ปกิณณกธรรม ตอนที่ 891


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๙๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมเอเชี่ยน หาดใหญ่ จ.สงขลา

    วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ผู้ฟัง ได้ฟังเรื่องพระวินัยแล้ว ดิฉันมีความรู้สึกส่วนตัวอยู่นิดหนึ่งว่า จริงอยู่แม้ว่าพระวินัยสำหรับพระภิกษุ แต่ว่าในส่วนตัวดิฉันเองมีความรู้สึกมาตลอดว่า เมื่อเรามาศึกษาพระธรรมแล้ว ตัวเราเองด้วย ที่จะต้องค่อยๆ สำรวม ในทุกลักษณะที่สามารถเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การแสดงออก การยิ้ม การหัวเราะ หรือแม้แต่ในเรื่องต่างๆ อันนี้ดิฉันคิดว่าควรจะต้องเป็นความรู้สึกที่สำนึกของเราเองว่า ถ้าไม่อย่างนั้น การศึกษาเราอยู่ส่วนหนึ่งแล้วเราประพฤติอีกส่วนหนึ่ง ก็เท่ากับว่าเราเพียงแต่เป็นผู้มีความรู้ แต่ไม่มีอะไรที่เข้าไปอยู่ในกาย หรือในจิตที่แท้จริงของเราเลย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีความรู้สึกว่า ขณะที่เราเรียนพระธรรม พระธรรมต้องมีส่วนในการที่จะกล่อมเกลาให้เรา มีความราบรื่น เกลี้ยง หรือว่าสะอาดขึ้นในหลายๆ ทาง เท่าที่สามารถจะทำไปได้ จะเป็นส่วนที่ดีที่สุด เพราะนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจธรรมจริงๆ ถ้าเราจะอ่านพระสูตรให้เข้าใจลักษณะของพระสูตรจริงๆ ทรงมีพุทธประสงค์อย่างไร ให้เข้าใจแค่ไหน ให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างไร เพราะดิฉันเชื่อว่าต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ ปรมัตถธรรมคือจิตเจตสิกรูปนั่นเอง แต่ถ้าไม่เข้าใจก็อ่านเป็นเรื่องเป็นราวแล้วก็ได้อยู่แค่นั้นอีก วันนี้ได้โอกาสขอกราบเท้าท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นประโยชน์ที่ท่านผู้ฟังได้รับจากการได้เข้าใจพระธรรม แต่คงไม่ลืมพระธรรมลึกซึ้งอย่างยิ่ง ละเอียดอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง อย่างเรื่องของพระวินัย ใครก็ตามที่อ่านแล้ว ไม่จำกัด ทำตามได้ทุกข้อที่ดีงาม เพราะว่าไม่มีใครบังคับให้ทำ แต่ว่าตามการสะสมที่จะเห็นประโยชน์ว่า เมื่อพระวินัยงามอย่างนี้ ถึงแม้คฤหัสถ์ซึ่งไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ ก็ประพฤติปฏิบัติตามได้ แต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราที่จะไปพยายาม ข้อโน้นข้อนี้จะทำ แต่เมื่อเกิดการเข้าใจ และรู้ว่าค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปตามความเข้าใจโดยที่ว่าบังคับบัญชาไม่ได้เลย แต่สิ่งซี่งต่างกันมากระหว่างชีวิตคฤหัสถ์กับบรรพชิต ก็คือว่าคฤหัสถ์ไม่สามารถที่จะทำตามพระวินัยได้ทุกข้อ ประเด็นที่ชัดเจนคือเรื่องเงินทอง คฤหัสถ์ไม่รับเงินรับทอง ไม่ใช้เงินไม่ใช้ทองได้ไหม

    เพราะฉะนั้นขัดเกลากิเลสในข้ออื่นที่เป็นไปตามการเห็นประโยชน์ ในเรื่องการพูด ในเรื่องการกระทำทางกายวาจา ในเรื่องการบริโภคอาหาร ในเรื่องการเป็นแขกไปสู่ที่หนึ่งที่ใด เจ้าของบ้านยังไม่ได้เชื้อเชิญเลยก็นั่งแล้ว อย่างนี้ก็เป็นการที่เมื่อเห็นความดีงาม ของความประพฤติที่ขัดเกลาอย่างยิ่งของพระวินัย ก็รู้ว่าคฤหัสถ์ก็ทำตามได้ แต่ทั้งหมดต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องจะเข้าใจเลยว่าไม่ว่าจะเป็นพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรมก็เป็นธรรม ถ้าไม่มีธรรมเลยจะมีพระวินัยไหม จะมีพระสูตรไหม จะมีพระอภิธรรมไหม เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่า พระวินัยคืออะไร เป็นธรรมแน่นอนค่ะแล้วก็เป็นกุศล และอกุศลขณะใดที่ทำสิ่งที่ไม่สมควรไม่ใช่ใครเลย แต่เป็นธรรมที่สะสมมาที่เป็นอกุศล แล้วถ้าเป็นเพศบรรพชิตต้องรู้เลยว่าจะเป็นอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ คือคฤหัสถ์เวลาที่โกรธ แล้วก็ทำสิ่งที่เป็นไปตามความโกรธ อาจมีกายวาจาประพฤติแล้วเป็นไปแล้วตามความโกรธ แม้เสียงแข็งนิดเดียวใช่ไหม ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ก็รู้ว่าทำให้คนฟังเดือดร้อน ความโกรธไม่ได้อยู่เฉพาะทำร้ายตนเองขณะที่โกรธ เพราะเหตุว่ากิเลสทั้งหมดไม่ได้ทำร้ายใครเลย นอกจากกิเลสนั่นแหละเกิดกับจิตใดก็ทำร้ายจิตนั้น ให้เศร้าหมอง จนกระทั่งระดับขั้นต่างๆ ที่ล่วงเป็นทุจริตทางกาย ทางวาจา

    เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ละเอียดที่เข้าใจว่าไม่มีเรา แต่เป็นธรรมทั้งหมด แต่ว่าการที่ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อความขัดเกลาอย่างยิ่งในเพศบรรพชิต แต่คฤหัสถ์สามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ตามควรแก่เพศคฤหัสถ์ คฤหัสถ์รับเงินทอง ใช้เงินทอง หาเงินทอง ทำอะไรได้หมดทุกอย่าง แต่ว่าบรรพชิตจะเกี่ยวข้องกับเงิน และทองไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นพระวินัยบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว ด้วยเหตุนี้ทั้งหมดเป็นธรรม ถ้าไม่มีธรรม ไม่มีกิเลส ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล ไม่มีการล่วงละเมิด ไม่มีการสำนึกหรือว่าเห็นว่าเป็นโทษ

    เพราะฉะนั้นทั้งหมดเป็นธรรมแต่ที่เป็นพระวินัยเพราะเพศต่างกันสำหรับบรรพชิต และคฤหัสถ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าคฤหัสถ์แล้วไม่ต้องละกิเลส แต่ว่าไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่สะสมมาที่จะเห็นโทษของสิ่งหนึ่งสิ่งใดแม้ในเพศคฤหัสถ์ ก็ไม่ต้องบอกใคร ฉันไม่ทำอย่างนี้ ฉันละข้อนั้น ฉันจะประพฤติตามกี่ข้อในพระวินัย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะเหตุว่าเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ได้เข้าใจธรรม ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมฝ่ายดี และไม่ดี เพราะฉะนั้นปัญญาซึ่งเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงนั้นละ ไม่ใช่เรา ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ทรงรู้อัธยาศัย การสะสมมาของแต่ละหนึ่งไม่ว่าแต่ละหนึ่งนั้นมายังไง ไปยังไงในชาติไหน พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็รู้ความต่างกันของแต่ละหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือคฤหัสถ์

    ด้วยเหตุนี้ สำหรับคฤหัสถ์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนที่ เวลากวาดบ้านจะไม่ฟังธรรม หรือเวลาซักผ้าจะไม่ฟังธรรม เวลารับประทานอาหารจะไม่ฟังธรรม เพราะเหตุว่าเป็นคฤหัสถ์ และระหว่างที่ฟัง และไม่ฟัง ประโยชน์อยู่ที่ไหน แม้ว่าขณะหนึ่งขณะใดก็ตาม จะอาบน้ำ จะทำอะไรก็ตามเป็นชีวิตประจำวันทั้งหมด ถ้าได้ฟังธรรมแล้วจะเข้าใจธรรมในขณะนั้นเป็นไปได้ไหม ถ้าสะสมมา เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะล่วงรู้ถึงการสะสมของปัญญา แต่ละหนึ่งขณะที่เข้าใจธรรมว่าสะสมมาอย่างไร มากน้อยแค่ไหน และถึงเวลาไหนที่จะ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่ทำอาหารฟังธรรมได้ไหม ได้ กำลังทำอาหารไม่ใช่เพียงแค่ฟังธรรม ถ้าอบรมมาพอ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้นกุศลทุกประเภท ไม่ใช่เป็นเราเลือกด้วยความเป็นเรา แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เดียวที่จะรู้ถึงความลึกซึ้ง ความลึกล้ำของแต่ละขณะของแต่ละชาติที่ทำให้เป็นแต่ละคน เพราะฉะนั้นทรงแสดงธรรมไว้ เพื่อเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ในชีวิตประจำวันที่สะสมมาแล้ว อะไรเก่งมาก โลภะ อกุศล ความไม่รู้ ทำได้แนบเนียนมาก ที่จะพาไปสู่หนทางที่ไม่ใช่การรู้ เพราะฉะนั้นก็อาจจะพาไปป่า พาไปที่ไหนก็ได้ คิดว่าขณะนั้น ได้กระทำสิ่งซึ่งสามารถจะทำให้เข้าใจธรรมได้ แต่สำเร็จ หรือเปล่า เพราะฉะนั้นต้องรู้เลยว่าปัญญาที่มีความเข้าใจที่จะละ ความเป็นเรา และปัญญานั้นต้องเห็นโลภะด้วย ขณะไหนบ้าง เช่นในขณะที่กำลังเห็น ยากมากเลยที่จะรู้ว่าอกุศลเกิดแล้ว แต่ทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริงให้เข้าใจถูกต้อง แม้เพียงแค่เห็น อกุศลก็เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นจะครองใจไปนานอีกเท่าไร ถ้าไม่สามารถที่จะรู้เท่าว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่โลภะ จะพาเขาเบี่ยงเบนไปจากการที่จะเป็นปกติที่จะเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่คิดว่าจะไม่ทำอย่างนั้น จะไม่ทำอย่างนี้ เป็นเรา หรือเปล่า แต่ผู้ที่ไม่ว่าอะไรเกิดแล้วเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม ไม่มีการเตรียมตัวคิดก่อนว่าจะทำ เพราะคิดอย่างไรก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ เพราะทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้นกว่าจะมีความมั่นคงจริงๆ ความต่างกันของความเห็นถูก กับความเข้าใจผิด ระหว่างความติดข้องกับการละ เพราะฉะนั้นติดข้องอะไรที่สุด ในตัวเองว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นเราก็จะคอยเลือก คอยทำทุกๆ อย่างเพื่อเรา ยังไม่เห็นโลภะ แต่เมื่อไรก็ตาม คิดก็รู้ว่าแค่คิด จะเป็นจริงอย่างที่คิด หรือเปล่าก็ไม่รู้ และโอกาสที่จะอยู่ในโลกนี้ต่อไปต้องมีภารกิจแน่นอนใช่ไหม ขันธ์นี้เป็นภาระ ยังไม่อยากจะพูดให้ชัดเจน เพราะว่าให้คิดเองบ้าง ฟังแล้วก็ไตร่ตรองบ้างว่าคำนี้มีโอกาสจะเข้าใจได้ไหม ภาระคือสิ่งที่ต้องเป็นไป ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้เลย หนักไหม ไม่คุ้นเลยว่าหนักมากแค่ไหน เพราะทำจนชินเห็นก็เห็นจนชิน ไม่เห็นเดือดร้อน ได้ยินก็ได้ยินจนชิน ไม่เห็นเดือดร้อน คิดก็คิดจนชิน เป็นธรรมดา แต่ถ้าไม่เห็นจะดีกว่าไหม ความต่างกันของปัญญา เห็นทำไม ในเมื่อยังไม่มีเห็น แล้วก็มีเห็น แล้วเห็นก็หมดไปไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฎ แล้วเห็นทำไม สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วแน่นอน ขณะที่ปรากฏยังไม่ดับ แต่แล้วก็ต้องดับหมดไป แล้วเห็นทำไม แล้วปรากฏให้รู้ว่ามีทำไม ในเมื่อแค่มีนิดเดียวแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย

    กว่าคำนี้ จะลงไปถึงใจ ถึงการสะสมที่เคยสะสมความไม่รู้มานานแสนนาน กว่าจะคล้อยตาม แล้วเกิดทำไม แล้วเห็นทำไม แล้วคิดทำไม ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ติดข้อง เพื่อไม่รู้ นั่นคือผู้ที่ไม่ได้ฟังธรรมยังไม่เห็นความลึกซึ้งละเอียดอย่างยิ่งของธรรมว่า ไม่ใช่เราจะไปละกิเลส แต่ปัญญาความเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อยค่อยๆ ละความไม่รู้ คือความยึดมั่นในความเป็นเรา ด้วยเหตุนี้ กำลังล้างเท้า คิดถึงธรรมได้ไหม กำลังทำอาหารคิดถึงธรรมได้ไหม ถ้าไม่คิดถึงธรรมฟังธรรมได้ไหม เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ว่าทั้งหมดเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ใครจะฟังธรรมแล้วไม่ทำอะไรก็ได้แล้วแต่อัธยาศัย มีท่านผู้หนึ่งทุกครั้งที่ท่านจะฟังธรรม ท่านตื่นแต่เช้า อาบน้ำ แต่งตัวเรียบร้อยสะอาดหมด ประนมมือฟังธรรม ใครทำอย่างนั้นบ้าง ก็แล้วแต่ แต่ว่าเข้าใจธรรมหรือเปล่าว่าไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียว แล้วเมื่อไหร่จะละ ขณะที่กำลังอาบน้ำแต่งตัวเรียบร้อยเตรียมพร้อมที่จะฟังธรรม ภายหลังไม่กี่ปีท่านก็ป่วย ไม่ฟังธรรมเลย เพราะว่าอกุศลที่สะสมมามากกว่ามาก กับการที่เคยได้ฟังธรรมมา

    ด้วยเหตุนี้ประมาทไม่ได้เลย จะกวาดบ้าน จะซักผ้า จะรับประทานอาหาร จะทำอะไร ถ้าได้ฟังก็ฟังเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ถ้าจะไปเตรียมตัวทำแบบนั้นด้วยความเป็นเราจะต้องเป็นอย่างนั้น แล้วเวลาไม่เป็นอย่างนั้นก็ไม่ฟัง ไม่มีโอกาสจะได้เข้าใจธรรมเลย ด้วยเหตุนี้ความละเอียด ความลึกซึ้ง ความลึกล้ำของธรรม ปัญญาเท่านั้นที่รู้ ถ้าปัญญาไม่เกิดไม่มีทาง ทันโลภะเลย รู้ไม่ทัน เป็นโลภะไปแล้วทั้งหมดเลย ด้วยเหตุนี้ อวิชาไม่รู้อะไรเลย ไม่สามารถที่จะเข้าใจอะไรได้เลยทั้งๆ ที่กำลังปรากฏแล้วโลภะ เพราะไม่รู้จึงติดข้องอย่างหนาแน่น เหนียวแน่นมาก

    ถ้าได้ยินคำว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้ว ก็กล่าวว่า พระธรรมที่ได้ฟังเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง ส่องประทีปในที่มืด ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ขณะนั้นรู้เลยความที่ลึกซึ้งที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้ และทรงแสดง เหมือนหงายของที่คว่ำ เวลานี้อะไรถูกคว่ำ อะไรกำลังหงายอยู่ ให้ปรากฏว่ามีคือสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ แต่รู้ไหมว่าถ้าจิตไม่เกิด ไม่มีสภาพรู้เลย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏไม่ได้ จะเป็นคนเป็นสัตว์มากมายเป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ เพียงจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ใหม่เกิดขึ้น และเริ่มจากเห็น ก็จะใช้คำว่าบานปลายก็ได้ ออกไปมากมายเยอะทุกเรื่องตลอดชีวิต

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าขณะนี้ มีธาตุรู้คือจิต และเจตสิกกำลังเกิดดับทำกิจการงานไม่หยุดเลยตั้งแต่เกิดจนตายทุกขณะขาดไม่ได้เลย รู้จิต เจตสิกไหม ถูกคว่ำอยู่ติดข้องแต่ในสิ่งที่ปรากฏ เพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น การฟังธรรมคือไม่เลือกว่าเป็นเราเป็นใคร ขณะไหน อย่างไรจนกว่าทั้งหมดเป็นธรรมแล้วเป็นอภิธรรม ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ขณะนี้คนนั้นนั่งอยู่ที่นี่ บนโต๊ะมีอะไรบ้าง ถ้าจิตไม่เกิดรู้ทีละหนึ่ง แต่ละทาง จะรู้ความจริงไหมว่าเป็นธรรม คือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตาไม่มีใครไปทำให้เกิด เพราะฉะนั้นถ้าจงใจตั้งใจจะทำด้วยความเป็นเรา หรือสามารถที่จะเข้าใจทันทีว่าขณะนั้นก็เป็นธรรม ความคิดความจงใจความตั้งใจที่เกิดขณะนั้นมีสั้นมากก็รู้ได้ เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง จะหลงทางถ้าฟังคำคนอื่นซึ่งไม่ใช่คำที่ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าไม่ใช่สัจจธรรม แต่ว่าธรรมที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ไม่เปลี่ยนเลยทุกกาลสมัย เห็นต้องเป็นเห็น ไม่รู้ก็คือไม่รู้ความยึดถือเห็นว่าเป็นเราก็ยังเป็นความยึดถือเห็นว่าเป็นเรา เป็นธรรมทั้งหมดไม่ว่ากุศลธรรม และอกุศลธรรม ถ้าไม่รู้อย่างนี้กุศลธรรมเป็นเรา ดีใจมากเลยได้ฟังธรรม ได้เข้าใจ พออกุศลเกิดก็ไม่ชอบเลย ให้หมดไปเร็วๆ แล้วอกุศลนั้นเป็นของใครหรือเปล่า เกิดแล้วดับแล้วเช่นเดียวกับกุศล

    เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริง มีความมั่นคงที่จะไม่เปลี่ยนเลยก็คือฟังธรรมแล้วเริ่มเข้าใจความจริง มีความมั่นคงในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณ ทำให้เราได้ฟังความจริงซึ่งกำลังมีในขณะนี้ นั่นคือการที่เราจะรู้ความต่างกัน ว่าแม้โลภะก็ไม่ใช่เรา แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญาไม่รู้เลยยังไงก็ไม่ทำอย่างโน้น ไม่ทำอย่างนี้ เพราะติดข้องอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วใครละ ก็เรา เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ต้องไม่ลืมธรรมทั้งหลายไม่เหลือเลย เป็นอนัตตา ถ้าไม่ใช่หนทางนี้ จะไม่รู้ความจริงของธรรม เพราะเป็นเรามานานแสนนาน กว่าจะค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม ให้เห็นความเป็นปกติ บังคับบัญชาได้ไหม เกิดแล้วดีกว่าไปคิดว่าจะไม่อย่างนั้นจะไม่อย่างนี้ ไม่เหมือนกับธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้ว สามารถเข้าใจในธรรมแต่ละหนึ่ง บังคับไม่ได้ว่าเมื่อไหร่จะรู้แจ้งสภาพธรรม เดี๋ยวนี้ยังไม่รู้ใช่ไหม เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น วันหนึ่งจะเกิดเป็นใคร ชาติไหนไม่รู้ แต่เพราะสะสมมาแล้วที่จะเข้าใจธรรม

    อย่างท่านพระสารีบุตร เคยเกิดเป็นใครมากมายเท่าไหร่ก็ตามท่านรู้ไหมว่าท่านจะได้ฟังคำของท่านพระอัสสชิ เมื่อครั้งที่ท่านยังไม่ได้เป็นท่านพระสารีบุตรยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ เลือกไม่ได้ทุกท่านวันหนึ่ง จะรู้สภาพธรรมแต่ด้วยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ด้วยความหวังรอทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ซึ่งกั้นไม่ให้ปัญญาเกิดเลย เพราะเหตุว่าเป็นตัวตน ที่พยายามทุกอย่างแล้วจะละความเป็นตัวตนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นความเป็นผู้มีปกติ ก็คือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดแล้ว ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่เข้าใจถูกได้ว่านั่นแหละเป็นอนัตตา

    อ.คำปั่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสรู้ความจริง และพระบารมีคือคุณความดีทั้งหมดที่พระองค์ได้สะสมอบรมมาก็เพื่อที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลก พระองค์จึงทรงแสดงความจริงก็คือทรงแสดงพระธรรมคำสอนซึ่งเป็นคำจริง เป็นวาจาสัจจะ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นสาวก เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นสาวกทั้งหมดต้องได้ยินได้ฟังคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้นจากแต่ละคำ แต่ละคำที่ได้ยิน ก็อุปการะเกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างแท้จริง

    ผู้ฟัง ถ้าเราจะสอบถามเกี่ยวกับเรื่องพระวินัยของพระสงฆ์ ในฐานะฆราวาส สมควรหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สมควรอย่างยิ่ง

    ผู้ฟัง ไม่เป็นการลบหลู่ท่านใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การศึกษาพระธรรมวินัยไม่ใช่การลบหลู่ ถ้าไม่ศึกษาไม่เข้าใจลบหลู่หรือเปล่า เพราะไม่รู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงบำเพ็ญพระบารมี เมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้วก็มีผู้ที่มีศรัทธารู้อัธยาศัยว่า สมควรที่จะดำเนินตามรอยพระบาท คือพระบรมศาสดา เป็นบุตรที่เกิดจากอุระ คือทรงประทานให้ได้เป็นภิกษุ เพื่อที่จะได้ประพฤติตามพระองค์ เพื่อขัดเกลากิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นธรรมวินัยทั้งหมด เมื่อเปิดเผยแล้ว ยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย และพระธรรม แต่ถ้าปกปิดไว้ไม่มีใครรู้ถึง พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้ที่บัญญัติพระวินัยด้วยพระองค์เอง ต้องด้วยพระมหากรุณา และด้วยพระปัญญา ที่จะอนุเคราะห์ให้ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการที่จะขัดเกลากิเลส และจะประพฤติตาม ต้องประพฤติตามอย่างบริสุทธิ์ยิ่ง เช่นเดียวกับพระองค์

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นผมขอรบกวนเริ่มจากว่า วินัยของพระภิกษุ นี้คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณอรรณพ

    อ.อรรณพ วินัยก็คือ การนำออก นำออกจากอะไร นำออกจากกิเลสอกุศล ถ้าจะพูดถึงวินัยที่เป็นสิกขาบทของบรรพชิต ก็มีความละเอียดมาก ก็คือศีล ๒๒๗ ข้อ ของภิกษุ ส่วนคฤหัสถ์ก็มีวินัยของคฤหัสถ์ ศีลที่เป็นเบื้องต้นด้วย คฤหัสถ์ไม่ใช่บรรพชิต ชีวิตต่างกัน เพศต่างกัน วินัยต่างระดับกัน อย่างเป็นเพศคฤหัสถ์ ไม่ล่วงอกุศลกรรมบท ๑๐ ก็คือกายกรรม ๓ ไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เว้นวาจา พูดเท็จ พูดส่อเสียดให้คนเขาแตกกัน พูดคำหยาบให้เขาเสียหาย พูดเพ้อเจ้อประกอบการหลอกลวงเขาให้เขาเสียประโยชน์ แล้วมโนกรรมอีก ๓ ก็คือ ความเห็นผิดแล้วก็ไปแนะนำให้คนอื่นเขาเข้าใจผิดทำผิดไปก็เป็นโทษมาก พยาปาทะ ความผูกพยาบาท ซึ่งมีกำลังแล้วก็ทำให้ล่วงการฆ่าสัตว์ อภิชชา ที่มีความเพ่งอยากได้ วางแผนแล้วก็ขโมยชองเขาได้ในที่สุด นี่คือวินัยของคฤหัสถ์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    26 เม.ย. 2567