ปกิณณกธรรม ตอนที่ 915


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๙๑๕

    สนทนาธรรม ที่ กนกรัตน์รีสอร์ท จ.สมุทรสงคราม

    วันที่ ๑๐-๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ คำจริงเป็นอย่างหนึ่ง คำไม่จริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้ฟังนะคะ ไม่ใช่คิดว่าโจมตี เพราะเหตุมีคำที่กล่าวถึงแต่ละคำ ให้เข้าใจถูกต้องชัดเจนขึ้น แล้วจะโจมตีอะไร สมัยโน้นมีครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียงนะคะ ๖ ท่าน ล้วนแต่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ตามความเป็นจริง ซึ่งพระองค์รู้แน่นะคะ ว่าความเห็นผิดไม่ใช่ความเห็นถูก ตราบใดที่เขายังไม่ได้ฟังความเห็นถูกคำจริง เมื่อนั้นเขาก็หลงผิด เพราะฉะนั้นประโยชน์อะไร ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานแสนนานนะคะ ก่อนที่จะได้รับคำพยากรณ์ จากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "ทีปังกร" ก็ทรงมีพระมหากรุณา ที่รู้ว่าธรรมนี่ยากลึกซึ้ง แค่สองคำนี่ คิดรึเปล่า ธรรมยาก ลึกซึ้ง แต่คนอื่นบอกธรรมง่าย ไม่ต้องเรียนก็ได้ ไม่ต้องฟังพระพุทธพจน์ก็ได้ แล้วพระพุทธศาสนาคืออะไร ศาสนาคือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าพระองค์ตรัสรู้แล้วไม่แสดงธรรมเลย สัตว์โลกจะเข้าใจความจริงได้ไหม เพราะฉะนั้นคำจริงทุกคำเป็นการโจมตีหรือเปล่า หรือว่าเป็นการแสดงความถูกต้อง ให้คนที่สามารถพิจารณาได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย ประโยชน์อะไรนะคะ จะต้องเสียเวลาพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าไม่ใช่เพื่อประโยชน์ ที่จะให้คนอื่นเนี่ยได้เข้าใจถูกต้อง ไม่ว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าพระสาวกทั้งหลาย เพราะเห็นประโยชน์ของผู้ที่มีโอกาสจะรู้ความจริง จึงได้กล่าวคำจริง

    เพราะฉะนั้นเป็นการโจมตีหรือเปล่า แต่ละคำต้องพิจารณาค่ะ ไม่ใช่พูดตามๆ กัน หรือคิดเอาเอง แต่ต้องรู้ว่าคิดยังไงว่าโจมตี ในเมื่อแต่ละคำที่กล่าวเนี่ย เป็นคำกล่าวสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วทั้งนั้น ผู้ที่ตรัสตามที่พระผู้มีพระเจ้าได้ตรัสแล้วโจมตีใคร แต่ถ้าเป็นคำไม่จริงนะคะ โจมตีคำจริง

    อ.อรรณพ ข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดง เรื่องการข่มขี่ด้วยดี โดยชอบธรรมอย่างไร ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี ท่านก็เป็นคฤหัสถ์ ท่านก็ได้แสดงข้อความต่างๆ นี่ฮะ ซึ่งคัดค้านคำกล่าวของเดียรถีย์ ในความเห็นผิดเดียรถีย์ เดียรถีย์เค้าก็กล่าวไป ตามความเห็นผิดของเค้าเยอะแยะนะครับ เรื่องโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยงอะไรทั้งหลายเนี่ย แล้วท่านก็กล่าวสิ่งที่เป็นธรรม ซึ่งเดียรถีย์เหล่านั้นก็บอกว่า ท่านก็ว่าของท่านถูก พวกเดียรถีย์ที่เค้าก็ว่าของเขาถูก แล้วเค้าก็ว่าท่านอนาถก็ยึดความเห็นของตัวเองเหมือนกัน เพราะท่านอนาถนี่บอกว่า พวกท่านกำลังยึดถือในความเห็นผิด ท่านก็บอกว่าท่านเข้าใจด้วยปัญญาอันยิ่ง ไม่ใช่ว่าด้วยการยึดถืออย่างนั้น แล้วท่านก็มากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย หลังจากที่ท่านอนาถบิณฑิกได้ไปแล้วนะครับ ว่าดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุใดแล เป็นผู้มีธรรมอันไม่หวั่นไหวในธรรมวินัย ตลอดกาลนาน ที่สุดแม้นั้นพึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยชอบธรรมอย่างนี้ เหมือนท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีข่มขี่แล้วฉะนั้น

    ท่านอาจารย์ โดยชอบธรรมคือด้วยความหวังดีใช่ไหมคะ ให้เข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้นคำจริงต้องข่มขี่คำไม่จริงแน่นอน โดยคำนั้นเอง อัตตากับอนัตตา ใครจะบอกว่าต้องทำอย่างนี้ ไปสำนักปฏิบัติ แล้วอนัตตาอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้ก็มีธรรม และธรรมก็เป็นอนัตตา ทุกข์ธรรม ธรรมทั้งหลาย ทั้งหมดทั้งปวง เห็นขณะนี้ก็เป็นธรรม แล้วเมื่อไหร่ล่ะคะ จะเข้าใจว่าเห็นไม่ใช่เรา ต้องฟังคำของพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกนานเท่าไร ไม่ใช่แค่คำเดียวนะคะ คำดีได้ตรัสไว้ดีแล้ว ๔๕ พรรษา คำใดที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มี ซึ่งคนอื่นกล่าวถึงเรื่องนี้หรือเปล่า ให้รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ โดยการฟังจนกว่าจะเข้าใจ และก็ไม่ใช่คิดเองด้วย และไม่ใช่คำของตนเองด้วย แต่เป็นคำที่ผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ คำว่า"ตรัสรู้" หมายความว่าอะไรคะ ไม่ใช่รู้อย่างธรรมดาที่เรารู้นะคะ แต่สามารถที่จะเป็นอภิสมัยยิ่งใหญ่ ที่ไม่เคยมีมาเลยในสังสารวัฎฏ์ ที่สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม แล้วอย่างนี้จะไม่ให้คนอื่น ได้เข้าใจถูกต้องเหรอคะ ว่าเดี๋ยวนี้มีธรรมแต่เคยเข้าใจว่าเป็นเราคืออัตตา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นกว่าจะคล้อยตาม มั่นคงว่าเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เรา ต้องฟังเรื่องอะไรคะ เรื่องสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา พิสูจน์ได้เลย

    เพราะฉะนั้นในภาษาบาลีใช้คำว่า "ขันดะ" หรือ "ขันธ" ค่ะ ซึ่งคนไทยก็พูดง่ายๆ ว่าขันธ์ ขันธ์ ๕ ทำไมทรงจำแนกธรรมนี่ค่ะเป็นขันธ์ ๕ เพราะว่าบอกว่าเห็นไม่ใช่เรา ได้ยินไม่ใช่เรา เกิดขึ้นดับไปเนี่ยไม่พอนะคะ เพราะอุปาทาน ความยึดมั่นในสิ่งที่มี ในความเป็นตัวตนเหนียวแน่นมาก เพราะไม่ใช่เพิ่งจะยึดมั่นชาตินี้ชาติเดียว นานแสนนานมาแล้วนะคะ สภาพธรรมก็เกิดดับ แต่เมื่อไม่มีการได้ฟังพระธรรม ใครจะมาบอกว่าเห็นเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นเนี่ย ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครไปทำให้เห็นเกิดขึ้นได้เลย แล้วก็เห็นที่เกิดแล้วก็ต้องดับด้วย ไปยับยั้งไม่ให้เห็นดับก็ไม่ได้ ทรงแสดงความจริงนะคะ ของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้โดยละเอียดยิ่ง โดยประการทั้งปวงว่าขณะนั้นนะคะ เป็นสภาพธรรมอะไรบ้าง แล้วอย่างนี้ไม่ฟังปริยัติ ไม่ฟังพระพุทธพจน์ ไม่ศึกษาคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไปปฏิบัติอะไร ใครปฏิบัติ ตัวเราปฏิบัติ แล้วทุกคำต้องค้านกับคำที่ได้ตรัสแล้ว แม้แต่เพียงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง สำหรับผู้ที่ฟังใหม่ๆ เนี่ย อย่างตัวหนูเองเนี่ยนะคะ กว่าหนูจะเข้าใจคำว่าสภาพธรรมขณะนี้เนี่ย เป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องฟังหลายๆ รอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเราใช้ภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาไทย ที่บ้านทุกวันเนี้ยพูดคำว่าสภาพธรรมหรือเปล่าคะ ไม่พูดเลย แต่ทั้งหมดเป็นธรรมที่มีสภาวะลักษณะของตน ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ ถ้าเราพูดภาษาไทยอย่างนี้ก็เข้าใจ ใช่ไหมคะ เห็นต้องเป็นเห็น เห็นคิดไม่ได้ เห็นชอบไม่ได้ เพราะอะไรคะ เห็นแล้วดับ แล้วจะไปทำอะไร

    ผู้ฟัง เห็นแล้วดับ ก็ยังเห็นอยู่นะ เสียงท่านอาจารย์ก็ยังเห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแค่นี้พอมั้ย มิฉะนั้น ไม่ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา พระมหากรุณาที่ทรงแสดงพระธรรมในวันหนึ่งนี่นะคะ ตั้งแต่เช้า สาย บ่าย ค่ำ ดึก ใครทำอย่างนี้บ้าง ด้วยพระมหากรุณาอย่างยิ่ง เพราะไม่จำกัดบุคคลที่จะรับฟังเลย เพราะรู้ว่าเขาฟังแล้วเห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นได้ยินอย่างนี้ เห็นเนี่ยเกิดแล้วดับ เห็นประโยชน์ไหม ใช่ไหมคะ แต่คนครั้งนั้นอ่ะค่ะ แค่นี้ก็เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยได้ยินเลย เห็นเกิดเป็นเห็นแล้วก็ดับแค่เห็น นี่คือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่แค่ฟังค่ะ ประจักษ์แจ้งจริงๆ ในขณะที่เกิดขึ้น และดับไป นี่คือสูงจากปริยัติที่ฟังแล้วนะคะ มีความเข้าใจไม่เปลี่ยนแปลงเลย เห็นขณะนี้เกิดดับ ได้ยินขณะนี้เกิดดับ ไม่มีใครไปทำให้เห็นเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครไปทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดได้เลย นอกจากมีสิ่งที่อาศัยกัน และกัน ปรุงแต่งทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทรงแสดงอย่างละเอียดถึง ธรรมที่อาศัยกัน และกัน ซึ่งกว่าจะรู้ว่าอะไรอาศัยอะไร ก็ให้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนี้ซะก่อน แต่ละคำว่าจริงไหม เห็นมีจริง ถูกไหมคะ เห็นอะไร ก็มีสิ่งที่เขากำลังปรากฏให้เห็นถูกไหม แต่ว่าไม่เคยรู้อย่างนี้มาเลย เข้าใจผิดว่า ๑ เราเห็น ๒ เข้าใจว่าสิ่งที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ที่ตรัสรู้แล้วนะคะ จะเป็นผู้ที่เห็นอย่างนั้นอีกต่อไป แต่ต้องรู้ความจริง อย่างที่ได้ทรงแสดงไว้ ซึ่งละเอียดลึกซึ้ง แล้วเมื่อไม่ศึกษาแล้วจะมีธรรมอะไรปฏิบัติ มีแต่ตัวตน ซึ่งไปคิดว่าทำอย่างนี้คือปฏิบัติ เพราะเข้าใจว่าปฏิบัติคือทำ แต่ไม่มีใครเลยค่ะ ถ้าเข้าใจว่าปฏิบัติคือทำ ก็ค้านกับพระพุทธพจน์อีก ธรรมต่างหาก ไม่ใช่ใครเลยที่ปฏิบัติ แล้วธรรมอะไรปฏิบัติ ถ้ามีการศึกษาธรรมนะคะ จะมีคำตอบไม่สิ้นสุดเพราะถึงที่สุด แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมตอบไม่ได้สักอย่างเดียว ตอบก็ผิดเพราะปฏิบัติไม่ใช่ทำ เห็นไหมคะ ผิดละเข้าใจว่าปฏิบัติคือทำก็ผิด ผิดไปทุกคำ

    ผู้ฟัง คือชาวพุทธก็ควรจะศึกษาพระธรรม แล้วพิจารณาด้วยความเข้าใจของตนเอง ในพระธรรมแต่ละบทใช่ไหมคะ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแต่ละคำนี่ค่ะ เวลาพูดเนี่ย ประโยคยาวนะคะ แต่ตัดออกมาเป็นแต่ละคำ ชาวพุทธ แค่คำนี้คำเดียว หมายความถึงใคร แค่ชาวพุทธนี่ค่ะหมายความถึงใคร คนที่ไม่ฟังพระธรรมเลยหรือ เป็นชาวพุทธได้มั้ย ชาวพุทธไหนล่ะคะ ที่ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ฟังพระธรรม แล้วบอกว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ พูดได้ยังไง หรือว่าเขาว่าฉันเป็นชาวพุทธ ฉันก็เป็นชาวพุทธ โดยไม่รู้ว่าชาวพุทธคือใคร เพราะฉะนั้นไม่รู้ทั้งหมด ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริง แม้ไม่เรียกว่าชาวพุทธ ไม่เรียกนะคะ แต่มีความเคารพในคำจริง เวลาที่ได้ยินคำที่จริงรู้ได้เลย ใครกล่าวคำนี้ เพราะฉะนั้นผู้ที่กล่าวคำจริง ควรเป็นผู้ที่ทุกคนเคารพมั้ย ถ้ารู้สึกอย่างนี้นะคะ เป็นชาวพุทธหรือเปล่า ต่อเมื่อได้รู้ว่าคำจริง เป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงให้คนอื่นได้รู้ความจริง ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ด้วย

    เพราะฉะนั้นทรงแสดงอะไรก็แสดงเรื่องสิ่งที่มีจริง ซึ่งคนอื่นไม่เคยรู้มาก่อน ให้คนอื่นเนี่ยได้เริ่มเข้าใจถูกต้องในแต่ละคำ ซึ่งเป็นคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง และความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นการจะเริ่มฟังพระธรรมนะคะ ต้องไปเตรียมตัวไหมคะ ไปนุ่งขาวใส่ขาวมา แล้วมาฟังพระธรรมอย่างนั้นหรือเปล่าคะ ไม่ใช่เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นไปนุ่งขาวใส่ขาวกันทำไม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสให้ใครนุ่งขาวใส่ขาวหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเห็นได้เลยค่ะ คำไม่จริงทั้งหมดนะคะ ทำลายคำจริง เพราะไม่มีเหตุผล

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายคำว่า ถ้าจะมีชีวิตหน้าเนี่ย อยากจะมีชีวิตข้างหน้าเป็นอย่างไร วาดภาพไว้ตั้งแต่ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ถามคนอื่นที่เขาเป็นนักฝัน แต่เขาไม่รู้ความจริง ถึงเขาจะวาดภาพ สวยเลอเลิศยังไง เป็นได้มั้ย ทำไมแค่คิดว่าให้เขามาบอกเรา แล้วเราจะเป็นอย่างนั้นได้หรือ เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่ฟังนี่นะคะ จะเข้าใจพระธรรมเมื่อเป็นผู้ที่ตรง ได้ยินคำอะไร ไตร่ตรอง และรู้ว่าคำนั้นจริงรึเปล่า ไปหาใครมาวาดภาพของเราชาติหน้าซิคะ ให้สวยเลย เลอเลิศเลยเป็นไปได้เหรอ แล้วพูดทำไม ในสิ่งที่ไม่จริง ให้หลงเชื่อ ให้ฝันไป ให้ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เพราะเดี๋ยวนี้นี่แหละจริง เลอเลิศมั้ย เคยฝันอย่างนี้มาก่อนรึเปล่าชาติก่อนๆ ว่าจะมีเห็น ธรรมดาๆ อย่างนี้แหละ

    ผู้ฟัง อยากเห็นแต่สิ่งที่ถูกใจค่ะท่านอาจารย์ เห็นดอกไม้สวยๆ เห็นภาพสวยๆ ที่อยู่ข้างหน้า

    ท่านอาจารย์ แล้วยังไง แล้วก็ไม่เห็นอีก นี่จริงรึเปล่า แทนที่จะบอก แล้วก็ไปหามาอีกสิ ให้มันสวยกว่านี้อีก ที่โน่นที่นี่ที่นั่น แต่ถ้าพูดคำจริงว่าเห็นจริงไม่ใช่ไม่จริงแล้วก็ไม่เห็น จะเห็นตลอดไปได้ยังไง คำไหนสมควรเป็นคำที่ไตร่ตรอง แล้วก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ผิด

    ผู้ฟัง ถ้าเราตาไม่บอด เราก็ยังเห็นนะท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นอะไรคะ

    ผู้ฟัง แค่เห็นสิ่งที่ปรากฏ แต่สิ่งที่สวยไม่สวย นั่นคือความคิด

    ท่านอาจารย์ ค่ะเราเห็นสิ่งที่สวยตลอดไปหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ตลอดบางครั้ง ก็เห็นขยะบ้างค่ะ เห็นของที่ไม่สวย ก็ธรรมดา

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะสิ่งที่เราได้เคยทำมาบ้างค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไม่ลืมนะคะ เป็นอนัตตา จนกว่าทุกอย่างเป็นอนัตตาจริงๆ จึงจะละความที่เข้าใจผิด ที่ยึดถือทุกอย่างว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เป็นเราด้วย ตั้งแต่เกิดมาก็เป็นเรา เห็นก็เป็นเราทั้งๆ ที่เห็นดับไป และหมดแล้ว ได้ยินเข้าใจว่าเรา ได้ยินก็หมดไปแล้ว แล้วถ้าไม่มีธรรมเกิดเลย มีเรามั้ย อยู่ไหน ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการฟังเรื่องความจริงนะคะ สามารถที่จะเข้าใจที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม เพราะเหตุว่าไม่ได้ มีความเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น แล้วปฏิบัติอะไร เพื่ออะไร และขณะที่คิดว่าปฏิบัติอ่ะ ทำอะไร ต้องเป็นผู้ที่ตรง

    อ. อรรณพ จากที่ดูในพระไตรปิฎกนี่นะครับ ท่านอาจารย์ ในวัชชิยสูตรเนี่ย ก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่เห็นต่างนี่หลากหลาย เพราะว่าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเนี่ย เขาก็มีความคิดที่คิดว่า อันเนี่ยจะต้องเป็นตบะ เป็นความเพียรที่เขาทำ แล้วพอท่านวัชชิยมาหิตคหบดีนี่นะครับ ท่านเข้าไป พวกเดียรถีย์พูดก่อนเลยนะฮะ บอกว่าได้ยินมาว่า พระสมณโคดมเนี่ยติเตียนตบะความเพียรอะไรทั้งหมดใช่ไหม ทั้งหมดเลยเหรอนะฮะ ท่านคหบดีท่านก็บอกว่าพระองค์ ไม่ได้ติเตียนตบะทั้งหมด ทรงติเตียนตบะบางอย่าง แล้วก็ไม่ได้ติเตียนตบะบางอย่าง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วก่อนอื่นนะคะ บางคนอาจจะไม่เข้าใจ ความหมายของคำว่า"ตบะ" ค่ะ ขอเชิญคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น ครับ ก็โดยความหมายนะครับ หมายถึงความเพียรนะครับ ที่เป็นเครื่องเผาบาปให้เร่าร้อนนะครับ อันนี้คือโดยความหมายนะครับ แต่ถ้าหากว่าเป็นความเพียรที่ผิด เป็นการประพฤติปฏิบัติที่ผิดนะครับ ก็เป็นความเพียรที่ผิด เป็นตบะที่ผิด แต่ถ้าเป็นความเพียรที่เป็นไป เพื่อการอบรมเจริญปัญญา รู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นตบะที่ถูกต้อง เป็นความเพียรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญครับ

    ท่านอาจารย์ ได้ยินแต่ละคำนะคะ อย่าเพิ่งคิดว่าพอแล้ว เพราะเหตุว่าเพียงเพิ่งเริ่มที่จะเข้าใจ แต่ยังมีความละเอียดนะคะ แล้วก็จริงๆ แล้วก็คือว่าชีวิตประจำวัน ถ้าเราใช้คำว่าขยันภาษาไทย แล้วก็ลักษณะที่ขยันนี่ มีมั้ย ไม่อยู่เฉยใช่ไหมคะ แค่นี้เองที่คิดแต่ความจริงวิริยะเจตสิกเกิดกับจิตอะไรบ้าง ทรงแสดงไว้ละเอียดยิ่งค่ะ กำลังง่วงมีวิริยะไหมคะ

    ท่านอาจารย์ คะ เก่ง เพราะว่าได้ฟังธรรมแล้ว แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมนะคะ จะนอนละไม่ทำอะไรล่ะ นะคะ อะไรอะไรก็ไม่เอาหมดเลย จะนอนอย่างเดียว เหมือนกับว่าไม่มีความที่จะเพียรทำอย่างหนึ่งอย่างใดเลย แต่ว่าถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัตว์โลกก็ไม่สามารถจะเข้าใจสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้นะคะ การศึกษาเมื่อศึกษาแล้วก็จะรู้ได้ว่าทรงพระมหากรุณา แสดงให้เห็นความไม่ใช่เรา ไม่ว่าชีวิตจริงในวันหนึ่งวันหนึ่งนะคะ เป็นเราหลายอย่างใช่ไหมคะ กำลังขยันก็คิดว่าเป็นเรา กำลังอดทนนะคะ ง่วงก็ง่วง หรืออะไรก็แล้วแต่นะคะ แต่ก็ยังสามารถที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จลงไปได้ แต่ว่าสิ่งนั้นที่สำเร็จเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า วิริยะทั้งหมดดีได้ไหม ก็ไม่ได้ แล้วแต่ว่าเพียรทำอะไร อดนอนทั้งคืน ทำอกุศลได้ไหมคะ อดนอนทั้งคืนช่วยเหลือคนอื่นได้มั้ย ได้

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าวิริยะ เป็นสภาพธรรมที่เพียร แต่ความอดทนนะคะ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอุปสรรค คำพูดไม่ดี โกรธง่ายมากเลย แต่ที่จะไม่โกรธอดทนมั้ย ที่จะไม่โกรธ เขาพูดไม่ดี และจิตที่เกิดได้ยิน ก็ดับแล้วนี่ค่ะ เพราะฉะนั้นก็เมื่อจิตได้ยินดับแล้ว แล้วแต่ว่าการสะสมเนี่ย จะเป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศล ถ้าสะสมอกุศลมามากก็โกรธเลย ใช่ไหมคะ แต่ถ้าสะสมกุศลมาก ก็เป็นผู้ที่มีความอดทน สามารถที่จะพิจารณาเห็นการไร้ประโยชน์ ของการที่จะโกรธ โกรธทำไม เขาไม่ได้เดือดร้อนเลย คนที่ว่าไม่ได้เดือดร้อนนะคะ แต่คนฟังเดือดร้อน เพราะเขาว่า ไม่อดทนต่อการที่จิตของเราเนี่ยจะไม่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แต่ละคำนี่ก็กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงนะคะ จนกระทั่งแม้อดทนต่อสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ค่อยๆ อดทนขึ้น อาหารเค็มไป ทานได้ไหมคะ รับประทานได้มั้ย จืดไปรับประทานได้ไหมคะ อดทนรึเปล่า หรือว่าต้องเดือดร้อน เย็นไป ไม่ร้อน ไม่อุ่น

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริง ซึ่งเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เราเลยนะคะ แต่ถึงกระนั้น แม้สิ่งที่น่าพอใจใครๆ ก็อยากได้ แต่อดทนที่จะไม่ติดข้องในสิ่งนั้น ค่อยๆ ยากขึ้นตามลำดับหรือเปล่า จนกระทั่งแม้ธรรมเดี๋ยวนี้ ยากจริงๆ ทุกคนที่ได้ฟังธรรม แล้วเข้าใจนะคะ ต่างกล่าวเหมือนกันหมด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร ศึกษามามากน้อยแค่ไหน ในทางโลก แต่พอถึงธรรม ทุกคนกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุด ไม่มีอะไรที่จะยากเกินกว่านี้ เป็นคำจริง เป็นคำสรรเสริญพระคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทรงบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่ กว่าจะได้แสดงความจริงของแต่ละคำ เพราะฉะนั้นอดทนนะคะ แม้ในสิ่งที่ใครๆ ก็ติดข้อง แต่ว่าผู้ที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมคือผู้ที่สละกิเลส เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นนะคะ ละคลายความติดข้องลงบ้าง เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่จะเป็นได้ยังไง ถ้ายังมากด้วยกิเลส แต่ถ้าค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ค่อยๆ สะสม ค่อยๆ เห็นโทษ ความดีเพิ่มขึ้น อกุศลลดน้อยลง ทั้งหมดนี้นะคะ ก็เป็นความเพียรที่เป็นตบะ ที่จะขัดเกลากิเลส ที่จะทำให้สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่เป็นอย่างที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งซึ่งฟังธรรมเพื่อประโยชน์นะคะ คือการเข้าใจถูก ต้องอดทนไหมคะ ค่ะ

    ผู้ฟัง คือระหว่างที่หนูผ่านมาหลายๆ ที่เนี่ย หนูพยายามที่จะหาคำตอบ หนูคิดเอาเอง คือมันทำให้หนูเป๋ เป๋ไปเป๋มาแล้วสับสนอลหม่าน ว้าวุ่นไปหมดเลย และที่สำคัญที่สุดคือความติดข้อง ติดข้องของเราในเรื่องทางลัด คือหนูไปติดใจเค้าว่าทางลัดนะคะ หนูยอมรับจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก็น่าเห็นใจนะคะ พระเหตุว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระพุทธพจน์จริงๆ ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่าคำใดผิด คำใดถูก ต่อเมื่อไหร่ได้ฟังนะคะ ถึงจะรู้ว่าใครจะบังอาจแสดงหนทางลัดที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้นผู้นั้นต้องเก่งกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไม่ได้ทรงแสดงหนทางลัดเลย แต่ทรงแสดงปัญญาตามลำดับขั้น ซึ่งต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงนะคะ โดยความเป็นอนัตตา จนกระทั่งเป็นสัจจญาณมั่นคงว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะสิ่งนั้นเกิดแล้ว ไปคิดว่าเราทำ แต่สิ่งนั้นต่างหากที่เกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะอะไรทั้งนั้นค่ะ เดี๋ยวนี้แม้แต่จะคิด ก็คิดแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นหนทางของพระองค์นะคะ เป็นหนทางของความเป็นอนัตตา โดยตลอด ไม่ใช่มีอัตตาไปดูจิตอย่างนั้น ก็ไม่ได้เข้าใจ

    ผู้ฟัง ตรงนี้แหละค่ะที่หนูพลาดถึงขนาดไกลเลย

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าคำสอนทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง ถ้าคำสอนใดไม่ทำให้เกิดความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มี คำนั้นๆ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ให้ใครไปนั่งทำอะไรเลยค่ะ แต่ฟังแล้วก็ไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความรู้ของผู้ฟังเอง จึงจะเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ไม่รู้อะไร ก็ฟังไปอีก ปฏิบัติไปอีก แล้วก็ไม่รู้อะไร อย่างนั้นก็ไม่ใช่ประโยชน์ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน แต่ละชีวิตนะคะ กว่าจะได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าชาติหนึ่งชาติใดค่ะ ก็อาจจะเคยเห็นผิดมาแล้ว แต่บุญที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน ถ้าไม่มีนะคะ คนนั้นจะไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    19 ก.ค. 2567