ปกิณณกธรรม ตอนที่ 948


    ตอนที่ ๙๔๘

    สนทนาธรรม ที่ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

    วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ ที่ยุคนี้สมัยนี้ใช้คำว่า โครงการนี้ยังไม่เป็นรูปธรรมเลย หมายความว่าอย่างไร ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องรูปธรรม แต่เป็นคำที่ใช้กันตามยุคตามสมัย เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรมต้องรู้ว่าเป็นอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งทุกคำความหมายไม่ใช่อย่างที่เราเคยเข้าใจผิด อย่างคำว่า "อารมณ์" เขาเป็นคนที่อารมณ์ดีหมายความว่าอย่างไร ถ้าไม่มีจิตไม่มีการรู้ไม่มีการเห็นเลย จะสบายใจ หรือจะเสียใจไหม ก็ไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นแม้แต่อารมณ์ก็มาจากคำว่าสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้นวันไหนอารมณ์ดี ก็คือวันนั้น เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี คิดเรื่องดีๆ อารมณ์ไม่เสีย อย่างที่ใช้กันว่าอารมณ์เสีย แต่ความจริงก็คือว่า อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ ถ้าเป็นสิ่งที่น่าพอใจความติดข้องเกิดขึ้น ความติดข้องไม่ใช่ความไม่รู้ และไม่ใช่การที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา แต่เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วติดข้อง แต่ส่วนสภาพธรรมที่ไม่รู้ เกิดขึ้นก็ไม่รู้เลย ผ่านไปแล้วดับไปแล้ว อกุศลทั้งนั้นเลยทั้งวันเพราะไม่รู้อะไร ส่วนความเห็นผิดก็คือว่า ความเห็นที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเที่ยง เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอัตตา

    เพราะฉะนั้นเกิดมาก็มีในบ้านทั้งหมด อัตตาทั้งนั้นใช่ไหม แต่ความจริง เป็นรูปธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งปรากฏเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้นไม่มี หลับสนิทมีจิตไหม ธรรมต้องละเอียด และต้องตรง แล้วไม่เปลี่ยนเลย นี่คือเริ่มเข้าใจธรรม กำลังหลับสนิทมีอะไรปรากฏไหม ต้องตรง เห็นไหม ไม่มีก็ต้องไม่มี ไม่ใช่ เราจะตอบอย่างไรใช่ไหม แต่ว่าความจริงตอนหลับสนิทอะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ ชื่ออะไรก็ยังไม่รู้ นอนอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ บางคนก็ย้ายที่นอนบ่อยๆ ถึงจะบ่อยหรือไม่บ่อยก็ตามแต่ หลับสนิทจะไม่รู้เลยว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน ชื่ออะไร เรียนอยู่ที่ไหน ทำงานอยู่ที่ไหน ไม่รู้เลยทั้งสิ้น แต่มีจิตยังไม่ตาย ต้องมีความเข้าใจละเอียดขึ้น

    เพราะฉะนั้นมีจิตซึ่งไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ไม่ฝัน ถ้าฝันก็ยังเป็นจิตที่คิดทางใจ แต่ไม่ฝันเลย ไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่กรรมทำให้จิตเกิดดับดำรงภพชาติ เพื่อจะต้องเห็นต้องได้ยินเมื่อตื่นขึ้น ถ้าเราจะพูดเรื่องกรรม และผลของกรรม ก็คือรู้ว่าเจตสิกที่ไม่ดี โลภะ โทสะ โมหะ ริษยาต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเกิดแล้วเพราะความไม่รู้ ก็ทำให้กระทำอกุศลกรรม คิดดู ไม่ใช่ใครเลย แต่ความไม่รู้ว่าอะไรชั่ว อะไรดี แล้วก็เข้าใจผิดว่าเป็นเรา มีความติดข้องในสิ่งซึ่งเพียงเกิดขึ้น ปรากฎชั่วขณะนั้นแล้วดับ ดับจริงๆ คำนี้เป็นคำจริงแน่นอน แต่ยังรู้ไม่ได้ เพราะปัญญายังไม่อบรมเจริญจนถึงขั้นที่จะละความติดข้อง แล้วสภาพธรรมจึงปรากฏตามความเป็นจริงตามลำดับ

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นละเอียดขึ้นลึกซึ้งขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้อย่างที่ได้ฟังว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้นหลับ ยังไม่ตื่นเพราะกรรมยังไม่ให้เห็น ยังไม่ให้ได้ยิน ยังไม่ให้ได้กลิ่น ยังไม่ให้ลิ้มรส เพราะฉะนั้นจะเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรมในชีวิตประจำวัน การเกิดเป็นขณะแรกของชาตินี้ อะไรเกิด เราเกิดหรืออะไรเกิด ธรรมคือจิต เจตสิกเกิดพร้อมรูป โดยมาอย่างไร ไปอย่างไร ถึงมาเกิดที่นี่ กรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ถ้าเป็นอกุศลกรรมไม่ได้เกิดเป็นคน เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นนก เป็นปู เป็นปลา เป็นช้าง เป็นมด เป็นผลของอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นการเกิดเป็นมนุษย์ และเกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น เป็นผลของกุศลกรรม แต่เราเกิดโลกนี้เรารู้เฉพาะโลกนี้ แต่เราไม่รู้ว่ากรรมใดทำให้เราเกิดเป็นคนนี้ เพราะว่าชาตินี้ทำกรรมไว้มากมายใช่ไหม ตั้งแต่เกิดมา กรรมเล็ก กรรมน้อย กรรมใหญ่ แล้วจะรู้ไหมว่ากรรมไหนจะให้ผล หลังจากที่จากโลกนี้ไปแล้วก็ทำให้เกิด เหมือนกับที่เราจากโลกก่อนมา ก็มีกรรมหนึ่งในบรรดากรรม ในแสนโกฏิกัปสะสมอยู่ในจิต ไม่ได้ไปไหนเลย อยู่ที่นั่นสืบทอดจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง พร้อมด้วยปัจจัย เมื่อใดที่จะทำให้เกิดได้ก็เกิด หลังจากจุติจิต จิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนดับ กรรมหนึ่งก็ทำให้เกิดขึ้น เป็นคนนี้ เลือกเป็นคนนี้หรือเปล่า อยากเป็นคนนี้ไหม จะอย่างไรก็ต้องเป็น ไม่ต้องเลือก เลือกไม่ได้ เป็นแล้ว ต้องมีกรรมแน่นอนที่จะทำให้หลากหลายกันไป เพราะว่าแต่ละคน แม้แต่เพียงรูปร่างหน้าตาก็ยังไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งขณะที่กรรมหรือสภาพธรรมเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย จะหลากหลายกันมากมายสักเท่าใด ก่อนมาฟังที่นี่คิดอย่างไร เป็นจิตเจตสิกไหม ฟังแล้วปรุงแต่งแล้วจากการได้ยินได้ฟัง แต่ละคำแต่ละคำเพิ่มขึ้นเข้าใจขึ้น เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เมื่อสักครู่นี้ ไม่เหมือนอย่างนั้น เพราะมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ สะสมปรุงแต่งขณะต่อไป ถ้าเป็นอกุศล ความพอใจด้วยความโกรธ ความขุ่นเคือง ก็ค่อยๆ สะสม บางคนนี่ไม่ลืม ผูกโกรธไม่พอ พยาบาท จะเห็นได้เลยว่าไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่งขณะ ซึ่งเกิดขึ้นดับไปเพราะเหตุปัจจัย และสิ่งที่เกิดคือกุศล และอกุศลซึ่งเป็นกรรม การทำดีทำชั่วสะสมอยู่ในจิต พร้อมที่จะให้ผลทำให้เกิด แล้วก็ยังติดตามให้ผลในชาตินั้นด้วย แล้วกรรมอื่นก็มีโอกาสที่จะให้ผลด้วย เมื่อถึงเวลาที่กรรมนั้นจะให้ผล

    เพราะฉะนั้นก็คือว่า สั้นๆ กรรม กุศล และอกุศล เป็นปัจจัยให้เกิดผล ผลของกรรมคือ จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้น แต่เรายังไม่รู้เลยว่าขณะไหนเป็นผลของกรรมบ้าง แต่ขณะแรกเห็นชัดเจนว่าไม่ได้เลือกเกิด ทำไมเกิดที่เมืองนี้ประเทศนี้บ้านนี้ เห็นไหม ตระกูลนี้ ครอบครัวนี้ และก็ต่อไปก็อยู่บ้านนี้ต่อไป กรรมก็ทำให้อยู่ไป จนกระทั่งมีกรรมอื่น ทำให้มีการที่จะเกิดขึ้นได้เป็นผลของกรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นเรื่องของกรรมกับผลของกรรม ก็เป็นเรื่องละเอียด จะรู้ว่าธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงก็ต่อเมื่อรู้ว่าทุกอย่างไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นหลับเป็นผลของกรรม ไม่เห็นไม่ได้ยินแต่กำลังหลับ ตื่นเพราะเสียงฟ้าร้องก็ได้ ผลของกรรมทำให้ได้ยิน เพราะฉะนั้นก็รู้ได้ว่า วันหนึ่งๆ ผลของกรรมก็คือ ขณะที่เห็น เพราะบางครั้งเห็นสิ่งที่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม บางครั้งเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของอกุศลกรรม เลือกได้ไหม ไม่ได้ ต้องตามเหตุ แล้วก็ได้ยินเป็นผลของกรรมโดยนัยเดียวกัน และได้กลิ่น หอมมี เหม็นมี แล้วแต่เวลาไหนเป็นผลของกรรมใด ลิ้มรสก็ยังเป็นผลของกรรม แค่รสทำให้พอใจมากมายไหม เด็กๆ ก็ยังติดในรส โตไปจนกระทั่งจะสิ้นชีวิต ก็ยังติดในรส เห็นไหมว่าติดมากน้อยแค่ไหน นี่ก็คือว่าผลของกรรมทำให้รู้สิ่งต่างๆ แต่ว่าเพียงเท่านั้น หลังจากที่เห็นแล้วได้ยินแล้ว ไม่ใช่ผลของกรรม ชอบไม่ชอบ นี่เริ่มเป็นกุศล และอกุศลใหม่ ที่จะทำให้กระทำกรรมใหม่ในชาตินั้นสะสมต่อไปอีก เพราะฉะนั้นไม่ใช่พูดว่า กรรมเป็นอย่างนี้ ผลของกรรมเป็นอย่างนี้ แต่ต้องเข้าใจด้วยคืออะไร

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นที่จะเข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ตั้งต้นคำนั้นว่า คืออะไร ถ้าบอกว่ากรรมคืออะไร ถ้ายังไม่ได้ยินคำว่าธรรมเลย ยังไม่ได้ยินคำว่า จิตเจตสิก เลยแล้วจะรู้ไหม คำตอบไหนที่จะทำให้ชัดเจนว่า ไม่ต้องกลัวอะไรเลยว่าใครจะทำร้าย คนอื่นทำร้ายไม่ได้ แต่กรรมที่ได้ทำแล้วให้ผลเมื่อใด เห็นสิ่งที่ดีเป็นผลของกุศล เห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นผลของอกุศล เจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อใด เป็นผลของอะไร อกุศลกรรม ไม่เห็นมีใครมาทำให้เลยใช่ไหม เดี๋ยวก็ท้องเสีย เดี๋ยวอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นผลของอกุศลกรรม อย่าไปโทษคนอื่น ด้วยเหตุนี้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้กุศลเจริญ ไม่โกรธคนที่คนอื่นอาจจะคิดว่า เขาทำให้เราเจ็บ ฆ่าบ้าง ตีบ้าง ทุบบ้างอะไรก็แล้วแต่ นั่นเป็นผลของกรรมของเรา แต่การกระทำนั้นๆ เป็นกรรมของเขาที่จะให้ได้รับผล คนที่ฆ่าใคร เบียดเบียนใคร นั่นเป็นกรรมของเขา ซึ่งจะทำให้ได้รับผลเกิด และก็เห็น แล้วก็ได้ยินพวกนี้

    เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ชัดเจน แค่เห็นอย่างนี้คร่าวๆ ยังไม่พูดถึงความละเอียดของจิตแต่ละหนึ่งขณะ แต่ให้รู้ว่าเห็นเป็นผลของกรรม อยากจะเห็นสิ่งดีๆ ไหม แก้วแหวน เงินทอง ปราสาท ราชวัง บนสวรรค์เยอะเลย แต่ก็ไม่ต้องไปคิดถึงอย่างนั้นเลย เพียงแค่รู้ว่าทุกอย่างต้องตามเหตุ เพราะฉะนั้นปัญญาไม่มีโทษเลย "ในบรรดาสิ่งที่เกิดทั้งหมดปัญญาประเสริฐสุด" ไม่ว่าในยามใด ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็จะเป็นกุศล ไม่โกรธ ถ้ามีใครทำร้าย ว่าร้าย หรือว่าอะไรก็ตามแต่ เพราะนั่นเป็นผลของกรรมของเราต่างหาก เพราะฉะนั้นเวลาที่เราอ่านข่าวต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ หรือฟังเรื่องต่างๆ บางคนก็ไม่น่าจะเกิดอย่างนี้เลย น่าสงสารเหลือเกิน แต่ถ้าเขาไม่ทำกรรมมา จะเป็นอย่างนั้น เป็นอุทาหรณ์เตือนใจไหม จากตัวอย่างที่เห็นว่า จะไม่ได้รับผลอย่างนั้น ก็ต่อเมื่อไม่ได้ทำกรรมอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็ทำให้เป็นคนดี มีปัญญา รู้เหตุ รู้ผล แล้วก็จะทำให้สามารถที่จะเป็นคนดีขึ้นเรื่อยๆ มีปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงความเป็นอริยสาวก สาวกคือผู้ฟัง

    เพราะฉะนั้นฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แยกได้ คำสอนใดที่ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี นั่นเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสอนใดเป็นไปให้ติดข้อง ไม่ให้ละ ให้ไม่รู้ต่อไป ให้หลงงมงาย นั่นคือไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณแม๊กซ์มีผ้ายันต์ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีหรือ อะไร บอกหน่อย ผ้ายันต์คืออะไร

    ผู้ฟัง คือเอาไว้คุ้มครอง

    ท่านอาจารย์ คุ้มครองได้หรือ

    ผู้ฟัง แต่ก่อนคิดว่าได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอนไหม

    ผู้ฟัง แน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพียงผ้าผืนเดียว บางคนก็หลายสี สีฟ้า สีแดง ก็แล้วแต่ แต่ผ้านั่นหรือจะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร นี่ประการหนึ่ง คือต้องไตร่ตรองต้องคิด แค่ผ้ากับการทำ กรรมดี กรรมชั่ว อันไหนจะเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นทิ้งได้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ จะทิ้งไหม

    ผู้ฟัง ทิ้ง

    ท่านอาจารย์ มีกี่ผืน

    ผู้ฟัง มีผืนเดียว

    ท่านอาจารย์ มีผืนเดียว แล้วลองคิด ลองคิดดู ผ้าผืนเดียวนี้ ใครสามารถทำให้ผ้านั้นศักดิ์สิทธิ์ เป็นไปได้ไหม

    ผุ้ฟัง เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ เห็นไหม ความไม่รู้ ความหลงเชื่อ เพราะอวิชชา เพราะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่เข้าใจในกรรม และผลของกรรม และไม่รู้ในความเป็นเหตุเป็นผล เพราะฉะนั้นผ้าผืนเดียว ใครจะทำให้มีอิทธิปาฏิหาริย์สามารถปกป้องคุ้มครองได้ ไม่มีแน่นอนใช่ไหม แล้วก็ถ้ามีคนอ้างว่า บุคคลนี้ทำผ้านี้เป็นผ้ายันต์ เขามีความสามารถพิเศษอย่างไร จึงจะมีอิทธิฤทธิ์สามารถที่จะทำให้ผ้านั้นเป็นผ้ายันต์ได้ แค่นี้ก็ไม่คิด ใช่ไหม เขาเป็นใคร แล้วจะสามารถทำให้ผ้าผืนเดียวนี้กลายเป็นผ้ายันต์ได้ แล้วไปคุ้มครองอะไร คนนั้นก็ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ตามกรรมใช่ไหม ไม่ใช่ตามผ้ายันต์ ถ้าตามผ้ายันต์ก็แย่เลย

    เพราะฉะนั้นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงในเหตุ และในผล ทุกคำถ้าศึกษา ไม่ว่าจะเรื่องหลับเรื่องตื่นเรื่องฝัน เรื่องอะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริงที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดอย่างยิ่ง อย่าลืมกลับไปทิ้งใช่ไหม

    ผู้ฟัง ทิ้งแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม ใช่ไหม

    อ.วิชัย แต่ละบุคคลเมื่อเกิดมาก็มีการได้รับผลของกรรมต่างกัน ดีบ้างก็มี ไม่ดีก็มีใช่ไหม ดังนั้นการได้รับผลของกรรมที่ดี ก็ต้องมีเหตุจากกรรมที่ดี ถ้ามั่นคงในเรื่องของความจริง พระผู้มีพระภาคแสดงความจริงของสิ่งที่มีว่าผลย่อมมีเหตุที่จะให้ผลนั้นเกิดขึ้น ถ้าไม่ได้กระทำอกุศลกรรมที่จะได้รับผลอย่างนั้นก็ไม่ได้รับผล อย่างเช่น บุคคลบางคนอาจจะมาประทุษร้ายเรา แต่ถ้าเราไม่ได้กระทำเหตุที่จะได้รับผลของกรรมนั้น ที่ถูกคนอื่นประทุษร้าย ก็ไม่มีโอกาสได้รับผลของการกระทำของบุคคลอื่นแน่นอน เราคิดว่าเป็นบุคคลอื่นที่กระทำใช่ไหม แต่ว่าถ้ารู้จักธรรมแต่ละอย่าง ขณะนี้มีธรรมที่กำลังเกิด เห็น พระผู้มีพระภาคก็แสดงตามความเป็นจริงว่า เห็นนี่เองเป็นผลของกรรมแล้ว ได้ยินก็เป็นผลของกรรม ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัส ก็เป็นผลของกรรม ถ้าเข้าใจความจริงอย่างนี้มั่นคง สิ่งที่เคยเห็นผิดว่าผ้ายันต์ต่างๆ จะนำความสุขความเจริญมาให้ ให้พ้นจากภัยต่างๆ จริงหรือ เพราะไม่รู้ใช่ไหม สิ่งนั้นหรือจะนำความสุขมาให้ หรือคุณความดีที่จะนำสุขมาให้

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้เข้าใจถูกแล้วใช่ไหม เข้าใจถูกเป็นกรรมหรือเปล่า เห็นไหม เป็นเรื่องต้องไตร่ตรอง ต้องคิด ต้องเป็นปัญญาของเราเอง ต้องไม่ลืม กรรมคือเจตนาเจตสิก เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เวลาที่เราฟัง เราก็เริ่มรู้จักจิตกับเจตสิตบ้าง เช่น อวิชชาเป็นเจตสิกฝ่ายไม่ดี วิชาคือปัญญาเป็นเจตสิกฝ่ายดี นี่คือเราเริ่มแยกจิต และเจตสิก และแยกเจตสิกที่ดี และไม่ดี ค่อยๆ ฟังไป ในที่สุดเราก็จะเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ลืมเลยว่าไม่มีใครนอกจากจิตเจตสิกกำลังเกิดดับทำกิจการงาน ทั้งๆ ที่กำลังพูดถึงเรื่องจิต พูดถึงเรื่องเจตสิก ก็ลืมว่าขณะนี้ไม่ใช่เรา ทั้งหมดจิตเจตสิกกำลังเกิดดับ รูปก็กำลังเกิดดับ จนกว่าความเข้าใจของเราจะมั่นคง เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าการฟังธรรม การเข้าใจธรรมเป็นกรรมหรือเปล่า เป็นเจตนาเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับเจตสิกอื่นๆ เจตสิกจะไม่เกิดขึ้นเพียงหนึ่งเจตสิก อย่างน้อยที่สุด ๗ เจตสิกขาดไม่ได้เลย ต้องเกิดพร้อมกับจิตอย่างน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องมีทั้งศรัทธา มีหิริ ชื่อทั้งหมดนี้เป็นเจตสิก ศรัทธาเจตสิก สภาพที่จิตผ่องใส ขณะนั้นไม่กังวลเศร้าหมองเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็หิริมีความละอาย ไม่ใช่อาย แต่ละอายที่จะไม่รู้ธรรม ต่างกันแล้วใช่ไหม ที่มาฟังธรรม เพราะละอายเห็นโทษที่ไม่รู้ธรรม เพราะฉะนั้นก็เห็นภัยด้วย ถ้าไม่รู้ธรรมก็คือว่า ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เรารู้ได้นอกจากพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้นขณะนี้เป็นกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ดีกว่ากุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นคนที่เกิดมาหลากหลาย บางคนเกิดมาแล้วก็ไม่สนใจธรรมเลย อย่างไรๆ ก็ไม่ฟัง ไม่เห็นประโยชน์ ก็ไม่ประกอบด้วยปัญญาแต่คนที่เห็นประโยชน์แล้วฟัง ขณะที่เข้าใจก็ประกอบด้วยปัญญา ฟังยิ่งขึ้น เพิ่มขึ้นความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น จนสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งซึ่งยากที่จะรู้เหมือนกับสุดวิสัยที่จะเป็นไปได้ แต่ว่าเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ต้องทนต่อการพิสูจน์สามารถที่จะเข้าใจได้ เช่น เห็นขณะนี้ต้องดับ ถ้าเห็นไม่ดับ ได้ยินไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมคือจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ เกิดซ้อนกัน ๒ ขณะไม่ได้เลย เป็นธาตุรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นจิตรู้กับสิ่งที่ถูกรู้ในขณะนั้นดับไปแล้ว แต่จิตที่ดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้นสืบทอดทุกอย่างในจิตขณะก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น กรรมทั้งหมดทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ไม่ว่าจะประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ให้ผล เพราะฉะนั้นเวลาให้ผลก็แล้วแต่ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา รู้หรือเปล่า ก็ไม่รู้ คิดว่าเป็นเรากำลังได้รับความทุกข์ยากลำบากต่างๆ แต่ความจริงก็คือจิตทั้งหมด และเจตสิก และรูปเท่านั้นเอง

    อ.คำปั่น ในเรื่องของการกระทำดี กระทำชั่ว ก็เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า เพราะว่า "สัตว์โลก มีกรรมเป็นของของตน" ทำกรรมใดไว้จะดีหรือชั่วก็ตาม ก็จะเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ซึ่งมีข้อความหนึ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า สำหรับผู้ที่เป็นคนโง่ คนเขลา เมื่อภัยอันตรายเกิดขึ้น ก็จักหาที่พึ่งเป็นป่า เป็นเขา เป็นสิ่งต่างๆ บ้าง ยึดถือเป็นที่พึ่ง แต่นั่นไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง ที่พึ่งที่แท้จริงที่จะทำให้แต่ละคนพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน นั่นก็คือการดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง ก็คือหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้นปัญญา จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง จะเป็นเครื่องนำทางชีวิต ที่จะไปสู่ความดีทั้งหลายทั้งปวง

    ก็มีพระสาวกท่านหนึ่ง ได้กล่าวเตือนผู้ที่เป็นพราหมณ์ว่า ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าความทุกข์เป็นสิ่งไม่น่ารักสำหรับท่าน ท่านก็อย่าทำกรรมชั่วทั้งในที่แจ้ง และในที่ลับ เป็นคำเตือน มีคำว่า "อย่า" ซึ่งเป็นการเตือนให้เห็นโทษจริงๆ ว่า เป็นพิษ เป็นโทษ อย่างไรกับการกระทำชั่ว เพราะเหตุว่าถ้าท่านได้ทำกรรมชั่วแล้ว แม้ว่าจะเหาะหนี ก็หนีไม่พ้น นี่คือความจริง เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ใด จะลงไปในน้ำลึกๆ จะอยู่บนปราสาทหลายๆ ชั้น หรือว่าจะเหาะอยู่บนอากาศ เมื่อถึงคราวที่กรรมให้ผล ก็ทำให้ได้รับผลของกรรมที่ไม่ดีได้ เพราะฉะนั้นอะไรจะเป็นที่พึ่ง นอกจากคุณความดีแล้วก็ปัญญา ซึ่งเป็นธรรมที่ประเสริฐที่สุด เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความดีทั้งหลายทั้งปวง เพราะเหตุว่าเป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาจะเลือกทำชั่ว เป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาจะทำในสิ่งที่ผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

    และที่สำคัญที่ท่านอาจารย์ได้ถามคุณแม๊กซ์ในเรื่องของความเป็นผู้มั่นคงว่าในเมื่อมีผ้ายันต์แล้ว ได้เข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้วว่า ความจริงคืออย่างไร จะทิ้งไหม ซึ่งคุณแม๊กซ์ก็บอกว่าจะทิ้ง ก็แสดงถึงความเป็นผู้ที่เข้าใจว่าสิ่งใดก็ตามที่เคยถือผิดมา ยึดถือผิดมา ซึ่งไม่ตรงตามความจริงทิ้งได้เลย เพราะเหตุว่าสิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์

    และเมื่อมีการสนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่ได้กล่าวถึงการทำผ้ายันต์ของพระภิกษุ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย ที่ไปกระทำอย่างนั้น เพราะว่าเป็นการทำให้ผู้อื่นมัวเมา ไม่รู้ความจริงผ้าผืนเดียว ผ้าแท้ๆ จะเป็นผ้าวิเศษขึ้นมาได้อย่างไร ไม่เป็นไปตามความจริงเลย เพราะฉะนั้นจึงมีผู้ที่เข้าใจความจริง ให้คำจำกัดความของผ้าชนิดนั้นว่า เป็นผ้าหลอกลวง เพราะว่าไม่ทำให้เข้าใจอะไรเลย มีแต่ทำให้หลงมัวเมายิ่งขึ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    27 พ.ย. 2567