ปกิณณกธรรม ตอนที่ 952
ตอนที่ ๙๕๒
สนทนาธรรมที่ สวนปาล์มฟาร์มนก จ.ฉะเชิงเทรา
วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
ท่านอาจารย์ ประมวลพระโพธิสัตว์มีกี่ประเภท
อ.คำปั่น มีทั้งหมด ๓ ประเภท ในฐานะที่บำเพ็ญคุณความดีบารมีทั้งหมด เพื่อถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่าพระมหาสัตว์ ซึ่งก็จะเป็นผู้ที่ได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอีกประเภทต่อมาก็คือผู้ที่สะสมคุณความดีมาเพื่อที่จะตรัสรู้เฉพาะตน แต่คุณความดีบารมีไม่ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นเพียงปัจเจกโพธิสัตว์ ผู้ที่สะสมบารมีมาเพื่อที่จะถึงความตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และประการที่ ๓ ก็คือผู้ที่สะสมบารมีคุณความดีมา เพื่อที่จะตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ในฐานะที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่าสาวกโพธิสัตว์
ท่านอาจารย์ ฟังพระธรรมแล้ว สนใจไหม
ผู้ฟัง สนใจ
ท่านอาจารย์ ต้องสนใจที่มาฟัง แล้วก็ได้ฟังความละเอียดความลึกซึ้ง ความยากอย่างยิ่งของสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับทั้งหมดเลย ขณะนี้ทีละหนึ่งยากไหม
ผู้ฟัง ยากมาก
ท่านอาจารย์ ยากมากไหม มีความคิดที่จะข้องอยู่ที่จะรู้ที่จะเข้าใจ แทนที่จะไปข้องอยู่ในเรื่องโลกๆ ในเรื่องของลาภยศสรรเสริญอย่างที่เคยต้องการติดข้องมาบ้างไหม หมายความว่าเริ่มเห็นความต่างของการที่อยู่มาแล้วในโลกนานเท่าใด ก็ข้องอยู่ในกิเลสมากเท่านั้น และขณะที่กำลังได้ฟังสิ่งซึ่งสามารถที่จะถึงการดับกิเลสได้หมด แต่ไม่ใช่ทันที ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา ไม่ใช่ด้วยความพากเพียร ด้วยความไม่รู้อะไร คิดว่าง่าย ก็จะไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้ามีความเห็นว่า ลึกซึ้งอย่างนี้ ยากอย่างนี้ ยังข้องที่จะเข้าใจไหม
ผู้ฟัง ยังข้องที่จะเข้าใจอยู่
ท่านอาจารย์ นั่นคือพระโพธิสัตว์ หรือเป็นโพธิสัตว์ และจะเป็นโพธิสัตว์ระดับไหน
ผู้ฟัง ยังไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ มี ๓ ระดับ ระดับที่สูงที่สุด ไม่มีใครเปรียบได้เลย ไม่ว่าทุกยุคทุกสมัย จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว จะมี ๒ พระองค์ไม่ได้ เพราะความที่พระปัญญาคุณไม่มีผู้ใดเปรียบได้เลย เทวดา พรหม สัตว์ทั้งหลายไม่สามารถจะเปรียบได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งกล่าวสั้นๆ ว่าพระมหาสัตว์ ข้องอยู่ที่จะเป็นอย่างนี้หรือไม่ เพราะฉะนั้นคนฟังเป็นคนที่เห็นความยากอย่างยิ่ง อย่าไปรีบเป็นพระโสดาบัน หรือจะไปละกิเลสใดๆ เลย ประมาทอย่างนี้ มองไม่เห็นกิเลสชาตินี้มากเท่าใดยังไม่เห็นเลย และชาติก่อนๆ แสนโกฏกัปมาแล้วจะเท่าใด แล้วจะดับกิเลสได้โดยไม่รู้อะไร เพียงแค่ฟังนิดๆ หน่อยๆ อยากจะเห็นการเกิดดับ ก็คิดว่าประจักษ์การเกิดดับ แต่ความจริงปัญญาอยู่ไหน ไม่ใช่คนนั้นที่จะเป็นเขาที่จะประจักษ์การเกิดดับ แต่ต้องเป็นปัญญาระดับที่มีความเข้าใจตั้งแต่ขั้นฟัง ไม่ใช่ว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย ก็ไปนั่งปฎิบัติธรรม แล้วก็คิดว่าจะดับกิเลสเป็นพระโสดาบัน นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นฟังอย่างนี้แล้ว เป็นโพธิสัตว์ไหม เป็น เป็นระดับไหน
ผู้ฟัง ระดับฟัง
ท่านอาจารย์ นั่นไม่ใช่พระมหาสัตว์ ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็ต้องอาศัยความเพียร และปัญญาระดับใด ที่จะถึงผลอย่างนั้น แต่ว่าถ้าไม่คิดว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่รู้ได้ ดีไหม ก็ดีใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะอีกนานมากกว่าการที่จะเป็นสาวก จนกระทั่งกว่าจะได้บำเพ็ญบารมีถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ต่างกันมากมหาศาล เพราะฉะนั้นเพียงแค่สักคำที่ได้เข้าใจ เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ละชาติแต่ละชาติแต่ละชาติ สะสมไป ถึงการที่จะดับกิเลสได้ โดยได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละชาติ ยังข้องอยู่ไหม ที่จะเป็นอย่างนี้ ถ้ายังข้องอยู่ก็เป็นสาวกโพธิสัตว์ ถ้ามากกว่านี้อีกก็คือเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หมายความว่า ในสมัยที่โลกว่าง ไม่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหลือเลย ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร เดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นในขณะที่โลกว่างจากพระศาสนา ว่างอยู่นานมาก แต่ก็มีผู้ที่ได้สะสมปัญญามาแล้วจากการฟัง และสามารถที่จะรู้ความจริง เพราะเหตุว่าปัญญา ใครไปจัดแจงอะไรให้เกิดเมื่อใด ที่ไหนไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเป็นอนัตตา แม้แต่ขณะนี้ที่กำลังฟังธรรม จะเข้าใจได้มากน้อยเพียงใด ใครไปจัดระเบียบได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ อยากเข้าใจให้มากกว่านี้อีก ก็ไม่ได้ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทั้งหมดแสดงความเป็นอนัตตาชัดเจน เพราะฉะนั้นเมื่อได้สะสมปัญญามา สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แม้ในสมัยที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ฟังคำของพระองค์ ปัญญาที่ได้สะสมแล้วถึงการสมบูรณ์พร้อมที่จะให้ผล รู้แจ้งอริยสัจธรรม คืออริยสัจจธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นตามปกติ ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ารู้เฉพาะตน แต่ว่าไม่ถึงปัญญาระดับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ประกอบด้วยพระทศพลญาณ พระญาณทั้งหลายที่รู้อัธยาศัยของผู้ฟัง และก็ที่จะมีคำที่แสดงให้คนได้เข้าใจโดยละเอียด โดยการทรงแสดงพระธรรมหลากหลายนัยต่างๆ เพราะฉะนั้นความต่างกันของโพธิสัตว์ จึงมีตั้งแต่พระมหาสัตว์ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกโพธิสัตว์ ผู้ที่รู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องสะสมปัญญามานานมาก และสาวกโพธิสัตว์ ไม่ต้องถึงการที่จะได้รู้ด้วยตัวเองเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ขอให้ได้มีโอกาสได้ฟัง และได้เข้าใจพระธรรม ได้รู้ความจริงในฐานะของสาวก แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากหรือไม่ ใครที่คิดว่ารู้ธรรมง่ายๆ เข้าใจผิด ไม่มีทางที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเข้าใจพระธรรมเลยเพราะเพียงแค่สาวก ยากไหม
ผู้ฟัง ยาก แสนกัป
ท่านอาจารย์ แสนกัป ท่านพระสารีบุตร หนึ่งอสงไขยแสนกัป กัปไม่ต้องประมาณว่าเท่าใด โลกดับไปเท่าไร แตกไปเท่าไร ก็ตามแต่ ไม่ต้องไปคำนึงว่ายาวนานแค่ไหน แต่เดี๋ยวนี้เพียงฟังคำว่าธรรม และทุกอย่างเป็นธรรม ก็แค่จำได้ ยังไม่ถึงเฉพาะลักษณะ ที่กำลังเกิดดับจริงๆ เป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นการที่จะต้องเข้าใจ ทุกอย่างทีละคำ
ผู้ฟัง บางคนก็เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง เช่นเพื่อนที่รับคุณแม่มาดูแลที่บ้าน แล้วแม่ใส่บาตรทุกวัน เพื่อบอกแม่ว่า อย่าใส่ตังค์ในบาตร แต่แม่บอกว่า ถ้าไม่ให้เอาตังค์ใส่บาตร แล้วชาติหน้าเกิดใหม่จะเอาสตางค์ที่ไหนใช้
ท่านอาจารย์ เห็นไหมว่าทั้งหมดเพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่จะแก้ ก็คือว่าให้รู้ความจริงที่ถูกต้อง แต่ถ้าใครยังคงไม่ต้องการที่จะรู้ก็เป็นอย่างนี้
อ.คำปั่น การรับเงินรับทองของพระภิกษุ มีโทษเป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ แล้วการที่ต้องอาบัติประเภทนี้ เพราะต้องมีการกระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัยด้วย มีการสละเงินนั้นในท่ามกลางสงฆ์ จึงจะแสดงอาบัติได้ จึงจะพ้นจากอาบัตินั้น แต่ถ้าท่านรับอยู่บ่อยๆ ไม่เห็นโทษ ก็แสดงถึงความเป็นจริงว่า ท่านเป็นผู้ไม่มีความละอาย ไม่มีความเกรงกลัวต่อสิกขาบท ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ไม่มีความเคารพในพระรัตนตรัย เป็นการเพิ่มโทษให้กับตนเอง ซึ่งข้อความในพระวินัยทั้งหลาย ก็ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่าอาบัติทุกข้อที่มีการล่วงละเมิด และไม่แก้ไขให้ถูกต้อง เป็นผู้ที่มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ถ้าหากว่ามรณภาพในขณะที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ก็มีโทษที่ทรงแสดงไว้มากมายทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง สำหรับเพศพระภิกษุที่ล่วงละเมิดพระวินัย มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่พวกเราคฤหัสถ์ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม จะไม่รู้จักพระภิกษุ เห็นใส่ผ้าเหลืองเดินมาตามถนน ก็เข้าใจว่าบุคคลนั้นเป็นพระภิกษุ แต่ตามความเป็นจริง การเป็นพระภิกษุต้องประพฤติตามพระวินัย ซึ่งจะประพฤติตามพระวินัยไม่ได้ ถ้าไม่ได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นการบวชก็ต้องรู้จุดประสงค์ว่า บวชเพื่ออะไร แค่ก่อนบวช ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าบวชเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อศึกษาพระธรรมให้เข้าใจถูกต้อง ที่จะขัดเกลากิเลสในเพศภิกษุตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องบวช เพราะว่าคฤหัสถ์สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ ในครั้งพุทธกาลก็มีคฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบัน ดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี ต่อเมื่อใดได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์จึงบวช เพราะว่าจะมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้
เพราะฉะนั้นพระภิกษุเป็นเพศของพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าถ้าไม่บวช ก็ยังจะศึกษาธรรมแล้วก็ดับกิเลส วิสาขามิคารมารดาเป็นพระโสดาบัน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นพระโสดาบัน หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นพระโสดาบัน พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน ไม่ได้บวช เพราะฉะนั้นก่อนจะบวชต้องถามคนที่บวช และผู้ที่จะบวชเอง ต้องรู้ตัวเอง ถ้าไม่ได้บวชเพราะจะศึกษา และประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เป็นโทษอย่างยิ่ง มากกว่าที่จะเป็นคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ที่ทำผิดติดคุกเฉพาะชาตินั้น ไม่ต้องไปนรกก็ได้ ถ้าไม่ใช่กรรมที่จะทำให้ไปอบายภูมิ แต่ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็ตาม ทำกรรมที่เป็นเหตุที่จะให้ถึงการที่ไปสู่อบายภูมิ ก็ต้องไป ไม่มีการที่ว่าเมื่อเป็นภิกษุแล้วจะไม่ไป เป็นภิกษุนั่นเอง เพราะเหตุว่าไม่เคารพในพระบรมศาสดา เพราะเหตุว่าใครอนุญาตให้บวช ถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมให้เข้าใจจะบวชไหม
เพราะฉะนั้นบวชต้องขออนุญาต ไม่ใช่อยู่ดีๆ อยากจะบวชก็บวชไป แต่ว่าบวชเป็นพระภิกษุในธรรมวินัยจะต้องเข้าใจพระธรรมก่อน และรู้จักตัวเองก่อนว่าสมควรที่จะศึกษาธรรม อบรมเจริญปัญญาในเพศไหน ในเพศคฤหัสถ์ได้ เพราะว่าไม่สามารถที่จะสละอาคารบ้านเรือน ไม่รับเงินรับทอง ไม่ไปทำธุรกิจการงานอย่างชาวบ้าน มุ่งตรงต่อการที่จะสละชีวิตเพื่อศึกษาธรรม และประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วยความเคารพ เพราะรู้ว่าพระวินัยทุกข้อที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เพื่อความอยู่อย่างผาสุกของภิกษุ สบายมาก ไม่ต้องรับเงินรับทอง ไม่ต้องเกี่ยวกับเงิน และทองทั้งสิ้น แต่มีบุญที่ได้ทำแล้ว ผู้ที่เห็นคุณของพระภิกษุที่สละชีวิตเพื่อพระศาสนา เพื่อศึกษา และประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ทำทุกอย่าง เราก็เห็นชาวบ้านใส่บาตร จนกระทั่งตามประเพณีมา ไม่รู้ว่าบุคคลผู้นั้นเข้าใจธรรมหรือไม่ บวชเพื่ออะไร และชีวิตที่ดำรงอยู่ในเพศภิกษุ เป็นไปอย่างคฤหัสถ์หรือไม่ หรือว่าเป็นไปตามพระธรรมวินัย
เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่คฤหัสถ์ ซึ่งเป็นพุทธบริษัทได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมได้เข้าใจพระธรรม ควรที่จะดำรงรักษาพระธรรมให้มั่นคง ด้วยการที่เข้าใจทั้งธรรม และวินัยด้วย ตามตัวอย่าง ที่ว่าคุณแม่ใส่เงินให้พระภิกษุ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเขาไม่เข้าใจจริงๆ แต่ถ้าลูกรู้ความจริงแล้วบอกแม่ว่า ถ้าแม่ให้เงินพระ พระตกนรก เพราะฉะนั้นถ้าแม่หวังดีต่อพระ ไม่ต้องการให้พระตกนรก ก็อย่าใส่เงิน เพราะว่าเงินที่แม่ให้พระตกนรก เพราะแม่เป็นผู้ให้ พระรับ แต่ถ้าแม่ไม่ให้คนอื่นให้พระตกนรก เพราะคนอื่นที่ให้ ก็แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่รับเงินรับทอง แต่การรับเงินรับทองเป็นเรื่องใหญ่ที่จะนำมาสู่อาบัติทั้งหลาย ศีลที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้พระภิกษุประพฤติปฏิบัติตาม เป็นพระวินัยที่ต้องสวดเป็นพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เพื่อทบทวนให้ผู้ที่เป็นภิกษุได้รู้ตัวว่า ผิดพลาดพลั้งเผลอในพระวินัยข้อใดบ้าง แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่สะสมมาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต เป็นพระภิกษุจริงๆ รู้ตัวเองตั้งแต่ก่อนบวช และในระหว่างที่บวชก็ต้องรู้ตัวเองด้วยว่า ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย และก็มีการทบทวนพระวินัย สวดพระปาติโมกข์
ขอเชิญคุณคำปั่นให้คำแปลพระปาติโมกข์
อ.คำปั่น พระปาติโมกข์ คือสิกขาบทที่เป็นประธานของสิกขาบททั้งหลาย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ที่ภิกษุจะได้ศึกษา และน้อมประพฤติปฏิบัติตาม
ท่านอาจารย์ เห็นไหมว่าต้องเตือนทุกกึ่งเดือน จะบอกว่าไม่รู้ได้ไหม ไม่รู้ไม่ได้ตั้งแต่บวชต้องศึกษาก่อน มีผู้ให้คำแนะนำที่ดีมาก เขาก็บอกว่าใครก็ตามที่จะบวช ให้ทำเหมือนพระก่อนบวช ยังไม่ต้องบวช ทำให้เหมือนเลย สิกขาบททั้งหมด ๒๒๗ ข้อ และศึกษาธรรมด้วย เมื่อเข้าใจ และปฏิบัติตามได้ จึงสมควรบวช และสำหรับพระภิกษุไม่ได้มีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ เช่น มีรถยนต์ มีเงินทอง มีที่ดิน มีต่างๆ เหล่านี้ นั่นคือคฤหัสถ์ไม่ใช่พระภิกษุ แล้วจะไปไหนถ้าไม่เป็นผู้ตรง เพราะว่าเพศเป็นภิกษุ แต่ความประพฤติทุกวันไม่ใช่ภิกษุ ด้วยเหตุนี้เป็นการถูกต้องไหม ที่จะให้พุทธบริษัทได้เข้าใจถูกต้องในพระธรรมวินัย ด้วยความหวังดีต่อบุคคลนั้นๆ ด้วย และด้วยความหวังดีที่จะให้พระธรรมวินัยมั่นคงสืบต่อไปด้วย เพราะเหตุว่าอ้างว่าถ้าไม่มีการให้เงินพระ พระจะอยู่ได้อย่างไร พระอยู่ไม่ได้ก็เป็นคฤหัสถ์ เพราะเหตุผู้ที่จะอยู่ได้รักษาพระธรรมวินัยได้จึงควรอยู่ เพราะว่าถ้าไม่ประพฤติตามนั้นเป็นโทษอย่างยิ่ง แล้วเราอยากจะให้ใครได้รับโทษอย่างนั้นหรือ
เพราะฉะนั้นหวังดีหรือเปล่า ถ้าหวังดีก็พูดสิ่งที่ถูกต้องให้คนได้เข้าใจถูกต้อง จะว่าเราว่าพระหรือ หรือว่าให้เข้าใจถูกต้องว่าพระภิกษุต้องเป็นอย่างนี้ กล่าวด้วยความหวังดี ไม่ใช่ว่าปล่อยไป ใครจะทำอย่างไรก็ได้ จนดูเหมือนว่าสำหรับพระภิกษุที่ไม่รักษาพระธรรมวินัย ทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง เว้นไม่ศึกษาธรรม และก็ไม่ประพฤติตามพระวินัย แต่ทำอย่างอื่นหมด แล้วอย่างนี้ควรพูดไหม หรือควรนิ่งๆ เฉยๆ ไม่หวังดีกับใครเลย แล้วรู้ไหมว่านั่นคือความเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัว จะขัดเกลากิเลส แต่ยังห่วงเดี๋ยวเขาจะว่าเราบ้าง เดี๋ยวจะอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง นี่คือความรักตัว แต่ทำไมไม่คิดถึงความถูกต้อง ไม่คิดถึงพระธรรมซึ่งมีโอกาสจะได้ยินได้ฟัง แล้วทำลายโดยไม่ศึกษา หรือว่าพูดผิดๆ ให้คนอื่นเข้าใจผิดๆ เช่น ผ้ายันต์ ผ้าธรรมดา ถูกไหม ถูกหรือไม่ถูก ผ้ายันต์เป็นผ้าธรรมดาถูกไหม แล้วใครไปทำให้เป็นผ้าวิเศษ แล้วคนที่ทำเป็นคนวิเศษหรือเปล่า จึงได้ทำให้ผ้านั้นวิเศษ ทุกอย่างต้องเป็นเหตุเป็นผลจริงๆ มิฉะนั้นก็อยู่ในความไม่ถูกต้องตลอดไป แต่ถ้าเป็นผู้ที่คิดถูกไม่เห็นแก่ตัว พูดถูกตรงตามความเป็นจริง และพระธรรมวินัย และทำถูกด้วย ผิดอะไร ควรทำหรือไม่ควรทำ หรือว่ายังรักตัวอยู่นั่นเอง เดี๋ยวเขาจะว่าบ้าง เดี๋ยวจะถูกทำร้ายบ้าง หรืออะไรบ้าง ไม่ต้องกลัวเลย ความดีเป็นสิ่งซึ่งไม่ได้นำสิ่งที่เป็นผลร้ายมาให้เลย
อ.คำปั่น ความเป็นจริงของชีวิตที่มีการเกิดมามีบุคคลในภพนี้ชาตินี้ และก็ในที่สุดแล้วก็จะต้องละจากโลกนี้ไป ซึ่งในความคิดความเห็นของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็จะมีหลากหลาย แตกต่างกันออกไป บางคนก็บอกว่าตายแล้วไม่รู้ว่าจะได้เกิดหรือเปล่า หรือว่าตายแล้วไม่เกิดเลยก็มี ในความคิดความเห็นซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง แต่ว่าพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็คือตราบใดก็ตามที่ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้อยู่ และยังมีความติดข้องคือโลภะอยู่ ก็ยังต้องมีการเกิดอยู่ร่ำไป กราบเรียนท่านอาจารย์ ในความละเอียดของพระธรรม
ท่านอาจารย์ ความละเอียดนี่คงยาก เพราะว่าต้องเป็นสิ่งที่มีจริงทุกอย่างในขณะนี้ซึ่งยากที่จะรู้ได้ เพราะว่าเพียงแต่ฟังตอนแรกๆ ยังหาความจริงไม่เจอ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็มีสิ่งที่มีจริง ถ้าแตะที่ร่างกายของเรา จริงหรือเปล่า ก็ไม่รู้ เห็นไหมทุกอย่างไม่รู้ไปหมด แล้วจะไปหาความจริง และก็มีการคิดว่าข้างหน้าต่อไป ขณะที่ตายแล้วจะไปไหน ยังไปคิดถึงแต่ก่อนนี้เราเคยเกิดเป็นอะไรอยู่ที่ไหน แล้วเดี๋ยวนี้ไม่สนใจที่จะเข้าใจที่จะรู้ เพราะฉะนั้นไม่มีวันที่จะรู้ได้ ถ้าไม่รู้ความจริงในขณะนี้ก่อน และทุกอย่างถ้าศึกษาธรรมจริงๆ แล้วก็ตอบจะเห็นได้ว่า ตอบได้หลายอย่าง อย่างตายแล้วไม่เกิดได้ไหม ได้ก็มี ไม่ได้ก็มี ถ้าจะบอกว่าถูกทั้ง ๒ อย่างก็ได้ใช่ไหม ไม่เกิดเมื่อเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสหมดแล้ว ไม่มีปัจจัยเชื้อของกิเลสที่จะทำให้เกิดอีกได้เลย แต่ว่าคนนั้นเข้าใจอย่างนั้นหรือเปล่า เวลาตอบว่าตายแล้วไม่เกิด
เพราะฉะนั้นคำพูดไม่ได้ส่องไปถึงความเข้าใจ เพราะว่าบางคนที่คิดว่าตายแล้วไม่เกิดจะเกิดได้อย่างไร ก็เชื่อเอง โดยที่ไม่มีความเข้าใจในเหตุผลว่า อะไรที่ทำให้เกิด และอะไรที่ทำให้ไม่เกิดอีกต่อไป เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นสิ่งซึ่งธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้นถ้าฟังแล้วเข้าใจ ไม่ว่าจะถามหรือตอบอย่างไร ก็ตอบตามความเป็นจริงโดยนัยต่างๆ เพราะฉะนั้นตายแล้วต้องเกิด ก็เพราะยังมีกิเลสอยู่ก็ต้องเกิด แต่ตายแล้วไม่ต้องเกิดอีก ก็คือหมดกิเลสแล้ว จะเกิดขึ้นได้อย่างไร นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจธรรม แล้วก็รู้ว่าธรรมคือเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นถ้าจะดับกิเลสได้ แล้วไม่รู้ความจริงเดี๋ยวนี้ ตามปกติ เป็นไปได้ไหม ต้องไตร่ตรอง เห็นไหม จะดับกิเลส หมดกิเลส โดยไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เป็นไปได้ไหม เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าถ้าขณะนี้ไม่รู้แล้ว เมื่อใดจะรู้ แล้วถ้ายังไม่รู้ต่อไป กิเลสก็ยังคงมีต่อไป
เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุด ก็คือฟังแล้วก็มีความตรงว่ากิเลสมีมาก และถ้าจะเข้าใจจริงๆ ต้องเป็นปกติเดี๋ยวนี้ โดยไม่ใช่เรา จะไม่มีความเป็นเราแฝงอยู่ เพราะเหตุว่าการดับกิเลส ก็คือดับความเข้าใจผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เห็น กำลังเป็นเราที่เห็น จนกว่าขณะนี้ไม่ใช่เราที่เห็น ไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ท่อง ไม่ใช่คิด แต่ค่อยๆ ฟังจนกระทั่งเข้าใจขึ้น
อวิชชาไม่รู้ความจริงเดี๋ยวนี้ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ความจริงก็คือเกิดแล้วดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ เพราะเหตุว่าต่อกัน อันไหนดับไป อันไหนเกิดต่อ สืบต่อเร็วแน่นมาก เพราะฉะนั้นก็ยากที่จะรู้ได้ ต้องอาศัยปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจเท่านั้น หนทางอื่นไม่มีทางที่จะไปทำให้สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริงอย่างนี้ได้ เพราะเหตุว่าต้องปรากฏกับปัญญาความเห็นถูกความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ความติดข้อง
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่เรา ฟังจนกระทั่งมั่นคงว่าเดี๋ยวนี้มีจริง เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย และก็ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใครไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ฟังเมื่อไหร่ที่ไหน ข้อความใด ก็เพื่อที่จะนำมาสู่ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับแล้วจริงๆ ทั้งหมด แต่จะไม่รู้ถ้าไม่ได้เข้าใจตามลำดับขั้น
เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ลาภยศสรรเสริญสุขกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเหตุว่าวันหนึ่งก็ต้องสูญไป ถึงแม้ขณะนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นของใคร เพียงแค่ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยินเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประเสริฐกว่านั้น ก็คือว่ามีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม และเข้าใจพระธรรม และดำรงรักษาพระศาสนาไว้ต่อไป
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 901
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 902
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 903
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 904
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 905
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 906
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 907
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 908
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 909
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 910
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 911
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 912
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 913
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 914
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 915
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 916
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 917
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 918
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 919
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 920
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 921
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 922
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 923
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 924
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 925
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 926
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 927
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 928
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 929
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 930
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 931
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 932
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 933
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 934
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 935
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 936
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 937
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 938
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 939
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 940
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 941
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 942
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 943
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 944
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 945
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 946
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 947
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 948
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 949
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 950
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 951
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 952
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 953
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 954
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 955
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 956
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 957
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 958
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 959
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 960