ปกิณณกธรรม ตอนที่ 928
ตอนที่ ๙๒๘
สนทนาธรรม ที่ โรงแรมพะเยาเกทเวย์ จ.พะเยา
วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นตอนนี้สะสมทั้งกุศล และอกุศล ทิ้งไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึงเฉพาะทางฝ่ายอกุศลเท่านั้น ภาษาบาลีใช้คำหนึ่งคืออนุสัยกิเลส
อ.อรรณพ ส่วนสิ่งที่ดีก็เป็นอาสยะที่ดี และอาสยะก็ยังหมายถึงการสะสมอุปนิสัยอะไรอีกหลายอย่างด้วย
ท่านอาจารย์ ตอนนี้กำลังสะสมกุศลอะไร
อ.อรรณพ กุศลในการเข้าใจพระธรรม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ขั้นทานใช่ไหม แต่เป็นขั้นเข้าใจธรรม จะให้ทานสักเท่าใด แต่ไม่เข้าใจธรรมก็ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง ปริยัติมีกำกับไว้อีกคือสัจจญาณ ปฏิปัตติกำกับไว้อีกคือกิจจญาณ และก็ปฏิเวธมีกำกับไว้อีกคือกตญาณ อันนี้เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องไม่ หรือว่ายังไม่ถูก
ท่านอาจารย์ จะกล่าวให้ถูก หรือว่าเข้าใจถูก
ผู้ฟัง ถ้ากล่าวถูกก็จะเข้าใจถูก
ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือ เมื่อสักครู่นี้พูดถูกหมดเลย แล้วเข้าใจถูกไหม
ผู้ฟัง ก็ยังไม่ถูก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจขึ้นแต่ละคำ แต่ไม่ใช่โดยถามว่าใช่ไหม ถ้าใช่ไหมก็คือว่าไม่ได้เข้าใจ
ผู้ฟัง แต่อันนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง
ท่านอาจารย์ ถ้าฟังต่อไปจะได้ยินคำใหม่เพิ่มขึ้นนับไม่ถ้วน เพราะเป็นคำที่ตรัสไว้ใน ๔๕ พรรษา กี่คำ เช้าสายบ่ายค่ำ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลับน้อยมาก เมื่อตื่นจากบรรทมก็คิดถึงผู้ที่สมควรแก่การฟัง แม้จะยังไม่ถึงเวลาบิณฑบาตก็เสด็จไปเพื่อที่จะได้สนทนากับเขา ให้เขาเกิดความเข้าใจ ใครทำอย่างนี้บ้าง เมื่อฉันภัตตาหารเสวยเสร็จแล้วก็มีการสนทนาธรรม ถ้ามีภิกษุไปทูลถาม ก่อนที่จะถึงเวลาที่หลังจากเสวยแล้วก็ประทับพักผ่อนเพียงชั่วคราว จากนั้นก็สนทนาธรรมอีกกับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือผู้ที่เดินทางไกลมาเฝ้า ถึงตอนเย็นอุบาสกอุบาสิกาก็ไปฟังธรรมอีก แล้วหลังจากนั้นพระภิกษุก็มาฟังถามปัญหาอีก ต่อจากนั้นก็ถึงคราวของเทวดามาอีก มีใครบ้างที่จะกระทำสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่คนอื่นถึงขั้นนี้ได้ นอกจากผู้ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ๔๕ พรรษา กี่คำ และคำนั้นเป็นคำที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย แต่คนยุคนี้คิดว่าแค่ฟัง เดี๋ยวก็เข้าใจ เดี๋ยวก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็ถึงอย่างนี้ เดี๋ยวก็จะปฏิบัติแล้ว เดี๋ยวก็จะได้เกิดปัญญาแล้ว แล้วเดี๋ยวก็จะดับกิเลสได้แล้ว คิดอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่เข้าใจแต่ละคำ ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้ว ทุกคำสอดคล้องกันทั้งหมด สอดคล้องกันก็คือว่าปริยัติ ฟังอะไร ศึกษาอะไร เล่าเรียนอะไร พระพุทธพจน์ไม่ใช่คำของคนอื่น ถ้าคนอื่นบอกว่าอย่างนั้น นักวิทยาศาสตร์บอกว่าอย่างนี้ นักจิตวิทยาบอกว่าอย่างนั้น หมอประเภทนั้น วิศวกรประเภทนี้ กล่าวอย่างนั้นอย่างนี้ ในเรื่องโลก ในเรื่องจักรวาล ในเรื่องดินฟ้าอากาศ ในเรื่องพระอาทิตย์พระจันทร์ ดวงดาวต่างๆ ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ปริยัติ
ดังนั้นฟังไป ศึกษาไป ทุกคนที่ใช้คำว่าฟังหรือศึกษาเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เน้นไปด้วย กำลังฟังไม่ใช่ไปเข้าใจเรื่องอื่น ไม่ใช่ฟังเรื่องได้ยินก็หู เกิดจากอะไร มากระทบกับเสียงเมื่อใด แล้วก็มีธาตุอะไรอยู่ที่นั่น ทำให้ได้ยินเกิดขึ้นมีปฏิกิริยาอย่างไร นั่นคือไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นก็จะรู้ความต่างของคำของคนอื่น ไม่ได้ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำจริงวาจาสัจจะทั้งหมด ทุกกาลสมัยเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะว่าทรงตรัสรู้ความจริงถึงที่สุดโดยประการทั้งปวงทั้งหมด แล้วก็ถึงที่สุดเปลี่ยนอีกไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยที่ทรงบัญญัติแล้ว หรือพระธรรมที่ได้ตรัสแล้ว ด้วยพระปัญญาคุณที่ไม่มีผู้อื่นผู้ใดสามารถที่จะรู้ได้ว่าพระปัญญาของพระองค์มากสักเพียงใด แต่เมื่อได้เริ่มฟัง จากไม่รู้ ก็เริ่มรู้ เริ่มเห็นแล้ว นี่เพียงไม่กี่คำ เพราะฉะนั้นการฟังไม่ว่าฟังวิชาใดทั้งหมด เพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ฟังเรื่องทำอาหารจะเข้าใจเรื่องอื่นได้ไหม จะไปเข้าใจเรื่องปลูกต้นไม้ได้ไหม กำลังฟังเรื่องปลูกต้นไม้จะไปเข้าใจเรื่องทำอาหารได้ไหม ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือเข้าใจสิ่งที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ ด้วยเหตุนี้ปริยัติไม่ใช่ฟังคำของคนอื่น อย่าเอาอะไรมาแทรกเลย ไม่ว่าใครจะว่าอะไรทั้งสิ้น คำนั้นๆ ไม่ใช่ปริยัติ คือไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้งมาก สามารถเข้าใจได้ถ่องแท้ทันทีไหม ใครเป็นเช่นนั้นบ้าง เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่าปฏิเวธในปริยัติ คำภาษาบาลีเป็นคำที่ใช้กันอยู่ ในกลุ่มบุคคลพวกหนึ่งกลุ่มหนึ่งภาคหนึ่งประเทศหนึ่ง เพราะฉะนั้นภาษามคธีเป็นภาษาที่ชาวมคธในแคว้นมคธรัฐหนึ่งส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียใช้ในยุคสมัยพุทธกาล เพราะฉะนั้นเป็นคำธรรมดา เพราะฉะนั้นพอได้ยินคำบาลี เราตื่นเต้นแล้ว คำนี้อะไร คำนี้แปลว่าอะไร แต่ความจริงก็คือคำธรรมดา ถ้าเราบอกว่าปฏิเวธคือการแทงตลอด เราก็สงสัยว่าเพียงใดขั้นใด แต่ฟังธรรมเข้าใจไหมหรือไม่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจไม่ใช่ปริยัติ เพราะฉะนั้นฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังจึงเป็นปริยัติ แต่ว่าฟังแล้วรู้ทั่วถึงโดยตลอดทันทีไหม ฟังแล้วจิตมีกี่ดวง เจตสิกมีเท่าใด รูปมีเท่าใด ปฏิจจสมุปบาทมีเท่าใด ฟังแล้วไปสำนักปฏิบัติ ชื่อว่ารอบรู้แทงตลอดในปริยัติหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นจึงต้องมีคำกำกับไว้ เมื่อมีการฟังปริยัติ ไม่ใช่แค่ฟัง แต่เข้าใจอย่างมั่นคง แล้วก็รอบรู้จริงๆ ว่าทุกคำสอดคล้องกันทั้งหมดไม่มีความขัดแย้งกันเลย ถ้าสามารถเข้าใจความสอดคล้องของพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม และแต่ละคำที่ได้รู้ ก็เป็นการแทงตลอดที่ว่าไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น เดี๋ยวนี้เองสภาพธรรมเกิดดับ แล้วจะไปไหน เดี๋ยวนี้จะไปรู้อะไรที่ไหน ในเมื่อเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่รู้ไปตลอด เพราะฉะนั้นถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ก็คือว่าผู้นั้นไม่ได้มีความรอบรู้ในปริยัติ ไม่ได้แทงตลอดในปริยัติ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ฟังเข้าใจแล้วมีความมั่นคงเป็นสัจจญาณของปริยัติในอริยสัจ ๔ แต่ละคำไม่ใช่ให้เราไปนั่งจำแล้วก็นั่งคิดเอง และผ่านๆ ไป เผินไม่ได้เลย ต้องมีความเข้าใจจริงๆ แล้วก็จะสอดคล้องกันทั้งหมด
เพราะฉะนั้นเมื่อได้เข้าใจปริยัติจริงๆ จึงเป็นสัจจญาณ เมื่อมีปริยัติสามารถที่จะเป็นสัจจญาณแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิปัตติซึ่งเป็นกิจจญาณ ไม่ใช่ว่าฟังแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยอยู่แค่นั้นเอง ไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เมื่อฟังแล้วปัญญาเจริญขึ้นไม่ใช่เราไปพยายามเร่งรัดให้เกิดปัญญามากๆ นั่นก็ลืมคำว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็ไม่สอดคล้องกัน เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดลึกซึ้ง พูดคำเดียวก็สอดคล้องกับคำอื่นๆ อีกหลายคำ เช่น พูดคำว่าปริยัติกับสัจจญาณก็ไปสอดคล้องกับอริยสัจจะด้วย เพราะเหตุว่าฟังทำไม เพื่อจะรู้อะไรเข้าใจอะไร รู้ได้หรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีความอดทนเป็นบารมี ถ้าขาดความอดทนที่จะเข้าใจความลึกซึ้งของธรรม ก็ไม่สามารถที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเห็นผิดได้ แม้แต่จะได้รู้ว่าจิตมีเท่าใดเจตสิกมีเท่าใด แล้วก็ไปพากันสอบ สอบทำไม อะไรทำให้สอบ ถามเขา เขาบอกว่า วันหนึ่งเขาว่างมาก ก็ต้องไปเรียน สอบก็จะได้ขยัน ถ้าไม่สอบก็เลยเรียนไปเฉยๆ นั่นหรือประโยชน์ของการฟังธรรม
เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรง และรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น ก็สอดคล้องกันทั้งปริยัติ และสัจจญาณ เป็นปัจจัยให้ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ฟังเป็นกิจจญาณ คือกิจของสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้นปฏิปัตตินั่นเองคือกิจจญาณ ที่ไม่ใช่กิจจญาณของอกุศลของโลภะของโทสะ แต่เป็นกิจจญาณของมรรคซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้สู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ว่าพอสติสัมปชัญญะเกิดนิดหนึ่งเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ไม่ใช่ แล้วมีใครที่จะไปทำวิปัสสนา เพราะขัดกันแล้ว ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วมีใครที่จะทำปริญญา ทำได้อย่างไรในเมื่อปริญญาคือวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้น ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหาณปริญญา ทั้งหมดเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งไม่ใช่แค่สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติ เพราะฉะนั้นจากปฏิปัตติซึ่งเป็นกิจจญาณของสภาพธรรมที่เป็นมรรคที่เจริญขึ้นแล้ว ก็จะถึงปฏิเวธแทงตลอดสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามที่ได้ฟังทุกคำ ขณะนั้นก็เป็นกตญาณคือรู้แล้ว ขณะนี้รู้แล้วหรือยัง กตญาณหรือยัง ก็ยัง
เพราะฉะนั้นฟังธรรมไม่ใช่ใจร้อน ได้ยินคำนี้ก็อยากรู้ แต่ไม่รู้เลยว่าพื้นฐานมีพอหรือเปล่า พอที่จะสอดคล้องให้เข้าใจในคำที่ได้ฟังหรือเปล่า เพราะถ้าไม่เคยได้ฟังเรื่องของธรรมคือจิตเจตสิกรูป เรื่องของนามธรรมรูปธรรม เรื่องขันธ์เรื่องธาตุเหมือนกันเลย เพียงแต่ว่าไม่ได้เอ่ยชื่อ ก็จะไม่ถึงการที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม เพราะฉะนั้นไม่ใช่ฟังเพียงเพื่อที่จะจำหรือเข้าใจ ต้องรู้ประโยชน์ว่าเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสที่ไม่รู้ความจริง และยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ไม่ใช่ว่าพออยากรู้ก็ถาม ถามแล้วก็จำ จำแล้วก็ไม่รู้ว่าควรจะเป็นลำดับอย่างไร
ผู้ฟัง ได้ฟังอกุศลจิต กุศลจิต ภวังคจิต ก็พอจะทำให้พอเข้าใจมากขึ้น ได้อ่านจากหนังสือ ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่ามีจิตชาติวิบาก จึงอยากจะทราบความสอดคล้องว่าเกี่ยวข้องอย่างไร
ท่านอาจารย์ นี่เป็นความถูกต้อง ที่ว่าเมื่อได้ยินคำไหนแล้วก็ไม่ต้องการที่จะสับสน เช่น การกล่าวถึงจิตกล่าวได้หลายนัย เพราะจิตหลากหลาย แต่หลากหลายอย่างไรก็ตาม ก็ยังจะประมวลได้เป็นประเภทๆ ให้เข้าใจขึ้น ถ้ากล่าวโดยชาติ ชา-ติ การเกิด จิตที่เกิดเป็นกุศลก็มีหนึ่งแล้ว จิตที่เกิดเป็นอกุศลก็มีหนึ่งแล้ว และจิตที่เกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลไม่ใช่ตัวเหตุไม่ใช่ตัวกุศล และอกุศลซึ่งดับไปแล้ว แต่ว่าการดับไปของกุศลกรรม และอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิดเป็นวิบาก ภาษาบาลีจะใช้คำว่าวิปากะ เพราะฉะนั้นการแสดงโดยนัยนี้หมายความว่าโดยนัยของชา-ติ จิตมี ๔ ชาติ กุศลหนึ่ง อกุศลหนึ่ง วิบากหนึ่ง ส่วนอีกหนึ่งไม่ใช่ทั้งกุศลอกุศล และไม่ใช่วิบากเป็นกิริยาจิต เดี๋ยวนี้มีครบทีละหนึ่ง พอจะเข้าใจแล้ว โดยนัยของวิบาก และก็โดยนัยของภูมิ ระดับของจิต เป็นแค่กามภูมิ กามะคือที่น่าใคร่น่าพอใจ ได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จิตที่เกิดในโลกนี้ก็เห็นสิ่งที่มีในโลกนี้ สิ่งที่ปรากฏทำให้จิตพอใจติดข้องเพราะจิตเมื่อเกิดแล้วต้องรู้อารมณ์ ภาษาบาลีจะใช้คำว่าน้อมไปสู่อารมณ์ แต่ความเข้าใจของเราคือว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้น้อมไปสู่อารมณ์ยินดีในอารมณ์ไม่ไปที่อื่นเลย
เพราะฉะนั้นจิตที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ อารมณ์หรืออารัมมณะ หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ ถ้ามีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้นภาษาบาลีจะเรียกสิ่งที่จิตรู้ว่าอารัมมณะ เพราะฉะนั้นจิตเป็นธาตุรู้ จิตเห็นมีอะไรเป็นอารัมมณะ คนไทยเรียกสั้นๆ ว่าอารมณ์ จิตเห็นมีอะไรเป็นอารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตาภาษาบาลีใช้คำว่ารูปารัมมณะ หรือจะเรียกว่าวัณณะวันโณอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าพูดทั่วๆ ไปไม่มีคำว่าอารัมมณะด้วย หมายความว่าธาตุนั้นมี แต่ธาตุนั้นที่จิตกำลังรู้เท่านั้นที่เป็นอารมณ์ อย่างเสียงมีตั้งหลายเสียง เฉพาะเสียงที่จิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้นเท่านั้นเป็นอารมณ์ของจิตที่ได้ยินในขณะนั้น ต้องในขณะนั้นด้วย เพราะฉะนั้นมีจิตต้องมีอารมณ์ทีละหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเห็นเกิดขึ้นจิตได้ยินเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นผลของกุศลหรืออกุศลกรรมคือเลือกไม่ได้เลย อาจจะนอนหลับสนิท ตื่นขึ้นเพราะเสียงฟ้าผ่า ดีไหมเสียงนั้น ถึงเวลาที่กรรมให้ผลที่จะได้ยิน เพราะฉะนั้นการที่กรรมให้ผลต้องรู้ด้วยว่าเมื่อใด ขณะเห็นเดี๋ยวนี้เองเป็นผลของกรรม เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏมีทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่อยู่ในโลกนี้จะพ้นจากการเห็นการได้ยินการได้กลิ่นการลิ้มรสการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไม่ได้จึงเป็นกามภูมิ จิตทั้งหมดก็เป็นกามาวจรจิตไม่รู้อะไรเลย เกิดมาจนตายก็แค่นี้ เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวได้กลิ่น เดี๋ยวลิ้มรส เดี๋ยวรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เดี๋ยวคิดนึก เป็นไปในเรื่องของกามะคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเท่านั้น นี่แสดงโดยนัยของภูมิ แต่จิตที่เหนือกว่านี้มี เป็นรูปภูมิ อรูปภูมิ โลกุตรภูมิ
เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องรู้ว่ากำลังพูดเรื่องอะไร พูดเรื่องชาติของจิต หรือพูดเรื่องภูมิของจิต หรือพูดถึงจิตประเภทที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เหตุได้แก่โลภะ โทสะ โมหะอโลภะ อโทสะ อโมหเจตสิก หรือว่าพูดโดยนัยของอย่างอื่น โสภณ อโสภณนี่ไม่แยกแล้ว แทนที่จะเป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ก็พูดถึงโสภณจิต และอโสภณจิต
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็คือว่าเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง และก็เข้าใจจริงๆ คือไม่ลืมเข้าใจได้ ถ้ากล่าวโดยกิจ ที่ได้ยินคำบ่อยๆ ชวน ชวน ชวน คือพูดถึงกิจของจิต แต่ถ้ากล่าวถึงกุศลอกุศลก็โดยชาติของจิต เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเพื่ออะไร รู้จริงๆ เพิ่มขึ้น ว่าไม่ใช่เรา จนกว่าปริยัติจะเป็นสัจจญาณ เป็นปัจจัยให้กิจจญาณ หรือปฏิปัตติเกิดขึ้น
อ.ธิดารัตน์ ทบทวนจากที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายแล้ว ก็คือกุศลจิต อกุศลจิต แล้วก็โดยรายละเอียดก็จะมีกิริยาจิตของพระอรหันต์ด้วย ที่ทำชวนกิจที่สามารถที่จะสะสมได้
ผู้ฟัง ทำอย่างไรถึงจะเข้าใจให้มากขึ้น ดีขึ้น
ท่านอาจารย์ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ห่างไกลจากการที่จะรู้ว่าธรรมเป็นอนัตตา ถูกต้องไหม เริ่มคิดว่าจะอย่างไร มีหนทางหรือว่ามีความคิดด้วยความเป็นตัวตน แต่ความจริงทุกขณะเป็นอนัตตาอยู่แล้ว แต่ปัญญาไม่สามารถที่จะเข้าถึงการเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เช่นที่คุณหมอคิดก็เป็นอนัตตา ทำไมคนอื่นไม่ได้คิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจิตคิดเกิดขึ้นก็โดยความเป็นอนัตตา เพราะเคยฟังเคยคิดอย่างนี้ทำให้คิดอย่างนี้อีกก็ได้ว่า ทำอย่างไรถึงจะได้เข้าใจขึ้น ถึงจะฟังแล้วก็ไม่ใช่ฟังเผิน แต่ความจริงบังคับบัญชาไม่ได้เลย คำนี้เป็นคำที่จะนำไปสู่ความเป็นพระสาวกถึงความเป็นพระอรหันต์ โดยความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นอนัตตา คือไม่ใช่เราไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยที่เที่ยง
เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังหลับไปหน่อยหนึ่ง เผลอไปหน่อยหนึ่งเป็นธรรมดา ไม่ต้องสนใจเลย เพราะเป็นส่วนใหญ่ แต่มีความเข้าใจเป็นธรรมดา ธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง และถูกปกปิด ถ้ามีความเข้าใจขณะนั้น แม้อกุศลที่เกิดปรากฏแต่ก็รู้ว่าเป็นธรรมดา ปัญญาขั้นนี้จะไปชำระล้างการยึดถือว่าเป็นเรา และความอยากที่ต้องการที่จะเป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่เป็นอย่างนั้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นความลึกลับ และก็เป็นการที่ลดเลี้ยว และเป็นการที่ปิดบัง ไม่สามารถจะรู้ว่าขณะนั้นเครื่องขวางกั้น แล้วก็เป็นโลภะ และความไม่รู้นั่นเองที่ทำให้คิดอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้ว่าธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา เมื่อสักครู่นี้ก็เป็นอนัตตา เผินก็เป็นอนัตตา เข้าใจก็เป็นอนัตตา ถ้ามีความมั่นคงอย่างนี้ ก็จะตรงกับคำที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่าชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพราะว่าส่วนใหญ่เราคิดว่าเราอยากจะไม่มีกิเลส เราอยากจะเข้าใจธรรม ขณะนั้นถูกลวงสนิทด้วยโลภะ และอวิชชา ซึ่งทำหน้าที่นี้อย่างฉลาด ใช้คำว่าฉลาดแต่ไม่ใช่ปัญญาเลย แต่สามารถที่จะทำให้คนเป็นไปตามคล้อยตามไป ดึงไป ทำให้อยู่ในสังสารวัฎตลอดมาเพราะอย่างนี้
เพราะฉะนั้นการที่ปัญญาจะรู้คุณประโยชน์ของการที่ว่าธรรมคือเรื่องเข้าใจ และเรื่องละ แต่ว่าไม่สามารถที่จะไปเข้าใจมากๆ ทันทีได้อย่างที่หวัง แต่ก็แสดงความเป็นอนัตตาทั้งหมด ไม่มีธรรมใดเลยซึ่งไม่แสดงความเป็นอนัตตา คิดก็แสดงความเป็นอนัตตา ชอบก็แสดงความเป็นอนัตตา โกรธก็แสดงความเป็นอนัตตา แต่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นอนัตตาได้อย่างมั่นคง จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่เดือดร้อนเลย หมดแล้วผ่านแล้ว เดี๋ยวนี้สิ่งที่เกิดปรากฏเป็นอนัตตาก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ไม่ว่าอะไรทั้งหมดจะดีจะชั่วปานใดก็ตามแต่ เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ปัญญาที่สามารถที่จะเข้าถึงความจริงว่าไม่ใช่เราขณะนั้นเท่านั้น ที่จะสะสมอยู่ในจิตที่จะทำหน้าที่ละคลายความเป็นตัวตน ไม่ใช่ขณะที่พยายามไปเพ่งจ้องทำอะไรเลยทั้งสิ้น
ผู้ฟัง คือเราไม่ได้พักไม่ได้เพียร คือไม่พักหมายถึงว่าตั้งหน้าตั้งตาทำไปจนสุดกู่อะไรแบบนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าพักก็คือว่าธรรมนี่ยากมากลึกซึ้งมากละเอียดมากเกินวิสัย จึงพักไม่ฟังต่อ แต่ถ้ารู้ว่าแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟังพูดถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ทั้งหมด แต่ว่ายังไม่ได้เข้าใจ และหนทางเดียวที่จะเข้าใจก็คือว่าเข้าใจในคำที่ได้ฟังถึงสภาพที่เป็นอนัตตา นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แต่ถ้ามุ่งหน้ามุ่งตาจะไปกอบโกย อ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้เพื่อต้องการที่จะละความเป็นเรา เพื่อที่จะสะสมกุศลมากๆ ขณะนั้นก็ถูกลวงด้วยโลภะอีก ท่านใช้คำว่าวัญจกธรรม ธรรมที่ลวง คิดว่าความพากเพียรอย่างนั้นดีแต่ความจริงเป็นตัวตนทั้งหมดเลย ไม่เห็นความเป็นอนัตตาว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา และก็เพียรผิด ไปเพียรให้ปัญญาซึ่งกว่าจะค่อยๆ เจริญขึ้น เหมือนการจับด้ามมีดที่ค่อยๆ สึกไปไม่มีใครรู้เลย เดี๋ยวนี้ใครคิดถึงจิตที่กำลังเกิดดับบ้าง ไม่มีเลย แล้วเมื่อใดคำพูดต่างๆ เหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้ปัญญา และสติ และสภาพธรรมที่เป็นกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น ที่จะค่อยๆ เริ่มเข้าใจสภาพธรรมที่ได้ฟังว่าไม่ใช่เรา เพราะเป็นลักษณะของสภาพธรรม เช่น เห็นมีจริง ไม่ใช่เรา เป็นธาตุรู้ ฟังไปฟังไปเพื่อที่จะให้ไม่พัก แต่ว่าไม่ใช้ไปเพียรด้วยความต้องการมากมาย ที่อยากจะทำให้สิ่งซึ่งเกิดไม่ได้ด้วยการไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ไปทำขึ้น
ผู้ฟัง ขออนุญาตถ้าทำตามมรรคมีองค์ ๘
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครทำ เขาเกิดเองโดยความเป็นอนัตตา ขอให้มั่นคงในความเป็นอนัตตา บางคนก็อยากให้สติเกิดบ่อยๆ ทั้งวัน มาแล้ว ดีหรือ นั่นคือเพียรหรือ นั่นคือผิด ไม่ใช่เพียร
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 901
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 902
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 903
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 904
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 905
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 906
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 907
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 908
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 909
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 910
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 911
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 912
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 913
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 914
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 915
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 916
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 917
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 918
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 919
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 920
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 921
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 922
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 923
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 924
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 925
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 926
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 927
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 928
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 929
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 930
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 931
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 932
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 933
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 934
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 935
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 936
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 937
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 938
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 939
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 940
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 941
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 942
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 943
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 944
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 945
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 946
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 947
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 948
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 949
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 950
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 951
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 952
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 953
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 954
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 955
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 956
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 957
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 958
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 959
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 960