ปกิณณกธรรม ตอนที่ 887


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๘๗

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมเอเชี่ยน หาดใหญ่ จ.สงขลา

    วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ผู้ฟัง คำว่าเพ่งโทษ ติเตียน โพนทนา มีลักษณะอย่างไรคะ

    อ.คำปั่น เพ่งโทษนี่นะครับ ก็เป็นกิจหน้าที่ของผู้ที่เข้าใจถูก ตามความจริงว่าสิ่งนี้เป็นโทษ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลย ก็กล่าวให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงว่า อย่างเช่นเมื่อเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควร ของพระภิกษุนะครับ ก็รู้ว่านี่คือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็กล่าวให้สำนึกให้ได้เข้าใจว่า เป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นสมณะเชื้อสายพระศากยะบุตร ทำอย่างนี้ได้อย่างไร นี่คือเป็นการเพ่งโทษ คือกล่าวไม่ได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่าสิ่งนี้มีโทษติเตียน นี่ก็แสดงถึงความเป็นจริงนะครับ ว่าสิ่งใดก็ตามนะครับ ที่ไม่เหมาะไม่ควรแก่ ความเป็นบรรพชิตนะครับ ก็ไม่นำมาซึ่งความเลื่อมใส ไม่เป็นที่เจริญใจของผู้ที่ได้ทราบข่าว หรือว่าพบเห็นเลยนะครับ ก็จะมีการกล่าวให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าที่ทำอย่างนั้นผิดอย่างไรแล้วที่ถูกนั้นคืออย่างไรนะครับ เป็นการเกื้อกูลให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้องนะครับและที่สำคัญนะครับ ก็คือโพนทนาในอรรถกถานะครับ แสดงไว้ว่ากระจายข่าว ให้ได้รู้กันทุกที่ทุกสถานนะครับ ว่าพฤติกรรมอย่างนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นโทษอย่างไร ก็เป็นการกล่าวให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้องโดยทั่วกันครับ

    พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนะครับ เกื้อกูลสำหรับทุกคนผู้ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเพศบรรพชิต เป็นเพศที่สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติแล้ว จริงใจที่จะน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย แต่ถ้าไม่ประพฤติตามพระวินัย เป็นผู้ที่ไม่จริงใจที่จะขัดเกลากิเลสนะครับ ก็มีชื่อเรียกมากมายนะครับ ว่าเป็นภิกษุทุศีล เป็นภิกษุลามก เป็นภิกษุประพฤติชั่ว เป็นภิกษุเน่าใน เป็นภิกษุเพียงดังหยากเยื่อ เป็นภิกษุผู้มีกรรมอันปกปิด สารพัดที่จะกล่าวถึงในความประพฤติที่ไม่ถูกต้อง

    พระพุทธพจน์นะครับ ก็คือการที่นอนกอดกองไฟ ยังจะดีกว่าพระภิกษุกอดในสิ่งที่ไม่เหมาะควรอย่างเช่นเพศสตรี เพราะว่าการกอดของไฟก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ แต่การทำอย่างนั้น อบายภูมิแน่นอนนะครับ นี่คือ ๑ นะครับ ๒ ก็คือการเอาเชือกหนังนี่ครับ ไถไปหรือว่าถูไปที่ขาทั้งสองข้าง ไถไปลากไปลากมาจนกระทั่งถึงกระดูก ยังดีกว่าการที่พระภิกษุยินดี ในการกราบไหว้ของคฤหัสถ์ เพราะว่าตัวเองเป็นผู้ทุศีล การกระทำอย่างนั้นนะครับ การเอาหนังอันคมนี้ครับ ขัดถูจนกระทั่งตัวเองได้รับบาดเจ็บนี้ครับ ไม่เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ แต่ว่าความเป็นผู้ทุศีลเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ การที่เอาหอกชโลมด้วยน้ำมันแทงเข้าไปที่กลางอก ยังประเสริฐกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีล ยินดีในการประคองอัญชลี อันนี้ยังไม่ถึงกราบไหว้ แต่ว่าเพียงแค่ประคองอัญชลี การกระทำอย่างนั้นได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ

    แต่ว่าภิกษุผู้ทุศีล ยินดีในการประคองอัญชลีของคฤหัสถ์ เพราะว่าตัวเองไม่มีคุณธรรมนะครับ ประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควร ก็เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ การที่เอาแผ่นเหล็กร้อนๆ แนบกาย ยังประเสริฐกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลครองจีวร ที่คฤหัสถ์ถวายด้วยศรัทธา เพราะว่าการเอาเหล็กแผ่นเหล็กแนบกาย ตายไปก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ แต่ว่าความเป็นผู้ทุศีลแล้วก็ครองจีวรที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธา เป็นเหตุให้ตัวเองเกิดในอบายภูมิ การที่นั่งบนเตียงตั่งร้อนๆ เป็นเหล็ก ยังประเสริฐกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลนั่งนอนบนเตียงตั่ง อาสนะที่ชาวบ้านหรือว่าคฤหัสถ์ถวายด้วยศรัทธา เช่นเดียวกันเลยนะครับ อีก ๒ ข้อนะครับ

    การที่พระภิกษุผู้ทุศีลเนี่ยนะครับ ถ้าหากว่า มีความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควรนะครับ การที่ถูกง้างปากหรือขอเหล็ก แล้วเอาก้อนเหล็กแดงเนี่ยใส่เข้าไปลงในปาก ไปทำร้ายอวัยวะต่างๆ จนกระทั่งถึงข้างล่าง ยังประเสริฐกว่า การบริโภคก้อนข้าวที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธา แสดงถึงความบริสุทธิ์มากเลยนะครับ ว่าใครคือผู้ที่เหมาะควร ต่อการที่จะได้รับก้อนข้าว ที่ชาวบ้านถวายที่ศรัทธา ก็ต้องเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เท่านั้น ไม่ใช่ภิกษุผู้ทุศีล และข้อสุดท้ายนะครับ ก็คือการที่ถูกจับโยนลงไปใน หม้อเหล็กแดงทั้งตัวเลยนะครับ ยังประเสริฐกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลใช้สอยวิหารหรือว่าอาวาส ที่คฤหัสถ์ถวายด้วยศรัทธา

    นี่ครับทั้งหมด ๗ ข้อ ๗ ประการ บที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งก็ละเอียดนะครับ แต่ว่าอันนี้คือกล่าวโดยสรุป พระธรรมคำสอนในส่วนนี้นะครับ เกื้อกูลมากเลยนะครับ ภิกษุ ๖๐ รูปกระอักเลือด แสดงว่าเป็นผู้ที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นภิกษุปาราชิกนะครับ อีก ๖๐ รูปลาสิกขา เพราะว่าตัวเองประพฤติ

    ที่ไม่เหมาะไม่ควรมากมาย อีก ๖๐ รูป ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ในพระธรรมวินัย แล้วก็ได้รับการเกื้อกูลจากพระธรรมคำสอน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงครับ ความเป็นที่สุดผู้ทุศีลนั้นเป็นโทษมากครับ ล่วงละเมิดพระวินัย และไม่กระทำคืนให้ถูกต้อง ถ้ามรณภาพลงครับ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิ เป็นที่ไปเบื้องหน้าครับ ท่านอาจารย์ครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ตรงนะคะและเห็นคุณของพระธรรม เพราะว่าจะเกิดในนรกนี่นานมาก กว่าจะพ้นนรกได้ แม้เปรตนะคะ แม้สัตว์เดรัจฉานก็แล้วแต่ภพภูมิ ว่าจะมากน้อยแค่ไหน กว่าจะได้เป็นมนุษย์ เพราะต้องเป็นผลของกรรมดีนะคะและเป็นมนุษย์ที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าได้เคยได้ฟังธรรม ได้พิจารณาไตร่ตรองเข้าใจ และก็เห็นโทษของอกุศล เพราะฉะนั้นการที่เป็นผู้ที่หวังดี และกล่าวข้อความในพระไตรปิฎก ก็เพื่อที่จะให้ผู้ที่ปฏิญาณนะคะ โดยการบวชว่าเป็นเพศบรรพชิต ได้สำนึกในสิ่งที่ถูกต้อง ว่าเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าไม่สามารถจะเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยได้นะคะ ลาสิกขาบท สึกออกมาเป็นคฤหัสถ์นะคะ ก็จะพ้นจากโทษทีที่ผิด แต่ว่าถ้าบวชใหม่ ก็ต้องปลงอาบัติทั้งหมดที่ยังไม่ได้ปลงก่อนที่จะลาสิกขา แต่ยังมีข้อปลีกย่อยอีกมากนะคะ แต่ประโยชน์ที่สุดก็คือว่า ถ้าเป็นพระภิกษุ ตามพระธรรมวินัยไม่ได้ เป็นโทษมากกับตนเอง ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะพิจารณาว่า จะหวั่นเกรงโทษนั้นมั้ย เพราะว่าข้อความในพระไตรปิฎกก็แสดงโทษไว้มาก โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือว่าโดยสาวก เช่นท่านพระมหาโมคัลลานะ และท่านพระลักขณะ

    อ.อรรณพ ภพภูมิที่มีเปรต อสูรกายนี่ครับ สามารถที่จะมีโอกาสอนุโมทนาในส่วนกุศลที่มีผู้อุทิศให้ แต่การที่จะอุทิศส่วนกุศลได้ ก็ต้องมีผู้เจริญกุศล ถ้าเราจะพูดถึงทานกุศลนะฮะ เอาประเด็นทานกุศลเลย ก็มีผู้ให้ และผู้รับ ต้องมีความบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ และผู้รับ คือผู้ให้ ด้วยกุศลจิตไม่ใช่ด้วยความไม่รู้ และอยาก หรือเอาของที่ไม่สมควร

    ไปให้พระภิกษุ ไม่มีทางเลยนะครับ ที่เปรตจะอนุโมทนาได้ เพราะฉะนั้นเนี่ยความบริสุทธิ์ ฝ่ายผู้ให้เนี่ย ก็คือมีกุศลจิตที่มีการสละ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้รับ ถ้าผู้รับเป็นพระภิกษุก็ถวายของที่สมควรกับพระภิกษุ ถ้าผู้รับเป็นคฤหัสถ์ก็ให้ของที่สมควรนะครับ ไม่ใช่ให้สิ่งที่เป็นโทษกับเขา ส่วนที่สองก็คือความบริสุทธิ์ของผู้รับ ซึ่งผู้รับบริสุทธิ์เนี่ยครับก็คือ ถ้าเป็นภิกษุก็ต้องประพฤติตามพระธรรมวินัย มีผู้ถวายทานกับภิกษุที่ทุศีลนะฮะ ถึง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ พอครั้งที่ ๓ เนี่ย อมนุษย์นะ เปรตเนี่ย บอกเลยนะฮะว่า ถูกที่สุดผู้ทุศีลเนี่ยปล้น เพราะอนุโมทนาไม่ได้ เพราะผู้รับเป็นผู้ทุศีล ทีนี้เนี่ยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นภิกษุ เป็นบรรพชิตเท่านั้น ผู้ที่มีศีลมีกัลยาณธรรม มีตัวอย่างนะครับ ว่านางเวมานิกเปรต ลำบากเดือดร้อน ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่นะครับ แล้วก็มีคนเห็น เข้าบอกอยากจะช่วยจังเลย นางเปรตก็บอกว่าในกลุ่มของท่านเนี่ยมีอุบาสกผู้มีศีลนะครับ ก็ขอให้ทำประโยชน์กับอุบาสกนั้น ชนเหล่านั้นก็ให้ท่านอาบน้ำ แล้วก็ให้ท่านใส่ผ้าไหมอะไรเรียบร้อย นางเปรตอนุโมทนาทันที

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่อนุโมทนาในอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่เปรตนะคะ เมื่อมีผู้ที่ถวายทานแก่พระภิกษุทำบุญ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ เปรตไม่อนุโมทนาเลย เพราะภิกษุเป็นผู้ทุศีล เป็นผู้ตรงไหมคะ จะอนุโมทนาในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ในการกระทำที่ผิดได้อย่างไร

    อ.คำปั่น เพศบรรพชิตเป็นผู้ที่สละ อาคารบ้านเรือนแล้วนะครับ สิ่งที่เหมาะควรแก่ท่านก็จะเป็นสิ่งที่จะเป็นไป เพื่อประโยชน์ ให้ชีวิตของท่านเป็นไปได้ ในการดำรงชีวิต เพื่อที่จะศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญานะครับ อย่างเช่นอาหาร บิณฑบาต จีวร แล้วก็เครื่องใช้ต่างๆ ที่เหมาะควรแก่ท่าน พวกบาตร พวกมีดโกน พวกเข็ม พวกนี้ครับผ้ากรองน้ำ

    ที่จะเป็นเครื่องสำคัญ ในการที่จะทำให้ท่านดำรงชีวิต ในความเป็นบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สละแล้ว เพราะฉะนั้นวัตถุสิ่งอื่น ที่ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต อย่าง เช่นเงินทอง อันนี้ไม่ควรแน่นอนนะครับ แล้วก็แม้ในสมัยก่อนนะครับ ยานพาหนะนะครับ ที่เป็นพวกเกวียน ที่เป็น ไม่ใช่อย่างรถในสมัยนี้ครับ ยังไม่ควรเลย ก็ไม่ต้องกล่าวถึงสมัยนี้นะครับ ไม่ควรแน่นอน และที่สำคัญนะครับ การถวายสิ่งเหล่านี้นะครับ แก่ผู้ที่เป็นพระภิกษุผู้ให้ก็เป็นผู้ให้ที่ไม่ฉลาด ผู้รับก็เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่เข้าใจพระธรรมวินัย แทนที่จะกล่าวความจริงให้กับ ผู้ที่ถวายได้รับรู้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต แต่ก็กลับรับ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะครับ ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทนี่นะครับ พอได้ยินได้ฟังอย่างนี้นะครับ ก็พอที่จะเข้าใจว่าการกระทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย ก็ไม่มีใครชื่นชมสรรเสริญ ไม่มีใครอนุโมทนาในการกระทำอย่างนั้นครับ

    ท่านอาจารย์ คำถามของท่านผู้ฟังนะคะ ก็เป็นการเกื้อกูลในฐานะมิตร ต่อพุทธบริษัทด้วยกัน เพราะมิฉะนั้นแล้วนะคะ ก็จะมีผู้ที่ประพฤติผิดแล้วก็ชาวบ้านก็ไม่รู้คิดว่าทำได้ แต่ความจริงให้โทษกับพระภิกษุมาก เพราะเหตุว่าพระภิกษุจะไม่มีเรื่องที่เกี่ยวกับเงินทองใดๆ ทั้งสิ้น ภาระหรือกิจธุระของท่านก็คือ ศึกษาพระธรรมวินัย และประพฤติปฏิบัติในเพศของบรรพชิต ตามพระวินัย

    อ.คำปั่น พระภิกษุทุกรูปตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทุกยุคทุกสมัยทั้งหมด ต้องศึกษาพระธรรมวินัย น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย ไม่มีเว้นเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตามครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วก็มีชาวบ้านบางคนนะคะ ก็บอกว่านั่นคือภิกษุในฝัน ถ้าจะทำตามพระธรรมวินัยนะคะ หรือว่าในอุดมคติ หรือว่าอุดมการณ์ใดๆ ก็ตาม แต่ผู้นั้นหรือไม่มีพระภิกษุในฝัน ไม่มีภิกษุในอุดมคติ มีแต่ภิกษุในธรรมวินัย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ว่าในยุคใดสมัยใดนะคะ เปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าไม่เป็นพระภิกษุได้ ไม่จำเป็น แต่ถ้าเป็นต้องเป็นตามพระวินัย และก็ต้องศึกษาธรรมด้วย มิฉะนั้นพระภิกษุทำอะไร เพื่ออะไร บวชเพื่ออะไร ที่จะบวชเป็นพระภิกษุนะคะ ต้องรู้ว่าสามารถที่จะเจริญปัญญาในเพศบรรพชิตตามพระวินัย และศึกษาพระธรรมด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจธรรม จะขัดเกลากิเลสตามพระวินัยได้อย่างไร และพระวินัยนั้นก็เป็นธรรมด้วยนะคะ ที่จะทำให้ขัดเกลากิเลส

    ผู้ฟัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ยิ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วพระองค์ผู้เดียวเป็นผู้ที่ทรงบัญญัติพระวินัย แล้วใครไม่เคารพ ก็เท่ากับไม่เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง หาวิธีการยังไงที่จะให้เยาวชนของเราเนี่ย เข้าถึงธรรมได้ง่ายขึ้น

    ท่านอาจารย์ ค่ะเปลี่ยนธรรมให้เป็นอื่นได้มั้ย ให้ไม่ใช่ธรรมให้เป็นเราได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็เปลี่ยนไม่ได้นะฮะ

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนไม่ได้นะคะเพราะฉะนั้นเปลี่ยนธรรมให้เป็นอื่นไม่ได้ ธรรมก็ต้องเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อธรรมยาก จะเปลี่ยนให้ธรรมง่ายได้ไหม

    ผู้ฟัง หาวิธีการนะคะ วิธีการ

    ท่านอาจารย์ วิธีการนี่วิธีการของเรา หรือว่าของผู้ที่บำเพ็ญพระบารมี จนสามารถ ที่จะรู้ว่าหนทางนั้นคืออะไร ไม่ใช่หนทางของเราซึ่งไม่รู้ และพยายามจะเปลี่ยนไม่สำเร็จ แต่ผู้ที่ได้บำเพ็ญพระบารมีทรงตรัสรู้ และทรงแสดงหนทางไว้ด้วย เพราะฉะนั้นต้องเป็นหนทางของปัญญา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า ถ้าไม่ใช่ปัญญาเราจะแก้ไขอะไรได้ไหม ถ้าไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมแน่นอน แต่เพราะรู้ว่ามีผู้ที่สามารถเข้าใจได้ จึงทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฟังเลยเพิ่งเริ่มต้น สำหรับคนที่ฟังมาแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ทันที และก็สำหรับผู้ที่อบรมปัญญามานาน พร้อมที่จะรู้ความจริงนะคะ พอฟังแล้วอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พอฟังจบแล้วท่านก็เป็นพระโสดาบัน

    มิฉะนั้น ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงธรรม ก็ไม่มีใครได้ยินได้ฟังเลย แต่เปลี่ยนธรรมไม่ได้ เพราะยาก และลึกซึ้ง จึงเห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทรงตรัสรู้สิ่งที่ใครก็รู้ไม่ได้เพราะยาก และลึกซึ้ง สุดที่จะประมาณได้ แม้แต่เห็นเดี๋ยวนี้กำลังเห็น ก็แสดงความจริง ซึ่งผู้ฟังเริ่มไตร่ตรอง และเริ่มเข้าใจว่า เคยเป็นเราเห็นมานานแสนนาน เคยเป็นเราคิด เราสุข เราทุกข์ เราชอบ เราไม่ชอบ ความจริงถ้าธรรมประเภทนั้นๆ ไม่เกิดขึ้น จะมีเราเป็นอย่างนั้นไหม แม้แต่เริ่มเกิดมาตั้งแต่ขณะแรก ถ้าไม่ใช่ธรรมที่เกิดขึ้นจะเข้าใจ และยึดถือธรรมนั้นว่าเป็นเรามั้ย เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมีการเห็นแน่นอน มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นของธรรมดา ต้องมีแต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม และเมื่อพระธรรมยาก ใครไปทำให้ง่ายผิดหรือถูก

    ผู้ฟัง เอ่อเหมือนอย่างธรรมเนี่ย ใช่มันเป็นของที่ว่ายาก แต่ว่าถ้าสมมติว่า เราเหมือนเด็กเนี่ย ที่ยังไม่รู้ประสีประสาเนี่ยนะ เราก็จะมีวิธีการที่ให้เค้าเข้าถึง ทีละขั้นทีละตอน เพราะธรรมมันก็มีระดับความลุ่มลึก ไปตามลำดับนะฮะ

    ท่านอาจารย์ วิธีการของเรา หรือของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราพึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไหร่ เรากล่าวใช่ไหมคะ เรามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มีพระสงฆ์ซึ่งหมายความถึงพระอริยะบุคคลเป็นที่พึ่ง พุทธัง สรนัง คัจฉามิ ถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พึ่งตัวเองกันผิดๆ ทั้งนั้นเลย แต่เมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วใครพึ่งพระองค์ ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณว่าพระองค์สามารถที่จะรู้ความจริงซึ่งคนอื่นรู้ไม่ได้ เมื่อทรงแสดงพระธรรมแล้วนะคะ คนนั้นค่อยๆ เข้าใจ ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจได้ทันที เหมือนเราเรียนหนังสือนี่ค่ะ เราก็ไม่สามารถที่จะไปโรงเรียนวันแรก เข้าใจได้หมดเลย ก็เป็นไปไม่ได้ นี่ในสังสารวัฎฏ์ที่นานมาแล้ว กี่อสงไขยแสนกัปป์ ก็ไม่เคยได้ฟัง และก็ไม่เคยเข้าใจ เพราะฉะนั้นความไม่รู้มีมาก แต่จะหมดได้เหมือนพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งดับกิเลสไปแล้วเป็นจำนวนมาก ท่านก็ไม่ได้เปลี่ยนธรรมให้ง่าย แต่ธรรมที่ลึกซึ้งนั้นแหละสามารถที่จะเข้าใจได้ และโดยเฉพาะนะคะ ถ้าศึกษาพระธรรม อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔ ไม่เว้นเลย แม้แต่อริยสัจจะที่ ๑ ทุกขอริยสัจจะ เพราะฉะนั้นเราประมาทไม่ได้เลยค่ะ เราคิดเองไม่ได้ และอีกประการหนึ่งนะคะ คิดถึงแต่เด็ก ทำยังไงเด็กถึงจะเข้าใจธรรม แล้วผู้ใหญ่ล่ะ จะเอาใครมาสอนเด็ก ถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจธรรม ไม่มีทางเป็นไปได้เลยค่ะ เพราะฉะนั้นคิดถึงคนอื่น แต่ใครเป็นที่พึ่ง มีตนเองเป็นที่พึ่ง โดยฟังพระธรรมจนเข้าใจว่าตนคืออะไร ที่เป็นที่พึ่งได้ต้องเป็นกุศลธรรมที่ประกอบด้วยปัญญา จึงสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง อันที่จริงนะคะ อันนี้เหมือนอย่างที่เราเคยได้ยิน พระธรรมคำสั่งสอน มีเคยบอกไว้แล้วว่า การปฏิบัติธรรมเนี่ยคุณไม่ต้องไปดูที่ตรงไหน มาดูที่ตัวเอง ดูในกายยาววา หนาคืบนะคะ เราได้ยินคำนี้มานานแล้ว แต่ว่ากว่า

    ท่านอาจารย์ เท่านี้ได้มั้ยนะคะ ได้ยินมานานแล้ว เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่าปฏิบัติธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คือเอาของที่ไม่ดีออกจากตัวเรานะคะ

    ท่านอาจารย์ ทำยังไง

    ผู้ฟัง เอากิเลสออกไปสิคะ

    ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ ยังไง เอาออกได้ยังไง

    ผู้ฟัง ก็ปล่อยวางค่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ปล่อยวาง ใครปล่อยได้

    ผู้ฟัง มันก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้จากพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ทีอย่างนี้จะค่อยๆ เรียน จะค่อยๆ รู้ ถ้าค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ จะรู้ปล่อยวางไม่ได้ เพราะเราต่างหากที่เข้าใจว่าปล่อยวาง เดี๋ยวเนี้ยปล่อยวางอะไร ถ้าจะปล่อยวาง จะปล่อยวางอะไร

    ผู้ฟัง ปล่อยวางสิ่งที่ไม่ดีในตัวเรา โดยที่เอาคำสอนของพุทธเจ้ามา แล้วก็มาประพฤติปฏิบัติน่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เอามาประพฤติปฏิบัติ แต่เข้าใจให้ถูกต้อง แม้แต่คำว่าปฏิบัติธรรมคืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจเลยปฏิบัติได้มั้ย ใครปฏิบัติ ปฏิบัติคืออะไรก็ยังไม่รู้เลย มีแต่ตัวเราซึ่งจะทำอย่างนั้นจะทำอย่างนี้ คิดว่าเราทำได้ เราจะทำ แต่ว่าความจริง ปัญญามีหรือเปล่า ถ้าไม่มีปัญญาอะไรทำ อวิชชาทำ เพราะสองอย่างนี้ตรงกันข้ามกัน

    ผู้ฟัง ก็เหมือนเมื่อก่อนนี่เราเกิดมา เรามีกิเลสท่วมหัวท่วมหูนะคะ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี่มีไหมคะ

    ผู้ฟัง ตอนนี้ก็มี แต่ว่ามัน

    ท่านอาจารย์ ท่วมหัวท่วมหูเพิ่มขึ้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเราเข้าใจธรรมแล้ว แล้วเราเอามา

    ท่านอาจารย์ ไม่มีคำว่า ถ้า เพราะเหตุว่าขณะนี้นะคะ คือความจริงเข้าใจหรือไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจค่ะ เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าการที่เราเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นนี่มันเป็นสิ่งที่มันเป็น

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เลยมีโลภมั้ยค่ะ

    ผู้ฟัง ตอนนี้ไม่มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ ผิด นี่คือไม่ได้ศึกษาคำสอน คิดเองว่าไม่มี จนกว่าจะได้ฟังคำสอน ที่แสดงการเกิดดับสืบต่อของจิตอย่างละเอียดแต่ละ ๑ ขณะ จะกล่าวว่ารู้คำสอนยังไม่ได้ค่ะ ถ้ารู้คำสอนก็จะรู้ว่าขณะไหนมีกิเลส ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง จากเมื่อก่อนพอเรามีผัสสะมากระทบ ใช่มั้ยคะ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนนะคะ ผัสสะคืออะไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่มากระทบเราเนี่ย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่

    ผู้ฟัง มากระทบจิต มากระทบจิต

    ท่านอาจารย์ อะไรมากระทบจิต

    ผู้ฟัง เป็นคำพูดเป็นวาจา หรืออะไรก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรเป็นผัสสะ ใช้คำที่ไม่รู้จัก ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเฉพาะคำภาษาอื่น เช่นคำว่า ผัสสะ วันนี้ตั้งแต่เช้ามา ผัสสะอะไรบ้างหรือเปล่าคะ ตั้งแต่เช้ามาผัสสะอะไรบ้างหรือเปล่า ไม่รู้เลยว่าผัสสะคืออะไร ถ้าจะใช้คำนี้ก็ใช้อย่างไม่รู้ค่ะ ถ้าใช้อย่างไม่รู้ ก็จะถามอย่างไม่รู้นะคะ ว่าวันนี้ผัสสะอะไรบ้างหรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    21 มิ.ย. 2567