ปกิณณกธรรม ตอนที่ 917
ตอนที่ ๙๑๗
สนทนาธรรม ที่ กนกรัตน์รีสอร์ท จ.สมุทรสงคราม
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ท่านอาจารย์ ได้ยินมีจริง หรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง มีจริงค่ะ
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์ เป็นโลกรึเปล่า
ผู้ฟัง เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะอะไรคะ
ผู้ฟัง ก็เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามนะคะ ถ้าไม่เกิดขึ้นเลยเนี่ย ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น เนี่ยจะมีโลกไหม
ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่มี แต่ในสิ่งที่ไม่มีเลยทั้งหมด มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นเป็นโลก เพราะฉะนั้นที่เราบอกว่า ในโลกนี้มีอะไรตั้งหลายอย่างนะคะ ก็หมายความว่ามีแต่ละ ๑ ซึ่งเกิดขึ้นเยอะแยะมากมายไปหมด แต่ละ ๑ ก็เป็นโลก เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ผู้ฟัง ค่ะ
ท่านอาจารย์ ร้อนไหมคะ
ผู้ฟัง ร้อนค่ะ
ท่านอาจารย์ ร้อน รู้อะไรหรือเปล่า
ผู้ฟัง รู้ว่าจริงว่าเป็นร้อนจริง
ท่านอาจารย์ ตัวร้อนน่ะ ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ลักษณะที่ร้อนไม่รู้อะไรทั้งสิ้น เสียงรู้อะไรไหมคะ เสียงมีจริงๆ แล้วเสียงเนี่ยรู้อะไรหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่รู้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่รู้ เพราะฉะนั้นธรรมมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ สภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดจริงๆ มีจริงๆ แต่ไม่รู้อะไรเลย แข็ง เสียง ร้อน เย็น เพราะฉะนั้น ก็มีคำที่ต้องบัญญัติให้รู้ว่าคำนี้จะหมายความถึงอะไร ถ้าหมายความถึงสิ่งที่เกิดแล้วไม่รู้อะไรนะคะ ใช้คำว่ารูปธรรม รูปะกับธรรม เป็นรูปธรรม และสภาพธรรมที่ไม่มีรูปเลยนะค่ะ สักรูปเดียวปะปน แต่เกิดเมื่อไรเป็นธาตุรู้ ไม่มีรูปร่าง มองก็ไม่เห็นค่ะ จะไปหาจิต จะไปหาได้ยินจะไปหาเห็นที่ไหน มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่เห็นไม่มีรูปร่างที่จะปรากฏ ให้รู้ว่าเป็นเห็น แต่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นซึ่งไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น รู้อะไรไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่รู้ค่ะ
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมที่เป็นรูปธรรม ส่วนสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ เข้าใจคำว่าธรรม ค่อยๆ เข้าใจรูปธรรม ค่อยๆ เข้าใจว่านามธรรม เพราะฉะนั้นที่กำลังนั่ง ที่เข้าใจว่าเป็นเรา เนี่ยเป็นอะไรคะ
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมประเภทไหน
ผู้ฟัง ประเภทจริงค่ะ
ท่านอาจารย์ ธรรมจริงทั้งนั้นเลยค่ะ แต่มี ๒ อย่างไงคะ อย่างหนึ่งเกิดขึ้นมีจริงๆ ค่ะ แข็งบ้าง หวานบ้าง
ผู้ฟัง ร้อนบ้าง
ท่านอาจารย์ เป็นกลิ่นต่างๆ บ้าง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยค่ะ แค่เกิดเป็นแข็งให้เป็นอื่นไม่ได้ แต่แข็งมีจริงๆ เป็นธรรมจริงๆ เกิดจริงๆ ดับจริงๆ เป็นรูปธรรม แต่สภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นนะคะ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย เกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้น และต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ เช่นบอกว่าเห็นนี้ค่ะ เห็นหมายความว่า มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น จะบอกว่าเห็นได้
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเห็นเป็นสภาพที่รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องอธิบาย ไม่ต้องพูดอะไรเลย เพราะกำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นด้วย และมีสภาพเห็น ซึ่งสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ไม่เห็น ไม่ใช่สภาพรู้แต่ว่าสภาพรู้เกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สีสันวัณณะต่างๆ รูปร่างสัณฐานต่างๆ แต่เป็นธาตุที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น รูปธรรมเป็นรูปธรรม รูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นนามธรรมไม่ได้ ประเภทหนึ่ง แต่ถ้ามีเพียงรูปธรรมเท่านั้น อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ ถ้าไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น เกิดขึ้นได้ยิน เกิดขึ้นคิดนึก เพราะฉะนั้นที่เห็น ที่ได้ยิน ที่คิดเนี่ยนะคะ มีจริงๆ แต่เป็นนามธรรม เพราะไม่มีรูปร่างเลยทั้งสิ้นค่ะ เกิดแล้วต้องรู้ อาจจะรู้ทางตาอาศัยตาเกิดขึ้นเห็น อาศัยหูเกิดขึ้นได้ยิน อาศัยจมูกเกิดขึ้นรู้กลิ่น อาศัยลิ้นเกิดขึ้นรู้รส อาศัยกายเดี๋ยวนี้ รู้อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวค่ะ เพราะฉะนั้นสภาพรู้ เป็นธรรมอย่างหนึ่งนะคะ เป็นนามธรรม สภาพธรรมที่เกิดแต่ไม่รู้อะไรเป็นรูปธรรม ค่อยๆ เข้าใจแล้วใช่ไหมคะ ธรรม นามธรรม รูปธรรม เพราะฉะนั้นที่เป็นคุณนวลปราง ที่เข้าใจว่าเป็นเรา ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์ ธรรมอะไร
ผู้ฟัง รูปธรรมคะ
ท่านอาจารย์ เท่านั้นหรือ
ผู้ฟัง แล้วก็เป็นนามธรรมด้วย
ท่านอาจารย์ ทั้งสองอย่างค่ะ เริ่มรู้แล้วว่าไม่ใช่เราค่ะ เริ่มฟังแต่ละคำ แล้วเข้าใจขึ้น และก็มั่นคงขึ้น ลืมไม่ได้เลย ถ้าไปสำนักปฏิบัติ เป็นเราใช่ไหมที่ไป
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่รู้เรื่องรูปธรรมนามธรรมเลย เพราะฉะนั้นค้านกับคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารึเปล่า
ผู้ฟัง ค้านค่ะ
ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหลายทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราค่ะ เพราะฉะนั้นแต่ละคำนี่ค่ะ ซ้ำไปซ้ำมา เพื่ออะไรคะ ไม่ใช่ต้องจำ แต่ไตร่ตรอง มั่นคงเข้าใจจริงๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เริ่มรู้เลยค่ะว่า คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำเนี่ย ทำให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่มี ซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ เรียกฟังนี่เลยค่ะ คือปริยัติ แต่ว่าแค่ฟังไม่พอเห็นไหมคะ ฟังแล้วไม่พอเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ มั่นคงไม่พอ เพราะว่าถามแล้วงงๆ บ้าง ใหม่จริงๆ ก็สับสนบ้างใช่มั้ยคะ
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วก็ยังมีอีกตั้งเยอะ นี่แค่นิดๆ หน่อยๆ ใช่ไหมคะ แต่ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ ในพระพุทธพจน์ อย่างคำว่าธรรมนี่ค่ะ ถ้ารอบรู้จริงๆ ไม่เปลี่ยนยังไงยังไงก็ไม่เปลี่ยน สิ่งที่มีจริงนั่นแหละเป็นธรรมอย่าง๑ แต่ละหนึ่งๆ แต่ละหนึ่ง แต่พอรวมกันก็ไม่รู้ แต่ถ้าแยกออกแล้ว ก็เป็นแต่ละ๑ ซึ่งไม่ปะปนกันเลย ขนมหวานไหมคะ
ผู้ฟัง หวานค่ะ
ท่านอาจารย์ ขนมแข็งมั้ยคะ อ่อนไหม
ผู้ฟัง แข็งค่ะ
ท่านอาจารย์ ขนมเย็นไหม
ผู้ฟัง เย็นค่ะ
ท่านอาจารย์ เห็นไหมคะแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ รวมกัน แล้วเราเข้าใจว่าเป็นสิ่ง ๑ คือขนม แต่ว่าถ้าแยกออกไปนะคะ อ่อนหรือแข็งไม่ใช่หวาน ไม่ใช่เค็ม อ่อนเป็นอ่อน หวานเป็นหวาน เพราะฉะนั้นแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ นี่ค่ะ เป็นธรรมซึ่งต้องเข้าใจจริงๆ นะคะ มิฉะนั้นไม่ประจักษ์การเกิดดับ แล้วจะรู้จักนิพพานได้ยังไง แค่ชื่อให้คนหลงนะคะ พยายามไปถึงนิพพาน แต่ไม่รู้ว่านิพพานคืออะไร ความไม่รู้ถึงนิพพานไม่ได้ เพราะว่านิพพานหมายความถึงดับกิเลส กิเลสเกิดเพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้นความไม่รู้จะนำไปสู่การดับกิเลสไม่ได้ ฟังเหนื่อยมั้ยคะ
ผู้ฟัง ไม่เหนื่อยค่ะ ดีค่ะเพราะเพิ่งแบบใหม่จริงๆ นะคะ เพิ่งเคยได้ฟังอย่างเงี้ยค่ะ สามารถจะฟังแบบทางโลกๆ ที่เรียนให้อาจารย์ทราบอ่ะค่ะ
ท่านอาจารย์ แต่ตอนนี้โลกกับธรรมคืออะไร
ผู้ฟัง ต้องกลับไปค่ะคือความจริง
ท่านอาจารย์ ความจริงซึ่งที่เราใช้คำว่าโลก ก็คือธรรม
ผู้ฟัง ต้องกลับไปทบทวน อีกเยอะเลย
ท่านอาจารย์ ค่ะ หรือมิฉะนั้นนะคะ ได้ยินคำแต่ละคำ อย่าเพิ่งคิดว่าเข้าใจแล้ว
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ แค่ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เนี่ยเข้าใจแล้วหรือ ถ้าถามต่อไป ถามต่อไป ถามต่อไป ก็จะรู้ว่าเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า มั่นคงหรือเปล่า ถ้ามั่นคงคือมีจริงแน่ๆ และก็ความจริงนั้นต้องต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือเป็นรูปธรรมไม่รู้อะไร อีกอย่าง ๑ ก็เป็นนามธรรมเกิดขึ้นต้องรู้ ตอนหลับรู้อะไรรึเปล่าคะ
ผู้ฟัง ไม่รู้ค่ะ
ท่านอาจารย์ แต่มีจิตมั้ย มีธาตุรู้มั้ย
ผู้ฟัง มีธาตุรู้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ยังไม่ตายใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแม้จิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ก็หลากหลาย เกิดขึ้นเห็นเป็นจิตประเภท ๑ อาศัยตา เกิดขึ้นได้ยินเป็นจิตอีกประเภท ๑ ละ ไม่ใช่จิตที่เห็นแล้วมาได้ยินต่างกันละ สภาพที่ทำให้เกิดเห็น ก็ไม่ใช่สภาพธรรม ที่ทำให้เกิดได้ยิน ขณะที่กำลังคิดนึก ไม่ต้องอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สภาพที่จำทุกอย่างไว้ เป็นปัจจัยให้คิดถึงสิ่งที่ได้จำไว้ โดยไม่ต้องอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย ก็ต่างกันแล้วนะคะ แล้วสภาพธรรมซึ่งมีจริงเกิดดับ แต่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกเลยก็มี ขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ได้ตาย เพราะยังมีธาตุรู้เกิดดับ แต่ขณะนั้นนะคะ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก มีไหมคะ
ผู้ฟัง มีค่ะ
ท่านอาจารย์ นั่นคือเริ่มเข้าใจขึ้น ว่าเป็นธรรม ธาตุรู้อีกชนิดหนึ่ง สิ่งสามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ โดยไม่ต้องอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นในขณะที่เกิดขณะแรกนี่ค่ะ ถ้าไม่มีธาตุรู้คือไม่มีจิต จะไม่มีสิ่งที่มีชีวิต รูปเกิดได้นะคะ เป็นเนื้องอก งอกขึ้นมาได้แต่เนื้องอกไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นต้องแยกกันนะคะ โดยสิ้นเชิง เป็นธรรมคนละ ๑ ละ ๑ ละ ๑ ไม่ว่าจะเป็นธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรม หรือว่าเป็นสภาพซึ่งไม่รู้อะไร นี่คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ เพื่อให้มีความเข้าใจถูก ตามที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้อะไร ก็ตรัสรู้สิ่งที่คนอื่นไม่รู้ แต่มีจริงๆ ทุกขณะ
ผู้ฟัง ปัจจุบันเนี้ยมีการประยุกต์ใช้ พุทธศาสนาเนี่ย เรื่องการประกอบอาชีพต่างๆ นะครับ การพัฒนาบุคคล การพัฒนาองค์กร อะไรเยอะแยะนี่นะฮะ อันนี้ก็เกิดความสงสัยว่าจริงๆ แล้วตรงนี้น่ะ เกิดประโยชน์กับพุทธศาสนิกชน หรือว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ หรือเผยความเข้าใจผิด หรือว่าเป็นโทษยังไงนะครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ ก็จะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ของสภาพธรรมนั้นๆ นะคะ ประโยชน์ก็คือว่าทำให้มีความเข้าใจถูกในสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นจะไปอาศัยอ้างอิงประยุกต์ เพื่อเหตุอื่นไม่ได้ เพราะเหตุว่าเหตุอื่นๆ ก็มีที่จะทำให้ เขาได้รับประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่การเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่จะกล่าวว่าพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวถึงพระพุทธศาสนา ก็คิดว่าเมื่อไรก็ตาม คำใดก็ตามนะคะ ที่ได้ฟังแล้วมีความเข้าใจถูก แล้วรู้จักพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งขึ้น นั่นจึงจะเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จะใช้คำนี้ไปอ้างเพื่อเหตุอื่น แต่ไม่เข้าใจธรรมเลย ก็ไม่ควรที่จะใช้คำว่าพระพุทธศาสนา หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า ถึงจะมีวิชาการก้าวหน้าสักเท่าไหร่นะคะ จะไปเลียนแบบประเทศโน้นประเทศนี้สักเท่าไหร่ เอามาช่วยกันสร้างสรรค์ คิดสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นคนชั่ว มีประโยชน์ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่านะคะ เพราะไม่ได้เข้าใจความจริง ก็เข้าใจว่าพระพุทธศาสนา จะเอื้ออำนวยต่อการที่จะ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีอะไรต่างๆ แต่อย่างนั้นน่ะเป็นคนดีหรือเปล่า หรือว่าเป็นคนชั่วที่คิด แต่ฉลาดมากที่จะคิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ที่ว่า ความสามารถในการทำการงานนะคะ แต่ต้องอยู่ที่สภาพลักษณะของธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นคนดีนะคะ ทำอย่างนั้นก็ได้ เก่งกว่าที่คิดก็ได้ แล้วก็เป็นคนดี แต่ว่าเก่งอย่างไรก็ตามนะคะ แต่ว่าเป็นคนชั่วทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพื่อทำลายโลกก็ได้ แล้วจะมีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วนะคะ คำสอนก็คือว่าให้เข้าใจความจริง ว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แม้แต่ที่เข้าใจว่าเป็นคนนั้นคนนี้ มีความสามารถอย่างนั้นอย่างนี้นะคะ ในที่สุดก็ต้องจากโลกนี้ไป แล้วใครจะรู้ว่า จะไปเป็นอะไรต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด คือการสามารถต่างๆ ที่จะทำสิ่งต่างๆ เลียนแบบ ประเทศนั้นประเทศนี้ และเอามารวมกันให้ยิ่งกว่านั้นอีก ก็ไร้ประโยชน์ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้รู้จักสภาพธรรม ตามความเป็นจริงว่า เมื่อมีสิ่งนั้นแล้วนะคะ ดีอย่างไร หรือว่าติดข้องมากแค่ไหน หรือว่าเมื่อทำแล้ว เกิดความสำคัญตน แล้วก็สามารถที่จะใช้วิธีการทุจริต ซึ่งไม่ใช่สุจริต ในการที่จะทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นพระธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่ จะไปสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยไม่รู้ไม่เข้าใจความจริงเลยว่า แท้ที่จริงแล้วนี่ค่ะ คนดีนะคะ ถึงจะมีความรู้ความสามารถ ก็ใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ดี แต่ว่าถ้าเป็นคนไม่ดี แม้จะมีความรู้ความสามารถเท่าไหร่ ก็ใช้ไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งต้องไม่มีประโยชน์แน่นอน
ผู้ฟัง คนที่อยู่กับสื่อเนี่ย แล้วไม่เข้าใจคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ นะครับ แล้วก็ให้ความรู้อะไรที่ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงนี่ ก็ยิ่งทำให้เกิดความไขว้เขวกันมากขึ้น ซึ่งในสังคมไทยก็ไขว้เขวกัน จนงงกันไปหมดแล้ว ว่าตกลงอะไรเป็นอะไรนะครับ เกี่ยวกับพุทธศาสนาครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็น แต่ละคนนะคะ ที่เห็นคุณประโยชน์ของการที่จะได้เข้าใจพระธรรมถูกต้อง แล้วก็เริ่มศึกษาด้วย ความเคารพอย่างยิ่ง และในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ที่มีเมตตากับผู้ที่ไม่รู้ หรือว่าเข้าใจผิด โดยการที่ชี้แจงสิ่งที่ถูกต้อง เช่นเราพูดเรื่องของสำนักปฏิบัติ ให้เป็นที่เข้าใจให้ถูกต้อง เรื่องของการเชียร์ฟุตบอล ไม่ใช่พระภิกษุในธรรมวินัย เพราะเหตุว่านะคะ ถ้าจะถามผู้ที่บวช จะต้องรู้ว่าบวชเพื่ออะไร และเมื่อบวชแล้วทำอะไร บวชแล้วก็คือว่า เพื่อก่อนบวชต้องรู้ว่านะคะ เพื่อจะได้เข้าใจพระธรรม โดยการที่สามารถที่จะสละเพศคฤหัสถ์ สู่เพศบรรพชิตนะคะ ซึ่งเป็นชีวิตที่สะอาดตั้งแต่ตื่นจนหลับ เพราะว่าเห็นคุณค่าของพระธรรม ไม่มีสิ่งอื่นที่จะยิ่งกว่า ลาภยศทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เคยมี ไม่เท่ากับการสละหมด เพื่อประโยชน์ต่อการที่จะได้เข้าใจธรรม มากกว่าเพศของคฤหัสถ์นะคะและเพราะเหตุว่า เมื่อได้เข้าใจพระธรรมแล้วก็รู้ว่า การขัดเกลากิเลส เพราะปัญญาที่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ด้วยเหตุนี้จึงสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง เพราะทรงรู้ว่าข้อใดความประเภทใด ที่จะทำให้ภิกษุอยู่ด้วยกัน ด้วยความผาสุก ขัดเกลากิเลส ถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม นั่นเป็นพระภิกษุในธรรมวินัยคือมีกิจ ๒ อย่าง คือศึกษาพระธรรม และประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นถ้าถามผู้ที่บวช ว่าบวชทำไม ก็ต้องตรงจุดประสงค์ มิเช่นนั้นแล้วก็เป็นคฤหัสถ์ก็ฟังธรรมได้ ไม่ต้องบวชเลย และเมื่อบวชแล้วเนี่ย รักษาพระวินัยตามที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ เพื่ออะไร ต้องเพื่อการขัดเกลากิเลส เพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย เพราะฉะนั้นเราก็สามารถที่จะเข้าใจได้จากการที่ได้เข้าใจถูกต้อง โดยการศึกษาธรรม เห็นคุณของพระธรรมว่าเพราะธรรมความเข้าใจ นี้แหละนำไปสู่การที่จะเห็นคุณ ของการประพฤติปฏิบัติตาม พระวินัย สิ่งใดที่ถูกต้อง ก็ต้องประพฤติตาม ไม่ใช่ไปทำสิ่งที่ผิดๆ และอ้างว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงบัญญัติ เรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องเกม เรื่องอะไรต่างๆ แต่ว่าต้องไม่ลืมนะคะ จุดประสงค์ของการสละเพศคฤหัสถ์ ซึ่งมากไปด้วยความสนุกสนาน บันเทิงต่างๆ วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ เพราะเห็นว่าไร้ประโยชน์ ไม่มีประโยชน์เท่ากับการที่จะได้เข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรงว่า เพื่อเข้าใจพระธรรม และประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลากิเลสนะคะ ตามพระวินัย มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ในเพศบรรพชิต เมื่อไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เพราะฉะนั้นก็รู้ได้เลยค่ะ สิ่งที่ถูกต้องถูก การกล่าวคำจริง เป็นการกล่าวเพื่ออนุเคราะห์ ให้คนที่ไม่รู้ ได้เข้าใจถูกต้อง ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร เพื่อที่จะได้ไม่ประพฤติในทางที่ไม่ควร
ผู้ฟัง วันนั้นมีข่าวนะครับ ก็ไปสัมภาษณ์พระรูปหนึ่ง ไปเชียร์ฟุตบอลอยู่ข้างสนามนะครับ นักข่าวก็ถามว่าตกลง ท่านมาทำอะไรนะครับ พระท่านก็บอกว่าอาตมาไปทำอคาเดมีไว้แถวทางภาคเหนือ สร้างกิจกรรมให้เด็กๆ กลับมาเป็นคนดี จาก จากการใช้กีฬาครับ ครับอาจารย์ ก็ตอนนี้มันเป็นอย่างนี้จริงๆ นะครับ
ท่านอาจารย์ หน้าที่ของคฤหัสถ์ค่ะ หน้าที่ของพระภิกษุคือ ศึกษาพระธรรมวินัย และก็รักษาพระวินัย ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัท ไม่ใช่เป็นผู้ตามพุทธบริษัทว่า พุทธบริษัทต้องการอะไรก็ทำอย่างนั้น ในสมัยพุทธกาลนะคะ ไม่มีผ้ายันต์ ไม่มีสิ่งที่มีในสมัยนี้ เพราะอะไร เพราะบุคคลในครั้งโน้นนะคะ เห็นประโยชน์ของการที่จะเป็นพระภิกษุในธรรมวินัย ซึ่งต่างกับคฤหัสถ์ แต่ถ้าประพฤติอย่างคฤหัสถ์ บวชทำไม ต้องเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ ละอายใจ
ผู้ฟัง ต้องให้เขาละอายเอง ใช่ไหมฮะ
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ
ผู้ฟัง ตอนนี้มันหลายเรื่อง จริงๆ นะครับ อาจารย์ครับ ทั้งนั้นเลย
ท่านอาจารย์ ค่ะ
ผู้ฟัง พระเล่นตลกๆ แสดงหนัง เยอะแยะไปหมด อาจารย อันนี้เราเป็นชาวพุทธ เราเราดูแล้ว เราก็คิดว่าไม่สบายใจ
อ.กุลวิไล อย่างคฤหัสถ์ถ้าไม่ได้ศึกษา ก็คิดว่าพระภิกษุท่านทำถูกต้องแล้ว เห็นท่านศึกษาพระธรรม แต่ท่านอาจจะมีความเห็นผิด แล้วก็ประพฤติปฏิบัติผิดด้วย ก็ยังคิดว่าเป็นทางที่ถูก เพราะฉะนั้นขาดความเข้าใจธรรมนะคะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่พึ่งคนอื่นนะคะ มีตนเองเป็นที่พึ่ง โดยเข้าใจพระธรรมมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จึงจะพึ่งได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่อาศัยไหว้วานพึ่งคนอื่น ด้วยเหตุนี้นะคะ ไม่เกี่ยงให้คนอื่นศึกษาธรรม แต่ๆ ละคนนี่ค่ะ เมื่อเห็นประโยชน์แล้วก็ศึกษา ถ้าเป็นอย่างนี้ทั้งประเทศก็ศึกษาธรรม ไม่ใช่พุทธศาสนาดีมาก แก้ไขปัญหาได้ทุกอย่างให้คนอื่นเค้าศึกษา ให้เด็กๆ ศึกษา แต่ตัวเองก็ไม่ได้ศึกษา อย่างนั้นเป็นผู้ที่ไม่ตรง ไม่จริงใจ ถ้ารู้ว่าสิ่งใดประเสริฐ เห็นค่าจริงๆ เพราะฉะนั้นทั้งชีวิตเนี่ย ควรจะเป็นยังไง เพื่ออะไร เป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็แสนยากใช่ไหมคะ แล้วจะเป็นพระภิกษุที่ดี จะยากกว่าสักแค่ไหน และถ้าไม่เป็นพระภิกษุที่ดีนะคะ ก็เป็นโทษแก่ตนเอง เป็นโทษที่หนักมาก เพราะเหตุว่านอกจากตนเอง จะทำลายประโยชน์ของตน แล้วก็เมื่อสิ้นชีวิตจากโลกนี้ไปแล้วนะคะ โทษหนัก ที่ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพูดคำที่ไม่จริงมุสาวาท เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับ พระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ สภาพธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แต่สอนให้ทำ สอนให้เป็นตัวตน สอนทุกอย่างที่จะให้ติดข้อง ไม่ใช่เป็นการละกิเลส เพราะฉะนั้นก็ตรงกันข้ามกับ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โทษต้องหนักมาก ด้วยเหตุนี้เป็นคฤหัสถ์ที่ดีก่อน ถ้ารู้สึกตัวว่า ไม่สามารถที่จะเป็นพระภิกษุที่ดีได้ ลาสิกขาบทได้ค่ะแล้วก็ศึกษาพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นดิฉันเคยกล่าวนะคะ ว่าใครก็ตามที่ลาสิกขาเพราะไม่สามารถจะเป็นพระภิกษุที่ดีได้ ดิฉันดีใจ และขออนุโมทนาด้วย
อ.คำปั่น ถ้ามีความประสงค์ที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจความจริง ก็สามารถที่จะเริ่มต้นได้เลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด วัยใดก็ตามนะครับ ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลนะครับ ว่าจะเห็นคุณของพระธรรม เห็นคุณของความเข้าใจความจริง มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าถ้าหากว่า บวชเป็นพระภิกษุเป็นบรรพชิต แต่ว่ามีความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควรนะครับ ก็มีโทษมาก อย่างการเกิดในนรก การเกิดในอบายภูมินี่ครับ รออยู่แล้วนะครับ สำหรับพระภิกษุที่ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย สำหรับผู้ที่เข้าใจความจริงนะครับ เป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมก็รู้ได้เลยว่า สิ่งที่ท่านทำนั้นไม่ใช่กิจของพระภิกษุในพระธรรมวินัย นี้ไม่ใช่ภิกษุที่ประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน เพราะว่าเราไม่ได้มีการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่มีการขัดเกลากิเลส แต่ว่าพฤติกรรมที่ท่านทำนั้น ตรงข้ามกันเลยนะครับ เป็นการบิดเบือนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ และที่สำคัญนะครับ พอกพูนสะสมหมักหมม ในสิ่งที่เป็นโทษให้กับตนเอง ไว้มากมายนะครับ ซึ่งท่านไม่รู้ตัวเลยครับ ว่าท่านกำลังทำทาง ให้ตัวของท่านเองนะครับ ไปสู่อบายภูมิ ซึ่งเป็นบุคคลที่น่าสงสารอย่างยิ่งนะครับ เพราะว่าไม่ได้คล้อยตามพระธรรมวินัย ไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ มีแต่โทษโดยส่วนเดียวจริงๆ ครับ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 901
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 902
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 903
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 904
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 905
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 906
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 907
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 908
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 909
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 910
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 911
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 912
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 913
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 914
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 915
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 916
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 917
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 918
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 919
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 920
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 921
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 922
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 923
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 924
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 925
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 926
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 927
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 928
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 929
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 930
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 931
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 932
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 933
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 934
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 935
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 936
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 937
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 938
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 939
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 940
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 941
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 942
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 943
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 944
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 945
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 946
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 947
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 948
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 949
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 950
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 951
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 952
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 953
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 954
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 955
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 956
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 957
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 958
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 959
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 960