ปกิณณกธรรม ตอนที่ 901
ตอนที่ ๙๐๑
สนทนาธรรม ที่ วัดคูหาสวรรค์ จ.ราชบุรี
วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ท่านอาจารย์ คนนี้เป็นคนดีเมื่อเข้าใจธรรม พูดได้ แต่ทำหรือไม่ สามารถที่จะทำให้คนเป็นคนดีได้เมื่อเข้าใจธรรม แล้วเข้าใจธรรมหรือไม่ แล้วจะเป็นคนดีได้อย่างไร หรือบางคนก็บอกว่าการศึกษาพระพุทธศาสนามีประโยชน์มาก แก้ปัญหาได้ทุกปัญหา เป็นความจริง แต่ว่าผู้พูดเข้าใจธรรม ศึกษาธรรมหรือไม่ หรือว่าให้คนอื่นศึกษา ให้บุตรธิดาศึกษา ให้เด็กๆ ศึกษา แล้วจะให้ใครสอนถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจธรรม แล้วจะให้เด็กที่ไหนมันสอนเด็กได้ เพราะว่าผู้ใหญ่ต้องเข้าใจธรรมก่อน
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะคิดถึงคนอื่น ก็ต้องรู้ความจริงว่าพระพุทธศาสนาไม่เหมือนศาสนาอื่นเลย พระพุทธศาสนาทุกคำเพื่อประโยชน์ยิ่ง คือเพื่อเข้าใจถูกต้องซึ่งเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นการที่จะได้ฟังธรรม และเข้าใจ ก็ต้องแล้วแต่อัธยาศัยว่าสะสมมาที่จะไม่เห็นประโยชน์เบื่อไม่ฟัง หรือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดในชีวิตที่มีโอกาสได้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มี ถ้าทุกคนเข้าใจอย่างนี้ ไม่มีปัญหาแน่ เพราะเหตุว่าได้เข้าใจความจริงซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งไม่ทำให้เกิดโทษใดๆ เลยทั้งสิ้น ผู้ใหญ่จะบวชไหม หรืออยากให้บุตรบวช แต่ถ้าบวชแล้วไม่เข้าใจธรรม เข้าใจธรรมดีกว่าไหม เพราะเหตุว่าบวชโดยไม่เข้าใจไม่มีประโยชน์เลย
ผู้ฟัง คำว่าจิตคืออะไร มีลักษณะเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ จะรู้เรื่องจิตใช่ไหม อยากเข้าใจเรื่องจิต เพราะฉะนั้นก่อนอื่นขอทบทวนเมื่อเช้านี้ที่พูดถึงสิ่งที่มีจริงในภาษาไทย คนที่แคว้นมคธ ชาวมคธี ชาวมคธนั้นเขาไม่รู้คำว่าสิ่งที่มีจริง แต่เขาใช้คำว่าธรรม เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องงงกับคำว่าธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ
เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง และทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นก็ขอตั้งต้นตามลำดับถึงธรรมคือสิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้มีธรรมไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มีสิ่งที่มีจริงไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ อันเดียวกันหรือไม่ อันเดียวกัน เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม แต่ธรรมหลากหลายมากไม่ได้มีอย่างเดียวเลย เพราะฉะนั้นก็จำแนกธรรมที่มีตามความเป็นจริงว่า ธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏว่ามี แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม ไม่รู้อะไร เสียงเกิดเป็นเสียง และดับไปแล้ว ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แต่ถ้ามีแต่รูปธรรมเท่านั้นไม่ว่าโลกนี้ หรือจักรวาลใดทั้งสิ้นก็ไม่มีใครรู้ใครเห็นไม่มีประโยชน์ไม่ปรากฏ แต่ว่ามีสภาพที่มีจริงเป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นเมื่อครู่ ไม่มีเสียง แล้วมีเสียงปรากฏ ที่เสียงปรากฏได้ต้องมีสภาพธรรมที่ได้ยินเสียงนั้น เฉพาะเสียงที่ปรากฏถูกต้องไหม ถ้าไม่มีได้ยิน เสียงปรากฏไม่ได้เลย ถูกต้องไหม ด้วยเหตุนี้สภาพธรรมที่มีแต่ไม่รู้อะไร พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า " รูปธรรม " มองไม่เห็น หรือมองเห็นก็ไม่เป็นไร แต่เป็นสภาพที่ไม่รู้ แต่ว่าสภาพธรรมที่รู้มีด้วย ถ้าไม่มีสภาพรู้อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นสภาพรู้มีแน่ สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏใช้คำว่ารู้แจ้งสภาพนั้นทรงบัญญัติใช้คำว่า "จิตตะ" ภาษาไทยใช้คำว่าจิต เพราะฉะนั้นตอนนี้เข้าใจแล้ว ถ้าไม่มีจิตที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดขึ้นต้องรู้ จึงมีสิ่งที่ถูกรู้ปรากฏให้รู้ว่ามีอยู่ตลอดเวลา แต่ธาตุรู้นั้นเกิดขึ้น และก็ดับไป แล้วก็ไม่มีรูปใดๆ เจือปนในธาตุรู้นั้นเลยด้วย นี่คือแยกสิ่งที่มีจริงจากการที่ทรงตรัสรู้ความจริงถึงที่สุด ว่าสภาพธรรมแต่ละหนึ่งไม่ปะปนกันเลย สภาพที่ไม่รู้ก็มีหลากหลายสภาพที่รู้ก็หลากหลายด้วย เช่นได้ยินไม่ใช่เห็น ไม่ใช่คิด ทั้งหมดเป็นสภาพรู้แต่ว่า ธรรมที่จะปรากฏเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยธรรม ที่เป็นปัจจัย ปรุงแต่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นขณะนี้จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสภาพธรรมอื่นปรุงแต่งเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น ซึ่งเราจะค่อยๆ เข้าใจตามลำดับ แต่ให้เข้าใจคำว่าจิตก่อน จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ถ้าใช้คำว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏนี่ยาวมาก เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำภาษาบาลี ซึ่งใช้คำว่า "อารัมมณะ" หรือ " อารัมพณะ " คนไทยก็เรียกสั้นๆ ว่าอารมณ์หมายความถึงสิ่งที่ถูกจิตรู้ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผลตรงกันว่าถ้ามีธาตุรู้เกิดขึ้นต้องมีสิ่งที่ถูกรู้แน่นอน จะเกิดขึ้นรู้โดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้นรู้เป็นใหญ่เป็นประธานคือจิต และต้องมีสิ่งที่ถูกรู้คืออารมณ์ อารัมมณะ
เพราะฉะนั้นเวลาที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดปรากฏว่ามี หมายความว่าต้องมีธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้ ด้วยเหตุนี้ มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้คืออารมณ์ ตอนนี้ก็ได้ยินคำว่าจิต แต่ว่าทุกภาษา จะมีคำที่ใช้แทนกันได้ ใช้คำว่าวิญญาณ วิญญาณะ ก็ได้ ใช้คำว่ามโนก็ได้ มนัสก็ได้ หทยก็ได้ เป็นคำที่แสดงถึงจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์
เหตุใดใช้คำว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะเหตุว่า เสียงก็มีหลายเสียงเมื่อครู่นี้ก็เป็นเสียงหนึ่ง ถูกไหม เพราะฉะนั้นจิตรู้แจ้งในเสียงนั้น ก็เห็นว่าเสียงนั้นหลากหลายต่างๆ ๆ กันไป สภาพที่จำก็จำเสียงซึ่งหลากหลายนั้น แต่สภาพที่จำไม่ใช้จิต เกิดพร้อมจิตอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นปรุงแต่งกัน เพราะฉะนั้นสภาพจำจะไม่เกิดกับธรรมอื่นเลยนอกจากจิต เเละเมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีสภาพที่จำเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แต่สภาพที่จำไม่ใช่จิต พระผู้มีพระภาคใช้คำว่า "เจตะสิกะ" คนไทยก็เรียกสั้นๆ ว่าเจตสิก
เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เวลาที่เจตสิกเกิดก็ต้องมีจิตเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จิตหนึ่งขณะเกิดขึ้น จะมีเจตสิกซึ่งเป็นธาตุรู้แต่ไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้จึงใช้คำว่าเจตสิกอาศัยจิตเกิดขึ้น เกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิตอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท จิตหนึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเฉพาะจิตนั้น อย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ถ้าเป็นจิตประเภทอื่นก็มีเจตสิกมากกว่านั้นตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าแม้จิตเองก็หลากหลาย แต่ตอนนี้เริ่มเข้าใจว่าไม่ใช่มีแต่ธรรมซึ่งไม่รู้อะไร แต่มีสภาพธรรมซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ด้วย
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ได้ยินไหม ได้ยินอะไร ธรรมดาเลย ธรรมเป็นธรรมดาเป็นปกติ ได้ยินอะไร
ผู้ฟัง ได้ยินเสียงที่มากระทบ
ท่านอาจารย์ ได้ยินเสียงก่อน ได้ยินเสียงนี่แน่นอนใช่ไหม ได้ยินกลิ่นไม่ได้ กลิ่นไม่ใช่เสียง เพราะฉะนั้นได้ยินเสียง เสียงเป็นธรรมหรือไม่ ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นเสียงเป็นธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เสียงรู้อะไรหรือไม่
ผู้ฟัง เสียงไม่รู้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเสียงเป็นธรรมประเภทไหน
ผู้ฟัง เป็นรูป
ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นได้ยินมีไหม ได้ยินมีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เสียงปรากฏหมายความว่ามีได้ยิน ซึ่งได้ยินเฉพาะเสียงที่ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ได้ยินเสียงอื่นถูกต้องไหม แต่ไม่มีใครสนใจได้ยินเลย สนใจแต่เสียง แต่หารู้ไม่ว่าเสียงปรากฏเพราะมีจิตที่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นจิตเป็นสภาพที่ได้ยิน จิตเป็นสภาพที่เห็น จิตเป็นสภาพที่รู้รสที่ปรากฏ จิตเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กระทบกายเย็นร้อนอ่อนแข็ง จิตเกิดเมื่อไหร่ต้องรู้ และพร้อมกับการที่จิตนั้นเกิดขึ้นรู้ต้องมีเจตสิกต่างๆ แต่ละหนึ่งๆ แยกจากกันไม่ใช่อันเดียวกันเลยเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นขณะนี้จำหรือไม่
ผู้ฟัง ก็จำไปพร้อมกับที่..
ท่านอาจารย์ จำไหมขณะนี้ จำเป็นจิตหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นเจตสิก
ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เป็นรูปหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นี้ก็เริ่มเข้าใจแล้วใช่ไหม เข้าใจว่าธรรมที่มีทุกวันซึ่งเราไม่เคยรู้เลยว่าเป็นสิ่งที่มีจริงมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เกิดขึ้น และก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย นี่คือคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าธรรมทั้งหลายทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นมีจิตอะไรอีกนอกจากเห็น ได้ยิน
ผู้ฟัง มีรส
ท่านอาจารย์ กำลังลิ้มรสต่างๆ ก็เป็นจิต รสไม่รู้อะไรเลย แต่ถ้าไม่มีสภาพที่กำลังลิ้มหรือรู้รส รสนั้นก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นกล่าวได้เลย ขณะนี้อะไรๆ ก็ตามที่ปรากฏ เพราะจิตรู้สิ่งนั้น ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ไม่ปรากฏ มีเสียงในป่า มีเสียงที่ถนน มีเสียงที่ในครัว หรืออะไรก็ตาม แต่เสียงเหล่านั้นไม่ปรากฏเพราะจิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้เสียงนั้น แต่ขณะใดก็ตามเสียงปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นได้ยินจะไม่มีเสียงไม่ได้ ต้องเป็นเสียงเฉพาะเสียงที่ปรากฏ ซึ่งจิตกำลังรู้เฉพาะเสียงนั้น
จึงกล่าวว่านามธรรมเกิดพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกัน ดับพร้อมกันคือจิต และเจตสิก แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง แต่เจตสิกแต่ละหนึ่ง ก็ต่างๆ กันไปปะปนกันไม่ได้เลย เช่นสภาพที่จำไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก และเกิดพร้อมจิต โกรธมีจริงไหม
ผู้ฟัง สภาวะโกรธมีจริง
ท่านอาจารย์ โกรธมีจริง ใครทำให้โกรธเกิดขึ้นได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นโกรธมีจริง โกรธเกิดเมื่อไหร่ต้องโกรธในสิ่งที่จิตกำลังรู้ใช่ไหม ในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ได้กลิ่นเหม็นใช้คำว่ากลิ่นเหม็น จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งไม่ว่าจะเหม็นมาก เหม็นน้อยอย่างไรก็ตามแต่ เราไม่สามารถที่จะใช้คำอธิบายได้ชัดเจน แต่จิตเป็นธาตุที่รู้แจ้งในกลิ่นนั้น ไม่สามารถที่จะใช้คำได้อธิบายได้ก็จริง แต่ขณะนั้นจิตรู้แจ้งกลิ่นนั้นจึงปรากฏ จำกลิ่นนั้นด้วยหรือไม่ ในขณะที่ได้กลิ่น
ผู้ฟัง จำด้วย
ท่านอาจารย์ จำได้ จำเป็นจิตหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เป็นอะไร เป็นเจตสิก ภาษาบาลีใช้คำว่าสัญญาเจตสิต ภาษาไทยใช้คำว่าจำ เพราะฉะนั้นก็เริ่มรู้จักจิต เริ่มรู้จักเจตสิก แต่จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท สัญญาเป็นสภาพจำ เป็น๑ เจตสิกแล้ว เหลืออีก ๕๑ ใช่ไหม พอที่จะกล่าวถึงเจตสิกอื่นๆ ได้ไหม
ในชีวิตประจำวันที่มีทั้งหมดที่ไม่ใช่รูป และไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกทั้งหมดเลย ทั้งวันไม่ว่าอะไรจะปรากฏเกิดขึ้นมีคำที่เราเรียกคำนั้นว่าอะไรก็ตาม สภาพนั้นเมื่อไม่ใช่รูปธรรม และไม่ใช่จิต สภาพธรรมนั้นเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นจำไม่ใช้จิต และเจตสิกอื่นมีไหมวันนี้ เดี๋ยวนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย
ผู้ฟัง ดีใจ เสียใจ
ท่านอาจารย์ ดีใจเป็นเจตสิก เสียใจเป็นเจตสิก สัญญาเป็นสภาพเจตสิกที่จำ จำคือสัญญาเจตสิก ความรู้สึกไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ เฉยๆ หรือสุขกาย หรือทุกข์กายทั้งหมดภาษาบาลีใช้คำเรียกความรู้สึกเหล่านี้เวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้นก็มี ๒ เจตสิกแล้วที่รู้จัก คือสัญญาเจตสิกที่จำ เวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึก ไม่เรียกเวทนาได้ไหม เปลี่ยนชื่อได้ไหม เปลี่ยนไปตามภาษาของแต่ละภาษา เช่นภาษาไทยไม่เรียกว่าเวทนาแต่ใช้คำว่ารู้สึก ภาษาไทยไม่เรียกว่าสัญญาก็ได้แต่เรียกว่าจำ แต่ภาษาบาลีไม่มีคำว่าจำ ไม่มีคำว่ารู้สึก มีแต่คำว่าสัญญาเจตสิก กับเวทนาเจตสิก เคยได้ยินคำว่าเวทนาขันธ์ไหม เคยได้ยินคำว่าสัญญาขันธ์ไหม ตรงกับที่เคยพูดแล้วเข้าใจแล้ว คือไม่ว่าสภาพธรรมใดที่เกิด สภาพธรรมนั้นดับ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น และดับ ไม่เหลือเลยนั่นคือความหมายของขันดะ หรือภาษาไทยใช้เรียกว่าขันธะ หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ขันธ์"
เพราะฉะนั้นความรู้สึกเมื่อครู่นี้เกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย เป็นเวทนาขันธ์ จำเมื่อครู่นี้ไม่ว่าเห็นก็จำสิ่งที่เห็น ไม่ว่าได้ยินเสียงก็จำเสียงที่ได้ยินทั้งหมดนั้นก็เป็นสัญญาเจตสิกคือสัญญาขันธ์ เกิดขึ้น และดับไป เจตสิกมีทั้งหมดประเภทใหญ่ๆ พูดโดยละเอียดก็มากกว่านั้นจนประมาณไม่ได้เลย แต่ถ้าพูดโดยประเภทใหญ่ๆ เจตสิกทั้งหมดอีก ๕๒ ประเภท ที่กล่าวแล้ว ๒ ประเภท คือสภาพจำเป็นสัญญาเจตสิกเพราะเกิดดับจึงเป็นสัญญาขันธ์ สภาพความรู้สึกภาษาบาลีใช้คำว่าเวทนา เพราะเกิดดับไม่กลับมาอีกเลยจึงเป็นเวทนาขันธ์ เหลือเจตสิกอีกเท่าไร
ผู้ฟัง ก็เป็นประเภทพวกสังขาริกัง
ท่านอาจารย์ ยังก่อน เจตสิกทั้งหมดมีเท่าไร
ผู้ฟัง ๕๒
ท่านอาจารย์ เมื่อรู้จักสัญญาเจตสิกเป็น ๑ เวทนาเจตสิกเป็น ๑ เหลือเจตสิกอีกเท่าไรที่ยังไม่ได้พูดถึง
ผู้ฟัง ๕๐
ท่านอาจารย์ ๕๐ประเภท เพราะฉะนั้นเวทนาเป็นสภาพที่รู้สึก ไม่เกิดพร้อมกันมี ๕ ก็จริง แต่เกิดทีละ๑ ขณะที่กำลังเจ็บต้องมีกาย ถ้าไม่มีกายไม่เจ็บ เคยปวดฟันไหม เคยคันไหม ตอนนี้กำลังปวดหลัง ถ้าไม่มีหลัง ไม่มีกาย ปวดก็มีไม่ได้ ใช่ไหม
เพราะฉะนั้นปวดหลังไม่ใช่เรา เป็น "ทุกขกายวิญญาณ" ในภาษาบาลีหมายความถึงสภาพรู้สิ่งที่กระทบกายขณะที่รู้นั้น เป็นทุกข์เพราะเจ็บ ต้องมีสิ่งที่กระทบ อยู่เฉยๆ ไม่เจ็บถูกไหม แต่ขณะที่เจ็บปรากฏ สิ่งที่จิตรู้ที่กระทบขณะนั้น ไม่ปรากฏ มีแต่เฉพาะความรู้สึกเจ็บที่ปรากฏให้รู้ว่าเจ็บมีจริงๆ เจ็บเป็นอนัตตาไม่มีใครทำให้เจ็บขึ้นได้แต่มีปัจจัยที่จิตเกิดรู้ สิ่งที่อ่อนหรือแข็ง จะต้องประกอบด้วยเวทนาความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดคือสุข หรือทุกข์
เพราะฉะนั้นขณะที่เจ็บหลังก็เป็นความรู้สึกเป็นทุกข์กายถูกต้องไหม ใครไม่มีทุกข์กายบ้าง มนุษย์ สัตว์ทั้งหลายที่เราเห็นทุกวันๆ มีใครไม่มีทุกข์กายบ้างไหม เมื่อมีกายก็ต้องมีทุกข์แต่ไม่ใช่เรา เป็นความรู้สึกไม่ว่าจะเกิดกับคน หรือเกิดกับนก ปู ปลา ทั้งหมด ความรู้สึกก็คือความรู้สึกเมื่อมีกาย เจ็บที่กายแน่นอนเป็นความรู้สึกเป็นทุกข์ที่เกิดเพราะกาย เรียกว่าทุกขเวทนา ยังคงเป็นเจตสิกที่เป็นเวทนาเจตสิก ธรรมคืออะไร บังคับบัญชาได้ไหม แล้วจะไปวางอะไร วางเฉยก็ไม่ใช่อนัตตา เกิดแล้วดับแล้วไปวางตรงไหนให้เฉย
เพราะฉะนั้นฟังธรรมแล้ว จะเข้าใจว่าไม่มีเรา ไม่มีอัตตา ทุกอย่างเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ลืมไม่ได้เลย พอเป็นเราจะทำก็คือผิดทันที
ผู้ฟัง นั่งนานๆ ก็จะเกิดอาการปวด อยากจะวางอุเบกขาเจตสิกนี่จะทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้เป็นธรรม หรือไม่
ผู้ฟัง เป็นธรรมปรากฏขึ้นจริง
ท่านอาจารย์ อะไรบ้างที่เป็นธรรม
ผู้ฟัง ความปวดก็เกิดขึ้นจริง ได้ยินเสียงก็เกิดขึ้นจริง
ท่านอาจารย์ เป็นอนัตตา หรือไม่
ผู้ฟัง เป็นอนัตตาทุกขณะ
ท่านอาจารย์ บังคับบัญชาได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ เป็นคำตอบ
ผู้ฟัง คำตอบสุดท้ายคือเป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ถ้าเข้าใจอย่างนี้สบายกว่าคิดที่จะต้องไปพยายามบังคับไหม
ผู้ฟัง ไม่ต้องพยายามบังคับ บังคับก็บังคับไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะไม่คิดอีกเลยว่าจะทำใจ หรือจะวางเฉย วางไม่ได้ต้องไม่ลืมธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เดี๋ยวนี้ขณะที่ได้ยินเจ็บไหม
ผู้ฟัง เจ็บ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ คนละขณะ ได้ยินขณะนั้นไม่เจ็บ
ผู้ฟัง คือได้ยิน
ท่านอาจารย์ เเล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นเป็นธรรมหนึ่ง ได้ยินต้องเป็นได้ยิน ได้ยินเจ็บไม่ได้ ขณะที่เจ็บได้ยินไหม
ผู้ฟัง ขณะที่เจ็บก็ไม่ได้ยิน
ท่านอาจารย์ ถูกต้องเริ่มเข้าใจว่าแต่ละหนึ่งเป็นธรรม ปนกันไม่ได้เลย ไม่มีเราอีกต่างหาก ซึ่งจะไปพยายามขณะที่ได้ยิน ขณะที่เจ็บ ก็พยายามที่จะไปบังคับไม่ให้เป็นอย่างนี้ นั่นคือไม่ได้ฟังธรรม ถ้าฟังธรรมแล้ว รอบรู้ในธรรมต้องไม่ลืมคำนี้ รอบรู้อย่างมั่นคงเป็นสัจจญาณ ไม่มีความคิดที่จะไปทำอะไรเลยเพราะเกิดแล้วทั้งหมด
เพราะฉะนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่มีแล้ว ซึ่งคนอื่นไม่รู้เลย ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีแล้ว ถ้าเห็นไม่เกิดเห็นไม่มีจะไปรู้เห็นความจริงของเห็นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นต้องในขณะที่สิ่งนั้นปรากฏเท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งนั้นเกิด และสิ่งนั้นดับ
ผู้ฟัง ขอบคุณท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ มีเจตสิกอื่นอีกไหม จะได้รู้จักเจตสิกซึ่งเคยเป็นเราทั้งนั้นเลย เช่นเจ็บนี่แต่ก่อนนี้เป็นเรา และหลังล่ะ หลังเป็นอะไร หลังเจ็บได้ไหม เพราะฉะนั้นหลังไม่ได้เจ็บ เจ็บไม่ใช่หลัง เพราะฉะนั้นเจ็บเป็นเจ็บ หลังเป็นอะไร ไม่ว่าจะอะไรทั้งนั้น มีจริงๆ หรือไม่ ถ้ามีจริงต้องรู้ลักษณะของสิ่งนั้นจึงจะกล่าวได้ว่าสิ่งนั้นมีจริง แต่เราไปจำชื่อไว้หมดเลย ไม่รู้ว่าถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา จะไม่มีสภาพของรูปใดๆ ปรากฏได้เลยทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่เริ่มละเอียดขึ้นๆ แต่เป็นชีวิตประจำวันจึงสามารถรู้ได้ และจึงสามารถที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะเหตุว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าไม่เห็นธรรมไม่เข้าใจธรรม จะกล่าวว่ารู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ มีเจตสิก ๒ แล้ว คือสัญญาเจตสิกสภาพจำ เวทนาเจตสิกสภาพที่รู้สึก
ผู้ฟัง พวกความโลภ ความหลงอะไรนี่
ท่านอาจารย์ โลภะความติดข้องมีจริง เป็นโลภะเจตสิก อะไรอีก
ผู้ฟัง โทสะ
ท่านอาจารย์ โทสะเป็นความรู้สึก หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นมีสัญญาขันธ์ คือสัญญาเจตสิก เวทนาขันธ์เวทนาเจตสิก และโทสะเป็นอะไร สังขารขันธ์ เจตสิกอื่นทั้งหมดปรุงแต่งเกิดขึ้น ตามความจำ และความรู้สึกนั้นๆ เริ่มรู้จักว่าวันหนึ่งๆ ไม่มีเรา แต่มีจิต และเจตสิก ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นเจตสิกหรือจิต หรือรูปเท่านั้นเอง
ผู้ฟัง แสดงว่าในแต่ละวันที่เราได้รับสิ่ง ก็คือสิ่งที่มากระทบ ที่เรียกว่ารูปใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทั้งหมด ก่อนฟังธรรม เพราะฉะนั้นฟังธรรมแล้วจะไม่มีเรา แต่เป็นธรรมทั้งหมดเลย ตามีไหม ตา
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมอะไร เป็นรูปธรรมไม่รู้อะไร เป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นรูป
ท่านอาจารย์ เป็นรูปขันธ์ เพราะฉะนั้นธรรม จะสอดคล้องกันทั้งหมดตั้งแต่คำแรกจนกระทั่งคำต่อๆ ไป ถ้ารอบรู้ในคำหนึ่งมั่นคงจริงๆ เพราะได้ยินได้ฟังคำอื่นก็จะยิ่งเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเผินๆ จำๆ เอาแต่จำ ไม่ค่อยเข้าใจจริงๆ ก็สับสน ได้ยินคำอีกมากก็สับสนไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นต้องตั้งต้นอย่างมั่นคง ที่ใช้คำว่ารอบรู้ในแต่ละคำ ถ้ารอบรู้ในคำหนึ่งพอได้ยินอีกคำหนึ่งเข้าใจจริงๆ ก็เพิ่มความรอบรู้ในคำนั้นขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะเป็นการรอบรู้ในหลายๆ คำในธรรมที่ได้ฟัง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 901
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 902
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 903
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 904
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 905
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 906
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 907
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 908
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 909
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 910
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 911
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 912
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 913
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 914
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 915
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 916
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 917
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 918
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 919
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 920
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 921
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 922
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 923
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 924
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 925
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 926
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 927
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 928
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 929
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 930
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 931
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 932
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 933
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 934
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 935
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 936
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 937
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 938
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 939
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 940
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 941
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 942
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 943
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 944
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 945
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 946
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 947
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 948
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 949
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 950
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 951
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 952
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 953
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 954
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 955
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 956
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 957
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 958
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 959
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 960