรู้ว่าเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ ต้องฟังตั้งนาน ก็ยังไม่ถึงใช่ไหมคะ เพราะต้องค่อยๆ ขยับ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยค่ะ ว่าเมื่อเอกัคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ตอนเกิดก็มีจิตเกิดนี่ และจิตนั้นมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดด้วยหรือเปล่า แต่ไม่เห็นปรากฏลักษณะของสมาธิอะไรเลยทั้งสิ้น แต่เป็นเอกัคคตาเจตสิก
เพราะฉะนั้นเอกัคคตาเจตสิกเกิดเมื่อไหร่ล่ะ จึงจะปรากฏอาการที่เป็นสมาธิ เห็นไหมคะ ไม่ใช่เรารับเพียงชื่อ และเราก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเมื่อไหร่ ด้วยเหตุนี้นะคะ จิตซึ่งเป็นเหตุคือ กรรม กุศลหรืออกุศล ได้กระทำไปแล้ว เพื่อให้ผลของกรรมซึ่งเป็นจิต และเจตสิก ซึ่งเป็นผลเกิดขึ้น เรียนคำใหม่อีกคำหนึ่งนะคะ คือภาษาบาลีใช้คำว่า วิปากะ คนไทยเรียกว่า วิบาก แต่ว่าเข้าใจผิด ถ้าไม่ศึกษาก็คิดว่าลำบาก แต่ว่าวิบากก็คือผลของกรรม เมื่อกรรมมี ๒ อย่างคืออกุศลกรรม และกุศลกรรม ผลของกรรมสลับกันไม่ได้เลย เหตุอย่างไรผลต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุไม่ดีเป็นอกุศลกรรม ได้กระทำไปแล้วนะคะ ผลก็คือว่าจิตที่เป็นผลต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่มีจิตจะรับผลของกรรมได้ยังไง โต๊ะ เก้าอี้ รูปทั้งหลายรับผลของกรรมไม่ได้เลย เพราะไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นสภาพซึ่งจะเป็นผลของกรรมต้องเป็นจิต และเจตสิก ขณะที่ทำกรรม ทำดีนะคะ ช่วยคนอื่น ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ฟังธรรมเข้าใจขึ้น ผลเป็นยังไงคะ ผลก็ต้องเป็นกุศลวิบาก เพราะวิปากะเป็นผล ด้วยเหตุนี้นะคะ อกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้ผลคืออะไรเกิดขึ้นคะ ตามเหตุที่จะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นทุกคนเกิดมาเนี่ย จิตต้องเกิดใช่ไหม ถ้าไม่มีจิตเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตเกิดแล้วนะคะ เป็นเหตุหรือเป็นผล เป็นผลของกรรม ด้วยเหตุนี้นะคะ ผลของกรรมก็จำแนกค่ะ จะเกิดเป็นอะไรล่ะ ผิดจากกรรมที่ได้กระทำไว้ได้หรือ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 841
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 842
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 843
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 844
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 845
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 846
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 847
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 848
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 849
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 850
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 851
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 852
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 853
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 854
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 855
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 856
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 857
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 858
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 859
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 860
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 861
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 862
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 863
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 864
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 865
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 866
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 867
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 868
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 869
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 870
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 871
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 872
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 873
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 874
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 875
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 876
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 877
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 878
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 879
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 880
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 881
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 882
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 883
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 884
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 885
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 886
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 887
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 888
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 889
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 890
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 891
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 892
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 893
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 894
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 895
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 896
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 897
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 898
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 899
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 900