ปกิณณกธรรม ตอนที่ 947


    ตอนที่ ๙๔๗

    สนทนาธรรม ที่ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

    วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ นี่คือธรรม สิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ มีมากไหม ในห้องนี้มีมาก นอกห้องก็มีมากเป็นธรรมทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วขณะนี้กำลังได้ยิน อะไรเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม อะไรอีกที่เป็นธรรม เสียงเป็นธรรม เพราะฉะนั้นในขณะได้ยินเป็นเรา หรือเป็นธรรม ธาตุรู้ที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงไม่ใช่ธาตุรู้ เสียงไม่ใช่ได้ยิน ได้ยินก็ไม่ใช่เสียง ทั้งเสียง และได้ยินเกิดขึ้น ไม่มีใครไปทำให้เกิดได้เลย แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะทำให้ได้ยินเสียงเกิดขึ้น ได้ยินเสียงก็กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เป็นจิตหรือเปล่า ธาตุรู้ จิตเป็นสภาพรู้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังได้ยินเป็นเรา หรือว่าเป็นธรรม เป็นธรรม เป็นธรรมประเภทไหน ธรรมมี ๒ อย่าง ธาตุได้ยินก็เป็นจิตเป็นสภาพรู้ แต่เสียงไม่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเรียกว่า "รูปธรรม" มาจากคำว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงนั้นเกิดจริง แข็งจริง หวานจริง แต่ไม่รู้อะไรเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นถ้ามีแต่รูปธรรม ไม่มีสภาพรู้เลย โลกก็ไม่ปรากฏ อะไรก็ไม่ปรากฏทั้งหมด เพราะฉะนั้นเริ่มรู้จักแม้แต่คำที่เราพูดบ่อยๆ ว่าโลก ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลยสักอย่างหนึ่ง มีโลกไหม ไม่มีเลย ไม่มี แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดนั่นเองเป็นโลกในวินัยของพระอริยเจ้า เพราะว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นปรากฏว่ามี แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นคำใดๆ ก็ตามที่ทรงแสดงไว้ จะเปลี่ยนไม่ได้เลย สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา สิ่งที่เกิดดับนั่นเองเป็น "โลก" เพราะฉะนั้นมีธรรมที่เหนือโลก "โลกุตระ" ไม่เกิด จะดับได้ไหม ไม่ได้ สภาพนั้นคือ "นิพพาน" แต่ว่าก่อนที่จะถึงการที่จะเข้าใจสภาพ ซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ห้ามจิตไม่ให้เกิดได้ไหม ห้ามไม่ให้เห็น ห้ามไม่ให้คิดได้ไหม เพราะฉะนั้นเราไม่รู้เลย เกิดมาเพื่อเห็น เพื่อได้ยิน เพื่อได้กลิ่น เพื่อลิ้มรส เพื่อรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพื่อคิดนึก เพื่ออยู่ไปวันๆ ยับยั้งไม่ได้ ต่อเมื่อใดนิพพานคือธาตุซึ่งไม่มีปัจจัยทำให้เกิด ใครจะไปทำให้เกิดไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ๒ อย่างนี้ก็ต่างกันคือ สภาพที่เกิดดับอย่างหนึ่ง และสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ นี่คือการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นต้องศึกษาจริงๆ แต่ละคำให้เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ และก็ทั้งหมดก็จะสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก เดี๋ยวนี้เป็นธรรมทั้งหมด เป็นธาตุรู้คือจิต และเป็นรูปซึ่งไม่รู้อะไร

    ผู้ฟัง แล้วเป็นกรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจมากกว่านี้ แค่มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ แล้วก็มีเห็นใช่ไหม แล้วถามว่าเป็นกรรมอย่างไร ไม่ได้เลย นอกจากมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่าธาตุรู้มี แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น เกิดเองไม่ได้แน่ๆ ใครไปทำให้เกิดก็ไม่ได้ แต่มีปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ไม่ให้สิ่งนั้นเกิดก็ไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยก็เกิด เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดต้องอาศัยปัจจัยไหม ต้องอาศัยปัจจัย มีสภาพนามธรรม ธาตุรู้ซึ่งเกิดพร้อมจิตแล้วก็ดับพร้อมจิต เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ถูกจิตรู้ต้องมี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกจิตรู้ ใช้คำว่า "อารมณ์" ผิดจากที่เราเคยคิดแล้วใช่ไหม ในภาษาไทย

    เพราะฉะนั้นฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เหมือนกับการตั้งต้นใหม่ คือศึกษาอะไร ไม่ใช่ศึกษาชื่อ ไม่ใช่ศึกษาแค่คำ แต่ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ แม้แต่เห็นก็กำลังมี เห็นอะไร ก็มีสิ่งที่ถูกเห็นก็กำลังมี เพราะฉะนั้นเมื่อมีธาตุรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แต่จิตเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสภาพนามธรรมอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นพร้อมจิตเลย สภาพธรรมนั้น ภาษาบาลีใช้คำว่า "เจตสิกะ" แต่คนไทยก็เรียกสั้นๆ ว่า เจตสิก เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ เดี๋ยวนี้คิดว่าเป็นเรานั่งอยู่ที่นี่ แต่ก็คือ จิตเจตสิกเกิดดับพร้อมกับรูปซึ่งก็เกิดดับด้วย อย่างนี้ก็จะทำให้เข้าใจว่า สิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนซึ่งมีจริง แล้วถ้าไม่มีการฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่รู้ต่อไป หลงด้วยความเข้าใจผิดยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มั่นคง ไม่ได้ดับไปเลย เพราะลักษณะของสภาพที่เกิด แล้วดับไม่ปรากฏ เพราะอะไร สภาพธรรมที่เกิดดับเร็วมาก จนไม่ปรากฏการเกิดดับ จึงเหมือนกับไม่ดับไปเลย ดอกไม้ก็อยู่อย่างนี้ โต๊ะก็อยู่อย่างนี้ แต่ความจริงทุกอย่างที่เกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ ใครรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้รู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ตรัสรู้ ทรงแสดงความจริงทั้งหมดใน ๓ ปิฎก

    เพราะฉะนั้นถ้าจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะรู้จักโดยการเริ่มเข้าใจคำสอนของพระองค์ ซึ่งทรงแสดงพระวินัยเป็นข้อประพฤติปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นของพระภิกษุ หลังจากที่ได้ทรงแสดงธรรมแล้ว มีผู้ที่มีศรัทธาที่จะบวชดำเนินรอยตามพระผู้มีพระภาค ขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ก็ต่างกันจากคฤหัสถ์ คือบวชแล้วก็ศึกษาธรรม ปฏิบัติตามคำสอน แต่คฤหัสถ์คือชาวบ้านไม่ต้องบวช เพราะว่าไม่มีอัธยาศัยที่จะบวช จะบวชได้ไหม ฝืนใจบวช บวชทำไม ถ้าจะต้องฝืนใจบวช แต่บวชเพราะรู้ว่ากิเลสมาก คฤหัสถ์มีกิเลสตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทุกวันนานแสนนานมาแล้ว

    เพราะฉะนั้นถ้าจะขัดเกลากิเลส ก็คือ ปัญญา ไม่ใช่ใครอื่น เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์ก็ฟังธรรมเข้าใจได้เข้าใจเมื่อใด เป็นปัญญาเมื่อนั้น เพราะภาษาบาลีใช้คำว่า ปัญญา ใช้หลายคำ วิชา แต่ภาษาไทยเราใช้คำว่า เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง เห็นอะไรถูก เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังคำสอนจะไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลย เพราะการตรัสรู้รู้สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ทุกขณะ

    ด้วยเหตุนี้กรรมคืออะไร จริงๆ แล้ว ถ้าเรียนละเอียด จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้อย่างเดียว ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่รัก ไม่ริษยา ไม่อะไรทั้งหมด ลักษณะอาการที่ปรากฏในชีวิตของแต่ละคนแต่ละวันเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต เพราะว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เพียงแค่รู้ เพราะฉะนั้นมีอีกคำหนึ่ง ใช้คำว่า "ปัณฑระ" เฉพาะจิต ไม่ได้หมายความถึงเจตสิกด้วย เพราะหมายความถึงสภาพของจิตซึ่งผ่องแผ้ว เวลาที่ไม่มีเจตสิกที่ไม่ดีเกิดร่วมด้วย หรือเวลาที่มีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย จิตก็ยังคงเป็นปัณฑระคือเฉพาะจิตล้วนๆ เท่านั้น ไม่กล่าวถึงเจตสิกร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจะเข้าใจแม้แต่คำว่า กรรม เห็นไหม ถ้าบอกไปเผินๆ รู้เผินๆ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้นคำถามทุกคำถามก็ต้องกลับมาที่ความเข้าใจตั้งแต่ต้น ไม่ว่าวิชาการใดๆ ที่ศึกษา ศึกษาตอนกลาง หรือตอนปลายมาหาตอนต้นได้ไหม เป็นไปไม่ได้เลย จะไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจะบอกว่าตอนปลาย คือ อริยสัจ ๔ ตอนกลางก็ประพฤติดีอย่าฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ แล้วตอนต้นยังคงเป็นเรา เพราะไม่รู้เลยว่าเป็นธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยการคิดเอง ด้วยการเรียนที่เข้าใจผิด คิดว่าคำสอนง่ายๆ เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากปัญญาที่ได้ทรงตรัสรู้ ใช้คำว่าตรัสรู้ ไม่ใช่รู้วิชาการต่างๆ แต่ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ซึ่งเกิดดับ เพิ่มความละเอียดขึ้นมาแต่ละคำแต่ละคำ เพราะฉะนั้นลองคิด กรรมเป็นจิต หรือ เจตสิก ถ้าไม่มีจิตไม่มีเจตสิก แต่ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นกรรมต้องได้แก่อะไร เจตสิก เพราะว่าจิตรู้แจ้งอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจะพูดอะไรทั้งหมด ดี ชั่ว ก็เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ซึ่งทำให้จิตนี้ดีหรือชั่วไปด้วย ถ้าไม่พูดอย่างนี้ ใครจะเข้าใจเรื่องกรรม ก็คิดว่าเราทำกรรม เราได้รับผลของกรรม แต่ไม่เข้าใจเลยว่า ธรรมคืออะไร ธรรมไม่ใช่เรา ธรรมมีจริงๆ มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วไม่กลับมาอีก เพิ่มอีกใช่ไหม สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่เกิดแล้ว ดับไปไม่กลับมาอีก จะเป็นอย่างเมื่อวานนี้ได้ไหม จะเป็นอย่างชาติก่อนได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่ได้ยิน เกิดได้ยิน แล้วดับไม่กลับมาอีกเลย ได้ยินคำใหม่ เสียงใหม่ ไม่ใช่เสียงเก่า เพราะฉะนั้นได้ยิน จะเป็นได้ยินเก่ากลับมาไม่ได้ นี่คือสภาพธรรมซึ่งมีประโยชน์อะไร ถ้ารู้จริงๆ อย่างนี้ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมซึ่งหยุดเกิดดับไม่ได้ เพราะว่าการดับไปของจิตขณะก่อนเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย เหมือนเดี๋ยวนี้ เห็นดับ ได้ยินเกิด ได้ยินดับ คิดเกิด ทุกอย่าง รวดเร็วมากสุดที่จะประมาณได้ แต่เริ่มให้เข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่ใครสักคนหนึ่ง รูปธรรมเป็นรูปธรรม นามธรรมเป็นนามธรรม

    ตอนนี้มีใครสงสัยเรื่องจิตบ้างไหม สภาพรู้ธาตุรู้เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ก็ยังมีสภาพรู้อื่น เช่น โกรธ เกลียด ชอบ ไม่ชอบ พวกนี้เป็นเจตสิก จิตเห็นอย่างเดียว แต่ว่าขณะที่เห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตได้ยินเสียงเป็นใหญ่เป็นประธานรู้แจ้งว่าเสียงหลากหลายต่างกัน แต่ว่าเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ไม่ชอบเสียงนี้ หรือว่าชอบเสียงนี้ ชอบไม่ชอบ นั่นก็คือเจตสิก แต่จิตได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นจิตกับเจตสิกจึงเกิดโดยไม่ปราศจากกันเลย เดี๋ยวนี้เห็นเป็นอะไร แยกได้ไหม ในเมื่อเรารู้ว่า ไม่ว่าขณะหนึ่งขณะใดที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย กำลังเห็นเป็นอะไร ใน ๒ อย่าง เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง สิ่งที่ปรากฏใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้พอจะรู้จักจิต แต่จะรู้เจตสิกไหมว่าทันทีที่เห็นเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีจิตใดสักขณะเดียวที่ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทันทีที่จิตเกิดพร้อมกับเจตสิกเกิด อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น นี่คือความน่าอัศจรรย์ว่า ไม่มีใครทำอะไรได้ เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่าอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครแล้วก็ไม่ใช่ใครด้วย เป็นเพียงธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีปัจจัยก็ทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาฟังแล้ว ถ้าพิจารณาก็จะตอบคำถามได้ว่าเห็นเดี๋ยวนี้เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นจิต เห็นแล้วไม่รู้ว่า จิตไม่ใช่เราใช่ไหม ปกติเป็นเราเห็นใช่ไหม เพราะฉะนั้นปกติเป็นเราเห็น และมีเราขณะที่กำลังเห็นหรือเปล่า หรือเห็นเกิดขึ้นเห็นแล้วดับไป

    ผู้ฟัง เห็นเกิดขึ้นแล้วดับไป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นจะเป็นเราไม่ได้ นี่คือเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่าอนัตตาทั้งหมด พระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องของอนัตตา ถ้าใครเข้าใจผิด อ่านพระไตรปิฎกผิด ศึกษาผิด คิดว่าพระผู้มีพระภาคให้เป็นอัตตา ให้พากเพียร แต่ไม่ใช่เลยแม้แต่ความเพียรก็เป็นเจตสิก เพราะจิตรู้อย่างเดียว แต่เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท

    เพราะฉะนั้นกำลังเห็นขณะนี้ พอเห็นแล้วก็ไม่รู้ใช่ไหม เข้าใจว่าเป็นเราเห็นใช่ไหม ความไม่รู้มีจริงๆ ไหม ต้องเป็นคนตรง ศึกษาธรรมต้องตรง ถ้าไม่ตรงไม่ได้สาระเลย เพราะธรรมตรง เพราะฉะนั้นขณะที่เห็น ไม่รู้ว่าเห็นไม่ใช่เราใช่ไหม เพราะเห็นเป็นเรามานานแสนนานแล้ว เพราะฉะนั้นไม่รู้ว่าเห็นไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นความไม่รู้มีจริงไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมประเภทไหน ความไม่รู้มีจริงๆ และความไม่รู้เป็นธรรมด้วยไม่ใช่เรา แล้วเป็นอะไร ถ้าไม่ใช่เราแล้วคำถามต่อไปคือ แล้วเป็นอะไรทุกครั้ง เพื่อเราจะได้เข้าใจมั่นคงขึ้น เห็นไหมว่าธรรมยาก นี่คือชีวิต ชีวิตไม่ใช่ว่าชีววิทยา หรือใครจะมาตอบมาศึกษาอย่างไร เขาไม่ใช่ผู้ที่ตรัสรู้ ต้องรู้เลย เพราะฉะนั้นการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ไม่มีคนอื่นเปลี่ยนได้ ต้องเป็นความจริงถึงที่สุด ไม่ว่าเขาเป็นใครก็ตาม เขาก็ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นธรรมมีจริง แต่ธรรมต่างกันเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งไม่รู้อะไรเลย ใช่ไหม แข็ง เสียง พวกนี้ ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรม แต่ว่าสภาพรู้มี ๒ อย่าง นามธรรมคือจิต ไม่ทำอะไรเลยทั้งสิ้น แค่รู้แจ้งเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เสียงที่ได้ยินเหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน เพราะจิตรู้แจ้งในแต่ละเสียง จึงรู้ว่าเสียงหลากหลายต่างกัน เพราะฉะนั้นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ต่างกันเป็น ๒ อย่าง ธรรมที่เกิดแล้วไม่รู้อะไรเลยเป็นรูปธรรม ส่วนธรรมที่รู้เกิดแล้วต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ ต้องรู้ คือ นามธรรม นามธรรมมี ๒ อย่าง คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ไม่ทำอะไรเลย นอกจากรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ที่เหลือทั้งหมด โกรธ ไม่ชอบพวกนี้เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นขณะนี้เห็นมี เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นจิต รู้ไหมว่าจิตนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เกิดตามลำพังจิตไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถามซ้ำอีกครั้งหนึ่ง จิตเห็นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย รู้ไหมว่าขณะนี้มีเจตสิกเกิดร่วมกับจิตที่เห็น เพียงแค่ได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างจิตเห็นใช่ไหม ทั้งๆ ที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นไม่รู้มีจริงๆ หรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราไม่รู้ แต่ธรรมไม่รู้ไม่สามารถที่จะเข้าใจ ไม่ฉลาด ภาษาบาลีบางครั้งจะใช้คำตรงว่า โง่ คือไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏได้ ด้วยเหตุนี้ความไม่รู้มีจริง เป็นเราไม่รู้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม ธรรมที่เป็นรูปธรรม หรือนามธรรม

    ผู้ฟัง นามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม เป็นนามธรรมประเภทไหน นามธรรมมี ๒ อย่าง จิตกับเจตสิก

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เป็นเราหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เจตสิกที่ไม่รู้ พระผู้มีพระภาคใช้คำว่า "อวิชชา" ส่วน "วิชา" แปลว่ารู้ เพราะฉะนั้น อวิชชาไม่รู้ อีกคำหนึ่งก็ได้ "โมหเจตสิก" ไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ หลงเข้าใจผิด ยึดถือว่าเป็นเราเห็น เราได้ยิน พอโกรธเกิดก็เป็นเราโกรธ พอดีใจก็เป็นเราดีใจ เคยดีใจไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมประเภทไหน

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ นามธรรมประเภทไหน

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ นี่คือเริ่มรู้จักธรรม เริ่มเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ฟังอย่างนี้จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม ก็คิดว่าเหมือนคนธรรมดา สอนให้ละชั่วทำความดี ใครก็สอนได้ แต่ใครจะบอกให้เข้าใจถูกต้องว่าอนัตตา สิ่งนั้นเกิดขึ้นมีจริงชั่วขณะที่ปรากฏแล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีก ค่อยๆ เริ่มสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูก ซึ่งสามารถจะประจักษ์ความจริงคือการเกิดดับ เป็นพระอริยสาวกได้ นี่คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม และเข้าใจพระธรรม

    เพราะฉะนั้นเกิดมาชาตินี้จะรู้ดี หรือไม่รู้ดี จะเข้าใจธรรมหรือไม่เข้าใจธรรมดี เห็นค่าของชีวิตไหมว่าการเกิดมาอย่างไรๆ ก็ต้องตาย ความรู้วิชาการทั้งหมดเหมือนอย่างที่เรียนภาษาญี่ปุ่น เรียนภาษาจีน ตายแล้วเกิดไม่รู้จะพูดภาษาไหน เฉพาะชาตินี้ชาติเดียวที่พูดภาษานี้ใช่ไหม แต่ก่อนอาจจะเคยพูดภาษาบาลี มคธี มาสนทนากันเป็นชีวิตประจำวัน แต่พอเกิดชาตินี้ไม่รู้สักคำ ต้องเรียนใหม่ หรือต้องเข้าใจใหม่

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ก่อนตายยังได้รู้พระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ได้เห็นพระบริสุทธิคุณให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง ไม่ใช่ให้ไปทำสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ สอนให้กราบไหว้บูชา สิ่งซึ่งไปบูชาได้อย่างไร ต้นกล้วยใช่ไหม หรืออะไรๆ ก็ตาม เพราะความไม่รู้เห็นไหม เพราะฉะนั้นอวิชชาทำให้เป็นการกระทำที่เป็นอกุศลกรรม ไม่ใช่กุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือชีวิตเดี๋ยวนี้ทั้งหมด แต่ถูกปกปิดด้วยความไม่รู้ จึงมีความยึดถือเข้าใจผิดว่าเป็นเรา จริงๆ หรือเปล่าเข้าใจว่าเป็นเรามีไหม จริงหรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นธรรมแน่นอน แต่เป็นธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เมื่อสักครู่นี้มีโมหเจตสิกแล้วใช่ไหม อวิชชา ตอนนี้มี "มิจฉาทิฏฐิ" ความเห็นผิด ทิฏฐิแปลว่าความเห็น ความเห็นต่างๆ นานา แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ยังมีทิฏฐิว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นนี่เป็นดอกไม้ใช่ไหม ความจริงเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม ตั้งต้นตั้งแต่นี้ต่อไป จะต้องกลับมาหาธรรมคือ จิต เจตสิกรูป เพราะฉะนั้นเป็นรูป เข้าใจผิดว่าไม่ได้ดับใช่ไหม นี่ดอกไม้ และนี่อะไร

    ผุ้ฟัง แก้ว

    ท่านอาจารย์ นี่แก้ว ความจริงเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้ หลับตาแล้วไม่มี ถ้าไม่เกิดขึ้นจะมีแก้วไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อมีแก้ว แล้วไม่รู้ ก็มีความไม่รู้เป็นอวิชชา โมหะ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด คืออัตตา เพราะฉะนั้นอัตตาตรงกันข้ามกับอนัตตา อนัตตาคือไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ดอกไม้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แก้วเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ความจริงเป็นรูปธรรม เป็นธรรมที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา พอกระทบสัมผัสก็เป็นสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เป็นลักษณะของธรรมแต่ละอย่างทั้งหมด เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ที่คิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ขณะนั้นเป็น อัตตานุทิฏฐิ เห็นตามว่าเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ได้เกิดดับ แต่ถ้าตรงนี้ไม่ใช่ตรงอื่น เป็น สักกายทิฏฐิ ต้องเป็นอัตตาคือเป็นคน เห็นว่าเป็นคน แต่คนนี้ไม่ใช่คนนั้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นใครก็ตาม ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นเราไม่ใช่เขา "ถ้าเขาก็เป็น อัตตานุทิฏฐิ ถ้าเราก็ สักกายทิฏฐิ" เชิญคุณคำปั่นให้ความหมายของ สักกายทิฏฐิ

    อ.คำปั่น ก็เป็นการค่อยๆ สะสมความเข้าใจ จากคำที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งคำว่า "สักกายะ" หมายถึงสภาพธรรมที่ประชุมรวมกัน ที่เป็นเหตุให้ยึดถือว่า เป็นของเรา ก็คือในตัวนี้เอง ในกายของเรานี่เองที่ประชุมกัน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละหนึ่งเท่านั้น ที่ได้สนทนาก็มีจิต มีเจตสิก มีรูป เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่เพราะไม่เข้าใจความจริง สะสมความเห็นผิดมา จึงมีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ยึดถือว่าเป็นตัวเราหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ประชุมกันอยู่ตรงนี้ ด้วยความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งเป็นสักกายทิฏฐิ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    25 พ.ย. 2567