ปกิณณกธรรม ตอนที่ 940


    ตอนที่ ๙๔๐

    สนทนาธรรม ที่ คุ้มภูผาหมอก จ.เลย

    วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับไม่สามารถที่จะกลับไปเป็นธาตุรู้ได้ แต่ละหนึ่ง เพียงแค่เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทันทีที่เกิดเป็นสิ่งนั้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นรูปไม่รู้อะไรเลย แต่ว่าเกิดดับสืบต่อจนปรากฏสัณฐานที่หลากหลายต่างกัน ดอกไม้ ต้นไม้ ชื่อสารพัดมาจากไหน นั่นมะละกอเห็นไหม ถ้าไม่ปรากฏเป็นสัณฐานอย่างนั้นจะมีคำเรียกไหมว่ามะละกอ นั่นต้นชะอม ก็ชะอมก็ต้องมีสัณฐานอย่างหนึ่ง มะละกอก็ต้องมีสัณฐานอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเกิดดับที่ปรากฏเป็นสัณฐาน ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นนิมิตตะทั้งหมด ให้รู้ว่ามี แต่ไม่รู้ว่ามี เพราะเกิดดับสืบต่อจนปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน

    เพราะฉะนั้นคิดถึงเด็กแรกเกิด มีตาเห็น เห็นอะไรไม่รู้ แต่เห็นถูกต้องไหม ถอยกลับไปเป็นเด็กตอนแรกเกิด จะจำอะไรไม่ได้เลย ใช่ไหม แต่เกิดมาแล้ว เห็นก็มี จำก็มี แต่ว่าลืม เพราะว่ากว่าเด็กที่แรกเกิด จะมีเห็นปรากฏ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เห็นก็เกิดแล้วดับแล้ว จนกระทั่งโต เริ่มจำได้ล่ะใช่ไหม จำสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นคน ไม่มีชื่อ แต่สัณฐานเป็นอย่างนี้ อาหาร เก้าอี้ โต๊ะ ก็เป็นสัณฐาน ยังไม่มีคำ เพราะฉะนั้นธรรมไม่มีคำ แต่อาศัยคำทำให้เข้าใจธรรมที่หลากหลายต่างกัน ด้วยเหตุนี้จึงค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจความจริง ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด และก็ฟังแล้วก็ฟังอีก เพราะอะไร ลืม ไม่ได้คิดเลย ใครคิดบ้างเวลานี้ เห็นอะไร เห็นนิมิตตะของรูป เพราะไม่ได้เห็นการเกิดดับของรูปแต่ละรูป เห็นแต่เพียงรูปที่เกิดดับจนปรากฏเป็นนิมิต เพราะฉะนั้นเราอยู่ในโลกของนิมิต โดยไม่รู้ตัวเลยว่านิมิตทั้งหมด แต่ตัวจริงๆ ก็เหมือนกับพยับแดด มองเห็นเหมือนมีน้ำอยู่ข้างหน้า แต่มีไหม พอไปถึง หรือว่าเหมือนฝัน ในฝันไม่มีทุกอย่างเลย มากมายหลายอย่าง ได้ลาภ ได้ยศ อะไรก็ตามแต่ แต่พอตื่นขึ้นมา อยู่ในล่ะ ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นนิมิตทั้งหมดเลย อยู่ในโลกของนิมิต ซึ่งลวงให้เห็นว่าเป็นเรา ที่กำลังเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ความจริงเป็นแต่ธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่อไม่ขาดสาย

    เพราะฉะนั้นธรรม ๑ แล้วก็สามารถที่จะจำแนกเป็น ๒ ประเภทคือนามธรรม กับรูปธรรม เป็นธรรมทั้ง ๒ อย่าง แต่ธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งหมดเป็นรูปธรรม ส่วนธรรมที่ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่รู้โดยอาการต่างๆ เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นเรามีไหม ถ้าเราไม่มี แล้วอะไรมี เปลี่ยนคำถามไปได้เรื่อยๆ ให้เข้าใจ ให้ถูกต้อง ดูซิว่าเข้าใจจริงๆ ไม่มีเราใช่ไหม แล้วมีอะไร มีธรรม เพราะฉะนั้นธรรมจะเป็นเรา ได้ไหม เป็นไม่ได้แน่นอน แต่ยังไม่สามารถที่จะรู้จริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นรู้จริงนี่คือตรัสรู้ ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้ปรากฏเลยปรากฏแต่นิมิตตะ สภาพธรรมที่กำลังเห็น นับได้ไหมว่ากี่ขณะเดี๋ยวนี้ แต่พอเริ่มจะรู้เข้าใจว่านี่เป็นสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏว่าเป็นอย่างนี้ ใครจะมาบอกเล่าอย่างไร ถ้าไม่เห็นก็ไม่สามารถที่จะรู้อย่างที่กำลังเห็นได้ เพราะฉะนั้นเห็นเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เท่าที่เราจะรู้ได้ก็คือ นิมิตตะของเห็น เพราะว่าขณะนี้นับไม่ได้เลยว่า จิตเห็นเกิดดับเท่าไหร่ มีจิตอื่นแทรกคั่นเท่าไหร่

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูกต้อง เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่คำของคนอื่น เพราะอะไร ทุกคำเป็นปัญญา มาจากการตรัสรู้ทั้งหมด แล้วทำให้คนฟังได้เริ่มเข้าใจ ได้เริ่มห่างไกลจากความติดข้อง เพราะไม่รู้ เริ่มทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมด้วยความเป็นอนัตตา แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นถ้า เข้าใจผิด ไม่มีความรู้เป็นพื้นฐาน อ่านพระสูตร จะเข้าใจว่าเป็นเราเพียร เราทำ เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้เพียร แต่ความจริงทรงแสดงว่าเพียรเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพียรเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วเพียรมี ๒ อย่างด้วย เพียรผิด เพียรถูก เพียรกันใหญ่เลยแต่ไม่รู้อะไรเลย มีประโยชน์อะไร

    เพราะฉะนั้นสำนักปฏิบัติทำลายคำสอนของพระศาสนาแน่นอนเพราะว่าก่อนจะไปก็ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้อะไรแล้วจะเป็นคำสอนของ พระสัมมาสัมพุทธจ้าหรือ แล้วไปก็ไม่รู้ บอกให้ยืนก็ยืน บอกให้เดินก็เดิน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบอกให้ใครทำอะไรโดยไม่เข้าใจหรือทั้งหมดทุกคำเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ต้องเป็นผู้ที่ตรง กล้าที่จะละทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ความเห็นผิดจะมีประโยชน์อะไร เก็บไว้ทำไม จะสะสมต่อไปกั้นประโยชน์ที่จะสามารถเข้าใจธรรมได้ แม้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นต่อๆ ไปข้างหน้า ก็เหมือนพวก เดียรถีย์ที่มีความคิดอย่างอื่น ไม่ได้เข้าใจคำสอนเลย

    เพราะฉะนั้นแม้จะรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงนี้ เขาก็ไม่มาเฝ้าไม่มาฟังธรรม เพราะเขาเชื่อในความเห็นของเขา นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งอันตรายมากน่ากลัวมาก เพราะเหตุว่าความเห็นผิดจะทำให้เห็นผิดต่อไป มากขึ้น จนกระทั่งไม่สามารถที่จะเปรียบได้ว่าคำใดจริงคำใดไม่จริง คำใดไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เป็นคำของคนที่คิดวิธีแปลกๆ ประหลาดๆ บอกให้คนอื่นทำ แล้วเขาจะรู้อะไร แล้วคนที่ถูกบอกก็ทำจริงๆ ด้วย ค่อยๆ ก้าว ค่อยๆ เดิน ทำอะไร เข้าใจอะไร แล้วทำทำไม ก็ไม่มีคำตอบ นอกจากแล้วจะรู้ แล้วรู้อะไร แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทุกคำชัดเจน ตรง รู้อะไร รู้สิ่งที่มีที่กำลังปรากฏซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน แล้วจริงไหม เราฟังทุกคำแต่ละคำ ถูกต้อง ตามความเป็นจริงหรือเปล่า ว่าขณะนี้ทันทีที่ลืมตาเห็นหมดเลยพร้อมกัน เป็นไปได้อย่างไร เพราะว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะก็รู้เพียง ๑ เพราะฉะนั้นกว่าจะเป็น พอลืมตาก็เห็นทุกอย่าง นี่จิตเกิดดับเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีความเข้าใจเกิดขึ้น ค่อยๆ เข้าใจ เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น นั่นคือไม่ใช่ประจักษ์การเกิดดับของเห็น แต่รู้นิมิตตะ วิญาณนิมิต

    เพราะฉะนั้น ธรรมซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรม ทรงแสดงละเอียดขึ้นเป็นขันธ์ ๕ ตามความยึดถือ ก็พูดแค่นามธรรม รูปธรรมไม่พอหรือ ถ้าพอก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่กว่าจะไปคลายความยึดมั่น ที่หนาแน่น เหนียวแน่นมาก ทรงอุปมาว่าคำของพระองค์ เหมือนหงายของที่คว่ำ เวลานี้ไม่ใช่เรา เป็นจิต เจตสิก รูป จริงไหม ไม่เห็นปรากฏเลย ก็นี่ไงคน นี่ก็เสา นี่ก็โต้ะ นี่ก็เก้าอี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกปกปิดคว่ำไว้ ก็คือจิต เจตสิก รูป ไม่มีใครคิดถึงเลย คิดถึงแต่สิ่งที่ปรากฏ เปิดของที่ปิด แน่นมากเลย มีกำลังพอจะเปิดไหม ให้รู้ว่าเห็นเดี๋ยวนี้ ๑ ขณะของนิมิต คือนิมิตของจิตเห็น ซึ่งเป็นธาตุรู้ หรือว่านิมิตของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ไม่มีทาง ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าปัญญาต้องเกิดตามลำดับขั้น ปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธ คำของใคร แต่คำของใครบอกว่าไม่ต้องฟังพระธรรม ปฏิบัติเลย คำของใครนี่ก็ต่างกันแล้วใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาก็จะรู้ว่า คำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้จักแค่ไหน ไม่ได้ง่ายอย่างที่คนอื่น คำของคนอื่นจะกล่าวว่าไม่ต้องฟังปฏิบัติเลย เป็นไปไม่ได้เลย ทำลายคำสอนทั้งหมดของพระองค์ ซึ่งทรงแสดง ๔๕ พรรษาหรือเปล่า ทรงแสดงให้ใครฟัง ไม่ใช่ไม่มีใครฟังเลย แต่ผู้ที่สะสมมาที่มีบุญที่ทำไว้ แต่ปางก่อนมีโอกาสได้ฟัง ฟังแล้วก็ยังเป็นคนที่หนักแน่น มั่นคง เห็นประโยชน์ หรือว่าแค่นี้พอแล้ว ฟังแค่นี้ก็เบื่อแล้วเหนื่อยแล้ว มากแล้ว ต้องคิดต้องไตร่ตรองอะไรอีกเยอะแยะ นั่นก็แล้วแต่ แต่ผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ ไม่มีวันเลยที่จะไม่ฟังธรรมอีกต่อไป มีท่านผู้หนึ่งที่ท่านใกล้จะเสียชีวิต ท่านก็ขอเพียงมีชีวิตต่อไปอีกสักหน่อยเพื่อที่จะได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นเรามีชีวิตต่อไป ไม่รู้ว่าสักหน่อยรึเปล่า หรือสักนานเท่าไหร่ แต่มีชีวิตอยู่เพื่อที่จะได้ฟังคำจริง เพื่อที่จะได้เข้าใจความจริง ซึ่งจะติดตามไปแน่นอน เหมือนคำอื่นๆ ที่ฟังแล้วเราก็จำ ขณะนี้เราก็เริ่มจะเข้าใจสิ่งซึ่งแสนยากเพราะว่าละเอียด และลึกซึ้ง แค่สิ่งนี้กำลังปรากฏชั่วขณะที่เห็น ถ้าไม่ลืมคำนี้ ฟังไปเรื่อยๆ ทุกชาติ ก็จะมีสักขณะหนึ่งซึ่งสติ ไม่ใช่เราระลึกได้ รู้ในขณะนั้นแล้วเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นได้

    เพราะฉะนั้นกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับจากปริยัติ แทงตลอดในความหมายของคำว่าธรรม ต้องเป็นธรรม เป็นอื่นไม่ได้เลย นอกจากเป็นสิ่งที่มีจริง รอบรู้ในธรรม เกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นอนัตตา แล้วจะไปทำอะไร ทำไม่ได้ แต่ค่อยๆ ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วปัญญาที่เข้าใจ ความเข้าใจถูกเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีก็จะมีคำว่าปัญญา มีคำว่าสัมมาทิฏฐิ มีคำอื่นอีก ญาณ เป็นต้น เป็นความ เข้าใจถูกตามลำดับขั้น อย่างวิปัสสนาญาณ ก็ต้องไม่ใช่ปริยัติ ไม่ใช่เพียงแค่ปฏิปัตติซึ่งเริ่มต้น แต่ต้องถึงปฏิเวธ เพราะฉะนั้นทุกคำที่พูดจริงพร้อมที่จะให้ทุกคนพิสูจน์ได้ สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วละความติดข้อง ไม่ใช่ฟังด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นคำถามจะมาว่าทำยังไงจะรู้ ฟังยังไงจะเข้าใจ ด้วยความเป็นตัวตนทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นเป็นเครื่องกั้นเป็นเครื่องเนิ่นช้า

    ด้วยเหตุนี้ต้องฟังไปแต่ละคำ ธรรม นามธรรม รูปธรรม แล้วก็ขันธ์ ขันธ์ภาษาบาลีก็จะออกเสียงว่า ขัน-ดะ ธ ธง การันต์ แต่ภาษาไทยเรียกขันธ์ ขันธ์เป็นธรรมหรือเปล่า เรื่องเดียวกัน สิ่งเดียวกันแต่ทรงแสดงหลากหลาย เพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นว่า แล้วทำไมบอกว่าขันธ์ แล้วทำไมเป็นรูปธรรม กับนามธรรม แล้วทำไมเป็นขันธ์ ๕ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละคำ ต้องกล่าวตามความเป็นจริงว่าอุปาทานขันธ์ อุปาทานในภาษาไทยใครจะคิดอย่างไร เข้าใจอย่างไรก็แล้วแต่ แต่อุปาทานในภาษาบาลี หมายความว่ายึดมั่น ถือมั่น ติดข้อง เพราะฉะนั้นอุปาทานที่ยึดมั่น ถือมั่น ติดข้อง ถูกไหม ดีไหม ยึดมั่น แค่ยึดคำเดียว ไม่กล่าวถึงว่ายึดอะไรทั้งหมด แค่ยึดติดดีไหม ปัญญาที่จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้นด้วยความเข้าใจของตัวเอง ต้องพิจารณาแม้แต่ละคำ ซึ่งยังไม่ได้เข้าใจความละเอียด เพียงแค่ว่ายึดมั่น ดีไหม แล้วถ้าเราได้รู้ความต่อไปอธิบายให้ละเอียดขึ้น ว่ายึดมั่น ต้องมีสิ่งที่ถูกยึดมั่นใช่ไหม อยู่ดีๆ กล่าวว่ายึดมั่น แล้วไม่มีสิ่งที่ถูกยึดมั่นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเมื่อมีการยึดมั่นก็ต้องมีสิ่งที่ยึดมั่นในอะไรในธรรม ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดดับ จึงเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง นี่ยึดมั่นแล้วใช่ไหม ว่าเที่ยงทั้งๆ ที่ไม่เที่ยง

    เพราะฉะนั้นละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถที่จะสอดคล้องกันได้ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ถ้ามีความเข้าใจแล้ว ขันธ์คืออะไร ขันธ์ก็ต้องเป็นธรรม เพราะว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เพราะฉะนั้นขันธ์ก็ต้องเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อความจริง รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้แล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรม ก็เป็นรูปขันธ์ เพราะว่าคำว่าขันธ์ หมายความถึงสภาพที่ว่างเปล่า จากความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนี้ทุกคนไม่รู้เลยว่าว่างเปล่า ทีละหนึ่งขณะ ว่างไป เปล่าไป ว่างไป เปล่าไป ไม่เหลือเลย แต่ไม่รู้เลยเข้าใจว่ายังอยู่ใช่ไหม เพราะฉะนั้นยึดมั่นในอะไร ในสิ่งที่มี เพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ปรากฏ แม้รูปธรรมก็เกิดแล้วดับ เร็วสุดที่จะประมาณได้ จนปรากฏเป็นนิมิตตะให้ติดข้อง

    เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจความหมายของนิมิต ไหมว่าเป็นสิ่งซึ่งมี แต่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมที่เกิดดับ ไปเข้าใจว่านิมิตนั้นเที่ยง เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยั่งยืน เห็นอะไรเดี๋ยวนี้ ตอบได้แล้วเห็นอะไร เห็นอะไร นิมิต อยู่ในโลกของนิมิตตั้งแต่เกิดจนตาย รู้ไหม ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางรู้ ชาติแล้วชาติเล่าในสังสารวัฎก็เป็นอย่างนี้ จนกว่าจะมีพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี แล้วก็รู้ความจริงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผ่านไปกี่พระองค์ แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระโพธิสัตว์ หลังจากที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร แล้วอบรมบำเพ็ญบารมี ผ่านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ แล้วเราจะผ่านไปอีกกี่องค์ ขึ้นอยู่กับว่าเข้าใจไหม เข้าใจแค่ไหน มั่นคงแค่ไหน ความจริงเปลี่ยนไม่ได้เลย ต้องเป็นสัจจธรรม

    เพราะฉะนั้นทุกคำ ทุกคำก็ต้องสอดคล้องกันหมด ขณะนี้ติดข้องในรูป ซึ่งเป็นรูปขันธ์ ไม่ยากเลย ขันธ์ หมายความถึง ธรรมใดๆ ก็ตามซึ่งเกิดดับ ขยายคำออกมาเป็นภาษาไทยที่เราพูดมาทั้งหมดเป็นธรรม ซึ่งเป็นขันธ์ เพราะเกิดดับ แล้วไม่กลับอีกเลย ว่างเปล่า จากการที่จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยังคงเหลือ ไม่เหลือจริงๆ แต่มีสิ่งซึ่งเกิดดับสืบต่อทันทีเร็วมาก ไม่เห็นเลยว่าสิ่งนั้นดับไป เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่เหมือนเดิมนี่ตั้งแต่เด็กจนถึงเดี๋ยวนี้เหมือนเดิมไหม ไปดูรูปเก่าๆ เหมือนเดิมไหม ทีละวัน ทีละวันนี่เหมือนกับเหมือนเดิม วันนี้ก็เหมือนเมื่อวานนี้ พรุ่งนี้ก็เหมือนวันนี้ แต่ความจริงยังไม่ปรากฏให้รู้ว่า ไม่เหมือนเดิมทุกขณะ ทุกขณะหมายความว่าสิ่งที่ดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย จะเป็นเก่าไม่ได้ ฟังจนกระทั่งถ้าสะสมมามากพอ

    ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ฟังพระธรรมได้รู้ความจริง เป็นเอตทัคคะ สาวกรูปแรก เพราะตั้งความปรารถนาไว้ว่า เมื่อไม่สามารถที่จะรู้ความจริงซึ่งปรากฏอย่างนี้ แต่ความจริงก็เป็นความจริงอย่างนี้ซึ่งรู้ได้ ก็ขอถึงการเป็นสาวกรูปแรกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ซึ่งท่านก็พร้อมที่จะเป็นสาวกที่ได้รู้ความจริงรูปแรก ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราฟังธรรมวันนี้เราจะรู้วันนี้ หรือใครมาบอกเราให้ไม่รู้อะไรเลย แต่ให้ทำอะไรก็ไม่รู้สักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ฟังด้วยความอดทน เข้าใจขันติบารมีแล้วใช่ไหม ทุกชาติไปทุกครั้งที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นบารมีทั้งหมด เริ่มรู้เลยว่า ถ้าขาดกุศลธรรม อกุศลธรรมก็เจริญไปมากขึ้นๆ ทุกวันๆ กั้นแล้วก็เพิ่มขึ้นด้วย แล้วจะไปรู้สิ่งที่กำลังปรากฏได้อย่างไร ถ้าเราติดข้องในรูป เราก็เพลิดเพลินในรูปใช่ไหม แต่ว่าถ้าได้ฟังพระธรรมเห็นประโยชน์ เราไม่สามารถที่จะดับความติดข้อง และอกุศลทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในจิต แต่ว่าสามารถค่อยๆ เข้าใจความจริง

    เพราะฉะนั้นการเข้าใจไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาทำหน้าที่ละความไม่รู้ เพราะความไม่รู้ เป็นเหตุให้เกิดอกุศลทั้งหมด เพราะฉะนั้นขันธ์ ต้องเป็นธรรม แล้วก็ต้องเป็นรูปธรรม นามธรรม เพราะฉะนั้นก็ขันธ์ ๕ เป็นรูปขันธ์ กี่ขันธ์ ๑ ขันธ์ รูปทุกรูปเกิดแล้วดับไปเป็นนามธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดเป็นรูปธรรม แต่นามขันธ์ ๔ ขันธ์ เพราะว่าจิตไม่ใช่เจตสิกจะรวมกันเป็นขันธ์เดียวได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นก็มีนามขันธ์กับรูปขันธ์รูปขันธ์เป็น ๑ นามขันธ์ ๔ เป็นจิตคือวิญญาณขันธ์ ๑ ใครรู้บ้างว่าทุกครั้งที่มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นความรู้สึกในสิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะว่าความรู้สึกมี ไม่ใช่อย่างเดียว รู้สึกสุขไม่ใช่รู้สึกทุกข์ต่างกันแล้วใช่ไหม ๒ อย่าง และไม่ใช่ทั้งสุข ไม่ใช่ทั้งทุกข์มีไหม ธรรมไม่ใช่ให้ฟังอย่างเดียว ต้องคิดถึงความจริงว่า วันนี้สุขหรือเปล่า ทุกข์หรือเปล่า เพราะฉะนั้นถ้าไม่สุขไม่ทุกข์มีไหม มี ใช้คำว่าอทุกขมสุข หรือจะใช้คำว่าอุเปกขาก็ได้ คือแล้วแต่จะใช้คำไหน ให้คนสามารถเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้มีธรรมนั้น เพราะฉะนั้นใครจะตอบได้นอกจากบุคคลนั้นเอง

    ด้วยเหตุนี้ใครจะรู้ว่าเห็นเดี๋ยวนี้ เกิดพร้อมกับความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ แต่จะไม่มีความรู้สึกไม่ได้ เพราะว่ามีการรู้ ต้องมีความรู้สึกในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นความรู้สึกนี้เราติดข้องมากไหม ในรูปนี่ติดข้องมากเลย เพราะเราเกิดในภพภูมิ ซึ่งมีรูปที่ปรากฏทางตา มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสิ่งที่กระทบ สบายไม่สบาย เย็นไปบ้าง พอดีบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง อยู่ในโลก ๕ โลกนี้ตลอดเวลา อีกโลกหนึ่งก็คือใจ รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างสืบต่อ เพราะฉะนั้นสามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง เป็นความละเอียดของเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ซึ่งค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับที่เราบอกว่าเรานับถือใครเป็นที่พึ่ง พระรัตนตรัย แต่ถ้าไม่เข้าใจเลย บอกได้ไหมว่าเรามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พูดเฉยๆ ไม่มีความหมายอะไรเลย แล้วก็ไม่จริงด้วย ถ้าพึ่งก็ต้องรู้จักคนที่เราพึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่าเราพึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องรู้ว่าท่านเป็นใคร พระองค์เป็นผู้ที่ไม่มีผู้ใดเปรียบได้ในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณ แค่คำเดียวธรรม เห็นพระคุณไหม ไม่มีทางที่ใครจะรู้ ไม่มีทางที่ใครจะพูด ไม่มีทางที่ใครจะคิดออกมาได้เลยว่าไม่ใช่เรา แต่พระธรรมที่ทรงแสดงแต่ละคำ ทำให้เห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้แต่ขณะที่เห็น มีความรู้สึก ก็ไม่รู้ว่าความรู้สึกอะไรเฉยๆ ทางตา ไม่ว่าเห็นอะไร เห็นสิ่งที่สวยมากเลย ขณะที่เห็นเพียงเห็น จะดีใจเสียใจได้อย่างไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    19 ก.ค. 2567