ปกิณณกธรรม ตอนที่ 944


    ตอนที่ ๙๔๔

    สนทนาธรรม ที่ คุ้มภูผาหมอก จ.เลย

    วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ เข้าใจธรรม ทันทีที่เข้าใจระลึกถึงพระพุทธคุณหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ทันที

    ท่านอาจารย์ ทันทีเลยใช่ไหม จนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน เข้าใจเมื่อใดระลึกถึงพระพุทธคุณหรือเปล่า แม้เดี๋ยวนี้เราก็กำลังระลึกถึงพระพุทธคุณ ที่มีโอกาสให้เราได้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ละเอียดขึ้น จนเห็นด้วยความเข้าใจว่าไม่ใช่เราแน่ จิตเห็นเกิดแล้วดับไม่ใช่เราแน่ ได้ยินเกิดแล้วดับไม่ใช่เราแน่ คิดเกิดแล้วก็ดับไป มีปัจจัยที่จะให้คิดอย่างไร คิดที่เป็นกุศล คิดที่เป็นอกุศล เกิดแล้วดับไปแน่ ระลึกถึงพระพุทธคุณไหม การระลึกถึงพระพุทธคุณไม่ใช่ว่า ไม่เข้าใจธรรมแล้วไปนั่งท่อง "อิติปิโส ภควา" แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ แต่ละคำ แต่ละคำ หมายความว่าอะไรก็ไม่รู้ แต่ความเข้าใจธรรมเกิดเมื่อใด บุคคลนั้นระลึกถึงพระพุทธคุณ เพราะแม้แต่การที่จะระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็ไม่เข้าใจว่า คนที่ไม่เข้าใจธรรมเลยไประลึกได้อย่างไร แล้วจะเข้าใจธรรมก็คือต้องฟัง จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ เห็นค่าของแต่ละคำมากมายมหาศาล เพียงแค่คำเดียว และมากเท่าใดที่ได้ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา กำลังพูดอย่างนี้ระลึกถึงพระพุทธคุณหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ระลึกถึงเลย

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่พระโสดาบันหรือเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นก็ต้องแล้วแต่กำลังของปัญญา พูดอย่างเดียวกันใช่ไหม ยังไม่เป็นพระโสดาบัน แต่มีความเข้าใจถูกว่า สามารถที่จะรู้อย่างที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านได้รู้แล้ว เมื่อถึงพร้อมด้วยบารมี ด้วยความอดทน ไม่ใช่อดทนไปนั่งทรมานตัวไปอยู่ในป่า แต่อดทนที่จะเริ่มเข้าใจ สิ่งที่กำลังมีเป็นปกติอย่างนี้ ไม่ผิดปกติเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับไปแล้ว ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิดระลึกก็ดับไปแล้ว แล้วจะไปรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้นความอดทนที่จะไม่ผิดปกติ โดยไปทำอย่างอื่น เพราะว่าธรรมเกิดแล้ว ทางที่จะรู้ว่าผิดปกติหรือไม่ผิดปกติ ก็คือว่าเดี๋ยวนี้เกิดแล้วไม่มีใครไปทำ นั่นถึงจะเป็นอนัตตา แต่ถ้าจะไปทำให้เกิดขึ้น อันนั้นด้วยความเป็นอัตตาแน่นอน

    อ.อรรณพ ผมว่าเจ้าของความคิดเขาไม่ได้เป็นคำถาม แต่เขาจะยอกย้อนว่า ก็ลองคิดดูว่าการที่ระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอัตตาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ที่ไม่เป็นอัตตามีไหม การระลึกถึงพระพุทธคุณที่ไม่เป็นอัตตา

    อ.อรรณพ การระลึกถึงพระพุทธคุณจริง ก็ต้องเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะถึงความหมดความเป็นตัวตน ก็ระลึกถึงพระพุทธคุณ เพราะฉะนั้นจะกล่าวรวมว่า การระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอัตตามีไหม

    อ.อรรณพ แต่ในความเป็นจริงของคนที่เขาเอาอันนี้มาอ้าง เขามีความเป็นตัวตนที่จะทำทุกอย่าง แม้กระทั่งการระลึกถึงพุทธคุณ ก็ต้องเป็นตัวเขาที่ต้องระลึกถึง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแม้ขณะที่กำลังระลึกถึงพระพุทธคุณก็เป็นอนัตตา เพราะต้องมีปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นคิด แต่ก็ไม่รู้ เพราะไม่รู้ความเป็นอนัตตา

    อ.อรรณพ เพราะว่าเท่าที่พอจะเข้าใจความคิดเขา เขาก็จะมีความคิดที่จะทำในทุกอย่าง เขาถึงยกตัวอย่างว่า พระราชาก็ต้องทิ้งราชสมบัติมา คือต้องทุ่มเท ก็คือความคิดในแนวเดียวกัน แล้วก็มีความคิดว่า ต้องทำอย่างพุทธคุณ ก็ต้องมีการระลึก ต้องนึกถึงบ้าง วันๆ หนึ่งไม่นึกถึงเลยหรือ

    ท่านอาจารย์ เขาคงจะเข้าใจว่า พระไตรปิฎกทั้งหมดเป็นเรื่องให้ทำ ไม่ใช่เข้าใจ ถ้าไม่มีปัญญา เพียรสักเท่าใดจะรู้ไหมว่า ทั้งหมดเป็นอนัตตา ถ้าไม่มีปัญญา เพราะไม่ใช่ใครรู้ ต้องเป็นความเห็นถูกความเข้าใจถูกเท่านั้นที่จะสามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นอัตตาได้

    ผู้ฟัง ประการที่ ๒ ก็โยงไปถึงประการแรก บอกว่า บางคนกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมเป็นอัตตา แต่เวลาไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง บอกเป็นอัธยาศัย คือโยงไปถึงข้อต้น ก็คือ ควรที่จะต้องไป

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เป็นอัธยาศัยที่สะสมมาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นอัธยาศัย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอัธยาศัย จึงไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตาทั้งหมด แต่ไม่รู้ว่าเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ตรงนี้ชัดเจนเลย คือที่กล่าวทั้งหมด ไม่รู้ความเป็นอนัตตาเลย

    ท่านอาจารย์ และไม่รู้หนทางที่จะรู้ความเป็นอนัตตาด้วย คิดว่ามีตัวตนไปทำนั่นเอง จะทำให้หมดความเห็นผิดว่าเป็นอัตตา

    ผู้ฟัง คือคำนี้ที่ใช้น่าจะเป็นความคิด หรือความเข้าใจของผู้เขียนเองที่บอกว่า ถ้าเข้าใจอย่างนั้น อย่าพึงหวังว่า จะได้ความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญา จะเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีทาง

    ท่านอาจารย์ จะไปทุ่มเททำอะไรสักอย่างทุกอย่าง ถ้าไม่มีปัญญาความเข้าใจถูกต้อง จะเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาไหม เพราะฉะนั้นเขาไม่รู้จักปัญญา

    อ.อรรณพ ก็คือเป็นความคิดที่เขาสะสมมา ที่เขาจะไม่ได้รับประโยชน์ แล้วเขาก็จะแย้งกับความเป็นอนัตตา แต่ว่าเขาคิดว่าตัวเขาเข้าใจความเป็นอนัตตา เขาก็เลยมา กล่าวหาว่า การที่จะเจริญกุศลอะไรต่างๆ ทางเราบอกว่าเป็นอัตตาหมด เช่น พุทธานุสติ แต่จริงๆ เขาไม่ได้เข้าใจว่า การที่มีตัวเขาอย่างเต็มหัวใจที่คิดจะทำโน่นทำนี่ ตรงนั้นเป็นอัตตาใช่ไหม แต่เขาก็เลยมาย้อนว่า ปฏิเสธการที่จะเจริญความเพียร การที่จะเจริญกุศล การที่จะมีพุทธานุสติ ก็เคยสนทนากับท่านเหล่านี้ ท่านคิดว่าวันๆ หนึ่งคิดถึงพุทธานุสติบ้างไหม อันนี้เป็นพื้น ต้องคิด ต้องระลึก ใครให้ระลึก ตัวเขาทั้งนั้น แต่เขาไม่ได้คิดว่า ความเข้าใจธรรมในขณะนี้เป็นการเมื่อเข้าใจพระธรรม ระลึกถึงคุณของพระองค์ท่านด้วยความเข้าใจพระธรรม ไม่ใช่มีตัวตนต่างหากแล้วคิดจะไปทำเป็นสถานการณ์ คือแทนที่เขาจะเข้าใจว่า ธรรมเกิดตามเหตุตามปัจจัย และมีความเป็นปกติ ซึ่งขึ้นกับว่าสะสมปัญญาที่จะเข้าใจความเป็นธรรมที่เป็นอนัตตามาตามลำดับหรือเปล่า หรือว่าข้ามอันนี้ไป แล้วเอาพระไตรปิฎกทุกข้อความมาเสริมความเป็นตัวตนของเขา แต่เขาไม่สามารถได้รับประโยชน์จากคำเตือนว่า เป็นตัวเขาหรือเปล่า ที่กำลังคิดจะทำพุทธานุสติ คิดที่จะทำโน่นทำต่างๆ ตามที่เขายกตัวอย่างมา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธานุสติ เขาเข้าใจอะไรที่จะคิดถึงพระคุณ เข้าใจว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไปทุ่มเท

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ หรือว่าความจริงแล้วก็คือตัวตนใช่ไหมที่ทุ่มเท และขณะนั้นจะทำอะไรก็ตามแต่ ปัญญาสามารถที่จะรู้ทุกอย่าง แต่ปัญญาที่จะเข้าใจถูกในทุกอย่างเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่มีเหตุที่สมควร เพราะฉะนั้นคำพูดทั้งหมด ก็ต้องเป็นเหตุ และเป็นผล อย่างบางคนก็บอกว่า เป็นพระโสดาบัน รู้แจ้งอริยสัจธรรม คนอื่นก็เชื่อ อีกคนก็บอกเขาเป็นพระสกทาคามี เขาบอกก็เชื่อ คนนี้ก็เป็นพระอนาคามี ก็เขาคิดก็เชื่อ บางคนก็พูดออกมาว่าเป็นพระอรหันต์ คนอื่นฟัง เขาบอกว่าเขาเป็นพระอรหันต์ก็เชื่อ แต่หนทางที่จะเป็นคืออย่างไร เดี๋ยวนี้มีธรรมที่ปรากฏรู้อะไรหรือเปล่า ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง เป็นลักษณะหลากหลาย ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ ถึงพร้อมด้วยปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ มิฉะนั้นจะไม่มีการหน่ายการคลาย ในการที่ว่าแล้วประโยชน์อะไรที่เกิดมา มีแต่เกิดดับทั้งวัน ต้องเห็นต้องได้ยิน ต้องคิดนึก ต้องสุขต้องทุกข์ เพื่ออะไร แล้วก็ตอนหลับก็ไม่เหลือลืมสนิท ตอนตายก็ยิ่งไม่มีใคร ที่เป็นคนนี้ที่ทำอย่างนี้มาเลย หมดความจำ หมดการเข้าใจว่าเป็นเรา กลายเป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่รู้จักคนเก่าคนก่อนเลยทั้งสิ้น พ่อแม่เก่าก่อนถ้าท่านยังไม่สิ้นชีวิต ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไป นี่ก็เป็นสิ่งที่ละเอียด

    เพราะฉะนั้นจึงมีเดียรถีย์ผู้ที่นับถืออย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องไม่ประมาทในพระปัญญาคุณว่าจะสอนแต่ละคำ บำเพ็ญบารมีทุกชาติหลากหลายมาก เป็นทุกสิ่งทุกอย่างตามเหตุ ตามปัจจัยตามปกติ เพราะฉะนั้นการบำเพ็ญบารมีก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จึงจะรู้ว่าไม่ใช่เรา แต่ถ้าเป็นเราจะทำ ก็คือว่าไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม

    อ.ธิดารัตน์ อนุสติต้องเป็นกุศล การที่จะระลึกถึงไม่ว่าจะเป็นระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า หรือระลึกถึงพระคุณของพระธรรมพระสงฆ์เหล่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไม่ได้มีปัญญา มีความเข้าใจในพระธรรมที่ศึกษาแล้ว จะมีการระลึกด้วยความเป็นกุศลเป็นไปได้อย่างไร ไม่ใช่ว่ามีความเป็นตัวเราแล้วก็ไปตั้งใจนึก เพราะว่าอยากจะเป็นอนุสติ แต่นั่นไม่ใช่ เพราะฉะนั้นสติในขั้นไม่ว่าจะเป็นขั้นอนุสติก็ตาม ก็จะต้องเป็นกุศล

    ผู้ฟัง ขออนุญาตยกพระสูตรหนึ่ง เพื่อท่านอาจารย์จะกรุณาชี้ให้เห็นว่าเขาตีความหมายผิด หรือว่าควรที่จะเข้าใจอย่างไร ในเรื่องของความเป็นอัตตา หรือความเป็นอนัตตา คือ "วิตักกสันฐานสูตร" พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายหากว่าเมื่อภิกษุนั้น มนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตก วิตักกสัณฐานของวิตกแม้เหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ภิกษุนั้น พึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่มบีบคั้นบังคับจิตด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่มบีบคั้นบังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ข้อความนี้ยกขึ้นมา เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า พระพุทธองค์ก็ยังให้ทำโน่นทำนี่อยู่อย่างนี้ เข้าใจอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ให้ใครทำ ตัวอย่างคือ ลองยกตัวอย่างภิกษุที่ทำอย่างนี้ แล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรมสักคน ถ้าบอกว่าพระองค์ให้ทำ แต่พระองค์ทรงแสดงสิ่งที่มีตามความเป็นจริงว่าการที่จะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดหมดไปได้ มีการกระทำหลายอย่างทำไป แต่สำหรับพระองค์ ปัญญาที่จะเข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่ตน ไม่ใช่พระองค์บอกให้ใครไปนั่ง กัดฟัน ดุนลิ้น อะไรอย่างนั้น แล้วก็จะเป็นอย่างนั้น ก็หมายความว่า ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นทรงแสดงไว้แล้วมิใช่หรือว่าต้องมีปัจจัยที่จะให้สิ่งนั้นเกิดเป็นอย่างนั้น ถ้ามีใครทำอย่างนั้น ก็คนนั้นสะสมมาที่จะทำอย่างนั้น แล้วคนอื่นได้ยินอย่างเดียวกัน เขาก็ไม่ได้ทำ เพราะเขาก็ไม่ได้สะสมมา แล้วจะบอกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทำอย่างนั้นได้อย่างไร

    สิ่งหนึ่งที่พระองค์ได้มอบให้พุทธบริษัท คือคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจถูกต้องในความจริง เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เขาไม่ได้ทำกันอย่างนี้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า พระองค์ให้ทำอย่างนี้ได้หรือ ในเมื่อพระองค์ตรัสว่า "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" แต่ใครจะทำอย่างนี้ก็มี ไม่ใช่ไม่มี ห้ามเขาไม่ให้ทำได้ไหม ให้เขาทำได้ไหม แล้วเพียรทำอย่างนี้หรือที่จะสามารถละความโกรธได้ เพราะธรรมของพระองค์ไม่ได้ ละความโกรธซึ่งเกิดแล้วดับ แต่ละ "อนุสัยกิเลส" ซึ่งเป็นพืชเชื้อ ซึ่งตราบใดยังมีอยู่ ก็จะเป็นปัจจัยให้ความโกรธต้องเกิดแน่ๆ เพราะว่ายังไม่ได้ดับเหตุของความโกรธ

    เพราะฉะนั้นคำสอนของคนอื่นต่างกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคนอื่นไม่ได้กล่าวถึงเหตุที่จะให้ธรรมแต่ละหนึ่งเกิดเลย แม้แต่ใครจะกัดฟันเขาก็ต้องมีเหตุที่จะกัดฟัน ใครกัดฟันบ้าง หลังจากฟังแล้ว เห็นไหมก็ไม่กัด แล้วจะบอกว่าไม่ทำตามคำสอนหรือ คำสอนให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่เว้นเลย

    เพราะฉะนั้นปัญญากว่าจะละความเป็นเราหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ก็ต้องรู้ทั่วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มิฉะนั้นข้อความที่พระองค์ตรัสว่ารู้ทั่ว ธรรมทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มาค้านกับกัดฟัน แต่ถ้าเป็นอัธยาศัยซึ่งพระองค์ไม่ได้แสดงสิ่งซึ่งยังไม่มี แต่กล่าวถึงทุกอย่างที่กำลังมีว่าเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย และเป็นอนัตตา จะตรงไหมกับว่า จะกัดฟันหรือไม่กัดฟัน ก็คือแล้วแต่สภาพธรรมขณะนั้น แต่พระองค์ไม่ได้ให้ใครไปกัดฟัน คำสอนทั้งหมดไม่ใช่ให้ไปกัดฟัน แต่ให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเพียงแต่คำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทำแค่นี้ก็ผิด ชัดเจนพระองค์ทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และจะให้ทำหรือ นอกจากให้เข้าใจให้ถูกต้องในสิ่งที่เกิดแล้วมีแล้ว ซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน แม้แต่จะตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพื่ออะไร เธอจงใส่ใจให้ดี เตือนหรือว่าสั่ง บอกความจริงหรือบอกให้ทำ เพราะว่าถ้าไม่ใส่ใจให้ดี ก็ไม่เข้าใจคำที่พระองค์ตรัส แต่ไม่ได้ไปบอกใคร ให้ใส่ใจให้ดี ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ให้เข้าใจให้ถูกต้อง เป็นคำเตือน แม้แต่ข้อความที่ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย" ก่อนจะแสดงธรรม เพราะว่าแต่ละคนต่างคนต่างคิดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็เรียกเสียก่อน เพื่อให้รู้ว่าพระองค์กำลังจะแสดงธรรม มีความหมายอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ไปสั่งให้เขาทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพอได้ยินคำว่า "พึง" ทุกคนคิดว่า พระพุทธเจ้าให้ทำอย่างนั้น แต่ความจริงไม่ใช่ ควรรู้ไหมหรือไม่ควรรู้ แต่จะรู้ไหม ไม่ใช่ว่าไปสั่งให้เขารู้

    พระไตรปิฎกมีไว้สำหรับอ่าน หรือว่าศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่งแต่ละคำ นี่คือการระลึกถึงพระพุทธคุณหรือเปล่า เพียงแค่ไม่ประมาท ระลึกถึงพระพุทธคุณหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งท่อง แล้วไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ตรัสรู้อะไร อย่างนั้นจะเป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้จักคุณว่าตรัสรู้อะไร สอนอะไร และก็ยังมีข้อความเพื่อเตือนให้ไม่ประมาท ถ้าศึกษาพระไตรปิฎกผิด ถ้าศึกษาพระวินัยผิด จะทำให้ทุศีลล่วงศีล เพราะไม่รู้ความละเอียดอย่างยิ่งของพระวินัยว่าการขัดเกลาอย่างยิ่ง จิตขณะนั้นต้องขัดเกลาอย่างไร ไม่ใช่หลีกเลี่ยง ไม่รับเงินทอง แต่รับอย่างอื่นมีค่าเท่ากับเงินทองมากมายมหาศาล อย่างนั้นชื่อว่า หลีกเลี่ยงหรือเปล่าขัดเกลาหรือเปล่า เป็นภิกษุจริงๆ หรือเปล่า เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาไม่ดี ทำให้ทุศีลอย่างบางท่านก็จะบอกว่า ตอนบ่ายรับประทานไอศกรีมได้ เพราะไอศกรีมละลาย เป็นน้ำ อย่างนี้ศึกษาพระวินัยถูกต้องหรือเปล่า เป็นเหตุให้ทุศีล ถ้าศึกษาพระสูตรไม่ดี มีความเข้าใจผิด คิดว่าพระพุทธเจ้าสั่งหรือบอกให้ทำ ไม่ได้เข้าใจเลยว่าประกาศแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งถูกปกปิดไว้ด้วยความไม่รู้ และคำของคนอื่น ต้องละเอียดไหมที่จะรู้ว่า คำไหนเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดเป็นไปเพื่อละ ไม่ใช่เป็นไปให้ทำ เพราะว่าทรงแสดงไว้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมแม้เพียงในขั้นต้น แต่ตรงต่อธรรมทุกอย่างทุกขั้นตอน นั่นเป็นหนทางที่จะปลอดพ้นจากความเห็นผิด เพราะโลภะมีกำลัง อวิชชามีกำลัง การที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราก็มีกำลังมากแค่ไหน ก็ทั้งวันตอนเช้า ก็ไม่ได้รู้เลย ในธรรมแต่ละหนึ่ง แม้เดี๋ยวนี้เห็นเกิดแล้วก็ดับเพราะเหตุปัจจัย ได้ยินไม่ใช่เห็น แสดงความเป็นอนัตตาชัดเจนมากว่าไม่มีอะไรเหลือ ดับแล้วแล้วจะไปเป็นเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการฟังการศึกษาธรรมด้วยความเคารพ ก็คือว่าไม่ใช่คิดเอง ไม่ใช่คิดว่ารู้แล้ว แต่ต้องพิจารณาแต่ละคำ จนกระทั่งเป็นความถูกต้องตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าศึกษาพระอภิธรรมไม่ถูกต้อง ทำให้ฟุ้งซ่าน กินรีกับยักษ์ หน้าตาคล้ายกันไหม หรือคล้ายกับคน หรือคล้ายกับเทวดา ได้ยินคำว่ากินรีเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง สงสัย และอยากรู้ นรกแต่ละขุมแต่ละขุมต่างกันตรงไหน อันไหนอายุยืนยาวที่สุด อันนี้ร้อน อันนั้นเย็น อันไหนจะร้ายกว่ากัน ก็ไปคิดอะไร อย่างที่คำถามต่างๆ ที่อยากจะขอคำตอบ ไปคิดอะไร ทำไมไม่เข้าใจว่า ขณะนั้นมีความจำไหม สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ มีความรู้สึกหรือเปล่า ขณะนั้นกำลังรู้สึกก็ไม่รู้ และก็มีการที่เป็นธาตุรู้ที่กำลังได้ยินบ้างเห็นบ้าง ไม่ใช่เราหรือเปล่า ขณะนั้นก็ถูกปิดบังไว้ด้วยการฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น ไม่ว่าจะในเรื่องคำถามใดๆ ก็ตาม ถ้าเพียรถามแล้วก็เพียรตอบ ฟุ้งซ่านไหม ทำไมไม่เพียรให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ซึ่งนั่นเป็นคำตอบของทุกคำถาม เมื่อมีความเข้าใจว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นจะเห็นความลึกซึ้ง และความละเอียดของธรรมว่าเป็นประโยชน์ทั้งหมดทุกคำ จะไม่มีคำใดเลยซึ่งไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่เพิ่มความเคารพ และศรัทธา ความผ่องใสที่ได้เคารพในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ในสิ่งที่ผิด มั่นคงขึ้นจนกระทั่งแม้ความผ่องใสก็มีระดับที่ถึงกับใช้คำว่า "อธิโมกข์" ได้ เพราะฉะนั้นคำในภาษาบาลีเป็นคำธรรมดาๆ ที่ชาวบ้านใช้กันเขาก็ใช้กันหลายอย่าง จะเรียกภาชนะที่ใส่ของว่า จานบ้าง ถ้วยบ้าง อะไรก็ได้ แต่ก็สำหรับใส่ของ เพราะฉะนั้นแม้สติเป็นสติปัฏฐาน เป็นสตินทรีย์ เป็นสติพละ เป็นสติสัมโพชฌงค์ เป็นสัมมาสติได้ แต่ว่าต้องต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นสติเหมือนกัน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมจริงๆ ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท ก็คือว่าศึกษาให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็รู้ได้เลย คำใดเป็นคำของคนอื่น ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่กำลังมีให้เข้าใจ แต่ให้ไปทำแล้วไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ให้ไปทุ่มเท แต่ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น เข้าใจสภาพจำไหม ในขณะที่กำลังจำทุกคำที่กำลังพูด ถ้าไม่จำพูดไม่ออก พูดไม่ได้ พูดไม่ถูก แต่ที่กำลังพูดขันธ์ ๕ ครบ แล้วควรจะรู้ไหม หรือไปรู้เรื่องอื่น เราก็อาจจะใช้คำว่า

    เตลิดเปิดเปิง พเนจร ร่อนเร่ มาในแสนโกฏิกัปชาติ โดยไม่รู้สิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทุกขณะ

    เพราะฉะนั้นการฟังก็ต้องฟังด้วยความเคารพว่า จุดประสงค์ของพระองค์ เพื่อให้มีความเห็นที่ถูกต้องในอะไร ในสิ่งที่กำลังมี เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ก็รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะพ้นภัยคือความเห็นผิด และแม้แต่คำว่า "ปฏิบัติ" ก็ไปคิดเอง แต่ไม่ตรงตามคำสอนที่ว่า ปริยัติ คือการฟังพระพุทธพจน์ รอบรู้ และแทงตลอดธรรม ธรรมต้องเป็นธรรม เป็นอนัตตา

    ต้องเป็นอนัตตา จะเป็นอัตตา ทุ่มเทเมื่อใด นั่นก็คือว่า ไม่ได้แทงตลอด ไม่ได้รอบรู้ในคำว่าธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วก็ไม่ใช่ของใครด้วย เพราะฉะนั้นแต่ละคำนำไปสู่ความเข้าใจยิ่งขึ้น ตั้งแต่เป็นปุถุชนจนถึงความเป็นพระอรหันต์ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยการไปทุ่มเททำอย่างอื่น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    22 พ.ย. 2567