ปกิณณกธรรม ตอนที่ 847


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๔๗

    สนทนาธรรม ที่ ภูพานเพลส จ.สกลนคร

    วันที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ อย่างโกรธถ้าวันนี้เราไม่โกรธ เหมือนไม่มีความโกรธเหมือนเป็นคนไม่โกรธ แต่พอโกรธเกิดขึ้นรู้เลย เพราะฉะนั้นจากคนที่เคยดี เพราะยังไม่มีเหตุที่จะให้ทำสิ่งที่ไม่ดี ก็ปรากฏว่าไม่ดี ระดับไหน เพราะมีเหตุที่จะให้เกิดขึ้น อย่างองคุลิมาร ดีหรือไม่ดี ฆ่าคนมาก แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วเป็นพระอรหันต์ เป็นได้ยังไง ถ้าไม่มีการสะสมมาซึ่งไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นแต่ละจิตของแต่ละคน ไม่มีทางปรากฏเลยว่าสะสมความพอใจอะไรมามากน้อยแค่ไหน แม้แต่สีใครชอบสีแดง ใครชอบสีชมพู ใครชอบสีม่วง ใครชอบสีเหลือง ทุกคนรู้ใช่ไหม ปากกาเหมือนๆ กันหมดเลย คุณภาพเท่ากันหมด เลือกสีไหม เลือกอันไหนก็ได้อะไรก็ได้ นี่แสดงถึงความติดอย่างมาก ความไม่รู้อย่างมาก เพราะฉะนั้นประมาณไม่ได้เลยว่าความไม่รู้ และความติดข้องของแต่ละคนมากแค่ไหน ที่แล้วมาในแสนโกฎกัลป์ ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป เพราะไม่รู้อย่างนี้ จะเปลี่ยนแปลงได้ยังไงก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นมาอีกแสนโกฎกัลป์ เพราะฉะนั้นพอได้ฟังพระธรรม รู้เลยไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจ แต่ว่าความเข้าใจเพียงแค่นี้ดับกิเลสไม่ได้

    เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ขณะใดที่ฟังแล้วเข้าใจรอบรู้มั่นคง ขณะนั้นเป็นปริยัติ เราได้ยินคำว่าปริยัติบ่อยๆ รอบรู้ในพระพุทธพจน์ ไม่ใช่เพียงฟังคำของใครก็ไม่รู้ พูดเรื่องอะไรก็เหมือนเดิม ไม่เห็นต่างจากเดิม แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำไม่เหมือนคำของคนอื่น ใครเคยบอกว่าชนะนี้ทุกสิ่งที่ปรากฏต้องเกิด แล้วทันทีที่เกิดก็ดับไปเร็วสุดที่จะประมาณได้ จนไม่ปรากฏการเกิดดับ จริงหรือเปล่าก็เดี๋ยวนี้ไง ก็ลองแยกออกมาเป็นแต่ละขณะจิตซิ ก็เป็นหลากหลายมาก ซึ่งหนึ่งต้องดับไปก่อน แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ถ้าจิตขณะนั้นยังไม่ดับจิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้ เพราะว่าจิตเองเป็นปัจจัยที่ทันทีที่จิตนั้นดับ จิตอื่นต้องเกิดสืบต่อ แต่จิตอะไรจะเกิดสืบต่อ ยังต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง กรรมใดทำให้จิตประเภทใดเกิดขึ้น กิเลสได้ทำให้กิเลสชนิดใดเกิดขึ้น ทั้งหมดศึกษาแล้วก็จะรู้ว่า ไม่มีเราเลย เพราะว่าความไม่ใช่เรา ความเป็นสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง จะค่อยๆ ละเอียดชัดเจน จนกระทั่งจิตเห็น ไม่มีใครทำให้เกิดได้แต่ต้องเกิดเมื่อมีปัจจัยพร้อม เพราะฉะนั้นปัจจัยพร้อม อะไรบ้างไม่ใช่เพียงหนึ่งปัจจัย แค่เห็นหนึ่ง ขณะนี้ไม่ใช่เรา ใครก็ทำให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วไม่ดับก็ไม่ได้ ความเป็นธรรมทั้งหมดเพราะผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่ออนุเคราะห์ให้เห็นว่าไม่ใช่เราแน่นอน แต่นี่คือปริยัติ เมื่อรอบรู้อย่างมั่นคง ขณะนี้เห็นมี ถ้าไม่รู้ว่าเห็นเกิดแบบขณะนี้ แล้วจะเห็นเมื่อไร เพราะอย่างอื่นยังไม่เกิด จะไปเห็นได้ยังไง ขณะนี้ที่กำลังได้ยิน ถ้าไม่รู้ความจริงของได้ยินขณะที่ได้ยินปรากฏแล้วจะไปรู้อะไร เมื่อไหร่ เพราะสิ่งอื่นยังไม่ปรากฏยังไม่เกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดแล้วก็ไม่มีเหลือให้รู้ ต้องเป็นสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ เพราะฉะนั้นกว่าจะเข้าใจถึงสภาพธรรม คือเข้าใจคำว่า"ธรรม"เพราะมีธรรมจริงจริงให้รู้ ในขั้นที่ไม่เพียงแค่ฟังก็จะต้องอาศัยการฟังมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง ความจริงเปลี่ยนไม่ได้ความจริงเป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้นจากปุถุชนซึ่งหนาแน่นด้วยกิเลส และก็มีความเข้าใจธรรมขึ้น ต่างกันไหมกับคนที่ไม่เคยฟังเลย ไม่เข้าใจเลย คิดเองหมดเลย เป็นเราจะต้องทำอย่างนั้นจะต้องทำอย่างนี้ แต่ว่านั่นเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ เพราะว่าถ้าคำใดเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนั้นเป็นคำของปัญญา ทุกคำต้องเข้าใจว่าคืออะไร ละเอียดขึ้นละเอียดขึ้นทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่มีที่เพิ่ง คือรู้ว่า คำใดเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้า เข้าใจอย่างนี้ก็มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง แล้วก็รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ และทรงแสดงพระธรรม และก็รู้ว่าถ้าไม่มีความเข้าใจถูกต้องตามลำดับขึ้น ดับกิเลสไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ดับกิเลสกันหมดเลย คนอื่นก็คิดว่าคนนี้ดับกิเลสแล้ว แล้วรู้อะไรกันบ้าง

    อ.วิชัย ได้ยินคำว่ากิเลส ไม่ทราบว่ารู้จักกิเลสกันบ้างไหม รู้ว่ามีใช่ไหม แต่รู้จักกิเลสนี้คืออะไร

    ท่านอาจารย์ บอกว่ารู้จักกิเลสแต่ไม่รู้ว่ากิเลสคืออะไร อย่างนี้หมายความว่าไง แสดงให้เห็นว่าเพียงแค่ได้ยินชื่อ ก็หลง ถูกต้องไหมเรื่องหลงมีมาก

    ผู้ฟัง อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ถ้าจะกำจัดกิเลส เราก็ต้องรู้จักกิเลสก่อน แต่ถ้าเกิดว่าเป็นสำหรับในเด็กแรกเกิดเด็กทารกที่ไม่มีความปรุงแต่งทางด้านอารมณ์ ไม่มีความอยาก ไม่มีความต้องการ ไม่มีกาม อย่างนี้จะเรียกว่าไม่มีกิเลสได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกคำต้องเข้าใจ กามคืออะไร

    ผู้ฟัง พูดถึงกาม เราอาจจะไม่ได้รวมถึงเรื่องทางเพศอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ เราคิดเองหรือเปล่า ทั้งหมดหรือว่าศึกษามาแล้วฟังมาแล้ว

    ผู้ฟัง คิดเอง ก็หมายถึงความต้องการของมนุษย์ ความต้องการที่จะมาสนองตัวเอง นี่ในความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ วันนี้ต้องการอะไรบ้าง ตั้งแต่เช้ามาต้องการอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ก็มาศึกษาหาความรู้ ในแง่มุมที่บางทีในห้องเรียนอาจจะไม่ได้เรียนลึกถึงขนาดนี้ ในแง่มุมใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องธรรม

    ท่านอาจารย์ วันนี้ เห็นรึเปล่า

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ ต้องการเห็นไหม

    ผู้ฟัง ต้องการ

    ท่านอาจารย์ แล้วต้องการสิ่งที่ปรากฏให้เห็นด้วยใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าความต้องการมาก ทางตา ก็ต้องการทั้งเห็น และสิ่งที่ปรากฏให้เห็น นอกจากนั้นมีอะไรอีก

    ผู้ฟัง ต้องการฟัง ต้องการรู้

    ท่านอาจารย์ ต้องการฟัง ต้องการได้ยิน ต้องการเสียง ชอบเสียงอะไร

    ผู้ฟัง ชอบเสียงที่ไพเราะ ฟังรื่นหู

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม นี่คือทั้งวันของเรา ไม่ว่ามีอะไรก็ติดข้องในสิ่งนั้น มีตาก็ต้องติดข้องในสิ่งที่ปรากฏให้เห็น มีหูได้ยินเสียง ก็ติดข้องในเสียง แล้วเด็กเกิดใหม่มีตาไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วเขาไม่มีความติดข้องอะไรหรือ

    ผู้ฟัง ถ้าพูดในมุมของคนที่โตแล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เด็กนะ เด็กมีตาไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วเด็กรู้ไหมว่าตาเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเด็กกับผู้ใหญ่เหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ก็เด็กก็มีตา ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ผู้ใหญ่ก็มีตา ก็ไม่รู้ว่าตาเป็นธรรม ไม่เหมือนกันหรือ

    ผู้ฟัง ก็ อย่างผู้ใหญ่ยังสามารถศึกษาหาความรู้ แล้วก็ถ้าได้ฟังอย่างวันนี้ ก็มีความรู้เพิ่มเติมว่า อย่างเรารู้ว่าเห็นดอกไม้ ดอกไม้ตรงนี้ก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่เห็น เป็นเห็นใช่ไหม แต่ว่าเด็กต่อให้เราไปพูดยังไง บอกยังไง เขาก็ยังไม่รู้ ยังไม่สามารถคิดได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใหญ่ต่อให้บอกยังไง พูดยังไง เขาก็ไม่คิดอย่างนี้ มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เหมือนเด็กไหม

    ผู้ฟัง เหมือน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเหมือนกันไหม ว่าเขาก็ต้องการสิ่งที่ปรากฏ โดยที่ว่าเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเขาติดข้องแล้ว เหมือนเราแค่ลืมตาติดข้องยังไม่รู้เลย ฉันใดก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นธรรมนี่ตรง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ชาย หญิง เทพ มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน หรืออะไรธรรมเป็นธรรม พอจะเข้าใจขึ้นไหม แท้จริงก็คือเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ๖ โลก เริ่มเข้าใจถูกต้อง ธรรมเปลี่ยนไม่ได้ เราเรียกว่าเด็ก เรียกว่าผู้ใหญ่ เรียกอะไรก็ตามแต่เห็นเป็นเห็น ได้ยินเป็นได้ยิน

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ กล่าวถึงปัญญา ที่รู้ความจริงอย่างนี้จะดับกิเลสยังไง เพราะว่ากิเลสเป็นสิ่งที่เกิดแล้วก็เดือดร้อน ต้องขวนขวายแสวงหา หรือว่าประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็เดือดร้อนไม่พอใจ จะดับกิเลสเหล่านี้ด้วยความรู้ความจริงอย่างนี้ยังไง

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยพูดถึงความโกรธใช่ไหม ทุกคนรู้จักใช่ไหม จะดับยังไงใช่ไหม พอโกรธเกิดเป็นเราแล้ว จะดับยังไง เห็นไหม เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะได้ฟังมากี่ครั้งก็ตามแต่ แต่ถ้ายังไม่มั่นคง เป็นสัจจญาณคือจริงแน่นอนว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ว่าความเป็นเราจะหมดไป เพียงขั้นคิด เพียงขั้นฟัง นั่นเป็นแต่เพียงการที่เริ่มจะอบรมให้ปัญญาเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถ ใช้คำว่าแทงตลอดความจริงของธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้ เพราะกิเลสเกิดแล้วดับเป็นธรรมดา แต่ไม่มีความรู้ กิเลสเกิดแล้วก็ดับไป กิเลสเกิดแล้วก็ดับไป แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา พอกิเลสเกิด พอโกรธเกิด บางคนอาจจะไม่อยากโกรธ ก็โกรธแล้ว เป็นกิเลสแล้ว ยังอยากไม่โกรธก็เป็นกิเลสอีก แล้วจะรอดไหม เต็มไปด้วยกิเลสทั้งวัน ไม่อยากก็เป็นกิเลส อยากก็เป็นกิเลส เพราะไม่เข้าใจความจริงของสภาพธรรม แล้วมีใครบ้างที่เวลาโกรธเกิดขึ้น รู้เลยว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ต้องในขณะที่ความโกรธกำลังปรากฏเหมือนกับเห็นเดี๋ยวนี้ ก็เข้าใจได้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นปัญญาจึงต้องมี ๓ ระดับขั้น ขั้นต้นก็คือปริยัติ ความรอบรู้ในธรรมที่ได้ฟังทีละคำ ถ้าคำนี้ยังไม่เข้าใจจริงๆ ก็คลาดเคลื่อนหลงผิดได้ เช่นคำถามเมื่อครู่นี้ ก็เป็นการทดสอบที่ดีมาก เพราะเหตุว่าเมื่อฟังแล้วยังข้องใจ ก็แสดงว่ายังไม่มั่นคงว่าธรรมเป็นธรรม เห็นเป็นเห็น ไม่ต้องเรียกว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ชาย หญิง เทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉานใดๆ เลยทั้งสิ้น เห็นเป็นเห็น เมื่อเห็นแล้วไม่รู้ว่าเห็นไม่ใช่เราเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นเห็นแล้วดับไป ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ใหญ่ เทวดาหรือใครก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นการที่จะดับกิเลสได้ ไม่ใช่ดับกิเลสได้หมดทันที แต่กิเลสมากเหลือเกิน แล้วมาจากไหน มาจากความไม่รู้ และการยึดถือธรรมว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ก็ต้องมีปัญญาที่จะเข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราทีละเล็กทีละน้อย จากการฟังจนมั่นคงจริงๆ เป็นสัจจญาณ เมื่อเป็นสัจจญาณแล้วก็เข้าใจถูกต้องว่า เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นสามารถจะรู้ความจริงได้ไหม เมื่อปัญญาได้อบรมแล้วเพิ่มขึ้นได้ไหม นี่คือความมั่นคงต่อไปอีก คือความมั่นคง ไม่ใช่มั่นคงเพียงแค่ฟังแล้วก็มั่นคง แต่มั่นคงจนกระทั่งว่าเดี๋ยวนี้กำลังเห็น ถ้าปัญญาไม่สามารถที่เจริญขึ้นจนกระทั่งจะดับกิเลสได้ก็ไม่มีพระอรหันต์ แต่เพราะเหตุว่าสิ่งนี้ที่กำลังมีนี่แหละ เมื่อได้เริ่มเข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่เราเลย ค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจทีเล็กทีละน้อย แม้ว่าเคยสะสมความเป็นเรามานานไม่สามารถที่จะเข้าใจเห็นซึ่งกำลังเกิดดับขณะนี้ได้ แต่เพราะได้เริ่มเข้าใจถูก จนกระทั่งไม่เปลี่ยนแปลง ก็รู้ว่าปัญญาที่รู้เห็นในขณะที่เห็นกำลังปรากฏนั้นแหละ ถึงสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ ถ้าไม่มีธาตุรู้ สิ่งที่ปรากฏ ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นการฟังแล้วค่อยๆ สะสมความเข้าใจมั่นคงขึ้น มั่นคงขึ้นทีละเล็กที่ละน้อย ก็จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นปฏิปัตติ ไม่ใช่เพียงปริยัติ เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรม ที่จะดับกิเลส มีถึง ๓ ขั้น จากปริยัติ ฟังเข้าใจมั่นคงไม่สงสัยเลย แต่ก็รู้ว่านั้นเพียงคิด และฟัง เพราะฉะนั้นการที่มีความเข้าใจอย่างมั่นคง สามารถทำให้เริ่ม เริ่มที่จะเข้าใจลักษณะที่กำลังเป็นอย่างนั้น เช่นเห็นกำลังเห็นขณะนี้ ไม่ได้คิด ไม่ได้เข้าใจอย่างอื่นเลย แต่เริ่มรู้ว่าขณะนี้มีจริงๆ เป็นธาตุรู้เป็นสภาพรู้โดยเฉพาะ คือปฏิปัตติ คำแปลโดยตรงในภาษาบาลี ปฏิ แปลว่าเฉพาะ ปัตติแปลว่าถึง เพราะฉะนั้นคำว่าปฏิปัตติในภาษาบาลี คนไทยมาใช้เป็นปฏิบัติ แต่ไม่ได้เข้าใจเลย คิดว่าปฏิบัติคือทำ แต่ว่าขณะนี้มีเห็น ฟังเรื่องเห็น เข้าใจเรื่องเห็น แต่ยังไม่ถึงเฉพาะ ที่จะรู้เห็นที่กำลังเห็นโดยไม่ใช่เรา แต่เพราะสติ และปัญญา ที่เป็นปัจจัยที่จะให้ถึงเฉพาะ โดยความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้มีแข่งไหม เหมือนก่อนฟังธรรมไหม แข็งเป็นแข็งเปลี่ยนแข็งไม่ได้ แสนโกฎกัลป์เกิดขึ้นเป็นแข็งก็ต้องเป็นแข็ง อีกข้างหน้านานเท่าไหร่เปลี่ยนแข็งไม่ได้ ที่ไม่รู้มาก่อนว่าแข็งเนี่ยเป็นธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่มีจริงแค่แข็ง แต่ก็มีความพอใจติดข้องแล้ว ชอบอาหารกรอบกรอบไหม ติดไปหมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นแม้แต่สิ่งที่แข็งก็ชอบ ฟันต้องแข็งแรงไหม ความติดข้องมากมายในทุกอย่างโดยไม่รู้ตัวเลย เพราะฉะนั้นก่อนฟังธรรมแข็งก็เป็นแข็ง ฟังธรรมแล้วแข็งก็เป็นแข็ง ความต่างที่ก่อนแข็งไม่เคยสนใจที่จะเข้าใจว่าแข็งไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่เป็นแข็ง แข็งไม่ใช่โต๊ะ แข็งไม่ใช่เก้าอี้ แข็งไม่ใช่ช้อน แข็งไม่ใช่ส้อม ถ้าธาตุแข็งไม่มี จะมีช้อนส้อมโต๊ะเก้าอี้ไหม เพราะฉะนั้นในขณะนั้น สิ่งที่มีจริงๆ ธรรมที่มีจริงเกิดแล้วเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อีกคำหนึ่ง คือปรมัตถธรรม เคยได้ยินคำนี้ไหม ปรมัตถธรรม ปรม (ปะ-ระ-มะ) ในภาษาบาลี คนไทยใช้เป็นบรม เพราะเราใช้ บ แทน ป แล้วภาษาบาลีออกเสียงทุกคำ ปะ-ระ-มะ เราก็รวมเลยเป็นบรม เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรม ธรรมแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตนของตน ที่เราจะกล่าวถึงธรรมนั้นได้ก็เพราะลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น ก็ต้องกล่าวคือ อรรถความหมาย ความจริงของสภาพธรรมนั้นก็คือลักษณะของธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นที่เป็นธรรมมีจริง ต้องมีลักษณะเฉพาะของตนของตน หวานมีจริงใช่ไหม เป็นอื่นไม่ได้เป็นปรมัตถธรรม เราใช้คำนี้เพื่อส่องถึงสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมด เป็นปรมัตถธรรม ลึกซึ้งไหม ยากไหม ละเอียดไหม ในภาษาไทยภาษาบาลีก็ใช้คำว่าอภิธรรม เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจ บางคนบอกว่าเขาจะฟังธรรมแต่เขาไม่เรียนพระอภิธรรม พูดได้ยังไง พูดได้เพราะไม่รู้ว่าธรรมทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรม และเป็นอภิธรรม ถ้าเข้าใจลึกซึ้งขึ้น ก็จะรู้ว่าลึกซึ้งยิ่งกว่าที่คิดมากสักแค่ไหน มิเช่นนั้นคงไม่ต้องฟัง แล้วกี่ชาติฟังมากเท่าไหร่น้อยเท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องคำนึงถึง จนกว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมี

    เด็กผู้ชายคนหนึ่งอายุประมาณ ๑๕ ปี เขาก็เข้าเว็บไซต์แล้วก็ดูรายการธรรม ซึ่งพ่อแม่คิดว่าเขาคงเล่นเกมส์ แต่ความจริงเขาเข้าไปอ่าน และศึกษาธรรม เวลาพบกันก็ถามเขาว่าแล้วเมื่อไหร่จะเลิกฟัง เขาบอกว่าจนกว่าจะตรัสรู้ ถูกไหม เพราะฉะนั้นไม่พอฟังเท่าไรก็ไม่พอ รู้เท่านี้ก็ไม่พอจนกว่าความจริงที่ได้ฟังว่าธรรมเกิดแล้วดับสามารถรู้จริงได้ ถ้าไม่รู้อย่างนั้นดับความยึดถือว่าเป็นเราไม่ได้เลย เพราะเห็นการสืบต่อจนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิต สัณฐาน รูปร่างต่างๆ ให้เป็นที่พอใจยึดมั่นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นเพชรนิลจินดา เป็นคน เป็นอาหารรสต่างๆ เป็นดอกไม้ ใบไม้พืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ติดข้องเพราะไม่รู้ความจริงว่า จิตที่รู้สิ่งนั้นก็ดับ และสิ่งที่ปรากฏก็ดับ ไม่มีอะไรเหลือ ฟังอย่างนี้หมดกิเลสไม่ได้ แต่ขอให้ฟัง แล้วเข้าใจเพื่อที่จะได้สะสมความมั่นคง ซึ่งวันหนึ่ง ก็จะทำให้เห็นประโยชน์ของการที่เกิดมาแล้ว ใครจะรู้ว่าจะจากโลกนี้ไปเมื่อไหร่ ใครรู้บ้างเด็กก็ตายได้ ผู้ใหญ่ก็ตายได้ คนแก่ก็ตายได้ แต่ใครจะตายเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ และจะตายที่ไหนรู้ไหม จะตายด้วยโรคอะไรหรือ ไหม ก็ไม่รู้ทั้งนั้น แต่ต้องตายแน่ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจะจากโลกนี้ไปโดยไม่รู้ความจริงซึ่งมีตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็ก่อนจะจากไป ก็มีโอกาสได้เข้าใจความจริง ซึ่งทรัพย์สมบัติเงินทอง รูปร่างหน้าตาสวยงามยังไง เสื้อผ้าอาภรณ์เอาไปไม่ได้เลย แต่ว่าทุกอย่างที่เกิดกับจิต แม้ดับแล้วก็สะสมสืบต่อ ทำให้เราใช้คำว่า"อุปนิสสยะ" นิสสยะหมายความถึงที่อาศัย อุป หมายความถึงที่มีกำลัง เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะกล่าวได้ตามการสะสมของแต่ละคนจนกระทั่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังว่า เขาเป็นคนขี้โกรธ เพราะเขาโกรธบ่อยๆ ถ้าเขาไม่โกรธบ่อยๆ เขาจะเป็นขี้โกรธไหมไหม ทั้งหมดก็เป็นธรรมทั้งนั้นที่จะต้องค่อยๆ เป็นไป แต่ละหนึ่งขณะเดียว จนกระทั่งสามารถที่จะปรากฏให้เห็นได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคน โลภก็มี โกรธก็มี มีหมดเลย แล้วจะดับอะไรก่อน ต้องดับความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีเราก่อน เพราะมีเราจึงมีกิเลสมาก ยึดถือมาก ต้องการมาก เพื่อใคร ก็เพื่อเรา แต่ถ้ารู้ว่าไม่มีเรา แต่มีธรรมฝ่ายดีก็มี ฝ่ายไม่ดีก็มี เพราะฉะนั้นถ้ามีความเห็นถูกต้องว่าไม่ใช่เรา แล้วก็เป็นสิ่งซึ่งต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย จะสะสมอะไร เพราะฉะนั้นก็จะเป็นคนดีขึ้นโดยไม่รู้เลยว่าดี เพราะรู้ความจริง ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นไม่ว่าโลกจะเป็นยังไงประเทศไหนจะเป็นยังไง ผู้คนจะเป็นยังไง เป็นธรรมทั้งหมด ใครจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องขึ้น ความดีเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่จะแก้ทุกอย่าง ที่เลวร้ายได้ ก็คือว่าให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเห็นชั่วเป็นดี แล้วก็ประพฤติชั่ว แล้วคิดว่าไม่มีผล แต่ความจริงทั้งหมดเป็นธรรม ธรรมที่เป็นเหตุเกิดแล้วต้องเป็นปัจจัยให้เกิดธรรมที่เป็นผลของเหตุนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความละเอียดของธรรมที่เป็นเหตุ คือกรรม และธรรมที่เป็นผลคือวิบาก แต่ละคำก็เป็นคำใหม่ แต่ว่าถ้าเข้าใจความจริงก็แยกกันได้ กุศลเป็นเหตุ ให้กระทำกรรมที่สำเร็จ เมื่อทำกรรมนั้นแล้วมีหรือซึ่งเหตุมีแล้วผลจะไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุมี ผลต้องมี แต่ผลคืออะไรก็ไม่รู้อีกใช่ไหม ผลที่เกิดเลือกไม่ได้ ไม่มีใครอยากเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานใช่ไหม ไม่มีใครอยากเกิดในนรก ไม่มีใครอยากเกิดเป็นเปรต เป็นอสูรกาย อยากเกิดเป็นอะไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 178
    11 เม.ย. 2567