ปกิณณกธรรม ตอนที่ 911


    ตอนที่ ๙๑๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

    วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ ชื่อ อริยสัจธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังไม่ทันรู้ว่าอะไรก็อยากจะรู้อริยสัจธรรม

    อ.วิชัย อย่างนี้ก็ติดแล้ว

    ท่านอาจารย์ นิพพาน อยากถึงนิพพาน บางคนก็อยากไปนิพพาน เพราะคิดว่านิพพานเป็นสถานที่ๆ สวยงาม มีความสุข มีความเพลิดเพลินมาก แต่ก็ไม่รู้ว่านิพพานคืออะไรก็ติด แค่ชื่อก็นำมาซึ่งความติดข้อง โดยไม่เข้าใจความจริง

    อ.วิชัย ดังนั้นการรู้ได้ก็คือต้องมีความรู้ความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้นว่า ขณะนั้นเป็นการที่จำชื่อ หรือคำ หรือการเริ่มเข้าใจสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะแม้แต่ชื่อ ก็จำผิด เข้าใจผิดได้ อยากไปนิพพานนี้ผิดหรือถูก อยากถึงนิพพาน อยากไม่สามารถจะถึงได้ แต่ก็อยากถึงนิพพาน ก็ไม่ได้มีความเข้าใจในนิพพานว่าไม่ใช่ถึงด้วยอยากที่ใครๆ ก็อยากถึงนิพพาน แต่ต้องรู้ว่านิพพานคืออะไร ติดในปัญญาไหม ในคำว่าปัญญา อยากมีปัญญา ได้ยินคำว่าปัญญาก็อยากมีแล้ว ก็ฟังธรรมเข้าใจหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจแล้วจะเป็นปัญญาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นอยากมีได้อย่างไร เพียงแค่อยากมี แต่รู้ว่าปัญญารู้อะไร ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร

    อ.คำปั่น ขออนุญาตเรียนสนทนาเพิ่มเติมในเรื่องของ ติดในชื่อ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ในการที่มีโอกาสได้ฟังธรรมแน่นอนก็คือ จะต้องได้ยินคำได้ยินชื่อต่างๆ ที่กล่าวถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ถ้าจะเป็นการศึกษา เป็นการฟัง เพื่อไม่ใช่การติดในชื่อ จะเป็นอย่างไร เพราะว่าตั้งแต่ต้นมานี้ท่านประธานชมรมพุทธศาสตร์ ท่านก็ยกชื่อของธรรมก็คือคำว่า เจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ที่จะไม่เป็นการติดในชื่อ คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่ได้ยินคำว่า เจตสิก ก็ติดแล้ว รู้หรือไม่ว่าติด คือคิดถึงก็ติดแล้ว

    อ.คำปั่น เป็นเรื่องที่รวดเร็วมาก ถ้าพูดถึงความติดข้อง แต่ถ้าหากว่าเป็นการที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลจริงๆ แม้จะได้ยินชื่อของธรรมแต่ละชื่อ เช่น เจตสิก ที่จะไม่เป็นการติดคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ว่ามีจริงๆ และก็ไม่ใช่เรา ที่สำคัญที่สุดรู้ในความเข้าใจ ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น ถ้าไม่เกิดก็ไม่มี เกิดแล้วก็ดับไปเร็วสุดที่จะประมาณได้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะติดไหม

    อ.คำปั่น จึงต้องฟังพระธรรมบ่อยๆ จริงๆ เพราะว่าสิ่งที่มีจริงก็มีจริงอยู่ทุกขณะ แต่ไม่รู้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ลืม เราเป็นใคร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร ห่างไกลกันมาก ที่จะเข้าใจแม้แต่คำแต่ละคำของพระองค์ ต้องเป็นการเข้าใจจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็ติด ที่สำคัญฟังธรรมแล้ว ไม่ใช่ถามคนอื่นว่าถูกไหม หมายความว่าไม่เข้าใจเลย ถ้าถามอย่างนั้น ต้องมีความมั่นคง ถ้าไม่เข้าใจฟังอีก พิจารณาอีก จนกระทั่งรู้ว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า สิ่งที่ถูกต้องถูก และสิ่งที่ผิดก็ต้องผิดด้วย แต่ไม่ใช่ไปถามคนอื่น ถ้าเขาบอกว่าผิด ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นถูกจะว่าอย่างไร เพราะฉะนั้นถามใครก็ไม่ได้ เพราะจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาพูดจริงหรือไม่ แต่ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วทุกคำ สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่พูดตามคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแล้ว ให้เข้าใจขึ้นจะถูกไหม ถามอย่างนี้ได้ไหม ก็ต้องมีความมั่นใจด้วยตัวเอง

    ผู้ฟัง หมอสามารถจะรักษาโรคทางกายได้ ส่วนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ารักษาโรคทางใจ ขอความกรุณา ท่านอาจารย์อธิบายคำว่า โรคทางกายกับโรคทางใจที่ละเอียดขึ้น

    ท่านอาจารย์ โรคทางกายนี้ก็ ตั้งแต่เกิดมาคงเป็นกันทุกคน เมื่อมีกายก็มีโรคที่กาย บาดเจ็บบ้าง ปวดหัวบ้าง ท้องเสียบ้าง ถ้าไม่มีกายก็จะไม่มีโรคเหล่านี้เลย เพราะฉะนั้นโรคทางกายนี้ ก็คุณหมอก็รู้ดีเพราะว่าศึกษามาที่จะรู้จักเรื่องของกาย และก็โรคต่างๆ ของกาย แต่เรื่องใจ ใครรู้บ้างว่าเดี๋ยวนี้ใจอยู่ไหน ใจกับจิตเหมือนกันหรือไม่ เพราะฉะนั้นทั้งหมดต้องเป็นความรู้ ที่ใช้คำว่า ใจ ก็คือจิตเจตสิก อย่างเช่นบอกว่าใจดี ก็หมายความว่ามีความเมตตากรุณาเกิดกับจิต จิตนั้นก็เป็นจิตที่ดี เพราะมีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย ก็คือเรียกว่าใจดี ใจร้ายขณะนั้นก็มีธรรมที่ไม่ดี เช่น อกุศลธรรมเกิดขึ้นกับจิต จิตขณะนั้นก็เป็นจิตที่ไม่ดี แล้วก็บอกคนนั้นใจร้าย เพราะฉะนั้นใจอยู่ไหน มีหรือเปล่า ถ้ามีแล้วอยู่ไหน ถ้ายังไม่เจอใจ ก็ไม่รู้ว่าใจนี้เป็นโรค สาหัสแค่ไหน มากแค่ไหน หาหมอก็ไม่เจอ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางที่จะรักษาโรคใจได้เลย มีใจกันทุกคนหรือไม่ ใจอยู่ที่ไหน

    อ.คำปั่น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมนี้ก็จะไม่รู้เลยว่าใจคืออะไร จิตคืออะไรไม่รู้ แต่เมื่อเริ่มฟังพระธรรม เริ่มศึกษาพระธรรม ก็พอที่จะเริ่มสะสมความเข้าใจไปทีละเล็กละน้อย ว่าก็คือจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย ก็คือ จิตเกิดแล้วดับแล้ว

    ท่านอาจารย์ โรคในภาษาไทยนี้ ภาษาบาลีว่าอะไร

    อ.คำปั่น ในภาษาบาลีมาจากคำว่าโรคะ ซึ่งก็หมายถึงสภาพที่เสียดแทง อย่างข้อความที่ปรากฏในอรรถกถา ก็ได้แสดงไว้ว่าโรคกายก็เสียดแทงกาย โรคใจก็เสียดแทงจิตใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นได้รู้ความหมาย ของคำว่าโรคซึ่งเราใช้ในภาษาไทย มาจากคำภาษาบาลี สภาพที่เสียดแทงใจ ใจนี้เป็นสภาพที่ผ่องแผ้ว จิตเป็นสภาพรู้อย่างเดียว แต่เมื่อมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยหลากหลาย มีทั้งเจตสิกที่ดี และเจตสิกที่ไม่ดี เจตสิกที่ดีนี้ไม่เสียดแทง แต่เจตสิกที่ไม่ดีเท่านั้นที่ทำร้าย และเสียดแทง เป็นโรคคือทำให้เดือดร้อน ไม่ทำให้สงบสุข ไม่ทำให้เป็นสุข เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้กำลังมีโรคหรือเปล่า ข้อสำคัญคือธรรมไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย แต่อยู่ที่เดี๋ยวนี้ทุกขณะ เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน ใจก็มี เจตสิกก็มี รูปก็มี เดี๋ยวนี้เป็นโรคหรือไม่ ทางกายไม่ต้องพูดถึง เพราะว่ารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่โรคใจนี้รู้สึกจะไม่รู้ กำลังมีโรคหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็ตอบไม่ได้ แต่ถ้ารู้ มีโรคอวิชชา โรคไม่รู้ เพราะขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ก็ไม่รู้เลยว่าเป็นธรรม เป็นเรา ไม่เห็นการเกิดดับ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง

    เพราะฉะนั้นกว่าจะฟังธรรมรู้ว่าความเข้าใจเดิมๆ ก่อนที่จะได้ฟังธรรม กับเมื่อฟังธรรมแล้ว ห่างไกลกันแค่ไหน พร้อมกันนั้นก็ต้องรู้ด้วยว่า สภาพธรรมที่เบียดเบียนเสียดแทง ก็คือขณะนี้เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มี ก็ทำให้มีความติดข้อง สบายดีไหมเวลาติดข้องชอบมาก ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ยิ่งเพลิดเพลินเท่าไหร่ ยิ่งสนุกสนานเท่าไหร่ ยิ่งพอใจเท่านั้น ดีใจมาก มีความสุขมาก แต่ว่าพอฟังธรรมแล้ว จากผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงถึงที่สุด ก็จะรู้ว่าความไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งคนโน้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี อย่างที่เราคิด กิริยาอาการไม่ดี ประทุษร้ายคนอื่น วาจาไม่ดี เบียดเบียนคนอื่น พวกนี้ทั้งหมดมาจากความไม่รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้นโรคเยอะมาก โรคไม่รู้นำมาซึ่งโรคอื่น คือโรคติดข้องเพราะไม่รู้ ก็พอใจในสิ่งซึ่งไม่เหลือ แต่ก็เข้าใจว่ายังอยู่ เช่นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้วดับ ที่ว่าเร็วสุดที่จะประมาณได้ เปรียบได้เลยกระทบแข็งดับแล้ว เพียงแค่แข็งปรากฏดับแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคยังทรงแสดงว่าก่อนจะดับ อกุศลเกิดแล้ว คือไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น และก็มีความติดข้อง ในสภาพธรรมนั้นด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นโรคมานานแสนนาน และก็สืบต่อเรื้อรังมาเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถพบผู้ที่สามารถรักษาโรคทั้งหลายได้ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คนป่วยไม่เห็นรู้ว่าเป็นโรค เวลานี้มีโรคกันทุกคน โรคมากๆ โรคหนักๆ โรคร้ายๆ แต่ก็ไม่รู้เลย แต่ถ้าฟังพระธรรมเมื่อไหร่ ก็จะค่อยๆ เห็นประโยชน์ว่าโรคที่มีสามารถจะทุเลาเบาบางได้เมื่อได้เข้าใจพระธรรม จนกระทั่งไม่มีโรคเลยถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์กรุณาอธิบายคำว่าแข็งเป็นแข็ง

    ท่านอาจารย์ กระทบเมื่อไหร่ อะไรปรากฏ กระทบดอกไม้ ถ้วยแก้ว หรืออะไรก็ได้ กระทบเมื่อไหร่ อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง มีสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มีสิ่งที่ปรากฏ บางคนก็ตั้งนานกว่าจะรู้ว่าอะไร คุณวิชัยช่วยได้ไหมอะไรปรากฏ เดี๋ยวนี้ก็ปรากฏ

    อ.วิชัย ถ้าเป็นทางกาย ก็มีแข็งกับอ่อน แล้วก็เย็นร้อน แล้วก็ตึงไหว

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ดับแล้ว

    อ.วิชัย แต่ว่าความจำไม่ได้จำเป็นแข็ง แต่จำเป็นอย่างเช่น ถือไมโครโฟนอยู่อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก่อนจะจำว่าเป็นไมโครโฟน

    อ.วิชัย ก็ต้องมีลักษณะที่แข็งปรากฏก่อน

    ท่านอาจารย์ ชั่วขณะที่กระทบนี้ เพียงแค่แข็งปรากฏก็ดับแล้ว แต่ความรวดเร็วคือก่อนดับ ความติดข้องเกิดแล้ว

    อ.วิชัย ดูเหมือนกับไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ จนกว่าโรคโทสะ ประทุษร้ายแน่นอน เพราะฉะนั้นก็เพียงแต่ถามกันบ่อยๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่โกรธ ไม่เคยถามว่าทำอย่างไรจะเข้าใจธรรม จนกระทั่งไม่โกรธอีกเลย ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึงโรคไม่รู้ คืออวิชชา ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมก็ไม่สามารถที่จะรู้จักโรคนี้ได้ แต่ว่าแม้ฟังอยู่ขณะนี้ก็ไม่เห็นโทษภัยของความไม่รู้เลย ก็เหมือนกับเป็นปกติธรรมดา

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยเคยร้องไห้ไหม

    อ.วิชัย เคยร้องไห้

    ท่านอาจารย์ ทำไมร้องไห้

    อ.วิชัย ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ

    ท่านอาจารย์ ห้ามได้ไหม

    อ.วิชัย ห้ามไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วก็จะต้องร้องไห้ไปอีก เมื่อประสบอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจอีก

    อ.วิชัย ก็ต้องเป็นไปอีกก็ได้

    ท่านอาจารย์ ชาตินี้ร้องไห้บ่อยไหม เห็นไหม ยังชาติหน้าอีกไม่รู้ว่าตั้งเท่าไหร่ ก็ร้องไห้ไปเรื่อยๆ ดีไหม ร้องไห้

    อ.วิชัย ไม่น่าพอใจ

    ท่านอาจารย์ เสียงที่ไม่น่าฟังที่สุด คือเสียงร้องไห้ เพราะว่ากว่าเสียงนั้นจะออกมาได้ คนที่ทำให้เสียงนั้นเกิดขึ้นได้นี้ จะมีความทุกข์สาหัสสักแค่ไหน

    อ.วิชัย ทรงแสดงถึง การอุปมาเกี่ยวกับเรื่องของน้ำตา ที่ท่องเที่ยวในสังสารวัฏก็มากมายกว่าน้ำในมหาสมุทรนี้ ก็เหมือนกับเป็นไปได้ถึงขนาดนั้น

    ท่านอาจารย์ นี่คือการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเกิดมานานเท่าไหร่ชาตินี้น้ำตายังไม่กี่หยด หรือว่าเท่าไหร่ก็ตาม ยังใส่ในมหาสมุทรก็ไม่เต็ม ใช่ไหม แต่ว่าน้ำตาที่มีในสังสารวัฎ มากกว่าน้ำในมหาสมุทร

    อ.วิชัย ดังนั้นกว่าจะฟังพระธรรมค่อยๆ เห็นความจริงอย่างนี้ เห็นโทษของความเป็นไป ความเกิด

    ท่านอาจารย์ ได้ฟังอย่างนี้ ว่ามีโรคไม่รู้แค่นี้ คิดจะรักษาไหม เห็นไหมความต่างกันแล้ว ถ้ารู้ว่ามีโรคไม่รู้ ได้ยินอย่างนี้ พระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า อย่างนี้ มีหนทางที่จะรักษาโรคนี้ด้วย เพราะเหตุว่าโรคนี้นำมาซึ่งโรคอื่นๆ อีกมากมาย กระทบกันไปหมดเลยโรคต่างๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นพอได้ยินว่ามีโรค กำลังมีโรค แล้วมียารักษาโรคด้วย คือความเข้าใจธรรม เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คิดที่จะรักษาโรคไหม บางคนก็ไม่ฟังธรรม ไม่รู้ว่าเป็นโรคซึ่งรักษาไม่ได้เลย ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    อ.วิชัย เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเข้าใจสภาพธรรม ที่เป็นปัญญานั้น จึงเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นโทษจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเข้าใจถูกตามความเป็นจริง ของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เข้าใจผิดเลย

    อ.คำปั่น เพื่อความชัดเจน ในเรื่องของโรค กระผมขออนุญาตกราบเรียนถามท่านอาจารย์เพิ่มเติมก็คือ ที่ท่านอาจารย์ได้ถามถึงว่า รู้จักจิตหรือยัง ที่กล่าวถึงเช่นนี้หมายความว่าถ้ากล่าวถึงโรคนี้ ก็คือกิเลสทั้งหลาย ที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ทำให้จิตนั้นมีโรค ก็คือเป็นไปกับความเศร้าหมอง เดือดร้อน แต่จิตก็เกิดดับสืบต่อกัน การที่โรคจะเกิดขึ้น ก็เกิดในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น แต่ว่าในการที่สะสมเชื้อโรคเหล่านี้มานาน ในความเป็นจริงที่กล่าวถึงการที่จะรู้จักจิต และโรคนี้คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีโรคหรือเชื้อโรค เวลาเห็นนี้ จะเป็นโรคไหม

    อ.คำปั่น ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นโรคอยู่ที่ไหน ก็ยังไม่รู้เลย เห็นเมื่อไรก็เป็นโรคแล้ว ได้ยินเมื่อไหร่ก็เป็นโรคแล้ว โรคเต็มตัว แต่เป็นโรคใจทุกขณะ นี้จะมากมายสักแค่ไหน พร้อมที่จะรักษาโรคหรือยังเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง สติกับปัญญา ระลึกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สติไม่ใช่ปัญญา ปัญญาไม่ใช่สติ เป็นเจตสิกที่ต่างกันเป็นแต่ละหนึ่ง เป็นสติเจตสิก กับปัญญาเจตสิก สติเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในทางกุศล ถ้าใช้คำว่าระลึกรู้ หมายความถึงขณะนี้มีธรรม และสติระลึกรู้ธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ยังไม่ถึงขั้นนั้นเพราะเหตุว่าเพียงฟัง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา อย่าได้พยายามระลึกรู้ แต่ว่าเมื่อไหร่สติเกิด ใครจะไม่ให้สติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏก็ไม่ได้ สติทำกิจเพียงแค่ระลึกได้ ระลึกรู้ ปัญญาเข้าใจสภาพธรรมที่สติกำลังระลึกรู้ เพราะได้ฟังมาแล้ว ไม่เคยฟังเลยก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรมได้ แต่เพราะฟังแล้วเข้าใจ ก็สามารถที่จะรู้ว่าสติเกิดหรือไม่เกิด ถ้าสติไม่เกิดแข็งกระทบผ่านไปเลย เห็นกระทบเดี๋ยวนี้ผ่านไปเลย ได้ยินผ่านไปเลย ทุกอย่างผ่านไป โดยที่ว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง เพราะเหตุว่าไม่มีความเข้าใจพอ รอบรู้พอ ที่จะละความเป็นเรา และก็รู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งเป็นสติเท่านั้นที่จะทำกิจระลึกรู้ได้

    นี่เป็นความละเอียดอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีความเข้าใจถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เราเป็นสติ เราจะทำสติ ถ้าไม่มีปัญญาที่มีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นปริยัติซึ่งรอบรู้ในความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างมั่นคงว่าเป็นธรรมสติสัมปชัญญะที่จะเกิดระลึกรู้ ก็มีไม่ได้ เพราะไม่รู้ ใช่ไหม เกิดมาก็มีแข็ง มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ โดยไม่รู้เลยว่าทั้งหมดนั้นเป็นธรรม ต่อเมื่อไหร่ที่มีความมั่นคงว่า นั่นเป็นธรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็ระลึกรู้ธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาที่เกิดพร้อมสติก็เข้าใจถูก ในความเป็นธรรมแต่ละหนึ่งซึ่งต่างกัน เพราะฉะนั้นสติไม่ใช่ปัญญา กุศลใดๆ ก็เกิดขึ้นได้เพราะสติระลึกเป็นไปในกุศลนั้นๆ แต่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยเพราะไม่มีความเข้าใจธรรม แต่เมื่อไหร่ที่มีความเข้าใจธรรม ก็แล้วแต่วันหนึ่งๆ มีกุศลเกิดโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่เมื่อไหร่ซึ่งสติระลึกรู้สิ่งที่กำลังมี และปัญญาเข้าใจสิ่งนั้นตามความเป็นจริง เพราะเคยเข้าใจมาแล้วจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า เมื่อสติระลึกก็รู้ในความเป็นธรรมของธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นสติที่ระลึกรู้

    ผู้ฟัง เรียนถามเรื่องการเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ

    อ.อรรณพ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมีความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏได้เลย ปัญญาเป็นสภาพธรรม เป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ซึ่งก็มีหลายขั้น ปัญญาเป็นเจตสิกที่ดีงาม และดีงามที่สุดในบรรดาสภาพธรรมทั้งหลาย เพราะสามารถเข้าใจถูก ตามความเป็นจริง ตั้งแต่ในขั้นฟัง เพราะฉะนั้นปัญญาเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏแต่ไม่ได้มีปัญญา จึงไม่เข้าใจสิ่งที่ปรากฏใช่ไหม มีตาก็มีสีปรากฏ ปรากฏทางตา เสียงก็ปรากฏทางหู กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฎทางลิ้น เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ปรากฏทางกาย ก็คือสภาพที่ปรากฏทางใจนี้มากมาย แต่ละอย่างมีสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าไม่ได้ปรากฏกับปัญญา เพราะไม่ได้สะสมปัญญา แต่ปรากฏกับอกุศลใช่ไหม สีที่สวยก็ปรากฏกับโลภะ เสียงเพราะๆ ก็ปรากฏกับโลภะ ถ้าเสียงไม่เป็นที่ถูกใจก็ปรากฏกับโทสะ สิ่งที่จะปรากฏกับปัญญาได้ก็ต้องสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในพระธรรมคำสอน ที่แสดงถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็ต้องอาศัยการพิจารณา ไตร่ตรอง ที่ตรง ตั้งแต่ปัญญาขั้นฟัง จึงจะนำไปสู่ปัญญาที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏ เมื่อมีเหตุคือปัญญาขั้นฟังเรื่องจริง ปัญญาที่เข้าใจตามเรื่องจะค่อยๆ มีกำลังขึ้น จนเป็นปัจจัยให้ปัญญาสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ได้ ก็ต้องเป็นไปตามการสะสมปัญญา ตั้งแต่ขั้นฟังเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ขอความกรุณา อธิบายธาตุน้ำว่าเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อย่างอื่นไม่สนใจ

    ผู้ฟัง ถามอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า คงได้ยินคำว่ามหาภูตรูป ๔ มหาคือใหญ่ มหาภูตรูป ๔ รูปซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน ๔ รูป ที่ชินหู ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ภาษาบาลี ธาตุดินก็เป็นปฐวีธาตุ ธาตุไฟก็เตโชธาตุ ธาตุน้ำก็อาโปธาตุ ธาตุลมก็วาโยธาตุ ที่เราใช้คำว่าพายุ หรืออะไรนี้ก็หมายความถึงธาตุที่เคลื่อนไหวได้ ธาตุอื่นไม่สนใจ ก็สนใจเฉพาะธาตุน้ำ เป็นธาตุที่ไม่สามารถจะปรากฎทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แข็งนี้อย่างไรๆ ก็มองไม่เห็นแน่ เห็นแต่สิ่งที่อยู่ที่แข็ง ที่ใดที่แข็ง ที่นั่นก็มีรูป สีสันวรรณะที่กำลังกระทบตา แล้วก็ปรากฏว่ามีจริงๆ เพราะฉะนั้นสำหรับธาตุแข็งก็คงไม่มีปัญหา ลักษณะใดก็ตามที่อ่อนหรือแข็งเป็นลักษณะของธาตุดิน เย็นหรือร้อนเป็นธาตุไฟ ตึงหรือไหวเป็นธาตุลม แต่อาโปธาตุไม่ปรากฏ แม้ว่ากระทบก็จะกระทบแต่เพียงลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เพียง ๓ ธาตุ เพราะเหตุว่าธาตุน้ำเป็นธาตุที่ซึมซาบเกาะกุมธาตุทั้ง ๓ ไว้ ด้วยเหตุนี้ทั้ง ๔ ธาตุจึงไม่แยกจากกัน แต่ว่าเวลาที่กระทบก็จะกระทบ เฉพาะส่วนที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ไม่กระทบกับธาตุที่ซึมซาบเกาะกุมทั้ง ๓ ธาตุนี้ไว้ เพราะฉะนั้นกระทบเมื่อไหร่ก็ไม่ใช่ธาตุน้ำ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    10 ธ.ค. 2567