ปกิณณกธรรม ตอนที่ 929


    ตอนที่ ๙๒๙

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมพะเยาเกทเวย์ จ.พะเยา

    วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ บางคนก็อยากให้สติเกิดบ่อยๆ ทั้งวัน มาแล้ว ดีหรือ นั่นคือเพียรหรือ นั่นคือผิด ไม่ใช่เพียร เพียรคือฟังจนกว่าจะเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน และไม่มีการกระทำใดๆ ด้วยความเป็นเราทั้งสิ้น ขณะนี้กำลังเพียรหรือเปล่า เห็นไหม ไม่รู้ ทั้งหมดไม่รู้ จนกว่าจะรู้ว่าวิริยเจตสิกเป็นสภาพที่เพียรเกิดกับจิตขณะใดบ้าง แต่ถึงจะตอบได้ว่าวิริยเจตสิกไม่เกิดกับจิต ๑๖ ประเภทเท่านั้น ก็แค่ตอบได้ แต่เดี๋ยวนี้วิริยเจตสิกแสดงอาการของวิริยะให้รู้หรือเปล่า ทั้งหมดที่พูดอยู่ในความมืดสนิท แม้ว่าจะมีแสงสว่างทางตา แต่อวิชชาความไม่รู้ปิดบังหมด ไม่ให้รู้ความจริงว่าถึงเห็นก็ยังไม่รู้เลยว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทำหน้าที่เห็นแล้วก็ดับ นี่เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แล้วก็มีความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าฟังแล้วก็เผิน แต่ฟังแล้วฟังอีกเพื่อเข้าใจ

    ผู้ฟัง ทุกคนก็อยากจะหาความสวัสดีในชีวิต แม้แต่คนที่ฟังธรรมกับชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้มาศึกษาธรรม

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าอะไร

    ผู้ฟัง ตัวตนที่แสวงหา

    ท่านอาจารย์ แสดงว่ามีกิเลสคือความต้องการ คือธรรมถ้าเราพูดไปยาวๆ เราจะไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ถ้าเราตัดสั้นทีละคำยิ่งดี จะได้รู้ว่าขณะนั้นรู้หรือยังว่าเพราะอะไร

    ผู้ฟัง พูดถึงว่าเขาไปวัด เขาก็ได้รับสมาทานก็คือศีลห้า บางคนก็บอกว่าผมมีศีลห้าแล้ว ก็ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องมาฟังธรรมเลย

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ก่อน สมาทานคืออะไร

    ผู้ฟัง ถือเอา

    ท่านอาจารย์ ถือเอาหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง รับมา

    ท่านอาจารย์ รับมาด้วย ตามคำแปลเลย ถือเอาก็เป็นคำแปล รับมาก็เป็นคำแปล และเข้าใจสมาทานว่าอย่างไร อยู่ที่ความเข้าใจไม่ใช่อยู่ที่คำ เพราะฉะนั้นเวลาเราจะทำอะไร อย่างเราจะมาฟังธรรม เราต้องสมาทานหรือเปล่า เราต้องถือเอาหรือเปล่า เราต้องรับเอาหรือเปล่า หรือว่าขณะนั้นเป็นธรรมซึ่งผู้นั้นเองทำด้วยความตั้งใจ หรือมีความจงใจที่จะทำ เช่น เราเห็นเขาฆ่าสัตว์ สงสารสัตว์ที่กำลังถูกฆ่า ขณะนั้นแม้คิดว่าเราจะไม่ฆ่าสัตว์ ขณะนั้นก็คือความหมายของสมาทาน มีความตั้งใจที่จะถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ แต่ไม่ต้องไปรับจากใคร เป็นเจตนาขณะนั้นที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้น ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล อย่างโจรเขาก็สมาทานที่จะลักที่จะขโมยใช่ไหม เป็นพวกโจร คนที่ทุจริตก็ถือเอาการประพฤติทุจริตเป็นชีวิตของเขาที่เขาจะดำเนินไปเลี้ยงชีวิตด้วยความทุจริตอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องไปรับเอามาจากใครหรือเปล่า หรือต้องมาบอกว่าเราถือเอาหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ใช่ไหม แต่ขณะนั้นเป็นสภาพของการที่มีสภาพธรรมที่คิดตั้งใจจงใจที่จะประพฤติอย่างนั้น ก็เป็นการสมาทานในขณะนั้น

    อ.อรรณพ ก็มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าแล้วแต่ว่าจะหมายถึงในทางดีหรือไม่ดี ในทางดีคงเข้าใจแล้ว อย่างในทางไม่ดีก็มี อกุศลกรรมที่สมาทานแล้วกระทำหรือกรรมนั้นเป็นกรรมสมาทาน กรรมสมาทานอันเป็นบาปบางอย่างมีอยู่อย่างนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าสมาทานแล้วต้องดี คนเข้าใจผิดก็ไปถือเอารับเอาในสิ่งที่ไม่ดี หรือแม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่เขาก็ไม่ได้เข้าใจ เขาก็เหมือนกับจะไปถือเอารับเอาด้วยความไม่เข้าใจ ก็ไม่สามารถจะถือเอารับเอาในสิ่งที่ดีได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็คือความตั้งใจความจงใจในขณะนั้นที่เกิดขึ้นที่จะกระทำอย่างนั้น แล้วคุณชุมพรเข้าใจคำว่าอนัตตาไหม ไม่ว่าใครทั้งนั้น เราก็มีความหวังดี แต่รู้ว่าความหวังดีต้องไม่ไปทำให้เขาลำบากใจหรือเดือดร้อน และไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นแม้ว่าเป็นคำพูดที่จริง แต่ต้องเป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และก็ต้องรู้กาลด้วยว่าคำพูดนั้นจะเป็นประโยชน์เมื่อใด เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่ถึงเวลาของเขา ไม่ต้องไปทำอะไร หรือจะทำอะไร เขาก็ต้องเป็นอย่างที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะฟังธรรม ก็มีหลายครอบครัว ซึ่งมีลูกหลาน เขาก็ไม่ได้บอกให้ลูกหลานฟัง แต่เขาฟังบ่อยๆ แล้วลูกหลานเขาก็เข้าใจขึ้น โดยไม่ต้องไปชักชวนเลย

    เพราะฉะนั้นที่เรามาฟังธรรม สมาทานกันหรือเปล่า สมาทานที่เราเข้าใจแล้วใช่ไหมไม่ใช่ต้องไปสมาทานกับใคร แค่นี้เป็นเหตุที่ขอขัดแต่ละคำเพื่อที่จะได้เข้าใจ มิฉะนั้นก็ไม่มีโอกาสที่เราจะเข้าใจคำนี้ ถ้าพูดไปจนจบก็เป็นเรื่องอื่นไปเลยใช่ไหม แต่อะไรก็ตามที่ควรจะได้เข้าใจ เราสนทนาเพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้นด้วยความเป็นอนัตตาก็ต้องเป็นอนัตตา และแม้แต่คำว่าสมาทาน ผิดหรือถูก ถ้าไปสมาทานหรือว่ารับเอาถือเอา โดยที่ว่าแค่พูดก็มีใช่ไหม ถ้าโดยแบบนั้น

    ผู้ฟัง ทำให้เข้าใจว่าคำพูดไม่เพียงพอ ต้องประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่พูดไปแล้วด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ต้องเข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์ เห็นประโยชน์มาก อยากจะเกื้อกูลคนอื่นโดยเฉพาะที่เขาบอกว่ามีแค่ศีล ๕ ก็ได้สนทนากับท่านอาจารย์เกี่ยวกับว่าคนที่เขาไม่ดื่มสุรารักษาศีล ๕ แล้วเขาก็บอกว่าจิบคำสองคำก็ไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ประมาทอะไร ก็เหมือนกับว่าศีล ๕ ขาดไปแล้ว ไม่ครบ

    ท่านอาจารย์ มาถึงคำว่าประมาท แม้แต่จะพูดเรื่องดื่มสุราไม่ดื่มสุราใช่ไหม ถ้าขณะนั้นสามารถรู้ว่าเป็นธรรม ประมาทหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตรงนี้ความลึกซึ้งอยู่ตรงนี้ ที่อยากจะบอกว่าไม่จำเป็นจะต้องไปแค่ศีล ๕ เพราะว่าเป็นความเป็นเราซึ่งลวง แต่ว่าถ้าเรามีความเข้าใจในขั้นการฟังว่าทุกอย่างเป็นอนัตตาเป็นธรรมเป็นธาตุ มากกว่าศีล ๕ ซึ่งตรงนี้จะทำให้คนเขาเห็นประโยชน์ยากมาก

    ท่านอาจารย์ มีหนทางเดียวคือฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ด้วยความไม่ประมาทที่จะไตร่ตรองให้เข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง อย่างกุศลที่ชาวบ้านเขาต้องการ ก็เป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยบารมี จะให้เขาเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ทำไม่ได้ พูดได้แต่ความจริงที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ศึกษา และเข้าใจแล้วตามสมควร เข้าใจเพียงใดก็พูดตามความเข้าใจแค่นั้น

    ผู้ฟัง อย่างไรก็เห็นความพิเศษของความเข้าใจคือปัญญา ซึ่งเป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งปวง แล้วทีนี้ความเป็นตัวตนที่จะไปรักษาศีลไปเจริญกุศล ความเป็นตัวตนที่เขามองไม่เห็น ซึ่งท่านอาจารย์เกื้อกูลมาโดยตลอด

    ท่านอาจารย์ จะไปรักษาศีลที่ไหน

    ผู้ฟัง ตรงจุดนี้แม้แต่พวกเราเองที่ศึกษาธรรมก็เอาความเป็นตัวตนไม่อยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เข้าใจ ตามๆ กันมา พอพูดว่าจะไปรักษาศีลก็เหมือนเข้าใจ แต่ศีลคืออะไร เห็นไหม แต่ละคำต้องเข้าใจ ศีลคือปกติ เพราะฉะนั้นต้องไปไหนหรือเปล่า ไปรักษาศีลเหมือนกับว่าต้องไปที่หนึ่งที่ใดใช่ไหม แต่ศีลคือปกติ ถ้าปกติเดี๋ยวนี้เป็นอกุศล นั่นคืออกุศลศีล เกิดแล้วเป็นอย่างนั้นแล้ว ถ้าเดี๋ยวนี้เป็นกุศล ก็คือกุศลศีลปกติจริงๆ เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยเป็นศีล เพราะฉะนั้นจะไปรักษาศีลไหม ทำไมไม่รักษาเสียเดี๋ยวนี้ ถ้าจะรักษาคือเป็นกุศล

    อ.ธีระพันธ์ เพราะฉะนั้นก็ตรงกับที่สนทนาเรื่องของสมาทาน เพราะว่าศีลเป็นปกติจริงๆ ไม่ได้หมายความว่าจะไปรักษาศีลที่นั่นที่นี่เลย แต่ว่าความเป็นปกติในขณะนี้เอง ถ้ามีการที่จะวิรัติงดเว้นคำพูดที่ไม่ดี ก็เป็นกุศลศีลแล้ว ไม่ต้องไปรับสมาทานที่วัดหรือว่าจากใครเลย แต่ว่าเป็นปกติของผู้ที่เข้าใจที่ตั้งใจที่จะวิรัติงดเว้นในสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นอกุศลศีลซึ่งเป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้เป็นศีลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้จักแล้วก็ต้องเป็น แต่ถ้าไม่รู้จักบางคนบอกไม่เห็นไปสมาทานที่ไหน ใช่ไหม

    ผู้ฟัง คุณนภัทรฝากคำถามให้เรียนถามท่านอาจารย์ ความเข้าใจที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรานั้น ต้องเป็นผู้ละเอียดในสิ่งที่ปรากฏว่าไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนามนั้นมีลักษณะอย่างไร เช่น รูปที่ไม่ใช่สภาพรู้มีลักษณะต่างกับสภาพรู้อย่างไร และสภาพรู้เมื่อปรากฏแล้วมีสภาพธรรมที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั้นมีลักษณะอย่างไร ก็รู้ และรู้จักในความหลากหลายของสภาพธรรมนั้นๆ จนเข้าใจว่าที่ไม่ใช่เราคือมีลักษณะอย่างนี้ อาการอย่างนี้ แต่เพราะความเป็นเราเหนียวแน่นหนาแน่นมาก เพราะแค่ฟังว่าไม่ใช่เราก็ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าก็ยังเป็นเราที่รู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราแน่นอนที่รู้ว่าไม่ใช่เรา คืออะไร ไม่ใช่บอกเพียงแค่ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรา เมื่อไม่ใช่เราแล้วคืออะไรที่รู้ ก็ต้องเป็นปัญญาไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นตราบใดที่ปัญญายังไม่ถึงระดับที่จะรู้ จะรู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้จิตเจตสิกต่างกัน และก็กำลังเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ส่วนสิ่งที่ปรากฏก็เป็นเพียงรูปที่ปรากฏให้เห็นได้ หรือว่าเป็นรูปที่ปรากฏให้ได้ยินได้เท่านั้นเองแต่ละหนึ่ง สภาพธรรมเป็นจริงอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อไม่มีการฟังให้เข้าใจ แล้วจะไปรู้ได้อย่างไร ไม่ใช่มีตัวตนที่พยายามจะไปรู้ โดยฟังแล้วรู้ว่าไม่มีใครสามารถทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น

    ปัญญาจะเกิดหรือไม่เกิดจะรู้เพียงใด ก็ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ นี่ถึงจะเป็นความเข้าใจจริงๆ ในความเป็นอนัตตา ซึ่งขณะนี้เท่านั้นที่จะไปชำระจิตที่มากไปด้วยความไม่รู้ เปรียบเหมือนเชื้อโรคหรือสิ่งที่สกปรกที่ดำ ซึ่งในแสนโกฏิกัปที่สะสมมาแล้วจะเอาอะไรไปค่อยๆ ทำให้สะอาดขึ้น พอที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะไม่ใช่เราที่รู้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่ได้ชำระจิตจากความไม่รู้มากมาย จนกระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ เข้าถึงความเข้าใจถูกตามลำดับโดยไม่ใช่เรา

    อ.ธิดารัตน์ ขณะที่มีลักษณะของธรรมปรากฏกับปัญญา ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่ต้องมาคิดว่าไม่ใช่เราใช่ไหม เพราะว่ามีลักษณะของธรรมแต่ละชนิดปรากฏกับปัญญาแล้ว

    ท่านอาจารย์ จะคิดก็ไม่ใช่เรา เข้าใจก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นลักษณะสภาพของธรรมจึงปรากฏในความไม่ใช่เราได้

    สนทนาธรรมที่โรงละครวังหน้า

    วันที่ ๒๑ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

    อ.วิชัย มีข้อความหนึ่งที่กล่าวว่า ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ฉะนั้นการที่เรามีโอกาสได้ฟังคำต่างๆ คำอะไรที่จะเป็นเหตุให้ปัญญาเกิด และปัญญาที่จะเกิดขึ้นพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะมีการเห็น ก็มีการคิด แต่การคิดทั่วๆ ไปไม่เคยพิจารณาเห็น เพราะว่าขณะนี้ก็มีเห็นกำลังเห็น แต่ถ้าไม่อาศัยผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงให้เข้าใจถูกต้องว่า แม้เห็นซึ่งกำลังมีเห็นเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความจริงได้ นอกจากได้ฟังพระธรรม คำที่เกิดจากการตรัสรู้ความจริงด้วยพระองค์เอง ซึ่งต้องบำเพ็ญบารมีนานแสนนานมาก

    เพราะฉะนั้นทุกคนก็คิด และพิจารณาเพียงแค่คำว่าเห็น จะผ่านไปโดยไม่รู้เหมือนเดิม หรือว่าสามารถที่จะรู้ว่าผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็นที่กำลังเห็นนั้นโดยประการใด ก็ทรงแสดงความจริงของเห็นโดยประการนั้นๆ ให้คนอื่นคิดพิจารณาไตร่ตรองเห็นประโยชน์ไม่ละเลย เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ซึ่งยากที่จะรู้ได้

    อ.วิชัย จากที่เรามีโอกาสได้ฟังธรรมก็ทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อริยสัจจะ คำนี้ที่เป็นอริยสัจจะกับบุคคลที่ยุคนี้ซึ่งมีโอกาสได้ฟังคำนี้ จะมีความเข้าใจไหมในคำว่าอริยสัจจะ หรือว่าจะกล่าวสิ่งที่เป็นปกติธรรมดาใช้คำที่สามารถเข้าใจได้สิ่งนั้นก็เป็นอริยสัจจะ

    ท่านอาจารย์ โดยมากอาจจะคิดว่ารู้แล้ว ได้ยินคำว่าอริยสัจจะ ก็ได้ยินมา บางคนอาจจะตั้งแต่เรียนหนังสือ แต่ว่าความจริงแล้วต้องเป็นผู้ที่คิดพิจารณาไตร่ตรองทีละคำ จนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ อริยสัจจะ เพราะฉะนั้นแม้แต่ว่าคำว่าอริยะก็ยากที่จะรู้ว่าคือใคร และจะเป็นอริยะได้อย่างไร แต่ก็พูดถึงอริยสัจธรรมคือธรรมของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ที่สามารถที่จะเข้าใจความจริงของทุกอย่างที่กำลังมีในขณะนี้ ถ้าคิดพิจารณาจริงๆ ลองคิดดูว่า อยู่ในความมืดมานานเท่าไร ที่จะได้ยินคำว่าอริยบุคคล คือผู้ที่รู้ความจริงซึ่งมีอยู่ในขณะนี้ ก็แสดงว่าอยู่มาในโลกนานแสนนานโดยไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำต้องพิจารณาแล้วก็ต้องเข้าใจ ค่าที่ประเสริฐที่สุดว่าเป็นคำที่เริ่มทำให้มีความสนใจ ที่จะเข้าใจไม่ใช่เพียงผ่านไปแล้วก็ไม่สนใจ และถ้ามีความสนใจแล้วก็จะทำให้มีการเป็นผู้ที่เริ่มฟังพระธรรม แล้วก็เป็นผู้ที่ละเอียดรู้ความลึกซึ้งของพระธรรม ซึ่งคนอื่นบอกได้ไหมว่าเห็นลึกซึ้ง พูดกับใครเขาก็ไม่เห็นเห็นจะลึกซึ้งเลย เห็นก็ธรรมดา แต่ว่าเห็นไม่ธรรมดาเพราะเห็นเป็นอริยสัจธรรมของผู้ที่ได้อบรมปัญญา จนกระทั่งเห็นประโยชน์ของการที่รู้ว่า เห็นแล้วไม่รู้ แต่เห็นแล้วรู้ว่าเห็นคืออะไร อะไรจะเป็นประโยชน์กว่ากัน

    อ.วิชัย ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจจากสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพื่อเข้าใจในเห็น ถึงจะเป็นประโยชน์จากการได้ยินได้ฟัง ข้อความในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา ก็แสดงความยากอย่างยิ่งของการที่จะรู้ความจริงในขณะนี้ อย่างเช่น มีการอุปมาเกี่ยวกับเรื่องของจะงอยปากยุงที่จะหยั่งลงในมหาสมุทร ซึ่งจากการอุปมาแล้วดูเหมือนกับว่าเป็นไปไม่ได้เลย แต่ว่าผู้ที่รู้อริยสัจธรรมก็ยังมีอยู่แสดงถึงความลึกซึ้งอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กล่าวความลึกซึ้งทั้งหมดนั้น ผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีรู้ความจริงที่ลึกซึ้งนั้นได้ และเห็นว่าไม่ว่าใครก็ตามที่สามารถจะได้ยินคำจริงวาจาสัจจะที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็สามารถที่จะเห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ว่าต่างกับบุคคลอื่น เพราะขณะนี้ถ้าได้ฟังคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูเป็นคำอธิบายที่เหมือนกับไม่มีอะไรมาก เพราะพูดกันได้ทุกวันใช่ไหม อะไรเสียหายไปก็อนิจจัง ป่วยไข้ได้เจ็บจากการที่ไม่เคยเป็นอย่างนั้นก็อนิจจัง แล้วสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นก็เป็นทุกข์ แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    แต่ว่าขณะนี้ทุกอย่างที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง ต้องแยกเป็นแต่ละหนึ่ง เพราะว่าความจริงลักษณะของธรรมปะปนกันไม่ได้ และก็ถ้ารวมกันก็ไม่สามารถที่จะเห็นแจ้งตามความเป็นจริง ต้องเป็นทีละหนึ่งที่กำลังปรากฏ และมีความเริ่มเข้าใจในสิ่งนั้น จึงสามารถที่จะตรงกับคำว่า อนิจจัง หมายความว่าสิ่งนั้นต้องเกิดจึงมี ถ้าไม่เกิดจะมีได้อย่างไร แต่ละคำแต่ละคำไม่ใช่ว่าเราฟังแล้วเราจะรู้ทันที แต่สิ่งนี้มีจริงๆ และกำลังเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่กว่าจะรู้อย่างนั้นจริงๆ แต่ละคนก็ฟังมานานไม่ทราบว่านานเท่าใด แต่ก็ถึงวันหนึ่งที่สามารถที่จะเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งไม่สงสัยว่าแม้ความจริงที่กำลังเป็นอย่างนี้ในขณะนี้ลึกซึ้ง แต่ความเข้าใจที่เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึงลักษณะของสิ่งที่มีจริงคือความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และก็เป็นอนัตตา โดยคนทั่วไปอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงคือเห็นสิ่งของหรือบุคคลต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงมีการแปรปรวนไป ก็คิดแล้วก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง การรู้การเข้าใจอย่างบุคคลทั่วไปจะต่างกับผู้รู้อย่างอริยเจ้าที่จะรู้ความจริง โดยความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องถามผู้ที่กำลังเห็นว่ารู้จักเห็นแค่ไหน ก็จะได้รู้ความต่างว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างกับผู้ไม่รู้เปรียบไม่ได้เลย

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงตอนนี้ก็รู้ว่ากำลังเห็น

    ท่านอาจารย์ แค่นั้น

    อ.วิชัย เพียงแค่นั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าถามต่อว่าแล้วเห็นมีจริงๆ ไหม

    อ.วิชัย มีจริง

    ท่านอาารย์ แล้วใครเห็น

    อ.วิชัย ก็ยังเป็นเราที่เห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าธรรมเป็นธรรม สิ่งที่มีจริงมีแน่นอนแต่ละหนึ่งเมื่อเกิดขึ้น มีจริงเมื่อเกิดขึ้นเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่เกิดขึ้นจะกล่าวว่ามีจริงไม่ได้ ปัญญาที่รู้อริยสัจจะมีจริงไหม

    อ.วิชัย มีจริง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เกิดใช่ไหม

    อ.วิชัย ยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ไม่ได้ แต่ก็รู้ว่าเป็นจริงได้เพราะรู้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ถ้าไม่มีสิ่งที่มีในขณะนี้ แล้วจะไปรู้อะไรได้ แต่เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ และเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้ยิ่งขึ้น จากการที่รู้ว่าเห็นมีจริงแค่นี้ ไม่รู้อะไรมากกว่านั้นเลย แล้วยังเข้าใจผิดด้วย ยึดถือว่าเราเห็น เห็นเป็นเราที่กำลังเห็น นี่เป็นธรรมดา แต่ว่าผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้รู้ว่าเห็นจะเป็นใครไม่ได้ เห็นเกิดขึ้นเห็น แล้วเห็นก็ดับไป จริงหรือเปล่า แต่ละคำแม้เป็นคำสั้นๆ ดูเสมือนว่าเป็นคำเล็กๆ น้อยๆ แต่แต่ละคำที่เล็กน้อยนั่นเองเป็นความจริงทั้งหมด ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจสิ่งที่มีจริง ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่ใหญ่โต เช่น อาคารทั้งหลังหรือว่าเป็นเก้าอี้หรือว่าเป็นคน แต่ความจริงแล้วก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเล็กน้อยคือเพียงละหนึ่งซึ่งดับเร็วมากด้วย ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วทุกขณะนี้ไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วดับไป จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เมื่อฟังแล้วยังต้องเป็นผู้ที่ไตร่ตรอง ถ้ารู้ว่าจริงจะละทิ้งความจริงไหม

    อ.วิชัย ไม่ละแน่นอน เพราะเป็นปัญญาที่รู้ความจริง

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีเห็น เห็นเกิดชั่วขณะที่เห็นแล้วดับ ความจริงเป็นอย่างนี้จะละเลยไม่เข้าใจให้ถูกต้องไหม

    อ.วิชัย ถ้าเป็นปัญญาก็ไม่ละเลยแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ฟังแค่นี้พอไหมที่จะละการที่เคยยึดถือเห็นว่าเป็นเรามานาน แล้วก็เข้าใจได้ทันทีว่า เห็นเป็นแต่สิ่งที่มีจริง ธรรมคำว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงหลากหลายแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง แล้วไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นความไม่รู้มากมายสักเพียงใด ทุกอย่างที่มีจริงมาก และไม่รู้ความจริงสักอย่างเดียว ก็แสดงว่าหลงไม่รู้มานาน แต่ถ้ามีผู้ที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้รู้ได้ ก็ควรที่จะได้ฟังคำจริงด้วยการพิจารณาไตร่ตรองว่า ไม่ใช่คำที่กล่าวถึงสิ่งที่ไม่มี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    20 พ.ย. 2567